นอกจากนายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามพระราชกำหนด ฯ มาตรา 9 ประกาศข้อกำหนดหรือมาตรการที่ส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้ว นายกรัฐมนตรียังได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้กำกับการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค การห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด การกักกันตัวเอง การเดินทางข้ามเขตจังหวัด มาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำในการจัดกิจกรรมอื่น ๆ
อนึ่ง ในบทความก่อนหน้านี้ (5) ผมได้กล่าวถึง บทบาทใน การบริหาร ของผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาก่อนแล้วส่วนหนึ่ง
Table of Contents
3.การห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานนอกเวลาที่กำหนด (ต่อจากตอนที่แล้ว)
ภาพของมาตรการการห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานนอกเวลาที่กำหนด อย่างที่เรียกว่า เคอร์ฟิว (Curfew) ท่านอาจจะมองเห็นแค่การตั้งด่านตรวจสกัดตามจุดต่าง ๆ แต่ถ้ามีผู้แจ้งเบาะแสมา เจ้าหน้าฝ่ายปกครองและตำรวจของแต่ละอำเภอ ก็พร้อมที่จะออกไปจับกุมดำเนินคดี ณ สถานที่เกิดเหตุทันที ต่อจากนั้นก็นำมาสอบสวน หากมีคดีอื่น ๆ เกี่ยวข้อง เช่น มีอาวุธไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เสพยาเสพติด เล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น ก็จะถูกสอบสวนดำเนินคดีไปพร้อมในคราวเดียวกัน

4.การกักกันตัวเอง
คำว่า “กักกัน” หมายความว่า การควบคุมผู้สัมผัสโรคหรือพาหนะให้อยู่ในที่เอกเทศ เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคแพร่ออกไปโดยทางตรงหรือทางอ้อมไปยังผู้อาจได้รับเชื้อโรคนั้น ๆ ได้ จนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรคหรือจนกว่าจะพ้นความเป็นพาหะ ( มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558)

กรณีโรคโควิด-19 ระยะเวลากันกันตัว จำนวน 14 วัน
เมื่อทราบว่ามีผู้ใดเข้าไปพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะต้องให้ผู้นั้นกักกันตัวเองอย่างน้อย 14 วัน อย่างที่เรียกว่า ต้องทิ้งระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
ปัญหาคือ ต้องไปกักตัวที่ไหน จึงจะปลอดภัย กรณีเป็นคนที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเป็นหมู่คณะ รัฐบาลอาจจะเป็นผู้รับภาระจัดหาสถานที่กักกันให้เอง เช่น กรณีไปรับตัวคนไทยจาก เมืองอู๋ฮั่น รัฐบาลได้มอบหมายให้กองทัพเรือรับผิดชอบในการจัดสถานที่ของกองทัพเรือที่สัตหีบเป็นสถานที่กักกัน
แต่รัฐบาลก็อาจมอบหมายให้จังหวัดที่มีคนไทยกลับจากต่างประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย รับผิดชอบในการหาสถานที่ที่เหมาะสมเป็นสถานที่กักกันในพื้นที่จังหวัดตนเอง เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล เป็นต้น
แต่ถ้ากรณีเป็นรายย่อยที่ได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ตำบลหมู่บ้านแล้ว เช่น ในช่วงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ประกาสปิดสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ ทำให้คนต่างจังหวัดเป็นจำนวนมากไม่มี
งานทำ ต้องเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด หากพบว่ามีผู้ใดเคยเข้าไปยังสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคมาก่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะสั่งไปยังสายงานสารณสุข และนายอำเภอให้สั่งต่อไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ช่วยกันดูแลบุคคลนั้นให้กักกันตัวเอง
ในพื้นที่ตำบลหมู่บ้าน นอกจากกำนันผู้ใหญ่บ้านแล้ว ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของทางสาธารณสุข ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการ เพราะบุคคลเหล่านี้ได้รับฝึกการอบรมและมีประสบการณ์ในการดูแลคนเจ็บคนป่วยช่วยเหลือทางสาธารณสุขมาแล้วเป็นอย่างดี
5.การเดินทางข้ามเขตจังหวัด
โดยหลักการ ในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดอยู่ ประชาชนในแต่พื้นที่ต้องพยายามอยู่ในพื้นที่ของตนเองให้มากที่สุด เพื่อป้องกันมิให้นำเชื้อไปสู่ผู้อื่นกรณีบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ติดเชื้ออยู่แล้ว หรือเพื่อป้องกันมิให้ไปรับเชื้อจากผู้อื่นกลับมาแพร่ระบาดที่ภูมิลำเนาตนเอง
อย่างไรก็ดี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงปิดภาคเรียนของนักเรียนนักศึกษาด้วย จะมีประชาชน นักเรียนนักศึกษา และผู้ใช้แรงงานจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อฉลองสงกรานต์และเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องที่ภูมิลำเนา แต่ต้องแสดงความเสียใจด้วยนะ ที่ปีนี้รัฐบาลได้ตัดสินใจให้งดการจัดงานสงกรานต์ทั่วราชอาณาจักร เพื่อป้องกันมิให้คนจำนวนมากมาชุมนุมกัน
นอกจากนี้ จังหวัดต่าง ๆ ก็จะต้องจัดตั้งด่านที่อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัด เพื่อคัดกรองมิให้คนนอกจากพื้นที่เข้าจังหวัดของตนโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้ออยู่ในพื้นที่จังหวัดแล้ว อาจตัดสินใจประกาศปิดจังหวัดของตนเอง การประกาศปิดจังหวัดตนเอง จำเป็นต้องมีมาตราการรองรับ คือ การตั้งด่านตรวจสกัด โดยการผนึกกำลังของทหารตำรวจและฝ่ายปกครอง

หากไม่มีการตั้งด่านตรวจสกัด การประกาศปิดจังหวัด ก็เป็นเพียงตัวหนังสือเท่านั้น ไม่บังเกิดผลใด ๆ
กรณีมีทหารประจำการคนหนึ่ง ต้องการผ่านด่านตรวจสกัดเข้าไปในพื้นทีจังหวัดตร้ง โชคไม่ดีที่ ณ เวาลานั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้เดินทางออกมาตรวจด่านพอดี ทำให้เกิดปัญหาโต้เถียงกัน จนเป็นข่าวดังครึกโครม หากมองในแง่บวก นี่คือการประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันมิให้ประชาชนเดินทางข้ามเขตจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางจังหวัดที่ได้ประกาศปิดจังหวัด คนในไม่ให้ออก หรือถ้าจะออกก็ต้องไม่กลับมาอีก คนนอกไม่ให้เข้า เพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่เชื้อระบาดเพิ่มเติมไปจากที่มีอยู่เดิม
หากไม่มีข่าวดังกล่าว หลายคนรวมทั้งตัวท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า การห้ามข้ามเขตจังหวัด ทำกันจริงไหม
6.มาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำในการทำกิจกรรมอื่น ๆ
นอกจากมาตรการต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีมาตรการป้องกันโรคที่จังหวัดแต่ละจังหวัดจะต้องให้ความสำคัญ แนะนำประชาชนให้รู้จักการป้องกันและการดูแลตนเองเกี่ยวกับการรักษาความสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสวมหน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้าน การเว้นระยะห่างทางสังคม และการจัดงานพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา ซึ่งจะทำให้คนจำนวนมากมารวมตัวกัน
