สำหรับ บทความ ระบบตำรวจ ของ เยอรมัน-ระบบตำรวจแตกต่างจากอเมริกา(7) จะเล่าถึง ระบบกฎหมายของเยอรมัน และระบบตำรวจของเยอรมัน และปิดท้ายด้วย คุยกับดร.ชา
อนึ่ง บทความก่อนหน้านี้ คือ บทความ (6) ได้เล่าการเปรียบเทียบ รูปแบบการปกครอง เยอรมันและอเมริกา และเยอรมัน-ไทย เพื่อชี้ให้เห็นว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไร
Table of Contents
1.ความนำ
โดยหลักการ รูปแบบการปกครองประเทศคือตัวแม่บทใหญ่ที่ระบบย่อยต่าง ๆ ของประเทศจะต้องจัดให้สอดคล้องและสมดุลกัน การปกครองและการบริหารประเทศจึงจะเป็นไปในทิศทางทีควรจะเป็น
แม้ประเทศเยอรมันเป็นประเทศรัฐรวมเหมือนประเทศอเมริกา แต่โครงสร้างภายในรูปแบบการปกครองประเทศบางอย่างแตกต่าง จึงเป็นผลทำให้มีระบบตำรวจที่แตกต่างกัน และหากจะเปรียบเทียบกับประเทศไทยซี่งเป็นรัฐเดี่ยวที่เน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ความแตกต่างก็จะมีมากยิ่งขึ้น
2.ระบบศาลของเยอรมัน
นอกจากระบบตำรวจจะต้องสอดคล้องกับรูปแบบการปกครองประเทศแล้ว ระบบตำรวจและระบบศาลก็จะต้องสอดคล้องกัน เพราะต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด หากระบบไม่สอดคล้องกัน การประสานงานก็จะทำได้ยาก ดังนั้น ผมจึงอยากจะขอเล่าเรื่องระบบศาลของเยอรมันให้ท่านผู้อ่านทราบสักเล็กน้อยก่อนจะเล่าเรื่องระบบตำรวจเยอรมันต่อไป
กฎหมายของรัฐบาลกลางกำหนดโครงสร้างของฝ่ายตุลาการ โดยให้มลรัฐ (Lander) เป็นผู้ดูแลศาลในระดับล่าง และให้รัฐบาลกลางดูแลศาลสูงสุด (highest courts) ทั้งนี้ เพื่อให้กฎหมายสามารถบังคับใช้ทั่วประเทศ และการที่ศาลสังกัดมลรัฐเป็นการป้องกันมิให้รัฐบาลกลางเข้าแทรกแซงหรือก้าวก่ายการตัดสินของศาล รวมทั้งการแต่งตั้งผู้พิพากษา
ระบบศาลเยอรมันแบ่งศาลออกเป็น ๓ ประเภท คือ
2.1 ศาลทั่วไป (Ordinary Courts) เป็นศาลพิจารณาพิพากษาคดีอาญาและคดีแพ่งทั้งปวง โดยแบ่งออกเป็น ๔ ระดับ คือ
ระดับต่ำสุด คือ ศาลท้องถิ่น (local courts) พิจารณาคดีอาญาที่มีความผิดเล็กน้อยหรือคดีแพ่งเล็ก ๆ มีจำนวน ๖๘๗ ศาล
ระดับที่สอง คือ ศาลระดับเขต (regional courts) ทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์คดีจากศาลท้องถิ่น มีจำนวน ๑๑๖ ศาล
ระดับที่สาม คือ ศาลอุทธรณ์ระดับมลรัฐ (Land appeal courts) ทำหน้าที่พิจารณาคดีที่อุทธรณ์มาจากศาลชั้นล่าง รวมทั้งเป็นศาลแรกที่มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับการขบถและการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (treason and anti-constitutional activity) มีจำนวนทั้งหมด ๒๔ ศาล โดยบางมลรัฐที่มีขนาดใหญ่ อาจมีศาลอุทธรณ์จำนวน ๒ ศาลหรือมากกว่า
ระดับที่สี่ คือ ศาลยุติธรรมของรัฐบาลกลาง (Federal Court of Justice) เป็นศาลสูงสุด ทำหน้าที่พิจารณาคดีที่อุทธรณ์มาจากศาลระดับเขตและศาลอุทธรณ์ระดับมลรัฐ
2.2 ศาลชำนัญการพิเศษ (Specialized courts) ได้แก่
– ศาลปกครอง (administrative)
– ศาลแรงงาน (labor)
– ศาลประกันสังคม ( social security)
– ศาลกฎหมายสิทธิบัตรและภาษี (tax and patent law)
2.3 ศาลรัฐธรรมนูญ (constitutional courts) ซึ่งมีทั้งศาลรัฐธรรมนูญของรัฐบาลกลาง และศาลรัฐธรรมนูญของมลรัฐ
อนึ่ง ในบทความที่แล้ว คือ บทความ (6) เรื่องเล่า ระบบตำรวจ ฯ ผมได้นำเรื่องระบบศาลเยอรมันมาเล่าไว้ส่วนหนึ่งแล้ว
3. ระบบตำรวจของสหพันธรัฐเยอรมัน
(Wikipedia, Law enforcement in Germany, 12th August 2020)
