87 / 100

นายอำเภอ กว่าจะได้เป็นยากไหม เป็นบทความลำดับที่ 8 ของหมวด 1 เส้นทางสู่อาชีพนักปกครอง จะกล่าวถึง ความนำ นายอำเภอ คือใคร ความสำคัญของนายอำเภอ โรงเรียนนอ. ความยากในการสอบเข้าโรงเรียนนอ.  การรอเวลาได้รับแต่งตั้งเป็นนอ. สรุป และเรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

อนึ่ง ในบทความหมวด ความฝันและความสำเร็จ คุณภัทรนันท์ ได้เล่าเรื่อง จากการศึกษา นอกโรงเรียน (กศน.)สู่ตำแหน่งนายอำเภอ (ในฝัน) ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถย้อนกลับเข้าไปอ่านได้

เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำ ซ้ำ ๆ ผมจะขอใช้คำว่า นอ. สลับกับคำว่า นายอำเภอ

   ในบางพื้นที่ นายอำเภอ ต้องทำงานเชิงรุุก และต้องเป็นผู้นำที่ดีของผู้ใต้บังคับบัญชา
ในบางพื้นที่ นายอำเภอ ต้องทำงานเชิงรุุก และต้องเป็นผู้นำที่ดีของผู้ใต้บังคับบัญชา

Table of Contents

1.ความนำ

            คนที่เข้ามาสมัครสอบแข่งขันเข้ารับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอ ล้วนมีความฝันที่จะได้เป็นนอ.ด้วยกันทั้งนั้น  แม้แต่ตัวผมเองก็เริ่มมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนอ.ตั้งแต่ยังเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมปีที่ 2-4 ดังที่ผมได้เล่าให้ท่านฟังมาแล้วในบทความ (6) แรงบันดาลใจ นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม

            แต่กว่าจะได้เป็นนอ.นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ส่วนจะยากเพียงใด ผมจะเล่าให้ท่านฟังตามลำดับในบทความนี้

2.นายอำเภอ คือใคร

            การที่ผมได้กล่าวว่า กว่าจะได้เป็นนอ.นั้น เป็นเรื่องยาก หรือไม่ใช่เรื่องงายเลยนั้น ก่อนอื่นเราควรจะทราบเสียก่อนว่า นอ.คือ ใคร

            ประเทศไทย เป็นรัฐเดี่ยว ที่แบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ระดับ คือ

            การบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม

            การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด และอำเภอ

            และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

          นอ. คือ หัวหน้าผู้รับผิดชอบสูงสุดในการปกครองส่วนภูมิภาคในระดับอำเภอ เป็นข้าราชการพลเรือน สังกัดกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง)

            ดังนั้น นอ.จึงเป็นตำแหน่งที่กระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งยังอำเภอต่าง ๆ ทั่วประเทศ อำเภอละหนึ่งคน เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบสูงสุดในพื้นที่ของอำเภอในฐานะตัวแทนรัฐ

            ปัจจุบัน นอ.เป็นข้าราชพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการระดับสูง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า นายอำเภอระดับ 9

3.ความสำคัญของนายอำเภอ

            ตำแหน่งนอ. เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อการปกครองในส่วนภูมิภาคของไทยมาก มาตั้งแต่เมื่อครั้งมีการปฏิรูปการบริหาราชการแผ่นดิน ยุคพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ รัชกาลที่ 5เพราะเป็นตำแหน่งที่รับผิดชอบในการนำนโยบายของรัฐลงไปปฏิบัติในพื้นที่ให้บังเกิดผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติ รองลงไปจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในระดับจังหวัด

        3.1 ความสำคัญของนอ.ในอดีต

            เมื่อครั้ง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ และอดีตประธานองคมนตรี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในช่วงปี พ.ศ.2520-2523 ได้กล่าวให้โอวาทในพิธีปิดการอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง สรุปใจความได้ว่า ในจังหวัดหนึ่ง มีผู้ว่าราชการจังหวัดใหญ่ที่สุด แต่นายอำเภอเป็นคนสำคัญที่สุด หากใครเป็นนายอำเภอที่ดีได้ ผู้นั้นก็จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้    

การที่พลเอก เปรม ฯ เห็นว่า นอ.สำคัญที่สุด เพราะนอ.เป็นตำแหน่งที่สัมผัสกับประชาชนโดยตรง ต้องสามารถปฏิบัติงานในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนได้ และต้องสามารถวางตนให้เป็นที่รักใคร่และศรัทธาของประชาชน หรือนั่งอยู่ในหัวใจของประชาชนนั่นเอง

            จากคำกล่าวของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ดังกล่าว คงจะสะท้อนให้เห็นความสำคัญของตำแหน่งนอ.ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยยังอยู่ในยุคสงครามเย็น ต้องต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มีความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่และประชาชนเป็นอันมาก   

          ทั้งนี้ ในระดับอำเภอ รัฐบาลก็ได้มอบหมายให้นอ.เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาจากภัยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จนได้เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ภัยการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ยุติลงในที่สุดตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/ 2523

ยุคนี้ นอ.ต้องเก่งทั้งบู๊และบุ๋น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง นอ.ต้องเป็นทั้งนักพัฒนาและนักปราบปรามต่อสู่กับภัยจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดของอำเภอ

3.2 ความสำคัญของนอ.ยุคหลังสงครามเย็น

หลังจากภัยจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้ยุติลงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 บทบาทของนอ.ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นบทบาทในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการพัฒนาชนบท ในยุคนี้ เป็นยุคของการทำงานในเชิงบูรณาการของกระทรวงที่มีบทบาทอย่างสูงในการพัฒนาชนบท จำนวน 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ

3.3 ความสำคัญของนอ.ยุคปัจจุบัน

ปลัดอำเภอวันนี้ หากอยากเป็นนายอำเภอในวันหน้า ก็ต้องทำงานหนักและทำงานเชิง
รุก ให้มีผลงานเด่นชัด
ปลัดอำเภอวันนี้ หากอยากเป็นนอ.ในวันหน้า ก็ต้องทำงานหนักและทำงานเชิง
รุก ให้มีผลงานเด่นชัด

หลังจากได้มีการกระจายอำนาจครั้งใหญ่ของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2540-2542 ด้วยการถอดถอนผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ออกจากการเป็นผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด ถอดถอนนอ. และปลัดอำเภอ ออกจากตำแหน่งผู้บริหารสุขาภิบาล รวมทั้งการยกฐานะสุขาภิบาลทั่วประเทศขึ้นเป็นเทศบาลตำบล ทำให้บทบาทนอ.ในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดในการพัฒนาชนบทหมดไป (พร้อมกับถอดถอนตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านออกจากองค์การบริหารส่วนตำบล) เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้เข้ารับหน้าที่แทนด้วยตนเอง

ดังนั้น ยุคนี้จึงเป็นยุคของการเป็นผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ของอำเภอ คือ องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลตำบล

นอกจากบทบาทในการเป็นผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว บทบาทหลักของนอ.ยุคนี้ คือ การสนองตอบนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุคที่ได้มอบหมายลงไปเป็นการพิเศษ เช่น การต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด การจัดระเบียบสังคม การแก้ปัญหาความยากจน การแก้ปัญหาโรคโควิด- 19 ระบาด การรณรงค์และป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสำคัญ  และศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งเป็นการบริหารงานในเชิงบูรณาการกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น และประชาชน

4.โรงเรียนนอ. โรงเรียนในฝันของนักปกครอง  

ตำแหน่งนอ. เป็นตำแหน่งข้าราชการระดับสูง การเข้าสู่ดำรงตำแหน่ง กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า ต้องใช้วิธีการสอบ แต่ให้ใช้วิธีการคัดเลือก นั่นคือ ยึดอาวุโสเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ผู้ที่รับราชการมานานได้ประโยชน์

