การเข้าสู่อาชีพนักปกครองของผม ก็ด้วยภูมิหลัง และแรงบันดาลใจ 4 ประการ คือ นักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม และคำพยากรณ์ของโหราจารย์ ในตอน (4) นี้ จะขอเล่าถึงคำพยากรณ์ของโหราจารย์
ในการเล่าเรื่องราวคำพยากรณ์ของโหราจารย์นี้ จะกล่าวถึง โหราศาสตร์กับสังคมไทย คำพยากรณ์ของโหราจารย์ คำพยากรณ์ของโหราจารย์กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผลของคำพยากรณ์ สรุปและข้อคิดเห็น
Table of Contents
1.โหราศาสตร์กับสังคมไทย
ตามความจริงมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาล้วนแต่มีความเชื่อในเรื่องการทำนายอนาคตหรือโชคชะตามาตั้งแต่โบราณกาลด้วยกันทั้งนั้น รวมทั้งสังคมไทย
สังคมไทยก็เช่นเดียวกัน มีความเชื่อทางด้านโหราศาสตร์และการทำนายโชคชะตามาเป็นเวลาช้านานแล้ว ดังจะเห็นได้จากมีตำแหน่งโหรหลวงในราชสำนักมาตั้งแต่โบราณกาล ปัญหาคือทำไมต้องมีโหรหลวง
ผมคิดว่า คำตอบสั้น ๆ ก็คือ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะทราบว่าในอนาคตข้างหน้าชีวิตของบุคคลจะเป็นอย่างไร หากเป็นพระมหากษัตริย์ย่อมอยากจะทราบเหตุการณ์บ้านเมืองในวันข้างหน้าจะมีเรื่องดีหรือเรื่องร้ายอะไรเกิดขึ้นบ้าง หากเป็นเรื่องร้ายก็จะได้หาทางป้องกัน หากเป็นเรื่องดี ก็จะได้เตรียมตัวให้พร้อมที่จะดำเนินการ เช่น การหาฤกษ์หายามที่เป็นอุดมมงคลเพื่อประกอบกิจการนั้น ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักร ศาสตร์ที่ให้คำตอบในเรื่องดังกล่าวได้ คือ โหราศาสตร์ จึงจำเป็นต้องมีโหรหลวงเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์
โหราศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่อาศัยการคำนวณการเดินของดวงดาวในแต่ละช่วงเวลาว่าจะมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์อย่างไรบ้าง เป็นทางดีหรือทางร้าย ซึ่งดวงดาวในทางโหราศาสตร์มีอยู่ 9 ดวง คือ ดาวอาทิตย์ ดาวจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดาวราหู และดาวเกตุ ส่วนคนที่มีความรู้ในการทำนายโชคชะตาของมนุษย์จากการคำนวณอิทธิพลของดวงดาว เรียกว่า โหราจารย์ หรืออาจจะเรียกสั้น ๆ ว่า โหรก็ได้

อย่างไรก็ตาม การทำนายอนาคตมนุษย์ อาจทำได้หลายวิธี เช่น การทำนายโหวเฮ้งหรือบุคลิกลักษณะ การดูลายมือ การเสี่ยงเซียมซี และการทำนายจากไพ่ เป็นต้น
ผมจำได้ดีว่า มีวิชาหนึ่งสมัยเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย น่าจะเป็นวิชาอ่านเอาเรื่องในทำนองนี้แหละ ได้มีบทเรียนเกี่ยวกับประวัติบุคคลสำคัญของชาติไทยที่แสดงให้เห็นอิทธิพลของความเชื่อด้านนี้ของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่อง คือ
เรื่องแรก ตามเกร็ดพงศาวดารไทย ได้กล่าวถึงการทำนายทายทักของซินแสจีนชราที่ได้ดูโหงวเฮ้งของพระภิกษุหนุ่มสองรูปที่ได้ออกเดินบิณบาตด้วยกันว่า พระภิกษุทั้งสองรูปจะได้กษัตริย์ในวันภายภาคหน้า ทำให้พระภิกษุทั้งสองรูปหัวเราะด้วยความขบขัน เพราะไม่เชื่อว่า จะเป็นไปได้ พระภิกษุรูปดังกล่าว คือ พระภิกษุสิน และพระภิกษุทองด้วง และในเวลาต่อมาก็ปรากฏว่า คำทำนายทายทักดังกล่าวของซินแสจีนชราถูกต้องทุกประการ กล่าวคือ พระภิกษุสินได้เป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสินมหาราช และพระภิกษุทองด้วงได้เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เรื่องที่สอง ตามพงศาวดารไทยยังได้กล่าวถึงคำทำนายโหงวเฮ้งของเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ของอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพใหญ่ของพม่าที่มาปิดล้อมเมืองพิษณุโลก ได้สู้รบกับเจ้าพระยาจักรี ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ทำให้อะแซหวุ่นกี้อยากขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี เมื่อได้พบกันแล้ว อะแซหวุ่นกี้ ได้กล่าวสรรเสริญเจ้าพระยาจักรีว่า ตัวเจ้าพระยาจักรีมีบุกลิกลักษณะดีมาก รูปก็งาม รบก็เก่ง อายุเพียงสามสิบปีเศษ ก็สามารถสู้รบกับตนซึ่งมีอายุเจ็ดสิบสองปีได้ ขอให้รักษาเนื้อรักษาตัวไว้ให้ดี ภายภาคหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแน่แท้ พร้อมกับมอบของกำนัลให้เป็นที่ระลึก
ตามเกร็ดพงศาวดารและพงศาวดารไทยที่ผมยกตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านดู คงจะพอชี้ให้เห็นบทบาทของคำพยากรณ์โชคชะตาของมนุษย์ในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
2.คำพยากรณ์ของโหราจารย์
หากจะถามว่า การเป็นโหราจารย์นั้น ยากไหม ผมคิดว่า ยากอยู่นะ เพราะคนจะเป็นโหราจารย์ได้นั้น จะต้องเรียนรู้เรื่องการโคจรของดวงดาว และอิทธิพลของดวงดาวที่มีต่อมนุษย์ในแต่ละปีหรือในแต่ละช่วงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิชาดาราศาสตร์ เหมือนอย่างกรณีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 4 ที่ทรงผนวชเป็นเวลายาวนานถึง 27 พรรษา จึงได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติสืบต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 3 ด้วยความเห็นชอบของบรรดาเหล่าขุนนาง
ในระหว่างที่ทรงผนวชนั้น พระองค์ได้ใช้เวลาศึกษาหาความรู้ทั้งทางโลกทางธรรมจนแตกฉาน รวมทั้งวิชาการสมัยใหม่ของทางตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาโหราศาสตร์พระองค์ทรงเชี่ยวชาญมาก และพระองค์ได้ใช้ความรู้เกี่ยวกับการคำนวณการเดินของดวงดาวมาทำนายว่า จะเกิดสุริยุปราคาแบบเต็มดวง ที่บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 โดยทรงคำนวณไว้ล่วงหน้า 2 ปี และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนี้ด้วย ซึ่งปรากฏว่า พระองค์คำนวณได้ถูกต้องทุกประการ ทำให้ประชาคมดาราศาสตร์สากลเรียกชื่อสุริยุปราคาครั้งนี้ว่า อุปราคาของพระเจ้ากรุงสยาม (King of Siam’s eclipse) (วิกิพีเดีย,สุริยุปราคา 18 สิงหาคม พ.ศ.2411, 10 มิถุนายน 2563)
สำหรับกรณีเรื่องราวของผม เมื่อครั้งผมยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนจัตุรัส (ช.ย.7) คุณพ่อของผมได้ขอให้มหาสมหมาย ผู้ช่วยสรรพสามิตอำเภอจัตุรัส หรือพูดง่าย ๆ คือ ผู้ช่วยคุณพ่อของผมนั่นเอง ลองตรวจดวงชะตาของผมซึ่งเป็นบุตรชายคนโตหน่อย ซึ่งขณะนั้น ผมยังเรียนหนังสือในชั้นประถมตอนปลาย
คุณพ่อเล่าให้ผมฟังว่า ดวงชะตาของผมตามคำทำนายของมหาสมหมาย อนาคตข้างหน้าของผม มีอยู่ 3 ทางเลือก คือ อาจจะได้เป็นหมอ หรือผู้พิพากษา หรือนักปกครอง อย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะนั้น ผมยังเด็กมาก ก็แค่รับฟังและรับทราบไว้เท่านั้นเอง ยังไม่ได้คิดอะไรเลย
