นายกรัฐมนตรี มีผู้รักษาราชการแทน เพื่อประโยชน์อันใด เป็นบทความลำดับที่ 9 ของหมวด 5 เหตุการณ์ปัจจุบันที่น่าสนใจ มีหัวข้อดังนี้ คือ ความนำ แนวคิดเบื้องต้นในการบริหารราชการแผ่นดิน นายกฯ คือ ใคร และมีความสำคัญอย่างไร ทำไมต้องมีผู้รักษาราชการแทน การปฏิบัติราชการแทนนายกฯ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ การรักษาราชการแทนนายกฯ คำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนนายกฯ วิเคราะห์แนวโน้มการใช้อำนาจของผู้รักษาราชการแทน นายกฯ สรุป ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
Table of Contents
1.ความนำ
ในขณะนี้ข่าวสารการเมืองของประเทศไทยที่กำลังเป็นที่สนใจของคนไทยทั่วประเทศ คงไม่มีข่าวใดน่าสนใจเท่ากับข่าวศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับเรื่องวาระดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีของนายกฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้พิจารณาตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัยได้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พร้อมกับมีมติสั่งให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะได้มีคำวินิจฉัย
ผลที่ตามมาคือ ในเมื่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้จำเป็นต้องมีผู้รักษาราชการแทนนายกฯ ดังนั้น บทความนี้จึงต้องการเล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้รักษาราชการแทนนายกฯว่า มีขอบเขตอำนาจหน้าที่มากน้อยเพียงใด จะสามารถใช้อำนาจเสมือนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงได้หรือไม่

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ผมได้เขียนบทความ การตีความมาตรา 158 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (7)
2.แนวคิดในการบริหารราชการแผ่นดิน
การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ได้แบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ระดับ คือ
การบริหารราชการส่วนกลาง
การบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง ประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง และกรม โดยมี นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีว่าการทบวง อธิบดี เป็นผู้รับผิดชอบตามลำดับ นอกจากนี้ยังมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ปลัดทบวง เป็นผู้รับผิดชอบของฝ่ายข้าราชการประจำของสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง และทบวง ตามลำดับ
การบริหารราชการส่วนภูมิภาค
การบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัด และอำเภอ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นผู้รับผิดชอบ ตามลำดับ
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการบริหารราชการส่วนกลาง และการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
ในการบริหารราชการระดับต่าง ๆ ผู้มีอำนาจตามกฎหมายของแต่ละระดับ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่แต่เพียงผู้เดียว เพราะยังผู้ดำรงตำแหน่งระดับรองลงไปเป็นผู้ช่วยเหลือหรือแบ่งเบาภาระในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล รวมทั้งมีความต่อเนื่อง
การแบ่งเบาภาระในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีอำนาจตามกฎหมายในแต่ละระดับ อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ
2.1 การปฏิบัติราชการแทน
ผู้มีอำนาจอาจมีคำสั่งมอบอำนาจให้มีผู้ปฏิบัติราชการแทนเป็นเรื่อง ๆ เพื่อให้ผู้รับมอบอำนาจสามารถแบ่งเบาภาระผู้มีอำนาจในการลงนามหรือปฏิบัติราชการต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะอยู่หรือไม่อยู่ก็ตาม
การมอบอำนาจให้มีผู้ปฏิบัติราชการแทน มักจะใช้ในกรณีเป็นงานประจำทั่วไป ไม่ค่อยมีปัญหาในการวินิจฉัยสั่งการ และมีปริมาณงานมาก ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงานลื่นไหล การใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้ ผู้มีอำนาจมักจะนิยมมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้น ๆ โดยตรงอยู่แล้ว ให้เป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน โดยอาจจะจัดทำเป็นบัญชีงานที่มอบอำนาจ
2.2 การรักษาราชการแทนกรณีผู้มีอำนาจ ไม่อยู่หรืออยู่แต่ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้
ในการปฏิบัติหน้าที่ บางครั้งผู้มีอำนาจอาจจะไม่อยู่ หรืออยู่แต่ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ จำเป็นต้องมีผู้รักษาราชการแทน โดยหลักการของการรักษาราชการแทน คือผู้รักษาราชการแทนย่อมมีอำนาจเหมือนผู้ที่ตนแทนทุกประการ แต่ในทางปฏิบัติผู้มีอำนาจมักจะสงวนอำนาจบางประการขมวดไว้ท้ายคำสั่ง ปกติมักจะเป็นอำนาจสำคัญที่ผู้มีอำนาจต้องการจะเป็นผู้สั่งการด้วยตนเอง ได้แก่ อำนาจในการบริหารงานบุคคล และอำนาจในการบริหารงานงบประมาณและการเงิน รวมทั้งงานนโยบายที่สำคัญ บางอย่าง
2.3 การรักษาราชการแทน กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง
ในบางครั้ง ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนด เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ผู้มีอำนาจจะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทน เพื่อมิให้การปฏิบัติราชการเสียหายในระหว่างที่ยังไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดมาดำรงตำแหน่งที่ว่างอยู่ ในทางปฏิบัติการแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนเช่นนี้มีอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีผู้เกษียณอายุราชการในแต่ละปีงบประมาณ ทางราชการอาจจะยังมิได้แต่งตั้งให้ผู้ใดมาดำรงตำแหน่ง
การรักษาราชการแทนในกรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ถือว่า ผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจไม่แตกต่างผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีผู้มีอำนาจตัวจริงมาดำรงตำแหน่ง ดังนั้น ผู้รักษาราชการแทนในกรณีเช่นนี้จึงไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องผู้มีอำนาจตัวจริงจะไม่พอใจ
3.นายกรัฐมนตรี คือใครและมีความสำคัญอย่างไร

(วิกิพีเดีย, ประยุทธ์ จันทร์ฮชา, 30 สิงหาคม 2565)
3.1 นายกฯ คือใคร
การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านรัฐสภา ทรงใช้อำนาจบริหารผ่านคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านศาล
ในส่วนอำนาจบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี ร่วมกันรับผิดชอบ ภายใต้การนำของนายกฯ เป็นหัวหน้า ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า นายกฯ คือ ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลหรือหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามไปกฎหมาย
3.2 ความสำคัญของนายกฯ
นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลหรือหัวหน้าฝ่ายบริหาร เป็นผู้ที่มีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองหรือความเสื่อมในอนาคต
ดังนั้น หากประเทศของเราได้นายกฯ เป็นคนดี คนเก่ง มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล มีความรับผิดชอบ เสียสละ เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง และเป็นที่ยอมรับของประชาชนในประเทศ ย่อมจะสามารถนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน
ในทางตรงกันข้าม หากประเทศของเราได้นายกฯ ที่ไม่ใช่คนดี แม้มีความเก่ง มีความรู้ความสามารถ แต่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ โอกาสที่นำพาประเทศชาติของเราไปสู่หายนะย่อมมีมาก
4.การปฏิบัติราชการแทนนายกฯ
นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล หรือหัวหน้าฝ่ายบริหาร ย่อมมีอำนาจหน้าที่และภารกิจความรับผิดชอบเป็นจำนวนมาก ไม่อาจปฏิบัติราชการให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีคนเดียวได้ จำเป็นต้องมีผู้ช่วยแบ่งเบาภาระ โดยนายกฯ อาจจะมีคำสั่งมอบอำนาจให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนได้ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545
5. การรักษาราชการแทนนายกฯ
กรณีนายกฯ ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม จำเป็นต้องมีผู้รักษาราชการแทนนายกฯ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ที่ได้วางหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนนายกฯ สรุปได้ดังนี้
5.1 รองนายกฯ กรณีมีรองนายกฯ คนเดียว
5.2 ถ้ามีรองนายกฯ หลายคน ให้รองนายกฯ คนใดคนหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นผู้รักษาราชการแทน
5.3 ถ้าไม่มีรองนายกฯ ให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นผู้รักษาราชการแทน
คำอธิบายเพิ่มเติม
การรักษาราชการแทนนายกฯ กรณีเช่นนี้ ท่านผู้อ่านคงสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะในทางปฏิบัติ นายกฯ ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะออกคำสั่งแต่งตั้งรองนายกฯ เป็นผู้รักษาราชการแทนไว้เรียงตามลำดับ
มีรองนายกฯ คนเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติ โอกาสที่จะมีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ คนเดียวเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรค แต่ละพรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จำเป็นต้องมีหัวหน้าพรรคได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ
6.ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ
ในบางครั้ง ประเทศอาจจะขาดผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นการชั่วคราวด้วยสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่