อย่างเวลานี้ จะเห็นได้ว่า ประชาชนทุกสาขาอาชีพ สวมหน้ากากอนามัย หรืออย่างทีหลายคนเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า แมสก์ (Mask) เวลาออกนอกบ้านกันอย่างทั่วถึง บรรดาพ่อค้าแม่ค้า และร้านค้าต่าง ๆ ล้วนใส่หน้ากากอนามัยกันอย่างถ้วนหน้า จนมีหลายคนล้อเลียนกันว่า ยุคนี้เป็นยุคที่คนสวมหน้ากากเข้าหากัน
นอกจากนี้ แต่ละหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนล้วนมีเครื่องมือตรวจอุณหภูมิ และเจลล้างมือไว้บริการทั่วหน้า หากใครตรวจวัดอุณหภูมิไม่ผ่าน เขาจะให้นั่งพักรอเสียหน่อย เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลง แล้วตรวจวัดกันใหม่
ประสบการณ์ในการใช้หน้ากากอนามัยและการผ่านจุดคัดกรอง
เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ผมได้ไปตลาดเพื่อซื้อดอกไม้มาไหว้พระเนื่องในวันสงกรานต์และวันพระ หลังจากได้ซื้อดอกไม้และของไหว้เสร็จแล้ว ผมก็ได้เดินทางกลับบ้าน แต่ก่อนจะกลับถึงบ้าน ผมได้จอดรถเพื่อซื้อผ้า 3 สี ที่ร้านแห่งหนึ่ง
ผมรู้สึกตกใจไม่น้อยที่หากระเป๋าสตางค์ไม่พบ จึงย้อนกลับไปตลาดอีกครั้งหนึ่ง เผื่อจะพบกระเป๋าสตางค์ หรือเผื่อมีใครเก็บได้ แล้วใจดีเก็บไว้รอเจ้าของมาถามหา แต่ก็ผิดหวัง เพราะไม่พบกระเป๋าสตางค์ตามที่คาดไว้ จึงเดินทางกลับบ้าน
พอเดินทางถึงบ้าน ยังไม่ทันจะเปิดประตูเข้าบ้าน ผมได้ยินเสียโทรศัพท์ดังขึ้น คิดในใจว่า น่าจะเป็นคนโทรศัพท์มาแจ้งข่าวเรื่องกระเป๋าสตางค์หาย และก็เป็นความจริง เป็นเสียงโทรศัพท์จากตำรวจแจ้งว่า มีคนเก็บกระเป๋าสตางค์ของผมได้ ขอให้รีบไปรับด่วน เพราะคนที่เก็บได้ก็ยังนั่งรออยู่ เผื่อจะได้ขอบคุณกัน
ผมแจ้งตำรวจไปว่า ผมแต่งตัวไม่เรียบร้อยจะไปได้ไหม ตำรวจบอกว่า ไม่เป็นไร แต่ขอให้ใส่แมสค์มาด้วย ดังนั้น ผมจึงไม่รอช้ารีบไปโรงพัก และได้รับกระเป๋าสตางค์ที่ผมทำหล่นหายโดยมีเอกสารและเงินทองอยู่ครบถ้วนทุกบาททุกสตางค์ เมื่อมองเห็นหน้าคนเก็บกระเป๋าสตางค์ของผมได้ ผมก็เข้าใจได้ทันทีว่า ทำไมผมจึงได้กระเป๋าสตางค์คืนอย่างรวดเร็ว เขาชื่อคุณสุเทพ ดูหน้าตาเขาเป็นคนซื่อสัตย์ดี
ความจริงวันนั้น ผมยังไม่ได้อาบน้ำ จึงแต่งกายอยู่ในชุดออกกำลังกาย เพราะคิดว่า เทศบาลคงตั้งจุดคัดกรองคนเข้าตลาด ผมอาจจะต้องจอดรถไกลกว่าปกติ แล้วต้องเดินเข้าไปตลาด การแต่งชุดออกกำลังกายไปก่อนน่าจะดีกว่า
นายร้อยเวรได้แจ้งให้ผมทราบว่า พอดีในกระเป๋าสตางค์ของผม มีนามบัตรอยู่จึงมีเบอร์โทรศัพท์ให้ติดต่อได้ ต้องขอขอบคุณนายร้อยเวร สภ.ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชไว้ ณ ที่นี้ อีกครั้งหนึ่ง ที่กรุณารีบโทร.แจ้งให้ผมทราบ มิฉะนั้นแล้ว ผมคงลำบากเหมือนกัน เพราะในกระเป๋าสตางค์ใบนั้น แม้ไม่มีเงินอยู่่เท่าใด แต่ผมได้รวมสารพัดบัตรไว้ด้วยกันหมดเลย ถ้าหากผมไม่ได้กระสตางค์คืนในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้ คงต้องเสียเวลาแจ้งอายัดบัตรและทำบัตรใหม่ชุลมุนเลยทีเดียว ท่านว่าจริงไหม
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างหนึ่ง กล่าวคือ มีอยู่วันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ผมต้องการจะเข้าไปห้างสรรพสินค้าข้างบ้าน เจ้าหน้าที่ของห้างสรรพสินค้าได้ตรวจวัดอุณหภูมิครั้งแรกไม่ผ่าน เขาให้ผมนั่งพักรอนิดหนึ่ง แล้วตรวจวัดใหม่ จึงผ่านและเข้าไปในห้างได้
7.สรุป
การมองการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์ ฯ โรคไข้หวัด ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พอจะชี้ให้เห็นว่า หลังจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2558 และข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด ฯ ปิดสถานที่เสี่ยงเป็นการชั่วคราว เป็นผลทำให้คนต่างจังหวัดส่วนหนึ่งต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะไม่มีงานทำ
