“ระบบตำรวจ อังกฤษ: ระบบไตรภาคี” เป็นบทความลำดับที่ 8 ของหมวด 13 เรื่องเล่า หนังสือ อีบุ๊ค หัวข้อประกอบด้วย ความนำ วัตถุประสงค์ของหนังสือระบบตำรวจ อังกฤษ เนื้อหาและขอบเขตของหนังสือ ระบบไตรภาคี กลไกถ่วงดุลอำนาจเพื่อประชาชน การทดลองอ่าน สรุป ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369
“ระบบตำรวจอังกฤษ เป็นระบบตำรวจพลเรือนสังกัดท้องถิ่น จึงมีกลไกยึดโยงกับประชาชนอย่างชัดเจน ภายใต้ระบบไตรภาคี”

Table of Contents
1.ความนำ
เรื่องราวของตำรวจ เป็นเรื่องที่สังคมไทยให้ความสนใจตลอดมา เพราะตำรวจคือผู้ถืออำนาจรัฐในการจับกุมดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา มาสอบสวนดำเนินคดี อันเป็นด่านแรกของกระบวนการยุติธรรม หากด่านแรกทำงานอย่างถูกต้อง มีคุณธรรม และเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนเชื่อได้ว่า ในที่สุดประชาชนก็ย่อมจะได้รับความเป็นธรรมอย่างแน่นอน
แม้ว่า รัฐสภาไทยจะได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ซึ่งอีกไม่นานนักก็คงจะมีผลใช้บังคับ แต่สังคมไทยก็ยังมีข้อสงสัยหรือคำถามอยู่มากว่า กฎหมายดังกล่าว จะมีเนื้อหาสาระตอบโจทย์การปฏิรูปตำรวจไทยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือไม่ เพียงใด หรือว่าจะเป็นเพียงกฎหมายพัฒนาอาณาจักรตำรวจให้ยิ่งใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ประชาชนแทบจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากกฎหมายปฏิรูปตำรวจดังกล่าว
แท้ที่จริงสิ่งที่ประชาชนต้องการจากการปฏิรูปตำรวจคือ การมีหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจเกินขอบเขตของตำรวจ มิใช่การมีองค์กรตำรวจที่มีขนาดใหญ่โตขึ้น และหากตำรวจใช้อำนาจเกินขอบเขตจะมีองค์กรภายนอกใดที่ไม่ใช่องค์กรตำรวจด้วยกัน ซึ่งประชาชนจะสามารถร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
การที่จะได้คำตอบดังกล่าว จำเป็นต้องศึกษาเปรียบเทียบกับระบบตำรวจของประเทศที่เจริญแล้วหรือพัฒนาแล้ว อย่างเช่น ระบบตำรวจ สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ หรือระบบตำรวจญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งเป็นประเทศรัฐเดี่ยวเช่นเดียวกับประเทศไทย
ผมได้ศึกษาดูแล้วพบว่า รูปแบบการปกครองประเทศ และระบบตำรวจของประเทศที่พัฒนาหรือเจริญแล้วมีความสัมพันธ์กันมาก เพราะรูปแบบการปกครองประเทศ คือ ระบบใหญ่ของประเทศ ส่วนระบบตำรวจเป็นระบบย่อย ดังนั้น โดยหลักการ ระบบย่อย ควรจะสอดคล้องกับระบบใหญ่ หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ระบบตำรวจที่ดีควรจะสอดคล้องกับรูปแบบการปกครองประเทศ มิใช่รูปแบบการปกครองเป็นอย่างหนึ่ง แต่ระบบตำรวจกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ผมได้เขียนหนังสืออีบุ๊คในชุดรูปแบบการปกครองและระบบตำรวจ อังกฤษ ไปแล้ว 1 เล่ม คือ รูปแบบการปกครองอังกฤษ ซึ่งได้เล่าเรื่องรูปแบบการปกครองของ สหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ ทั้งการปกครองระดับชาติ ระดับแคว้น และระดับท้องถิ่น เพื่อให้ท่านผู้อ่านมีความรู้พื้นฐานก่อนที่จะได้ศึกษาระบบตำรวจอังกฤษหรือ สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นระบบย่อยของประเทศ

สำหรับเล่มนี้ “ระบบตำรวจอังกฤษ” เป็นเล่มที่ 2 สืบต่อจากเล่มแรก จะได้เล่าเจาะลึกลงไปในเรื่องราวของระบบตำรวจอังกฤษหรือ สหราชอาณาจักรโดยตรง
2.วัตถุประสงค์ของหนังสือ ระบบตำรวจ อังกฤษ
การเขียนอีบุ๊ค ชุด รูปแบบการปกครอง และระบบตำรวจ สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษมีวัตถุประสงค์อยู่ 5 ประการ คือ
2.1 เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้แนวคิดในการปฏิรูปตำรวจให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริงตามมาตรฐานสากล
2.2 เพื่อเปิดมุมมองให้ท่านผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานในระบบตำรวจสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ ซึ่งเป็นระบบตำรวจของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเช่นเดียวกับประเทศไทย
2.3 เพื่อเปิดมุมมองให้ท่านผู้อ่านเข้าใจในระบบและกลไกการถ่วงดุลอำนาจของระบบตำรวจอังกฤษ ที่เรียกว่า ระบบไตรภาคี ซึ่งเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจในการควบคุมการบริหารงานของตำรวจได้โดยตรง ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานของตำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น
2.4 เพื่อเปิดมุมมองให้ท่านผู้อ่านมองเห็นการเปรียบเทียบระบบตำรวจอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร กับระบบตำรวจไทย ว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไร
2.5 เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ข้อคิดว่า หากประเทศไทยจะนำแนวคิดของระบบการถ่วงดุลอำนาจของระบบตำรวจอังกฤษมาปรับใช้กับระบบตำรวจของไทย จะสามารถทำได้หรือไม่ เพียงใด
3.ขนาดหนังสือ
หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือไฟล์pdf ขนาด 5A หนา 185 หน้า
4.เนื้อหาและขอบเขตของหนังสือ
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ

4.1 ส่วนที่หนึ่ง พื้นฐานของระบบตำรวจ สหราชอาณาจักร
เป็นการเล่าถึงพื้นฐานของระบบตำรวจ สหราชอาณาจักร ในส่วนนี้มีจำนวน 3 บท คือบทที่ 1-3
– การถ่ายโอนอำนาจของรัฐสภา สหราชอาณาจักร
– ระบบกฎหมายของ สหราชอาณาจักร
– ระบบศาลของสหราชอาณาจักร
4.2 ส่วนที่สอง ระบบตำรวจอังกฤษ
เป็นการนำเสนอเรื่องราวเจาะลึกระบบตำรวจ สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษโดยตรง
ในส่วนนี้ มีจำนวน 8 บท คือ บทที่ 4-12 คือ
- การจัดกองกำลังตำรวจอังกฤษ
- ระบบไตรภาคี
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- ผู้ตรวจการตำรวจและอาชญากรรมประจำเขต
- หัวหน้าตำรวจประจำเขต
- ตำรวจมหานครลอนดอน
- ตำรวจนครลอนดอน
- กองกำลังป้องกันชายแดน
- วิเคราะห์เปรียบเทียบระบบตำรวจไทย
- สรุปและข้อคิดเห็นบางประการ
สำหรับสองบทสุดท้าย คือ บทวิเคราะห์เปรียบเทียบระบบตำรวจไทย และบทสรุปและข้อคิดเห็นบางประการ เป็นบทที่ผมนำเสนอเพื่อจะทำให้ท่านผู้อ่านเกิดมุมมองบางประการที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
5.ระบบไตรภาคี ระบบการถ่วงดุลอำนาจตำรวจของอังกฤษเพื่อประชาชน
จุดเด่นของระบบตำรวจ สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ คือ ระบบการถ่วงดุลอำนาจ อย่างที่เรียกกว่า ระบบไตรภาคี ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันมิให้ตำรวจมีอำนาจมากจนเกินไป เพราะหากตำรวจมีอำนาจมากจนเกินไป คนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสก็คือประชาชนผู้บริสุทธิ์
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะได้ชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า ระบบไตรภาคี ซึ่งเป็นระบบถ่วงดุลอำนาจตำรวจของอังกฤษ เป็นอย่างไร เปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่น สามารถตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจของตำรวจได้อย่างไร
ระบบไตรภาคี เป็นการถ่วงดุลอำนาจตำรวจ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายแรกคือ รัฐบาลผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายที่สองคือ ประชาชนและท้องถิ่น ผ่านทางผู้ตรวจการตำรวจและอาชญากรรม และฝ่ายที่สามคือ องค์กรตำรวจผ่านทางหัวหน้าตำรวจประจำเขต
การถ่วงดุลอำนาจตามระบบไตรภาคี แต่ละฝ่ายจะต้องไม่มีอำนาจมากหรือน้อยจนเกินไป ต้องสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจซึ่งกันและกัน เพื่อให้การบริหารงานตำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนได้มากที่สุด
6.การทดลองอ่าน
หากท่านใดประสงค์จะทดลองอ่านหนังสือนี้เป็นบางส่วน สามารถคลิกเข้าไปอ่านได้ในเว็บไซต์ข้างล่างนี้
6.2 www.ookbee.com
6.3 www.se-ed.com
7.สรุป
หนังสืออีบุ๊ค ระบบตำรวจอังกฤษ เป็นหนังสืออีบุ๊คเล่มที่ 2 ของหนังสือชุด รูปแบบการปกครอง และระบบตำรวจอังกฤษ
หนังสือเล่มนี้ ต้องการชี้ให้เห็นว่า สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ ซึ่งเป็นรัฐเดี่ยว เน้นการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค ได้วางระบบตำรวจไว้อย่างไร จึงสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้มากกว่าระบบตำรวจไทย
หัวใจของระบบตำรวจ สหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ คือ การสร้างระบบและกลไกในการถ่วงดุลอำนาจของสามฝ่าย คือ ระบบไตรภาคี ได้แก่ รัฐบาลผ่านทางกระทรวงมหาดไทย ท้องถิ่นและประชาชนผ่านทางสำนักงานผู้ตรวจการตำรวจและอาชญากรรม และองค์กรตำรวจท้องถิ่นประจำเขต
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาอ่านได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
การถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369 เป็นการเติมเต็มให้กับท่านผู้อ่าน ในส่วนที่บทความมิได้กล่าวไว้โดยตรง
ถาม-สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ เป็นรัฐเดี่ยว เน้นการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค ระบบตำรวจจึงเป็นระบบตำรวจพลเรือน สังกัดท้องถิ่น ในขณะที่ประเทศไทย เป็นรัฐเดี่ยว ที่เน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และมีการปกครองส่วนภูมิภาค ระบบตำรวจเป็นระบบตำรวจแห่งชาติ
ขอทราบว่า เราจะได้ประโยชน์อะไรจากการศึกษาระบบตำรวจ สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ
ตอบ-ได้แน่นอน อย่างน้อยเราจะได้แนวคิดในการสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจ ตามระบบไตรภาคี แม้ระบบตำรวจไทยจะเป็นระบบตำรวจแห่งชาติ ก็สมควรจะมีการสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจเพื่อเป็นหลักประกันในการกระจายความเป็นธรรมไปสู่ประชาชน ไม่ให้ถูกข่มเหงจากการใช้อำนาจเกินขอบเขตของตำรวจบางส่วน
ส่วนจะออกแบบระบบและกลไกการถ่วงดุลอำนาจตำรวจอย่างไรให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องยากเลย ถ้ามีความประสงค์จะทำเช่นนั้นจริง
ถาม-การที่ระบบตำรวจไทยในปัจจุบัน เป็นระบบตำรวจแห่งชาติที่เน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ น่าจะเกิดจากปัจจัยแวดล้อมอะไร
ตอบ– ระบบตำรวจไทยผูกติดกับระบบทหารของไทย ดังจะเห็นได้จาก มีโรงเรียนเตรียมทหาร ที่มิใช่มีไว้เพื่อเตรียมคนเข้าไปเรียนต่อในโรงเรียนนายร้อยของทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศเท่านั้น ยังมีส่วนหนึ่งที่เตรียมให้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรว0ด้วย
ถาม- ระบบทหารกับระบบตำรวจแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ-ตามหลักสากล ทหารมีไว้ป้องกันประเทศและสู้รบเวลามีศึกสงคราม ส่วนตำรวจมีไว้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน ดังนั้น เมื่ออำนาจหน้าที่แตกต่างกัน การจัดโครงสร้างขององค์กรจึงควรจะแตกต่างกัน หากตำรวจจัดโครงสร้างเช่นเดียวกับทหาร ตำรวจก็จะอยู่ห่างไกลจากประชาชนเหมือนอย่างที่เราเห็นอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน
ถาม-ทำไมประเทศที่เจริญแล้ว ระบบตำรวจจึงเป็นระบบที่ไม่มียศ

(Wikipedia, Department of Special Investigation, 6th August 2022.)
ตอบ-แท้ที่จริง งานตำรวจเป็นงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนในทำนองเดียวกันกับข้าราชการพลเรือน จึงไม่มีจำเป็นต้องมียศแต่อย่างใด ดูตัวอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยบังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกับตำรวจ ก็ไม่ได้มียศแต่อย่างใด มีแต่สายงาน ตำแหน่งและระดับในทำนองเดียวกันกับข้าราชการพลเรือน
ถาม-หากต้องการจะศึกษาหาความรู้และข้อคิดเห็นเพิ่มเติมในเรื่องนี้ จะสามารถศึกษาได้จากที่ใด
ตอบ– อาจศึกษาได้เพิ่มเติมจากบทความข้างล่างนี้ จำนวน 2 บทความ คือ
ความยุติธรรมที่อาจจับต้องได้: การสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทย
ต้องยึดเอา ประชาชน เป็นศูนย์กลาง การถ่วงอำนาจตำรวจ จึงจะได้ผล
อาจารย์คะถ้าจะเปรียบเทียบการปฏิบัติของตำรวจอังกฤษ ในสถานการณ์ เช่นเหตุกราดยิงที่ลานประลอง ข้างบิ๊กซี เขาน่าจะปฏิบัติเช่นไรคะ
เขาจะมาถึงสถานที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็ว หากล่าช้า อาจจะเป็นเหตุทำให้หัวหน้าตำรวจประจำเขต ถูกลงโทษ เช่น พักงาน หรืออาจจะยกเลิกสัญญาจ้าง
ระบบไตรภาคี ทำให้ปชช.สามารถสร้างแรงกดดันไปที่หัวหน้าตำรวจประจำเขตได้โดยตรง
ผิดกับระบบตำรวจไทย ที่ปชช.ไม่สามารถแรงกดดันต่อตำรวจ เว้นแต่คดีนั้นจะมีสื่อเกาะติด เช่นคดีแตงโม
ยิ่งกว่านั้น ฝ่ายการเมือง คือ รมว.มท.ของเขาจะแสดงบทบาทภาวะผู้นำจี้ติดตามการดำเนินคดีให้ปชช.อุ่นใจ แต่เมืองไทย รมว.มท. ไม่มีอำนาจสั่งการตำรวจ ส่วนนายกรัฐมนตรีก็งานล้นมือ ไม่มีเวลาที่จะมาจี้ติดเรื่องนี้หรอก
กระผมได้อ่านบทความท่านอาจารย์แล้ว มีความเห็นส่วนว่า การปฎิรูปตำรวจเพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง คือ ต้องวางระบบในการถ่วงดุลย์อำนาจให้เหมาะสม โดยต้องสอดคล้องกับระบบในการปกครองประเทศเป็นหลักเพื่อให้มีเอกภาพในการบริหารราชการ ด้วยการวางระบบในการบริหารราชการของตำรวจให้เหมาะสมกับพื้นที่ทั้งในรูปแบบของการบริหารราชการของตำรวจและภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อย การตรวจสอบการทำงาน การติดตามและเร่งรัดคดี การร้องขอความเป็นธรรม ให้สามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ของอำเภอท้องที่ ซึ่งจะทำให้การทำงานและการบริหารราชการของตำรวจใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ้น ไม่ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะไปวางโครงสร้างตำรวจเช่นเดียวกับกองทัพ เพราะไม่สามรถตอบสนองภาระกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในได้ และไม่สามารถที่จะกระจายความเป็นธรรมไปสู้พี่น้องประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
การปฏิรูปตำรวจ ควรมุ่งเน้นไปที่การกระจายอำนาจไปยังส่วนภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมได้สะดวก รวดเร็ว และแก้ไขปัญหาได้ในพื้นที่เกิดเหตุได้ โดยวางระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลย์อำนาจตำรวจให้สอดคล้องกับระบบการปกครองในส่วนภูมิภาค จึงจะเป็นการปฏิรูปตำรวจเพื่อประชาชนและประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
อาจารย์เห็นด้วยกับความเห็นของคุณ phasin ต้องขอขอบ
คุณมากที่กรุณาสละเวลามาร่วมแสดงความเห็นอันทรงคุณค่า
กลไกการถ่วงดุลตำรวจโดยระบบไตรภาคีของสหราชอาณาจักรมีประสิทธิภาพและทำให้ประชาชนเชื่อมั่น ถ้าประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ผมคิดว่าประชาชนจะเชื่อมั่นและได้รับความเป็นธรรมเพิ่มขึ้นครับ
ถูกตัองแล้ว คุณPat เราควรจะเอาแนวคิดของเขามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย