หากท่านต้องการมีอาชีพเป็นนักปกครอง ต้องเริ่มต้นด้วยการสอบแข่งขันเข้ารับราชการเป็นนักปกครอง ในตำแหน่งปลัดอำเภอ (Assistant chief district officer) โดยผมจะขอแบ่งปลัดอำเภอออกเป็น ๓ ยุค คือ ปลัดอำเภอยุคระบบชั้นยศ ปลัดอำเภอยุคระบบพี.ซี. และปลัดอำเภอยุคปัจจุบันคือยุคระบบแท่ง ชีวิตราชการของผมเริ่มต้นด้วยตำแหน่งปลัดอำเภอยุคระบบชั้นยศ

Table of Contents
๑.ปลัดอำเภอในยุคระบบชั้นยศ
ระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนไทยในช่วงก่อนปี พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นระบบชั้นยศในทำนองเดียวกับระบบทหารและตำรวจ โดยแบ่งข้าราชการพลเรือนออกเป็น ๕ ชั้น คือ ชั้นจัตวา ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก และชั้นพิเศษ
ภายใต้ระบบชั้นยศ ปลัดอำเภอเป็นตำแหน่งที่เริ่มต้นด้วยชั้นตรี อย่างทีเรียกว่าปลัดอำเภอตรี การแต่งเครื่องแบบประดับเครื่องหมาย ๑ ขีดใหญ่ ผู้ที่จะสมัครสอบเป็นปลัดอำเภอตรีได้ ต้องจบปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์
ท่านเชื่อไหมว่า ปลัดอำเภอยุคนี้ ไม่มีคนสวยเลย มีแต่คนรูปหล่อ เพราะอะไรหรือ
ผมจะบอกให้ก็ได้ ก็เพราะปลัดอำเภอยุคนี้ เวลารับสมัคร เขาระบุคุณสมบัติอย่างหนึ่งของผู้สมัครว่า “ ต้องเป็นชาย “ เมื่อเป็นเช่นนี้คุณสุภาพตรีทั้งหลาย ไม่ว่าจะรวยหรือจน ไม่ว่าจะเก่งหรือไม่เก่ง ไม่ว่าจะสวยหรือไม่สวย จึงขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอไงล่ะ ท่านผู้อ่าน
๒.ปลัดอำเภอในยุคระบบพี.ซี.
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนไทยได้เปลี่ยนจากระบบชั้นยศเป็นระบบจำแนกตำแหน่ง (Position Classification) หรือทีนิยมเรียกย่อว่า ระบบพี.ซี.ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ ระบบนี้ได้แบ่งข้าราชการพลเรือนออกเป็น ๑๑ ระดับอย่างที่เรียกว่า ซี ๑-ซี ๑๑
ภายใต้ระบบพี.ซี. ปลัดอำเภอ เป็นตำแหน่งที่เริ่มต้นด้วยระดับ ๓ การแต่งเครืองแบบ ประดับ ๒ ขีดใหญ่ ซึ่งมากกว่าการประดับขีดของปลัดอำเภอตรีในระบบชั้นยศอยู่ ๑ ขีด หลังจากใช้ระบบพี.ซี.มาระยะหนึ่ง ปลัดอำเภอเริ่มมีสภาพสตรีสวยสวยเข้าสู่วงการ เพราะเหตุใดหรือ ผมจะเล่าให้ท่านฟัง
เดิมสังคมไทย ถือว่าชายมีสิทธิเหนือสตรี ชายเป็นหลักของครอบครัว ชายมีหน้าที่เป็นผู้นำ อย่างที่เรียกว่า ชายเป็นช้างเท้าหน้า หญิงเป็นช้างเท้าหลัง แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายระเบียบต่าง ๆ เรื่อยมา จนกระทั่งทุกวันนี้ อาจจะเรียกได้ ชายหญิงแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันแล้ว กล่าวคือ หญิงชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน
ในอดีต การสมัครสอบเข้ารับราชการตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติหรือตำแหน่งที่เชื่อว่าต้องใช้ความเข้มแข็งในการปฏิบัติหน้าที เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ทหารตำรวจที่เป็นตำแหน่งหลัก และปลัดอำเภอ ผู้มีสิทธิสมัครสอบเข้ารับราชการตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวต้องเป็นเพศชาย แต่ต่อมาก็ได้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครสอบเข้ารับราชการของตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวจนชายหญิงมีความเท่าเทียมกัน โดยการตัดคุณสมบัติในเรื่องเพศออกไป
สำหรับตำแหน่งปลัดอำเภอ เพิ่งมีการยอมรับเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอว่า หญิงก็เป็นปลัดอำเภอได้ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๓๖ โดยกรมการปกครองได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอสตรีทั้งหมดในขณะนั้นให้เป็นปลัดอำเภอ
นอกจากนี้ ยังได้มีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหญิงคนแรกของไทยเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๗ โดยแต่งตั้งคุณหญิง จรัสศรี ทีปิรัช อธิบดีกรมการผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก และต่อมาได้มีการแต่งตั้งนายอำเภอหญิงคนแรกเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๙ คือ นางประสม ดำริชอบ จากกองคลังส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง ให้ดำรงตำแหน่งนายอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปลัดอำเภอก็เริ่มมีสตรีคนเก่งและสวยเข้าสู่วงการนักปกครอง และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นทุกวัน ๆ
