85 / 100

“ระเบียบการ บริหารราชการแผ่นดิน-ต้องปฏิรูป เพื่อความอยู่รอดของสยาม ” เป็นบทคามลำดับที่ 8 ของหมวด 9 เรื่องเล่า ประเทศไทย กับชาติมหาอำนาจ โดยจะกล่าวถึง ความนำ ความสำคัญของระเบียบการ บริหารราชการแผ่นดิน ระเบียบการ ฯ เดิม  ระเบียบการ ฯ ทีได้ปฏิรูปขึ้นใหม่  สรุป และคุยกับดร.ชา

อนึ่ง บทความก่อนหน้านี้ คือ (7) เป็นเรื่องของเอกราช ของชาติ

1.ความนำ

          หลังจากพม่าได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3  ต่อมาญวนและเขมรได้ตกเป็นของฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้สยามในรัชสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องตกอยู่ในภาวะคับขันเป็นที่สุด เพราะถูกบีบขนาบจากชาติมหาอำนาจนักล่าทั้งสองชาติ

            เพื่อให้สยามสามารถฝ่าวิกฤตของชาติได้ ไม่ตกเป็นอาณานิคมหรือเมืองขึ้นของนักล่าเหมือนอย่างประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้พระพุทธเจ้าหลวงต้องทรงใช้ความสุขุมคัมภีรภาพวางกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ในการป้องกันและต่อสู้อย่างเต็มพระสติกำลังความสามารถ

          ในที่สุด พระองค์จึงทรงเห็นว่า มีหนทางเดียวที่จะทำให้สยามอยู่รอดได้ คือต้องมีการปฏิรูปสยามในทุก ๆ ด้านให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ให้นักล่ายกมาเป็นข้ออ้างว่า สยามเป็นเมืองป่าเมืองเถื่อนอีกต่อไป

            การจะปฏิรูปสยามประเทศได้ สิ่งแรกคือ ต้องมีการปฏิรูปหรือจัดระเบียบการ บริหารราชการแผ่นดินที่ล้าสมัยให้ทันสมัยใหม่ตามแบบอารยประเทศ

2.ความสำคัญของระเบียบการ บริหารราชการแผ่นดิน

          การจะบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเป็นที่พึงพอใจของอาณาประชาราษฎร์ได้หรือไม่เพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการวางระบบและกลไกในการบริการราชการแผ่นดินเป็นสำคัญ

            ระบบและกลไกในการบริหารที่ดีต้องสอดคล้องกับบริบทของสังคม กล่าวคือหากเป็นสังคมยุคเกษตรกรรม มีการเปลี่ยนแปลงช้า ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับชาติมหาอำนาจที่มีความเจริญก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยี ระบบและกลไกที่วางไว้แต่เดิมก็อาจจะเหมาะสม

            แต่ถ้าเมื่อต้องเผชิญกับการคุกคามจากชาติมหาอำนาจตะวันตกที่ได้พัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว ระบบและกลไกในการบริหารประเทศที่มีอยู่เดิม ย่อมกลายเป็นสิ่งทีล้าสมัย เพราะจะไม่สามารถแก้วิกฤตการณ์ของชาติได้อย่างแน่นอน

            ดังนั้น หากต้องการให้สยามประเทศอยู่รอดได้ พระองค์จึงทรงเห็นว่าจำเป็นต้องสังคายนาและรื้อปรับระบบและกลไกในการบริหารราชการเสียใหม่ทั้งหมดก่อนที่จะสายจนเกินไป

3.ระเบียบการ ฯ ที่มีอยู่เดิม

          การบริหารราชการแผ่นดินในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้รับอิทธิพลมาจากการระบบการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยแบ่งการปกครองเป็น 3 ส่วน คือ

            3.1 การปกครองส่วนกลาง แบ่งออกเป็น 6 กระทรวงหรือกรม คือ

            (1) กลาโหม

          มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเรื่องทหาร เป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร โดยมีสมุหกลาโหมเป็นอัครมหาเสนาบดีและหัวหน้ารับผิดชอบ

          แต่ในขณะเดียวกัน สมุหกลาโหม ก็เป็นผู้บังคับบัญชาทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ในพื้นที่ส่วนที่เป็นหัวเมืองฝ่ายปักษ์ใต้

