“ผู้ว่าราชการจังหวัด ยากนะที่จะได้เป็น” นับเป็นบทความลำดับที่ 9 ของหมวด 1 เส้นทางสู่อาชีพนักปกครอง ความนำ ประวัติความเป็นมาของตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด แนวคิดในการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ความสำคัญของตำแหน่งผู้ว่า ฯ กฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง กระบวนการแต่งตั้งผู้ว่า ฯ การเตรียมคนเป็นผู้ว่า ฯ วิเคราะห์ สรุป ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369
อนึ่ง บทความสุดท้ายก่อนหน้านี้ของหมวด 1 เส้นทางสู่อาชีพนักปกครอง คือ นายอำเภอ กว่าจะได้เป็นยากไหม (8)
Table of Contents
1.ความนำ
ด้วยผมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ในยุคปัจจุบันนี้ ได้มีการสร้างข่าวเท็จหรือข่าวปลอมออกเผยแพร่ทางสื่อสังคม (social medias) ในช่องทางต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และได้มีการแชร์ต่อ ๆ กันไป โดยไม่หวั่นเกรงว่า อาจจะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดทางคอมพิวเตอร์หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นทางไลน์ เฟสบุ๊ค เว็บไซต์ หรือช่องทางอื่น ๆ
หลายเรื่องได้สร้างความสับสน ความวิตกกังวลและความตระหนกตกใจให้แก่ผู้อ่านและผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก เพราะไม่ทราบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข่าวจริง หรือข่าวเท็จ และไม่ทราบว่าจะตรวจสอบได้อย่างไร
เรื่องศาสนาอิสลามเป็นเรื่องหนึ่งที่ได้มีผู้พยายามสร้างข่าวปลอมหรือข่าวเท็จออกเผยแพร่และมีการแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก เป็นระยะ ๆ ซึ่งผมได้เคยเขียนบทความเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องมาก่อน จำนวน 1 บทความ คือ “ มุม มองอันคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม”
สำหรับบทความนี้ ผมต้องการนำเสนอเรื่องเล่าเกี่ยวกับเส้นทางไปสู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นที่มีผู้สร้างกระแสข่าวไปทำนองว่า หากผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดเป็นมุสลิมจะเป็นอย่างไร
การสร้างกระแสดังกล่าว อาจจะทำให้หลายคนที่ไม่รู้หรือเข้าใจในระบบราชการของไทย เกิดความสับสน เข้าใจผิด หลงเชื่อ และตื่นตระหนกตกใจว่า สถานการณ์ของประเทศไทยเลวร้ายถึงขั้นที่อยากจะให้ใครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดก็สามารถทำได้โดยง่ายถึงเพียงนั้นเชียวหรือ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีชาวพุทธร้อยละ 93 ส่วนชาวมุสลิมมีเพียงร้อยละ 5.4 เท่านั้น
ในฐานะที่เป็นชาวพุทธและเคยรับราชการเป็นนักปกครอง ผ่านการดำรงตำแหน่ง ต่าง ๆ มาตามลำดับ นับตั้งแต่ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ปลัดจังหวัด และรองผู้ว่าฯ ยังขาดแต่ตำแหน่งผู้ว่าฯ เท่านั้นที่ผมอาจจะไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ รวมทั้งอาจมีบุญวาสนาไม่ถึงเลยไม่ได้เป็น
ดังนั้น ผมจึงอยากจะเล่าเรื่องเส้นทางของการไปสู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ ให้ท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่อยู่นอกระบบราชการของไทยได้ทราบและเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้อง
หากท่านอยากได้คำตอบว่า กระแสข่าวดังกล่าวมีโอกาสจะเป็นความจริงหรือไม่ เพราะเหตุใด กรุณาตั้งใจอ่านบทความนี้ให้จบ โดยผมจะพยายามเล่าเรื่องให้ท่านเข้าใจอย่างง่าย ๆ นับตั้งแต่ ประวัติความเป็นมาของตำแหน่งผู้ว่า ฯ แนวคิดในการแต่งตั้งผู้ว่า ฯ ความสำคัญของตำแหน่งผู้ว่า ฯ กฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง กระบวนการแต่งตั้งและการเตรียมคนเป็นผู้ว่า ฯ
ทั้งนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจ วิเคราะห์และหาคำตอบที่ถูกต้องได้ด้วยตัวเอง
2.ประวัติความเป็นมาของตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า แห่งราชวงศ์จักรีได้ทรงปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ให้เป็นรัฐสมัยใหม่ ที่เรียกว่า รัฐชาติ (nation state) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่รัฐอันเกิดจากความเป็นเอกภาพและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแผ่นดินโดยทรงแบ่งการปกครองประเทศออกเป็น 3 ระดับ คือ
2.1 การปกครองส่วนกลาง
เป็นไปตามหลักการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ด้วยการจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นกระทรวง ทบวง กรมแบบยุโรป โดยมีเสนาบดีว่าการกระทรวง
ในการนี้ มีกระทรวงมหาดไทย เป็นกระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในของราชอาณาจักร
2.2 การปกครองส่วนภูมิภาค
เป็นไปตามหลักการแบ่งและมอบอำนาจ ด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค แบ่งการปกครองออกเป็นมณฑลเทศาภิบาล จังหวัด และอำเภอ นอกจากนี้ยังให้มีการปกครองท้องที่ คือ ตำบลและหมู่บ้าน ขึ้นตรงต่ออำเภอ
มณฑลเทศาภิบาล มีสมุหเทศาภิบาลเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ และภายใต้มณฑลเทศาภิบาลมีจังหวัดและอำเภอ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบจังหวัดและอำเภอ ตามลำดับ สมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ สังกัดกระทรวงมหาดไทย
ต่อมาการปกครองส่วนภูมิภาคในรูปแบบมณฑลเทศาภิบาลได้ถูกยกเลิกไปในภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จึงทำให้ผู้ว่าฯ เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองส่วนภูมิภาคนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน
2.3 การปกครองส่วนท้องถิ่น
เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจ ด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในรูปแบบของสุขาภิบาล ก่อนที่จะมีการพัฒนาเป็นเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลในปัจจุบัน
3.แนวคิดในการแต่งตั้งผู้ว่าฯ

https://www.cmhy.city/place/14680-Chiang-Mai-Province
ตำแหน่งผู้ว่าฯ ในอดีตเคยเรียกว่า เจ้าเมือง และข้าหลวงประจำจังหวัด
3.1 ยุคระบบกินเมือง
ในอดีตก่อนที่จะมีการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สยามประเทศยังไม่ได้ใช้แนวคิดในการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง แต่ปล่อยให้หัวเมืองต่าง ๆ ได้ปกครองตนเองโดยอิสระจากเมืองหลวง เพียงแต่ต้องส่งกำลังไปช่วยเมืองหลวงกรณีที่เมืองหลวงมีคำสั่ง อย่างที่เรียกว่า เป็นการปกครองในระบบกินเมือง แต่ถ้าเป็นประเทศราช ก็จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการเพื่อแสดงความจงรักภักดี
