1.ความนำ
ความสัมพันธ์อันดีกับมิตรประเทศ เป็นภูมิคุ้มกันให้ชาติไทย เป็นบทความความลำดับที่ 9 ของหมวด 9 เรื่องเล่า ประเทศไทย กับชาติมหาอำนาจ โดยจะกล่าวถึง ความนำ ความสัมพันธ์กับมิตรประเทศในอดีต การเจริญพระราชไมตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า สรุป และคุยกับดร.ชา
อนึ่งในบทความที่แล้ว (8) ได้กล่าวถึง ระเบียบการ บริหารราชการแผ่นดิน-ต้องปฏิรูป เพื่อความอยู่รอดของสยาม
การที่รัฐหรือประเทศหนึ่งจะสามารถดำรงความเป็นเอกราชได้อย่างยั่งยืน นอกจากประเทศนั้นจะต้องมีความเข้มแข็งภายในแล้ว ยังจะต้องได้รับการรับรองและสนับสนุนจากมิตรประเทศด้วย
หากประเทศใดปิดประเทศ ไม่ยอมคบค้าสมาคมกับประเทศอื่นใด ประเทศนั้นต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีมิตรประเทศคอยสนับสนุนหรือช่วยเหลือทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทุกประเทศทั่วโลกเสมือนหนึ่งเป็นประเทศเดียวกัน ถือเป็นยุคโลกไร้พรมแดน เหตุการณ์ที่เกิดในประเทศหนึ่งอาจจะลุกลามไปสู่ประเทศอื่น ๆ ได้ไม่ยาก อย่างเช่นปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด เริ่มต้นที่ประเทศจีน ในเวลาไม่นานก็ลุกลามไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
ประเทศไทยได้ใช้การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับมิตรประเทศเป็นภูมิคุ้มกันให้ชาติมาเป็นเวลาช้านาน นับตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งปัจจุบัน
สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึง การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับมิตรประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นรัชสมัยที่ต้องเผชิญภัยคุกคามจากนักล่าอาณานิคมอย่างรุนแรงที่สุด
2.ความสัมพันธ์กับมิตรประเทศในอดีต
การเจริญไมตรีกับมิตรประเทศได้สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
2.1การเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช(ปีพ.ศ. 2199-2231 นับเป็นเวลาครองราชย์ 32 ปี ) เป็นยุคที่กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ ฮอลันดา และฝรั่งเศส
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เลื่องลือในพระเกียรติยศในด้านการวางพระบรมราโชบายในการคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ เพื่อรักษาเอกราชของชาติไทยให้พ้นเงื้อมมือกับชาติมหาอำนาจตะวันตกในยุคนั้น

ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยมากกว่ากาลก่อน
ทรงอาศัยการสร้างไมตรีกับฝรั่งเศสเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฮอลันดาและอังกฤษ กล่าวคือ ได้ทรงแต่งตั้งราชทูตไปเจริญไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ กรุงปารีส คณะราชทูตไทยนำโดยพระวิสูตรสุนทร(ปาน) ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ ห้องกระจก พระราชวังแวร์ซายส์ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2229 (ค.ศ.1686) และได้เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2230 พร้อมกับลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส

(วิกิพีเดีย, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, 10 ธันวาคม 2563)
การเจริญสัมพันธไมตรีของพระวิสูตรสุนทร (ปาน) และคณะราชทูตนครั้งนั้น ได้สร้างชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วยุโรป เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินจากทางด้านตะวันออกได้แต่งตั้งคณะราชทูตไปยังราชสำนักฝรั่งเศส และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงให้จัดการรับรองคณะราชทูตจากกรุงศรีอยุธยาอย่างสมเกียรติ
นอกจากนี้ ยังทรงโปรดให้จัดทำเหรียญที่ระลึก และเขียนภาพราชทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไว้เป็นที่ระลึกด้วย
(พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ, ประวัติศาสตร์ไทย, 2548, หน้า 806-807)
แม้สัมพันธไมตรีระหว่างราชสำนักฝรั่งเศสยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับกรุงศรีอยุธยาในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโดยภาพรวม จะเป็นไปด้วยความราบรื่น แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ได้ทรงเพียรพยายามจะให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเปลี่ยนศาสนาเป็นศาสนาคริสต์นิกายโรมัน คาธอลิก เช่นเดียวกับฝรั่งเศส แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพอันสูงส่งของพระองค์ จึงทรงบ่ายเบี่ยงไม่จำต้องเปลี่ยนศาสนาตามคำเชิญชวนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ทรงรับสั่งมาทางราชทูตฝรั่งเศสได้โดยไม่ขาดพระราชไมตรีที่มีต่อกัน
2.2 การเจริญสัมพันธไมตรีในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
(พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ, ประวัติศาสตร์ไทย 2, 2551, หน้า 406)
2.2.1 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367-2394 ครองราชย์ 26 ปี)
พม่าได้เริ่มเสียดินแดนให้อังกฤษ โดยพม่าได้ทำสงครามกับอังกฤษเป็นจำนวน 3 ครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรก การทำสงครามตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่สอง ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และครั้งที่สาม ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว กล่าวคือ
ครั้งแรก เมื่อปีพ.ศ. 2367-2369 (ค.ศ.1824-1826) พม่าเป็นฝ่ายแพ้สงคราม จึงเสียดินแดนด้านทิศตะวันตกให้อังกฤษ
ส่วนสงครามครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2395 (ค.ศ.1852) พม่าเป็นฝ่ายแพ้สงคราม จึงเสียดินแดนทางใต้ให้อังกฤษ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
และสงครามครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2428 (ค.ศ.1885) พม่าแพ้สงคราม ทำให้อังกฤษได้ดินแดนพม่าไว้ทั้งประเทศหรือเสียเอกราชโดยสมบูรณ์ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
(Wikipedia, Anglo-Burmese Wars)
2.2.2 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2394-2411 รวม 17 ปี)
ในรัชสมัยของพระองค์ ฝรั่งเศสสามารถเอาเวียดนามหรือญวนเป็นเมืองขึ้นสำเร็จเมื่อปีพ.ศ.2401(ค.ศ.1858) (Wikipedia, History of Vietnam) และไทยต้องสูญเสียเขมรให้ฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.2406 (ค.ศ.1863)(Wikipedia, History of Cambodia)
จะเห็นได้ว่า สยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถูกกดดันและบีบคั้นจากชาติมหาอำนาจตะวันตกอย่างหนัก ทำให้ทรงเห็นว่า จำเป็นต้องสร้างสัมพันธไมตรีกับชาติมหาอำนาจเพื่อถ่วงดุลอำนาจมิให้ชาติใดชาติหนึ่งข่มเหงสยามได้ตามใจชอบ กล่าวคือ
เมื่อปีพ.ศ. 2400 โปรดเกล้าฯ ให้ส่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ และเมื่อปีพ.ศ.2404 โปรดเกล้า ฯ ให้ส่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับฝรั่งเศส
3.การเจริญพระราชไมตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2411-2453 รวมเสวยราชย์ 42 ปี ) รัชสมัยของพระองค์ สยามถูกขนาบด้วยชาติมหาอำนาจทั้งด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ และทางด้านทิศตะวันออก จึงถือว่า สยามอยู่ในช่วงวิกฤตที่สุด กล่าวคือ
ทางด้านทิศตะวันตก อังกฤษได้พม่าเป็นเมืองขึ้น
ทางทิศใต้ อังกฤษ ได้มลายูเป็นเมืองขึ้น
และทางทิศตะวันออก ฝรั่งเศสได้เขมรและเวียดนามเป็นเมืองขึ้น
ดังนั้น สถานการณ์จึงได้บีบบังคับให้สยามหาหนทางที่จะเอาตัวรอดจากตกเป็นเมืองขึ้นของชาตินักล่าอาณานิคมให้ได้ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่า นอกจากการปฏิรูปสยามให้เป็นประเทศสมัยใหม่ในทุก ๆ ด้านแบบอารยประเทศแล้ว ยังต้องมีการเจริญพระราชไมตรีทางการทูตกับชาติตะวันตกด้วย กล่าวคือ