            (2) มหาดไทย

          มีอำนาหน้าที่ในการจัดการฝ่ายพลเรือน เป็นหัวหน้าจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา มีสมุหนายกเป็นอัครมหาเสนาบดีและหัวหน้าผู้รับผิดชอบ

            แต่ในขณะเดียวกัน สมุหนายกก็เป็นผู้บังคับบัญชาทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ในส่วนพื้นที่ที่เป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือและหัวเมืองอีสานทั้งหมด

            (3) เวียง

          มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชาข้าราชการและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตกรุงเทพ ฯ และบังคับบัญชาศาลพิจารณาคดีความอุกฉกรรจ์มหันตโทษ

            มีพระยายมราช เป็นเสนาบดี

          (4) วัง

          มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาพระราชมณเฑียรและพระราชวัง ทั้งชั้นนอกและชั้นใน

            เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับงานพระราชพิธีต่าง ๆ มีอำนาจในการตั้งศาลและชำระความ

          มีพระยาธรรมา เป็นเสนาบดี

          (5) คลัง

          มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน รายรับรายจ่ายของท้องพระคลัง ชำระความเกี่ยวข้องกับพระราชทรัพย์ ดูแลและจัดการเรื่องการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ  รวมทั้งการเจริญพระราชไมตรี

            แบ่งงานคลังออกเป็น 3 ฝ่าย คือ

            การดูแลการเก็บและจ่ายเงิน อยู่ในความรับผิดชอบของพระยาราชภักดี

            การดูแลการแต่งสำเภาไปค้าขายต่างประเทศและเจริญสัมพันธไมตรี อยู่ในความรับผิดชอบของพระยาศรีพิพัฒน์

            การตรวจบัญชี อยู่ในความรับผิดชอบของพระยาพระคลัง

            นอกจากรับผิดชอบการตรวจบัญชีแล้ว พระยาพระคลังยังต้องรับผิดชอบในพื้นที่ที่เป็นหัวเมืองชายทะเลตะวันออก

          (6) นา

          มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษานาหลวง เก็บภาษีข้าว เป็นพนักงานซื้อข้าวขึ้นฉางหลวง และพิจารณาคดีเกี่ยวกับเรื่องนา และสัตว์พาหนะ

            ตำแหน่งเสนาบดีที่รับผิดชอบ คือพระยาพลเทพ

            3.2 การปกครองหัวเมืองหรือการปกครองส่วนภูมิภาค

            การปกครองหัวเมืองหรือการปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

เมืองหลวงพระมหากษัตริย์ปกครองโดยตรง

นอกจากเมืองหลวง คือกรุงเทพ ฯ แล้ว ยังรวมเอาหัวเมืองที่อยู่ใกล้เมืองหลวง ซึ่งเดิมเรียกว่าหัวเมืองชั้นใน โดยใช้เวลาในการเดินทางติดต่อกับเมืองหลลวงได้ภายใน 2 วัน หัวเมืองเหล่านี้ไม่มีตำแหน่งเจ้าเมือง มีแต่เพียงจ่าบ้านและเจ้าหน้าที่เท่านั้น

หัวเมืองรอบนอก หมายถึงหัวเมืองที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงออกไป

ขึ้นต่อเสนาบดีหรืออัครมหาเสนาบดี แยกออกเป็นดังนี้

หัวเมืองภาคเหนือและภาคอีสาน

ขึ้นต่อสมุหนายก โดยรับผิดชอบในทุกด้าน ทั้งด้านการทหาร พลเรือน การเศรษฐกิจ การตัดสินความ และการป้องกันประเทศ

หัวเมืองภาคใต้

ขึ้นต่อสมุหกลาโหม ในขณะนั้นมีเมืองสำคัญอยู่ 20 เมือง เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง

หัวเมืองชายทะเลตะวันออก

ขึ้นต่อพระยาพระคลัง มีอยู่ 9 เมือง คือ ตราด จันทบุรี ระยอง บางละมุง ชลบุรี สาครบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และนนทบุรี

      อนึ่ง การปกครองหัวเมือง ยังแบ่งออกเป็นหัวเมืองเอก หัวเมืองโท หัวเมืองตรี และหัวเมืองจัตวา

      เจ้าเมืองหัวเมืองเอก ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากเมืองหลวง ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา เมืองถลาง โคราช และพิษณุโลก