เมื่อคนต่างจังหวัดจำเป็นต้องเดินทางกลับไปอยู่ภูมิลำเนา จึงเป็นการกระจายความเสี่ยงจากกรุงเทพมหานครไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และได้กลายเป็นภาระของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่จะต้องรับผิดชอบดูแลฐานะผู้กำกับการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค การห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด การกักกันตัวเอง การเดินทางข้ามเขตจังหวัด มาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำในการจัดกิจกรรมอื่น ๆ
ยิ่งกว่านั้น หากจังหวัดใดเป็นจังหวัดชายแดน ผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะต้องร่วมรับผิดชอบในการปิดทางเข้าออกราชอาณาจักรด้วย เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคสามารถติดต่อจากการที่มีคนเข้าออกราชอาณาจักร
ผมคิดว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะเกิดความรู้สึกเครียดไม่น้อย แต่ผมคิดว่า คงไม่นานจนเกินไป สถานการณ์ต่าง ๆ คงจะคลี่คลายลงเอง ตามกฎของอนิจจังนั่นแหละ “ ทุกย่างย่อมเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป”
สำหรับตัวผม ดร.ชา เกษียณอายุราชการแล้ว ไม่ค่อยมีความจำเป็นต้องเดินทางไปที่ใดมากนัก สถานที่ทำงานของผม หมายถึง สถานที่เขียนบทความลงเว็บไซต์นี้ให้ท่านอ่าน ผมก็นั่งทำอยู่หน้าโน้ตบุ๊คที่บ้าน วันละ 3-4 ชั่วโมง เวลาอยากกินหรืออยากซื้ออะไร ก็แสนง่าย เพราะบ้านของผมอยู่ติดห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่ง เพียงก้าวลงบันไดบ้านก็เดินทางถึงห้างแล้ว

ถ้าจะว่าไป ก็เท่ากับผมกักกันตนเองเป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว ไม่มีผู้ใดบังคับ ทำให้ไม่รู้สึกว่ายากลำบากอะไรเลย
ท่านอยากจะมีความสะดวกสบายอย่างผมบ้างไหม
พบกันใหม่ วันศุกร์ที่ 24 เมษายน 2563 ซึ่งจะเป็นตอนสรุปและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการมองการบริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 กรุณาอย่าพลาดนะครับ
” 10+ บทสรุปและข้อคิดเห็น :มองการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ด้วยประสบการณ์โรคไข้หวัดนกระบาด ปี พ.ศ.2547″
ดร.ชา
วันพุธที่ 22 เมษายน 2563
โทษทางกฎหมายถือว่ารุนแรงพอสมควร
ศาลบางจังหวัดตัดสินจำคุก/กักขัง โดยไม่รอลงอาญา ตั้งแต่ประกาศเคอร์ฟิว ยังมีบางส่วนไมาเกรงกลัว ซึ่งผมจับกุมผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวได้ 9 ราย / ข้อหาพนัน+มั่วสุม 2 คดี 11ราย ครับ
ปธีระศักดิ์ เคยเป็นตำรวจมาก่อน เรื่องนี้คงทำได้คล่องแคล่วอยู่แล้ว
มาตรการกักตัวเองอยู่ที่บ้าน เป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด 19 ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะถ้ายังมีการเดินทางออกนอกบ้านกัน ถึงแม้ว่าจะป้องกันโดยสวมหน้ากากอนามัย ก็หาได้ป้องกันได้เต็มที่ไม่ เพราะเห็นหลายคน รวมทั้งตัวผมเองซึ่งบางครั้งก็ยังเผลอปฏิบัติไม่ถูกวิธี เช่นใช้มือจับหน้ากาก หรือถอดวางไว้ตามบนโต๊ะ หรือใส่กระเป๋า ซึ่งอาจเป็นการแพร่เชื้อได้ครับ เพราะฉะนั้น การกักตัวเองอยู่ที่บ้านไม่ว่าคนป่วย หรือไม่ก็ตาม จึงเป็นวิธีการหยุดการแพร่เชื้อได้ดีที่สุดครับ
ผมเห็นด้วยกับความคิดของผู้หมวดพนมรักษ์