3.1 การเสด็จประพาสประเทศเพื่อนบ้าน
ได้เสด็จประพาสประเทศเพื่อนบ้านที่ได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจตะวันตก จำนวน 2 ครั้ง คือ
ปี พ.ศ.2413
เสด็จประพาสสิงคโปร์ และชวา
ปี พ.ศ. 2415
เสด็จประพาส อินเดียและพม่า
3.2 การเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2440
การเสด็จประพาสยุโรปของพระองค์มีวัตถุประสงค์เพื่อสานสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป และเพื่อต้องการให้ประเทศเหล่านั้นเห็นว่า ประเทศสยามเป็นประเทศที่ได้พัฒนาตนเองแล้ว ไม่ได้เป็นเมืองป่าเมืองเถื่อนอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงต้องการสร้างพันธมิตรในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงและความเป็นเอกราชของสยาม แม้จะเป็นยุคของการล่าอาณานิคมอยู่ก็ตาม
ทั้งนี้เป็นผลมาจากเหตุการณ์ร.ศ.112 หรือพ.ศ.2436 ที่ทำให้สยามต้องเสียดินแดนให้ชาติตะวันตก คือ ฝรั่งเศสมากที่สุด
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนั้น ทำให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์จากเอเชียพระองค์แรกที่ได้เสด็จเยือนทวีปยุโรปอย่างจริงจัง และทรงได้รับการถวายการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย
ประเทศยุโรปที่ได้เสด็จเยือน
มีจำนวน 10 ประเทศ คือ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมัน อิตาลี จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เดนมาร์ค สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และจักรวรรดิรัสเซีย
การเดินทาง
ได้เสด็จออกจากท่าราชวรดิษฐ์โดยประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2440 และเสด็จกลับถึงสยามเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2440 รวมระยะเวลาเสด็จประพาสทั้งสิ้น 253 วัน
ความสำคัญเป็นพิเศษ
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้ ทำให้พระองค์ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่ 2 แห่งจักรวรรดิรัสเซีย พร้อมกับฉายพระรูปคู่ส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของชาติยุโรปแทบทุกฉบับ เพื่อตอบแทนพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ที่ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนสยามเมื่อครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร เมื่อปี พ.ศ.2433

3.3 การเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 พ.ศ.2450
การเสด็จเยือนยุโรปครั้งที่ 2 เป็นการเสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์ เพื่อรักษาพระวรกาย ที่ประเทศเยอรมัน นอกจากนี้พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังกรุงปารีส เพื่อลงพระนามในสนธิสัญญาแลกเปลี่ยนดินแดนจันทบุรีและตราด กับพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ
ยิ่งกว่านั้น ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปอังกฤษ เพื่อกู้เงินมาสร้างทางรถไฟสายใต้จากประจวบคีรีขันธ์ไปยังหัวเมืองมลายู
(วิกิพีเดีย, การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
4.สรุป
การเสด็จประพาสประเทศเพื่อนบ้านและยุโรป จำนวน 2 ครั้งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้สร้างภูมิคุ้มกันอย่างใหญ่หลวงให้แก่สยามประเทศในยุคของการล่าอาณานิคมไปทั่วโลก เพราะทำให้ประเทศเหล่านั้นได้เห็นว่า สยามมิได้เป็นเมืองป่าเมืองเถื่อนอย่างที่ชาติมหาอำนาจได้ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการจะยึดเอาเป็นเมืองขึ้นอีกต่อไป
