“เอกราช ของชาติ คือชีวิตของประเทศ” เป็นบทความลำดับที่ 7 ของหมวด 9 เรื่องเล่า ประเทศไทย กับชาติมหาอำนาจ ประกอบด้วย ความนำ เอกราชกับวันชาติ วันชาติของประเทศชั้นนำของโลก วันชาติของกลุ่มประเทศอาเซียน สรุป และคุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
หากประเทศเป็นคน เอกราชหรืออิสรภาพของชาติ ก็คือชีวิตของประเทศ ประเทศที่ไร้เอกราชหรือขาดอำนาจอธิปไตย เพราะต้องตกเป็นเมืองงขึ้นเขา ย่อมเท่ากับประเทศนั้นได้ตายไปแล้ว หมายความว่า ดินแดนแห่งนั้นไม่มีฐานะเป็นรัฐหรือประเทศอีกต่อไป
รัฐ
ดินแดนที่จะถือว่า เป็นรัฐ ตามหลักกฎหมายปกครอง ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 4 ประการคือ (1) ต้องมีดินแดนที่มีอาณาเขตอันแน่นอน (2)มีประชากรอาศัยอยู่พอสมควร (3) มีรัฐบาลปกครองหรือบริหารประเทศ และ(4) มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน
หากประเทศใดตกเป็นเมืองขึ้นเขา แสดงว่าขาดองค์ประกอบของรัฐในข้อ (4) คือ ไม่มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน เพราะอำนาจอธิปไตยตกอยู่ในมือของต่างชาติที่เข้ามายึดครองเสียแล้ว
การรักษาอำนาจอธิปไตยของชาติ
การรักษาอำนาจอธิปไตยของชาติ เป็นงานที่ยากมาก หรืออาจจะพูดง่าย ๆ คือ การรักษา ดินแดน หรือรักษาเอกกราชของชาติ เป็นงานที่ยากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากประเทศนั้นเป็นประเทศที่มีชาติมหาอำนาจหมายปองจะมีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือ เหมือนอย่างประเทศไทย ซึ่งมีทำเลที่ตั้งในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียน ตลอดจนการมีทรัพยกรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเผชิญการแย่งชิงอำนาจและอิทธิพลของชาติมหาอำนาจตลอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการรักษาความมั่นคงและอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยโดยตรง
บทความนี้ ต้องการจะนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างเอกราชของชาติกับการกำหนดวันชาติของประเทศ
2. เอกราชกับวันชาติ
ความสัมพันธ์ระหว่างวันที่ประเทศได้รับเอกราชกับวันชาติ
หลายประเทศในโลกนี้ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย อาฟริกา อเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ล้วนเคยเป็นดินแดนอาณานิคมของชาติมหาอำนาจตะวันตกมาก่อน พอได้รับอิสรภาพมีฐานะเป็นรัฐโดยสมบูรณ์ ประเทศเหล่านั้น มักจะถือเอาวันที่ได้รับอิสรภาพ เป็นวันชาติ โดยในแต่ละปี ก็ จะมีการเฉลิมฉลองวันชาติกันอย่างยิ่งใหญ่
วันชาติที่ไม่ได้กำหนดตามวันที่ประเทศได้รับเอกราช
ประเทศที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจใดมาก่อน ประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น จึงไม่มีวันที่ได้รับเอกราช การกำหดนวันชาติ จึงยึดโยงกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศ เช่น วันชาติไทย ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี โดยยึดถือเอาตามวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จ ฯ มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สำหรับรายละเอียดวันชาติของประเทศต่าง ๆ กรุณาคลิกดูได้จากเว็บไซต์นี้
การเฉลิมฉลองวันชาติไทย ปี 2563
วันชาตินับเป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของประเทศ ดังนั้น ในแต่ละปีเมื่อวันชาติเวียนมาบรรจบ แต่ละประเทศจะมีงานเฉลิมฉลองวันชาติกันอย่างยิ่งใหญ่ แต่ถ้าปีใดเป็นปีสำคัญเป็นพิเศษ การเฉลิมฉลองก็จะยิ่งใหญ่กว่าทุกปี อย่างเช่น วันชาติไทยตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จ ฯ มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธาน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ท่ามกลางเหล่าพสกนิกรทุกหมู่เหล่าคอยเฝ้ารับเสด็จจำนวนหลายแสนคนคอย และได้เปล่งเสียงทรงพระเจริญกึกก้องท้องสนามหลวง
3.วันชาติของประเทศชั้นนำ
การได้ทราบว่าวันชาติของประเทศใด ตรงกับวันใด และเพราะเหตุใดจึงกำหนดเอาวันดังกล่าวเป็นวันชาติของตน ก็จะทำให้เรามองเห็นความเป็นมาของชาติหรือประเทศนั้นได้อย่างรวดเร็ว
ประเทศในโลกนี้ มีจำนวนมากที่เคยเป็นดินแดนอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจมาก่อน ครั้นเมื่อได้รับอิสรภาพก็มักจะกำหนดวันที่ได้รับเอกราชเป็นวันชาติของตน
ประเทศชั้นนำของโลก ในบทความนี้หมายถึงประเทศที่มีขนาดจีดีพีอยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก โดยเรียงลำดับตามขนาดจีดีพี ปี 2019 อันดับ 1-15 คือ
3.1 สหรัฐอเมริกา
วันชาติ คือ วันที่ 4 กรกฎาคม ตรงกับวันประกาศอิสรภาพจากบริเตนเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776

3.2 จีน (People’s Republic of China)
วันชาติ คือ วันที่ 1 ตุลาคม ตรงกับวันประกาศตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (Proclamation of the People’s Republic of China) เมื่อปี ค.ศ.1949

3.3 ญี่ปุ่น
วันชาติ คือ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ตรงกับวันสร้างชาติ(National Foundation Day) ในยุคจักรพรรดิพระองค์แรก คือ สมเด็จพระจักรพรรดิจิมมุ (Jimmu) ซึ่งได้เสด็จครองราชย์ ณ กรุงยามาโตะ เมื่อ 660 ปี ก่อนคริสตกาล (660 BC)

3.4 เยอรมัน (Germany)
วันชาติ คือ วันที่ 3 ตุลาคม ตรงกับวันรวมประเทศเยอรมันตะวันออกเข้ากับประเทศเยอรมันตะวันตก เมื่อปี ค.ศ.1990
3.5 สหราชอาณาจักร (United Kingdom)
วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน
3.6 อินเดีย
วันชาติ คือ วันที่ 26 มกราคม ตรงกับวันที่อินเดียได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปีค.ศ. 1950 หลังจากได้รับอิสรภาพจากจักรวรรดิบริเตน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1947
3.7 ฝรั่งเศส
วันชาติ คือ วันที่ 14 กรกฎาคม ตรงกับวันทลายคุกบัสติล (Bastille) ในการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1789
3.8 อิตาลี
วันชาติ คือวันที่ 2 มิถุนายน ตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศเป็นสาธารณรัฐ เมื่อปี ค.ศ.1946
3.9 แคนาดา
วันชาติ คือวันที่ 1 กรกฎาคม ตรงกับวันตั้งเป็นสาธารณรัฐจากอาณานิคมของบริเตนสามแห่ง (Creation of a federal Canada from British colonies ) เมื่อปี ค.ศ. 1867
3.10 เกาหลีใต้
วันชาติ คือ วันที่ 1 มีนาคม ตรงกับวันที่ได้อิสรภาพจากจักรวรรดิญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ.1919
3.11 รัสเซีย
วันชาติ คือวันที่ 12 กรกฎาคม ตรงกับวันประกาศตั้งสหพันธรัฐรัสเซีย ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เมื่อปี ค.ศ.1990
3.12 บราซิล
วันชาติ คือ วันที่ 7 กันยายน ตรงกับวันได้รับอิสรภาพจากโปรตุเกส เมื่อปี ค.ศ.1822
3.13 ออสเตรเลีย
วันชาติ คือ วันที่ 26 มกราคม ตรงกับวันที่สร้างนครซิดนีย์ ซึ่งเป็นเมืองแรกที่ชาวยุโรปได้ไปตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลีย เมื่อปี ค.ศ.1788
3.14 สเปน
วันชาติ คือ วันที่ 12 ตุลาคม ตรงกับวันที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ค้นพบทวีปอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1492
3.15 อินโดนีเซีย