ระบบตำรวจของสหพันธรัฐเยอรมันไม่มีระบบตำรวจแห่งชาติในทำนองเดียวกันกับประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงแม้จะมีความพยายามในช่วงปี 1960-1970 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ประเทศเยอรมันเคยมีระบบตำรวจแห่งชาติในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของระบบนาซีหรือฮิตเลอร์เท่านั้น
โครงสร้างระบบตำรวจของเยอรมันได้วางน้ำหนักไว้ที่ระบบตำรวจของมลรัฐ ซึ่งสอดคล้องระบบศาลที่ศาลสังกัดมลรัฐ ยกเว้นศาลสูงที่สังกัดสหพันธรัฐ แต่ก็ยังคงมีตำรวจของรัฐบาลกลาง และตำรวจท้องถิ่นอยู่บ้าง สรุปได้ดังนี้
3.1ตำรวจของรัฐบาลกลาง (Federal police)
ตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1951 ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาชายแดน แต่บทบาทในด้ายการรักษาชายแดนได้ลดความสำคัญลงตั้งแต่ปี ๒๐๐๕ หลังจากการเปิดสหภาพยุโรป ทำให้ประเทศในสหภาพยุโรปสามารถไปหาสู่กันได้อย่างสะดวกเสมือนหนึ่งเป็นประเทศเดียวกัน
สำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง (Federal Criminal Investigation Office) มีอัตรากำลังประมาณ 3,000 คน มีอำนาจหน้าที่สอบสวนคดีอาญาใหญ่ ๆ ที่เป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายของรัฐบาลกลาง รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการประสานงานระหว่างรัฐบาลกลางและตำรวจมลรัฐ มีอำนาจในการสอบสวนคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ การต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย การปกป้องสถาบันตามรัฐธรรมนูญ ประสานงานกับตำรวจสากล และให้ความช่วยเหลือตำรวจมลรัฐในการสืบสวนสอบสวนคดีใหญ่ ๆ เมื่อได้รับการร้องขอจากมลรัฐหรือกระทรวงมหาดไทย (Wikipedia, Federal Criminal Police Office(Germany),13th August 2020)

(Wikipedia,Federal Criminal Police Office(Germany), 13th August 2020)
อำนาจหน้าที่ตำรวจของรัฐบาลกลาง มีดังนี้
- รักษาความมั่นคงชายแดน (Border security) รวมทั้งตรวตราหนังสือเดินทาง และดูแลชายฝั่งทะเลของเยอรมันในรัศมี 700 กิโลเมตร
- ดูแลความสงบเรียบร้อยที่สนามบินนานาชาติและเส้นทางรถไฟ
- จัดตั้งกองกำลังต่อสู้การก่อการร้าย
- จัดตั้งกองกำลังเคลื่อนที่ของรัฐบาลกลางสำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน
- รักษาอาคารสถานที่ที่สำคัญของรัฐบาลกลาง เช่น ทำเนียบประธานาธิบดี ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลยุติธรรมของรัฐบาลกลาง
- สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของตำรวจนานาชาติของสหประชาชาติและสหภาพยุโรป
- ดำเนินการช่วยเหลือความปลอดภัยทางเฮลิปคอปเตอร์ (helicopter service)
อัตรากำลังตำรวจของรัฐบาลกลาง มีจำนวนทั้งหมด 48,686 คน
(Wikipedia, Federal Police (Germany), 13th August 2020)
3.2 ตำรวจมลรัฐ (State police)
ในยุคการปกครองของระบบนาซีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ช่วงปีค.ศ.1933-1945 ระบบตำรวจของเยอรมันเป็นระบบตำรวจแห่งชาติ แต่พอสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมันถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ เมื่อปีค.ศ.1949 คือประเทศเยอรมันตะวันตก และประเทศเยอรมันตะวันอก ต่อมาได้รวมเข้าเป็นประเทศเดียวกันเมื่อปีค.ศ.1990 หลังจากกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลงเมื่อปีค.ศ.1989
