การตีความมาตรา 158 รัฐธรรมนูญ แห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นับเป็นบทความที่ 7 ของหมวด 5 เหตุการณ์ปัจจุบันที่น่าสนใจ จะเล่าถึง ความนำ แนวคิดและหลักการใหม่ในรัฐธรรมนูญ แห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 158 และ 159 บทเฉพาะกาล สรุป และถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
อนึ่ง บทความสุดท้ายของหมวด 5 เหตุการณ์ปัจจุบันที่น่าสนใจ ที่ได้นำลงโพสต์ คือ
ความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารอำนาจทางการเมือง กับอำนาจการบริหารงานประเทศ
Table of Contents
1.ความนำ
ในช่วงเวลานี้ สังคมไทยกำลังให้ความสนใจในการตีความรัฐธรรมนูญ แห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เกี่ยวกับการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พลเอก ประยทุธ์ จันทร์โอชา ตามความในมาตรา 158 ว่า เริ่มต้นนับจากเมื่อใด

เท่าที่ได้สดับตรับฟังดู พอจะสรุปได้ว่า สังคมไทยมีความเห็นในเรื่องนี้ 3 กระแส คือ
กระแสแรก ให้นับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ย้อนหลังก่อนประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ แห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
กระแสที่สอง ให้เริ่มนับเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
กระแสที่สาม ให้เริ่มนับเมื่อนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเข้าดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ แห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ในฐานะเป็นคนหนึ่งที่ได้ศึกษารัฐธรรมนูญทั้งของไทยและของสากลมาพอสมควร จึงอยากจะนำเสนอแนวคิด หลักการ ข้อกฎหมาย ข้อมูล และข้อคิดเห็นบางประการให้ท่านผู้อ่านลองอ่านดู เผื่อพอจะได้ให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์แก่ท่านได้บ้าง
2.แนวคิดและหลักการใหม่บางประการ ของรัฐธรรมนูญ แห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ชื่อว่า เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป โดยคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ฯ ได้พยายามร่างให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยที่ประสบปัญหาการขาดเสถียรภาพการเมือง รวมทั้งปัญหาการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลในบางช่วง นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2475 จนกระทั่งทุกวันนี้ นับระยะเวลาได้ 89 ปี
ในบทความนี้ จะขอนำเสนอเฉพาะแนวคิดและหลักการในการกำหนดที่มาและระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี
2.1 การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มีประเทศอังกฤษ หรือ สหราชอาณาจักรเป็นแม่แบบ ถือว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคการเมืองพรรคเดียว หรือรัฐบาลผสม
นายกรัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งได้ตามวาระของสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎร แต่หากสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี อาจเป็นเหตุทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจลาออกหรือยุบสภาก่อนที่จะครบวาระได้
โดยทั่วไป ประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา จะไม่มีการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีว่า จะต้องดำรงตำแหน่งไม่เกินกี่สมัยหรือไม่เกินกี่ปี สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่เสียงข้างมากในสภา ผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบและไว้วางใจอยู่
ดังนั้น ประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาบางประเทศ จึงมีนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งติดต่อกันหลายสมัย คิดเป็นระยะเวลายาวนนาน 20-30 ปีหรือมากกว่าก็มี
2.2 การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจหรือระบบประธานาธิบดี
การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจหรือระบบประธานาธิบดี มีสหรัฐอเมริกาเป็นแม่แบบ การปกครองระบบนี้ สมาชิกรัฐสภา และประธานาธิบดีเป็นอิสระจากกัน ต่างมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนกัน รัฐสภาไม่อาจใช้เสียงข้างมากล้มประธานาธิบดีได้ ในขณะเดียวกันประธานาธิบดี ก็ไม่อาจใช้อำนาจยุบสภาได้
ระบบนี้ต้องการให้ประธานาธิบดี ซึ่งเป็นทั้งประมุขของประเทศและหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีความเข้มแข็ง ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐสภา โดยให้สามารถดำรงตำแหน่งได้จนครบวาระ เว้นแต่กรณีมีการกระทำความผิด อาจจะเป็นเหตุทำให้ถูกถอดถอน แต่จะจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ไม่ให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองสมัย เช่น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันไม่เกินสองสมัย คือ สามารถดำรงติดต่อกันได้ 8 ปี
