การเข้าสู่อาชีพนักปกครองของผม ก็ด้วยภูมิหลัง และแรงบันดาลใจ 4 ประการ คือ นักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม และคำพยากรณ์ของโหราจารย์
อนึ่งใน บทความ (2) ผมได้เล่าเรื่อง แรงบันดาลใจ ทีเกิดจากผู้ว่า ฯ ในดวงใจ
สำรับตอน (3) เรื่องราวของนายอำเภอผู้น่าเกรงขาม ประกอบด้วย การย้ายครอบครัวตามบิดามารดา การศึกษาอบรมที่อำเภอจัตุรัส นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม นายอำเภอกับอำนาจในการสอบสวนคดีอาญา อาคารทีว่าการอำเภอกับความน่าเกรงขามของนายอำเภอ นายอำเภอกับการแสดงบทบาทภาวะผู้นำในด้านต่าง ๆ และสรุปและข้อคิดเห็น
Table of Contents
1.การย้ายติดตามบิดามารดา
ผมได้เล่าให้ท่านฟังแล้วว่า คุณพ่อผมรับราชการกรมสรรพสามิต ไต่เต้าจากเสมียน พอสอบเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งได้เป็นสรรพมาสามิตอำเภอ กรมสรรพสามิตได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นสรรพสามิตอำเภอตรี อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ เมื่อปี พ.ศ.2501
อำเภอจัตุรัส เป็นอำเภอเก่าแก่อำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ เป็นอำเภอที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่ 3 ของจังหวัด รองลงมาจากอำเภอเมืองชัยภูมิ และอำเภอภูเขียว อยู่ห่างตัวจังหวัดราว 38 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดกับอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของอำเภอโซนทิศใต้ของจังหวัดชัยภูมิ เมื่อปี พ.ศ.2501 ถนนสายชัยภูมิ-จัตุรัส-ด่านขุนทด-สีคิ้ว ยังมีสภาพเป็นถนนลูกรัง และกว่าจะได้ยกระดับให้เป็นถนนลาดยาง ต้องใช้เวลาอีกหลายปีหลังจากนั้น แต่ทุกวันนี้ เส้นทางสายนี้ได้รับการยกระดับจากกรมทางหลวง ให้เป็นถนนสี่เลนเรียบร้อยแล้ว
ขอเล่าแทรกตรงนี้ว่า สรรพสามิตอำเภอในยุคนั้น เป็นส่วนราชการประจำอำเภอเช่นเดียวกับสรรพากรอำเภอ และเป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนกระทั่งได้มีการปฏิรูประบบราชการช่วงปี พ.ศ.2545-2547 ยุครัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จึงได้มีการออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการใหม่ โดยให้ สรรพสามิตจังหวัด และสรรพากรจังหวัดเป็นสรรพสามิตพื้นที่ และสรรพากรพื้นที่ ตามลำดับ ส่วนสรรพสามิตอำเภอ และสรรพากรอำเภอ ก็ให้เป็น สรรพสามิตพื้นที่สาขา และสรรพากรพื้นที่สาขา ตามลำดับ ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง คือ กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากร ไม่ได้ขึ้นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภออีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ตัวผมและน้อง ๆ ทุกคน จึงต้องย้ายครอบครัวไปอยู่อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ
งานหลักของสรรพสามิตอำเภอในยุคนั้น คือ การออกตรวจจับกุมชาวบ้านตามตำบลหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ลักลอบต้มเหล้าเถื่อน หรืออย่างที่เรียกว่า สาโท นั่นเอง หากท้องที่ใดทุรกันดารมาก ก็ต้องใช้ม้าเป็นพาหนะนำคณะเข้าไปพักค้างคืนตามบ้านของกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านอยู่บ่อย ๆ ครั้งละ 4-5 วัน โดยต้องทำงานร่วมกับตำรวจอย่างใกล้ชิด เพราะตำรวจมีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญา ด้วยเหตุนี้ จึงมีนายตำรวจหนุ่ม ๆ มาพบคุณพ่อของผมที่บ้านพักบ่อยครั้งเพื่อประสานงานกัน ที่ผมจำได้ดี คือ ผู้หมวดสมภพ ฯ

ผู้หมวดสมภพ ฯ เป็นผู้หมวดหนุ่มรูปหล่อ รูปร่างสูงสง่างาม จบจากโรงเรียนนายร้อยสามพราน เป็นคนกรุงเทพ ฯ พูดจาสุภาพและไพเราะมาก และในเวลาต่อมา ผู้หมวดก็ได้เจริญก้าวหน้าในอาชีพตำรวจของท่านตามลำดับ
2.การศึกษาอบรมที่อำเภอจัตุรัส
ก่อนจะย้ายตามบิดามารดาจากอำเภอเมืองชัยภูมิไปอยู่อำเภอจัตุรัส ผมเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนวัดบริบูรณ์ หรือโรงเรียนบ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ แล้ว แต่คุณแม่เห็นว่า ผมอายุยังน้อย เพราะเรียนก่อนเกณฑ์สองปี คุณแม่จึงให้ผมเรียนป.2 ซ้ำชั้นอีกปีหนึ่ง ในขณะที่มีอายุได้ 7 ขวบ โดยผมได้เข้าเรียนที่โรงเรียนจัตุรัสวิทยานุกูล จากชั้นประถมปีที่ 2-4 หลังจากนั้น ผมได้เข้าเรียนต่อชั้นประถมศึกษาตอนปลายปีที่ 5-7 ณ โรงเรียนจัตุรัส หรือ ช.ย.7 ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายประจำอำเภอในยุคนั้น
ผมได้เข้าเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาตอนต้นและตอนปลายที่โรงเรียนทั้งสองแห่งดังกล่าว เป็นเวลา 6 ปี นับจากปีพ.ศ.2501-2507 หลังจากนั้น คุณพ่อแม่ของผมได้ส่งผมเข้าไปเรียนต่อที่กรุงเทพ ฯ เรื่องราวเกี่ยวกับนายอำเภอผู้น่าเกรงขามที่จะเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง จึงเป็นเรื่องราวในช่วงเวลา 6 ปีดังกล่าว
ขอเล่าแทรกตรงนี้สักเล็กน้อยว่า ในยุคนั้น รัฐบาลต้องการขยายการศึกษาภาคบังคับจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไปถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 โดยเริ่มจากให้อำเภอหนึ่งมีโรงเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายประจำอำเภอหนึ่งแห่ง และต่อมาก็ได้ยกระดับโรงเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายประจำอำเภอขึ้นเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอ
แต่กรณีโรงเรียนจัตุรัส (ช.ย.7) ได้ย้ายออกไปสร้างเป็นโรงเรียนแห่งใหม่อยู่ห่างจากสถานที่ตั้งโรงเรียนเดิมออกไปราว 10 กิโลเมตร เพื่อให้ได้พื้นที่ของโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม นัยว่าจะให้เป็นโรงเรียนหลักสูตรผสม พร้อมตั้งชื่อใหม่ว่ า โรงเรียนจัตุรัสวิทยาคาร ทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่า โรงเรียนจัตุรัส ที่ผมเคยเป็นศิษย์เก่า ไม่มีอีกแล้ว แม้ในช่วงเวลาของการดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองชัยภูมิระหว่างปี พ.ศ.2546 – 2548 ผมเคยคิดอยากจะเข้าไปเยี่ยมโรงเรียนเก่า แต่ผมก็ไม่กล้าเข้าไป เพราะไม่แน่ใจว่า ผมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนดังกล่าวหรือไม่ นั่นเอง
3.แรงบันดาลใจ: นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม
การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะเป็นที่น่าเกรงขามหรือไม่ เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับบุคลิกลักษณะ การมีอำนาจในการให้คุณให้โทษแก่บุคคลอื่น และที่สำคัญคือ การมีคุณธรรมประจำใจ ไม่ลุแก่อำนาจ เพราะหากมีอำนาจแต่ลุแก่อำนาจ แทนที่จะเป็นคนที่น่าเกรงขาม ก็จะกลายเป็นบุคคลที่ผู้คนเขาเกลียดกลัว และสาปแช่ง
ทำไมผมจึงกล่าวว่า นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม เป็นแรงบันดาลใจในการก้าวเข้าสู่อาชีพนักปกครอง หากอยากทราบ ผมจะเล่าให้ท่านฟังดังนี้
การที่ผมมีคุณพ่อเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ และมีคุณแม่เป็นครูประชาบาล ทำให้ผมได้อยู่ในวงสังคมชั้นสูงของอำเภอจัตุรัสได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยนั้น หรือเมื่อประมาณ 60 ปีเศษที่ผ่านมา สังคมชนบทยังมีความเจริญน้อยมาก คนที่จะมีความโดดเด่นในสังคมชนบทยุคนั้นก็คือ ข้าราชการ เพราะพ่อค้าที่ร่ำรวยก็ยังไม่ค่อยมีมากนัก นักการเมืองท้องถิ่นมีแค่กรรมการสุขาภิบาลโดยการเลือกตั้ง สุขาภิบาลละ 4 คน เทศบาลมีแค่เทศบาลเมืองในตัวจังหวัด นักการเมืองระดับชาติบางช่วงก็มี บางช่วงก็ไม่มี แต่ถึงมี ความโดดเด่นก็ยังไม่มาก
ส่วนพวกพ่อค้าที่รำรวยในยุคนั้นเท่าที่เห็นคือ พวกโรงเลื่อยที่ได้รับสัมปทานตัดไม้ในป่า ตัดจนป่าหมด และต้องยุบโรงเรียนป่าไม้แพร่ จนกระทั่งปี พ.ศ.2523 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี จึงต้องใช้อำนาจสั่งปิดป่า เพื่อฟื้นฟูและรักษาสมดุลธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด มิฉะนั้นแล้ว ป่าเมืองไทยจะหมดไปมากกว่านี้ รองลงมา คือ ร้านตัวแทนจำหน่ายสุรารัฐบาล
ดังนั้น ศูนย์กลางอำนาจจึงอยู่ที่ระบบราชการอย่างชัดเจน
นายอำเภอจัตุรัสในช่วงที่ผมได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ณ โรงเรียนจัตุรัสวิทยานุกูล คือ ท่านนายอำเภอ ประจงฤทธิ์ นาคะปักษิณ นายอำเภอจัตุรัส คนที่ 24 ท่านดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.2499-2503 ส่วนนายอำเภอจัตุรัสก่อนหน้านี้ คือ ท่านนายอำเภอคล้าย จิตพิทักษ์ ซึ่งในเวลาต่อมาท่านได้เจริญก้าวหน้าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช คนที่ 24 และถูกกลุ่มพวกซ้ายหัวรุนแรงนำโดย นายสุรชัย แซ่ด่าน เผาจวนในยุค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งได้เป็นข่าวใหญ่พาดหัวหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น
ว่าตามความเป็นจริง ท่านนายอำเภอ ประจงฤทธิ์ นาคะปักษิณ ท่านคือนายอำเภอคนแรกที่ผมรู้จัก ท่านเป็นคนรูปร่างสันทัด ผิวดำแดง สีหน้าเรียบเฉย ทำให้ดูน่าเกรงขาม

บ้านพักนายอำเภอจัตุรัส อยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ว่าการอำเภอ และอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนจัตุรัสวิยานุกูล โรงเรียนของผมในยุคนั้น ทำให้ผมมีโอกาสเดินสวนกับท่านหลายครั้ง ในเวลาที่ผมเดินไปเที่ยว ณ ที่ว่าการอำเภอ ทุกครั้งผมได้โค้งทำความเคารพเสมอด้วยความรู้สึกเคารพยำเกรง นอกจากนี้ ผมมักจะมองดูบ้านพักนายอำเภอแทบทุกครั้งที่ผมได้เดินผ่าน
เหตุที่่กล่าวว่า ผมเดินสวนกับท่านนายอำเภอหลายครั้ง เพราะท่านเดินจากบ้านพักไปทำงาน ณ ที่ว่าการอำเภอ ไม่ได้ใช้ยานพาหนะ เนื่องจากเป็นระยะทางใกล้ ๆ สำหรับยานพาหนะประจำตำแหน่งนายอำเภอยุคนั้น คือ รถแลนด์ โรเวอร์
รถแลนด์ โรเวอร์ (Land Rover) เป็นรถยนต์สัญชาติอังกฤษ เหมาะสำหรับการใช้วิ่งในเส้นทางทุรกันดาร เพราะสามารถขึ้นเขา ลงห้วย ผ่านทะเลทรายไปได้หมด แม้แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ทรงใช้รถแลนด์ โรเวอร์ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นเขา ลงห้วย เพื่อเยี่ยมเยือนพสกนิกรชาวเขาทางภาคเหนือ อย่างที่พวกเราเคยเห็นในภาพยนตร์การประกอบพระราชกรณียกิจของพระองค์ทางทีวีอยู่่บ่อย ๆ

ในเวลานั้น ผมอาจจะอธิบายไม่ได้ว่า ทำไมผมหรือผู้คนในสังคมไทยในชนบทจึงให้ความเคารพยำเกรงนายอำเภอกันยิ่งนัก แต่เวลานี้ผมเข้าใจแล้ว โดยผมจะเล่าเหตุผลให้ท่านผู้อ่านฟังว่าเป็นเพราะเหตุใด
4.นายอำเภอกับอำนาจสอบสวนคดีอาญา
ท่านผู้อ่านคงทราบดีว่า ในบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐในปัจจุบัน ตำรวจนับเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สามารถทำให้ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวได้มากที่สุด เพราะมีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งเป็นอำนาจเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม หากใครเป็นผู้ต้องหาตำรวจย่อมสามารถจับกุมเข้าห้องขังได้ จนกว่าจะได้รับการประกันตัวออกไป
แม้ตำรวจส่วนใหญ่จะใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม แต่มีตำรวจบางคนใช้อำนาจในการกดขี่ข่มเหงประชาชนหรือใช้อำนาจด้วยความคิดเชิงลบ ดังที่ปรากฏข่าวทางสื่อสารมวลชนอยู่ตลอด ทำให้ประชาชนที่ถูกกดขี่ข่มเหงได้รับความเดือนร้อนมาก เพราะการที่ชีวิตคนต้องพบชะตากรรมมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลไม่ใช่เรื่องสนุกเลย กว่าคดีจะจบเรื่องมักจะยืดเยื้อยาวนานไปหลายปี ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปตำรวจจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ส่วนผลจะออกมามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เป็นที่พอใจของสังคมหรือไม่ พวกเราคงต้องคอยติดตามดู
เพื่อให้ท่านผู้อ่านทราบว่า อำนาจในการจับกุมดำเนินคดีอาญามีความสำคัญมากเพียงใด ผมมีเรื่องเล่าแทรกตรงนี้ว่า ในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ( ปีพ.ศ.2502-2506) ท่านกุมอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จไว้ในมือถึง 4 ตำแหน่งพร้อมกัน คือ เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และอธิบดีกรมตำรวจ การที่ท่านต้องเป็นอธิบดีกรมตำรวจควบไปด้วย เพราะท่านได้ถามคนใกล้ชิดว่า การที่ดำรงตำแหน่งใหญ่โตขนาดนี้ ตำรวจยังจับกุมดำเนินคดีท่านได้ไหม ผู้ใกล้ชิดตอบว่า ยังจับกุมดำเนินคดีได้ ท่านเลยตัดสินใจควบตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจด้วย

อย่างไรก็ดี แต่เดิมนั้นอำนาจสอบสวนคดีอาญาอยู่ที่อำเภอ แต่ตอนหลังก็ได้มีวิวัฒนาการโดยมีการโอนอำนาจสอบสวนระหว่างอำเภอกับตำรวจ บางครั้งก็ให้อำเภอกับตำรวจร่วมกันสอบสวน โดยให้นายอำเภอเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน บางครั้งก็ให้ตำรวจสอบสวนฝ่ายเดียว แต่ถ้ามีคนร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมหรือกรณีเห็นสมควร นายอำเภอก็สามารถเข้าควบคุมการสอบสวนได้ ส่วนจะเป็นรูปแบบใด ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุค โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ใช้อำนาจออกข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยกำหนดแนวทางปฏิบัติ เพราะเมื่อก่อนกรมตำรวจเป็นกรมหนึ่งที่อยู่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเหมือนอย่างในปัจจุบัน
แต่ในบทความนี้ ผมจะเล่าถึงอำนาจสอบสวนดีอาญาในช่วงปี พ.ศ.2501-2506 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมได้สัมผัสกับบทบาทของนายอำเภอในวัยเด็กของผม โดยขอแบ่งเป็น 2 ช่วง
ช่วงแรก อำนาจในการสอบสวนคดีอาญาในช่วงปี พ.ศ.2489-2502 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้อำนาจในการสอบสวน เป็นอำนาจของอำเภอฝ่ายเดียว โดยมีนายอำเภอเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน แต่จะสั่งให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจทำการสอบสวนหรือร่วมกันทำการสอบสวนก็ได้ และช่วงที่สอง ช่วง เดือนตุลาคม 2502-2506 กระทรวงมหาดไทยได้ออกข้อบังคับ กำหนดให้ตำรวจเป็นพนักงานสอบสวน แต่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน (กรมการปกครอง, การสอบสวนความผิดอาญาบางประเภท โดยพนักงานสอบสวนฝายปกครอง เล่ม ๑,หน้า ๒-๓)
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่า ในช่วงปีพ.ศ.2501-2506 อำเภอยังมีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญา โดยในช่วงปี พ.ศ.2499-2502 ท่านนายอำเภอจัตุรัสในขณะนั้น คือ ท่านนายอำเภอ ประจงฤทธิ์ นาคะปักษิณ ท่านมีอำนาจเต็มในการสอบสวนคดีอาญา เพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยให้อำเภอมีอำนาจสอบสวนฝ่ายเดียว แต่หลังจากนั้น แม้กระทรวงมหาดไทยจะได้มอบหมายให้ตำรวจมีอำนาจสอบสวนฝ่ายเดียว แต่นายอำเภอก็ยังเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านผู้อ่านคงพอจะเข้าใจว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำไมบุคลิกภาพของนายอำเภอจึงดูน่าเกรงขาม หรือดูเป็นคนที่มีอำนาจบารมี
5.อาคารที่ว่าการอำเภอยุคเก่ากับความน่าเกรงขามของนายอำเภอ
ท่านเชื่อไหมว่า อาคารที่ว่าการอำเภอ สามารถสร้างภาพลักษณ์ให้แก่นายอำเภอได้
ในช่วงปี พ.ศ.2501-2507 ซึ่งเป็นช่วงที่ผมได้ใช้ชีวิตในวัยเด็ก และเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-7 นั้น ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงยังไม่เคยเห็นสภาพที่ว่าการอำเภอยุคนั้นว่า รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
ที่ว่าการอำเภอยุคนั้น เป็นอาคารไม้ทั้งหลังและมีอยู่ชั้นเดียว แต่ยกพื้นสูง พร้อมที่จะปรับพื้นชั้นล่างเป็นห้องทำงานได้ ต้นเสาเป็นเสาไม้ขนาดใหญ่ แผ่นพื้นกระดานและฝาก็เป็นแผ่นไม้ขนาดใหญ่ สีเป็นสีดำหรือเทา และมีอยู่ห้องหนึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่มีลูกกรง สำหรับขังผู้ต้องหา ในทำนองเดียวกันกับห้องขังผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจ

อำเภอใดเป็นอำเภอเก่าแก่ ตั้งมายาวนาน อย่างเช่นอำเภอจัตุรัส ตัวอาคารที่ว่าการอำเภอ ก็จะมีรูปแบบและลักษณะเดียวกัน จนกว่าจะได้งบประมาณมาสร้างใหม่ แต่ที่ว่าการอำเภอที่ได้สร้างขึ้นใหม่รุ่นหลังจากนี้ สร้างเป็นอาคารไม้ สองชั้น ส่วนใหญ่จะทาสีเขียวอ่อน ไม่มีห้องขัง เพราะเป็นการสร้างในช่วงเวลาที่กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ตำรวจมีอำนาจสอบสวนแต่ฝ่ายเดียว
การที่อาคารที่ว่าการอำเภอรุ่นเก่าอย่างเช่นอำเภอจัตุรัสที่ผมได้เห็นเมื่อช่วงปี พ.ศ.2501-2507 มีห้องขังสำหรับไว้ขังผู้ต้องหา จึงเป็นเสริมบุคลิกภาพนายอำเภอยุคนั้นให้ดูน่าเกรงขามยิ่งนัก
ท่านเชื่อไหม เมื่อปีพ.ศ.2522-2523 ผมได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโส อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ อาคารที่ว่าการอำเภอภูเขียวก็ยังเป็นอาคารไม้รุ่นโบราณในทำนองเดียวกันกับอาคารที่ว่าการอำเภอจัตุรัส ซึ่งผมได้พบเห็นเมื่อปี พ.ศ.2501 จนกระทั่งวันหนึ่ง นายดำรง วชิโรดม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจราชการที่อำเภอ เผอิญวันนั้น ผมทำหน้าที่เป็นผู้รักษาราชการแทนนายอำเภอภูเขียว ท่านผู้ว่า ฯ คงรู้สึกประหลาดใจระคนตกใจ ที่ได้เห็นอาคารที่ว่าการอำเภอภูเขียว ซึ่งเป็นอำเภอชั้นหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ มีสภาพเก่าแก่ มีอายุร่วม 50 ปี ท่านจึงเขียนสั่งไว้ในสมุดบันทึกตรวจราชการของอำเภอว่า ให้ทำเรื่องของบประมาณก่อสร้างที่ว่าการอำเภอหลังใหม่จากกรมการปกครอง
6.บทบาทของนายอำเภอในการแสดงภาวะผู้นำในด้านต่าง ๆ
นอกจากบุคลิกอันน่าเกรงขามของท่านนายอำเภอ ประจงฤทธิ์ นาคะปักษิณ นายอำเภอจัตุรัส ในขณะนั้นแล้ว ผมยังเห็นบทบาทของนายอำเภอในการแสดงภาวะผู้นำในด้านต่าง ๆ เช่น บทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลจัตุรัสโดยตำแหน่ง ซึ่งเป็นบทบาทในการพัฒนาความเจริญให้แก่ชุมชนเมืองหรือชุมชนตัวตลาด อันเป็นบทบาทที่เกี่ยวข้องชาวตลาดโดยตรง
แต่ในวัยเด็กของผม บทบาทในการเป็นประธานในงานวันเด็กแห่งชาติของนายอำเภอ น่าจะเป็นบทบาทที่สร้างความประทับใจให้ผมได้มากที่สุด เพราะในยุคนั้น การจัดงานวันเด็กในต่างจังหวัด กระทรวงศึกษาธิการให้ให้จัดรวมกัน ณ ที่ว่าการอำเภอ โดยโรงเรียนต่าง ๆ พานักเรียนมาชุมนุมกัน เมื่อได้เวลา นายอำเภอในฐานะประธานในพิธีจะเป็นผู้กล่าวให้โอวาท หลังจากนั้น ก็มีการแสดงการละเล่นของเด็กจากโรงเรียนต่าง ๆ
มีอยู่ปีหนึ่ง คือ ปีพ.ศ.2505 ศาลโลกได้ตัดสินให้เขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา รัฐบาลในยุคนั้นได้เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความรู้สึกไม่พอใจในคำตัดสินของศาลโลกดังกล่าว โดยให้เด็กที่มาร่วมงานวันเด็กในปีนั้น ร่วมกันบริจาคเงินคนละ 1 บาท เพื่อรวบรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้เอาเขาพระวิหารกลับคืน แต่กรณีของผม เข้าใจว่า คุณแม่คงจัดการให้ผมแล้ว
อนึ่ง หลังจากท่านนายอำเภอประจงฤทธิ์ นาะปักษิณ ได้ย้ายไปแล้ว ได้มีนายอำเภอจัตุรัสอีก 3-4 ท่านที่ได้มาดำรงตำแหน่งต่อในช่วงปีพ.ศ.2503-2507 คือ นายไชยศิริ ธีรัทธานนท์ ร.ต.ต.ประทวน สุทธูรณ์ และนายอุดม จันทร์เจริญ
7.สรุปและข้อคิดเห็น
ในบทความนี้ ผมได้เล่าเรื่อง นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม ซึ่งเป็นนายอำเภอคนแรกที่ผมรู้จักเมื่อปี พ.ศ.2501 ในวัยเจ็ดขวบ คือท่านนายอำเภอ ประจงฤทธิ์ นาคะปักษิณ นายอำเภอจัตุรัสคนที่ 24 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.2499-2503 ซึ่งในช่วงนั้น อำนาจการสอบสวนคดีอาญาอยู่ที่อำเภอฝ่ายเดียว แม้ต่อมาจะได้มีการแก้ไขข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ให้โอนอำนาจสอบสวนคดีอาญาเป็นของตำรวจ แต่ก็ยังให้นายอำเภอเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน หมายความว่า เมื่อตำรวจสอบสวนเสร็จแล้ว ก็ต้องเสนอสำนวนการสอบสวนต่อนายอำเภอพิจารณาสั่งการและลงนาม เพื่อเสนอความเห็นไปยังพนักงานอัยการว่า สมควรจะสั่งฟ้องหรือไม่ อย่างไร
ด้วยบุคลิกภาพของนายอำเภอประจงฤทธิ์ นาคะปักษิณ ซึ่งเป็นนายอำเภอคนแรกที่ผมรู้จักในวัยเจ็ดขวบ ดูแล้วน่าเกรงขาม ประกอบกับความประทับใจในบทบาทการเป็นผู้นำของนายอำเภอในโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในงานวันเด็กประจำปี ทำให้ผมได้ซึมซับความอยากเป็นนักปกครองเข้าทีละน้อยอย่างไม่รู้ตัว
ท่านผู้อ่าน เคยพบใครในวัยเด็กแล้วเกิดความประทับใจ อยากจะเอาแบบอย่างหรือถือเป็นไอดอลของท่าน อย่างผมไหม
พบกันใหม่ในบทความต่อไป ซึ่งเป็นบทความสุดท้ายของบทความชุด ภูมิหลังและแรงบันดาลใจในการเข้าสู่อาชีพนักปกครอง “คำทำนายของโหราจารย์”
ขอบคุณนะครับ
7/06/20
“ หากบทความนี้ถูกใจท่าน และท่านมีความประงสงค์จะสนับสนุนให้บทความนี้แพร่หลายออกไป กรุณามีส่วนร่วมด้วยการกดไลค์ กดแชร์ไปยังกลุ่มบุคคลหรือบุคคลในเครือข่ายของท่าน หรือแสดงความคิดเห็น รวมทั้งสมัครเป็นผู้ติดตามได้ตามอัธยาศัย และขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
กรุณาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเพจ การสมัครเป็นผู้ติดตามและการมีส่วนร่วมของเว็บไซต์นี้ รวมเรื่องเล่า สนุกและสร้างสรรค์ ชุดประสบการณ์นักปกครองที่น่าสนใจ (https://tridirek.com) ”
นายอำเภอท่านคงมีบทบาท หรือลักษณะที่เด่นขัดเป็นพิเศษ จนทำให้เด็กวัย 7 ขวบ จดจำได้ถึงทุกวันนี้ หากท่านได้รับทราบท่่านคงจะภูมิใจมากเลยครับ
น่าจะเป็นเช่นน้ันแหละ ผู้หมวด
พ่อหนูเป็นกำนัน ได้เสียชีวิตไปนานแล้วค่ะอาจารย์ ในวัยเด็กมีเจ้าหน้าที่จากอำเภอมาให้ความรู้แก่ชาวบ้าน
และลูกบ้าน ก็มาประชุมกันที่บ้านกำนัน เมื่อก่อนยังไม่มีหอกระจายข่าว ได้เห็นพ่อตีเกาะ ใช้ไม้ตีดับแผ่นไม้เป็นวงกลม เสียงดังฟังชัดเจนดี เป็นสัญลักษณ์ลูกบ้านต้องมาประชุมค่ะ
จำได้ว่ามีปลัดหนุ่มมาบรรจุใหม่ชื่อ ปลัดเจนเจต เจนนาวิน เป็นคนบ้านเดียวกันกับอาจารย์ค่ะ
ปัจจุบันนี้น่าจะเป็นนายอำเภอแล้วล่ะ
อ๋อ คุณเพ็ญเป็นลูกสาวกำนันเหรอ ไม่ธรรมดานะนี่ ถ้าเช่นนั้นได้อ่านบทความเรื่อง นักปกครองคนแรกทีผมรู้จัก เป็นเรื่องของกำนัน ส่วนปลัดเจนเจตต์ เวลานี้ เขาเป็นนายอำเภอเมืองชัยภูมิ
โทร.ไปคุยกับเขาสิ
ฝากแสดงความยินดีกับนายอำเภอเจนด้วยนะคะ เป็นบุคคลต้นแบบ ที่ทำให้หนูอยากเป็นปลัด และเลือกเรียนต่อรัฐศาสตร์ หนูไม่ได้รับราชการ หนูได้นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาตนเอง เป็นพลเมืองที่กลางๆของสังคมค่ะ
ปลัดเจนเคยทำงานอยู่อำเภอม่วงสามสิบ ส่วนหนูอยู่ตำบลหนองไข่นก ค่ะ
ปลัดเจนไม่รู้จักหนู แต่หนูรู้จักท่านปลัดค่ะ
อย่างน้ันเหรอ แต่โอกาสที่อาจารย์จะเจอเขาน้อยมาก เพราะอยู่กันคนละที่