ส่องดู การ ปกครอง ระบอบ ประชาธิปไตย ของมาเลเซีย เป็นบทความลำดับที่ 9 ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน จะเล่าถึง ความนำ อุดมการณ์ประชาธิปไตย โครงสร้างประชากร การ ปกครอง ระบอบ ประชาธิปไตย ของมาเลเซีย-รัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลการ ความเท่าเทียมตามาตรา 8 ภาษาประจำชาติ ฐานะพิเศษของภูมิบุตรตามาตรา 153 วิเคราะห์ สรุป และคุยกับ ดร.ชา

Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว คือ บทความ (8) ได้เล่าถึง ประเทศ มาเลเซีย ว่า มีรูปแบบการปกครองแตกต่างไปจากการปกครองของไทยอย่างไร นับตั้งแต่การปกครองประเทศ การปกครองรัฐ การปกครองส่วนภูมิภาค และการปกครองส่วนท้องถิ่น
มาเลเซีย นับเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับที่สองของประเทศอาเซียน รองลงมาจากสิงคโปร์ และได้ใช้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปีพ.ศ.2500 โดยไม่เคยสะดุดเปลี่ยนไปเป็นการปกครองระบอบอื่นเลย
ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า การ ปกครอง ระบอบ ประชาธิปไตย ของมาเลเซีย เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะการที่มาเลเซียมีเสถียรภาพทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลเช่นนี้ ย่อมเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้มาเลเซียสามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องหรือไม่หยุดยั้ง จนอาจจะกล่าวได้ว่า อีกไม่กี่ปีมาเลเซีย น่าจะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นลำดับที่สองของอาเซียนต่อจากประเทศสิงคโปร์
2.อุดมการณ์ประชาธิปไตย
อุดมการณ์ของ การ ปกครอง ระบอบ ประชาธิปไตย เน้นหนักไปที่การให้คุณค่าของมนุษย์แต่ละคนที่เกิดมาว่า ต้องมีความเท่าเทียมกัน (equality) มีเสรีภาพ (liberty) มีความเป็นปัจเจกชน (individualist) และมีความสามารถในการปกครองตนเอง (self-government) ดูรายละเอียดได้ในบทความ (8) ทำไม การปฏิวัติรัฐประหาร จึงยากที่จะเกิดขึ้นในอเมริกา
ในบทความดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 ด้วยการประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษหรือบริเตน ได้มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในระบบแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจหรือระบบประธานาธิบดีมาตราบเท่าทุกวันนี้ได้โดยไม่เคยสะดุดเปลี่ยนไปเป็นการปกครองรูปแบบอื่น ก็เพราะการมีอุดมการณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยจำนวน 4 ประการดังกล่าวเป็นพื้นฐานการปกครอง มาตั้งแต่ก่อนจะมีการสถาปนาประเทศ
3.โครงสร้างประชากร
คำว่า โครงสร้างประชากรในที่นี้ หมายถึง การพิจารณาแยกกลุ่มประชากรของประเทศออกตามเชื้อชาติ ศาสนา และภาษา ว่าจะเป็นปัจจัยหรืออุปสรรคต่อการปกครองและความมั่นคงของประเทศหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
ตาม Wikipedia ได้แบ่งประชากรของมาเลเซียออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
3.1 ประชากรที่มีเชื้อสายเป็นภูมิบุตร (bumiputera)
คิดเป็นร้อยละ 67.4 แยกออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ
3.1.1 คนเชื้อสายมาลย์ (Malays) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญระบุว่า คือ ผู้ที่ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของมาเลย์ คนเชื้อสายมาเลย์ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง
3.1.2 คนพื้นเมืองที่ไม่มีเชื้อสายมาเลย์และอาศัยอยู่ที่ซาบาห์และซาราวัค (non-Malay indigenous groups of Sabah and Sarawak)
คนพื้นเมืองที่ไม่มีเชื้อสายมาเลย์ในซาบาห์ มากกว่า 2 ใน 3 ของยอดประชากรในซาบาห์และในซาราวัคมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดประชากรในซาราวัค
3.2 ประชากรที่ไม่มีเชื้อสายภูมิบุตร (non-Bumiputera local ethnic groups)
คิดเป็นร้อยละ 31.9 ของยอดประชากรมาเลเซียทั้งหมด แยกออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ
3.2.1 คนมาเลเซียเชื้อสายจีน (Malaysian Chinese) คิดเป็นร้อยละ 24.6 ของยอดประชากรมาเลเซียทั้งหมด เป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย
3.2.2 คนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย (Malaysian Indian) คิดเป็นร้อยละ 7.3 ของยอดประชากรมาเลเซียทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายทมิฬ
ประชากรที่มีเชื้อสายเป็นภูมิบุตรจะมีสิทธิบางอย่างเหนือกว่าประชากรที่ไม่มีเชื้อสายเป็นภูมิบุตร เช่น สิทธิในการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น (local universities) จะมีที่นั่งเรียนให้แก่ประชากรที่ไม่มีเชื้อสายภูมิบุตรเพียง 10 % เท่านั้น
4.การ ปกครอง ระบอบ ประชาธิปไตย-รัฐธรรมนูญของมาเลเซีย
การ ปกครอง ระบอบ ประชาธิปไตย ของมาเลเซีย มีรูปแบบ และหลักการสำคัญอย่างไร ย่อมดูได้จากรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐมาเลเซีย (The Federal Constitution of Malaysia) ได้ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500 ) ก่อนวันที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ คือ วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.1957 โดยเป็นกฎหมายสูงสุดของมาเลเซีย ในขณะนั้น เรียกชื่อประเทศว่า สหพันธรัฐมลายา (Federation of Malaya)
ต่อมาเมื่อปีค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) ได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อรวมเอารัฐซาบาห์ ซาราวัค และสิงคโปร์เข้ามาด้วย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น สหพันธรัฐมาเลเซีย (Federation of Malaysia)
ตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดรูปแบบรัฐเป็นสหพันธรัฐที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) พระมหากษัตริย์ เรียกเป็นภาษามาเลย์ว่า ยังดี เปอร์ตวน อากง (Yang di-Pertuan Agong) เป็นประมุข
รัฐธรรมนูญได้แบ่งการใช้อำนาจออกเป็น 3 ด้าน คือ
ด้านนิติบัญญัติ ประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่สภาผู้แทนราษฎร(Dewan Rakyat) และวุฒิสภา (Dewan Negara)
ด้านบริหาร ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี
ด้านตุลาการ ประกอบด้วย ศาลของสหพันธรัฐ (Federal Courts)
ในบทความนี้ จะขอนำเนื้อหาสำคัญบางตอนของรัฐธรรมนูญที่เห็นว่าน่าสนใจมานำเสนอ ได้แก่
อำนาจนิติบัญญัติ ตามมาตรา 73-79
อำนาจบริหาร ตามมาตรา 39-40
อำนาจตุลาการ ตามมาตรา 121
ความเท่าเทียม ตามมาตรา 8
สิทธิในด้านการศึกษาตามมาตรา 12
เสรีภาพในการนับถือศาสนา ตามมาตรา 11 และศาสนาประจำชาติ ตามมาตรา 3
ภาษาประจำชาติ ตามมาตรา 152
ฐานะพิเศษของภูมิบุตร ตามมาตรา 153
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 159 และ 161E
5. อำนาจนิติบัญญัติ ตามมาตรา 73-79
สภานิติบัญญัติ ประกอบด้วยสภา 2 สภา คือ

5.1 สภาผู้แทนราษฎร (The Dewan Rakyat) มีสมาชิกจำนวน 222 คน ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน อยู่ในวาระ 5 ปี
5.2 วุฒิสภา (The Dewan Negara) มีสมาชิกจำนวน 70 คน อยู่ในวาระ 3 ปี โดยมีที่มา 2 ทาง คือ
5.2.1 ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาธิบดี ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี มีจำนวน 44 คน
5.2.2 ได้รับแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติของรัฐจำนวน 26 คน
อำนาจในการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติ
สภานิติบัญญัติของสหพันรัฐมีอำนาจในการออกกฎหมายตามบัญชีหมายเลข 1 สภานิติบัญญัติแห่งรัฐมีอำนาจออกกฎหมายตามบัญชีหมายเลข 2 และสภานิติบัญญัติของสหพันธรัฐ และสภานิติบัญญัติของรัฐ มีอำนาจออกกฎหมายร่วมกันตามบัญชีหมายเลข 3
6.อำนาจบริหารตามมาตรา 39-40, 43 และอำนาจตุลาการ ตามมาตรา 121
6.1 อำนาจบริหารประเทศตามมาตรา 39-40, 43
อำนาจในการบริหารประเทศเป็นไปตามระบบรัฐสภา คือ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี กษัตริย์ คือ ยังดี เปอร์ตวน อากง เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และแต่งตั้งรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี
6.2 อำนาจตุลาการ ตามาตรา 121
อำนาจตุลาการเป็นของ ศาลสูงมาลายา (High Court of Malaya) ศาลสูงซาบาห์และซาราวัค (High Court of Sabah and Sarawak) ศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal) และศาลของสหพันธรัฐ (Federal Court)

(Wikipedia, Constitution of Malaysia, 26th March 2021)
6.2.1 ศาลสูงมาลายา มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในมาเลเซียตะวันตก ศาลสูงซาบาห์และซาราวัค มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในมาเลเซียตะวันออก
6.2.2 ศาลสูงทั้งสองศาลมีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญา ยกเว้นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอิสลาม (Syariah Courts)
ศาลอิสลาม มีอำนาจพิจารณาคดีของชาวมุสลิมในส่วนที่เกี่ยวกับครอบครัวและศาสนา ตามกฎหมายอิสลาม (Shariah Law)
6.2.3 ศาลอุทธรณ์ มีอำนาจพิจารณาคดีที่อุทธรณ์ที่ขึ้นมาจากศาลสูงทั้งสองแห่ง
6.2.4 ศาลสหพันธรัฐ เป็นศาลสูงสุดของมาเลเซีย พิจารณาคดีที่ขึ้นมาจากศาลอุทธรณ์และศาลสูง
7. ความเท่าเทียมตามมาตรา 8
ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักไว้ว่า บุคคลมีความเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมายและมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน จะเอาเรื่อง เชื้อชาติ ศาสนา และสถานที่เกิดมาเป็นเหตุทำให้คนแตกต่างกันไม่ได้ เว้นแต่จะมีกำหนดไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญนี้
ตามข้อยกเว้นดังกล่าวได้นำไปสู่การรับรองฐานะพิเศษของคนมาเลย์ที่อยู่บนคาบสมุทรมาเลเซียและคนพื้นเมืองที่อยู่ในรัฐซาบาห์และซาราวัค ตามมาตรา 153
8.สิทธิในด้านการศึกษาตามมาตรา 12
จะไม่มีการแบ่งแยกในด้านสิทธิทางการศึกษาของพลเมือง เพราะศาสนา ฐานะ หรือสถานทีเกิด ในการเข้าศึกษาในสถานศึกษาที่เป็นของรัฐ ยกเว้นมีโครงการพิเศษตามนัยมาตรา 153 เพื่อสงวนสิทธิให้แก่คนเชื้อสายมาเลย์
นอกจากนี้ยังให้สิทธิทุกศาสนาสร้างโรงเรียนสอนเด็กในด้านศาสนาของตนได้
9. เสรีภาพในการนับถือศาสนาตามมาตรา 11 และศาสนาประจำชาติตามมาตรา 3
แม้รัฐธรรมนูญของมาเลเซียจะกำหนดให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการนับถือศาสนา อย่างไรก็ดี เชื้อชาติและศาสนามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ
ร้อยละ 63.3 นับถือศาสนาอิสลาม
ร้อยละ 19.8 นับถือศาสนาพุทธ
ร้อยละ 9.2 นับถือศาสนาคริสต์
ร้อยละ 6.3 นับถือศาสนาฮินดู
ร้อยละ 1.3 นับถือศาสนาขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และศาสนาตามประเพณีของคนจีนอื่น ๆ
10.ภาษาประจำชาติ ตามมาตรา 152
ภาษาที่เป็นทางราชการและเป็นภาษาประจำขาติ คือ ภาษามาเลเซีย ในขณะเดียวกัน ภาษาอังกฤษก็เป็นภาษาที่สองที่ใช้กันแพร่หลายทั่วไปในมาเลเซีย แต่ถ้าเป็นรัฐซาราวัค ซึ่งตั้งอยู่บนมาเลเซียตะวันออก ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้เป็นภาษาราชการคู่กับภาษามาเลเซีย
การที่มีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองอย่างแพร่หลายในมาเลเซีย จึงทำให้เกิดภาษาอังกฤษที่เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ภาษาอังกฤษมาเลเซีย (Malaysian English/Malaysian Standard English)
11. ฐานะพิเศษของภูมิบุตร ตามมาตรา 153
มาตรา 153 เป็นมาตราที่ยกเว้นหลักความเท่าเทียมกันของประชาชนมาเลเซีย ตามมาตรา 8 เพื่อคุ้มครองคนเชื้อสายมาเลย์และคนพื้นเมิองให้ได้สิทธิพิเศษบางประการเหนือกว่าคนที่ไม่มีเชื้อสายมาเลย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเชื้อสายจีนที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย
คนที่มีเชื้อสายมาเลย์และคนพื้นเมืองจะได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนที่ไม่มีเชื้อสายมาเลย์ในเรื่องดังต่อไปนี้ คือ
11.1 การดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนของรัฐบาลกลาง
11.2 การได้รับทุนการศึกษา การได้รับความสะดวกเป็นพิเศษในการฝึกอบรมและการศึกษา
11.3 การได้รับใบอนุญาตสำหรับการค้าหรือการประกอบธุรกิจบางอย่างตามที่มีกฎหมายของรัฐบาลกลางกำหนด
11.4 การได้สิทธิในการเข้าเรียนหลังจากจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัย และการศึกษาทางด้านเทคนิคต่าง ๆ
นโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy)
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1969 (พ.ศ.1512) ได้เกิดการจลาจลเชื้อชาติระหว่างคนเชื้อชาติมาเลย์ กับเชื้อชาติจีน ทำให้รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 เพื่อขจัดความยากจนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ เป้าหมายคือ ต้องการให้คนเชื้อสายมาเลย์มีส่วนแบ่งในเศรษฐกิจ 30 % จากเดิมทีมีส่วนแบ่งแค่ 4 % เมื่อปีค.ศ.1970
การประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่มีกำหนดจะประเมินผลสัมฤทธิ์ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1972 (15 ปี หลังจากได้รับเอกราช) และกำหนดประเมินครั้งต่อไปในปี 1991 (20ปี หลังการประกาศใช้นโยบายดังกล่าว ) ผลการประเมินพบว่า ล้มเหลว ยังห่างไกลเป้าหมาย ดังนั้น จึงได้ดำเนินนโยบายต่อไปในชื่อนโยบายพัฒนาชาติ (National Development Policy)
อนึ่ง คำว่า คนมาเลย์ หมายถึง บุคคลที่อยู่ในหลักเกณฑ์ใดบ้าง เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 แต่อาจสรุปสั้น ๆ ได้ว่า คนมาเลย์ หมายถึงที่มีเชื้อชาติมาเลย์ นับถือศาสนาอิสลาม มีขนบธรรมเนียมประเพณีแบบอิสลาม รวมถึงคนพื้นเมืองที่อยู่ในรัฐซาบาห์ และรัฐซาราวัค
12. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 159 และ 160E
การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาทั้งสองด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา แต่บางกรณีต้องให้ผู้ปกครองรัฐยินยอมด้วย
นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1957 จนกระทั่งปีค.ศ.2005 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาแล้ว 22 ครั้ง ในช่วงระยะเวลา 48 ปี
13.วิเคราะห์การปกครองระบอบประชาธิปไตยของมาเลเซีย
การปกครองระบอบประชาธิปไตยของมาเลเซีย ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้ มาเลเซียไม่มีปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมืองและปัญหาการขาดเสถียรภาพของรัฐบาล สามารถดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้อย่างต่อเนื่องเรื่อยมานับตั้งแต่ปี ค.ศ.1957 ตราบจนทุกวันนี้ นับเป็นระยะเวลายาวนานร่วม 64 ปี โดยไม่มีเหตุสะดุดทางการเมืองถึงขั้นต้องเปลี่ยนไปใช้การปกครองระบอบอื่นในบางขณะ เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองของมาเลเซียมีอยู่เพียงครั้งเดียว เมื่อเกิดการจลาจลทางเชื้อชาติเมื่อปี ค.ศ.1969
หากจะวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะเหตุใด การปกครองระบอบประชาธิปไตยของมาเลเซียจึงมั่นคง ผมคิดว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุและปัจจัยแวดล้อมดังนี้ คือ
13.1 มีพื้นฐานการปกครองตนเองที่ดี ในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
13.2 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญก่อนวันได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ ได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1957 แต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คิอวันที่ 27 สิงหาคม 1957 ก่อนวันได้รับเอกราช 4 วัน แสดงให้เห็นความพร้อมของประเทศที่จะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
13.4 ได้มีการกำหนดรูปแบบและหลักการในการปกครองประเทศในระบบรัฐรวมไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ไม่มีปัญหาเหมือนอย่างกรณีประเทศพม่า ที่รัฐบาลทหารต้องการรูปแบบการปกครองประเทศแบบรัฐเดี่ยว แต่กลุ่มชาติพันธุ์ ต้องการแยกตัวออกเป็นอิสระหรือไม่ก็รวมตัวกันในรูปแบบรัฐรวม
13.5 รัฐธรรมนูญมีความยืดหยุ่น สามารถแก้ไขได้ตามความจำเป็นโดยไม่ยุ่งยากมากจนเกินไป
13.6 ได้ผู้นำประเทศในรุ่นบุกเบิกที่มีความรู้ความสามารถและเสียสละเพื่อประเทศชาติ โดยผู้นำประเทศเป็นผู้มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอย่างแท้จริง จึงได้นำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ไม่คิดวอกแวกที่จะเปลี่ยนเป็นการปกครองรูปแบบอื่น
13.7 ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ได้ทำให้ประเทศมาเลเซียมีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ อยู่ในลำดับต้น ๆ ของเอเชียตลอดมานับตั้งแต่ได้รับเอกราช ทำให้ประชาชนยอมรับระบบอบการปกครองประชาธิปไตยระบบรัฐสภาว่า ดีและเหมาะสมกับประเทศของตน
13.สรุป
ส่องดู การ ปกครอง ระบอบ ประชาธิปไตย ของมาเลเซีย เป็นการเล่าเรื่องการเมืองการปกครองของมาเลเซียในภาพใหญ่ โดยยึดเอาแนวคิดและหลักการในรัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศใช้บังคับเมื่อปี ค.ศ.1957 หรือพ.ศ.2500 และได้ใช้บังคับเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้ว 22 ครั้ง
ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปกครองประเทศรูปแบบรัฐรวมตามระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศมาเลเซียไม่เคยมีปัญหาเสถียรภาพทางเมืองเลย ยังคงยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเรื่อยมานับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1957
สำหรับความคิดเห็นอื่น ๆ กรุณาติดตามใน คุยกับดร.ชา
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณภัทรนันท์ ซึ่งได้ให้เกียรติเข้ามาสนทนาแล้วหลายครั้ง

“สวัสดี คุณภัทรนันท์ วันนี้เรามาคุยกันในเรื่อง การ ปกครอง ระบอบ ประชาธิปไตย ของมาเลเซีย สักหน่อยดีไหม ” ผมกล่าวทักทายพร้อมกับบอกจุดประสงค์
“ ดีครับอาจารย์ ผมเองก็สนใจเรื่องประเทศมาเลเซียไม่น้อยเลย ถ้าเช่นนั้นผมขออนุญาตแสดงความเห็นก่อน
ผมเองคิดอย่างนี้ว่า มาเลเซียก็มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยเหมือนไทย แต่ทำไมของเขาจึงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ล้มลุกคลุกคลานเหมือนบ้านเรา ผมเองก็อยากจะได้คำตอบอยู่เหมือนกัน ” คุณภัทรนันท์แสดงความเห็นในรูปแบบตั้งข้อสงสัยที่รอคำตอบ
“ในเรื่องนี้ อาจารย์ได้วิเคราะห์ให้ทราบกันแล้วในบทความข้างต้น เราคงจะไม่นำมาพูดซ้ำ ขอเป็นประเด็นอื่นดีกว่าว่า ตามที่อาจารย์ได้เล่าเรื่อง การปกครองระบอบประชาธิปไตยของมาเลเซียมาให้ทราบข้างต้น คุณภัทรนันท์ สนใจประเด็นใดเป็นพิเศษไหม ” ผมตะล่อมให้เข้าประเด็นที่ต้องการ
“มีครับอาจารย์ อย่างเรื่องรัฐธรรมนูญของมาเลเซียมาตรา 153 พูดถึงการรับรองฐานะพิเศษของภูมิบุตรหรือคนเชื้อสายมาเลย์และคนพื้นเมือง ผมคิดว่าเป็นเรื่องแปลกมาก ที่มีบทบัญญัติเช่นนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นการขัดหลักความเท่าเทียมกันของประชาชนนะ
หากเป็นรัฐธรรมนูญบ้านเรา บทบัญญัติเช่นนี้คงไม่สามารถนำมาบรรจุไว้ได้แน่นอน ” คุณภัทรนันท์แสดงความเห็นที่มีอยู่ในใจ
“แล้วคุณภัทรนันท์คิดอย่างไรในเรื่องนี้ ” ผมลองแหย่เข้าไปให้คิดอีกเล็กน้อย
“ผมคิดว่า ผู้นำประเทศมาเลเซียนับตั้งแต่เริ่มสถาปนาประเทศใหม่ ๆ เมื่อปีค.ศ. 1957 คงคิดว่า หากไม่มีบทบัญญัติไว้เช่นนี้ เจ้าของประเทศดั้งเดิม คือ คนเชื้อสายมาเลย์และคนพื้นเมือง สุดท้ายก็จะไม่มีเหลืออะไร เพราะด้านเศรษฐกิจคนเชื้อสายจีนและอินเดียก็ยึดไปแล้ว
ที่ยังพอมีพื้นที่ให้เล่นได้ก็คือ ด้านการเมืองการปกครอง น่าจะสงวนพื้นที่ให้คนเชื้อสายมาเลย์และคนพื้นเมืองได้มีเวทีเป็นผู้เล่นหลักบ้าง ไม่ใช่เป็นเจ้าของประเทศ แต่สุดท้ายก็ไม่มีเหลืออะไรเลย ” คุณภัทรนันท์ตอบแบบเข้าข้างแนวคิดและหลักการของโครงการภูมิบุตร
“ ประเทศไทยก็มีคนไทยเชื้อสายจีนอยู่เยอะนะ และเศรษฐกิจก็อยู่ในมือคนไทยเชื้อสายจีนมาก ทำไมรัฐธรรมนูญไทยไม่บรรจุแนวคิดและหลักการทำนองนี้ลงไปด้วย
“ ผมคิดว่า บริบทของไทยแตกต่างไปจากมาเลเซีย กล่าวคือ แม้คนไทยเชื้อสายจีนจะมีมาก แต่บ้านเราไม่มีปัญหาเรื่องเชื้อชาติ เพราะส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน ทำให้มีวิถีชีวิตไม่แตกต่างกัน สามารถทำกิจกรรมร่วมกันและเข้ากันได้ดี ไม่รู้สึกแปลกแยก ดังจะเห็นได้จากการมีคนไทยเชื้อสายไทย-จีน เป็นจำนวนมาก
ในความรู้สึกของผม รัฐประศาสนโยบายตั้งแต่เมื่อครั้งการปฏิรูปสยามประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ได้มีส่วนสำคัญในการทำให้คนไทยทุกเชื้อชาติและทุกศาสนา มีความรู้สึกว่า ตนเองเป็นคนไทย ไม่รู้สึกแปลกแยกออกไป ใครอยากจะประกอบอาชีพอะไรในบ้านเมืองนี้ ไม่มีข้อจำกัดให้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจแต่อย่างใด
ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า กรณีประเทศไทยไม่มีความจำเป็นจะต้องมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในทำนองมาตรา 153 ที่คุ้มครองภูมิบุตรของมาเลเซีย ” คุณภัทรนันท์ตอบตรงกับความคิดในใจของผม
“คุณภัทรนันท์ตอบได้ดีมาก เราลองมาคุยกันในอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องศาสนาประจำชาติ