2.3 แนวคิดและหลักการใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ฯ ในการกำหนดที่มาและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไทย
เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาของไทย มีความมั่นคงหรือมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารอีก คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ฯ จึงได้กำหนดที่มาและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีเสียใหม่ โดยอาศัยแนวคิดและหลักการบางประการจากที่มาและระยะเวลาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ
2.3.1 ที่มาของนายกรัฐมนตรี
ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองได้เสนอรายชื่อให้ประชาชนทราบว่า หากพรรคของตนได้จัดตั้งรัฐบาล จะเสนอผู้ใดให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ได้กำหนดไว้ว่า ในระยะ 5 ปีแรก ให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิในการลงมติให้ความเห็นชอบร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย
แนวคิดนี้เป็นการดัดแปลงมาจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา ที่ให้ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีได้โดยตรง ส่วนการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิให้ความเห็นชอบในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรก คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ฯ คงต้องการให้ประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้ สามารถเดินหน้าต่อไปได้สักระยะหนึ่ง เพื่อให้สังคมไทยมีเวลาปรับตัวให้เข้ากับระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้ และเพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพในการปฏิรูปประเทศในช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน
2.3.2 ระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี
เดิมรัฐธรรมนูญไทยในอดีตที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีฉบับใดกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้ว่า จะสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินกี่ปี คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ฯ น่าจะมีเจตนาในการป้องกันมิให้สังคมหวาดระแวงว่า รัฐธรรมนูญนี้เป็นฉบับสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติยืดยาวออกไปจนไม่มีกำหนด จึงได้กำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ไว้ไม่เกิน 8 ปี แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกัน โดยอาศัยแนวคิดและหลักการของวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่กำหนดไว้ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน ซึ่งรวมกันได้ 8 ปี (วาระละ 4 ปี)
ดังนั้น การกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้ไม่เกิน 8 ปี จึงเป็นการสร้างหลักการใหม่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาของไทยโดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างไปจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาในระดับสากล
3. รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 158 และ159
เมื่อท่านเข้าใจแนวคิดและหลักการของที่มาและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย ที่ได้กำหนดเป็นหลักการขึ้นใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ แห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในหัวข้อ 2 ข้างต้นแล้ว การจะทำความเข้าใจเนื้อหาและเจตนารมณ์ในตัวรัฐธรรมนูญโดยตรง จะไม่ยากเลย
3.1 รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 158
รัฐธรรมนูญ ฯ หมวด 8 คณะรัฐมนตรี มาตรา 158
“ มาตรา 158 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามาตรา 159
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับระยะเวลาในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังจากพ้นตำแหน่ง ”
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
มาตรา 158 เป็นมาตราที่วางหลักการใหม่ของที่มาและระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวคือ
ประการแรก พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
ประการที่สอง โดยทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ จากบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 159 ดังนั้น จำเป็นต้องดูรัฐธรรมนูญนี้มาตรา 159 ประกอบ จึงจะทราบว่านายกรัฐมนตรีมีที่มาอย่างไร
ประการสุดท้าย นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ แม้ว่าจะไม่ใช่ระยะการดำรงตำแหน่งที่ต่อเนื่องกัน แต่ทั้งนี้มิให้นับระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังจากพ้นตำแหน่งแล้ว
3.2 รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 159 ประกอบมาตรา 88
“มาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามาตรา 160 และมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร
……………………………………………………………………..