3.คำพยากรณ์ของโหราจารย์กับการสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่า คำพยากรณ์ของโหราจารย์ คือ มหาสมหมาย ที่ได้ตรวจดวงชะตาของผมตามหลักโหราศาสตร์เมื่อครั้งผมยังเรียนอยู่ชั้นประถมตอนปลาย ช่วงปี พ.ศ.2504-2507 จะได้นำมาใช้ประโยชน์ในการสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อปีพ.ศ.2512 ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ท่านฟัง ดังนี้
3.1 ระบบการสอบไล่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่อปีพ.ศ.2512
ระบบการเรียนการสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในปัจจุบัน การสอบวัดผลเป็นเรื่องของแต่ละโรงเรียนดำเนินการเอง โดยวัดผลเป็นเกรด ปกติไม่มีการสอบตก มีแต่การติดศูนย์ หรือติดรอ หากแก้การติดศูนย์หรือติดรอเรียบร้อย เป็นอันว่า เรียนจบแน่ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การเรียนให้จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องยาก เว้นแต่ทิ้งการเรียน ไม่ยอมเข้าเรียน หรือไม่ยอมเข้าสอบ
ผิดกับสมัยผมเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ การเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายยุคนั้น ถือเป็นการเรียนที่หนัก เพราะการสอบไล่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ใช้ข้อสอบกลางของกระทรวงศึกษา โดยกระทรวงศึกษาเป็นผู้ออกและตรวจข้อสอบ การวัดผลแสดงเป็นร้อยละ หากใครสอบได้ต่ำกว่าร้อยละ 50 ถือว่าสอบตก และต้องเรียนซ้ำชั้น
มีการประกาศผลการสอบจัดลำดับที่ 1-50 ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีการประกาศผลสอบคนติดบอร์ด สายวิทย์ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ80 และสายศิลป์ ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 โดยการประกาศลงหนังสือพิมพ์ และยิ่งกว่านั้น ยังมีการอ่านรายชื่อผู้สอบได้ทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ด้วย นับว่าไม่ธรรมดาเลยนะ
ปกติสายวิทย์ ผู้สอบได้ที่หนึ่งของประเทศ มักจะเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หรือไม่ก็นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
สำหรับตัวผม เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สายวิทย์จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยผมสอบได้ที่หนึ่งของห้อง 156 หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แล้ว ลำดับต่อไป คือ การเตรียมตัวสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
3.2 ระบบการสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2512
การสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน
ระบบการสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ดูสลับซับซ้อน มีคะแนนหลายอย่าง มีทั้งคะแนนเก็บและคะแนนสอบเข้า มีทั้งการรับตรงและการรับรวม แต่จำนวนมหาวิทยาลัยก็มีให้เลือกมาก ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยปิด มหาวิทยาลัยเปิด และมหาวิทยาลัยเอกชน หากจะกล่าวโดยรวมแล้ว การสอบข้ามหาวิทยาลัยสมัยนี้ แม้จะดูสลับซับซ้อนสำหรับคนรุ่นเก่าอย่างผม แต่ผมก็เห็นว่า โอกาสที่จะได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยสมัยนี้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก เพียงแต่ว่าจะได้คณะวิชาหรือมหาวิทยาลัยที่ต้องการหรือไม่เท่านั้นเอง หากพลาดพลั้งสอบเข้าไม่ได้ ก็ยังมีมหาวิทยาลัยเปิดและมหาวิทยาลัยเอกชนรองรับอยู่หลายแห่ง
การสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2512
การสอบเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อปีพ.ศ.2512 ซึ่งเป็นปีที่ผมสมัครสอบ เป็นระบบแพ้คัดออก เข้าใจง่าย มีรอบเดียวจบ หากสอบไม่ได้ ก็ต้องรอสอบใหม่ปีหน้า หรือถ้าเป็นลูกคนรวย ก็อาจจะบินไปเรียนต่อเมืองนอกก็ได้
การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในยุคนั้น ทบวงมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้ผู้สมัครสอบแต่ละคนมีสิทธิเลือกคณะวิชาที่ต้องการเรียงตามลำดับไว้ไม่เกิน 6 อันดับ
คุณพ่อของผมสั่งไว้ว่า ขอให้เลือกคณะแพทย์ แต่ไม่ให้เลือกคณะวิศวะ เพราะเกรงว่าเรียนจบแล้ว อาจต้องไปทำงานบริษัทเอกชน ไม่ได้รับราชการ การที่คุณพ่อสั่งผมเช่นนี้ อาจจะเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของมหาสมหมายที่ได้ตรวจดวงชะตาของผมไว้เมื่อหลายปีที่แล้วว่า ดวงชะตาอย่างหนึ่งของผมคือ การเป็นแพทย์
ในยุคนั้น มหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีไม่กี่แห่ง ได้แก่ จุฬา ฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล เกษตรศาสตร์ และศิลปากร ส่วนมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค มีอยู่ 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาสงขลานครินทร์
ผมได้พิจารณาใคร่ครวญแล้วเห็นว่า หากผมเลือกแต่คณะแพทย์ตามคำสั่งของคุณพ่ออย่างเดียว เกิดพลาดพลั้งมา ผมอาจจะสอบไม่ติดเลย เพราะคณะแพทย์ มีแต่คนเรียนเก่ง ๆ ทั้งนั้นที่จะสอบเข้าได้ อีกย่างผมได้ประเมินตัวเองแล้วเห็นว่า โอกาสที่ผมจะสอบเข้าคณะแพทย์ได้ มีไม่มากนัก เพราะเมื่อตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ผมป่วยเป็นโรคไซนัสอย่างรุ่นแรง ทำให้ปวดศีรษะตลอดเวลาและขาดสมาธิในการเรียน ส่งผลต่อการเรียนวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างเคมี ชีววิทยา กลศาสตร์ และฟิสิกส์ ของผมเป็นอย่างมาก ทำให้ผมไม่สามารถทำความเข้าใจได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ผมอดคิดถึงคำพยากรณ์ของมหาสมหมายไม่ได้ว่า ดวงชะตาของผม มีทางเลือกอยู่ 3 ทาง หากไม่ได้เป็นแพทย์ ก็อาจจะได้เป็นผู้พิพากษา หรือไม่ก็นักปกครอง ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจเลือกคณะแพทย์ อันดับ 1-3 ส่วนอันดับ 4-6 ผมเลือกคณะรัฐศาสตร์ จุฬา ฯ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ทั้งนี้เป็นเลือกเรียงลำดับตามคะแนนสูง-ต่ำ ของแต่ละคณะในยุคนั้น
แสดงว่า คำพยากรณ์ที่เป็นความคิดทางบวก บางครั้งก็อาจจะเป็นข้อมูลอย่างหนึ่งที่เราอาจจะนำมาประกอบการตัดสินใจได้
4.ผลของคำพยากรณ์
เมื่อประกาศผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ปรากฏว่า ผมสอบได้คณะรัฐศาสตร์ จุฬา ฯ ซึ่งเป็นตัวเลือกลำดับที่ 4 หลังจากนั้น ผมก็ได้เรียนจบได้รับปริญญาตรีรัฐศาสตร์บัณฑิต สาขาการปกครอง ด้วยคะแนนเกียรตินิยม จนกระทั่งสอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอตรี เมื่อปี พ.ศ.2517