๓.ปลัดอำเภอในยุคระบบแท่ง
ระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนไทยได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งจากระบบพี.ซี.เป็นระบบแท่ง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชพลเรือนพ.ศ.๒๕๕๑ ภายใต้ระบบแท่ง สายงานของข้าราชการพลเรือนแบ่งออกเป็น ๔ สายหรือ ๔ แท่ง ได้แก่
๓.๑ แท่งบริหาร ประกอบด้วย นักบริหารระดับต้น และนักบริหารระดับสูง
๓.๒ แท่งอำนวยการ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการระดับต้น และผู้อำนวยการระดับสูง
๓.๓ แท่งวิชาการ ประกอบด้วย ๕ ระดับ คือ ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ ระดับเชี่ยวชาญ และระดับทรงคุณวุฒิ
๓.๔ แท่งทั่วไป ประกอบด้วย ๔ ระดับ คือ ระดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส และระดับทักษะพิเศษ
สำหรับตำแหน่งปลัดอำเภอ อยู่ในแท่งวิชาการ เริ่มต้นด้วย ตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ)

สอบได้ลำดับที่ ๒๕ จากยอดผู้สมัคร ๑๒,๐๐๐ คน (Khaosod.co.th/special-stories/new-1915565)
ปลัดอำเภอในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคระบบแท่งนี้ เป็นยุคที่มีสุภาพสตรีก้าวเข้าสู่วงการนักปกครองด้วยการสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอในแต่ละครั้งเป็นจำนวนมากพอ ๆ กับสุภาพบุรุษเลยทีเดียว ดังนั้น ปลัดอำเภอของเราจึงเต็มไปด้วยปลัดอำเภอที่เก่ง รูปหล่อ และสวยเป็นจำนวนมาก เรียกว่า นักปกครองยุคปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องไปมองหาคนสวย คนหล่อจากที่อื่นอีกแล้ว ผิดกับปลัดอำเภอรุ่นเก่าอย่างผมที่ต้องมองหาคนสวยจากวงการอื่น เพราะในวงการเดียวกัน ไม่มีปลัดอำเภอสตรีให้เลือกนั่นเอง
ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านน่าจะพอทราบข่าวคราวบ้างว่า มีผู้ว่าราชการจังหวัดบางจังหวัด มีคุณนายเป็นนายอำเภอและเป็นนายอำเภออยู่ในจังหวัดเดียวกัน ในทำนองเดียวกับสามีเป็นหมอ ภริยาเป็นพยาบาลนั่นแหละ ในอนาคตก็ไม่แน่นะ อาจมีภริยาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และสามีเป็นนายอำเภออยู่ในจังหวัดเดียวกันก็ได้เช่นกัน
๔.สรุป
หากต้องการประกอบอาชีพรับราชการเป็นนักปกครอง ต้องเริ่มต้นด้วยการสอบแข่งขันรับราชการเป็นปลัดอำเภอก่อน เมื่อมองย้อนหลังกลับไปถึงปี พ.ศ.๒๕๑๗ ซึ่งเป็นปีที่ผมดร.ชา ได้สมัครสอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอตรี อาจจะแบ่งปลัดอำเภอออกตามระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนไทยได้ ๓ ยุค
ยุคแรก คือ ยุคระบบชั้นยศ ก่อนปี พ.ศ.๒๕๑๘ ตำแหน่งปลัดอำเภอเริ่มต้นด้วยตำแหน่งปลัดอำเภอตรี ในยุคนี้ ปลัดอำเภอต้องเป็นชายเท่านั้น
ยุคที่สอง คือ ยุคระบบพี.ซี.ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๕๑ ตำแหน่งปลัดอำเภอเริ่มต้นด้วยตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง ๓) และได้มีปลัดอำเภอหญิงครั้งแรกเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๓๖
ยุคที่สาม คือ ยุคระบบแท่ง คือ ยุคปัจจุบัน นับตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๕๑ – ปัจจุบัน ตำแหน่งปลัดอำเภอเริ่มต้นด้วยตำแหน่ง ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ)
สำหรับผมดร.ชา ได้สอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอในยุคแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ดังผมจะได้เล่าประสบการณ์ให้ฟังในบทความต่อไป
พบกันใหม่วันพรุ่งนี้ครับ
ดร.ชา
๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓
ด่วนที่สุด หนังสืออีบุ๊คออกใหม่ คู่มื่อเตรียมความพร้อมประกอบอาชีพปลัดอำเภอหรือนักปกครอง โดยดร.ชา 369 วางจำหน่ายแล้วทางเว็บไซต์ www.ookbee.com, www.se-ed.com, www.mebmarket.com