กรมการปกครองเห็นว่า หากไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติแต่อาจจะมีอาวุโสน้อย ได้เข้ารับอบรมโรงเรียนนอ. คนที่มีอาวุโสน้อยที่มีความรู้ความสามารถสูงและกำลังมีไฟในการทำงาน ก็จะหมดกำลังใจในการทำงาน และประเทศไทยก็จะเต็มไปด้วยนอ.ที่มีอายุค่อนข้างมาก ทำให้ขาดความกระฉับกระเฉงในการทำงานรับใช้ประชาชนและประเทศชาติ ตลอดจนไม่เป็นที่ยอมรับในการเป็นผู้นำของหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ในพื้นที่ ดังน้ัน จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการผสมคือ ทุกคนต้องสมัครสอบคัดเลือก แต่เวลาประกาศผล ให้แบ่งโควตาออกเป็น 2 ส่วน คือ โควตาสายคัดเลือกจากผู้มีอาวุโสในราชการสูง และโควตาผู้สอบคัดเลือกได้

ด้วยวิธีการผสมผสานดังกล่าว จึงทำให้ประเทศไทยมีนอ.หลายคนที่มีอายุไม่มาก บางคนมีอายุไม่ถึง 40 ปี ก็ได้เป็นนอ.แล้ว

         4.1 ความเป็นมาของโรงเรียนนายนอ.

            ในอดีต การแต่งตั้งข้าราชการขึ้นดำรงตำแหน่งนอ.สามารถแต่งตั้งได้เลย ถ้ามีคุณสมบัติถูกต้อง เพราะในยุคนั้นยังไม่มีโรงเรียนนายอำเภอ

            ต่อมาประเทศไทยก็ได้แนวความคิดในการพัฒนาข้าราชการเข้าดำรงตำแหน่งนอ.และผู้ว่าราชการจังหวัดจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศแม่แบบของไทยการจัดระเบียบบริหารประเทศ กล่าวคือ แม้ฝรั่งเศสจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วมาเป็นเวลานาน แต่รูปแบบการปกครองประเทศของฝรั่งเศส เป็นรัฐเดี่ยวที่มีการปกครองส่วนภูมิภาค และมีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนนอ. เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยเช่นเดียวกับไทย

โรงเรียนแห่งนี้ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2506 ปัจจุบันมีอายุ 58 ปี

            โรงเรียนนอ. เป็นโรงเรียนอยู่ประจำ มีระยะเวลาการฝึกอบรม ระหว่าง 5-9 เดือน แล้วแต่นโยบายของทางราชการในแต่ละช่วง

        4.2 ความสำคัญของโรงเรียนนอ.

          โรงเรียนนอ. เป็นโรงเรียนสังกัดวิทยาลัยการปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรของกรมการปกครองเพื่อให้มีคุณสมบัติในการที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนอ.ต่อไป ดังนั้น หากข้าราชการกรมการปกครองคนใดที่ยังไม่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรนอ. จากโรงเรียนนอ. ก็จะไม่มีคุณสมบัติในการแต่งตั้งให้เป็นนอ.

            นอกจากการผลิตบุคลากรของกรมการปกครองเพื่อรอรับการแต่งตั้งเป็นนอ.แล้ว โรงเรียนนอ.ยังเป็นสถาบันที่รับผลิตบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ส่งคนไปเข้าร่วมรับการอบรมด้วย

5.ความยากในการสอบเข้าเรียนโรงเรียนนอ.

          การสอบเข้าเรียนโรงเรียนนอ. ถือว่า เป็นเรื่องยากมากสำหรับข้าราชการกรมการปกครอง ด้วยเหตุผล ดังนี้

        5.1 ตำแหน่งนอ.มีจำกัด

            ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินทุกฉบับ รวมทั้งฉบับปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 62 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า อำเภอหนึ่งมีนอ.หนึ่งคน เป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการในอำเภอ และรับผิดชอบงานบริหารราชการของอำเภอ

            ดังนั้น ตำแหน่งนอ. จึงมีเท่ากับจำนวนอำเภอทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 878 อำเภอ ในจำนวนจังหวัดทั้งหมด 76 จังหวัด