เจ้าเมืองเอกมีอำนาจหน้าที่ดูแลทุกอย่างในเมืองของตน รวมทั้งดูแลหัวเมืองรองลงมาและหัวเมืองประเทศราชด้วย แต่ก็ต้องขึ้นต่อเสนาบดีหรืออัครมหาเสนาบดีที่รับผิดชอบในพื้นที่อีกทอดหนึ่ง

       3.3 การปกครองประเทศราช

           ประเทศราชมีหน้าที่ส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นเครื่องราชบรรณาการต่อพระมหากษัตริย์ตามที่ทางไทยจะเป็นผู้กำหนด ภายในระยะเวลา 3 ปี การไม่ได้ส่งหรือไม่ส่งภายในกำหนด ถือว่าแข็งเมือง

           พระมหากษัตริย์มีสิทธิแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าประเทศราช เรียกเจ้าประเทศราชมาเฝ้า เกณฑ์คนมาช่วย หากขัดขืนถือว่าเป็นกบฏ

          วิธีการติดต่อของเจ้าประเทศราช ต้องติดต่อผ่านเจ้าเมืองหัวเมืองเอก ต่อจากนั้นเจ้าเมืองหัวเมืองเอกจะแจ้งไปยังสมุหกลาโหม หรือสมุหนายกแล้วแต่กรณี

          ประเทศราช ประกอบด้วย ลาว เขมร เชียงใหม่ ไทรบุรี ปัตตานี กลันตัน และ ตรังกานู

          (วิมล วิโรจพันธ์ และคณะ,ประวัติศาสตร์ชาติไทย,2548,หน้า 276-280)

4. ระเบียบการ ฯ ที่ได้ปฏิรูปขึ้นมาใหม่

          เพื่อให้สยามมีความเข้มแข็ง เจริญก้าวหน้า ทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ได้เป็นเมืองป่าเมืองเถื่อนเหมือนอย่างชาติมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมกล่าวอ้าง ดังนั้น ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงตัดสินพระราชหฤทัยที่จะปฏิรูปสยามประเทศในทุก ๆ ด้าน โดยใช้การปฏิรูปการปกครองและการบริหารประเทศเป็นแกนกลาง

รัชกาลที่ 5 ทรงปฎิรูป ระเบียบการ บริหารราชการแผ่นดิน เพื่อความอยู่รอดของสยาม
(วิดิพีเดีย,พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 7 ธันวาคม 2563)
รัชกาลที่ 5 ทรงปฎิรูป ระเบียบการ บริหารราชการแผ่นดิน เพื่อความอยู่รอดของสยาม(วิดิพีเดีย,พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 7 ธันวาคม 2563)

            4.1การปกครองส่วนกลาง

          ทรงยกเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและการปกครองแบบจตุสดมภ์ที่มีอยู่เดิม แล้วจัดตั้งเป็นกระทรวงแบบยุโรปขึ้นใหม่จำนวน 10 กระทรวง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2435 ประกอบด้วย มหาดไทย กลาโหม นครบาล การต่างประเทศ พระคลังมหาสมบัติ วัง เกษตราธิการ ยุติธรรม โยธาธิการ และธรรมการ

            แต่ละกระทรวงมีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา และขึ้นตรงต่อองค์พระมหากษัตริย์

กระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทย มีสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นองค์ปฐมเสนาบดีเป็นระยะเวลายาวนานถึง 23 ปี (1 เมษายน 2435-8 สิงหาคม 2458) ได้ทรงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคง ความเป็นเอกภาพ และความเข้มแข็งในการปกครองหัวเมืองหรือการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นอย่างอย่างยิ่ง โดยทรงเป็นคนไทยพระองค์แรกที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

สมเด็จพระเจ้าวรวงศฺเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการปฏิรูป ระเบียบการ บริหารราชการแผ่นดิน
สมเด็จพระเจ้าวรวงศฺเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการปฺฏิรูป ระเบียบการ บริหารราชการแผ่นดิน

            4.2 การปกครองส่วนภูมิภาค

             เพื่อความเป็นเอกภาพในการปกครองหัวเมืองจึงทรงให้ยกเลิกการปกครองหัวเมืองแบบเดิมที่แบ่งออกเป็นหัวเมืองชั้นเอก หัวเมืองชั้นโท หัวเมืองชั้นตรี และหัวเมืองชั้นจัตวา แล้วจัดเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล ภายใต้มณฑทลเทศาภิบาลมี จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน

            มณฑลเทศาภิบาลมีสมุเทศาภิบาลที่ได้รับแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไปปกครองต่างพระเนตรพระกรรณ โดยทรงให้ตั้งมณฑทลเทศาภิบาลจำนวน 18 มณฑล แต่ละมณฑลมีจังหวัดอยู่ภายใต้สังกัดจำนวน 3-4 จังหวัด และกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบการปกครองหัวเมืองเพียงกระทรวงเดียว

กระทรวงมหาดไทย เป็นกระทรวงที่รับผิดชอบในการปกครอส่วนภูมิภาค (วิกิพีเดีย, กระทรวงมหาดไทย (ประเทศไทย), 7 ธันวาคม 2563)
กระทรวงมหาดไทย เป็นกระทรวงที่รับผิดชอบในการปกครอส่วนภูมิภาค (วิกิพีเดีย, กระทรวงมหาดไทย (ประเทศไทย), 7 ธันวาคม 2563)

            ด้วยระบบมณฑลเทศาภิบาล ได้ทำให้สยามประเทศมีความเป็นเอกภาพ ความเป็นปึกแผ่นและความเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก เพราะได้รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือองค์พระมหากษัตริย์ผ่านทางกระทรวงมหาดไทยตามแบบอย่างชาติยุโรป

            4.3 การปกครองส่วนท้องถิ่น

            เพื่อฝึกฝนให้ประชาชนเรียนรู้การปกครองตนเอง จึงทรงให้จัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอมขึ้นเป็นแห่งแรก เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ร.ศ.124 (พ.ศ..2448) หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลในชุมชนที่มีความเจริญทั่วประเทศ ตามพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ.127 (พ.ศ.2452)

          (พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ, ประวัติศาสตร์ไทย 2,2551, หน้า 486-488)

ท่านผู้อ่านอาจศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ในเว็บไซต์นี้

5.สรุป

          ระเบียบการ บริหารราชการแผ่นดิน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปขึ้นใหม่ตามแบบอย่างชาติมหาอำนาจตะวันตก ด้วยการยกเลิกการปกครองแบบเดิม คือ การปกครองแบบจตุสดมภ์ แล้วตั้งเป็นกระทรวงขึ้นใหม่ จำนวน 10 กระทรวง ยกเลิกการปกหัวเมืองแบบเดิมแล้วจัดตั้งเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยเพียงกระทรวงเดียว

             ดังนั้น จึงทำให้การปกครองประเทศเกิดความเป็นเอกภาพเพราะเป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางขึ้นตรงต่อองค์พระมหากษัตริย์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้มีการแบ่งและมอบอำนาจผ่านไปสมุหเทศาภิบาลที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ไปปกครองต่างพระเนตรพระกรรณ อันเป็นผลทำให้สยามประเทศมีความเข้มแข็งกว่าเดิมเป็นอันมาก

            สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม โปรดติดตามได้ใน คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้

คุยกับดร.ชา

            คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณกัลยา (ชื่อสมมุติ) เหมือนคราวที่แล้ว

            “สวัสดี คุณกัลยา วันนี้เรามาสนทนากันในเรื่องที่สืบต่อจากคราวที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของความสำคัญของการรักษาเอกราชของชาติ แต่วันนี้เราจะคุยในเรื่องการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินกับความอยู่รอดของชาติในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ” ผมทักทายคุณกัลยาพร้อมกับเกริ่นนำเล็กน้อย

            “สวัสดีค่ะ อาจารย์ ขอเชิญอาจารย์กำหนดประเด็นสนทนา ดิฉันพร้อมแล้ว” คุณกัลยาแสดงความพร้อม

      “ดีแล้ว ในประเด็นแรก คือ ทำไมจึงกล่าวว่า การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คือหัวใจของพัฒนาสยามประเทศไปสู่ความเป็นประเทศมัยใหม่ ” ผมกำหนดประเด็นแรกแบบให้ต้องใช้ความคิดเล็กน้อย

          “ดิฉันมีความเห็นว่า การสร้างระบบและวางกลไกในการบริหารประเทศเป็นสิ่งชี้ขาดว่า ประเทศใดจะมีความเจริญก้าวหน้าหรือล้าหลัง เพราะเมื่อสยามประเทศในยุคนั้นต้องเผชิญแรงบีบคั้นและกดดันอย่างหนัก จากชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ถ้าเรายังคงใช้ระบบและกลไกในการบริหารประเทศอย่างเดิม เราจะไม่มีทางสร้างความเข้มแข็งให้สยามได้ ” คุณกัลยาตอบในหลักการกว้าง ๆ

  “ หมายความว่า สยามต้องศึกษาเรียนรู้ใช่ไหมว่า ชาติมหาอำนาจเขามีระบบและกลไกในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร ” ผมถามต่อเพื่อให้คุณกัลยาขยายความ

          “ถูกต้องค่ะ เพราะถ้าเราไม่ศึกษาจากเขา องค์ความรู้ของเราก็จะไม่มี การศึกษาเรียนรู้จากเขาเป็นทางลัดที่จะทำให้สยามเจริญก้าวหน้าทัดเทียมเขาได้อย่างรวดเร็ว เพราะชาติมหาอำนาจได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า การสร้างระบบและกลไกดังกล่าว ทำให้เขาก้าวผงาดขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจจนสามารถแสดงอำนาจบาตรใหญ่คุกคามประเทศต่าง ๆ ไปทั่วโลก ” คุณกัลยาตอบขยายความ

            “ในประเด็นที่สอง อาจารย์ขอทราบความเห็นว่า หากระบบมณฑลเทศาภิบาลดีจริง ทำไมจึงถูกยกเลิกไปเสีย ” ผมถามแบบให้ต้องคิดลึกหน่อย

          “ เรื่องนี้ ดิฉันทราบมาว่า ระบบมณฑลเทศาภิบาล เพิ่งถูกยกเลิกไปภายหลังการเปลี่ยนแปลงปีพ.ศ.2475 ดิฉันขอพูดตามตรงว่า น่าจะเป็นเพราะคณะราษฎรที่ยึดอำนาจจากในหลวงรัชกาลที่ 7 คงต้องการกระชับอำนาจให้อยู่มือของตนเองมากขึ้น ไม่อยากแบ่งและมอบอำนาจให้มณฑลเทศาภิบาลตามระบบเดิม เหตุผลและเบื้องหลังก็คงจะมีแค่นั้น ไม่ใช่เป็นเพราะระบบมณฑลเทศาภิบาลไม่ดี ” คุณกัลยาตอบอย่างมั่นใจ

            “ อาจารย์อยากให้คุณกัลยาแสดงข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมสักหน่อยได้ไหมว่า ระบบมณฑลเทศาภิบาลดีจริง

          “ ได้ค่ะ อย่างทุกวันนี้ได้มีการจัดตั้งกลุ่มจังหวัดขึ้นมาตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ.2551 โดยอาศัยแนวคิดของการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลที่เคยมีมาก่อน เพื่อรวมจังหวัดจำนวน 3-4 จังหวัดเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มจังหวัด

            แม้กลุ่มจังหวัดในยุคนี้อาจจะไม่ใช่หน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคเหมือนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็เป็นประโยชน์อย่างมาก ในการทำให้กลุ่มจังหวัดมีอำนาจหน้าที่และบทบาทในการพัฒนาส่วนภูมิภาคด้วยการมองภาพทีใหญ่กว่าจังหวัด และได้รับงบประมาณแผ่นดินเป็นงบประมาณพัฒนากลุ่มจังหวัด อย่างเช่นในขณะนี้แต่ละกลุ่มได้รับงบประมาณมากถึงห้าพันล้านบาทเชียวนะค่ะ ” คุณกัลยาตอบได้อย่างชัดเจนในฐานะเคยทำงานเรื่องงบประมาณกลุ่มจังหวัดมาก่อน

            “อาจารย์ขอถามประเด็นสุดท้าย การปกครองส่วนภูมิภาคยังจำเป็นสำหรับประเทศไทยอยู่ไหม เพราะเห็นมีคนส่วนหนึ่งเรียกร้องให้ยุบการปกครองส่วนภูมิภาค แล้วจัดตั้งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบญี่ปุ่น อย่างที่ชอบกันเรียกว่า จังหวัดปกครองตนเอง ”

          “ ดิฉันคิดว่า อย่างประเทศไทยนี้ ถ้าขาดการปกครองส่วนภูมิภาคคงยุ่งนะ การปกครองส่วนภูมิภาคของเราประกอบด้วย จังหวัด อำเภอ รวมตลอดถึงการปกครองท้องที่ คือตำบลหมู่บ้าน

          หากไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค การต่อสู้และแก้ปัญหาโรคโควิด-19 คงไม่ประสบผลสำเร็จ  เพราะทำให้การบริการงานแก้ปัญหาดังกล่าวไม่เป็นเอกภาพ ” คุณกัลยาตอบบอย่างมั่นใจ

            “อาจารย์อยากให้คุณกัลยาสรุปความสำคัญของการปกครองส่วนภูมิภาคของไทยสั้น ๆ ” ผมถามเพื่อเอาคำตอบในภาพรวม

          “ ได้ค่ะ การปกครองส่วนภูมิภาคของไทยในปัจจุบัน คือ จังหวัด อำเภอ ตลอดจนถึงตำบลหมู่บ้าน ได้พิสูจน์มาแล้วว่า ได้บทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงและความเป็นเอกราชของชาติมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนกระทั่งปัจจุบัน

          หากปราศจากการปกครองส่วนภูมิภาคแล้ว ดิฉันไม่มั่นใจว่า ประเทศไทยจะอ่อนแอลงมากน้อยเพียงใด ไม่อยากจะให้อ้างเอาญี่ปุ่น เพราะเดิมญี่ปุ่นเคยมีการปกครองส่วนภูมิภาคเหมือนไทย แต่ที่ต้องยุบเลิกไป เพราะอเมริกาบีบบังคับญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ยุบการปกครองส่วนภูมิภาค เพื่อบั่นทอนความเข้มแข็งของรัฐ” คุณกัลยาตอบแบบให้มองเห็นภาพ

          “ ชัดเจนดีคุณกัลยา วันนี้คงคุยกันเท่านี้ ขอบคุณมาก ”

          “ด้วยความยินดีค่ะ”

ดร.ชา

7/12/20

Dr.Char

Mr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

มองโกเลีย เคยเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก (13) (New***) 2

มองโกเลีย เคยเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก (13) (New***)

Share on Social Media facebook email 91 / 100 Powered by Rank Math SEO “มองโกเลีย เคยเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” เป็นบทความลำดับที่ 13 หมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก จะกล่าวถึง ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของมองโกเลีย ข้อมูลมองโกเลียในปัจจุบันที่ควรทราบ   ประวัติย่อของมองโกเลีย  ยุคจักรวรรดิมองโกลอันยิ่งใหญ่  วิเคราะห์เปรียบเทียบอาณาจักรมองโกล กับจักรวรรดิบริติช สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369           บทความที่เกี่ยวข้อง ประวัติ จีน ก่อนจีนยุคใหม่ “ จักรวรรดิจักรมองโกล (1206-1368)  เป็นจักรวรรดิที่มีอาณาเขตต่อเนื่องกันใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 24,000,000…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16) 3

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 5

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

7 COMMENTS

  1. ขอบคุณ คุณกัลยา ที่ได้มาแบ่งปันความรู้ค่ะ

  2. หนูได้ยินคำว่าฆณฑลทหาร มาจากคำว่า มณฑลเทศาภิบาล หรืออย่างไรคะอาจารย์ ขอบคุณค่ะ

    1. ตอนตั้งมณฑลเทศาภิบาล ก็มีการตั้งมณฑลทหารด้วย แต่มณฑลทหารขึ้นต่อกลาโหม มิใช่มหาดไทย แม้มณฑลเทศาภิบาลถูกยุบแล้ว แต่มณฑลทหารก็ยังคงมีอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

  3. มีนักวิชาท่านหนึ่ง วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย มาจากความไม่พร้อม
    อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ

    1. คณะราษฎร์ ผู้แย่งชิงอำนาจการปกครองประเทศจากรัชกาลที่ 7 หลายคนจบเมืองนอก ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า อย่าว่าแต่ประชาชนไม่พร้อมที่จะปกครองตนเองเลย แม้แค่รู้จักก็ยังไม่ผ่าน แต่ก็ยังเอามาเป็นข้ออ้างว่า จะเปลี่ยนการปกครองประเทศเป็นประชาธิปไตย แสดงว่า เจตนาที่แท้จริงอาจจะไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างที่พวกเราเห็นและเข้าใจก็ได้ จริงไหม

  4. ประเทศลาวมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณะรัฐได้อย่างไร ให้อาจารย์เล่าให้ฟังพอสังเขปได้ไหมคะ ขอบคุณค่ะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: