ประเทศ มาเลเซีย มีรูปแบบการปกครองแตกต่างไปจากไทยอย่างไร เป็นบทความลำดับที่ 8 ของหมวด 12 เรื่องเล่า ประเทศอาเซียน จะกล่าวถึง ความนำ กำเนิดประเทศ มาเลเซีย ข้อมูลเบื้องต้นของมาเลเซีย รูปแบบการปกครองประเทศ รูปแบบการปกครองรัฐ รูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาค รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น วิเคราะห์ความแตกต่าง สรุป และคุยกับดร.ชา

(Wikipedia, Malaysia, 22th March 2021)
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว คือ บทความ (7) ได้เล่าถึง ประเทศ เวียดนาม ว่ามีโอกาสจะแซงไทยกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก่อนได้หรือไม่ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบคู่แข่งขันระหว่างประเทศที่มีรูปแบบการปกครองประเทศต่างกัน กล่าวคือ เวียดนามเป็นประเทศที่มีรูปแบบการปกครองตามระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ส่วนไทยมีรูปแบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
สำหรับบทความนี้ ต้องการจะวิเคราะห์เปรียบเทียบให้เห็นว่า ประเทศเพื่อนบ้านของเราอีกประเทศหนึ่ง คือประเทศ มาเลเซีย มีรูปแบบการปกครองแตกต่างไปจากไทยอย่างไรบ้าง โดยจะแยกนำเสนอเป็น
– รูปแบบการปกครองประเทศ
– รูปแบบการปกครองรัฐ
– รูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาค
– รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น
– การวิเคราะห์เปรียบเทียบ
2.กำเนิดประเทศ มาเลเซีย
ดินแดนที่เรียกว่า มาเลเซีย ในทุกวันนี้ ในอดีตเรียกชื่อว่า มลายู เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน เป็นระยะเวลายาวนาน หากจะนับตั้งแต่อังกฤษได้จัดตั้งเป็นรัฐในอารักขาบนคาบสมุทรมลายู ที่เรียกชื่อว่า Federated Malay States (สหพันธรัฐมาเลย์) เมื่อปี ค.ศ. 1896 จนกระทั่งได้รับเอกราช เป็นสหพันธรัฐมาลายา คิดเป็นระยะเวลาตกเป็นอาณานิคมองอังกฤษ 61 ปี
อังกฤษได้มอบเอกราชให้ดินแดนมลายูเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1957 (พ.ศ.2500) ภายใต้ชื่อว่า “สหพันธรัฐมาลายา” (Federation of Malaya) ประกอบด้วย รัฐจำนวน 11 รัฐ ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู 10 รัฐ และดินแดนที่เป็นเกาะ 1 รัฐ คือ เกาะปีนัง
สหพันธรัฐมาลายาอยู่ได้เพียง 6 ปี ก็ต้องสิ้นสุดลง เพราะเมื่อปีค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) ผู้นำของสหพันธรัฐมาลายา คือ ตนกู อับดุล ราห์มาน ได้มีแนวคิดในการรวมเอาดินแดนใกล้เคียงที่กำลังจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ เข้ามารวมเป็นประเทศเดียวกัน คือ เกาะสิงคโปร์ ซาบาห์ ซาราวัค และบรูไน แต่บรูไนไม่ยอมรับหลักการ
เมื่อรวมกันได้แล้ว เปลี่ยนชื่อประเทศใหม่ จากสหพันธรัฐมาลายา เป็น สหพันธรัฐมาเลเซีย ประกอบด้วย รัฐเดิม 11 รัฐ และรัฐใหม่อีก 3 รัฐ รวมเป็น 14 รัฐ แต่เมื่อปีพ.ศ.2504 สิงคโปร์ภายใต้การนำของลี กวน ยู ได้ประกาศถอนตัวออกเป็นประเทศเอกราชต่างหาก จึงทำให้สหพันธรัฐมาเลเซียเหลืออยู่ 14 รัฐ ประกอบด้วย มาเลเซียตะวันตก 11 รัฐ และมาเลเซียตะวันออก 2 รัฐ
3.ข้อมูลพื้นฐานของมาเลเซีย
3.1 พื้นที่
ตามข้อมูลของ worldmeter มาเลเซียมีพื้นที่จำนวน 330,803 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับที่ 68 ของโลก และเป็นอันดับที่ 6 ของอาเซียน รองลงมาจาก อินโดนีเซีย พม่า ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
3.2 จำนวนประชากร
ตามข้อมูลของ worldmeter มาเลเซีย มีจำนวนประชากรปี 2021 จำนวน 32,365,999 คน มากเป็นอันดับที่ 45 ของโลก และเป็นอันดับ 6 ของอาเซียน รองลงมาจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และพม่า
3.3 ตำแหน่งที่ตั้ง
มาเลเซียตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู ด้านทิศตะวันออกจรดมหาสมุทรแปซิฟิก (ทะเลจีนใต้/อ่าวไทย) และด้านตะวันตก จรดมหาสมุทรอินเดีย (ทะเลอันดามัน)
4.รูปแบบการปกครองประเทศ มาเลเซีย
รูปแบบการปกครองของ ประเทศ มาเลเซีย เป็นการปกครองแบบรัฐรวม ประกอบด้วยรัฐจำนวน 13 รัฐ และดินแดนสหพันธ์จำนวน 3 แห่ง ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง
ส่วนระบอบการปกครองเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มีกษัตริย์หรือที่เรียกว่า สมเด็จพระราชาธิบดี (ยังดีเปอร์ตวนอากง) เป็นประมุข โดยจะได้รับเลือกจากที่ประชุมของสุลต่านซึ่งมีอยู่จำนวน 9 รัฐ และอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 5 ปี
ประเทศ มาเลเซีย แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 เขตใหญ่ ๆ คือ

4.1 มาเลเซียตะวันตก
คือ ส่วนที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู(ตามแผนที่อยู่ทางซ้ายมือ แสดงเป็นสีนำ้เงิน) ประกอบด้วยรัฐ จำนวน 11 รัฐ คือ
4.1.1 รัฐกลันตัน เมืองหลวงชื่อ โกตาบารู
4.1.2 รัฐเคดะห์ (ไทรบุรี) เมืองหลวงชื่อ อลอสตาร์
4.1.3 รัฐตรังกานู เมืองหลวงชื่อ กัวลาตรังกานู
4.1.4 รัฐเนกรีเซมบีลัน เมืองหลวงชื่อ สเรมบัน
4.1.5 รัฐปะหัง เมืองหลวงชื่อ กวนตัม
4.1.6 รัฐปะลิส เมืองหลวงชื่อ กางาห์
4.1.7 รัฐปีนัง เมืองหลวงชื่อ จอร์จทาวน์
4.1.8 รัฐเประ เมืองหลงชื่อ อีโปห์
4.1.9 รัฐมะละกา เมืองหลวงชื่อ มะละกา
4.1.10 รัฐยะโฮร์ เมืองหลวงชื่อ ยะโฮร์บาห์รู
4.1.11 รัฐสลังงอร์ เมืองหลวงชื่อ ชาห์อาลัม
4.2 มาเลเซียตะวันออก ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียวตอนเหนือ มีจำนวน 2 รัฐ คือ
(ตามแผนที่ อยู่ทางขวามือ แสดงเป็นสีเหลือง)
4.2.1 รัฐซาบาห์ เมืองหลวงชื่อ โกตากินะบาลู
4.2.2 รัฐซาราวัค เมืองหลวงชื่อ กูจิง
ดินแดนที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง จำนวน 3 แห่ง คือ
กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวง
ปุตราจายา เมืองคู่แฝด กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นศูนย์บริหารราชการ ตั้งอยู่บนมาเลเซียตะวันตก
ลาบวน (วิคตอเรีย) ตั้งอยู่บนมาเลเซียตะวันออก
5.รูปแบบการปกครองรัฐ (State Government)
การปกครองรัฐจำนวน 13 แห่ง เปรียบเสมือนรัฐบาลเล็ก ๆ ที่อยู่ในประเทศใหญ่ โดยใช้โครงสร้างเดียวกันกับรัฐบาลระดับชาติ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
รัฐใดที่มีสุลต่านหรือเจ้าผู้ปกครองรัฐ ซึ่งมีอยู่จำนวน 9 รัฐ รัฐบาลแห่งรัฐ มีมุขมนตรีแห่งรัฐ (Menteri Besar) เป็นหัวหน้ารัฐบาลของรัฐ ด้วยการสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือด
รัฐใดที่ไม่มีสุลต่านหรือเจ้าผู้ปกครองรัฐ ซึ่งมีอยู่จำนวน 4 รัฐ ได้แก่ ปีนัง มะละกา ซาบาห์ และ ซาราวัค มีผู้ว่าการรัฐ (Ketua Besar) ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้บริหารรัฐ (Executive Council-Exco)
แต่ละรัฐมีอิสระจากการบริหารจากรัฐบาลกลางตามสมควร มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลด้านศาสนา ประเพณี สังคม เกษตรกรรม การคมนาคมภายในรัฐ ยกเว้นด้านการต่างประเทศ การทหาร ความมั่นคง ตุลาการ การเงิน และเศรษฐกิจมหภาค อยู่ในอำนาจของรัฐบาลกลาง
