“เกาหลีใต้ เป็นประทศที่พัฒนาแล้วอย่างสูง” เป็นบทความลำดับที่ 9 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก จะกล่าวถึง ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศเกาหลีใต้ ประวัติศาสตร์ของเกาหลี สงครามเกาหลี รูปแบบการปกครองประเทศในอดีต รูปแบบการปกครองประเทศในปัจจุบัน ความเจริญก้าวหน้าในยุคปัก จุง-ฮี การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ OECD ดัชนีชี้วัดความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ของสาธารณรัฐเกาหลี วิเคราะห์การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสูงของสาธารณรัฐเกาหลี สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369
อนึ่ง บทความล่าสุดของหมวด 14 นี้ ที่ผมได้นำมาโพสต์ก่อนหน้านี้คือ เซี่ยงไฮ้ ปารีสแห่งตะวันออก
ทัศนียภาพ กรุงโซล ในยามค่ำคืนอันสวยงาม (Wikipedia, South Korea, 29th March 2023)

Table of Contents
1.ความนำ
เมื่อเอ่ยถึงประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐเกาหลี ผมเชื่อว่า มีน้อยคนที่จะไม่รู้จัก นอกจากนี้หลายคนคงเคยเดินทางไปเที่ยวประเทศนี้มาแล้ว
ปัจจุบัน สาธารณรัฐเกาหลีได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีการพัฒนาเป็นอย่างสูง และถือเป็นประเทศชั้นนำประเทศหนึ่งของโลก แต่หากนึกย้อนหลังไปเมื่อราว 60 ปีที่ผ่านมา ใครเลยจะกล้านึกว่า ประเทศนี้เคยเป็นประเทศที่ยากจนมาก มากจนแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัวภายหลังสงครามเกาหลีอันโหดร้ายได้สงบลง
สี่เสือแห่งเอเชีย
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ประเทศนี้ได้ชื่อว่า เป็นประเทศหนึ่งของสี่เสือแห่งเอเชียที่มีการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว คือ ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เพราะในช่วงปีค.ศ.1960-1990 ต่างมีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 7 ต่อปี และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเจริญก้าวกระโดดจากประเทศยากจนขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความมั่งคั่งและมีรายได้สูงได้ภายในระยะเวลาเพียง 34 ปีเท่านั้น
ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า เรื่องราวในการพัฒนาของประเทศนี้ให้เจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งว่า เพราะเหตุใดเขาจึงสามารถพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าและมีความมั่งคั่งอยู่ในแนวหน้าของโลกได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
2.ตำแหน่งที่ตั้ง ขนาดพื้นที่ และจำนวนประชากรของประเทศเกาหลีใต้

สาธารณรัฐเกาหลี มีตำแหน่งที่ตั้ง ขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และการนับถือศาสนา ดังนี้
2.1 ตำแหน่งที่ตั้ง
สาธารณรัฐเกาหลี เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีพื้นที่ครอบคลุมส่วนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี
ทิศเหนือ จรดกับเกาหลีเหนือ
ทิศตะวันตก ล้อมรอบด้วยทะเลเหลือง
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ จรดกับประเทศญี่ปุ่น โดยมีทะเลญี่ปุ่นและช่องแคบเกาหลีกั้นไว้
2.2 ขนาดพื้นที่
ขนาดของพื้นที่ของสาธารณรัฐเกาหลี มีขนาดไม่ใหญ่ เพียง 100,363 ตร.กม. นับว่ามีขนาดเล็กกว่าขนาดพื้นที่ของประเทศอาเซียนมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศกัมพูชา(181,035 ตร.กม.) สปป.ลาว (237,955) มาเลเซีย (329,847 ตร.กม.) เวียดนาม (331,690 ตร.กม.) หรือประเทศไทย ( 513,120 ตร.กม.)
2.3 จำนวนประชากร
แม้สาธารณรัฐเกาหลีมีพื้นที่ไม่มาก แต่จำนวนประชากรถือได้ว่า มีมากเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดพื้นที่ กล่าวคือ มีจำนวนประชากรเมื่อปีค.ศ.2022 จำนวน 51,844,834 คน คิดเป็นความหนาแน่นของประชากร 507 คน ต่อหนึ่งตารางกม.