ความสำคัญของการเสด็จประพาสยุโรปสองครั้ง แสดงให้เห็นว่า สยามประเทศภายใต้การนำของพระองค์ได้รับการปฏิรูปในทุก ๆ ด้าน จนทัดเทียมอารยประเทศแล้ว และพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์จากเอเชียพระองค์แรกที่ได้เสด็จเยือนยุโรปอย่างจริงจัง
โดยเฉพาะอย่างการที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถึงรัสเซียเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 แห่งจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจชาติหนึ่งในยุคนั้น ได้ประทับฉายพระรูปคู่และส่งไปลงหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับของชาติยุโรป ได้สร้างภูมิคุ้มกันให้สยามประเทศได้เป็นอย่างดียิ่ง ทำให้ไม่มีชาติใดกล้าจะข่มเหงสยามตามใจตนเองได้เหมือนอย่างที่ผ่านมา
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ ดร.วิภา (ชื่อสมมุติ)
ดร.วิภา เป็นผู้ประสานงาน เมื่อครั้งผมได้เดินทางไปสอนปริญญาโท รามคำแหงที่ภูเก็ต จึงมีความคุ้นเคยกับผมเป็นอย่างดี

“สวัสดี ดร.วิภา ก่อนอื่นอาจารย์ขอแสดงความยินดีด้วยนะ ที่เรียนจบปริญญาเอกสมปรารถนาแล้ว วันนี้ อาจารย์อยากชวนคุยเกี่ยวกับการสร้างสัมพันธไมตรีกับมิตรประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ผมทักทายและเกริ่นนำก่อน
“สวัสดีค่ะ อาจารย์ ขอขอบคุณที่อาจารย์ที่กรุณาแสดงความยินดีที่ดิฉันเรียนจบปริญญาเอก ขอเชิญอาจารย์เปิดประเด็นได้เลยค่ะ” ดร.วิภา แสดงความพร้อม
“ในประเด็นแรก ดร.วิภา มีความเห็นอย่างไร ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสยุโรปถึงสองครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2440 และพ.ศ.2450 ” ผมถามแนวคิดกว้าง ๆ ก่อน
“ ในเรื่องนี้ ดิฉันมีความเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลมาก กล่าวคือ แม้สยามประเทศจะได้พัฒนาไปมากแล้ว แต่ถ้าชาติมหาอำนาจในยุโรปยังไม่ทราบหรือยังไม่ยอมรับความเจริญก้าวหน้าของสยามประเทศ ความมั่นคงแห่งชาติสยามก็ยังมีปัญหาอยู่แน่นอน
ดังนั้น การเสด็จประพาสยุโรปสองครั้งดังกล่าว จึงเท่ากับเป็นการประกาศให้โลกโดยเฉพาะชาติยุโรปที่กำลังเรืองอำนาจในยุคนั้น ได้รู้จักและยอมรับในความเปลี่ยนแปลงของชาติสยามว่า ไม่ได้เป็นเมืองป่าเมืองเถื่อนอย่างที่ชาติยุโรปเคยเข้าใจหรือเคยเห็นมาก่อน ” ดร.วิภาตอบในเชิงหลักการก่อน
“ประเด็นที่สอง ขอทราบความเห็นว่า การเสด็จประพาสยุโรปในครั้งนั้น การเสด็จเยือนประเทศใดที่ สยามน่าจะได้ประโยชน์สูงสุด” ผมถามอย่างเจาะลึกเข้าไปข้างใน
“ ในมุมมองของดิฉัน เห็นว่า การเสด็จเยือนชาติยุโรปในคราวนั้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสยามทั้งสิ้น เพราะทุกชาติย่อมมองสยามว่าเป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมัน
แต่ถ้าจะให้ดิฉันเจาะจงลงไปชัด ๆ ก็น่าจะเป็นจักรวรรดิรัสเซีย เพราะการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2440 ทำให้พระองค์ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่ 2 แห่งจักรวรรดิรัสเซีย พร้อมกับฉายพระรูปคู่ส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของชาติยุโรปแทบทุกฉบับ ทั้งนี้เพื่อตอบแทนพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ที่ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนสยามเมื่อครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร เมื่อปี พ.ศ.2433
แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองพระองค์มีความใกล้ชิดสนิทสนมและเป็นพระสหายกันมาก่อน
การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยข้าราชบริพารที่ร่วมขบวนเสด็จด้วย อุตสาห์เสียสละ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเยือนประเทศที่ห่างไกลกันราวอยู่กันคนละมุมโลก และใช้เวลาในการเสด็จหลายเดือน ย่อมแสดงให้เห็นน้ำพระราชหฤทัยที่แท้จริงว่า ทรงต้องการผูกมิตรกับทุกประเทศที่ได้เสด็จประพาส ” ดร.วิภา ตอบสมกับคนที่เพิ่งจบปริญญาเอกใหม่ ๆ
“ ดร.วิภา ให้เหตุผลได้ดี ถ้าเช่นนั้น ขอถามความเห็นประเด็นสุดท้ายเลยว่า หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2440 และปี พ.ศ.2450 ดร.วิภา คิดว่า สยามประเทศจะปลอดภัยไหม ” ผมถามแบบให้ใช้จินตนาการ
“ ในมุมมองของดิฉัน ฝรั่งเศสและอังกฤษ ก็ยังอาจหาเรื่องสยามได้อยู่ดี เพราะถ้าเขาเห็นว่า เราไม่มีความเข้มแข็ง และไม่มีชาติมหาอำนาจอื่นใดสนับสนุน เขาก็อาจหาอะไรสักอย่างมาอ้างเพื่อให้เราปวดหัว หากแก้เกมเขาไม่ได้ก็อาจจะเสียดินแดนเพิ่ม” ดร.วิภา ตอบอย่างชาญฉลาด
“ ดร.วิภา ตอบดี ถูกใจอาจารย์มาก วันนี้คงรบกวนเวลา ดร.วิภา แค่นี้ ขอบคุณมาก โอกาสหน้าค่อยคุยกันใหม่นะ ” ผมกล่าวปิดการสนทนา
“ ด้วยความยินดีค่ะ อาจารย์”
ดร.ชา
11/12/20
พม่าเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ และเขมรเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส จึงเก่งภาษาต่างประเทศแต่ไม่ใช่ทุกคน เพื่อนที่รู้จักกันได้เรียนหนังสือแต่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ เด็กขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว สามารถพูดได้หลายภาษา บางคนพูดได้10ภาษาก็มี
หนูภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทย ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ
เรื่องภาษาฝึกจากยูทูปก็ได้ ทุกอย่างอยู่ที่การฝึก และความมีวินัยของตนเองค่ะ
เป็นความคิดเห็นของคุณณัชชา ไม่ใช่คำถาม อาจารย์จึงไม่ขอตอบนะ
ไทยเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อจีนในรัฐบาลชุดนี้
รัฐบาลที่ผ่านมามีวามสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐ
มีส.ว.ของสหรัฐเชื้อสายไทยได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศไทย
ในมุมมองของอาจารย์ มองว่าเป็นการแทรกแซงเรื่องภายในประเทศของไทยหรืออาจารย์
มีมุมมองอย่างไรคะ กับเรื่องนี้ ขอบคุณค่ะ
ถ้าแค่แสดงความคืดเห็น อาจจะยังไม่ใช่ แต่เรื่องจริงชาติมหาอำนาจเขาก็ต้องหาช่องแทรกแซงประเทศที่เล็กกว่า เพื่อประโยชน์ของเขาอยู่แล้ว
นักลงทุนพากันไปลงทุนที่เวียดนาม ค่าแรงก็ถูกกว่าไทย อยู่ใกล้จีน ต่อไปประเทศเวียดนามจะเจริญกว่าไทยในอีกประมาณ4-5ปีข้างหน้า
สาเหตุที่นักลงทุนหันไปลงทุนที่เวียดนามนามเพราะประเทศไทยเรามีปัญหาภายในประเทศ
อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ
ค่าแรงงานถูก ประชากรในวัยหนุ่มสาวมีมาก เพราะประเทศของเขาไม่มีการคุมกำเนิด บ้านเมืองสงบ และการเมืองมีเสถียรภาพเป็นจุดแข็งของเวียดนาม แต่อีก 4-5 ปี จะแซงไทยหรือไม่ คงจะสรุปในเวลานี้ไม่ได้ เพราะขนาดจีดีพีของเวียดนามในป้จจุบันเล็กกว่าของไทยมาก จีดีพีของไทยเป็นที่สองของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ตามข้อมูลของธนาคารโลกปี 2019 ขนาดจีดีพีของไทยสูงเป็นอันดับ 22 ของโลก เหนือกว่าฟิลิปปิสนส์ (33) สิงคโปร์ (34) มาเลเซีย (35) และเวียดนาม (44)
การที่มีคนแสดงคาามเห็นว่า เวียดนามจะแซงไทยภายใน 5 ปี คงเป็นการใช้ความรู้สึกมากกว่าข้อมูล
อาจารย์มีข้อสังเกตว่า ประเทศที่มีการปกครองด้วยระบอบ่คอมมิวรนิสต์อย่างจีน เวียดนาม และลาว การเมืองของเขาจะนิ่งมาก เพราะประเทศของเขา มีพรรคการเมืองได้พรรคเดียว คือ พรรคคอมมิวนิสต์ การเดินขบวน ประท้วงใด ๆ ไม่สามารถทำได้ ผิดกฎหมาย หากใครฝ่าฝืน เขาพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงปราบปราม โดยไมสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน
ผืดกับประเทศทีเรียกตัวเองว่า มีการปกครองประชาธิปไตยหลาย ๆ ประเทศทียังไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มักจะมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอยู่บ่อย ๆ อย่างประเทศไทย เป็นต้น จะใช้ความรุนแรงปราบปรามก็ไม่ได้ เพราะสิทธิมนุษยชนค้ำคออยู่ เกิดพลาดพลััง มหาอำนาจก็พร้อมที่จะเข้าแทรกแซง