         5.2 การจัดตั้งอำเภอขึ้นใหม่เป็นเรื่องยาก

            การจัดตั้งอำเภอขึ้นใหม่ จะต้องจัดทำเป็นพระราชกฤษฎีกา ตามนัยมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 หมายความว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการจัดตั้งอำเภอแล้ว จะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล ฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้บังคับเป็นพระราชกฤษฎีกา

            ในทางปฏิบัติ หากรัฐบาลไม่มีนโยบายในการจัดตั้งอำเภอเพิ่ม จำนวนอำเภอก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะการจัดตั้งอำเภอเป็นเรื่องต้องใช้งบประมาณประจำปีเป็นจำนวนไม่น้อย

        5.3 การสอบคัดเลือกแต่ละครั้ง รับจำนวนจำกัด ในขณะที่ยอดผู้สมัครมีจำนวนมาก

            ปกติการสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนอ.จะรับจำนวนผู้เข้าเรียนจำนวนจำกัดเท่ากับจำนวนงบประมาณที่ได้รับจากสำนักงบประมาณในการอบรมจำนวน 1 รุ่น ๆ ละประมาณ 60-70 คน

            อย่างไรก็ดี บางครั้งมีแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองเพื่อสนองตอบความต้องการของข้าราชการที่ต้องการเข้ารับการอบรมโรงเรียนนอ.ที่มีสูงมาก ทำให้จำเป็นต้องมีการเปิดรับจำนวนนักเรียนนอ.ในบางปีงบประมาณมากกว่า 1 รุ่น เช่น จำนวน 2 รุ่น หรือบางครั้งก็มากถึง 3 รุ่น

            ส่วนจำนวนผู้สมัครสอบในแต่ละรุ่นมีจำนวนมากกว่าพันคน

        5.4 การออกข้อสอบและการตรวจข้อสอบเข้าโรงเรียนนอ.มีมาตรฐานสูงกว่าการสอบระดับตำแหน่งอื่น ๆ ของกรมการปกครอง

          การสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนระดับตำแหน่งอื่น เช่น เจ้าพนักงาปกครองชำนาญการพิเศษ แม้การสอบอาจจะสอบได้ยาก เพราะจำนวนผู้มีสิทธิสอบในแต่ละครั้งมีมาก ในขณะตำแหน่งที่ว่างอาจจะมีน้อยลง แต่ก็เป็นเพียงการสอบเพื่อเลื่อนระดับตำแหน่งให้สูงขึ้น  ไม่ได้ทำให้ผู้สอบได้มีฐานะผิดแผกไปจากเดิมมากนัก เพียงแต่มีระดับตำแหน่งสูงขึ้นเท่านั้น ยังไม่มีผลต่อฐานะในทางการบริหารและทางสังคมอย่างชัดเจน

            แต่การสอบเข้าโรงเรียนนอ. จะมีผลทำให้ผู้สอบเข้าได้ มีฐานะในทางบริหารและทางสังคมเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอันมาก ดังนั้น ผู้เข้าสอบแต่ละคน จะคิดเพียงว่าสอบได้ ยังไม่เพียงพอ แต่ต้องคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะเอาชนะผู้เข้าสอบจำนวนมากกว่าพันคนได้

            จริงอยู่บางคนอาจจะโชคดี สอบเข้าโรงเรียนนอ.แค่ 1-2 ครั้ง ก็ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ส่วนใหญ่ต้องสอบมากกว่า 3 ครั้ง และบางคนถ้าไม่ถอดใจเสียก่อน ต้องสอบร่วม 10 ครั้ง จึงสอบได้ก็มี

6.คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนอ.

          เมื่อข้าราชการกรมการปกครองได้ไต่เต้าจากตำแหน่งปลัดอำเภอ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ) ขึ้นเป็นปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) หรือปลัดอำเภอ ระดับ 7  จนกระทั่งได้เป็นปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ) หรือปลัดอำเภอ ระดับ 8 ก็จะเริ่มมีคุณสมบัติในการสมัครเข้าสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนอ.

