บทความ รูปแบบการปกครอง ของ ฝรั่งเศส-รูปแบบการปกครองคล้ายไทย (9) จะได้เล่าถึงข้อมูลเบื้องต้นของฝรั่งเศส รูปแบบการปกครองของฝรั่งเศส สรุป และคุยกับดร.ชา(เปรียบเทียบรูปแบบการปกครอง ฝรั่งเศส-ไทย)
สำหรับทความก่อนหน้านี้ บทความ (8) ได้เล่าถึง ข้อแตกต่างระบบตำรวจ เยอรมัน-อเมริกา และเยอรมัน-ไทย
Table of Contents
1.ความนำ
ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรใกล้เคียงกับประเทศไทยมาก ยิ่งกว่านั้น ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลทางด้านแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองจากประเทศฝรั่งเศสหลายประการ ตั้งแต่เมื่อครั้งมีการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 5 ทั้งแนวคิดในการจัดระเบียบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ตลอดจนระบบกฎหมาย
2.ข้อมูลเบื้องต้นของประเทศฝรั่งเศสที่ควรทราบ

ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศหนึ่งที่ตั้งอยู่ในยุโรปตะวันตก และเป็นประเทศสำคัญของสหภาพยุโรปคู่กับประเทศเยอรมัน โดยมีข้อมูลเบื้องต้นของประเทศฝรั่งเศสที่ควรทราบดังนี้
2.1 ขนาดพื้นที่
ประเทศฝรั่งเศสมีพื้นที่ 543,940 ตร.กม. มากเป็นอันดับที่ 48 ของโลก
2.2 จำนวนประชากร
ประเทศฝรั่งเศสมีประชากร 67,081,000 คน (ปี 2019)
2.3 รายได้รวมประชาชาติหรือจีดีพี (nominal) ประเทศฝรั่งเศสมีรายได้รวมประชาชาติหรือจีดีพี ปี 2019 จำนวน 2.707 ทริลเลียน(trillion) ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ล้านของล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
นับสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก รองลงมาจากสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน อินเดีย และสหราชอาณาจักร
(Wikipedia, List of Countries by GDP, 24th August 2020)
2.4 รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร
ฝรั่งเศสมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวปี 2019 (Per capita) 40,494 ดอลลาร์สหรัฐ
นับสูงเป็นอันดับที่ 26 ของโลก
3.รูปแบบการปกครองประเทศฝรั่งเศส
ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศรัฐเดี่ยวมีรูปแบบการปกครองระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา (unitary semi-presidential republic)
3.1 การปกครองระดับประเทศ
การปกครองประเทศฝรั่งเศสเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ ปี 1958 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจนถึงปี 2008 มีความยาวทั้งหมด 17 หมวด 89 มาตรา และมีสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการปกครองประเทศ สรุปได้ดังนี้
3.1.1 ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐ (The President of the Republic)
ประธานาธิบดี เป็นทั้งประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหารของประเทศ ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน (direct universal suffrage) ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 5 ปี และมีสิทธิได้รับเลือกตั้งไม่เกินสองสมัยติดต่อกัน (มาตรา 6)
ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่น ๆ ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี (มาตรา 8) และประธานาธิบดีเป็นประธานที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี (The Council of Ministers) (มาตรา 9)
ประธานาธิบดี อาจจะประกาศยุบสภาแห่งชาติได้ ภายหลังได้หารือนายกรัฐมนตรีและประธานสภาแห่งชาติและประธานวุฒิสภา (มาตรา 12)
3.1.2 รัฐบาล (The Government)
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาในเวลาเดียวกันไม่ได้ (มาตรา 23)
รัฐบาลเป็นผู้กำหนดและบริหารตามนโยบายของชาติ ภายใต้วาระและความไว้วางใจของสภาแห่งชาติหรือสภาผู้แทนราษฎร (National Assembly)
3.1.3 รัฐสภา (Parliament)
รัฐสภา ประกอบด้วย สภาแห่งชาติ (The National Assembly) และวุฒิสภา (The Senate)
สภาแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกมีจำนวนไม่เกิน 577 คน ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรง (direct suffrage)
วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกมีจำนวนไม่เกิน 348 คน ได้รับเลือกตั้งมาจากทางอ้อม (indirect suffrage) เพื่อให้เป็นตัวแทนคอมมูน(หรือเทศบาล) แห่งดินแดนของสาธารณรัฐฝรั่งเศส (The representation of the territorial communities of the Republic) (มาตรา 24 )
สภาแห่งชาติ มีอำนาจในการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ซึ่งจะเป็นผลทำให้นายกรัฐมนตรีต้องยื่นใบลาออกต่อประธานาธิบดี (มาตรา 50)
3.2 การปกครองส่วนภูมิภาค
ประเทศฝรั่งเศสเป็นรัฐเดี่ยวที่เน้นการวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยมีการปกครองส่วนภูมิภาค คือคือจังหวัดและอำเภอเช่นเดียวกับประเทศไทย กล่าวคือ ประเทศฝรั่งเศสมีจังหวัดทั้งหมดจำนวน 101 จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นข้ารัฐการสังกัดกระทรวงมหาดไทย

(Wikipedia,Outlines of France, 25th August 2020)
3.3 การปกครองส่วนท้องถิ่น
ตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 72 การปกครองส่วนท้องถิ่นของฝรั่งเศสแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
เทศบาล (Communes)
องค์การบริหารส่วนจังหวัด (Departments)
เขตหรือภาค (Regions)
นอกจากนี้ อาจมีการปกครองรูปพิเศษอื่น ๆ และการปกครองดินแดนโพ้นทะเล
4.สรุป
ประเทศฝรั่งเศสเป็นรัฐเดี่ยวที่มีรูปแบบการปกครองคล้ายกับประเทศไทยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นรัฐเดี่ยวที่เน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเหมือนกัน การศึกษาทำความเข้าใจในรูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศสจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจระบบตำรวจของฝรั่งเศสได้ง่าย
ส่วนความคิดเห็นในการเปรียบเทียบรูปแบบการปกครอง ฝรั่งเศส-ไทย ขอเชิญติดตามอ่านได้ใน หัวข้อ คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
(เปรียบเทียบรูปแบบการปกครอง ฝรั่งเศส-ไทย)
ผมมีลูกศิษย์คนหนึ่ง ชื่ออานันทชัย (ชื่อสมมุติ) เขาเป็นประธานรุ่นของนักศึกษา เป็นคนมีอารมณ์สุนทรีย์ ตามอุปนิสัยและบุคลิกของคนหมายเลข 2 เนื่องจากเขาเคยรับราชการทหารมาก่อน เขาจึงมีความถนัดและความชื่นชอบงานประเภทที่ต้องลุย ในฐานะประธานรุ่นเขาจึงมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับอาจารย์ผู้บรรยายเป็นอย่างดี รวมทั้งตัวผมด้วย
วันนี้ผมเห็นสมควรเชิญ คุณอานันทชัย มาเป็นคู่สนทนา
“ สวัสดี คุณอานันทชัย งานยุ่งไหมช่วงนี้” ผมทักทายคุณอานันทชัยก่อนตามธรรมเนียม
“ สวัสดีครับอาจารย์ งานของผมก็ยุ่งตลอด เพราะต้องออกตรวจตราท้องที่ด้วย ” คุณอานันทชัยตอบคำถามแบบสบาย ๆ
“ วันนี้ อาจารย์อยากชวนคุยกันเรื่องรูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส โดยจะแยกออกเป็น 3 ประเด็น ประเด็นแรก ที่ว่าระบอบการปกครองประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบันเป็นระบอบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา คุณอานันทชัยเข้าใจว่าอย่างไร ” ผมกำหนดประเด็นการสนนทนาเพื่อให้กระชับ
“ อ๋อ ประเทศฝรั่งเศสเขาเคยใช้ระบอบรัฐสภามาก่อน ปรากฏว่าล้มลุกคลุกคลานคล้ายประเทศไทยนี่แหละ เขาเลยคิดค้นระบอบใหม่ขึ้นมา โดนให้มีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของประเทศและเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารในทำนองเดียวกันกับประธานาธิบดีของอเมริกา
แต่ในขณะเดียวกันก็ให้มีนายกรัฐตรีในทำนองเดียวกันกับระบบรัฐสภา แต่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดีในด้านการบริหารประเทศ โดยประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี หากสภาแห่งชาติหรือพุดง่าย ๆ ก็คือสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล นายกรัฐมนตรีก็ต้องลาออก ซึ่งจะเป็นผลทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสุดลงด้วย ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีก็อาจจะเสนอแนะประธานาธิบดีให้ยุบสภาแห่งชาติเพื่อให้เลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นไปตามครรลองของระบบรัฐสภา”
คุณอานันทชัยอธิบายอย่างตรงเป้า
“เยี่ยมมาก คุณอานันทชัย ในประเด็นที่สอง เรื่องภาพรวมของรูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส คุณอานันทชัยมองรูปแบบการปกครองของฝรั่งเศสอย่างไร ” ผมถามแบบเจาะลึกเข้าไปอีกหน่อย
“ ผมคิดว่า ประเทศฝรั่งเศสเขาเป็นรัฐเดี่ยวที่เน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคล้าย ๆ ประเทศไทย ดังจะเห็นได้ว่ามีการปกครองส่วนภูมิภาคเหมือนกัน ” คุณอานันทชัยตอบสั้น ๆ พอเข้าใจ
“ อาจารย์อยากให้ขยายความหน่อย จะได้ไหม ”ผมขอให้คุณอานันทชัยอธิบายเพิ่มเติม
“ อย่างประเทศฝรั่งเศส มีรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคเช่นเดียวกับไทย มีจังหวัดและอำเภอ มีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เหมือนกัน และที่สำคัญคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นข้ารัฐการสังกัดกระทรวงมหาดไทยเหมือนไทย ” คุณอานันทชัยตอบคำถามเพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม
“ ดีมาก คุณอานันทชัย คำตอบชัดเจนดี แล้วระบบนี้ฝรั่งเศสเขาได้ใช้มานานหรือยัง ” ผมกระตุ้นให้คุณอานันทชัยมองในเชิงประวัติศาสตร์บ้าง
“ ระบบนี้ สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนมหาราช ได้สร้างไว้ในช่วงปีค.ศ.1804-1815 เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งให้แก่ประเทศฝรั่งเศส และระบบนี้ประเทศฝรั่งเศสก็ยังใช้อยู่จนทุกวันนี้ ” คุณอานันทชัยตอบได้อย่างคล่องแคล่วสมกับเคยเรียนวิชาสัมมนาการปกครองท้องถิ่นเปรียบเทียบมาก่อน
“ เยี่ยมเลย คุณอานันทชัย ประเด็นสุดท้าย คือในด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อเหมือนหรือแตกต่างกับไทยเราอย่างไรบ้าง ” ผมเปลี่ยนประเด็นมาเป็นเรื่องท้องถิ่นบ้าง
“ ผมคิดว่า ฝรั่งเศสมีรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นล้ำหน้ากว่าไทย คือ ฝรั่งเศสมีรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบ 3 ชั้น เดิมก็มี 2 ชั้นแบบไทยเรา คือ ท้องถิ่นระดับบน เรียกว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด และท้องถิ่นระดับล่าง เรียกว่า เทศบาล แต่ทุกวันนี้ ฝรั่งเศสเขามีภาคหรือเขตเป็นท้องถิ่นชั้นที่ 3 ที่เหนืออยู่องค์การบริหารส่วนจังหวัดขึ้นไป ” คุณอานันทชัยตอบพอให้มองเห็นภาพ
“ อาจารย์อยากทราบว่า ภาคหรือเขตที่มีฐานะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นของฝรั่งเศสอีกชั้นหนึ่ง มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร พอจะเทียบกับรูปแบบใดของไทยเราได้บ้าง ” ผมรบเร้าให้คุณอานันทชัยขยายความต่อ
“ อ๋อ เพื่อให้เข้าใจง่าย ผมขอพูดถึงของไทยก่อน เวลานี้ไทยเรามีกลุ่มจังหวัดตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ.2551 เป็นการรวมเอา 4-5 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันเข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน เพื่อจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการและขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อให้สามารถพัฒนาพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดด้วยแผนงานและโครงการที่มีขนาดใหญ่กว่าแผนงานและโครงการของจังหวัด เวลานี้ รัฐบาลให้งบประมาณมากด้วย กลุ่มละประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปีงบประมาณเลยนะ ” คุณอานันทชัยพูดถึงกลุ่มจังหวัดของไทยก่อน
“ กรณีฝรั่งเศส เขาทำมาก่อนไทยเป็นเวลานานแล้ว จนเวลานี้ ได้วิวัฒนาการกลายเป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่เหนือองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพราะผู้บริหารกลุ่มจังหวัดของฝรั่งเศสทั้งฝ่ายสภานิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลุ่มจังหวัดของเรา ยังไม่ถึงขั้นนั้น อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อให้สามารถก้าวไปถึงจุดนั้นอย่างฝรั่งเศส” คุณอานันทชัยอธิบายโดยไม่ต้องรอให้ผมซักต่อ
“ เยี่ยมเลย คุณอานันทชัย ตอบได้ชัดเจนทั้งสามประเด็น วันนี้ขอขอบคุณมาก โอกาสหน้าค่อยคุยกันต่อนะ ” ผมกล่าวขอบคุณพร้อมกับยุติการสนทนา
“ไม่เป็นไรครับอาจารย์ ด้วยความยินดีครับ ” คุณอานันทชัยตอบรับคำเชิญไว้ด้วยความเต็มใจ
ดร.ชา
25/08/20
กัมพูชาเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส รูปแบบตำรวจรับเอาของฝรั่งเศสมาใช้ ไหมคะ
ขอบคุณค่ะ
ก็ใช่ แต่ประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวส่วนใหญ่ก็ใช้ระบบนี้แหละ แม้จะไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมาก่อนก็ตาม อย่างเช่นไทย
ฝรั่งเศสอาจกว่าประเทศไทยตรวที่ไม่มี King
การปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อปีค.ศ.1789-1799 โดยชนชั้นกลางโค่นล้มการปกครอบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุคพระเจ้าวหลุยส์ที่ 16 แล้วสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
มีประธานาธิบดีเป็นประมุข เดิมทีเดียวคณะปฏิวัติมีความคิดอยากใช้ระบบรัฐสภาที่มีกษัตริย์เป็นประมุขแบบอังกฤษ แต่หาเชื้้อพระวงศ์ที่เหมาะสมไม่ได้ หลังจากนั้นการเมืองของฝรั่งเศสก็ล้มลุกคลุกคลานสลัยไปสลับมาระหว่างระบบสาธารณรัฐกับระบอบกษัตริย์จำนวน 5 ครั้ง จนปัจจุบันนี้ฝรั่งเศสอยู่่ในยุคสาธารณรัฐที่ 5 มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร แต่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วย โดยประธานาธิบดีสามารถ ดำรงอยู่่ในตำแหน่งจนครบวาระ ส่วนนายกรัฐมนตรี หากสภามีมติไม่ไว้วางใจก็ต้องยื่นใบลาออกต่อประธานาธฺิบดี ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีอาจเสนอประธานาธิบดียุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้นับเพื่อลดอุณหภุมิทางการเมืองให้เย็นลง