2.4 ศาสนา
ประชากรสาธารณรัฐเกาหลี ส่วนใหญ่ไม่นับถือศาสนาใด คิดเป็นร้อยละ 56.1 นับถือศาสนาคริสต์ร้อยละ 27.6 และนับถือศาสนาพุทธแบบเกาหลี (Korean Buddhism) ร้อยละ 15.5
2.5 การแบ่งเขตการปกครอง (Administrative divisions)
สาธารณรัฐเกาหลี แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 จังหวัด (province) และจังหวัดปกครองตนเอง (special self-governing province) อีกหนึ่งจังหวัด รวมเป็น 9 จังหวัด
ความเห็นเพิ่มเติม
จะเห็นได้ว่า สาธารณรัฐเกาหลี แบ่งเขตการปกครองออกเป็นเพียง 9 จังหวัด ซึ่งนับว่า น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนจังหวัดของไทย นอกจากนี้ ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่นับถือศาสนาใด ๆ แต่มีประชากรบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ
การศึกษาความเป็นมาหรือประวัติศาสตร์ของเกาหลี จะช่วยให้ท่านมีความเข้าใจในเรื่องราวของประเทศนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ตามวิกิพีเดีย อาจแบ่งประวัติความเป็นมาของสาธารณรัฐเกาหลี ออกเป็น 6 ยุคใหญ่ ๆ ดังนี้
3.1 ยุคก่อนราชวงศ์คุรยอน
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเกาหลี เริ่มต้นด้วยยุคเผ่าและอาณาจักรโชซอนโบราณก่อนคริสต์ศักราช 2333 ปี (2333 B.C.) โดยเกาหลีเคยตกเป็นเมืองขึ้นของจีนในยุคราชวงศ์ฮั่น เมื่อก่อนค.ศ.108 ปี (108 B.C.) จนกระทั่งปีค.ศ.313 จึงได้รับเอกราชจากจีน หลังจากนั้น เกาหลี ได้แตกออกเป็นสามก๊ก และสามารถรวมกันเป็นอาณาจักรเดียวกันได้เป็นครั้งแรกเมื่อค.ศ.676
การที่เกาหลีตกอยู่ภายใต้การยึดครองของจีนเป็นเวลายาวนานมากกว่า 400 ปี จึงทำให้เกาหลีได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนเป็นอย่างมาก
3.2 ยุคราชวงศ์คุรยอ (ค.ศ.918-1392)
ได้มีการสถาปนาราชวงศ์คุรยอ (Goryeo) ขึ้น เมื่อปีค.ศ.936 ยุคนี้เป็นยุคที่ส่งเสริมพระพุทธศาสนา และมีความเจริญสูงสุดในสมัยกษัตริย์มุนจง แต่ได้เสื่อมอำนาจลงจนสิ้นราชวงศ์เมื่อปีค.ศ.1392 โดยนายพล ลีได้ยึดอำนาจและสถาปนาราชวงศ์โชซอนขึ้นมา
3.3 ยุคราชวงศ์โชซอน (ค.ศ.1392-1897)
หลังจากยุคราชวงศ์คุรยอ ได้เสื่อมอำนาจลง ก็เป็นยุคของราชวงศ์โชซอน (Joseon) ซึ่งได้มีการสถาปนาขึ้นเมื่อค.ศ.1897 ยุคนี้เป็นยุคของส่งเสริมลัทธิขงจื๊อให้เป็นศาสนาประจำชาติ แทนศาสนาพุทธ และในยุคนี้ กษัตริย์เซจงมหาราช ได้ทรงประดิษฐ์อักษรฮันกีลขึ้นมาใช้แทนอักษรจีน
ต่อมาเกาหลีได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจจีนอีกครั้งหนึ่งในยุคราชวงศ์หยวน เป็นเวลา 80 ปี ระหว่างปีค.ศ.1270-1350
3.4 ยุคจักรวรรดิเกาหลี (ค.ศ.1897-1910)
แม้เกาหลีจะไม่ได้มีคุณสมบัติขนาดเข้าข่ายที่จะเป็นจักรวรรดิได้ แต่เพื่อให้มีฐานะเท่าเทียมกับจักรวรรดิจีนและจักรวรรดิญี่ปุ่น และเพื่อประกาศเป็นประเทศเอกราชจากราชวงศ์ชิง พระเจ้าโกจงแห่ง ราชวงศ์โชซอน จึงได้มีพระบรมราชโองการยกสถานะราชอาณาจักรเกาหลีขึ้นเป็นจักรวรรดิ เมื่อปีค.ศ.1897 แต่ในที่สุดก็ถูกจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดครองเมื่อปีค.ศ.1910 รวมระยะเวลาของการเป็นจักรวรรดิได้เพียง 13 ปีเท่านั้น
3.5 ยุคตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น (ค.ศ.1910-1945)
การที่จักรวรรดิเกาหลีต้องสิ้นสุดลงภายในระยะเวลาอันสั้นเพียง 13 ปี ก็ถูกจักรวรรดิญี่ปุ่นได้เข้ายึดครอง ทำให้เกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น(Japanese colonial rule) เมื่อปีค.ศ.1910 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีจึงได้เอกราชเมื่อปีค.ศ.1945 รวมระยะเวลาที่เกาหลีตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น 35 ปี
ในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ถือเป็นช่วงเลาอันเลวร้ายของประวัติศาสตร์เกาหลี ทีเดียว เพราะถูกญี่ปุ่นกดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดบาดแผลลึกในใจของคนเกาหลีต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานจนกระทั่งปัจจุบัน
การตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ทำให้ราชวงศ์โชซอนของเกาหลีถูกล้มล้างไป พระราชวังถูกทำลายลง และใช้คนเกาหลีจำนวนมากเป็นแรงงานทาส
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวเกาหลีถูกเกณฑ์เข้าร่วมกองทัพญี่ปุ่น และยิ่งกว่านั้น ผู้หญิงจากจีนและเกาหลีราว 200,000 คน ได้ถูกส่งตัวไปเป็นนางบำเรอของทหารญี่ปุ่น
3.6 ยุคใหม่ภายหลังการแบ่งแยกประเทศ (นับตั้งแต่ค.ศ.1945 เป็นต้นมา)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง เกาหลีถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศ โดยใช้เส้นขนานที่ 38 เป็นเส้นแบ่ง ทำให้เกิดเป็นสองประเทศที่มีระบบการเมืองและเศรษฐกิจตรงกันข้าม กล่าวคือส่วนที่อยู่เหนือเส้นขนานที 38 เป็นประเทศเกาหลีเหนือ ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและจีน เป็นประเทศที่มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ และส่วนที่อยู่ใต้เส้นขนานที่ 38 เรียกว่า เกาหลีใต้ ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติยอมรับสาธารณรัฐเกาหลี เป็นตัวแทนเกาหลีในสหประชาชาติเพียงรัฐเดียว โดยมีผลเมื่อปีค.ศ.1948
อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น เกาหลีใต้ได้มีความพยายามจะรวมเป็นชาติเดียวกันกับเกาหลีเหนือเรื่อยมา แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
ความเห็นเพิ่มเติม
จะเห็นได้ว่า เกาหลีมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้มีจุดแข็งด้านวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกาหลีสามารถนำวัฒนธรรมอันเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ (soft power) อย่างหนึ่ง มาสร้างเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ จนเป็นที่ยอมรับแพร่หลายไปทั่วโลก เช่น การสร้างเป็นภาพยนตร์ชุดทางทีวี ภาษา อาหาร ตลอดจนศิลปะการแสดงต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี การที่เกาหลีได้เคยตกเป็นเมืองขึ้นของจีนเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้เกาหลีได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนด้วย
4.สงครามเกาหลี

การศึกษาประวัติศาสตร์เกาหลีจะไม่สมบูรณ์ ถ้าไม่ได้ศึกษาเรื่องสงครามเกาหลี
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดได้มีการแบ่งประเทศเกาหลีออกเป็น 2 ประเทศ เมื่อปีค.ศ.1948 และต่อมาไม่นานได้เกิดสงครามระหว่างเกาหลี 2 ประเทศเมื่อปีค.ศ.1950 คือ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ ภายใต้การสนับสนุนของ สหภาพโซเวียตและจีน
สาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ ภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา
4.1 จุดเริ่มต้นของสงคราม
จุดเริ่มต้นของสงคราม คือ กองทัพเกาหลีเหนือ ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพโซเวียต และจีน ได้ข้ามเขตแดนเส้นขนานที่ 38 และรุกเข้าสู่เกาหลีใต้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1950 ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติได้อนุญาตให้จัดตั้งกองบัญชาการสหประชาชาติและส่งกองทัพไปยังเกาหลีเพื่อขับไล่การรุกรานของเกาหลีเหนือ โดยมีกองกำลังจาก 21 ประเทศภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมรบในครั้งนี้
สงครามได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 1953 ด้วยการทำสัญญาสงบศึก และได้สร้างเขตปลอดทหารเกาหลี (Korean Demilitarized Zone) ซึ่งเป็นการสร้างแนวกั้นชายแดนแบ่งคาบสมุทรเกาหลี มีความยาว 250 กิโลเมตร และความกว้าง 4 กิโลเมตร แต่อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาดังกล่าวยังไม่ได้มีการลงนาม
4.2 ผลของสงคราม
สงครามครั้งนี้ ฝ่ายกองกำลังสหประชาชาติ มีจำนวนทั้งหมด 972,214 นาย และฝ่ายกองกำลังเกาหลีเหนือ สหภาพโซเวียตและจีน มีจำนวน 1,642,600 นาย เป็นสงครามที่ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างมาก โดยมีผู้เสียชีวิตจากสงครามประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามเวียดนาม เมืองสำคัญต่าง ๆ ของเกาหลีถูกทำลายล้างทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาหลีเหนือกลายเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักที่สุดในประวัติศาสตร์
ความเห็นเพิ่มเติม
จะเห็นได้ว่า การปฏิรูปสาธารณรัฐเกาหลี มีจุดเริ่มต้นจากสภาพบ้านเมืองถูกทำลายลง อย่างย่อยยับ บ้านแตกสาแหรกขาด อันเป็นผลมาจากสงครามเกาหลีอันโหดร้ายด้วยอาวุธทำลายล้างรุนแรงที่หลงเหลือจาก สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นระยะเวลายาวนานถึง 3 ปี ระหว่างปีค.ศ.1950-1953
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ส่งทหารจำนวน 11,786 นาย ไปร่วมรบสงครามเกาหลี ในฐานะกองกำลังสหประชาชาติ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีมีความเป็นมิตรที่ดีต่อกันสืบเนื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้
5.รูปแบบการปกครองประเทศในอดีต
หลังจากได้มีการแบ่งประเทศเกาหลีออกเป็น 2 ประเทศ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สาธารณรัฐเกาหลี มีรูปแบบการปกครองประเทศเป็นรัฐเดี่ยว แบบสาธารณรัฐ มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา โดยมีวิวัฒนาการดังนี้
5.1 ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับแรก
หลังจากได้มีการสถาปนาประเทศเกาหลีใต้ขึ้นมาเมื่อปีค.ศ.1948 ได้มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับแรกเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศในยุคประธานาธิบดีคนแรก คือ ประธานาธิบดี อีซึงมัน (Syngman Rhee) เป็นรัฐเดี่ยวสาธารณรัฐ ระบบกึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา โดยมีสองสภา
ประธานาธิบดี ได้รับเลือกตั้งโดยทางอ้อมจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และใช้อำนาจร่วมกับคณะรัฐมนตรี
ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 1948 จำนวน 2 ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1952 โดยแก้ไขให้ประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง และครั้งที่ 2 เมื่อค.ศ.1954 โดยยกเลิกการกำหนดจำกัดวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี และเน้นเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
5.2 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 (1960)
เมื่อปีค.ศ.1960 ได้มีการประท้วงไปทั่วประเทศ ทำให้ประธานาธิบดี อีซึงมันถูกโค่นลงจากอำนาจ และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญ 1960 กำหนดให้ใช้ระบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝายบริหารร่วมกับคณะรัฐมนตรี
5.3 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 (1962)
จนกระทั่งถึงปีค.ศ.1961 ปัก จุง ฮี (Park Chung-hee) ได้เข้ายึดอำนาจ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นฉบับที่ 3 เมื่อปีค.ศ.1962 เปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นระบบประธานาธิบดีเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา โดยให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
5.4 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4(1962)
ประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจให้แก่ประธานาธิบดีและสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่จำกัดวาระ ยิ่งกว่านั้น ยังสามารถใช้อำนาจเกือบจะเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศ เรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญยุชิน (Yushin Constitution)
5.5 รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 5 (1980)
ประธานาธิบดีได้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนกระทั่งเมื่อปีค.ศ.1979 เขาได้ถูกลอบสังหารโดยคนใกล้ชิด ซึ่งได้นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 5 เมื่อปีค.ศ.1980 ในยุคสมัยของประธานาธิบดี ชุน ดู วาน (Chun Doo-hwan) โดยได้มีการลดอำนาจของประธานาธิบดีบางส่วนให้น้อยลง
ประธานาธิบดีได้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี (electoral college) และจะสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว เป็นเวลา 7 ปี แต่ประธานาธิบดียังมีอำนาจออกกฤษฎีกาในการปกครองประเทศได้
6.รูปแบบการปกครองประเทศในปัจจุบัน
รูปแบบการปกครองประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบัน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 (1987)
6.1 ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 (1987)
เมื่อปีค.ศ.1987 ได้มีการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยครั้งใหญ่ ทำให้ต้องมีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ด้วยการให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติเมื่อเดือนตุลาคม 1987 ปรากฏว่า ร้อยละ 93 เห็นชอบให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมี โร แต วู (Roh tae-woo) เป็นประธานาธิบดีคนแรกตามรัฐธรรมนูญนี้
ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้เกาหลีใต้มีรูปแบบการปกครองในระบบกึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา ประธานาธิบดีมีอำนาจลดลง และได้มีการรื้อฟื้นศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่
6.2 ด้านนิติบัญญัติ
ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นระบบสภาเดียว เรียกชื่อว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (National Assembly) ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้มาจากการเลือกตั้ง อยู่ในวาระ 4 ปี มีสมาชิกอย่างน้อย 200 คน ปัจจุบันมีจำนวน 300 คน
6.3 ด้านบริหาร (The Executive)
ด้านบริหารประกอบด้วย ประธานาธิบดี (President) และฝ่ายบริหาร (Executive branch)
6.2.1 ประธานาธิบดี
ประธานาธิบดี เป็นตำแหน่งที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในวาระตำแหน่ง 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ประธานาธิบดี เป็นประมุขของรัฐ และเป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหาร มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการรักษาเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน การดำรงอยู่ของรัฐ และรัฐธรรมนูญ
ประธานาธิบดี มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการรวมประเทศอย่างสันติ
อำนาจในการบริหารประเทศเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่มีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้า
6.2.2 ฝ่ายบริหาร (The Executive Branch)
ฝ่ายบริหารมีอยู่ 3 ส่วน คือ นายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาแห่งรัฐ สภาแห่งรัฐ และรัฐมนตรี
6.2.2.1 นายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาแห่งรัฐ
นายกรัฐมนตรีได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดีด้วยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ช่วยเหลือประธานาธิบดีในการบริหารประเทศ และกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีอำนาจหน้าที่ในการเสนอบุคคลดำรงตำแห่งสมาชิกสภาแห่งรัฐต่อประธานาธิบดี
6.2.2.2 สภาแห่งรัฐ (The State Council)
สภาแหงรัฐมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในนโยบายที่สำคัญในส่วนที่อยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร
สภาแห่งรัฐ ประกอบด้วย ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาแห่งรัฐ ซึ่งต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 15 คน แต่ไม่เกิน 30 คน โดยประธานาธิบดีทำหน้าที่เป็นประธานสภาแห่งรัฐ และนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานสภาแห่งรัฐ
6.2.2.3 รัฐมนตรี (The Executive Ministers)
ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี
ความเห็นเพิ่มเติม
จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 1987 เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติของประชาชนด้วยคะแนนท่วมท้นถึงร้อยละ 93 โดยกำหนดรูปแบบการปกครองประเทศเป็นระบบกึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา ประธานาธิบดี ได้มาจากกการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ในการบริหารประเทศ มีประธานาธิบดี เป็นประมุขของรัฐ และเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร รวมทั้งเป็นประธานสภาแห่งรัฐ โดยมีนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีด้วยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติ เป็นรองประธานสภาแห่งรัฐ
ในด้านนิติบัญญัติ สาธารณรัฐเกาหลีมีเพียงสภาเดียว มีสมาชิกอย่างน้อย 200 คน อยู่ในวาระ 4 ปี
7.การปฏิรูปเศรษฐกิจยุคประธานาธิบดี ปัก จุง-ฮี “มหัศจรรย์แห่งลุ่มน้ำฮัน”

ความเจริญรุ่งเรืองของเกาหลีใต้ ได้เริ่มต้นเมื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจในยุคของประธานาธิบดีปัก จุง-ฮี
7.1 การเข้าสู่อำนาจของ ปัก จุง-ฮี
ก่อนที่จะเข้าสู่อำนาจสูงสุดทางการเมืองของประเทศ ปัก จุง-ฮี เป็นผู้นำทางทหารลำดับที่ 2 เขาได้ก่อการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปีค.ศ.1961 โดยยึดอำนาจในการปกครองประเทศของรัฐบาลเฉพาะกาลในขณะนั้น (interim government) เป็นอันสิ้นสุดสาธารณรัฐที่ 2 เขาได้ใช้อำนาจของหัวหน้าคณะปฏิวัติ (chairman of the military junta) ในการปกครองประเทศเป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของประเทศเมื่อปี 1963 ซึ่งเป็นยุคสาธารณรัฐที่ 3
เมื่อปีค.ศ.1972 เขาได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกใช้ในการปกครองประเทศ จนกระทั่งเขาได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปีค.ศ.1979 เนื่องจากถูกลอบสังหารโดยคนใกล้ชิด รวมระยะเวลาที่อยู่ในอำนาจเผด็จการต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนานถึง 18 ปี
7.2 มหัศจรรย์แห่งลุ่มน้ำฮัน (The Miracle on the Han River) ตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งผู้นำเผด็จการของเกาหลี เขาได้ทุ่มเทความพยายามในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ จากประเทศที่ยากจนและอดอยากแสนสาหัสภายหลังสงครามเกาหลีไปสู่ประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและทางอุตสาหกรรมด้วยระยะเวลาอันสั้น ทำให้เกาหลีเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเจริญทางทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่สุดในช่วง ทศวรรษที่ 1960-1970 จนได้รับฉายาว่า มหัศจรรย์แห่งล่มน้ำฮัน
7.3 แนวทางในการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ
ปัก จุง-ฮี ได้ใช้แนวทางในการปฏิรูปเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนับตั้งแต่ยุคสมัยจักรพรรดิเมจิเป็นต้นมา เป็นแบบอย่างในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ อันเป็นผลทำให้เกิดบริษัทขนาดใหญ่ที่มีบทบาทอันสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ และมีอายุยืนยาวมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เช่น ฮุนได ซัมซุง และ แอลจี (LG)
7.4 นโยบายด้านเศรษฐกิจ (Economic Policy)
เป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ปัก จุง-ฮี คือ การทำให้ประเทศพ้นจากความยากจน และนำประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed country) ด้วยวิธีการที่วัดได้ทางสถิติ
เริ่มต้นจากการใช้แผนระยะห้าปีแรกเมื่อปีค.ศ.1962 โดยประกาศให้เมืองอุลซาน (Usan) เป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมพิเศษ (special industrial development zone)
ปัก จุง-ฮี ได้เป็นผู้แสดงบทบาทเป็นผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจเกาหลีด้วยตัวเขาเอง โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เกาหลีเป็นประเทศส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (export-oriented industrialization)
เมื่อเขาได้เข้าสู่อำนาจเป็นผู้นำประเทศเมื่อปีค.ศ.1961 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเกาหลีใต้มีเพียง 72 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าเกาหลีเหนือมาก เพราะในขณะนั้น เกาหลีเหนือนอกจากมีทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาอย่างเต็มที่จากประเทศกลุ่มคอมมิวนิสต์อย่างเช่น สหภาพโซเวียต เยอรมันตะวันออก และจีน
ตัวอย่างของความสำเร็จในการปฏิรูปของเขาอย่างหนึ่ง คือ การที่เขาทำให้เกาหลีมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่งโมง เมื่อปีค.ศ.1964 จากเดิมที่มีไฟฟ้าใช้วันละ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น
ตามแผนระยะห้าปีที่สอง ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อปีค.ศ.1967 เขาได้สร้างสวนอุตสาหกรรมคุโร (Kuro Industrial Park) ในทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโซล และได้สร้างบริษัทของรัฐเพื่อผลิตเหล็กกล้าในราคาถูก สนับสนุนกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ (chaebol) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ และมีการสร้างอู่ต่อเรือเป็นครั้งแรกในเกาหลี โดยรัฐบาลมีสิ่งจูงใจด้วยการสนับสนุนเงินกู้ การยกเว้นภาษี การพิจารณาอนุญาตด้วยความสะดวก และมีเงินอุดหนุน
บรรดาบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในครั้งนั้น ทุกวันนี้ได้เจริญก้าวหน้าเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในระดับโลกอย่างเช่น แอลจี (Lucky Star) ซัมซุง หรือฮุนได ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสินค้าด้านการขนส่งให้กองทัพสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเกาหลี
ดัชนีชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ
ดัชนีชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างในยุคของปัก จุง-ฮี คือ จำนวนเครื่องรับโทรทัศน์ เมื่อปีค.ศ.1960 ชาวเกาหลีที่มีเครื่องรับโทรทัศน์มีจำนวนเพียง 200,000 เครื่อง และเมื่อปีค.ศ.1969 ชาวเกาหลีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ จนกระทั่งปีค.ศ.1979 ชาวเกาหลีทุกห้าหลังคาเรือนมีเครื่องรับโทรทัศน์หนึ่งเครื่อง หรือมีจำนวน 6 ล้านเครื่อง แต่ในระยะก่อนปีค.ศ.1979 ยังเป็นทีวีแบบขาวดำอยู่
กล่าวโดยสรุปแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมของเกาหลีในยุคของปัก จุง-ฮี ได้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด ก็เพราะภาวะผู้นำอันเด็ดขาดของเขา โดยเขาได้ยึดญี่ปุ่นเป็นตัวแบบที่สำคัญคือ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ และกลุ่มบริษัทบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น
8..การเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศ OECD
สาธารณรัฐเกาหลีได้เริ่มต้นการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังเมื่อปีค.ศ.1962 ตามแผนพัฒนาห้าปีแรก เวลาผ่านไปเพียง 34 ปี ประเทศนี้ก็ได้รับการยอมรับจากองค์กร OECD ให้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อปีค.ศ.1996 แสดงให้เห็นว่า ประเทศนี้ได้เป็นประเทศที่มีการพัฒนาเป็นอย่างสูงแล้ว
OECD คืออะไร
OECD คือ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ย่อมาจากคำว่า Organization for Economic Operation and Development เป็นองค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และยอมรับระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการค้าเสรีในการร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจในยุโรปและโลก
OECD มีกำเนิดมาจากองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจของยุโรป หรือ OEEC (Organization for European Economic Co-operation) ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1948 ในช่วงสมัยสงครามเย็น โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจของประเทศยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กลับคืนมาและคงไว้อย่างมั่นคงตามแนวทางเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งเป็นไปตามแผนการมาร์แชลล์ (Marshall Plan) ของสหรัฐอเมริกา โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เมื่อปีค.ศ.1960 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นองค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) เดิมมีสมาชิกจำนวน 20 ประเทศ ล้วนเป็นประเทศในยุโรปตะวันตก และสหรัฐอเมริกา ได้แก่
ออสเตรีย เบลเยี่ยม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส กรีซ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก นอรเวย์
เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สหราชอาณาจักร สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สเปน และแคนาดา
ต่อมา OEEC ได้ขยายขอบเขตความร่วมมือออกไปให้กว้างขวางทั่วโลก ไม่จำกัดอยู่เฉพาะทวีปยุโรปเท่านั้น จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น OECD เมื่อปีค.ศ.1960 และมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาใหม่ 18 ประเทศ เรียงตามลำดับปีค.ศ.ที่ได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกได้ดังนี้ คือ
1.ปีค.ศ.1964 มีจำนวน 1 ประเทศ
-ญี่ปุ่น
2. ปีค.ศ.1969 มีจำนวน 1 ประเทศ
-ฟินแลนด์
3. ปี 1971 มีจำนวน 1 ประเทศ
-ออสเตรเลีย
4. ปี 1973 มีจำนวน 1 ประเทศ
-นิวซีแลนด์
5. ปี 1995 มีจำนวน 1 ประเทศ
– สาธารณรัฐเช็ค
6. ปี 1994 มีจำนวน 1 ประเทศ
– เม็กซิโก
7. ปี 1996 มีจำนวน 3 ประเทศ คือ
– ฮังการี
-โปแลนด์
-เกาหลีใต้
8. ปี 2000 มีจำวน 1 ประเทศ
– สโลวัก
9. ปี 2010 มีจำนวน 3 ประเทศ
– ชิลี
-สโลวีเนีย
-อิสราเอล
10. ปี 2016 มีจำนวน 1 ประเทศ
– ลัตเวีย
11. ปี 2018 มีจำนวน 1 ประเทศ
-ลิทัวเนีย
12. ปี 2020 มีจำนวน 2 ประเทศ
– โคลอมเบีย
-เอสโตเนีย
13. ปี 2021 มีจำนวน 1 ประเทศ
-คอสตาริกา
ความเห็นเพิ่มเติม
ในบรรดาประเทศที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ 18 ประเทศ มีประเทศเอเชียเพียง 3 ประเทศเท่านั้น คือ ญี่ปุ่น (1964) เกาหลี (1996) และอิสราเอล (2010)
9.ความเจริญก้าวหน้าของเกาหลีในยุคปัจจุบัน
ด้วยผลจากการที่ประธานาธิบดี ปัก จุง-ฮี ได้สร้างรากฐานอันแข็งแกร่งและมั่นคงไว้ในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 รวมระยะเวลาราว 18 ปี (1962-1979) ส่งผลให้ประเทศนี้สามารถพัฒนาประเทศจากประเทศที่ยากจนให้กลายเป็นประเทศชั้นนำของโลกที่มีความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอย่างสูงในปัจจุบัน (highly developed country) ดังจะนำตัวชี้วัดที่สำคัญมาแสดง ดังนี้
9.1 ขนาดเศรษฐกิจ (GDP by nominal)
ตามประมาณการของไอเอ็มเอฟ. ปี 2022 ขนาดจีดีพีของสาธารณรัฐเกาหลีใหญ่เป็นลำดับที่ 13 ของโลก จำนวน 1,737,207 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดเศรษฐกิจของออสเตรเลีย ในขณะที่ไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 27 ของโลก จำนวน 534,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขนาดเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเกาหลีนับว่ามีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 5 ของเอเชีย รองลงมาจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และอิหร่าน
9.2 รายได้เฉลี่ยต่อหัว (Per Capita Income)
ตามประมาณการของไอเอ็มเอฟ.ปี 2022 สาธารณรัฐเกาหลีมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว จำนวน 33,592 ดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นลำดับที่ 30 ของโลก ใกล้เคียงกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของญี่ปุ่นและอิตาลี กล่าวคือ ญี่ปุ่นมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว จำนวน 34,351 ดอลลาร์ สูงเป็นลำดับที่ 28 ของโลก และอิตาลี มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 33,740 ดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 29 ของโลก
ส่วนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 7,631 ดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 85 ของโลก
9.3 ดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Index)
ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติประจำปี 2022 สาธารณรัฐเกาหลีมีดัชนีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เท่ากับญี่ปุ่น ด้วยคะแนน 0.925 อยู่ในลำดับที่ 19 ร่วมของโลก ซึ่งเป็นคะแนนที่ใกล้เคียงกับ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้คะแนน 0.929 และ 0.921 อยู่ในลำดับที่ 18 และ 21 ของโลกตามลำดับ
ส่วนประเทศไทยได้คะแนน 0.800 อยู่ในลำดับที่ 66 ของโลก
9.4 ขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness Ranking)
ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันปี 2019 ปรากฏว่า สาธารณรัฐเกาหลีได้คะแนน 79.6 เท่ากับแคนาดา อยู่ในลำดับที่ 13 ร่วม เหนือกว่าฝรั่งเศส ซึ่งได้คะแนน 78.6 อยู่ในลำดับที่ 15
ขีดความสามารถในการแข่งขันของสาธารณรัฐเกาหลีนับเป็นลำดับที่ 4 ของเอเชีย เป็นรองแค่สิงคโปร์ คะแนน 84.80 ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 1 ฮ่องกง คะแนน 83.1 ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 3 และญี่ปุ่น คะแนน 82.3 ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 6
ส่วนประเทศไทย ได้คะแนน 68.1 อยู่ในลำดับที่ 40 ของโลก
9.5 ความสะดวกในการลงทุน (Ease of Doing Business Index)
