สติปัฏฐาน 4 จะช่วยคลายทุกข์ให้ท่านได้อย่างไร นับเป็นบทความลำดับที่ 9 ของหมวด เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ โดยจะกล่าวถึงการพิจารณาความไม่เที่ยงของกาย การพิจารณาความไม่เที่ยงของเวทนา การพิจารณาความไม่เที่ยงของจิต และการพิจารณาความไม่เที่ยงของธรรม ปิดท้ายด้วย คุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว คือ บทความที่ (8) ได้เล่าถึงการนั่งสมาธิด้วยสัมมาสติเพื่อคลายทุกข์ โดยได้กล่าวถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ การพิจารณาความไม่เที่ยงของลมหายใจเช้า-ออก การพิจารณาความไม่เที่ยงของกายภายนอก และกายภายใน
สำหรับบทความนี้ จะได้ขยายความสติปัฏฐาน 4 เพิ่มเตืม ในการพิจารณาความไม่เที่ยงของกายเพิ่มเติม การพิจารณาความไม่เที่ยงของเวทนา การพิจารณาความไม่เที่ยงของจิต และการพิจารณาความไม่เที่ยงของธรรม
การพิจารณาความไม่เที่ยงของกาย เวทนา จิต และธรรม เป็นการใช้สัมมาสติ ในขณะเจริญสัมมาสมาธิ เพื่อให้เราสามารถคลายความทุกข์ด้วยการไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะไม่มีตัวตนนั่นเอง
2.สติปัฏฐาน 4:กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
การพิจารณาความไม่เที่ยงของกาย นอกจากการพิจารณาความไม่เที่ยงของลมหายใจ ความไม่เที่ยงของกายภายนอก และความไม่เที่ยงของกายภายในตามที่ได้เล่ามาแล้วในบทความ (8) แล้ว อาจพิจารณากายด้วยวิธีการ ดังนี้
2.1 การกำหนดอิริยาบถ
การกำหนดอิริยาบถ หมายถึงการกำหนดรู้ในทุกอิริยาบถของการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการยืน การนั่ง การนอน หรือการเคลื่อนไหวอื่นใดของร่างก

แต่ปกติเราจะคุ้นเคยการเดินจงกรม กล่าวคือ หลังจากได้นั่งสมาธิมาเป็นเวลานาน อาจจะรู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกาย ก็อาจจะเปลี่ยนอิริยาบถด้ายการเดินจงกรม ด้วยการกำหนดสติลงไปที่การยกเท้าซ้าย-เท้าขวาขึ้นลง การหมุนตัวกลับ เป็นต้น
2.2 การนึกถึงความเป็นปฏิกูลของร่างกาย (ปฏิกูลมนสิการ)

หมายถึงการนึกถึงความสกปรกหรือความไม่สะอาดของร่างกายนับแต่ฝ่าเท้าจนจรดเส้นผม เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ
การนึกถึงความสกปรกของกายเนือง ๆ เช่นนี้ จะทำให้เราสามารถลดความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายลงได้ เพราะร่างกายของเราไม่มีอะไรดี มีแต่ความสกปรก นั่นคือการคลายทุกข์ อันเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในกาย
2.3 การพิจารณาธาตุ 4 ในกาย (ธาตุมนสิการ)
หมายถึง การพิจารณาให้เห็นว่า ภายในกายของเรา แท้ที่จริงประกอบด้วยธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ
ธาตุดิน หมายถึง ส่วนที่เป็นของแข็งในร่างกาย เช่น กระดูก ฟัน เล็บ
ธาตุน้ำ หมายถึง ส่วนที่เป็นของเหลวในร่างกาย เช่น น้ำ โลหิต
ธาตุลม หมายถึง ส่วนที่เป็นอากาศในร่างกาย เช่น อากาศที่เราสูดเข้า-ออก