รูปแบบการบริหารรัฐ
รูปแบบการบริหารรัฐ ของมาเลเซีย แยกออกเป็น 3 ส่วน คือ
- สภานิติบัญญัติของรัฐ
- คณะมนตรีบริหารรัฐ
- สำนักเลขาธิการรัฐ
สำนักเลขาธิการรัฐ เป็นหน่วยงานข้าราชการสูงสุดของรัฐ รับผิดชอบในการบริหารราชการระดับล่าง เช่น อำเภอ ตำบล
6.รูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาค
การปกครองส่วนภูมิภาคของมาเลเซีย ประกอบด้วย อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยข้าราชการอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหลักการหลายอย่างแตกต่างจากรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคของไทย
6.1 อำเภอ (District)
อำเภอ นับเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย หลาย ๆ ตำบลรวมกันเป็นหนึ่งอำเภอ และมีนายอำเภอเป็นหัวหน้า
นายอำเภอได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่น
นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงานทั้งหมดในอำเภอ และทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐกับหน่วยงานที่อยู่ต่ำกว่าระดับอำเภอ แต่รัฐบาลของรัฐมีอำนาจในการเปลี่ยนตัวนายอำเภอในเขตรัฐได้ตลอดเวลา สถานะของนายอำเภอเปรียบเสมือนเสนาธิการประจำรัฐในระดับอำเภอ
อำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ
6.1 มีอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาแผ่นดินในระดับอำเภอหรือต่ำกว่า ในบางรัฐนายอำเภอยังมีสถานะเป็นอัยการด้วย
6.2 ปกครองและดูแลเกี่ยวกับทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ที่ดิน
6.3 ทำหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ เช่น ภาษีที่ดิน
6.4 ทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชนขนาดใหญ่ระดับอำเภอเพื่อการสาธารณประโยชน์
6.5 เป็นประธานคัดเลือกผู้นำท้องถิ่นเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ
6.6 เป็นประธานกรรมการพัฒนาชนบทในระดับอำเภอ
สภาอำเภอ
สภาอำเภอทำหน้าที่ในการเสนอแนะนายอำเภอในการบริหารกิจการต่าง ๆ ของอำเภอ สมาชิกของสภาอำเภอได้มาจากการคัดเลือกผู้นำจากตำบลต่าง ๆ
ความสำคัญของการปกครองระดับอำเภอ
การปกครองระดับอำเภอเป็นกลไกหลักของรัฐบาลในการบริหารงานพื้นที่ให้ได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นกลไกเชื่อมระหว่างรัฐบาลกับองค์กรต่าง ๆ ในระดับที่ต่ำกว่าอำเภอแต่ยังไม่ได้รับการยกฐานะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น
แต่อาจจะมีการตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นซ้อนกับพื้นที่อำเภอได้ ได้แก่ สภาชนบทประจำอำเภอ (Rural District Council) นอกจากนี้หากตำบลหมู่บ้านใดมีความเจริญเข้าหลักเกณฑ์ อาจจะได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและยุบตำบลหมู่บ้านก็ได้
6.2 ตำบล (Mukim)
ตำบลเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาครองลงมาจากอำเภอ หลาย ๆ หมู่บ้านรวมกันเข้าเป็นหนึ่งตำบล โดยมีกำนัน (Head of Mukim/Penhuln) เป็นหัวหน้า
กำนันของมาเลเซีย มีฐานะเป็นข้าราชการเต็มตัว เพราะได้มาจากการสอบแข่งขันและแต่งตั้งจากส่วนกลาง สังกัดกระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับเงินเดือนและเงินบำเหน็จบำนาญเหมือนข้าราชการทั่วไป โดยได้รับเงินเดือนค่อนข้างสูง และจะต้องมีการทดสอบความรู้ตลอดเวลา หากวัดความรู้ไม่ผ่านก็อาจจะเป็นเหตุทำให้ถูกปลดออกจากตำแหน่งได้
กำนันเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายอำเภอ มีหน้าที่ในการช่วยเหลือนายอำเภอในด้านต่าง ๆ โดยนายอำเภอมีอำนาจในการโยกย้ายสับเปลี่ยนกำนันไปยังตำบลใดก็ได้ที่อยู่ในเขตอำเภอ
คณะกรรมการประจำตำบล
การปกครองระดับตำบล นอกจากมีกำนันแล้ว ยังมีคณะกรรมการประจำตำบล ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือการบริหารงานของกำนัน แต่บางตำบลอาจจะไม่มีคณะกรรมการประจำตำบลก็ได้
6.3 หมู่บ้าน (Kampongs)
หมู่บ้านเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่เล็กที่สุดของมาเลเซีย และเป็นหน่วยการปกครองที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด โดยมีผู้ใหญ่บ้าน (Head of Kamongs) เป็นหัวหน้า
เดิมตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้มาจากการแต่งตั้ง แต่หลังจากปีพ.ศ.2519 ได้มีการแก้กฎหมายให้ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ทำให้ผู้ใหญ่บ้าน มีฐานะเป็นกึ่งราชการ แต่ก็ยังถือว่า ผู้ใหญ่บ้านมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองส่วนภูมิภาค และได้รับผลตอบแทนจากทางราชการคือ เงินเดือน และสิทธิพิเศษต่าง ๆ
7.การปกครองส่วนท้องถิ่น
การปกครองส่วนท้องถิ่นของมาเลเซียอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลแห่งรัฐ โดยแบ่งการปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 5 รูป คือ
7.1 สภานคร (City Council) มีอยู่ 12 แห่ง แยกฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกัน
7.2 สภาเทศบาลนคร (Municipal Council) มีอยู่ 39 แห่ง ไม่แยกฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกัน เป็นการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ
7.3 สภาเมือง (Town Council)
ประชากร 5,000-100,000 คน สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง
7.4 คณะกรรมการเมือง (Town Board)
เป็นการปกครองท้องถิ่นในเมืองเล็ก ประชากร 5,000 คนขึ้นไป คณะกรรมการมาจากการแต่งตั้ง
7.5 สภาท้องถิ่น (Local Council) หรือสภาอำเภอ (District Council)
เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นในชนบท มีจำนวน 98 แห่ง
8.วิเคราะห์ความแตกต่างรูปแบบการปกครองมาเลเซีย-ไทย
เพื่อให้เห็นความแตกต่างของรูปแบบการปกครองมาเลเซีย-ไทย ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอวิเคราะห์ ดังนี้
8.1 รูปแบบของรัฐ
มาเลเซีย เป็นประเทศรัฐรวม มีรัฐบาลสองระดับ คือ รัฐบาลกลาง และรัฐบาลของรัฐ จำนวน 13 รัฐ แต่อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลของรัฐอาจจะไม่มากหรือชัดเจนเท่ากับมลรัฐของสหรัฐอเมริกา เพราะกำเนิดของมลรัฐและประเทศมาเลเซีย เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่มลรัฐของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ให้กำเนิดรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา
ส่วนประเทศไทย เป็นประเทศรัฐเดี่ยว มีรัฐบาลระดับเดียว คือ รัฐบาลไทย
8.2 ระบอบการปกครอง
มาเลเซีย มีระบอบการปกครองประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นประมุข แต่สมเด็จพระราชาธิบดีหรือกษัตริย์มาเลเซีย มิได้ขึ้นดำรงตำแหน่งด้วยการสืบราชสันติวงศ์ กล่าวคือที่ประชุมสุลต่าน หรือเจ้าผู้ครองรัฐของมาเลเซีย จำนวน 9 รัฐ จะเป็นผู้เลือกสุลต่านองค์ใดองค์หนึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดี ทุก ๆ 5 ปี
ส่วนประเทศไทย มีระบอบการปกครองประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยการสืบราชสันติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
8.3 การปกครองส่วนกลาง
การปกครองส่วนกลางของมาเลเซีย ไม่แตกต่างไปจากไทย คือ จัดการปกครอง เป็นกระทรวง กรม และกอง
8.4 การปกครองรัฐ
มาเลเซีย มีรัฐ 13 รัฐ จัดการปกครองเป็นรัฐบาลรัฐ เป็น 2 รูปแบบ คือ รัฐส่วนใหญ่ซึ่งมีสุลต่านเป็นเจ้าผู้ครองรัฐ จำนวน 9 รัฐ มีมุขมนตรีเป็นผู้ปกครองรัฐในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เป็นตำแหน่งที่ได้มาโดยการสืบสายโลหิต
ส่วนรัฐที่ไม่มีสุลต่าน ซึ่งมีจำนวน 4 รัฐ มีผู้ว่าการรัฐเป็นผู้ปกครองในฐานะประมุขและหัวหน้ารัฐบาลรัฐ โดยสภาแห่งรัฐจะเลือกสมาชิกสภาแห่งรัฐหนึ่งคนขึ้นเป็นผู้ว่าการรัฐ
การปกครองรัฐ นับเป็นส่วนที่แตกต่างไปจากรูปแบบการปกครองของไทยที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง เพราะไทยเป็นรัฐเดี่ยว ไม่มีรัฐเล็กหรือมลรัฐเหมือนอย่างประเทศรัฐรวม
8.5 การปกครองส่วนภูมิภาค
แม้มาเลเซียเป็นประเทศรัฐรวม แต่ก็ยังมีการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งอาจจะดูแปลกหรือผิดแผกไปจากประเทศที่เป็นรัฐรวมทั้งหลาย
การปกครองส่วนภูมิภาคของมาเลเซีย มีไว้เพื่อเชื่อมและประสานการทำงานของรัฐบาลกลาง รัฐบาลของรัฐ ประกอบด้วย อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
อำเภอ
เป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย มีนายอำเภอเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ นายอำเภอเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่รัฐบาลของรัฐมีอำนาจโยกย้ายสับเปลี่ยนนายอำเภอภายในเขตรัฐของตนได้
นายอำเภอมาเลเซีย มีความสำคัญเปรียบเสมือนเสนาธิการของรัฐในระดับอำเภอ
ตำบล
เป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาค รองลงมาจากอำเภอ มีกำนันเป็นผู้รับผิดชอบ กำนันเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นเดียวกับนายอำเภอ นายอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชากำนัน และมีอำนาจโยกย้ายสับเปลี่ยนกำนันจากตำบลหนึ่งไปยังอีกตำบลหนึ่งภายในเขตอำเภอได้
หมู่บ้าน
เป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่เล็กที่สุดของมาเลเซีย เดิมผู้ใหญ่บ้านเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นเดียวกันกับนายอำเภอและกำนัน แต่ปัจจุบัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นตำแหน่งที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทุก 5 ปี
การปกครองส่วนภูมิภาคของไทย
การปกครองส่วนภูมิภาคของไทย แตกต่างจากมาเลเซียตรงที่ จังหวัดและอำเภอ เป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคของไทย ส่วนตำบลและหมู่บ้าน เป็นการปกครองท้องที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองส่วนภูมิภาค
การปกครองส่วนภูมิภาคของไทย วางน้ำหนักให้จังหวัดภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐในส่วนภูมิภาค ส่วนอำเภอภายใต้การนำของนายอำเภอ เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงอำนาจรัฐกับประชาชน
ตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านของไทยของไทย มิใช่ตำแหน่งข้าราชการประจำ แต่เป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปจนกระทั่งเกษียณอายุ 60 ปี
กำนันผู้ใหญ่บ้านของไทย ถือว่า เป็นตำแหน่งที่ต้องเสียสละในการทำงาน โดยทำงานให้ทุกกระทรวง และกรมในระดับพื้นที่ เพราะมิได้มีเงินเดือนกินเหมือนข้าราชการประจำ มีแต่เงินค่าตอบแทนประจำเดือนที่ตายตัว และสิทธิประโยชน์บางอย่าง เช่น การเบิกค่าเล่าเรียนบุตร และสิทธิในการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับข้าราชการ
8.6 การปกครองส่วนท้องถิ่น
การปกครองส่วนท้องถิ่นของมาเลเซีย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ มีอยู่ 5 รูป คือ สภานคร สภาเทศบาล สภาเมือง คณะกรรมการเมือง และสภาท้องถิ่น โดยสภานครแยกฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกัน แต่สภาเทศบาลไม่ได้แยกฝ่ายออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร สภาเมืองมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะกรรมการเมือง มาจากการแต่งตั้ง
สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ มีอยู่ 5 รูปเช่นกัน คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ทุกรูปมีโครงสร้างแบบเดียวกัน คือ ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติแยกออกจากกัน และต่างมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
9. สรุป
ประเทศ มาเลเซีย มีรูปแบบการปกครองแตกต่างไปจากไทยหลายประการ นับตั้งรูปแบบของรัฐ มาเลเซียเป็นรัฐรวม ไทยเป็นรัฐเดี่ยว แต่ระบอบการปกครองประเทศเป็นระบอบเดียวกัน คือ ระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาทีมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
อย่างไรก็ดี ที่มาขององค์พระประมุขของประเทศแตกต่างกัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีของมาเลเซียได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมสุลต่านทั้ง 9 รัฐ อยู่ในวาระคราวละ 5 ปี แต่ที่มาของพระมหากษัตริย์ไทยได้มาโดยการสืบสันติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จุดที่น่าสนใจของการปกครองของประเทศ มาเลเซียอย่างหนึ่ง คือ แม้เป็นรัฐรวม แต่มาเลเซียก็มีการปกครองส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยมีนายอำเภอเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมต่ออำนาจของรัฐบาลกลางกับรัฐ และองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ต่ำกว่าระดับอำเภอ
แต่การปกครองส่วนท้องถิ่นของมาเลเซียมีหลักการแตกต่างไปจากไทย กล่าวคือ รัฐจำนวน 13 รัฐ เป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนไทย มีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
วันนี้เราได้รับเกียรติจาก ผู้หมวดพนมรักษ์ มาเป็นคู่สนทนา
ผู้หมวดพนมรักษ์ เป็นลูกศิษย์ปริญญาโท รามคำแหง ของผมด้วยผู้หนึ่ง

“สวัสดี ผู้หมวด ฯ วันนี้ อาจารย์รู้สึกยินดีมาก ที่ผู้หมวด ฯ กรุณาสละเวลามาพูดคุยกับอาจารย์ โดยวันนี้ เราจะคุยกันในเรื่องรูปแบบการปกครองของประเทศ มาเลเซียว่า แตกต่างไปจากไทยอย่างไร ผู้หมวด ฯ สนใจไหม ” ผมทักทายและเกริ่นนำก่อนตามธรรมเนียม
“ สวัสดีครับ อาจารย์ ผมเองก็ดีใจที่ได้รับเกียรติจากอาจารย์ในวันนี้ บางครั้งงานผมก็ยุ่งมาก อาจไม่มีเวลาทักทายอาจารย์ ต้องขออภัยด้วย
สำหรับหัวข้อสนทนานั้น ผมเองก็สนใจมากครับ เพราะเคยไปศึกษาดูงาน เห็นบ้านเมืองของเขาก็เจริญก้าวหน้าดี
ผมขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในเบื้องต้นก่อนว่า รูปแบบการปกครองของประเทศ มาเลเซีย มีข้อแตกต่างจากไทย ที่สำคัญคือ มาเลเซียเป็นรัฐรวม ส่วนไทยเป็นรัฐเดี่ยว ” ผู้หมวดพนมรักษ์แสดงความเห็นในขั้นพื้นฐานก่อน
“ ถูกต้องแล้ว มาเลเซียเป็นรัฐรวม ส่วนไทยเป็นรัฐเดี่ยว คำถามคือ มาเลเซียก็ไม่ใช่ประเทศใหญ่โตอะไร ทำไมถึงต้องเป็นรัฐรวม แทนที่จะเป็นรัฐเดี่ยว ” ผมลองทดสอบภูมิผู้หมวดพนมรักษ์
“ ในความเห็นของผม การจะเป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวม คงต้องดูในช่วงตั้งประเทศ เขามีการเจรจาทำความตกลงกันไว้อย่างไร จะไปสรุปว่า การเป็นรัฐรวมน่าจะต้องเป็นประเทศใหญ่ ๆ เท่านั้น คงไม่ได้
อย่างมาเลเซีย มีกำเนิดจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน เพิ่งได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์จากอังกฤษเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2500 ได้ตกลงจะตั้งประเทศในรูปแบบของรัฐรวม ในชื่อ สหพันธรัฐมลายู ก่อนจะเปลี่ยนชื่อ สหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อปีพ.ศ.2506 ” ผู้หมวดพนนมรักษ์ตอบแบบคนมีความรู้ดีทีเดียว
“แสดงว่า ผู้หมวด ฯ ยังไม่ลืมความรู้ที่อาจารย์ได้บรรยายให้ฟัง แม้เวลาจะผ่านมานานมากกว่า 10 ปีแล้วก็ตาม
อาจารย์อยากจะถามความเห็นเพิ่มเติมว่า มาเลเซียเป็นรัฐรวมแต่ก็มีการปกครองส่วนภูมิภาคด้วย ผู้หมวด ฯ ว่าน่าจะขัดกันไหม” ผมถามแบบให้คิดต่อไป
“ถ้าฟังเผิน ๆ ก็น่าจะขัดกัน แต่พอดูเนื้อหาตามที่อาจารย์เล่ามาข้างต้น ผมก็ว่า มาเลเซียเขาก็เก่งนะ สามารถใช้ตำแหน่งนายอำเภอเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมอำนาจของรัฐบาลกลางและอำนาจของรัฐเข้าด้วยกัน กล่าวคือ รัฐบาลกลางโดยกระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้แต่งตั้งนายอำเภอ แต่ก็ยอมให้รัฐทั้ง 13 รัฐ มีอำนาจโยกย้ายนายอำเภอภายในรัฐของตนเองได้ ทำให้ไม่มีความขัดแย้งกัน ” ผู้หมวดพนมรักษ์ตอบแบบคนเข้าใจแนวคิดของมาเลเซียดี

“ อาจารย์เห็นด้วยกับผู้หมวด ฯ นะ เพราะแต่ละประเทศอาจจะต้องมีการปรับกลไกบางอย่างให้เหมาะกับประเทศของตน
ขออีกประเด็นหนึ่ง คือ ผู้หมวด ฯ คิดว่า การที่นายอำเภอของมาเลเซียมีอำนาจโยกย้ายสับเปลี่ยนกำนันภายในอำเภอ น่าจะดีไหม หากจะให้นายอำเภอของไทยมีอำนาจโยกย้ายสับเปลี่ยนกำนันภายในอำเภอของตนเหมือนอย่างนายอำเภอของมาเลเซียบ้าง ” ผมถามให้คิดลึกลงไปอีก
“ อ๋อ ถ้าจะให้นายอำเภอของไทย มีอำนาจโยกย้ายกำนันภายในเขตอำเภอเหมือนอย่างมาเลเซีย เราจะต้องเปลี่ยนหลักการใหม่ คือ ให้กำนันเป็นข้าราชการสังกัดกรมการปกครอง อาจจะได้สักซีแปด หากเป็นเช่นนี้ นายอำเภอของไทยก็คงสนุกกับการโยกย้ายกำนัน สามารถแก้ปัญหากำนันที่อาจจะเฉื่อยชาเพราะดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลายาวนานได้ และก็จะไม่มีข้อครหาว่ากำนันคือผู้มีอิทธิพลอีกต่อไป
แต่ผมว่าเป็นไปไม่ได้ดอก เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศต้องก่อม็อบแน่ อีกอย่างจำนวนตำบลของไทยเรามีมากถึง 7,255 ตำบล หากจะเปลี่ยนหลักการให้กำนัน เป็นข้าราชการแบบมาเลเซีย รัฐบาลไทยคงต้องเพิ่มงบประมาณเป็นเงินเดือนกำนันในฐานะข้าราชการอีกเป็นจำนวนมากทีเดียว ” ผู้หมวดพนมรักษ์ตอบแบบคนมองเห็นภาพที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างชัดเจน
“ วันนี้ ผู้หมวด ฯ แสดงความเห็นได้ดีมาก ขอชมเชย เราได้คุยกันมาครบทุกประเด็นแล้ว จึงขอยุติการสนทนาไว้เพียงนี้ ขอขอบคุณผู้หมวด ฯ อีกครั้งหนึ่ง โอกาสหน้าพบกันใหม่”
“ ด้วยความยินดีครับ อาจารย์”
ดร.ชา
22/03/21
ดร.ชา 18/03/21
แหล่งอ้างอิงข้อมูลประกอบบทความ
1.สำนักงานก.พ.(ไม่ระบุปีที่พิมพ์). ระบบบริหารราชการของสหพันธรัฐมาเลเซีย. กรุงเทพฯ :
กรกนกการพิมพ์.
2.https://en.wikipedia.org/wiki/Federated_Malay_States
3.https://www.worldometers.info/world-population/population-by-country/
4.https://www.worldometers.info/geography/largest-countries-in-the-world/
ที่มาของกำนันประเทศมาเลเชียน่าสนใจมากครับ ถ้ากำนันประเทศไทยเป็นข้าราชการเหมือนมาเลเชีย อาจจะทำให้การบริหารราชการในระดับตำบล หมู่บ้าน มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นครับ
เป็นความคิดในเชิงจินตนาการ แต่คงยากที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะอาจจะเจอแรงต้าน
อาจารย์คะ แต่ก่อนสิงคโปร์เคยอยู่ภายใต้การปกครองของมาเลเซียทำไมไม่ก้าวหน้า สิงคโปร์ประกาศเป็นเอกราชแล้วทำไมประเทศเจริญก้าวหน้า มาจากสาเหตุอะไรคะ ขอบคุณค่ะ
ตอบสั้น ๆ คือ สิงคโปร์ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี เป็นตำแหน่งเชื่อมการเดินเรือจากฝั่งมหาสมุทรแปชิฟิกไปยังมหาสมุทรอืนเดีย ทำให้ท่าเรือสิงคโปร์ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก
สิงคโปร์อยู่ร่วมมาเลเซีย เพียงไม่กี่ปี ยังไม่ได้ทำอะไร
ที่สำคัญเขาได้ผู้นำประเทศที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก คือ ลี กวนยู
อาจารย์เคยเขียนบทความของประเทศพม่า ปัจจุบันนี้การประท้วงเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ผลจะจบลงอย่างไรคะ ในความคิดเห็นของอาจารย์ ขอบคุณค่ะ
ผมขออนุญาตแสดงความเห็นย้อนหลังนะครับอาจาร์ย ตามประเด็นการปกครองของมาเลเชีย ที่ใช้การปกครองส่วนภูมิภาคเป็นเป็นตัวเชื่อมรัฐบาลโดยให้อำนาจนายอำเภอ ส่วนไทยให้อำนาจผู้ว่าฯ แต่รัฐยังให้ผู้ปกครองรัฐสามารถโยกย้ายนายอำเภอได้ ประเทศไทยก็น่าจะให้ผู้บริหาร อปท.มีสิทธิร้องขอย้ายท่านผู้ว่าได้ก็น่าจะดีครับ เพราะเป็นการถ่วงดุลย์อำนาจราชการส่วนภูมิภาคของประเทศไทยเราครับ
น่าจะไม่สอดคล้องกับหลักการเท่าใดนัก รัฐ(state) ของมาเลเซีย คือรัฐเล็กในรัฐรวม ไม่ใช่ท้องถิ่น(local)
กรณีการย้ายผู้ว่า ฯ ของไทย เป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลทัองถิ่น แล้วจะมาเสนอให้ทัองถิ่นสามารถเสนอย้ายผู้ว่า ฯ ได้ ก็จะทำให้ทัองถิ่นมีอำนาจเหนือผู้ว่า ฯ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลท้องถิ่น คงไม่มีประเทศใดในโลกเขาทำกัน
ปกติผู้ว่า ฯ ก็ดำรงตำแหน่งในแต่ละจังหวัดไม่นานนัก อำนาจที่ผู้ว่า ฯสมัยนี้ มีต่อท้องถิ่นก็ไม่มากอะไร ผู้ว่า ฯคงไม่ได้เป็นปัญหาต่อทัองถิ่น ปัญหาจริงๆ ของท้องถิ่นไทย คือ การไม่มีรายไดมากพอที่จะทำหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากส่วนกลางมาก เมื่อต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากส่วนกลางมาก เลยทำให้ท้องถิ่นคิดว่า ไม่่่่่่ค่อยมีอิสระเท่าทีควร หากเมื่อใดท้องถิ่นสามารถหารายได้ ได้มากพอ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาส่วนกลางมาก แต่ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง
ขอบคุณครับ