6.1 ตาย
6.2 ขาดคุณสมบัติ
6.3 ต้องคำพิพากษาให้จำคุก
6.4 สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ
6.5 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
6.6 วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
หากตำแหน่งนายกฯ ได้ว่างลง เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายรองนายกฯ คนใดคนหนึ่ง เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545
คำอธิบายเพิ่มเติม
ในที่นี้ ผมอยากจะทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านว่า หากเป็นกรณีตำแหน่งอื่น ๆ ที่มิใช่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ว่างลง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ กฎหมายใช้คำว่า รักษาราชการแทนเช่นเดียวกันกับกรณีมีผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ แต่ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ แต่ถ้าเป็นตำแหน่งนายกฯ ได้ว่างลง กฎหมายใช้คำว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน ไมใช่ผู้รักษาราชการแทน
สำหรับตำแหน่งอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หากไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนไว้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทแรก คือ ตำแหน่งในการบริหาราชการส่วนกลาง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีว่าการทบวง ปลัดกระทรวง ปลัดทบวง หรืออธิบดี เป็นไปตามมาตรา 42-47 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2534
ประเภทที่สอง คือ ตำแหน่งในการบริหาราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ เป็นไปตามมาตรา 56 และ 64 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
7.คำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนนายกฯ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 237/2563 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มอบหมายให้รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ เรียงตามลำดับ ดังนี้ คือ
7.1 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
7.2 นายวิษณุ เครืองาม
7.3 นายอนุทิน ชาญวีรกุล
7.4 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
7.5 นายดอน ปรมัตถ์วินัย
7.6 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
ในตอนท้ายของคำสั่งดังกล่าว ได้ขมวดไว้ว่า
“ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และการอนุมัติงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน”
8.วิเคราะห์แนวโน้มการใช้อำนาจของผู้รักษาราชการแทนนายกฯ
แม้ตามมาตรา 48 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จะบัญญัติไว้ชัดเจนว่า
“มาตรา 48 ให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน
………………………………………………………………………………………..
ฯลฯ
แต่ในทางปฏิบัติ ผู้มีอำนาจมักจะสงวนอำนาจบางประการไว้ท้ายคำสั่งเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณและการเงิน
ดังนั้น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้รักษาราชการแทนนายกฯ ในช่วงเวลาที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็น่าจะยึดถือตามประเพณีหรือธรรมเนียมปฏิบัติของการเป็นผู้รักษาราชการแทน คงจะไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจเหมือนอย่างที่มีคนบางกลุ่มอยากจะให้ทำเพื่อหวังผลในทางการเมือง หรือถ้าจำเป็นต้องทำ ก็น่าจะมีการพูดคุยกับนายกฯ แล้ว
9.สรุป
ในการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้มีอำนาจตามกฎหมายมีอยู่หลายระดับ กล่าวคือ ในระดับชาติ อำนาจเป็นของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี ระดับกระทรวง เป็นอำนาจเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ระดับทบวง อำนาจเป็นของรัฐมนตรีว่าการทบวง ระดับกรม อำนาจเป็นของอธิบดี นอกจากนี้ ยังมีปลัดสำนักนายกฯ ปลัดกระทรวง และปลัดทบวง เป็นผู้อำนาจสูงสุดของฝ่ายข้าราชการประจำในสำนักนายกฯ กระทรวง และทบวง ตามลำดับ
ในส่วนภูมิภาค ระดับจังหวัด อำนาจเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด และระดับอำเภอ อำนาจเป็นของนายอำเภอ
ผู้มีอำนาจในแต่ละระดับดังกล่าว ไม่ได้ทำงานคนเดียว เพราะยังมีผู้ดำรงตำแหน่งในระดับรองลงไปเป็นผู้ช่วยในการปฏิบัติราชการ โดยผู้มีอำนาจอาจจะมีคำสั่งมอบอำนาจให้เป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทน กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งหรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้
สำหรับตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลหรือหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติราชการแทน และผู้รักษาราชการแทนได้เช่นกัน
แต่ถ้าเป็นกรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ คณะรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี
ตามประเพณีหรือธรรมเนียมในการปฏิบัติราชการ ผู้รักษาราชการแทนไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ กระทรวง ทบวง กรม จังหวัด และอำเภอ จะไม่ใช้ในอำนาจในส่วนที่ผู้มีอำนาจสงวนไว้ในท้ายคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทน ซึ่งปกติจะเป็นการสงวนอำนาจในด้านการบริหารงานบุคคล และการบริหารงบประมาณหรือการเงิน
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
ถาม- สรุปแล้ว ผู้รักษาราชการแทน นายกฯ มีไว้เพื่อประโยชน์อันใด
ตอบ- ตำแหน่งนายกฯ ก็เหมือนตำแหน่งผู้มีอำนาจตามกฎหมายระดับต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ไม่สามารถที่จะปฏิบัติราชการให้บังเกิดผลดีคนเดียวได้ จำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือในการปฏิบัติราชการ
สำหรับงานประจำทั่วไปที่มีกฎหมายระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไร นายกฯ อาจมีคำสั่งมอบอำนาจให้แก่ผู้ปฏิบัติราชการแทน ส่วนงานสำคัญ นายกฯ จะสงวนไว้สั่งการเอง ไม่มอบอำนาจให้ผู้ใดปฏิบัติราชการแทน
อย่างไรก็ดี กรณีที่นายกฯ อยู่แต่ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ นายกฯ ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จำเป็นต้องแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทน เรียงตามลำดับไว้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ในนามนายกฯ ได้ทันท่วงที
ในทางตรงกันข้าม หากไม่มีคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนไว้ ก็จะไม่มีผู้ใดสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ต้องรอจนกว่านายกฯ จะกลับมาปฏิบัติราชการ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการและประเทศชาติอย่างร้ายแรงก็ได้
ถาม- โดยหลักการ กฎหมายมิได้จำกัดอำนาจของผู้รักษาราชการแทนไว้ แต่ทำไมในทางปฏิบัติ ผู้มีอำนาจมักจะสงวนอำนาจบางอย่างไว้ ไม่ให้ผู้รักษาราชการแทนสั่งการหรือปฏิบัติราชการดังกล่าวโดยพลการได้ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจก่อน
ตอบ- แม้ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ไว้วางหลักการไว้ว่า ให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน แต่ในการออกคำสั่งแต่งตั้ง ผู้รักษาราชการแทน ผู้มีอำนาจมักจะสงวนอำนาจบางอย่างไว้ มิให้ผู้รักษาราชการแทนสั่งการหรือปฏิบัติหน้าที่แทน เพราะอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจสำคัญมีผลกระทบต่อการบริหารงานขององค์กรหรือประเทศในภาพกว้าง หากไม่ใช่กรณีรีบด่วนจนไม่อาจจะรอได้ ผู้มีอำนาจจึงอยากจะสั่งการด้วยตนเองมากกว่า
แต่ถ้ามีความจำเป็นรีบด่วนจริง ผู้รักษาราชการแทนจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจก่อนที่จะสั่งการหรือปฏิบัติราชการดังกล่าว
ถาม-ผู้รักษาราชการแทนจำเป็นจะต้องยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งผู้แต่งตั้งตนให้เป็นผู้รักษาราชการในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจบางอย่างที่ผู้มีอำนาจสงวนไว้ท้ายคำสั่ง
ตอบ-โดยประเพณีหรือธรรมเนียมการปฏิบัติราชการ ผู้รักษาราชการแทนจะต้องยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ ซึ่งแท้ที่จริงก็คือผู้บังคับบัญชาของตน หากไม่เคารพคำสั่งของผู้มีอำนาจ ก็อาจจะเกิดผลกระทบบางอย่างตามมาในภายหลัง เช่น เมื่อผู้มีอำนาจกลับมา อาจจะออกคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งหรือเพิกถอนการกระทำดังกล่าว
ยิ่งกว่านั้น ผู้มีอำนาจย่อมจะขาดความไว้วางใจต่อผู้รักษาราชการแทนที่ไม่เคารพคำสั่งของตน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การสั่งให้พ้นตำแหน่งหรืออำนาจหน้าที่ได้
ถาม-กรณีมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 เพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตำแหน่งสำคัญอีกหลายตำแหน่ง เป็นการประชุมในช่วงที่นายกฯ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ ในฐานะผู้รักษาราชการแทนเข้าประชุมในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ท่านมีความเห็นประการใด
ตอบ-การประชุมดังกล่าว เป็นเรื่องเร่งด่วนที่มีการเตรียมการไว้ก่อนแล้ว แม้เป็นเรื่องการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่เชื่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คงได้รับทราบก่อนแล้ว ดังนั้น จึงไม่ถือว่า เป็นการขัดคำสั่งของนายกฯ ที่สงวนอำนาจไว้ท้ายคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนแต่อย่างใด
เยี่ยมค่ะอาจารย์
ขอบคุณครับ คุณบุญญสรณ์