            ปัจจุบันนี้ มีอัตรากำลังปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ) อำเภอละ 1-2 คน นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ ของที่ทำการปกครองจังหวัดจำนวน 2 ตำแหน่ง คือ จ่าจังหวัด และป้องกันจังหวัด

            ตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษของอำเภอประกอบด้วย ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานปกครองหรือที่นิยมเรียกกันว่า ปลัดอำเภออาวุโส และปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนและบัตร ผู้ดำรงตำแหล่งเหล่านี้ บางคนได้ผ่านการอบรมจากโรงเรียนนอ.มาแล้ว แต่ต้องมาดำรงตำแหน่งเพื่อรอการแต่งตั้งเป็นนอ.ต่อไปเมื่อมีตำแหน่งว่าง

7. การรอเวลาแต่งตั้งเป็นนอภ.

          ความยากในการสอบเข้าโรงเรียนนอ. ยังมีสาเหตุมาจากการรอเวลาแต่งตั้งภายหลังจากจบการอบรมจากโรงเรียนนอ.แล้วด้วย คือ การแต่งตั้งผู้จบจากโรงเรียนนอ.ให้ดำรงตำแหน่งนอ.จะแต่งตั้งเรียงลำดับตามรุ่น และในแต่ละรุ่นก็จะแต่งตั้งเรียงตามลำดับที่สอบออกได้ 

         ดังนั้น จึงทำให้ผู้มีสิทธิสอบต้องตั้งเป้าว่า จะต้องสอบให้ได้เร็วที่สุด เพื่อจะได้มีสิทธิรอรับคำสั่งแต่งตั้งในลำดับแรกก่อน เพราะถ้าสอบได้ช้า ก็จะต้องเสียเวลารอการแต่งตั้งล่าช้าออกไป บางคนอาจจะเกษียณอายุราชการก่อน ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้ง ซึ่งตามข้อเท็จจริงก็มีหลายคนที่สอบเข้าโรงเรียนนอ.ได้ช้า เลยพลาดโอกาสไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นนอ. เพราะเกษียณอายุราชการก่อนนั่นเอง

            เพื่อให้ท่านผู้อ่านเจ้าใจชัดเจนขึ้น   ผมขอยกตัวอย่างประกอบดังนี้

            นักเรียนนอ. รุ่นที่ 31 ทุกคน จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นนอ. ก่อนนักเรียนนอ.รุ่นถัดไป คือ รุ่นที่ 32 และนักเรียนนอ.รุ่นที่ 31 ก็จะไม่ได้รับแต่งตั้งพร้อมกัน ผู้ใดสอบออกได้ลำดับที่ดีกว่า ก็จะได้รับแต่งตั้งก่อน เรียงลำดับจากที่ 1 ไปจนถึงลำดับที่สุดท้ายของรุ่น ยกเว้นมีตำแหน่งว่างมากพอในปีนั้น  ก็อาจจะได้รับแต่งตั้งพร้อมกันทั้งรุ่น

            มีช่วงหนึ่ง มีการสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนอ.ปีละ 2-3 รุ่น ทำให้มีนักเรียนนอ.รอคิวรับคำสั่งแต่งตั้งเป็นนอ.มากจนเกินไป บางรุ่นต้องรอยาวนานร่วม 7-9 ปี ดังนั้น อธิบดีกรมการปกครองบางท่าน จึงไม่ยอมเปิดสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนอ.ในบางช่วง เพื่อสะสางยอดตกค้างรอคำสั่งแต่งตั้งเป็นนอ.ให้หมดไปก่อน

8.สรุป

          นอ. กว่าจะได้เป็น นับว่ายากมาก เพราะต้องไต่เต้านับตั้งแต่ปลัดอำเภอบรรจุใหม่จนกว่าจะได้เป็นปลัดอำเภอระดับชำนาญการพิเศษ หรือปลัดอำเภอระดับ 8 หลังจากนั้นจึงจะมีคุณสมบัติในการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าโรงเรียนนอ. และเมื่อจบการอบรมจากโรงเรียนนอ. ก็จะต้องรอคิวคำสั่งแต่งตั้งเป็นนอ. เรียงตามลำดับรุ่น และเรียงตามลำดับที่สอบได้ของแต่ละรุ่น

            การสอบเข้าโรงเรียนนอ. ถือว่าเป็นการสอบที่ยากมากสำหรับข้าราชการกรมการปกครอง เพราะมีอัตราการแข่งขันสูง ปกติการสอบแต่ละครั้ง จะมีการรับเข้าอบรมปีละ 1 รุ่น ยกเว้นบางช่วงก็อาจจะมีการเปิดรับ 2-3 รุ่น แต่ถ้าช่วงใดมีการเปิดรับมากกว่า 1 รุ่น ก็จะส่งผลทำให้ผู้ที่จบการอบรมต้องรอเวลาการแต่งตั้งยาวนานออกไป บางรุ่นต้องรอยาวนานร่วม 7-9 ปี

            สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา ท้ายบทความนี้

เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

คุณอนณ คู่สนทนา ในชุดปฏิบัติการที่ดูทะมัดทะแมงและเข้มแข็ง
คุณอนณ คู่สนทนา ในชุดปฏิบัติการที่ดูทะมัดทะแมงและเข้มแข็ง

          คู่สนทนาของผม ในวันนี้ คือ คุณอนณ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ปริญญาโท รามคำแหง ของผมผู้หนึ่ง โดยคุณอนณเป็นประธานรุ่น

            “สวัสดี คุณอนณ สบายดีไหม นานแล้วที่เราไม่ได้พบกัน งานคงยุ่งนะ ” ผมทักทายก่อนพร้อมถามทุกข์สุข

            “สวัสดีครับ อาจารย์ ผมสบายดี ขอบคุณครับ อาจารย์สบายดีใช่ไหมครับ พูดถึงงานของผมก็ยุ่งหน่อย เพราะงานที่ผมรับผิดชอบ เป็นงานเชิงรุกและต้องลงพื้นที่ตลอด แต่ก็สนุกดี ถูกกับรสนิยมของผมในฐานะที่เคยเป็นทหารมาก่อน ว่าแต่ว่า วันนี้อาจารย์มีเรื่องสนุกอะไรจะคุยกับผมเหรอ ” คุณอนณตอบคำถามเชิงทักทายของผม

          “ วันนี้ว่าจะชวนคุยเรื่อง นอ.ว่า กว่าจะได้เป็นยากไหม คุณอนณคิดอย่างไรในเรื่องนี้” ผมบอกหัวข้อที่จะชวนคุย

            “ ในความเห็นของผมนะอาจารย์ กว่าจะได้เป็นนอ.นี่ ผมว่ายากมาก เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน และกว่าจะมีสิทธิสอบ ต้องสอบได้เป็นปลัดอำเภอชำนาญการพิเศษ หรือปลัดอำเภอระดับ 8 ก่อน

            การสอบเป็นปลัดระดับ 8 นี่ก็ได้ยากนะครับอาจารย์ เพราะปลัดอำเภอผู้มีสิทธิสอบเป็นปลัดอำเภอระดับ 8  มีจำนวนมากร่วม 3-4 พันคน และจะขึ้นบัญชีผู้สอบได้เพียง 200-300 คน ดังนั้น ถ้าปลัดอำเภอคนใด ยังสอบเป็นปลัดอำเภอ 8 ไม่ได้ ก็ไม่ต้องฝันถึงการสอบเข้าโรงเรียนนอ. เพราะขาดคุณสมบัติ ” คุณอนณบรรยายถึงความยากลำบากของการสอบเป็นปลัดอำเภอ 8 ก่อน

            “ อย่างนั้นเหรอ ในยุคของอาจารย์ เพิ่งมีปลัดอำเภอระดับ 7 เป็นครั้งแรก รุ่นที่อาจารย์สอบก็ดีหน่อย ตรงที่ใครสอบได้ที่ดีกว่า ก็จะได้เข้าโรงเรียนนายอำเภอ ใครได้คะแนนรองลงมาก็จะได้เป็นปลัดอำเภอ 7

            ในยุคนั้นอยู่ในราวปีพ.ศ.2533 อาจารย์อยู่ประเภทที่สอง คือ ถูกรางวัลที่สอง ได้เป็นปลัดอำเภอ 7 รุ่นแรก แต่ไม่ได้เข้าโรงเรียนนายอำเภอซึ่งเป็นรางวัลที่หนึ่ง

            แต่พอปีถัดมา อาจารย์จึงสอบเข้าโรงเรียนนอ.ได้ แต่เวลาประกาศผล เขาให้อาจารย์อยู่ในบัญชีสายคัดเลือก เพราะในเวลานั้น อาจารย์ก็มีอาวุโสพอสมควรแล้ว อยู่ในบัญชีอาวุโสลำดับที่ 1 ของจังหวัดกาญจนบุรี ” ผมเล่าเรื่องในอดีตให้คุณอนณฟังบ้าง

            “ ผมขอทราบความเห็นของอาจารย์สักหน่อยว่า การสอบเข้าโรงเรียนนอ. อาจารย์ว่ายากมากไหม และอาจารย์มีข้อแนะนำอะไร ” คุณอนณถามถึงความรู้สึกและขอเคล็ดลับจากผม

            “ อาจารย์คิดว่า เป็นโรงเรียนที่สอบเข้ายากมาก ขนาดอาจารย์มีประวัติว่า สอบเลื่อนระดับ 6 สายเจ้าพนักงานปกครอง ได้ที่ 1 ของประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2526 คนในวงการต่างก็คาดหมายว่า อาจารย์น่าจะสอบครั้งเดียวได้เลย แต่ก็ผิดคาด เพราะอาจารย์ต้องสอบถึง 5 ครั้งจึงสมหวัง

            ในเรื่องนี้ อาจารย์มีข้อแนะนำหรือข้อคิดว่า การสอบเข้าโรงเรียนนอ. สำหรับข้าราชการปกครองแล้ว ต้องถือว่าเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น ระดับกีฬาโอลิมปิกเลยทีเดียว  หากเราไม่มีความพร้อมจริง ๆ โอกาสที่จะเข้าเส้นชัยไม่มีเลย อย่าไปหวังคำว่า พลุ๊ค หรือโชคช่วย ต้องอาศัยฝีมือล้วน ๆ

            เวลาผิดหวัง เราต้องไม่ท้อถอย เราต้องบอกตนเองว่า สอบคราวหน้าจะเอาใหม่ อะไรยังที่เป็นจุดอ่อนของเราต้องปิดให้หมด เพราะถ้าเราไม่แก้จุดอ่อนของเรา เราก็จะแพ้อีก ” ผมตอบให้ข้อคิดในเชิงกลยุทธ์

            “ สมมุมติว่า ถ้าสอบแล้ว สอบไม่ได้ เราควรจะปลอบใจตัวเอง อย่างไรดีอาจารย์ จึงจะหายจากความโศกเศร้าเสียใจได้อย่างรวดเร็ว ” คุณอนณ ขอข้อคิดดี ๆ จากผม

            “ อาจารย์ขอเล่าเรื่องจริงให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง  เมื่อปีพ.ศ.2534 ภายหลังจบจากโรงเรียนนอ.แล้วได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโส อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี อาจารย์ได้มีโอกาสไปเยี่ยมพรรคพวกที่อำเภอติดกัน คือ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

            พรรคพวกคนนี้ เป็นผู้ใหญ่กว่าอาจารย์ แต่ก็คุยถูกคอกันดี ขอเรียกชื่อว่า พี่สุรัตน์ก็แล้วกัน ในเวลานั้น พี่สุรัตน์กำลังเบื่อหน่ายชีวิตราชการ เพราะสอบเข้าโรงเรียนนอ.มาหลายครั้งแล้วไม่ได้เสียที ก็เกิดความท้อถอย

อาจารย์เลยพูดให้กำลังใจว่า ลองอีกสักครั้งเถิดพี่ เพื่อตัวพี่เองและเพื่อครอบครัว

            หากพี่สอบได้และได้เป็นนอ. ภรรยาของพี่ก็จะได้เป็นคุณนายนอ. ลูกของพี่ก็จะได้เป็นลูกนอ.  พ่อแม่พี่ก็จะได้เป็นพ่อแม่นอ. ผมอยากให้พี่ลองดูอีกสักครั้ง อะไรที่เป็นจุดอ่อนจากครั้งที่แล้ว ก็แก้ไขเสีย

            อาจารย์พูดใจจากใจจริง ทำให้พี่สุรัตน์เกิดความซาบซึ้งใจและมีกำลังใจขึ้นมาทันที และรับปากกับอาจารย์ว่า จะขอลองดูอีกที พร้อมกับมอบวัตถุมลคลเก่าแก่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีค่ามากอย่างหนึ่งให้อาจารย์เป็นการตอบแทนน้ำใจไมตรี ซึ่งทำให้อาจารย์ตื้นตันใจและงงเหมือนกัน ที่คำพูดของอาจารย์สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้พี่สุรัตน์ได้มากถึงเพียงนั้น ” ผมเล่ากรณีศึกษาในอดีตให้ฟัง

            “สุดท้าย ผลเป็นอย่างไร คุณสุรัตน์สอบได้ไหม ” คุณอนณถามด้วยความอยากรู้

            “ ได้สิ คุณอนณ ได้ในปีนั้นแหละ ได้หลังอาจารย์รุ่นหนึ่ง

            คุณอนณ ต้องจำไว้นะ หากเรามีความใฝ่ฝันหรือต้องการสิ่งใดอย่างแท้จริง แต่ยังไม่สมหวัง เราต้องเตือนตนเองว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว 

            วันนี้เราคงคุยกันแค่นี้นะ ขอบคุณมากที่สละเวลามาคุยกับอาจารย์ สอบอะไรก็ให้สมปรารถนานะ ” ผมพูดให้ข้อคิดพร้อมกับให้พรแก่คนเป็นลูกศิษย์

          “ ครับอาจารย์ ผมจะจำไว้ ขอบคุณอาจารย์มากครับ ”

                                                ดร.ชา   

                                                16/04/21

Dr.Char

Mr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

มองโกเลีย เคยเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก (13) (New***) 2

มองโกเลีย เคยเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก (13) (New***)

Share on Social Media facebook email 91 / 100 Powered by Rank Math SEO “มองโกเลีย เคยเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” เป็นบทความลำดับที่ 13 หมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก จะกล่าวถึง ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของมองโกเลีย ข้อมูลมองโกเลียในปัจจุบันที่ควรทราบ   ประวัติย่อของมองโกเลีย  ยุคจักรวรรดิมองโกลอันยิ่งใหญ่  วิเคราะห์เปรียบเทียบอาณาจักรมองโกล กับจักรวรรดิบริติช สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369           บทความที่เกี่ยวข้อง ประวัติ จีน ก่อนจีนยุคใหม่ “ จักรวรรดิจักรมองโกล (1206-1368)  เป็นจักรวรรดิที่มีอาณาเขตต่อเนื่องกันใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 24,000,000…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16) 3

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 5

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

2 COMMENTS

  1. ขอบคุณ คุณอนณที่ได้มาแบ่งปันประสบการณ์การเป็นนายอำเภอให้แก่เพื่อนๆได้อ่านบทความสั้นของอาจารย์ด้วยค่ะ
    หนูเพิ่งรู้ว่า นายอำเภอต้องสอบเข้า คิดว่าเลื่อนขั้นขึ้นไปค่ะ คิดผิดค่ะ

  2. ทำให้คนรู้จักนายอำเภอมากขึ้น ทราบว่าการที่จะเป็นนายอำเภอได้ต้องผ่านอะไรมาแค่ไหน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: