“มุม มองที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม” เป็นบทความลำดับที่ 8 ของหมวด 5 เรื่องเล่า เหตุการณ์ปัจจุบันที่น่าสนใจ ความนำ ประชากรไทยแยกตามศาสนา มุม มองที่คลาดเคลื่อน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 โครงสร้างการองค์กรอิสลามระดับจังหวัด โครงสร้างการบริหารมัสยิด วิเคราะห์อำนาจหน้าที่และบทบาทคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด สรุป ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
อนึ่งบทความก่อนหน้านี้ ผมได้นำเสนอ “การตีความมาตรา 158 รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (7) ” ซึ่งเป็นการนำเสนอมุมมองของผมเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งครบแปดปี ของนายกรัฐมนตรี
Table of Contents
1.ความนำ
โลกในยุคปัจจุบันเป็นโลกของข้อมูลข่าวสาร ในแต่ละวันผู้คนทั่วโลกต่างเสพข้อมูลข่าวสารเข้าไปราวกับเป็นอาหารประจำวันที่จะขาดเสียมิได้ ดังจะเห็นได้จากผู้คนทุกเพศทุกวัยและทุกสาขาอาชีพล้วนจ้องดูแต่ข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตบนมือถือของตน โดยแทบจะไม่สนใจคนรอบข้าง
แต่ละคนต่างเลือกเสพข้อมูลข่าวสารที่ตนชอบ โดยอาจจะไม่ให้ความสนใจด้วยซ้ำว่า ข้อมูลข่าวสารนั้น เป็นข้อมูลข่าวสารจริงหรือเท็จ เป็นข้อมูลข่าวสารจริงหรือปลอม ยิ่งกว่านั้น ยังชอบแชร์ออกไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างสนุกสนาน โดยไม่หวาดเกรงว่าจะเป็นความผิดและได้รับโทษตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรือไม่
การแชร์ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จเกี่ยวกับศาสนาอิสลามนับว่า เป็นการแชร์ข้อมูลข่าวสารอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมชอบของคนกลุ่มหนึ่ง โดยไม่สนใจว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติแต่อย่างใด

สำหรับบทความนี้ ต้องการจะทำความเข้าใจที่ถูกต้องหรือที่ควรจะเป็นเกี่ยวกับมุม มองการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามในประเทศไทย ในส่วนที่ชาวพุทธหลายคนอาจจะเข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนไป ประกอบกับเห็นว่า ขณะนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะเล่าเรื่องเช่นนี้ เพราะประเทศไทยกำลังจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีกับประเทศซาอุดิอาระเบีย ซี่งเป็นประเทศมุสลิมชั้นนำของโลก
อนึ่ง ผมขอยืนยันว่า ตัวผมเองเป็นชาวพุทธ นับถือศาสนาพุทธมาตั้งแต่กำเนิด และได้นำเอาหลักและแนวทางพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต รวมทั้งเคยบวชถวายเป็นพระราชกุศลมาแล้วเมื่อปีพ.ศ.2538 รายละเอียดตามบทความ”อานิสงส์ของการบวชถวายเป็นพระราชกุศล“
ยิ่งกว่านั้น ยังได้เขียนบทความเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมหรือนั่งสมาธิลงในเว็บไซต์นี้ในหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ จำนวนหลายบทความ และยังได้เขียนหนังสืออีบุ๊คเล่มหนึ่งออกเผยแพร่ชื่อ “ฝึกนั่งสมาธิเพื่อคลายทุกข์ด้วยตนเอง”
2.ประชากรไทยแยกตามศาสนา
ตาม Wikipedia ประชากรไทย อาจแบ่งออกตามการนับถือศาสนาได้ 5 กลุ่ม คือ
2.1 ศาสนาพุทธ ร้อยละ 93.5
2.2 ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 5.4
2.3 ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 1.13
2.4 ศาสนาฮินดู ร้อยละ 0.02
2.5 อื่น ๆ ร้อยละ 0.003
จะเห็นได้ว่า ศาสนาพุทธ คือ ศาสนาหลักหรือศาสนาประจำชาติไทย เพราะมีผู้นับถือมากถึงร้อยละ 93.5 มากกว่าศาสนาอื่นใดอย่างเห็นได้ชัด
3.มุม มองอันคลาดเคลื่อน
การที่ผมเกิดความคิดในการเขียนบทความนี้ขึ้นมา ก็เพราะผมได้เห็นบทความที่มีผู้จัดทำเผยแพร่ออกไปในรูปแบบของเว็บไซต์หรือข้อความส่งแชร์ต่อ ๆ กันทางไลน์ ในลักษณะบิดเบือนสร้างข้อมูลเท็จหรือข้อมูลปลอมเป็นจำนวนมาก หากผู้ใดอ่านโดยไม่ใช้สติปัญญาคิดวิเคราะห์และตรวจสอบเสียก่อนว่าเป็นความจริงหรือไม่ ย่อมมีโอกาสที่จะคล้อยตามหรือหลงเชื่อได้โดยง่าย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองแต่อย่างใด
ความจริงเรื่องพวกนี้ เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทยหลังมีรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามในลักษณะบิดเบือน เพื่อให้คนอ่านเข้าใจผิดและเกิดความหวาดกลัวว่าประเทศไทยกำลังตกอยู่ภายใต้การคุกคามของศาสนาอิสลาม ซึ่งได้มีการแชร์ต่อกันเป็นทอด ๆ โดยไม่หวั่นเกรงว่าจะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
หลายท่านอาจจะอ่านผ่าน ๆ โดยไม่ติดใจสงสัยอะไร แต่หลายท่านอาจจะหลงเชื่ออย่างสนิทใจว่าเป็นความจริงตามที่มีผู้สร้างข่าวสารอันเป็นเท็จขึ้นมา เพราะบางกรณีมีการอ้างชื่อบุคคลสำคัญหรือบุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม ประกอบกับอาจมีใจไม่ชอบรัฐบาลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงพร้อมจะเชื่อหรือมีความเห็นคล้อยตามโดยไม่คิดจะตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
สำหรับข้อมูลอันเป็นเท็จจริงหรือไม่เป็นความจริงเท่าที่ผมเคยได้อ่านและพอจะจำได้ คือ
2.1 การออกกฎหมายให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีเจตนาให้คนอ่านเข้าใจว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ภายใต้อำนาจหรืออิทธิพลของศาสนาอิสลาม
2.2 มีการเร่งรัดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามประจังหวัดไปให้ทั่วทุกจังหวัด เพื่อให้อิสลามมีอำนาจเหนือประเทศไทย โดยมีเจตนาจะทำให้คนอ่านเข้าใจว่า ศาสนาอิสลามกำลังจะยึดครองประเทศไทยผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่าง ๆ
2.3 มีการส่งผู้นับถือศาสนาอิสลามเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญของทางราชการตามกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อจะได้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน อันมีเจตนาจะทำให้คนอ่านเข้าใจว่า ศาสนาอิสลามกำลังแทรกซึมกลไกของรัฐผ่านทางการเข้าการดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูงของประเทศ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
2.4 มีการโจมตีว่า เมื่อใดก็ตามที่มีรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลทหารปกครองประเทศ มักจะมีการออกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้พวกมุสลิม โดยมีเจตนาให้คนอ่านเข้าใจว่า รัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลทหารเห็นแก่ศาสนาอิสลามมากกว่าความมั่นคงของชาติ
2.5 มีการโจมตีว่า รัฐบาลที่เป็นเผด็จการทหารตั้งงบประมาณแผ่นดิน เป็นจำนวนมากให้จัดตั้งมัสยิดกลางในหลายจังหวัด โดยมีเจตนาจะทำให้คนอ่านเข้าใจว่า รัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลทหาร ใช้งบประมาณแผ่นดินสนับสนุนศาสนาอิสลาม
2.6 มีการโจมตีว่า เอาเงินภาษีของชาวพุทธไปสร้างธนาคารอิสลาม โดยต้องการจะทำให้คนอ่านเข้าใจว่า การนำเงินงบประมาณแผ่นดินไปสร้างธนาคารอิสลามเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
2.7 มีการใส่ร้ายป้ายสีบุคคลของบ้านเมืองผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีวัดธรรมกายรวมทั้งคดีเงินทอนวัดอย่างจริงจังว่า เป็นคนมุสลิม โดยมีเจตนาจะให้คนอ่านเข้าใจว่า การที่วัดธรรมกายและลัทธิธรรมกายรวมทั้งผู้ถูกดำเนินคดีเงินทอนวัด ต้องถูกดำเนินคดีอย่างรุนแรงและจริงจัง เพราะผู้มีอำนาจรัฐในขณะนั้นหรือคนในครอบครัวล้วนเป็นคนมุสลิม จึงจ้องจะทำลายวัดธรรมกายและลัทธิธรรมกาย ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับคดีเงินทอนวัด
มุม มองที่คลาดเคลื่อนดังกล่าว ผมขอแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
ประเภทแรก คือ มุม มองเกี่ยวกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม
ประเภทที่สอง คือ มุม มองในด้านอื่น ๆ ที่มิใช่การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม
สำหรับบทความนี้ ผมมุ่งจะทำความเข้าใจกับท่านในประเภทแรกเป็นหลัก คือ มุม มองเกี่ยวกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ส่วนมุม มองที่คลาดเคลื่อนประเภทที่สอง จะนำมากล่าวเพียงเล็กน้อย เพราะหากท่านอยากทราบว่า เรื่องใดที่สงสัยว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ อย่างไร ท่านสามารถตรวจสอบจากกูเกิลได้ไม่ยากเลย
3. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ในการทำความเข้าใจในมุม มองที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
-รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
-พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540
4.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศที่แต่ละประเทศจำเป็นต้องมีไว้ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนา พอจะสรุปได้ดังนี้
4.1 พระมหากษัตริย์กับศาสนา ตามมาตรา 7
“มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก”
ความตามมาตรา 7 อาจแยกออกได้ 2 ประเด็น คือ
4.1.1 การทรงเป็นพุทธมามกะ
พระมหากษัตริย์ไทยจะต้องนับถือศาสนาพุทธเท่านั้น จะนับถือศาสนาอื่นไม่ได้ หากเมื่อใด จะทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นที่มิใช่ศาสนาพุทธ ย่อมจะขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ไทยทันที
4.1.2 การทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
แม้รัฐธรรมนูญ ฯ จะบังคับให้พระมหากษัตริย์ไทยต้องเป็นพุทธมามกะเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็กำหนดให้ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกด้วย กล่าวคือ พระองค์ต้องทรงให้การอุปถัมภ์ศาสนาอื่น ๆ ที่มีประชาชนชาวไทยเลื่อมใสศรัทธาด้วย
4.2 เสรีภาพในการนับถือศาสนา ตามมาตรา 31
“มาตรา 31 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”
ความในมาตรา 31 นี้ เป็นการให้หลักประกันว่า ประชาชนชาวไทยมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาตามความเชื่อและความศรัทธาของตน
รวมทั้งมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่มีเงื่อนไขอยู่ 3 ประการคือ
– ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย
– ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ
– ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
4.3 หน้าที่ของรัฐในการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา ตามมาตรา 67
“มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือมาเป็นเวลาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”
ความในมาตรา 67 นี้ อาจแยกออกได้เป็น 2 ประเด็นคือ
4.3.1 การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา
ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาเป็นเวลาช้านาน รัฐพึงดำเนินการ 3 ประการ คือ
-ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา
-ต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่ารูปแบบใด
-พึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย
4.3.2 การอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาอื่น
รัฐธรรมนูญ ฯ กล่าวไว้ลอย ๆ ไม่มีรายละเอียดเหมือนการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา
5.พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540
พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายที่รัฐไทยออกมาเพื่อใช้บังคับในการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาที่มีชาวไทยนับถืออยู่ราวร่อยละ 5.4 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
สาระสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้คือ
5.1 รัฐบาลที่ออกกฎหมายฉบับนี้
เป็นรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้ง คือรัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ โดยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่
5.2 เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้
เนื่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เดิม คือ พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.2488 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2491 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงให้ยกเลิกกฎหมายทั้งสามฉบับ และให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
5.3 สาระสำคัญของพระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัตินี้ มีสาระสำคัญแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ
5.3.1 จุฬาราชมนตรี
5.3.2 การจัดตั้งและเลิกมัสยิด
5.3.3 คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
5.3.4 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
5.3.5 คณะกรรมการประจำมัสยิด
จะเห็นได้ว่า เนื้อหาของพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้แบ่งการบริหารองค์ศาสนาอิสลามออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับมัสยิด สำหรับระดับชาติได้แก่ จุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย แต่ในบทความนี้ผมจะได้นำมาเล่าให้ท่านทราบเฉพาะหัวข้อ การจัดตั้งมัสยิดและเลิกมัสยิด คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
6.การจัดตั้งและเลิกมัสยิด

ศาสนาอิสลามมีมัสยิดเป็นองค์กรศาสนาอิสลามระดับล่างสุด ในทำนองเดียวกันพระพุทธศาสนามีวัดเป็นองค์กรศาสนาพุทธระดับล่างสุด
การทำความเข้าใจในเรื่องมัสยิดจะทำให้ท่านเข้าใจเรื่องการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามได้ดีขึ้น
6.1 มัสยิดคืออะไร
ตามมาตรา 4 มัสยิด คือ สถานที่ซึ่งมุสลิมใช้ประกอบศาสนกิจโดยจะต้องมีการละหมาดวันศุกร์เป็นปกติ และเป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลาม
6.2 การตั้งมัสยิด
ตามมาตรา 12 และ 13 การจัดตั้งมัสยิด ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มัสยิดที่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล ให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดเป็นผู้แทนมัสยิดในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก แต่คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดอาจมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนได้
มัสยิดที่ได้จดทะเบียนแล้วให้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำมัสยิดภายใน 90 วันนับแต่วันจดทะเบียน
6.3 การเลิกมัสยิด
ตามมาตรา 14 การเลิกมัสยิดก็ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเช่นเดียวกันกับการตั้งมัสยิด
7.คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นองค์กรอิสลามระดับจังหวัด มีอยู่บางจังหวัดที่มีความพร้อม ยังไม่ได้มีครบทุกจังหวัด ปัจจุบันมีอยู่จำนวน 36 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในภาคใต้และภาคกลาง ในภาคเหนือมีอยู่บางจังหวัด
7.1 การประกาศตั้ง
ตามาตรา 23 และ 24 จังหวัดใดมีราษฎรนับถือศาสนาอิสลามและมีมัสยิดไม่น้อยกว่า 3 มัสยิด ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกาศให้จังหวัดนั้นมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดคณะหนึ่ง มีจำนวน 9-30 คน
ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการให้อิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นเป็นผู้คัดเลือก และให้คณะกรรมการเลือกกันเองเป็น ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการ และตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น และให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกในราชกิจจานุเบกษา
กรรมการอิสลามประจำจังหวัด ต้องเป็นสัปปุรุษประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก่อนวันคัดเลือก และต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก่อนวันคัดเลือก
7.2 อำนาจหน้าที่
คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 26 จำนวน 13 ประการ เช่น -ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
– พิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
– ประนีประนอมหรือชี้ขาดคำร้องทุกข์ของสัปปุรุษประจำมัสยิด
-แต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่ง อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น เมื่อตำแหน่งว่างลง
-ออกหนังสือรับรองการสมรสและหย่าตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
ฯลฯ
8.คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด

(วิกิพีเดีย,มัสยิด, 10 กุมภาพันธ์ 2565)
นอกเหนือไปจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดแล้ว ยังมีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ในทำนองเดียวกันพระพุทธศาสนามี คณะกรรมการวัดของแต่ละวัด
ในแต่ละมัสยิดมีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
8.1 ชื่อตำแหน่งประจำมัสยิดที่ควรทราบ
การที่จะทำความเข้าใจในการบริหารงานมัสยิด จำเป็นต้องรู้จักตำแหน่งประจำมัสยิดก่อน ได้แก่ สัปปุรุษประจำมัสยิด อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น
ตามมาตรา 4 ได้ให้คำนิยามของคำดังกล่าวไว้ดังนี้
-สัปปุรุษประจำมัสยิด คือ มุสลิมที่คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีมติรับเข้าเป็นสัปปุรุษประจำมัสยิด
-อิหม่าม คือ ผู้นำศาสนาอิสลามประจำมัสยิด (น่าจะเทียบได้กับเจ้าอาวาสของวัดในทางพระพุทธศาสนา)
-คอเต็บ คือ ผู้แสดงธรรมประจำมัสยิด
-บิหลั่น คือ ผู้ประกาศเชิญชวนให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลา
8.2 องค์ประกอบ
ตามาตรา 23 คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ประกอบด้วย
8.1.1 อิหม่าม เป็นประธานกรรมการ
8.1.2 คอเต็บ เป็นรองประธานกรรมการ
8.1.3 บิหลั่น เป็นรองประธานกรรมการ
8.1.4 กรรมการอื่นตามจำนวนที่สัปปุรุษประจำมัสยิดกำหนด จำนวน 6-12 คน
โดยให้สัปปุรุษประจำมัสยิดซึ่งมีอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นผู้คัดเลือกกรรมการตาม 8.1.4 มีประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานในที่ประชุมสัปปุรุษประจำมัสยิด เพื่อเลือกกรรมการอิสลามประจำมัสยิด นำเสนอคณะกรรมการอิสลามประจำจังหัดเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง
ต่อจากนั้นให้คณะกรรรมการประจำมัสยิดเลือก เลขานุการ นายทะเบียน เหรัญญิก และตำแหน่งอื่นตามความจำเป็นจากกรรมการตาม 8.1.4
8.2 อำนาจหน้าที่
คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 35 จำนวน 12 ประการ เช่น
-บำรุงรักษามัสยิดและทรัพย์สินมัสยิดให้เรียบร้อย
-พิจารณามีมติรับมุสลิมเข้าเป็นสัปปุรุษประจำมัสยิด
-ส่งเสริมสัปปุรุษในการปฏิบัติศาสนกิจ ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่ชอบตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
-ดูดวงจันทร์และแจ้งผลการดูดวงจันทร์ต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
ฯลฯ

9.วิเคราะห์อำนาจหน้าที่และบทบาทของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
แม้พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ได้ประกาศใช้บังคับมาเป็นเวลาร่วม 26 ปีแล้ว แต่ก็เพิ่งมีผู้นำเรื่องอำนาจหน้าที่และบทบาทของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมากล่าวอ้างในทำนองว่า จะมีอำนาจในการชี้นำหรือครอบงำผู้ว่าราชการจังหวัดในการสนับสนุนและส่งเสริมศาสนาอิสลามให้แพร่หลายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า น่าจะวิเคราะห์อำนาจหน้าที่และบทบาทของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดว่า จะสามารถชี้นำหรือครอบงำผู้ว่าราชการจังหวัดได้จริงหรือไม่ เพียงใด
วิเคราะห์อำนาจหน้าที่และบทบาทของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
คณะกรรมการอิสลามประจำหวัดมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 26 จำนวน 13 ประการ คือ
(1)ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
(2)กำกับดูแลและตรวจตราการปฏิบัติงานของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดในจังหวัดและจังหวัดอื่นตามที่คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยมอบหมาย
ฯ ล ฯ
(13) ออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในจังหวัด
ความเห็นของดร.ชา
ในบรรดาอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดตามมาตรา 26 จำนวน 13 ประการนั้น มีเพียงอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 26 (1) เท่านั้นที่ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ด้วยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
ประเด็นปัญหาที่จะต้องพิจาณา
ตามที่มีผู้แสดงความคิดเห็นไปในทำนองว่า การที่กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นผู้ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น จะเป็นช่องทางทำให้ศาสนาอิสลามมีอำนาจอิทธิพลเหนือประเทศไทยผ่านทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดได้โดยง่าย นั้น
ในเรื่องนี้ ผมขอทำความเข้าใจว่า ความตามมาตรา 26(1) เป็นความในทำนองเดียวกันกับมาตรา 18(1) ที่ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะที่เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ กล่าวคือ การเป็นที่ปรึกษานั้น เป็นเพียงการให้คำแนะนำหรือเสนอแนะเท่านั้น ไม่ใช่การสั่งการหรือการกำกับดูแล
ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ดี และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ดี จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม หากเห็นว่า เป็นคำแนะนำหรือการเสนอแนะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน
รูปแบบของการให้คำปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดในทางปฏิบัติ
คนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จำเป็นต้องทำงานในรูปแบบของการบูรณาการเชิงสร้างสรรค์โดยจะต้องผนึกกำลังของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งหน่วยงานที่สังกัดราชการส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และส่วนกลาง ตลอดจนองค์กรภาคเอกชนและองค์กรศาสนาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่
ดังจะเห็นได้จากในการประชุมประจำเดือนของจังหวัดต่าง ๆ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานที่ประชุม ผู้เข้าประชุมได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด และนายอำเภอทุกอำเภอ ซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรีของเทศบาลขนาดใหญ่ในจังหวัด
นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ระดับจังหวัด เขตหรือภาค ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัด แต่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุกอำเภอ ตลอดตัวแทนหน่วยงานหรือองค์กรเอกชนระดับจังหวัด เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาการท่องเที่ยวจังหวัด รวมทั้งตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด(ถ้ามี)
จังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก จำนวนผู้เข้าประชุมและเข้าร่วมประชุมในแต่ละเดือน มีมากถึง 300-400 คน นับว่าเป็นการประชุมที่มีบรรยากาศคึกคักมากทีเดียว
การเข้าร่วมประชุมดังกล่าว เป็นการเข้าประชุมเพื่อรับทราบข้อราชการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีความประสงค์จะให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดได้รับทราบอย่างทั่วถึงในคราวเดียวกัน
ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า การที่จังหวัดใดมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแล้วจะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตกอยู่ใต้อำนาจหรืออิทธิพล จนอาจจะเป็นเหตุทำให้ศาสนาอิสลามครอบงำประเทศไทยได้นั้น เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้นเลย เพราะตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่เข้าร่วมประชุมประจำเดือนของจังหวัด เป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่ได้เข้าร่วมประชุมกับตัวแทนของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องแจ้งเพื่อทราบ มิใช่เรื่องที่ต้องตัดสินใจอะไร
10.สรุป
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนของประชาชนชาวไทยที่เป็นชาวพุทธ ผมขอสรุปสาระสำคัญของบทความนี้ ดังนี้
10.1 พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับต่าง ๆ ที่ผ่านมา) ไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรงว่า พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทย แต่ก็ได้กำหนดไว้ในทางอ้อม ด้วยการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะ ตามมาตรา 7 ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ประชากรไทยร้อยละ 93 นับถือศาสนาพุทธ ย่อมแสดงว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยอย่างชัดเจนอยู่แล้วโดยพฤตินัย
10.2 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 7 ดังกล่าวได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า นอกจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะแล้ว ยังทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกในการสนับสนุนและสิ่งเสริมศาสนาอื่น ๆ ทีมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสในประเทศไทยด้วย
10.3 ประชาชนชาวไทยมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา
แม้ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ แต่ประชาชนชาวไทยก็มีเสรีภาพที่จะนับถือศาสนาอื่นได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ มาตรา 31 เช่น ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู และศาสนาอื่น ๆ
10.4 อำนาจหน้าที่ของรัฐในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
ตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 67 กำหนดให้รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเถรวาท และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด รวมทั้งพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหือกลไกดังกล่าว
ส่วนการคุ้มครองศาสนาอื่น รัฐธรรมนูญ ฯ กล่าวไว้เพียงลอย ๆ มิได้มีรายละเอียดเหมือนการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา
10.4 การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม
การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม เป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ซึ่งใช้บังคับมาแล้วเป็นเวลายาวนานร่วม 26 ปี และเป็นกฎหมายที่ตราใช้บังคับ ในช่วงที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน คือ รัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ มิใช่รัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลเผด็จการอย่างที่มีบุคคลบางคนหรือบางกลุ่มพยายามจะชี้นำทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด หรือเข้าใจสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
การบริหารองค์กรศาสนาอิสลามตามพระราชบัญญัติดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
-ระดับชาติ ได้แก่ จุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
-ระดับจังหวัด คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
-ระดับมัสยิด คือ คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ปัจจุบันมีอยู่จำนวน 36 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในภาคใต้และภาคกลาง มีอยู่ในทางภาคเหนือบ้างบางจังหวัด
ในจังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจเชิญประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือตัวแทน เข้าร่วมในการประชุมประจำเดือนหรือการประชุมปรึกษาหารือในโอกาสต่าง ๆ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด และนายอำเภอ ตลอดตัวแทนส่วนราชการส่วนกลาง และหน่วยงานภาคเอกชนบางหน่วยงาน เพื่อให้ได้รับทราบข้อราชการของจังหวัดโดยพร้อมเพรียงกัน
ดังนั้น คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จึงไม่ได้มีอำนาจหน้าที่หรือบทบาทพิเศษใด ๆ ที่จะชี้นำการตัดสินใจในการบริหารงานจังหวัดของผู้ว่าราชการจังหวัดแตกต่างไปจากหน่วยงานภาคเอกชนอื่น ๆ ที่มีอยู่ในจังหวัดเหมือนอย่างที่บุคคลบางคนหรือบางกลุ่มได้พยายามชี้นำให้สังคมเกิดความเข้าใจสับสนหรือเข้าใจผิดและหวาดระแวงบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไปในทางลบ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา
10.5 ข้อสังเกต
นอกจากพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรอิสลาม พ.ศ.2540 ที่ออกในยุคของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับศาสนาอิสลามอีกฉบับหนึ่งที่มีคนจำนวนหนึ่งอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ประกาศใช้บังคับในยุครัฐบาลทหารหรือรัฐบาลเผด็จการ คือ พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 ซึ่งความจริงแล้วเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับในยุครัฐบาล
ที่มาจากการเลือกตั้ง คือรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร
สำหรับข้อมูลและความคิดเห็นอื่น ๆ ขอเชิญท่านติดตามได้ใน ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
ถาม-ทำไมจึงกล่าวว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
ตอบ-การที่กล่าวว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย เพราะประชากรไทยส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 93 นับถือศาสนาพุทธ และยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 7 รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับต่าง ๆ ที่ผ่านมาทุกฉบับ กำหนดให้พระมหากษัตริย์ไทยต้องทรงเป็นพุทธมามกะ
ถาม- นอกจากมาตรา 7 ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้มีข้อความอื่นได้ที่แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
ตอบ- นอกจากมาตรา 7 ดังกล่าวแล้ว ยังมีมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญ ฯ ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือมาเป็นเวลาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท
ถาม-การที่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในวงการศาสนาพุทธอาจจะกระทำการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่ารูปแบบใด เช่น บิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้า จนกลายเป็นการสร้างลัทธิขึ้นใหม่ รัฐควรจะดำเนินการประการใด
ตอบ- ตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 67 รัฐพึงมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด รวมทั้งจะต้องส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย
ถาม-การที่รัฐได้ใช้หรือจะใช้อำนาจตามกฎหมายดำเนินคดีอาญากับบุคคลผู้อยู่ในวงการพระพุทธศาสนา ถือว่า เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาหรือไม่
ตอบ-การที่รัฐได้ใช้หรือจะใช้อำนาจตามกฎหมายดำเนินคดีอาญากับบุคคลผู้อยู่ในวงการพระพุทธศาสนา เช่น พระภิกษุสงฆ์ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานของคณะสงฆ์ กระทำการทุจริตด้วยการฉ้อโกงหรือยักยอกทรัพย์อันเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ย่อมจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาและต้องได้รับโทษเหมือนบุคคลทั่วไปที่กระทำความผิดทางอาญา
ดังนั้น จะไปคิดว่าหรือกล่าวหาว่า รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ได้ใช้หรือจะใช้อำนาจดังกล่าว กระทำการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาหาได้ไม่ ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นการกระทำตามหน้าที่เพื่อรักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้บริสุทธิ์และมั่นคง อีกประการหนึ่ง หากเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดปล่อยปละละเลยอาจจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ถาม-ทำอย่างไรจึงจะตรวจสอบได้ว่า ข้อมูลที่มีผู้เผยแพร่ทางสื่อหรือโลกออนไลน์เกี่ยวกับศาสนาอิสลามในเชิงลบ ไปในทำนองศาสนาอิสลามมีหรืออาจจะมีอำนาจหรืออิทธิพลครอบงำประเทศไทยผ่านทางการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม เป็นข้อมูลที่เป็นเท็จหรือไม่
ตอบ- ผมมีข้อแนะนำเบื้องต้นว่า ควรจะใช้สติและปัญญาในการพิจารณาข้อมูลดังกล่าวว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด เพราะข้อมูลหลายอย่าง หากเราตั้งสติพิจารณาเราก็จะทราบได้ทันทีว่า เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เป็นความคิดของพวกฟุ้งซ่านหรือคนเสียสติ ไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเหล่านี้ มักจะออกมาในรูปของบัตรสนเท่ห์ทางออนไลน์ ซ่อนตัวอยู่ในที่มืด ไม่ระบุแหล่งที่มาของข้อมูล
ส่วนการจะตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวว่า เป็นความจริงหรือไม่เพียงใด ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแค่ให้ท่านตั้งคำถามลงไปใน กูเกิลในทำนองว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ เพียงเท่านี้ กูเกิลก็จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่มีหน่วยงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงไว้แล้ว มาให้เราตรวจสอบและพิจารณาด้วยตนเองได้ว่า จริงหรือเท็จ
การที่แต่ละศาสนาจะเผยแผ่หลักคำสอนเป็นสิ่งดีครับ ในสิทธิส่วนบุคคลที่จะนับถือศาสนา แต่การที่จะไปออกกฏหมายให้แต่ละพื้นที่มีความคิดเห็นที่ยอมรับได้นั้น เพื่อป้องกันความขัดแย้งก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของพื้นที่นั้นๆ เสียก่อนครับ
ใช่ถูกต้อง อย่างที่เรียกว่า ทำประชาคมหรือประชาพิจารณ์
บทความขอท่านอาจารย์ ตอนนี้ทำให้ผมเข้าใจในเรื่องของความศรัทธาและความเชื่อด้านสาสนา ของพี่น้องประชาชนคนไทย และรู้เท่าทันพิจารณาข้อเท็จจริงจากสือ่ที่มีมากมายในปัจจุบัน ที่มีทั้งข่าวจริง และข่าวปลอม จำนวนมากมายครับ
ดีใจที่บทความนี้ ทำให้คุณประดิษฐ์เริ่มมองเห็นแสงสว่าง
ถูกใจค่ะท่านอาจารย์ เป็นความจริงที่ทุกคนควรรู้และเข้าใจ
ขอบคุณครับ หน.บุญญสรณ์
กระผมเห็นว่า บทความนี้ได้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในข้อมูลที่สังคมกำลังเข้าใจคลาดเคลื่อน และสื่อให้เห็นว่า เราต้องเข้าถึงข้อมูลด้วยการตรวจสอบถี่ถ้วนและทำได้ง่ายผ่านมือถีอ ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่เขียนบทความที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างยิ่งครับ
ขอบคุณ คุณPhasin มากที่ชื่นชมบทความนี้
เนื้อหาของบทความ ทำให้กระผมเช้าใจถึงเจตนาในการออกกฏหมายทำให้เห็นภาพของการปกครองบ้านเมืองที่มุ่งคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียม ทำให้เห็นภาพของการใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มุ่งหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อสังคมและบ้านเมือง
ขอบคุณ คุณPhasin มาก ที่กรุณาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงประเด็นและสร้างสรรค์
ในส่วนของการเผยแพร่ศาสนาในพื้นที่ต่างไปจากที่ประชาชนเคยนับถือศาสนาเดิมนั้นในส่วนตัวผมคิดว่าน่าใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชนเพื่อลดความขัดแย้งครับ
ความเห็นของคุณเรืองศักดิ์ ถูกต้องและน่าจะนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง บทความนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อสังคมไทย ที่จะทำให้คนไทยได้มองเห็นเจตนารมณ์ของหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับศาสนา อย่างไม่คลาดเคลื่อนครับ
ขอบคุณสำหรับความเห็นอันแหลมคมของผู้หมวด
เป็นบทความที่เป็นประโยชน์มากครับ เพราะการที่มีกลุ่มบุคคลเผยแพร่บทความบิดเบือนในโลกออนไลน์ให้คนอ่านเข้าใจไปในทำนองที่ว่าประเทศไทยกำลังถูกศาสนาอิสลามคุกคาม นั้น
เป็นการแสวงประโยชน์ทางการเมือง โดยการใช้ความเชื่อทางศาสนามาเป็นเครื่องมือ ถ้าคนอ่านไม่ใช้สติคิดวิเคราะห์หรือศึกษาข้อมูล ก็จะเข้าใจว่ารัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมให้ศาสนาอิสลามคุกคามประเทศไทย คนอ่านก็จะโกรธ เกลียด เคียดแค้นรัฐบาล และไม่สนับสนุนรัฐบาล
ความเห็นของคุณ Pat นับว่า ถูกต้องและชัดเจนดีมาก
ปัจจุบันมีการแข่งขันทางการเมืองสูงมาก มีบางกลุ่มใช้ศาสนาในการหาฐานเสียง จึงผลิตข่าวสารเพื่อโจมตีและใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม
อาจจะเป็นเช่นนั้น