การเข้าสู่อาชีพนักปกครองของผม ก็ด้วยภูมิหลัง และแรงบันดาลใจ 4 ประการ คือ นักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม และคำพยากรณ์ของโหราจารย์ ในตอน (2) นี้ จะขอเล่าถึงแรงบันดาลใจ:ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ การสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล และการจัดงานการแสดงของช้างจังหวัดชัยภูมิ
อนึ่งในบทความ (1) ผมได้กล่าวถึงนักปกครองคนแรกที่ผมรู้จักที่เป็น แรงบันดาลใจ ให้ผม
Table of Contents
1.แรงบันดาลใจ: ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ
นักปกครองคนที่ 2 ที่อยู่ในดวงใจของผมตลอดมา คือ นายช่วย นนทะนาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ คนที่ 34 ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2504-2511 รวมระยะเวลายาวนานถึง 7 ปี ซึ่งนับได้ว่าเป็นการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดเดียวกันที่ยาวนานมาก การที่ท่านสามารถดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิเป็นเวลายาวนานถึง 7 ปี ย่อมแสดงให้เห็นว่า ท่านย่อมเป็นที่รักใคร่ของข้าราชการ พ่อค้า คหบดี และประชาชนอย่างแน่นอน และต้องมีผลงานดีเด่นหลายอย่าง
เมื่อปี พ.ศ.2504 ซึ่งเป็นปีที่ นายช่วย นนทะนาคร ดำรงตำแหน่่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ผมเพิ่งมีอายุได้ 10 ปี
การดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเดียวกันเป็นระยะเวลายาวนานเช่นนี้หาได้ยากในยุคปัจจุบัน บางคนดำรงตำแหน่งได้แค่ 1-2 ปี ก็ต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งที่จังหวัดอื่น ซึ่งอาจจะเป็นจังหวัดที่ใหญ่ขึ้น แม้อาจจะเป็นผลดีสำหรับเจ้าตัวที่มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ แต่ไม่ค่อยเป็นผลดีสำหรับพื้นที่เท่าใดนัก เพราะพอจะเริ่มรู้พื้นที่และประชาชนพอสมควร ก็ไม่มีโอกาสอยู่บริหารงานจังหวัดให้เป็นผลดีแก่พื้นที่และประชาชนเสียแล้ว
2.การสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล
ช่วงที่ท่านผู้ว่า ฯ ช่วย นนทะนาคร ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ผมอายุประมาณ 10-17 ปี ผลงานโดดเด่นของท่านซึ่งอยู่ในใจของชาวชัยภูมิมาจนทุกวันนี้ คือ การสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากการคิดออกนอกกรอบและความคิดสร้างสรรค์ของท่าน

เจ้าพ่อพญาแล หรือพระยาภักดีชุมพล เป็นเจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดชัยภูมิ ดำรงตำแหน่งระหว่างปีพ.ศ.2360-2369 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ท่านเป็นผู้สร้างเมืองชัยภูมิขึ้นมา เดิมท่านเป็นคนคนเวียงจันทน์ ได้พามิตรสหายอพยพมาอยู่ที่พื้นที่จังหวัดชัยภูมิในปัจจุบัน
เจ้าอนุวงศ์แห่งกรุงเวียงจันทน์ได้ตั้งตนเป็นกบถต่อกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เดินทัพผ่านมาทางจังหวัดชัยภูมิ บังคับให้ท่านร่วมมือเป็นกบถด้วย ท่านไม่ยอม เพราะถือว่าได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมการของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ แล้ว จึงถูกเจ้าอนุวงศ์ จับประหารชีวิตที่บ้านหนองปลาเฒ่า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ และเป็นบริเวณที่ตั้งศาลเจ้าพ่อพญาแลอันที่เป็นเคารพยิ่งของชางจังหวัดชัยภุมิ