ฯลฯ ”
“มาตรา 88 ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ และให้นำความในมาตรา 87 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
พรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งก็ได้ ”
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
มาตรา 159 วรรคแรกนี้เป็นการขยายความมาตรา 158 วรรคสอง ว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88
ความตามมาตรา 88 เป็นการกำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป แจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้ง
ดังนั้น หากดูรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 158 ประกอบมาตรา 159 และมาตรา 88 ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องไม่เกินแปดปี ย่อมหมายถึงการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนี้เท่านั้น ไม่ได้กำหนดให้นับรวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญไทยฉบับอื่น ๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้
4. บทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ ฯ
แม้รัฐธรรมนูญ ฯ ตามาตรา 158 ประกอบมาตรา 159 และมาตรา 88 ได้กำหนดไว้ชัดเจนถึงที่มาและระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้ชัดเจนขนาดนี้ แต่ยังมีบางท่านได้แสดงความเห็นเป็นอย่างอื่น โดยอ้างเอาบทเฉพาะกาล มาตรา 278 มาหักล้าง
ปกติการมีบทเฉพาะกาลท้ายรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ก็เพื่อรับรององค์กรหรือสิ่งที่มีมาก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ให้สามารถทำหน้าที่ต่อไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มิให้สะดุด แต่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลใช้บังคับจริง หลังจากได้ดำเนินการตามกระบวนการหรือขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดไว้
ตามบทเฉพาะกาลของ รัฐธรรมนูญ แห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีจำนวน 17 มาตรา คือ มาตรา 262-279 ในจำนวนบทเฉพาะกาล 17 มาตราดังกล่าว มีอยู่มาตราหนึ่งที่มีผู้นำมาอ้างอิงว่า เป็นมาตราเกี่ยวกับการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ คือ มาตรา 264 ดังนั้น เพื่อความชัดเจน ขอให้ท่านลองอ่านข้อความในมาตรา 264 ดังกล่าว
“มาตรา 264 ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม
………………………………………….
“ฯ ล ฯ ”
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
มาตรา 264 เป็นมาตราที่บัญญัติไว้เพื่อให้การรับรองคณะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่อยู่ในขณะประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
จะเห็นได้ว่า มาตรา 264 ไม่ได้ระบุการเชื่องโยงกับมาตรา 158 เป็นเพียงการรับรองฐานะคณะรัฐมนตรีที่ได้มาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้สิ้นสภาพไปแล้วด้วยผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้สามารถทำหน้าที่ต่อไปเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาสุญญากาศของอำนาจรัฐ
หากบทเฉพาะกาล ต้องการให้เชื่อมโยงการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 จริงเหมือนอย่างที่มีบางคนกล่าวอ้าง คงจะบัญญัติไว้ชัดเจนในทำนองว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 158 ให้รวมถึงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ด้วย
5. สรุป
การที่สังคมไทยกำลังมีการโต้เถียงกันว่า ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรวมกันไม่เกินแปดปีของนายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบัน คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทรฺ์โอชา ตามรัฐธรรมนูญ แห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 ควรจะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด โดยแบ่งความคิดเห็นเป็น 3 กระแส คือ
กระแสแรก ให้นับย้อนหลังไปตั้งแต่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม คือ ให้นับย้อนหลังไปถึงปีพ.ศ.2557
กระแสที่สอง ให้นับเมื่อรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้บังคับ คือ ปีพ.ศ.2560
กระแสที่สาม ให้นับเมื่อได้เข้าดำรงตำแหน่งตามกระบวนการแห่งรัฐธรรมนูญนี้ คือ เมื่อปีพ.ศ.2562
เมื่อได้พิจารณาจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ มาตรา 158,159,88 และมาตรา 264 รวมกันแล้ว ผมมีความเห็นว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีแปดปี ตามมาตรา 158 แห่งรัฐธรรมนูญนี้ จะต้องเริ่มนับเมื่อนายกรัฐมนตรีได้เข้าดำรงตำแหน่งตามกระบวนการแห่งรัฐธรรมนูญนี้เมื่อปีพ.ศ.2562
ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369

ถาม- หากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในบทเฉพาะกาล จะบัญญัติให้นับเอาระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีย้อนหลังไปจนถึงระยะเวลาที่ได้ดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนี้ประกาศใช้บังคับจะได้หรือไม่
ตอบ- ไม่น่าจะได้ เพราะเรื่องนี้เป็นหลักการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญไทยฉบับได การจะบัญญัติย้อนหลังไปในทางที่เป็นโทษแก่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญนี้ ย่อมไม่ชอบด้วยหลักฎหมายทั่วไป
ถาม-เป็นเพราะเหตุใดประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาโดยทั่วไป จึงไม่ได้กำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลไว้
ตอบ- ระบบรัฐสภาถือว่า อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศอยู่ที่รัฐสภา ดังนั้น หากรัฐสภายังให้ความไว้วางใจบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้ารัฐบาล ถือว่าบุคคลนั้นยังมีความเหมาะสมที่จะให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้
ถาม- อยากให้ยกตัวอย่างประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีนายกรัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้หลายสมัย
ตอบ- ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี มีนายกรัฐมนตรีหญิงชื่อ นางแองเจลา เมอร์เคล (Angela Merkel) ดำรงตำแหน่งติดต่อกัน 4 สมัย ตั้งแต่ปีค.ศ.2005 จนกระทั่งปัจจุบัน รวมระยะเวลา 20 ปี ซึ่งกำลังจะวางมือลงเร็ว ๆ นี้

การที่นางเอเจลา เมอร์เคล สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้เป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้มีเวลาสร้างความเข้มแข็งให้แก่เยอรมนีและสหภาพยุโรปได้เป็นอย่างมาก
ถาม- ประเทศในเอเชียใกล้บ้านเรา มีไหมที่นายกรัฐมนตรีสามารถดำรงติดต่อกันได้เป็นระยะเวลายาวนานและสามารถสร้างความเจริญให้แก่ประเทศของตนจนกลายเป็นประเทศชั้นนำของโลกได้
ตอบ- มีอย่างประเทศสิงคโปร์ นายลี กวนยู เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศสิงคโปร์ และได้ดำรงตำแหน่งติดต่อกัน หลายสมัย เป็นระยะเวลายานาน ร่วม 31 ปี (1959-1990) จนสามารถสร้างประเทศสิงคโปร์ที่เริ่มต้นจากศูนย์ จนกระทั่งมีความเจริญก้าวหน้าเป็นประเทศชั้นนำของเอเชียและของโลกในเวลานี้
ถาม- รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาในครั้งแรก ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีมิให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองสมัย หรือไม่ เพราะเหตุใด
ตอบ- รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศใช้บังคับครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1789 ยังไม่ได้มีบทบัญญัติห้ามประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองสมัย แต่ในทางปฏิบัติ จอร์จ วอชิงตัน(George Washington) ประธานาธิบดีคนแรก ได้สร้างแบบอย่างเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองสมัยไม่ได้

(Wikipedia,Franklin Roosevelt, 5th October 2021)
จนกระทั่งต่อมาในภายหลัง ได้มีประธานาธิบดีอเมริกาคนที่ 32 คือ แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ได้ดำรงติดต่อกันสามสมัยรวมระยะเวลา 12 ปี (1933-1945) และได้ถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง หลังจากนั้น จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ห้ามประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองสมัย ตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 22/1951
ถาม- ประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ มีผลงานโดดเด่นอะไร จึงได้รับเลือกตั้งถึงสามสมัยติดต่อกัน
ตอบ- ในช่วงท่านดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกานั้น เป็นช่วงเวลาที่ประเทศอเมริกากำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และเป็นช่วงเวลาของการเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ท่านได้ใช้มาตรการทางการคลังแก้ปัญหาจนประสบผลสำเร็จ จึงทำให้ท่านเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนมาก
ดร.ชา 369
5/10/21