ในรัฐธรรมนูญของมาเลเซียระบุไว้ชัดเจนว่า ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาประจำชาติของมาเลเซีย แต่ก็ไม่ได้บังคับว่า ทุกคนต้องนับถือศาสนาอิสลาม ยังคงให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนาอยู่
แต่บ้านเรา รัฐธรรมนูญไมได้ระบุให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ทั้ง ๆ ที่ประชากรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 นับถือศาสนาพุทธ คุณภัทรนันท์มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ” ผมถามถึงศาสนาประจำชาติไทยบ้าง
“ เรื่องนี้ ผมยอมรับกับอาจารย์ตามตรงนะครับ ผมไม่ทราบเบื้องลึกของเรื่องนี้ว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงไม่สามารถบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญของเราไว้อย่างชัดแจ้งว่า ศาสนาพุทธ คือ ศาสนาประจำชาติไทย แต่ทุกคนก็ยังมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา
ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะเหตุใด รัฐธรรมนูญของมาเลเซียจึงทำได้ แต่ของไทยทำไม่ได้ ” คุณภัทรนันท์ยอมรับกับผมตรง ๆ
“เอาล่ะนะ เดี๋ยวจะเครียดเปล่า ๆ อยากให้คุณภัทรนันท์พูดสรุปหน่อย ก่อนที่เราจะแยกย้ายจากกัน ” ผมเปิดช่องให้คุณภัทรนันท์เป็นผู้สรุป
“ โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า การที่เราได้ศึกษา การปกครองระบอบประชาธิปไตยของมาเลเซีย ทำให้เราเห็นชัดว่า จุดเริ่มต้นสำคัญมาก ถ้าเริ่มต้นด้วยดีก็เท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง
ในตอนที่มาเลเซียได้เอกราชจากอังกฤษใหม่ ๆ เมื่อปีค.ศ.1957 หรือพ.ศ.2500 เขาพร้อมที่จะปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่แล้ว ทั้งในด้านตัวผู้นำและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ พวกเขาได้เรียนรู้การปกครองตนเองจากประสบการณ์จริง ไม่ใช่แค่เรียนรู้จากตำราเหมือนบ้านเรา
เมื่อเริ่มต้นด้วยความพร้อมเพราะมีพื้นฐานที่ดี ความสำเร็จทั้งลายจึงอยู่แค่เอื้อม ไม่ใช่สุดที่จะเอื้อมถึง เหมือนอย่างบ้านเรา ที่ชอบคิดเอาง่าย ๆ ทุกอย่างต้องเลือกตั้งหมด จึงจะเรียกว่า เป็นประชาธิปไตย ” คุณภัทรนันท์สรุปได้อย่างชัดเจน
“ อาจารย์คิดว่า คุณภัทรนันท์สรุปได้ชัดเจนแล้ว
แต่อาจารย์ขอเสริมนิดหนึ่งว่า อย่างบ้านเรานี่ ก็แปลกมาก พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 แต่ก็ยังมีคนเอาไปสร้างวาทกรรมว่า ต้องมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แสดงว่า คนไทยน่าจะเข้าใจคำว่า ประชาธิปไตยไปกันคนละอย่าง แม้แต่เรื่องที่มองเห็นชัดเจนอยู่แล้ว ก็ยังคนเอาไปพูดอีกอย่าง ทำให้เกิดความสับสนกันเปล่า ๆ
วันนี้ขอขอบคุณมาก โอกาสหน้าค่อยคุยกันใหม่นะ ” ผมกล่าวยุติการสนทนาแบบง่าย ๆ
“ด้วยความยินดียิ่งครับอาจารย์ ”
ดร.ชา
26/03/21
แหล่งอ้างอิง
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Malaysia
https://en.wikipedia.org/wiki/Constitution_of_Malaysia
https://www.wipo.int/edocs/lexdocs/laws/en/my/my063en.pdf
ชอบบทความตรงที่อาจารย์วิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศมาเลเชีย จึงมีความต่อเนื่อง รัฐบาลมาเลเชียมีเสถียรภาพ และเป็นผลให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วลำดับที่สองต่อจากสิงคโปร์
พื้นฐานทางการเมืองการปกครองที่่มั่นคงและมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมากในการพัฒนาความเจริญให้แก่ประเทศ ไม่ว่าประเทศน้ันจะปกครองด้วยระบอบหรือระบบใดก็ตาม
ปัญหาคือ ไทยจะมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วถัดจากมาเลเซีย หรือไม่