Table of Contents
ประสบการณ์เกี่ยวกับการสื่อสารสู่ประชาชนเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก
การสื่อสารสู่ประชาชนเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก มีทั้งการสื่อสารระดับประเทศ การสื่อสารระดับจังหวัด การสื่อสารระดับอำเภอ และการสื่อสารระดับตำบลหมู่บ้าน
1.การสื่อสารระดับประเทศ
ในยุคนั้น รัฐบาล โดยนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้สื่อสารทางโทรทัศน์และวิทยุทุกวันเสาร์ เวลา 08.00-08.30 ในรายการนายก ฯ พบประชาชน เพื่อเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานตามนโยบายต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบ ในทำนองที่ว่า รัฐบาลรายงานประชาชน
การเกิดโรคไข้หวัดนก รัฐบาลก็ได้ใช้วิธีการดังกล่าว ทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลไปในทิศทางเดียวกันและพร้อมกันทั่วประเทศ
ในฐานะเป็นนายอำเภอ ผมจำเป็นต้องดูรายการนายก ฯ พบประชาชนเป็นประจำ และผมก็ติดนิสัยดูรายการนายก ฯ พบประชาชน แม้แต่ยามที่ได้เกษียณอายุราชการแล้ว ผมก็ได้ติดตามดูตลอด
ในความเห็นของผม รายการนายก ฯพบประชาชน เป็นรายการที่ดีมีประโยชน์และเป็นช่องทางที่จะทำให้รัฐบาลสร้างความเข้าใจอันดีกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.การสื่อสารระดับจังหวัด

ปกติท่านผู้ว่าฯ ธวัช สุวุฒิกุล ท่านก็ได้ออกรายการผู้ว่า ฯ พบประชาชน เป็นประจำทุกวันเสาร์ เวลา 08.00-08.30 ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดชัยภูมิอยู่แล้ว ดังนั้นในช่วงที่เกิดปัญหาโรคไข้หวัดนก ท่านจึงสามารถบอกเล่าให้คนชัยภูมิทราบว่า สถานการณ์ของจังหวัดชัยภูมิเป็นอย่างไร และทางจังหวัดมีแผนและมาตรการอย่างใด และต้องการขอความร่วมมือจากประชาชนอย่างไร
นอกจากการประชาสมัมพันธ์ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประจังหวัดชัยภูมิแล้ว ยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสถานีวิทยุอื่น ๆ อีกหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิด้วย เช่น สถานีวิทยุ อสมท. สถานีวิทยุตชด. เป็นต้น ซึ่งแต่ละสถานีก็มีดีเจหรือนักจัดรายการที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่นหลายคน
การประชาสัมพันธฺ์ผ่านทางสถานวิทยุกระจายเสียงท้องถิ่น จะทำให้ประชาชนชาวชนบทมีโอกาสได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของทางราชการได้อย่างทั่วถึงและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยการสร้างความ คิดบวก ให้แก่ประชาชน
3.การสื่อสารระดับอำเภอ
ช่องทางในการสื่อสารในระดับอำเภอ มีอยู่ 2 ช่องทางหลัก คือ
ช่องทางแรก ที่ประชุมประจำเดือนหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

หลังจากการประชุมประจำเดือนของหัวหน้าส่วนราขการและนายอำเภอ ณ ศาลากลางจังหวัดแล้ว เป็นหน้าที่ของนายอำเภอ ที่จะต้องแจ้งข้อราชการต่าง ๆ ในที่่ประชุมประจำเดือนของหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ และผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สำหรับอำเภอเมืองชัยภูมิ มีจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายอำเภอ 20 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล 18 แห่ง และเทศบาลตำบลอีก 2 แห่ง ถือได้ว่า มีจำนวนมาก เรียกว่า ห้องประชุมของอำเภอเมืองชัยภูมิแทบไม่พอนั่ง ต้องนั่งอย่างเบียดเสียดกันทีเดียว
ช่องทางที่สอง คือที่ประชุมประจำเดือน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ

ช่องทางในการสื่อสารไปสู่ประชาชนของนายอำเภอ คือ ที่ประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ซึ่งทุกอำเภอจะมีการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นประจำทุกเดือน ระหว่างวันที่ 2-5 ของแต่ละเดือน เพื่อแจ้งข้อราชการต่าง ๆ ผ่านทางกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
4.การสื่อสารระดับตำบลหมู่บ้าน
ต่อจากนั้น ก็เป็นหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ละแห่ง เรียกประชุมหัวหน้าคุ้ม และหัวหน้าครอบครัวต่าง ๆ ในตำบลหมู่บ้านของตน เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากอำเภอ นอกจากนี้ บางหมู่บ้าน อาจมีช่องทางในการแจ้งข้อมูลข่าวสารทางหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านด้วย
การที่ประเทศไทยมีระบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จึงให้การถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารของทางราชการ จากรัฐบาลไปสู่ประชาชนทุกครัวเรือน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้าน มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในการเรียกประชุมราษฎรนั่นเอง
5.สรุป
การสื่อสารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นับตั้งแต่ระดับประเทศลงไปจนถึงระดับครัวเรือน นับว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในยามเกิดภาวะวิกฤต อย่างเช่น การเกิดโรคไข้หวัดนกระบาด เมื่อปี พ.ศ.2547 เพราะถ้าหากไม่สามารถบริหารงานสื่อสารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันดังกล่าว ก็จะทำให้เกิดความโกลาหล เพราะมีความเข้าใจไปคนละทิศคนละทาง
ผมเห็นว่า การสื่อสารในจังหวัดชัยภูมิในเรื่องดังกล่าว ในยุคผู้ว่า ฯ ซีอีโอ คนแรกของจังหวัดชัยภูมิ คือ ท่านผู้ว่า ฯ ธวัช สุวุฒิกุล เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถสื่อสารให้ประชาชนทั้งจังหวัดมีความเข้าใจในสถานการณ์ของการเกิดโรคไข้หวัดนก ณ เวลานั้นได้เป็นอย่างดี
แต่ทุกวันนี้ โลกเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านสื่อทางสังคม (social medias) ต่าง ๆ มีมากมายหลายอย่าง ยากที่รัฐจะควบคุมได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับภายใต้รัฐธรรมนูญ ประชาชนก็มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้น ประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยแม้อาจจะไม่เต็มใบ การจะควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนอย่างในอดีต ผิดกับประเทศที่มีการปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างจีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม และลาวที่สามารถควบคมุประชาชนได้อย่างเด็ดขาด โดยไม่มีการต่อต้านหรือขัดขืน
ถ้าทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็อาศัยผ่านทางไลน์ เฟสบุ๊คบ้าง อละอย่างที่จังกวัดมุกดาการ ยัมีการจัดรายการผู้ว่าพบประชาชนก็ยังมีทุกเช้าวันพุธ พูดโดย ผวจ.มห. ท่านรอง ผวจ. รวมทั้งหัวหน้าส่วนีาชการอื่นๆ ที่มีเรื่องที่น่าสนใจในขณะนั้นๆ ด้วย
การประชาสัมพันธ์ ทุกวันนี้มีหลายช่องทาง ซึ่งมีทั้งข้อมูลจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เป็นด้านบวกบ้าง เป็นด้านลบบ้าง อย่างที่เราทราบกันดีนั่นแหละ