ตามดัชนีความสะดวกในการลงทุนประจำปี 2020 ปรากฏว่า สาธารณรัฐเกาหลีอยู่ในลำดับที่ 5 ของโลก รองลงมาจาก นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเดนมาร์ก เหนือกว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 6
ส่วนประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 21 ของโลก ถือว่า อยู่ในกลุ่มที่มีความสะดวกในกาลงทุนเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับเกาหลี
9.6 ดัชนีความโปร่งใส (Corruption Perception Index)
ตามดัชนีความโปร่งใสประจำปี 2022 ปรากฏว่า สาธารณรัฐเกาหลี ได้คะแนน 63 อยู่ในลำดับที่ 31 ของโลก ส่วนไทยยังสอบตกเพราะได้คะแนนเพียง 36 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 101 ของโลก
9.7 ดัชนีนวัตกรรม (Innovation Index)
ตามดัชนีนวัตกรรมประจำปี 2022 ปรากฏว่า สาธารณรัฐเกาหลีได้คะแนน 57.8 อยู่ในลำดับที่ 8 ของโลก รองลงมาจาก สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สวีเดน สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ส่วนไทยได้คะแนน 34.9 อยู่ในลำดับที่ 40 ของโลก
ความเห็นเพิ่มเติม
ตามดัชนีชี้วัดความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ของสาธารณรัฐเกาหลีดังที่ได้ยกมากล่าว จำนวน 7 ด้านดังกล่าข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เกาหลีล้วนมีดัชนีชี้วัดอยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านนวัตกรรม อยู่ในลำดับที่ 8 ของโลก อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศนี้ให้ความสำคัญแก่การศึกษาค้นคว้าหานวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องนำมาเป็นเทคโนโลยีในการต่อยอดในการคิดประดิษฐ์สินค้าใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดโลก
10. วิเคราะห์การปฏิรูปเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเกาหลีจากประเทศยากจนไปสู่ประเทศมั่งคั่งด้วยระยะเวลาอันสั้น
สาธารณรัฐเกาหลีเพิ่งมีกำเนิดภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปีค.ศ.1948 หลังจากนั้นประเทศต้องเข้าสู่ภาวะสงครามเกาหลีอันโหดร้ายทารุณเป็นเวลา 3 ปี ในช่วงปีค.ศ.1950-1953 อันเป็นสาเหตุทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ยากจนและอดอยาก
การปฏิรูปเศรษฐกิจของเกาหลีได้เริ่มต้นอย่างจริงจังในยุคของประธานาธิบดี ปัก จุง-ฮี ซึ่งได้ครองอำนาจในการปกครองประเทศเป็นระยะเวลาต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลายาวนานร่วม 18 ปี ตลอดระยะเวลาดังกล่าว เขาได้ใช้อำนาจปกครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศจากประเทศที่ยากจนและอดอยากไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จนกระทั่งปีค.ศ.1996 เกาหลีได้รับการยอมรับจาก OECD ซึ่งเป็นองค์การของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การ แสดงให้เห็นว่า เกาหลีได้ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่า เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสูง (highly developed country)
ความสำเร็จดังกล่าว เกิดจากเหตุและผลดังนี้คือ
10.1 การมีภาวะผู้นำที่เข้มแข็งของปัก จุง-ฮี
ปัก จุง-ฮี ก้าวขึ้นสู่อำนาจปกครองประเทศจากการเป็นนายทหารระดับสูงของกองทัพ ด้วยการรัฐประหาร และได้ใช้อำนาจเด็ดขาดตามกฎอัยการศึกในการปกครองประเทศ จึงทำให้สามารถตัดสินใจและลงมือทำในสิ่งที่เขาเชื่อมั่นว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศได้รวดเร็ว โดยไม่มีอุปสรรคจากลุ่มอำนาจอื่นมาคอยเป็นอุปสรรคขัดขวาง
10.2 การมีญี่ปุ่นเป็นตัวแบบ
การที่ปัก จุง-ฮี เคยเป็นทหารในกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้และซึมซับความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคสมัยจักรพรรดิเมจิอันรุ่งเรือง จึงได้นำเอาความสำเร็จดังกล่าวของญี่ปุ่นมาเป็นตัวแบบและแรงบันดาลใจ
10.3 การได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
สาธารณรัฐเกาหลี ได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจของโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้มีความเข็มแข็งในการต่อสู้เอาชนะประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเกาหลีเหนือ
10.4 การมีโอกาสอยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานของผู้นำประเทศ
การที่ปัก จุง-ฮี มีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อเนื่องกันเวลานาน พร้อมกับการมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศ ทำให้มีเวลาและโอกาสที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้โดยไม่สะดุด
10.5 การมีอุดมการณ์ของผู้นำเกาหลีและประชาชนชาวเกาหลีเป็นแรงผลักดัน
การที่ผู้นำเกาหลีนับตั้งแต่ยุคประธานาธิบดี ปัก จุง-ฮี เป็นต้นมา ตลอดจนประชาชนชาวเกาหลี ล้วนมีอุดมการณ์อย่างแน่วแน่ในการสร้างความเจริญของประเทศให้ทัดเทียมอารยประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่นที่เคยปกครองเกาหลีมาก่อน ได้กลายเป็นแรงผลักดันอย่างแรงกล้าในการปฏิรูปประเทศให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง
11. สรุป
บทความ “เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสูง” มีวัตถุประสงค์หลักในการเล่าเรื่องราวของการปฏิรูปประเทศสาธารณรัฐเกาหลี จากการเป็นที่ประเทศยากจน อดอยาก ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามเกาหลีในช่วงปีค.ศ.1950-1953 ให้มีความเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสูงของโลกได้ด้วยระยะเวลาอันสั้น เพียง 34 ปีเท่านั้น
ความสำเร็จของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี น่าจะเป็นแบบอย่างหรือข้อคิดบางประการให้แก่ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายมาเป็นเวลายาวนานอย่างเช่นประเทศไทยที่ได้เริ่มพัฒนาประเทศมาพร้อม ๆ กับเกาหลี แต่ยังไม่สามารถก้าวข้ามให้พ้นไปจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและการประเทศที่พัฒนาแล้วเสียที
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน หัวข้อ ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
1.ถาม-เป็นเพราะเหตุใด ในการปฏิรูปประเทศของหลายประเทศ มักจะทำสำเร็จในยุคที่ผู้นำประเทศมีอำนาจเด็ดขาดหรืออำนาจเผด็จการ
การปฏิรูปประเทศ หมายถึง การปรับโครงสร้างของประเทศที่มีอยู่เดิม ไปสู่โครงสร้างอันใหม่ที่เจริญก้าวหน้าและทันสมัยมากกว่าโครงสร้างเดิมอย่างสิ้นเชิง จากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ดังนั้น หากผู้นำประเทศไม่มีอำนาจเด็ดขาดมากพอ การปฏิรูปประเทศก็ยากที่จะทำได้ เพราะผู้ที่มีอำนาจอยู่ตามโครงสร้างเดิมย่อมต้องคอยขัดขวางไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนและพวกตนไว้ต่อไป
2.ถาม- การปฏิรูปประเทศจะทำสำเร็จได้จำเป็นต้องเกิดขึ้นในขณะที่มีรูปแบบของการปกครองแบบเผด็จการไหม
การปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ มักจะเกิดขึ้นในประเทศบางประเทศช่วงที่มีรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการ หรือหากจะเกิดในรูปแบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นกรณีรัฐบาลมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องอาศัยเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภาผ่านร่างกฎหมายที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิรูปประเทศ
ถ้าเป็นรูปแบบการปกครองประชาธิปไตยที่เป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา เช่น การมีพรรคการเมืองหลายพรรคร่วมกันเป็นรัฐบาลผสมบริหารประเทศเหมือนอย่างกรณีรัฐบาลไทย ชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พ.ศ.2562-2566) ที่เพิ่งยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ การปฏิรูปประเทศย่อมยากที่จะทำได้ เพราะการผ่านร่างกฎหมายที่สำคัญและมีความจำเป็นต่อการปฏิรูปประเทศจะทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากแต่ละพรรคมุ่งที่จะรักษาฐานเสียงของพรรคตน จึงเป็นการยากที่รัฐบาลผสมจะสามารถผลักดันกฎหมายบางฉบับที่จำเป็นต่อการปฏิรูปประเทศได้
3.ถาม-พอจะยกตัวอย่างประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สามารถปฏิรูปประเทศจากการเป็นประเทศยากจนไปสู่ประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยได้ภายในระยะเวลาอันสั้นไหม
ตัวอย่างประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สามารถปฏิรูปประเทศจากการเป็นประเทศยากจนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยได้ภายในระยะเวลาอันสั้นที่เห็นได้ชัดก็คือ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มาตั้งแต่มีการสถาปนาประเทศโดยแยกออกจากมาเลเซีย เมื่อปีค.ศ.1965 โดยเป็นประเทศที่เริ่มต้นด้วยการที่ไม่มีทรัพยากรอะไร แต่ประเทศนี้มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวภายใต้การนำของ ลี กวน ยู คือ พรรคกิจประชาชน ซึ่งมีอำนาจในการปกครองประเทศเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เพราะมีผลงานโดดเด่น ถูกใจประชาชน จึงชนะการเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภาทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ทำให้รัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด
ดังนั้น การที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้กำหนดนโยบายอะไรขึ้นมา จึงย่อมสามารถดำเนินการจนประสบผลสำเร็จได้ เพราะไม่มีฝ่ายค้านคอยเป็นอุปสรรคให้เสียโอกาสหรือจังหวะ ทำให้สามารถผ่านร่างกฎหมายที่จำเป็นและมีความสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศได้เสมอ
บางครั้งเรียกรัฐบาลที่มีแต่พรรคการเมืองพรรคเดียวครองอำนาจในการบริหารประเทศแบบสิงคโปร์นี้ว่า “การปกครองระบบเผด็จการรัฐสภา”
4.ถาม-OECD คืออะไร และมีความสำคัญต่อการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสูงอย่างไร
OECD ย่อมาจากคำว่า “Organization for Economic Co-operation and Development หมายถึง องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นองค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 1960 มีสมาชิกเริ่มต้นจำนวน 20 ประเทศ หลังจากนั้นได้มีการขยายเพิ่มจำนวนสมาชิกเข้ามาอีกจำนวน 18 ประเทศ รวมมีจำนวนสมาชิกทั้งหมดในขณะนี้ 38 ประเทศ
ความสำคัญของ OECD คือ หากประเทศใดได้รับการยอมรับให้เป็นประเทศสมาชิกของ OECD ย่อมถือได้ว่า ประเทศนั้นเป็นประเทศที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าได้พัฒนาแล้วเป็นอย่างสูง
ปัจจุบันนี้ในเอเชีย มีอยู่เพียง 3 ประเทศเท่านั้น ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกของ OECD มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้น คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอิสราเอล
5.ถาม- ตามดัชนีชี้วัดขีดความสามารถของประเทศต่าง ๆ ในระดับสากล จำนวน 7 ประการดังกล่าวข้างต้น มีดัชนีตัวใดที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยในการที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต เพราะเหตุใด
ตามดัชนีชี้วัดขีดความสามารถของประเทศต่าง ๆ ในระดับสากล จำนวน 7 ประการดังกล่าว มีดัชนีชี้วัดความโปร่งใส เป็นดัชนีชี้วัดที่น่าเป็นห่วงที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะตามดัชนีชี้วัดความโปร่งใสประจำปี 2022 ประเทศไทย ทำคะแนนได้เพียง 36/100 คิดเป็นลำดับที่ 101 ของโลก ซึ่งถือเป็นคะแนนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เคยมีคะแนนในลำดับใกล้เคียงกับประเทศไทยมาก่อน เช่น
ลำดับที่ 65 จีน ได้ 45/100 คะแนน
ลำดับที่ 77 เวียดนาม ได้ 42/100 คะแนน
ลำดับที่ 85 อินเดียได้ 40/100 คะแนน
หากดูสถิติย้อนหลังไป 10 ปี ช่วงปี 2012-2021 พบว่า ไทยได้คะแนนดัชนีความโปร่งใสอยู่ในระหว่างช่วง 35-38 คะแนนเท่านั้น ยังไม่สามารถคำคะแนนไปถึงระดับ 40 คะแนน ในขณะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามสามารถทำคะแนนในปี 2022 ได้มากถึง 42 คะแนน
ดร.ชา 369
24/03/22