ธาตุไฟ หมายถึง ส่วนที่เป็นความร้อนในร่างกาย เช่น อุณหภูมิของร่างกาย
ดังนั้น จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งที่เราคิดว่า ร่างกายของเราสวยงาม หล่อเหล่า หรือน่ารัก แท้ที่จริงก็เป็นแค่ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่รวมตัวเป็นร่างกายของเราชั่วคราวเท่านั้นเอง
2.4 การพิจารณาร่างกายให้เหมือนซากศพที่เน่าเปื่อย
หมายถึง การพิจารณาให้เห็นว่า ร่างกายของเราวันหนึ่งเมื่อเราตายก็ต้องเป็นซากศพ เน่าเปื่อย มีน้ำเหลืองไหลออกมา มองดูน่าเกลียด และส่งกลิ่นเหม็นออกมา
หรืออาจพิจารณาให้เห็นร่างกายของเราที่กลายเป็นซากศพที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ถูกกาหรือฝูงแร้งรุมทึ้งจิกกินอยู่ เพราะวันหนึ่งร่างกายของเราก็ต้องเป็นซากศพที่เน่าเปื่อย มองดูแล้วน่ารังเกียจ น่าขยะแขยง น่าสะพรึงกลัว
3.สติปัฏฐาน 4:เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หมายถึง การกำหนดระลึกรู้ในเวทนา ได้แก่ เวทนาทางกาย เวทนาทางใจ ซึ่งมีทั้ง ทุกขเวทนา สุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา
3.1 ทุกขเวทนา
ทุกขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกเป็นทุกข์อันอาจเกิดจากกายหรือใจ เช่น
ความรู้สึกเจ็บปวดทรมานร่างกาย อันเนื่องมาจากอาการเจ็บป่วย
ความรู้สึกเจ็บปวดเพราะผิดหวังในบางสิ่งบางอย่าง เช่น อกหัก ความไม่เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน หรือมีความทุกข์เพราะได้ยินคนนินทาว่าร้าย
การพิจารณาทุกขเวทนา
ในการพิจารณาทุกขเวทนา ให้พิจารณาอยู่เนือง ๆ ว่า แม้ทุกขเวทนาเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบใจหรือไม่ต้องการ แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป อีกไม่นานทุกขเวทนานั้นก็จะหายไป อาจจะเกิดเป็นสุขเวทนาขึ้นมาแทนได้ ดังนั้น จึงไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นในทุกขเวทนานั้น หากพิจารณาได้เช่นนี้ เราก็จะคลายทุกข์ ไม่วิตกกังวลมากจนเกินไป
3.2 สุขเวทนา
หมายถึง ความรู้สึกว่า ตนเองมีความสุขอันอาจเกิดจากกายหรือใจ เช่น
มีความสุข เพราะสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน หรือได้รับประทานอาหารอร่อย ถูกปาก
มีความสุข เพราะความสำเร็จในหน้าที่การงาน ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งสมปรารถนา หรือมีคนยกย่องสรรเสริญ
การพิจารณาสุขเวทนา
ให้หมั่นพิจารณาอยู่เนือง ๆ ว่า แม้สุขเวทนาเป็นสิ่งที่เราชอบใจ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เกิดขึ้นชั่วคราว อีกไม่นานก็จะหายไป กลายเป็นทุกขเวทนาก็ได้ ดังนั้น จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น พร้อมที่จะปล่อยวาง เมื่อสุขเวทนานั้นหายไป หากทำได้เช่นนี้ การใช้ชีวิตก็จะไม่ตกอยู่ในความประมาท พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์เมื่อสุขเวทนานั้นหายไป
3.3 อุเบกขาเวทนา
หมายถึง ความรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่ยินดียินร้าย เช่น
เบื่อหน่ายการเที่ยวเตร่ไปยังสถานที่บางแห่ง เพราะได้ไปเที่ยวมาหลายครั้งแล้ว
เบื่อหน่ายการที่ต้องทำอะไรจำเจ เช่น เบื่อหน่ายการที่ต้องอยู่บ้านทั้งวันเพราะกลัวติดโรค โควิด-19
การพิจารณาอุเบกขาเวทนา
ให้หมั่นพิจารณาอยู่เนือง ๆ ว่า อุเบกขาเวทนาหรือความรู้สึกเบื่อหน่าย เป็นของชั่วคราว อีกไม่นาน ความรู้สึกดังกล่าวก็จะหายไป อาจกลายเป็นทุกขเวทนาหรือสุขเวทนาก็ได้ ดังนั้น จึงไม่ต้องยึดติด หากทำได้เช่นนี้ ความรู้สึกเบื่อหน่ายก็จะเบาบางลง
4.สติปัฏฐาน 4:จิตตานุปัสสนาปัฏฐาน
หมายถึงการกำหนดรู้ในจิตว่า เป็นอย่างไร
การพิจารณาจิต
ให้พิจารณาให้เห็นว่า จิตมีราคะหรือไม่ จิตมีโทสะหรือไม่ จิตมีโมหะหรือไม่ จิตฟุ้งซ่านหรือไม่ จิตสงบหรือมีสมาธิหรือไม่ จิตตั้งมั่นหรือไม่ จิตหลุดพ้นหรือไม่
ให้พิจารณาการเกิดขึ้นหรือการดับไปของจิตแต่ละอย่าง หรือพิจารณาทั้งการเกิดขึ้นและการดับไปของจิตว่า จิตของเราไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน อาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้เสมอ เราไม่สามารถบังคับให้จิตอยู่ในสภาพเดียวกันตลอดเวลาจึงควรปล่อยวางและไม่ยึดมั่นถือมั่น มองให้เห็นสภาพจิตที่เปลี่ยนแปลงไป ไปมา ไม่คงที่
หากเราสามารถพิจารณาการเกิดขึ้นและการดับไปของจิตอยู่เนือง ๆ พร้อมกับการปล่อยวาง เราก็จะคลายทุกข์ได้
5.สติปัฏฐาน 4:ธัมมนานุสปัสสนาสติปัฏฐาน
เป็นการกำหนดระลึกรู้ในธรรม ได้แก่ นิวรณ์ 5 อุปาทานขันธ์ 5 อาตยนะภายใน อาตยนะภายนอก โพชฌงค์ 7 และอริสัจ4 ดังจะได้นำมาเล่าในบทความตอนต่อไป
6.สรุป
การเจริญสัมมาสติพร้อมกับการเจริญสัมมาสมาธิ จะทำให้เราสามารถสามารถผ่อนคลายความทุกข์ลงได้ เพราะจะทำให้มีสติรู้เท่าทัน ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เป็นอยู่ และสิ่งที่เสื่อมสลายไป เพราะสิ่งเหล่านี้ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน และไม่มีตัวตน การยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนและไม่มีตัวตนจะทำให้เกิดทุกข์ หากรู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือ ก็จะทำให้คลายทุกข์หรือมีความทุกข์น้อยลง
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาธรรมของผมในวันนี้ เคยเป็นเพื่อนร่วมงานกับผม เมื่อครั้งยังรับราชการเป็นนายอำเภอเมื่อหลายปีก่อน คือ คุณพิศวง (ชื่อสมมุติ) โดยหล่อนเป็นทีมงานที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของผมทีเดียว
คุณพิศวง มีชีวิตค่อนข้างโลดโผนหรือผกผัน ตามวิสัยของบุคคลหมายเลข 8 ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว ทำให้หล่อนและเพื่อน ๆ มีเวลาไปทำบุญและไปปฏิบัติธรรมหรือนั่งสมาธิที่วัดบ่อย ๆ

“ สวัสดีคุณพิศวง สบายดีเหรอ ” ผมทักทายแบบคนคุ้นเคยกัน
“ สวัสดีค่ะอาจารย์ สบายดีค่ะ ไม่เห็นอาจารย์เดินทางมาทางนี้เป็นเวลา 4-5 ปีแล้ว อาจารย์ไม่ได้สอนหนังสือแล้วเหรอ ” หล่อนทักทายผมตอบ
“ ไม่ได้สอนแล้ว วันนี้ อาจารย์อยากชวนคุณพิศวง สนทนาธรรมเกี่ยวกับ สติปัฏฐาน 4 หน่อย เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านบ้าง ขอเริ่มประเด็นแรกเลยนะ คุณพิศวงคงเคยเดินจงกรม เดินแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง ” ผมไม่รอช้า เริ่มเข้าสู่ประเด็นเลย
“อ๋อ ก็เคยเดินที่วัดกุดไผท ตำบลดงชน เมื่อครั้งที่หลวงปู่ปาน คุต.สติ ยังมีชิวิตอยู่ วัดที่อาจารย์เคยไปบวชถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ.2538
ในยุคนั้น มีอุสาสก อุบาสิกาไปปฏิบัติธรรมที่วัดกุดไผท มาก หลังจากนั่งสมาธิมาเป็นเวลานานแล้ว หลวงปู่ปานก็จะพาพวกเราเดินจงกรม โดยตั้งสติอยู่ที่ การยกเท้าซ้าย เท้าขวา ขึ้นลง ทุกจังหวะ ในทำนองว่า ซ้ายยกขึ้นหนอ ซ้ายเหยียบหนอ ขวายกขึ้นหนอ และขวาเหยียบหนอ เช่นนี้เรื่อยไป
การฝึกเช่นนี้ ทำให้เราระลึกรู้ในการเอาสติไปอยู่ในสิ่งที่เราทำ จะได้ไม่เผลอหรือขาดสติ เป็นการฝึกให้เราตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ” คุณพิศวงตอบอย่างขึ้นใจ เพราะเป็นเรื่องที่เคยทำมาแล้วหลายครั้ง
“ โอ ยอดเลยคุณพิศวง แสดงว่า คุณพิศวงเข้าใจหลักกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นอย่างดี ” ผมชมเชยด้วยใจริง
“ ในประเด็นที่สอง อาจารย์ขอถามว่า เวลานั่งสมาธิ คุณพิศวงเคยพิจารณากายของตัวเองบ้างไหม พิจารณาในลักษณะใด ” ผมถามเข้าจุดที่ลึกเข้าไปหน่อยหนึ่ง
“ เมื่อก่อนก็ไม่ค่อยได้พิจารณาหรอกค่ะ เพราะอายุยังไม่มาก แต่พอหลังเกษียณอายุราชการแล้ว ดิฉันและเพื่อน ๆ ก็ได้พิจารณาเป็นประจำว่า ร่างกายของเรานี้ ย่อมร่วงโรยไปตามกาลเวลา จะให้สวยงาม เต่งตึงคงที่เหมือนเมื่อครั้งยังสาวหาได้ไม่ แม้จะทุ่มทุนซื้อสารพัดอาหารเสริม หมั่นออกกำลังกาย หรือไปทำศัลยกรรมจากเกาหลี ก็คงอยู่ได้ไม่นาน
เมื่อพิจารณาเห็นเช่นนี้อยู่เนือง ๆ ในเวลานั่งสมาธิ จิตใจของดิฉันก็ผ่อนคลาย ไม่เกิดความทุกข์ในกายสังขารที่อาจจะร่วงโรยไปตามกาลเวลา ” คุณพิศวงเล่าให้ผมฟังด้วยความรู้สึกผ่อนคลายเช่นกัน
“ดีแล้ว คุณพิศวง ตัวอาจารย์เองก็พิจารณาเช่นเดียวกันว่า เวลานี้หากใครจะเรียกอาจารย์ว่า คุณลง คุณตา คุณปู่ หรือป๋า อาจารย์ก็ไม่รู้สึกอะไร ไม่เหมือนตอนเกษียณราชการใหม่ ๆ ” ผมกล่าวเสริมบ้าง
“ ในประเด็นที่สาม อาจารย์อยากทราบว่า การพิจารณาเรื่องเวทนา ไม่ว่าจะเป็นทุกขเวทนา สุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา คุณพิศวง ได้นำมาปฏิบัติในเวลานั่งสมาธิบ้างไหม ” ผมเปลี่ยนประเด็นใหม่
“ แน่นอนค่ะ อาจารย์ ชีวิตประจำวันของคนเราหนีไม่พ้นเรื่องทุกขเวทนา สุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา
อย่างเช่นตัวดิฉัน อาจจะได้ยินคนบางคนติฉินนินทาว่าร้ายตัวดิฉัน ถ้าเป็นเมื่อก่อน ดิฉันจะรู้สึกโกรธและไม่พอใจเป็นอย่างมาก อยากจะตอบโต้ทันทีทันใด แต่ทุกวันนี้ ดิฉันได้นั่งสมาธิและพิจารณาเห็นว่า เรื่องนินทาว่าร้ายนี้ เป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่พระพุทธองค์ยังได้ตรัสไว้ว่า คนที่ไม่เคยถูกนินทาในโลกนี้ไม่มี
เมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ ดิฉันก็ปล่อยวาง ไม่ถือโกรธ ความทุกข์ก็จางหายไปพลัน ความโกรธก็หมดสิ้นไป ” คุณพิศวงเผยเคล็ดลับในการเอาชนะทุกขเวทนาในเรื่องของการถูกนินทาว่าร้าย
“ คุณพิศวงนี่เก่งนะ มีจิตใจสงบ รู้จักเอาหลักธรรม เอาสติมาแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างง่ายดาย ” ผมยกย่องชมเชยคุณพิศวงอีกครั้งหนึ่ง
“ อาจารย์ขอถามเป็นประเด็นสุดท้าย เวลานั่งสมาธิ คุณพิศวงได้พิจารณาจิตของตนเองบ้างไหม ” ผมถามประเด็นที่ยังตกค้างอยู่
“ ก็พิจารณาอยู่ค่ะ คือพิจารณาให้เห็นว่า ธรรมชาติของจิตเรานี้ บางทีก็สงบ บางทีก็ฟุ้งซ่าน บางทีก็มีโทสะ บางทีก็มีโมหะ บางทีก็มีสมาธิ บางทีก็มีจิตตั้งมั่น เกิดขึ้นดับลง สลับไป สลับมา อยู่อย่างนี้ ไม่แน่นอน เราก็เพียงระลึกรู้ ไม่ยึดติด เพียงแค่นี้เราก็คลายทุกข์แล้ว เพราะถ้าหากเราจะบังคับให้จิตของเรา เป็นอยู่อย่างเดียวตลอดเวลา เช่น สงบอยู่ตลอดเวลา ย่อมเป็นไปไม่ได้ ” คุณพิศวงตอบแบบมองเห็นธรรมได้ทะลุปรุโปร่งทีเดียว
“แหม คุณพิศวง นับแต่เกษียณอายุราชการมานี้ มีเวลาปฏิบัติมากขึ้น ดูมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมมากกว่าแต่ก่อนเยอะเลย อาจารย์ขอแสดงความยินดีด้วย
วันนี้ อาจารย์ขอรบกวนเวลาเท่านี้ ของคุณมากที่สละเวลามาสนทนาธรรมกับอาจารย์ ขอให้ธรรมรักษาคุณพิศวง ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง มีความสุข และอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพนะ ” ผมกล่าวขอบคุณพร้อมอวยพรให้คุณพิศวงด้วยใจจริง
“ขอบคุณค่ะ อาจารย์ ขอให้สมพรปาก” คุณพิศวงกล่าวรับพรด้วยความดีใจ
“ขออุทิศส่วนกุศลที่เกิดจากการเขียนบทความนี้เป็นธรรมทาน แด่คุณบิดามารดา ญาติมิตรสหายใกล้ชิด ครูบาอาจารย์ และผู้มีพระคุณทั้งหลาย ”
ดร.ชา
4/10/20
สาธุ ขออนุโมทนากับความรู้ ความพากเพียรขิงท่านอาจารย์ที่มีเผยแพร่ให้ได้อ่านได้ศึกษามาโดยตลอดค่ะ
ด้วยความยินดี
ขอบคุณ คุณพิศวง ที่มาแบ่งปันความรู้ค่ะ
แล้วจะบอกคุณพิศวงให้
การพิจารณาร่างกาย โค้ชนำไปเป็นคอร์สสอนนักเรียน ปัจจุบันนี้หนูเลิกติดตามแล้วค่ะ มาอ่านบทความของอาจารย์เขียน ได้ความรู้และไม่ได้เสียเงินเรียน ขอบคุณค่ะ
สิ่งที่ได้จากการเรียนกับโค้ช คล้ายๆๆกันกับที่อาจารย์สอน ค่ะ ถ้าอยากมีเงินเข้าต้องตามดู รู้เท่าทันอารมณ์ เลิกหงุดหงิด โมโห เมื่อมีอาการเหล่านี้ให้ตั้งสติใหม่ เพราะเงินคือพลังงานที่ดีค่ะ
ใครพูดไม่ดี หนูเห็นทัวร์ลง หมดช่องทางทำเงิน ต่างจากอดีตค่ะ
การอยากมีเงินเข้า ในทางโลก อาจจะเป็นการคลายทุกข์ เพราะจำได้มีเงินมาใช้จ่าย แต่ในทางธรรม อาจจะเป็นการสร้างทุกข์ เพราะยังเป็นการยึดม่ั่นถือมั่น ไม่ใช่การปล่อยวาง
ยิ่งหากคิดไปเรื่อย ๆ แล้วเงินก็ไม่ได้เสียที่ เพราะไม่ได้ประกอบอาชีพที่ทำให้เรามีรายได้ อาจจะเกิดความเครียดหรือความทุกข์เพิ่มขึ้น