การแต่งตั้งเจ้าเมืองในยุคนี้ มักจะยึดถือตามหลักการสืบสายโลหิต
3.2 ยุคของการเป็นมืออาชีพภายใต้ระบบข้าราชการประจำ

(วิกิพีเดีย, กระทรวงมหาดไทย, 27 กุมภาพันธ์ 2565)
เมื่อได้มีการปฏิรูประบบการบริหารราชแผ่นดิน ด้วยการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแบบอารยประเทศ จำเป็นต้องสร้างระบบราชการขึ้นใหม่ ให้อำนาจเมืองหลวงแต่งตั้งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไปดำรงตำแหน่งในส่วนภูมิภาค ได้แก่ มณฑลเทศาภิบาล จังหวัด และอำเภอ โดยมีอำนาจแต่งตั้ง โยกย้ายสับเปลี่ยนกันไปทั่วประเทศ
การสร้างระบบราชการขึ้นมาใหม่ดังกล่าว จำเป็นต้องมีการพัฒนาและฝึกอบรมข้าราชการในระดับชั้นต่าง ๆ เพื่อไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งสูงสุดของจังหวัด คือตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้น จึงทำให้ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือข้าหลวงประจำจังหวัดหรือเจ้าเมืองได้เปลี่ยนจากการสืบทอดตำแหน่งตามสายโลหิตที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาล กลายเป็นระบบมืออาชีพภายใต้ระบบราชการสมัยใหม่
การจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในรัชสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีพ.ศ.2442 และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อปีพ.ศ.2445 จนกระทั่งได้มีการสถาปานาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาคือ “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เมื่อปีพ.ศ.2453 ก่อนที่จะได้สถาปนาขึ้น”จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีพ.ศ.2459 มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตบุคลาการเข้ารับราชการ
แท้ที่จริงแนวคิดในการแต่งตั้งผู้ว่าฯ ของไทย ได้มาจากแนวคิดในการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของฝรั่งเศสที่มีมาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิ นโปเลียนมหาราช(ครองราชย์ 18041814) ตราบเท่าจนทุกวันนี้ กล่าวคือ ฝรั่งเศส ได้แบ่งการปกครองออกเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค และมีการแต่งตั้งผู้ว่าฯ และนายอำเภอเช่นเดียวกับประเทศไทย เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพและความเป็นปึกแผ่นให้แก่รัฐ
แนวคิดในการแต่งตั้งผู้ว่าฯ แบบฝรั่งเศส นอกจากสยามแล้ว ในยุคสมัยเดียวกันนั้น ยังมีญี่ปุ่นในยุคปฏิรูปจักรพรรดิเมจิที่ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปปฏิรูประบบราชการแผ่นดินของญี่ปุ่นให้ความเข้มแข็งและเป็นเอกภาพ และสามารถทำให้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าทัดเทียมมหาอำนาจตะวันตกภายในระยะเวลาไม่นานนัก จนสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งได้ในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง
การแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจากส่วนกลาง ก็เพื่อให้เป็นตัวแทนรัฐหรือส่วนกลางในการบริหารประเทศให้เป็นไปตามแบบแผนเดียวกันทั้งประเทศ
4.ความสำคัญของผู้ว่าฯ
เมื่อครั้งมีการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทำให้สยามมีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศทั้งหลาย กระทรวงมหาดไทยภายใต้การนำของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างความเป็นเข้มแข็งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้แก่สยามประเทศตามระบบรัฐเดี่ยว (Unitary State)
ดังนั้น จึงทำให้สยามประเทศสามารถรอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกาของชาติมหาอำนาจตะวันตกนักล่าอาณานิคมในยุคนั้นคือฝรั่งเศสและอังกฤษได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา ไม่มีประเทศใดสามารถรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาตินักล่าอาณานิคมได้เลยแม้แต่ประเทศเดียว
ผู้ดำรงตำแหน่งอันเป็นกลไกสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในการรักษาความเป็นเอกภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของราชอาณาจักร คือ สมุหเทศาภิบาล เจ้าเมืองหรือข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ตลอดจนผู้ปกครองท้องที่คือกำนันผู้ใหญ่บ้าน
แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้มีการยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคในรูปแบบมณฑลเทศาภิบาล จึงทำให้ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลถูกยกเลิกไปด้วย ก็ยิ่งทำให้ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีความสำคัญและโดดเด่นมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
ผู้ว่าราชการจังหวัดมีความสำคัญ ดังนี้
4.1 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจสูงสุดในระดับจังหวัด
4.2 เป็นผู้นำนโยบายจากรัฐบาลและส่วนกลางมาปฏิบัติให้บังเกิดผลดีแก่ท้องที่และประชาชนทั่วประเทศ
4.3 เป็นผู้ผนึกกำลังของทุกภาคส่วนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนการบริหารและการพัฒนาจังหวัดให้มีความสงบสุขและเจริญก้าวหน้า
4.4 อื่น ๆ
5.กฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง
มีกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างน้อย จำนวน 3 ฉบับ คือ
5.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีมาตราที่เกี่ยวข้องใน หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย จำนวน 1 มาตรา คือ มาตรา 27
“มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุผลความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้
มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิได้เช่นเดียวกันกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม
บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม
ความในมาตรานี้แสดงให้เห็นว่า การจะกำหนดกฎเกณฑ์โดยอ้างความเชื่อในศาสนาที่แตกต่างกันเป็นข้อห้ามในการเข้ารับราชการและมีความเจริญก้าวหน้าในการรับราชการจะกระทำมิได้
5.2 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
“มาตรา 54 ในจังหวัดหนึ่ง ให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดคนหนึ่ง เป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจาก นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน และเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหาร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในราชการส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และรับผิดชอบในราชการจังหวัดและอำเภอ………….