ดินแดนที่เคยเป็นประเทศเยอรมันตะวันตก ได้จัดระบบตำรวจใหม่โดยให้เป็นระบบตำรวจของมลรัฐเป็นหลัก ตราบเท่าทุกวันนี้ แม้จะให้มีตำรวจของรัฐบาลกลาง แต่ก็ให้มีอำนาจจำกัดเฉพาะด้านดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

(Wikipedia, Law Enforcement in Germany, 13th August 2020
ในแต่ละมลรัฐของสหพันธรัฐเยอรมันมีระบบตำรวจของตนเอง เรียกว่า Land police/ state police โดยขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีมหาดไทยของแต่ละรัฐ(Land minister of interior) แม้ว่า ตำรวจจะอยู่สังกัดคนละรัฐแต่ก็มีการทำงานประสานกันและยกระดับให้ได้มาตรฐานระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการก่อการร้ายและการก่ออาชญากรรมได้ทำให้มีแนวคิดที่จะสร้างระบบตำรวจแห่งชาติขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงปี ๑๙๖๐-๑๙๖๙ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ ตำรวจของมลรัฐได้กระจายกำลังไปอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของมลรัฐทั้งในเมืองและชนบท

ตำรวจของมลรัฐแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
ประเภทแรก เป็นตำรวจที่แต่งเครื่องแบบทำหน้าที่ดูแลงานประจำวัน เรียกชื่อว่า ตำรวจด้านป้องกัน (Schupo/ Protective Police)
ประเภทที่สอง เป็นตำรวจที่ทำหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรม เรียกชื่อว่าKripo / Criminal Police
3.3 ตำรวจท้องถิ่น
ตำรวจท้องถิ่น (Municipal police) ในบางมลรัฐกำหนดให้มีตำรวจท้องถิ่นที่เรียกว่าตำรวจเทศบาล ทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายของเทศบาลในลักษณะที่ไม่ยุ่งยากหรือสลับซับซ้อน เช่น ดูแลเรื่องการจราจร ดูแลผู้กระทำผิดเกี่ยวกับความสะอาดบนท้องถนน โดยการว่ากล่าวตักเตือนหรือปรับ แต่ในบางมลรัฐตำรวจเทศบาลอาจมีอำนาจจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมายเทศบาลได้เอง
ตำรวจท้องถิ่น ส่วนใหญ่มักจะแต่งเครื่องแบบให้เห็นสังกัดเทศบาล
4.สรุปและข้อคิดเห็น
ประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน เป็นประเทศรัฐรวมในทำนองเดียวกันกับประเทศสหรัฐอเมริกา แต่มีขนาดประเทศเล็กกว่า โดยรัฐบาลมี 2 ระดับ คือ รัฐบาลกลาง ใช้รัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และรัฐบาลมลรัฐใช้รัฐธรรมนูญของแต่ละมลรัฐเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองภายในแต่ละมลรัฐ ระบบกฎหมายของประเทศสหพันธรัฐเยอรมันเป็นระบบประมวลกฎหมาย การปกครองประเทศใช้ระบบรัฐสภา
ระบบตำรวจของสหพันธรัฐเยอรมัน ใช้ระบบตำรวจของมลรัฐเป็นหลัก โดยขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีมหาดไทยของแต่ละมลรัฐ ในบางมลรัฐอาจกำหนดให้มีตำรวจเทศบาลหรือตำรวจท้องถิ่น ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในด้านการจัดระเบียบจราจรและความสะอาดของถนนหนทาง
อย่างไรก็ดี รัฐบาลกลางมีตำรวจของรัฐบาลกลาง แต่มีอำนาจหน้าที่ค่อนข้างจำกัด โดยเน้นหนักไปด้านการดูแลความสงบเรียบร้อยของสนามบิน ท่าเรือ และระบบรถไฟ ตำรวจรัฐบาลกลางขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีมหาดไทยของรัฐบาลกลาง แต่ถ้าเป็นคดีอาญาที่มีความร้ายแรง เป็นคดีใหญ่ ๆ และเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐบาลกลาง อำนาจในการสอบสวนดำเนินคดี เป็นอำนาจของสำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง
คุยกับดร.ชา
เพื่อความชัดเจนและเพื่อความต่อเนื่อง ผมได้สนทนากับ ผู้กอง (ชื่อสมมุติ) เกี่ยวกับระบบตำรวจของเยอรมัน
“ผู้กอง เราได้คุยกันมาแล้วสองครั้งโดยเป็นเรื่องรูปแบบการปกครองของประเทศเยอรมัน ยังไม่ได้เข้าเรื่องระบบตำรวจเสียที วันนี้อาจารย์จึงอยากชวนผู้กองคุยในเรื่องระบบตำรวจเยอรมัน ผู้กองว่าดีไหม” ผมเปิดประเด็นคุยกับผู้กองอย่างรวดเร็ว
“ดีครับ อาจารย์ เรื่องระบบตำรวจของประเทศเยอรมัน หลายคนที่ทราบรูปแบบการปกครองของอเยอรมันแล้ว ก็คงอยากจะทราบระบบตำรวจเยอรมันอย่างแน่นอนว่า รูปร่างหน้าตาจะเป็นอย่างไร ” ผู้กองแสดงความกระตือรือร้นที่จะพูดคุยอย่างเต็มที่
“ อาจารย์ขอทราบความเห็นในภาพกว้างเกี่ยวกับระบบตำรวจของเยอรมันหน่อย จะได้ไหม” ผมตั้งคำถามในภาพใหญ่ก่อน
“ดีเลยครับอาจารย์ ระบบตำรวจของเยอรมันซึ่งเป็นประเทศรัฐรวมเหมือนอย่างอเมริกา ไม่ได้เป็นระบบตำรวจแห่งชาติ โดยวางน้ำหนักไว้ให้เป็นระบบตำรวจมลรัฐเป็นหลัก ตำรวจของรัฐบาลกลางก็มี แต่มีอำนาจจำกัดเฉพาะด้าน เช่น ดูแลความสงบเรียบร้อยตามชายแดน รวมทั้งชายฝั่งทะเล ดูแลความสงบเรียบร้อยของสนามบินนานาชาติ ดูแลความสงบเรียบร้อยทางรถไฟ แต่ในบางกรณีหากเกิดเหตุความชุลมุนวุ่นวายร้ายแรงเกินกว่าที่ตำรวจมลรัฐจะจัดการได้ ตำรวจมลรัฐก็อาจร้องขอความช่วยเหลือไปยังตำรวจของรัฐบาลกลาง และตำรวจรัฐบาลกลางก็อาจจะส่งกำลังไปช่วยเหลือได้เช่นกัน ” ผู้กองชี้แจงอย่างคล่องแคล่วราวกับเคยไปดูงานระบบตำรวจประเทศเยอรมันมา
“ถ้ามีการก่อการร้าย หน้าที่เป็นของตำรวจมลรัฐหรือว่าตำรวจของรัฐบาลกลางรับผิดชอบ ” ผมลองถามในส่วนที่คิดว่าน่าจะเป็นช่องโหว่
“ อ๋อ ถ้าเป็นเรื่องนี้ ตำรวจของรัฐบาลกลางเขารับผิดชอบโดยตรง กล่าวคือคดีอาญาที่มีความผิดร้ายแรงตามกฎหมายของรัฐบาลกลาง อำนาจในการสอบสวนดำเนินคดีเป็นของสำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง ” ผู้กองตอบสั้น ๆ แต่ก็ชัดเจน
“ อาจารย์ขอถามอีกนิดหนึ่งว่า ประเทศเยอรมันมีระบบตำรวจท้องถิ่นไหม” ผมจี้จุดคำถามเพิ่มเติม
“ มีครับอาจารย์ เป็นเรื่องของแต่ละมลรัฐจะกำหนด แต่โดยทั่วไปจะมีอำนาจหน้าที่ทางด้านการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยเกี่ยวกับความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งเป็นงานด้านการป้องกันมากกว่าการดำเนินคดีในทำนองเดียวกับพวกเทศกิจของกรุงเทพมหานคร ” ผู้กองสรุปภาพรวมของอำนาจหน้าที่ของตำรวจท้องถิ่นเยอรมันได้ดีทีเดียว
“ วันนี้ต้องขอขอบคุณผู้กองมากที่กรุณาสละเวลาจากภารกิจอันยุ่งเหยิงมาพูดคุยกับอาจารย์ คงจะขอรบกวนผู้กองมาพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่งในคราวหน้า จะได้เปรียบเทียบระบบตำรวจ เยอรมัน-อเมริกา และเยอรมัน-ไทย หวังว่าผู้กองคงจะพอมีเวลานะ” ผมกล่าวขอบคุณพร้อมกับเชิญชวนไว้คราวหน้า
“ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับอาจารย์ ”ผู้กองตอบรับคำเชิญด้วยความเต็มอกเต็มใจ
ทีมฟุตบอลเยอรมัน มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการ ทีมนกอินทรี
เหมือนกับที่หนูเคยได้ยิน ผู้คนทั่วไปเรียก สหรัฐว่า เมืองลุงแซม
มีความเป็นมาอย่างไรคะ คำถามนี้ไม่สอดคล้องกันกับบทความ
แต่หนู สงสัย ขอบคุณค่ะ
เรียกชื่อตามชื่อสัตว์ประจำชาติของเยอรมัน คือ อินทรีดำ ส่วนลุงแซม เป็นบุคคลาธิษฐานแห่งชาติของสหรัฐอมริกา หมายถึงชายผิวขาวสูงอายุ
มีผมขาวและเคราแพะ เป็นบุคคลผู้น่าเกรงขาม มีการใช้คำนี้มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1812 หมายถึงประเทศสหรัฐอเมริกานั่นเอง