การที่เจ้าพ่อพญาแลได้สละชีวิตเพื่อแผ่นดินไทย จึงทำให้เจ้าพอพญาแลเป็นที่เคารพบูชาของชาวชัยภูมิเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ท่านผู้ว่า ฯ ช่วย นนทะนาคร จึงต้องการเชิดชูเกียรติเจ้าเมืองคนแรกในฐานะเป็นผู้สร้างเมืองชัยภูมิขึ้นมาให้โดดเด่นขึ้นมามากกว่าเดิม จึงได้หารือกับหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า คหบดี และผู้นำท้องถิ่น ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวชัยภูมิและได้มีความเห็นสอดคล้องกันว่า สมควรจะสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแลไว้ตรงสี่แยกกลางวงเวียนศูนย์ราชการจังหวัดชัยภูมิ หลังจากนั้นก็ได้ร่วมกันรณรงค์หาเงินสมทบทุนสร้าง ซึ่งรายได้หลักก็ได้มาจากการสร้างเหรียญเจ้าพ่อพญาแล หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ชาวชัยภูมิทั้งจังหวัดได้ร่วมกันบริจาคเงินสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแลผ่านการบูชาเหรียญเจ้าพ่อพญาแลนั่นเอง
กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบและสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล โดยมีอาจารย์พิมาน มูลประมุข ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ออกแบบ การก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ.2509 และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2510
ทำเลที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์เจ้าพ่่อพญาแล นับว่าเด่นสง่า เพราะตั้งอยู่่บริเวณวงเวียนกลางเมืองตรงสี่แยกถนนชัยภูมิ-กรุงเทพ ฯ เมื่อใครเดินทางผ่าน ก็มักจะยกมือไหว้แสดงความเคารพเสมอ หรืออาจจะเรียกว่า เป็นการปรับฮวงจุ้ยจังหวัดชัยภูมิให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ
หลังจากนั้น จังหวัดชัยภูมิก็ได้จัดให้มีงานประจำปี ชื่อว่า งานฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาและงานกาชาดประจำปี ระหว่างวันที่ 12-20 มกราคม เป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา
3.การจัดงานการแสดงของช้างจังหวัดชัยภูมิ
เดิมจังหวัดชัยภูมิเคยมีการจัดงานการแสดงของช้างเช่นเดียวกับจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยท่านผู้ว่า ฯ ช่วย นนทะนาคร เมื่อได้เห็นข่าวแล้ว ผมรู้สึกตื่นเต้นและยินดีมากที่บ้านเกิดของผม สามารถจัดงานการแสดงของช้างได้

บางทีท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมจังหวัดชับภูมิในอดีตจึงมีการเลี้ยงช้างมาก คำตอบก็คือ ในสมัยโบราณจังหวัดชัยภูมิเป็นจังหวัดหนึ่งที่หลวงได้มอบหมายให้เลี้ยงช้างไว้ใช้เป็นสัตว์พาหนะและเตรียมไว้ใช้ในศึกสงคราม ต่อมาบ้านเมืองมีความเจริญมากขึ้น ความจำเป็นที่จะใช้ประโยชน์จากช้างในการเป็นสัตว์พาหนะ และการสงครามก็ลดลงหรือหมดไป คนเลี้ยงช้างจังหวัดชัยภูมิก็จำเป็นต้องนำช้างออกไปทำมาหากินในจังหวัดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เมื่อถึงเวลาก็นำช้างกลับไปเยี่ยมบ้านปีละหน
ทุกวันนี้ ท่านอาจไม่ได้ยินข่าวการจัดงานการแสดงของช้างของจังหวัดชัยภูมิ แต่มิได้หมายความว่า การจัดงานดังกล่าว ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ความจริงยังมีอยู่ โดยได้จัดรวมกับงานฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแลและงานกาชาดประจำปี นั่นแหละ เรียกชื่อ งานช้างคืนถิ่น กินพาแลง