……………….ฯลฯ ……………….
ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด (ถ้ามี) สังกัดกระทรวงมหาดไทย
ความตามาตรา 54 นี้ เป็นการกำหนดสถานะผู้ว่าฯ ให้เป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการและการคุ้มครองจากรัฐด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ว่า ฯ สังกัดกระทรวงมหาดไทย
“มาตรา 62 ในอำเภอหนึ่ง ให้มีนายอำเภอคนหนึ่งเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการในอำเภอและรับผิดชอบงานบริหารราชการอำเภอ
นายอำเภอสังกัดกระทรวงมหาดไทย
……………..ฯลฯ…………………………. ”
ความในมาตรา 62 นี้ กำหนดให้นายอำเภออยู่สังกัดกระทรวงมหาดไทยเช่นเดียวกับผู้ว่าฯ
5.3 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มีมาตราที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 มาตรา คือ มาตรา 36,52 และ57
“มาตรา 36 ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
ก.คุณสมบัติทั่วไป
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีอายุไม่ตำกว่าสิบแปดปี
(3) เป็นผู้เลื่อมในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ข.ลักษณะต้องห้าม
(1) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ฯลฯ
ความในมาตรา 36 นี้ เป็นการกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะสมัครเข้ารับราชการ มีทั้งคุณสมบัติทั่วไป และลักษณะต้องห้าม โดยไม่มีการกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในเรื่องของศาสนาแต่อย่างใด แสดงให้เห็นการมีความเท่าเทียมกันในเรื่องของศาสนาว่า ไม่ใช่ปัญหาหรืออุปสรรคในการเข้ารับราชการแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 27
“มาตรา 52 การสรรหาเพื่อให้ได้บุคคลมาบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าว ตลอดจนประโยชน์ของทางราชการ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในหมวดนี้”
ความในมาตรา 52 นี้ เป็นการกำหนดลงไปอย่างชัดเจนว่า ระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนไทยคือระบบคุณธรรม ไม่ใช่อุปถัมภ์
“มาตรา 57 การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นพลเรือนสามัญ และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 53 มาตรา 55 มาตรา 56 มาตรา 63 มาตรา 64 มาตรา 65 และมาตรา 66 ให้ผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้ เป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
(1) ………………………………
(2)การบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงตำแหน่งรองหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม รองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี หรือตำแหน่งอื่นที่ ก.พ.กำหนดให้เป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงให้ปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี เสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมดังกล่าวเป็นผู้สั่งบรรจุ และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
………………………………ฯลฯ…………………………………………..
ความในมาตรา 57 นี้เป็นการกำหนดอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในตำแหน่งระดับต่าง ๆ นับตั้งแต่ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงลงไป สำหรับมาตรา 57 (2) เป็นอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งระดับบริหารสูง ซึ่งรวมทั้งตำแหน่งผู้ว่า ฯ ในฐานะเป็นตำแหน่งเทียบเท่าหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม โดยผู้มีอำนาจออกคำสั่งบรรจุคือปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
6. กระบวนการแต่งตั้งผู้ว่า ฯ
กระบวนการแต่งตั้งผู้ว่าฯ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ กระบวนการตามกฎหมาย และหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ
6.1 กระบวนการแต่งตั้งผู้ว่าฯ ตามกฎหมาย
ตามความในมาตรา 57(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ได้กำหนดกระบวนการในการแต่งตั้งผู้ว่าฯ ในฐานะเป็นตำแหน่งเทียบเท่าหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม สรุปได้ดังนี้ คือ
6.1.1 การนำเสนอรายชื่อผู้เห็นสมควรให้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯ
เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้นำรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติและเห็นสมควรเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
6.1.2 การเสนอรายชื่อขออนุมัติไปยังคณะรัฐมนตรี
เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณารายชื่อบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกจากปลัดกระทรวงมหาดไทยเสนอขออนุมัติไปยังคณะรัฐมนตรี
6.1.3 การลงนามในคำสั่งบรรจุ
เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงมหาดไทยลงนามในคำสั่งบรรจุเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภายหลังจากได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว
6.1.4 การนำความกราบบังคมทูล
เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในการนำคำสั่งบรรจุผู้ว่าราชการจังหวัดที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ลงนามแล้ว กราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
6.2 หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ
เพื่อให้การคัดเลือกบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ เป็นไปด้วยความถูกต้อง เรียบร้อย และเป็นธรรม ในแต่ละปีกระทรวงมหาดไทยจึงได้มีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรงมหาดไทยขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และสิ่งที่ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกจะต้องทำเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณา พอจะสรุปได้ดังนี้
6.1.1 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก มีอยู่ 3 ประการ คือ
1.) เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัดกระทรวงมหาดไทย
2.) ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมาแล้วดังนี้
– ประเภทบริหาร ระดับต้น ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
– ประเภทบริหาร ระดับต้น และประเภทอำนวยการ รวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี
3.) ผ่านการอบรมหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง ดังนี้คือ
– หลักสูตรนักบริหารระดับสูงของสำนักงาน ก.พ. หรือ
– หลักสูตรนักปกครองระดับสูง กระทรวงมหาดไทย หรือ
– หลักสูตรอื่น ๆ ที่สำนักงาน ก.พ.กำหนด
4) เป็นผู้ที่กรมต้นสังกัดเสนอรายชื่อให้เข้ารับการคัดเลือก
6.1.2 หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก ประกอบด้วย
1.) ความรู้ความสามารถในตำแหน่ง จำนวน 30 คะแนน พิจารณาจาก
– ข้อเสนอเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด
– ผลงานด้านการบริหารการจัดการที่ภาคภูมิใจที่แสดงถึงความสำเร็จใน การนำนวัตกรรมในการทำงานมาใช้ในการบริหารราชการเพื่อแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ หรือผลงานที่เป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ ตามหัวข้อที่คณะกรรมการฯ กำหนด
6.1.3 ความประพฤติ จำนวน 30 คะแนน
พิจารณาจากความประพฤติและคุณลักษณะในการปฏิบัติงาน โดยการประเมินของผู้บังคับบัญชา
6.1.4 ประวัติการรับราชการ จำนวน 30 คะแนน พิจารณาจาก
1.) ระยะเวลาดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น
2.) วุฒิศึกษา
3.) ประวัติการดำเนินการทางวินัย
6.1.4 คุณลักษณะอื่น ๆ จำนวน 30 คะแนน
พิจารณาจากประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ทักษะการแก้ปัญหา ความเชี่ยวชาญทางการบริหาร สมรรถนะ การปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล/กระทรวงมหาดไทย บุคลิกลักษณะ ภาวะผู้นำ แนวคิด การปฏิบัติตนที่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่และภารกิจ รวมทั้งความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานอย่างโดดเด่น
7. การเตรียมคนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ
ในเมื่อการก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ต้องเป็นไปตามระบบราชการ ซึ่งเป็นระบบข้าราชการประจำและระบบคุณธรรม ไม่ใช่ระบบข้าราชการการเมือง หรือระบบการบริหารแบบภาคเอกชน จำเป็นต้องมีการเตรียมคนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ซึ่งอาจแบ่งได้ 3 เส้นทางคือ
-เส้นทางกรมการปกครอง เป็นเส้นทางดั้งเดิมและสายหลัก
-เส้นทางสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นเส้นทางสายหลักและเป็นสายใหม่
-เส้นทางกรมอื่น ๆ ในกระทรวงมหาดไทย เป็นเส้นทางสายเสริม
7.1 เส้นทางกรมการปกครอง
เส้นทางกรมการปกครองถือเป็นเส้นทางดั้งเดิมและเป็นทางสายหลักของนักปกครอง เพราะนักปกครองตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ล้วนเจริญเติบโตในเส้นทางของกรมการปกครอง นับตั้งแต่ตำแหน่งปลัดอำเภอ นายอำเภอ และปลัดจังหวัด รวมทั้งตำแหน่งในระดับเดียวกันในส่วนกลางของกรมการปกครอง คือ ผู้อำนวยการสำนัก และผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง
ในการนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัด ผู้อำนวยการสำนัก และผู้ตรวจราชการกรมการปกครองจะต้องเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกของกระทรวงมหาดไทยเพื่อขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเสียก่อน
(ในอดีต ยังไม่ได้มีการกำหนดให้มีตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดสามารถก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้เลย)
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ผมได้เขียนบทความ “นายอำเภอ กว่าจะได้เป็นนานไหม” ท่านที่สนใจกรุณาคลิกเข้าไปอ่านรายะเอียดได้
7.2 เส้นทางสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
หลังจากมีการจัดตั้งและกำหนดอัตรากำลังข้าราชการของสำนักงานจังหวัดขึ้นมาทุกจังหวัดเพื่อทำหน้าที่เป็นมันสมองและฝ่ายอำนวยการให้แก่ผู้ว่าฯ ราวปีพ.ศ.2522 ทำให้สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กลายเป็นเส้นทางสายใหม่ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ คู่ขนานกับเส้นทางสายกรมการปกครอง กล่าวคือ ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กลายเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงมหาดไทยให้เป็นรองผู้ว่าฯ ได้อีกเส้นทางหนึ่งนอกเหนือไปจากเส้นทางกรมการปกครองที่มีอยู่เดิม
7.3 เส้นทางกรมอื่น ๆ ในกระทรวงมหาดไทย

นอกเหนือไปจากกรมการปกครองและสำนักงานปลัดกระทรวงแล้ว กระทรวงมหาดไทยยังมีกรมอื่น ๆ อยู่ในสังกัดอีกจำนวน 5 กรม ได้แก่ กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการพัฒนาชุมชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ทางกระทรวงมหาดไทยได้เปิดโอกาสให้แต่ละกรมเสนอรายชื่อข้าราชการผู้มีคุณสมบัติเข้ารับการคัดเลือกขึ้นเป็นรองผู้ว่าฯ เช่นกัน ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับผู้อำนวยการสำนัก และผู้ตรวจราชการกรม ของแต่ละกรม
8. วิเคราะห์เส้นทางสู่ผู้ว่า ฯ
การวิเคราะห์เส้นทางสู่ผู้ว่าฯ ในบทความนี้ ผมขอแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ คือ
-วิเคราะห์กระบวนการแต่งตั้งผู้ว่าฯ ตามกฎหมาย
-วิเคราะห์หลักเกณฑ์ในการคัดเลือก
-วิเคราะห์เส้นทางสู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ สายต่าง ๆ
8.1 วิเคราะห์กระบวนการแต่งตั้งผู้ว่าฯ ตามกฎหมาย
8.1.1 กระบวนการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่ 2 การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 2 ระดับ คือ จังหวัด และอำเภอ จังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดหนึ่งคน เป็นหัวหน้ารับผิดชอบ และอำเภอมีนายอำเภอหนึ่งคนเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอสังกัดกระทรวงมหาดไทย
ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักรและมีตำแหน่งผู้ว่าฯ และนายอำเภอสังกัดอยู่ จึงเป็นกระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่ในการเตรียมและคัดเลือกคนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ และนายอำเภอ(ในทางปฏิบัติ ตำแหน่งนายอำเภอ อยู่สังกัดกรมการปกครอง) ตามระบบราชการสมัยใหม่ ซึ่งทำให้การรับราชการได้กลายเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่อย่างเป็นระบบอย่างแท้จริงในสังคมไทยนับตั้งแต่มีการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
8.1.2 กระบวนการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 52 และ57(2) ประกอบมาตรา 35-36 ได้วางระบบและหลักการในการบริหารบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สรุปได้ดังนี้ คือ
- การบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน เป็นระบบคุณธรรม มิใช่ระบบอุปถัมภ์ โดยผู้ที่มีความประสงค์จะเข้ารับราชการพลเรือนสามัญต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 36 ซึ่งไม่มีข้อความใดที่บัญญัติถึงเรื่องศาสนา อันเป็นการสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 หมายว่า บุคคลสัญชาติไทยทุกคน ไม่ว่าเชื้อชาติใดและศาสนาใด มีสิทธิสมัครเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และสามารถมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพรับราชการได้เท่าเทียมกัน
- ตำแหน่งผู้ว่าฯ เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง อำนาจในการออกคำสั่งบรรจุเป็นของปลัดกระทรวงมหาดไทย ภายหลังจากได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี หมายความว่า ผู้ใดมีความประสงค์จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯ ต้องสมัครเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญก่อน และไต่เต้าผ่านความเจริญก้าวหน้าขึ้นไปตามระบบราชการจนกระทั่งมีคุณสมบัติที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือก มิใช่มาจากที่ใดก็ได้
- ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้นำรายชื่อข้าราชการกระทรวงมหาดไทยผู้มีคุณสมบัติถูกต้องและเหมาะสมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
- นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
8.2 วิเคราะห์หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ
ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบบริราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ได้กำหนดให้ผู้ว่าฯ เป็นหัวหน้าผู้รับชอบการบริหารงานราชการจังหวัดและสังกัดกระทรวงมหาดไทย และตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 57(2) ได้กำหนดกระบวนการในการคัดเลือกบุคคลขึ้นเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ซึ่งรวมถึงตำแหน่งผู้ว่า ฯ ด้วย
ดังนั้น เพื่อให้สามารถพิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความประพฤติเหมาะสมที่จะได้รับแต่งตั้ง ตามระบบคุณธรรม ในทางปฏิบัติ กระทรวงมหาดไทยจึงมีประกาศแต่งตั้งคณะกรรการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในแต่ละปี เพื่อพิจารณากลั่นกรองเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ทำบัญชีรายชื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นชอบ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป
คณะกรรมการดังกล่าว จะเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก หลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาคัดเลือก และประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือก หากจะสรุปให้เข้าใจง่ายก็คือ
8.2.1 ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น (รองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ รองอธิบดีกรมต่าง ๆ ในกระทรวงมหาดไทย) มาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือ
8.2.2 หากระยะเวลาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองอธิบดีดังกล่าว ไม่ถึง 1 ปี ให้รวมเอาระยะเวลาที่ได้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการเข้าด้วย เป็นระยะเวลารวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี
8.2.3 ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของสำนักงาน ก.พ. หรือหลักสูตรนักปกครองระดับสูง ของกระทรวงมหาดไทย หรือหลักสูตรอื่นที่สำนักงาน ก.พ.กำหนด
8.3 วิเคราะห์เส้นทางสู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ สายต่าง ๆ
ดังได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อ 7 ว่า เส้นทางสู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ มีอยู่ 2 สายหลัก และหนึ่งสายเสริม โดยแต่ละสายจะต้องเริ่มต้นด้วยการเข้าสู่ตำแหน่งรองผู้ว่าฯ หรือรองอธิบดีก่อนจึงจะสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ว่าฯ ซึ่งแต่ละสายมีจุดที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้
8.3.1 เส้นทางสายกรมการปกครอง
เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางดั้งเดิมและเป็นสายหลักมาตั้งแต่เมื่อครั้งมีการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เส้นทางสายนี้จะต้องเริ่มต้นด้วยการสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอ และไต่เต้าขึ้นไปตามระบบราชการจนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ และปลัดจังหวัด รวมทั้งตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก และผู้ตรวจราชการกรมก่อนที่จะได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหนงรองผู้ว่าฯ ตามโควตาที่สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยพิจารณาจัดสรรให้ในแต่ละปี ซึ่งปกติกรมการปกครองจะได้รับโควตามากกว่าโควตาของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เพราะมีขนาดฐานของผู้มีคุณสมบัติจะได้รับการคัดเลือกเป็นรองผู้ว่าฯ ใหญ่กว่า
ผู้ที่เดินตามเส้นทางสายนี้ คนที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นจนสามารถผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอและปลัดจังหวัด และไม่ติดกับดักในการขึ้นดำรงทั้งสองดังกล่าวนานจนเกินไปจะมีโอกาสเป็นรองผู้ว่าฯ ในขณะที่มีอายุตัวไม่เกิน 52-53 ปี ซึ่งจะทำให้พอมีเวลาในผลักดันตนเองให้ไปถึงตำแหน่งผู้ว่าฯ ได้
8.3.2 เส้นทางสายสำนักงานปลัดกระทรวง
แม้ตำแหน่งรองผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯ จะเป็นตำแหน่งสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ในอดีตสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทยไม่ได้เป็นแหล่งผลิตหรือเตรียมคนขึ้นดำรงผู้ว่าฯ เอง คงปล่อยให้เป็นหน้าที่กรมการปกครองเป็นแหล่งผลิตหลักมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนกระทั่งราวปีพ.ศ. 2522 กระทรวงมหาไทยได้มีการตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการจัดตั้งสำนักงานจังหวัดขึ้นมาทั่วประเทศ จึงทำให้สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นแหล่งเตรียมคนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ อีกสายหนึ่ง
ผู้ที่ต้องการจะไต่เต้าขึ้นไปผู้ว่าฯ ในสายของสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย จะต้องไต่เต้าขึ้นไปตามระบบราชการจนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานจังหวัด หรือผู้อำนวยการสำนักในสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงจะมีคุณสมบัติที่จะได้รับการคัดเลือกขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ตามจำนวนโควตาที่สำนักปลัดกระทรวงกำหนดไว้ในแต่ละปี
หากผู้ใดได้รับการคัดเลือกขึ้นเป็นรองผู้ว่าฯ เร็วเท่าใด โอกาสที่จะมีเวลาผลักดันตนเองให้ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ ก็ย่อมมีมากเท่านั้น
8.3.3 เส้นทางกรมอื่น ๆ สังกัดกระทรวงมหาดไทย
ข้าราชการกรมอื่น ๆ ในกระทรวงมหาดไทย มีโอกาสไต่เต้าขึ้นเป็นผู้ว่าฯ เช่นกัน แต่ในสัดส่วนที่น้อย เพราะมิใช่กรมหลักในการเตรียมคนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ โดยสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้จัดสรรตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ให้แต่ละกรมในแต่ละปีตามความเหมาะสม
ปกติแต่ละกรมจะพิจารณาคัดเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก และผู้ตรวจราชการกรมที่มีความรู้ความสามารถและผลงานโดดเด่น ส่งรายชื่อให้ปลัดกระทรวง มหาดไทยพิจารณาออกคำสั่งแต่งตั้ง
9.สรุป
บทความ “ผู้ว่าราชการจังหวัด ยากนะที่จะได้เป็น” ต้องการจะนำเสนอเพื่อทำความเข้าใจแก่ท่านผู้อ่านที่อาจจะมีความสับสนในเรื่องเส้นทางไปสู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ เพราะได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้พยายามสร้างกระแสให้ผู้คนในสังคมไทยเกิดความสับสนและตระหนกตกใจว่า ศาสนาอิสลามกำลังคุกคามความมั่นคงของประเทศไทยผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งการกล่าวอ้างว่า หากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นมุสลิมจะเป็นอย่างไร
ผมได้นำเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผู้ว่าฯ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 54 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ.2551 มาตรา 36,52 และ 57 รวมทั้งได้นำเสนอหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย
ด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องและหลักเกณฑ์ดังกล่าวย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การคัดเลือกบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ย่อมต้องดำเนินการตามกระบวนการหรือขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ตามระบบคุณธรรมที่ยึดถือเอาความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และความประพฤติที่เหมาะสมต่อการดำรงตำแหน่ง โดยไม่มีเรื่องเชื้อชาติและศาสนาเป็นอุปสรรคในการเข้ารับราชการ และความเจริญก้าวหน้าในระบบราชการของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย
ดังนั้น จึงขอสรุปอย่างที่เรียกว่าฟันธงได้ว่า การที่ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัด กระทรวงมหาดไทยจะเจริญก้าวหน้าจนถึงขั้นได้รับการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงเช่นเดียวกับอธิบดีกรมต่าง ๆ ประกอบกับประเทศไทยมีเพียง 76 จังหวัดเท่านั้น น้อยคนนักที่จะสามารถไต่เต้าขึ้นไปถึง
ตำแหน่งผู้ว่าฯ ไม่ใช่อยากจะแต่งตั้งใครให้มาเป็นก็ได้เหมือนอย่างการที่กลุ่มบุคคลพยายามสร้างกระแสด้วยการบิดเบือนข้อมูลให้ผู้คนในสังคมไทยเกิดความสับสนและความตระหนกตกใจว่า มุสลิมกำลังจะยึดครองประเทศไทยผ่านทางการเป็นผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องของคนที่มีความคิดฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ เลื่อนลอย ไร้สาระ และไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน
สำหรับข้อมูลและข้อคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้ และขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างมากที่กรุณาสละเวลาและเปิดใจอ่านบทความนี้จนจบ และหากท่านเห็นสมควรอยากจะแชร์ไปยังบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ท่านรู้จักคุ้นเคยและดูทีท่าน่าจะเปิดใจรับฟัง ผมก็ไม่ขัดข้อง
ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369
ถาม-การคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ของไทยที่เป็นมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เรียกว่า ระบบอะไร และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ตอบ-การคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ของไทยตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันเรียกว่า ระบบคุณธรรม มิใช่ระบบอุปถัมภ์ ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพรับราชการของข้าราชการแต่ละคนขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และความประพฤติอันเหมาะสมต่อการดำรงตำแหน่ง ซึ่งแต่ละคนก็จะต้องสร้างผลงานให้โดดเด่นเหนือกว่าบุคคลอื่น ๆ ในแต่ละช่วงของชีวิตการรับราชการ จึงจะสามารถเติบโตไปสู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ ได้
ถาม- ถ้าการแต่งตั้งผู้ว่าฯ เป็นไปตามระบบคุณธรรมจริง ทำไมบางคนได้เป็นผู้ว่าฯ เร็ว อายุยังไม่ถึง 50 ปี ก็มีให้เห็นอยู่หลายคน
ตอบ-อาชีพรับราชการพลเรือนอาจจะแตกต่างไปจากข้าราชการประเภทอื่น ๆ เช่น ศาล อัยการ และทหารที่มักจะมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพรับราชการตามรุ่น ทำให้ผู้พิพากษาทุกคนมีโอกาสได้เป็นอย่างน้อยตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด อัยการทุกคนมีโอกาสอย่างน้อยได้เป็นอัยการจังหวัด นายทหารที่จบโรงเรียนนายร้อยมีโอกาสอย่างน้อยได้รับยศนายพลตรี
ส่วนข้าราชการพลเรือนการที่จะได้รับการเลื่อนระดับตำแหน่งสำคัญ ๆ ต้องผ่านด่านการสอบคัดเลือกเป็น ระยะ ๆ หากใครสอบคัดเลือกไม่ได้ ความเจริญก้าวหน้าก็จะหยุดนิ่งอยู่แค่นั้น ซึ่งอาจจะทำให้ข้าราชการรุ่นน้องหรือรุ่นลูกสามารถตามทันและแซงหน้าไปได้
ยกตัวอย่าง คนที่เติบโตในเส้นทางสายกรมการปกครอง คนที่จะได้เป็นผู้ว่าฯ จะต้องสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนายอำเภอได้ก่อนอายุ 40 ปี จึงจะพอมีเวลาไต่เต้าไปถึงตำแหน่งผู้ว่าฯ ได้ หากสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอไม่ได้ ชีวิตการรับราชการของบุคคลนั้นก็จะหยุดนิ่งอยู่แค่นั้น ไม่มีทางไต่เต้าไปถึงดวงดาวหรือตำแหน่งผู้ว่าฯ ได้อย่างแน่นอน
ถาม-หากจะเปลี่ยนระบบการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ให้เป็นระบบเปิดด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกระทรวงอื่น มาสมัครเข้ารับการคัดเลือกผู้ว่าฯ ด้วยจะดีหรือไม่ เพราะเหตุใด
ตอบ-ในทางกฎหมายก็มิได้ปิดกั้นข้าราชการพลเรือนสามัญจากกระทรวงอื่นหรือข้าราชการจากหน่วยงานอื่นเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ เสียทีเดียว กล่าวคือสามารถทำได้ด้วยการรับโอนข้าราชการจากกระทรวงอื่นมาเป็นผู้ว่า ฯ แต่ในทางปฏิบัติก็มิใช่เรื่องง่าย เพราะตำแหน่งผู้ว่าฯ เป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง อำนาจในการอนุมัติเป็นของคณะรัฐมนตรี และจะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
ยิ่งกว่านั้น ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยคนที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯ ได้ มีจำนวนมากกว่าตำแหน่งที่ว่างลงในแต่ละปีหลายเท่า และหากจะกล่าวเปรียบเทียบในเชิงหลักการและประสบการณ์ ข้าราชการจากกระทรวงอื่น น่าจะไม่มีความสามารถในการเป็นผู้ว่าฯ ได้ดีเท่ากับผู้ว่าฯ ที่เติบโตในเส้นทางของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นแม้แต่น้อยที่จะรับโอนข้าราชการจากกระทรวงอื่นมาเป็นผู้ว่าฯ แต่อย่างใด
ถาม-ตามข้อมูลของทางราชการ ผู้ว่าฯ ที่เป็นคนไทยที่นับถือศาสนาอื่นนอกเหนือไปจากศาสนาพุทธมีบ้างไหม
ตอบ- มีแน่นอน มีทั้งผู้ว่าฯ ที่นับถือศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ แต่มีจำนวนน้อยกว่าผู้ว่าฯ ที่นับถือศาสนาพุทธหลายเท่า เพราะคนไทยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งประเทศนับถือศาสนาพุทธ คิดเป็นร้อยละ 93 ดังนั้น ข้าราชการที่นับถือศาสนาพุทธในทุกกระทรวง ทบวง กรม ของไทยจึงมีมากกว่าศาสนาอื่น ๆ ตามสัดส่วนของประชากรที่นับถือศาสนาแต่ละศาสนาในประเทศไทย
ถาม-ผู้ว่าฯ ที่เติบโตในเส้นทางกรมการปกครองมีข้อได้เปรียบหรือมีจุดเด่นแตกต่างไปจากผู้ว่าฯ ที่เติบโตจากสายอื่นอย่างไร
ตอบ- ผู้ว่าฯ ที่เติบโตในเส้นทางกรมการปกครองจะมีจุดเด่นหรือข้อได้เปรียบในด้านการเข้าถึงประชาชนและงานมวลชน การบังคับใช้กฎหมาย การแก้ปัญหาความขัดแย้ง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการฝึกภาวะผู้นำตั้งแต่ตำแหน่งปลัดอำเภอและนายอำเภอ และ การบูรณาการในระดับพื้นที่
ถาม-ผู้ว่าฯ ที่เติบโตในเส้นทางสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยมีข้อได้เปรียบหรือมีจุดเด่นแตกต่างไปจากผู้ว่าฯ ที่เติบโตจากเส้นทางกรมการปกครองอย่างไร
ตอบ- ผู้ว่าฯ ที่เติบโตในเส้นทางสำนักงานปลัดกระทรวงหรือสำนักงานจังหวัดมีข้อได้เปรียบหรือจุดเด่นแตกต่างไปจากผู้ว่าฯ ที่เติบโตในสายกรมการปกครองในด้านการอำนวยการ การบูรณาการระดับจังหวัด และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์หรือแผนพัฒนาจังหวัด
ถาม-ทำไมจึงต้องเปิดเส้นทางผู้ว่าฯ ที่เติบโตจากกรมอื่น ๆ ในกระทรวงมหาดไทยด้วย ในเมื่อมีรองผู้ว่าฯ ที่เติบโตจากสายหลัก 2 สายมากอยู่แล้ว คือ สายกรมการปกครอง และสายสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
ตอบ- เหตุผลที่กระทรวงมหาดไทยต้องเปิดทางให้มีผู้ว่าฯ ที่เติบโตจากกรมอื่นด้วย ก็เพราะในทางปฏิบัติกระทรวงมหาดไทยมักจะแต่งตั้งผู้ว่าฯ หรือรองปลัดกระทรวงที่เติบโตมาจากเส้นทางกรมการปกครองหรือเส้นทางสำนักงานปลัดกระทรวงไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมต่าง ๆ ในกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมจึงได้เปิดโอกาสให้คนจากกรมอื่น ๆ ในกระทรวงมหาดไทยได้มีโอกาสเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นผู้ว่าฯ ด้วย
ถาม-ทำไมนักปกครองหรือข้าราชการฝ่ายปกครองจึงมีทักษะในการทำงานในเชิงบูรณาการมากกว่าข้าราชการฝ่ายอื่น ๆ
ตอบ- การที่นักปกครองหรือข้าราชการฝ่ายปกครองมีทักษะในการทำงานในเชิงบูรณาการมากกว่าข้าราชการฝ่ายอื่น ๆ ก็เพราะตามกฎหมายการปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาคต้องทำในนามผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอแล้วแต่กรณี ลำพังการประสานงานและการมีมนุษยสัมพันธ์ จะไม่สามารถทำให้การบูรณาการประสบความสำเร็จ ถ้าไม่มีอำนาจในการสั่งการตามกฎหมายรองรับด้วย
ถาม-การเป็นนักปกครองอย่างเช่น ผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอ จำเป็นต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ควบคู่กันไปในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ขอทราบว่าศาสตร์ และศิลป์ได้มาจากไหน
ตอบ- ศาสตร์เป็นเรื่องความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัย และการฝึกอบรมตามหลักสูตรต่าง ๆ ในขณะที่กำลังรับราชการ แต่ศิลป์ได้มาจากประสบการณ์ในการทำงาน ดังนั้น นักปกครองที่มีประสบการณ์มากและหลากหลาย จึงมีแนวโน้มที่จะมีศิลป์ในการทำงานให้สำเร็จได้มากกว่านักปกครองที่มีประสบการณ์ในการทำงานน้อยกว่า แม้ว่าอาจจะเรียนจบปริญญาสูงกว่าหรือหลายใบมากกว่า