แต่มีคำพยากรณ์ของมหาสมหมายอยู่อย่างหนึ่งที่ได้พยากรณ์ไว้ล่วงหน้าหลายปีแล้ว ภายหลังที่ผมสอบเข้าเป็นปลัดอำเภอได้แล้วว่า ผมจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นนายอำเภอเมื่อมีอายุ 40 ปีเศษ โดยคุณพ่อได้เล่าเรื่องนี้ให้ผมฟัง เมื่อครั้งผมได้เดินทางไปรับตำแหน่งนายอำเภอครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2535 ในตำแหน่งนายอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย (หรือจังหวัดบึงกาฬ ในปัจจุบัน) ทั้ง ๆ ที่ตามความเป็นจริงเมื่ออายุ 36-37 ปี ผมควรจะได้เป็นนายอำเภอ ถ้าหากไม่มีอะไรผิดพลาด
เมื่อเล่ามาถึงตอนนี้ ผมต้องยอมรับว่า มหาสมหมายเป็นโหราจารย์ที่เก่งมาก สามารถทำนายอนาคตของผมล่วงหน้าร่วม 18 ปี ได้อย่างถูกต้องว่า ผมจะได้เป็นนายอำเภอเมื่อมีอายุได้ 40 ปีเศษ

5.สรุปและข้อคิดเห็น
บทความนี้เป็นบทความสุดท้ายของบทความชุด ภูมิหลังและแรงบันดาลใจในการก้าวเข้าสู่อาชีพนักปกครอง โดยบทความก่อนหน้าหน้านี้ ได้เล่าถึง ภูมิหลังของครอบครัวผม แรงบันดาลใจ 4 ประการที่ทำให้ผมเลือกการประกอบอาชีพนักปกครอง ได้แก่ นักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม และคำพยากรณ์ของโหราจารย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำพยากรณ์ของโหราจารย์ได้ส่งผลโดยตรงในการเลือกคณะวิชาในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของผมเมื่อปี พ.ศ.2512 จำนวน 6 อันดับ กล่าวคือ นอกจากการเลือกสอบเข้าคณะแพทย์ อันดับ 1-3 แล้ว ผมยังเลือกคณะรัฐศาสตร์และคณะนิติศาสตร์ เป็นอันดับที่ 4-6 ซึ่งเป็นการเลือกคณะวิชาสอดคล้องกับคำพยากรณ์ของโหราจารย์ที่ว่า ดวงชะตาของผมมีทางเลือกอยู่ 3 ทาง คือ หากไม่เป็นแพทย์ ก็อาจจะได้เป็นผู้พิพากษา หรือนักปกครอง
มีข้อควรคิดต่อไปสนุก ๆ ว่า หากไม่มีคำพยากรณ์ของโหราจารย์ดังกล่าว ผมจะตัดสินเลือกคณะวิชาในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ.2512 อย่างไร
ขอบคุณทุกท่านครับ พบกันใหม่ในบทความชุดใหม่ “ ประสบการณ์การสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จและความสุข”
ดร.ชา
10/06/20
“ หากบทความนี้ถูกใจท่าน และท่านมีความประงสงค์จะสนับสนุนให้บทความนี้แพร่หลายออกไป กรุณามีส่วนร่วมด้วยการกดไลค์ กดแชร์ไปยังกลุ่มบุคคลหรือบุคคลในเครือข่ายของท่าน หรือแสดงความคิดเห็น รวมทั้งสมัครเป็นผู้ติดตามได้ตามอัธยาศัย และขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
กรุณาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเพจ การสมัครเป็นผู้ติดตามและการมีส่วนร่วมของเว็บไซต์นี้ รวมเรื่องเล่า สนุกและสร้างสรรค์ ชุดประสบการณ์นักปกครองที่น่าสนใจ (https://tridirek.com) ”
ยอดเยี่ยมเลยค่ะอาจารย์ แต่คำนายไม่ได้เป็นมูลเหตุจูงใจท่านในการเลือกเป็นนักปกครอง แสดงว่าวิถีชีวิตเป็นไปตามคำทำนาย
อาจจะเป็นเช่นนั้น
สัมคมไทยผูกพันธ์กับโหราศาตร์ มานานแล้ว ถือว่ามหาสมหมาย คืออีกผู้หนึ่งที่ตรวจดวงชะตาตามหลักโหราศาสตร์ ได้แม่นมากครับ
หากเรียนรู้จริงๆ ก็แม่นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เคยบวชเป็นพระมาก่อน มักจะเก่งด้านนี้
โหราศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตได้ค่ะ
ถูกต้อง คุณเพ็ญ