การที่ไม่มีข่าวการจัดงานการแสดงของช้างของจังหวัดชัยภูมิอย่างเอิกเกริกเหมือนอย่างการจัดงานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ ผมเข้าใจว่า ทางองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยงหรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ต้องการให้จังหวัดชัยภูมิและจังหวัดสุรินทร์จัดงานการแสดงของช้างแข่งกันเอง โดยขอให้หวัดชัยภูมิหลีกทางให้จังหวัดสุรินทร์เป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อให้จังหวัดสุรินทร์สามารถจัดงานให้ได้โดดเด่น เพราะองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวในอดีตหรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ต้องใช้งบประมาณส่วนหนึ่งช่วยในการประชาสัมพันธ์ในการจัดงานให้เป็นงานใหญ่ระดับโลก
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองชัยภูมิ ผมรับคำสั่งจังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นประธานกรรมการจัดงานช้างคืนถิ่น กินพาแลง ทั้งนี้เพราะบ้านค่ายหมื่นแผ้ว ตำบลบ้านค่าย อำเภอเมืองชัยภูมิเป็นถิ่นที่อยู่ของเจ้าของช้างหลายเชือกที่ได้ออกไปทำมาหากินในจังหวัดต่าง ๆ พอถึงเวลางานช้างคืนถิ่นพวกเขาก็ได้โอกาสกลับมาเยี่ยมภูมิลำเนาปีละครั้ง เพื่อนำช้างถวายคาราวะแด่เจ้าพ่อพญาแล ณ อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ คนที่ 34 นายช่วย นนทะนาคร เป็นผู้นำริเริ่มสร้างไว้
หน้าที่่ของผมก็เพียงแต่ออกไปดูแลความเรียบร้อยที่บ้านค่ายหมื่นแผ้ว ส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นหน้าที่ขององค์การบริหาร่วนจังหวัดชัยภูมิรับผิดชอบ
4.สรุป
ผู้ว่า ฯ ในดวงใจของผมก็คือ นายช่วย นนทะนาคร ผู้ว่าราชการจัหวัดชัยภูมิคนที่ 34 ดำรงตำแหน่งระหว่างปีพ.ศ. 2504-2511 เนื่องจากท่านได้ใช้ความคิดออกนอกรอบและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้เป็นประโยชน์แก่จังหวัดชัยภูมิตราบเท่าทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดชัยภุมิไว้ทีศูนย์กลางตัวเมือง และการริเริ่มให้มีการจัดงานการแสดงของช้างของจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งปัจจุบันได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานฉลองอนุสาวรย์เจ้าพ่อพญาและงานกาชาดจังหวัดชัยภูมิประจำปี นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2510 จนกระทั่งทุกวันนี้
หากท่านเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขจังหวัดชัยภูมิหรือเป็นลูกหลานเจ้าพ่อพญาแล ท่านคงจะชื่นชมท่านผู้ว่า ฯ ช่วย นนทะนาคร เช่นเดียวกับผมนะ
ขอบคุณครับ
ดร.ชา 25/05/20
หนูก็มีบุคคลเป็นต้นแบบ เหมือนกันค่ะ ต้องการพูดได้15ภาษาเหมือนเด็กชายชาวกัมพูชา เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อ20ปีที่แล้ว หนูเรียนจบจากสถาบันราชภัฏ แล้วได้ไปสมัครงานโรงแรมตามหนังสือสมัครงาน ก่อนจะเข้าไปสมัครงานห้องบุคคล ยามพูดว่าจบมาจากราชภัฏละสิจึงไม่มีงานทำ ประโยคนี้จึงฝังใจจนทุกวันนี้ ฉันต้องพูดได้หลายภาษาให้ได้
การมีบุคคลเป็นต้นแบบถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าคิดจะทำให้ได้อย่างบุคคลต้นแบบ เราควรจะประเมินความเป็นไปได้สำหรับตัวเราเสียก่อน
บางอย่างเป็นเรื่องง่ายสำหรับบางคน แต่ก็อาจจะเป็นเรืองยากสำหรับอีกบุคคลหนึ่ง ผมชอบประโยคสนทนาภาษาอังกฤษที่พวกเราเคยเรียนกันมาเมื่อชั้นประถม
” It is easy for you to do that, but it is difficult for me.”
ผมไม่อยากให้คุณเพ็ญสร้างฝันที่ยากจะเป็นไปได้สำหรับตัวเรา ส่วนจะมีใครพูดจาดูหมิ่นดูแคลนเราอย่างไร อย่าไปให้ความสำคัญมาก เราต้องรู้ตัวเราว่าอยู่ ณ จุดใด