ถาม-อยากทราบความเห็นในเชิงข้อเสนอแนะว่า ทำอย่างไรข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงมหาดไทยจึงจะมีโอกาสเจริญก้าวหน้าไปจนถึงตำแหน่งผู้ว่าฯ
ตอบ- ในเรื่องนี้ ผมขอยกคำสอนของนักปกครองรุ่นเก่านำมาประยุกต์เสนอเป็นข้อแนะนำว่า นักปกครองที่จะมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการ จะต้องถือปฏิบัติตามหลัก”ห้ารู้” ให้โดดเด่นเหนือกว่าบุคคลอื่น ๆ คือ รู้จักตน รู้จักคน รู้จักงาน รู้จักพื้นที่ และรู้จักจังหวะชีวิตราชการ
การที่ผมไม่สามารถไต่เต้าและผลักดันตนเองให้ไปถึงดวงดาวได้ ผมยอมรับว่ามีความผิดพลาดบางประการเกี่ยวกับหลักห้ารู้ดังกล่าว
ดร.ชา 369
26/02/22
แหล่งอ้างอิง
1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
2.พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
3.พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
4.ประกาศคณะกรรมการคัดเลือดเพื่อเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงมหาดไทย เรื่อง การพิจารณาคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงมหาดไทย สายงานบริหารงานปกครอง ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2564
เมื่อได้อ่านบทความอาจารย์แล้วผมคิดว่าการที่มีกลุ่มบุคคลกล่าวอ้างว่าหากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นอิสลามแล้วประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เป็นการสร้างความสับสนในสังคมเพื่อหวังประโยชน์ส่วนตนหรือเฉพาะกลุ่มบางประการ ดังนั้นประชาชนคนเสพสื่อต่างๆ ควรตรวจสอบ ศึกษา วิเคราะห์ ก่อนแชร์ข้อมูลต่างๆ ออกไป เพื่อจะได้ไม่เป็นเหยื่อให้ผู้ไม่หวังดีต่อสังคมไทย ประเทศไทยของเรา
อาจารย์เองก็คิดเช่นเดียวกับคุณภัทรนันท์ เพราะกฎหมายได้กำหนดคุณสมบัติผู้ที่มีสิทธิได้รับคัดเลือกและกระบวนการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯไว้อย่างชัดเจนแล้ว จะทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย อย่างเช่นจะแต่งตั้งบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เจริญก้าวหน้าตามระบบราชการมาเป็นผู้ว่าฯ ไม่ได้เด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการการเมือง ตลอดจนนักบริหารมืออาชีพจากภาคเอกชน
บุคคลที่จะมาเป็นผู้ว่าต้องมีความรู้ความสามารถรอบด้านในยุคปัจจุบันอีกทั้งต้องมีปัจจัยทางสภาพแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งเป็นการจัดสรรค์มาจากส่วนกลาง ตามแนวคิดเดิมของต่างประเทศที่มาประยุกต์กับการบริหารราชการของไทย
คุณเรืองศักดิ์มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ตำแหน่งผู้ว่าฯ ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง แต่เป็นตำแหน่งข้าราชการประจำ ต้องเป็นนักบริหารงานปกครองมืออาชีพ กล่าวคือ ต้องเป็นทั้ง นักปกครองและนักบริหารทั้งสองอย่างพร้อมกัน ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารงานราชการซึ่งอาจจะมีหลายอย่างที่แตกต่างจากการบริหารในองค์กรเอกชน ยิ่งกว่านั้น ยังต้องสั่งสมประสบการณ์มาตามลำดับตั้งแต่เมื่อยังเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยจนกระทั่งได้เป็นข้าราชการชั้นผู้้ใหญ่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะมีโอกาสได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ
เมื่อได้อ่านบทความอาจารย์แล้ว กระผมเห็นว่า ระบบราชการของประเทศไทยเปิดกว้างอย่างเสรีใหับุคคลผู้มีสัญชาติไทย สามารถเขัารับราชการได้ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด และบุคคลที่จะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ นอกจากจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ที่สำคัญคือ การเป็นนักบริหารที่มีภาวะคุณธรรมสูง ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ในการดำรงแหน่งที่สำคัญ เช่น ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ปลัดจังหวัด
รองผู้ว่าราชการจังหวัด จึงเกิดการเรียนรู้อย่างท่องแท้ในตำแหน่ง มีศักยภาพในการทำงานสูง
เป็นที่พึ่งของประชาชนไดัอย่างแท้จริง มีกรอบในการปฏิบัติราชการที่เป็นเอกภาพจากส่วนกลาง ดังนั้น การที่ครอบงำผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อประโยชน์ของตนหรือกลุ่ม
หรือองค์กรใดๆ จึงเป็นไปได้ยากมากๆ หรือถึงขนาดเป็นไปไม่ได้เลย
ความเห็นของคุณ Phasin นับว่าเป็นความเห็นที่่ดีมากและถูกต้องชัดเจนในบริบทสังคมไทย ดังจะเห็นได้ว่าสังคมไทยไม่ได้กีดกันเรื่่องเชื้อชาติและศาสนาเหมือนอย่างบางประเทศ ขอเพียงแต่เป็นคนมีสัญชาติไทย ก็สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวให้มีความเจริญก้าวหน้าในสังคมไทยได้ทุกสาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นอาชีพรับราชการ อาชีพนักการเมือง อาชีพภาคธุรกิจเอกชน และ อาชีพอื่่น ๆ
ยิ่งกว่านั้น สังคมไทยไม่เคยมีสงครามกลางเมืองอันเกิดจากความขัดแย้งในเรื่องเชื้อชาติหรือศาสนาเหมือนอย่างบางประเทศ จริงอยู่ความขัดแย้งก็อาจจะมีอยู่บ้าง เพราะมีคนบางพวกหรือบางกลุ่มได้พยายามใช้เรื่องศาสนามาสร้างความสับสนและความขัดแย้งเพื่อผลประโยชน์บางอย่างที่แอบแฝงอยู่่ ดังที่พวกเราทุกคนได้รับทราบกันอยู่แล้ว
ยากจริงตามที่อาจารย์ว่าค่ะ
นั่นสินะ ใครคิดว่าง่าย อยากตั้งใครเป็นผู้ว่าฯ ก็ทำได้หมดถ้าอยากจะตั้ง ก็ดูประหลาดจริง เว้นแต่ว่าจะสร้างภาพจินตนาการขึ้นด้วยความฟุ้งซ่าน
จากบทความของท่านอาจารย์ทำให้ได้ทราบข้อเท็จจริงในการที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ตำแห่นงผู้ว่าราชการจังหวัดได้ มีเส้นทางและความเป็นมาตามระบบราชการ และยึดหลักคุณธรรม แต่การที่จะห้ามผู้ที่มีความศรัทธาทางศาสนามาเป็นข้อห้ามก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้นผมจึงเชื่อว่ากว่าจะได้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะแต่งตั้งใครมาเป็นก็ได้ครับผม
ความเข้าใจของคุณประดิษฐ์ถูกต้องแล้ว ตำแหน่งผู้ว่าฯ เป็นตำแหน่งข้าราชการประจำเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีในส่วนกลาง คนที่จะสามารถไต่เต้าขึ้นไปได้ต้องไม่ธรรมดาแน่นอน