วันชาติ คือ วันที่ 17 สิงหาคม ตรงกับวันประกาศอิสรภาพจากญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์เมื่อปี ค.ศ.1945
4.วันชาติของกลุ่มประเทศอาเซียน
ในจำนวนประเทศกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ มีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจตะวันตก ดังนั้น ทุกประเทศยกเว้นประเทศไทย จึงกำหนดเอาวันได้รับอิสรภาพเป็นวันชาติของประเทศ
วันชาติของกลุ่มประเทศอาเซียน เรียงตามขนาดจีดีพีปี 2019 มีดังนี้
4.1 อินโดนีเซีย
วันชาติ คือวันที่ 17 สิงหาคม ตรงกับวันประกาศอิสรภาพจากการยึดครองของญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี ค.ศ.1945
4.2 ไทย
วันชาติ คือ วันที่ 5 ธันวาคม ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จ ฯ มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

4.3 ฟิลิปปินส์
วันชาติ คือ วันที่ 12 มิถุนายน ตรงกับวันที่ได้ประกาศอิสราภาพจากสเปนเมื่อปี ค.ศ.1898
4.4 สิงคโปร์
วันชาติ คือวันที่ 9 สิงหาคม ตรงกับวันที่ได้แยกออกจามาเลเซีย มาเป็นประเทศใหม่ เมื่อปี ค.ศ.1965
4.5 มาเลเซีย
วันชาติ คือวันที่ 16 กันยายน ตรงกับวันที่ได้มีการรวมสหพันธรัฐมลายา บอร์เนียวเหนือ ซาราวัก และสิงคโปร์เข้าเป็นประเทศเดียวกัน ใช้ชื่อประเทศใหม่ว่า มาเลเซีย เมื่อปี ค.ศ.1963
4.6 เวียดนาม
วันชาติ คือวันที่ 2 กันยายน ตรงกับวันได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศสและการยึดครองของญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.1945
4.7 เมียนมาร์
วันชาติ คือ วันที่ 4 มกราคม ตรงกับวันที่ได้รับอิสรภาพจากจักรวรรดิบริเตน เมื่อปี ค.ศ.1948
4.8 กัมพูชา
วันชาติ คือวันที่ 8 พฤศจิกายน ตรงกับวันที่ได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศส เมื่อปีค.ศ.1953
4.9 ลาว
วันชาติ คือ วันที่ 2 ธันวาคม ตรงกับวันที่ได้ประกาศจัดตั้งเป็นประเทศสาธารณรัฐของประชาชน (The People’s Republic) เมื่อปี ค.ศ.1975
4.10 บรูไน
วันชาติ คือวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ตรงกับวันของการฉลองการได้รับอิสรภาพจาก สหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ.1984 ภายหลังได้รับอิสรภาพแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1984
5.สรุป
เอกราช ของชาติ คือ ชีวิตของประเทศ ดังจะเห็นได้จากหลาย ๆ ประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจมาก่อน พอได้รับอิสรภาพ จึงมักเลือกเอาวันที่ได้รับอิสรภาพเป็นวันชาติของประเทศ เพราะวันที่ได้รับอิสรภาพ เปรียบเสมือนวันเกิดใหม่ของประเทศ
แต่ถ้าประเทศใดไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจมาก่อน การกำหนดว่าวันใดสมควรจะถือเป็นวันชาติ ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ
คนไทยควรจะภาคภูมิใจที่ประเทศไทยของเราไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจใด เราจึงไม่มีวันที่เรียกว่า วันได้รับเหมือนอย่างประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคม แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไทยเราได้กำหนดเอาวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จ ฯ มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันชาติพร้อมกันไปด้วย
สำหรับความเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณกัลยา (ชื่อสมมุติ)
คุณกัลยาเคยเป็นเพื่อนร่วมงานกับผม ในขณะเดียวกันก็เป็นลูกศิษย์ปริญญาโท รามคำแหง ของผมด้วย เธอเป็นคนทำงานเก่งและเรียนหนังสือเก่ง มีความคุ้นเคยกับผมเป็นอย่างดี
“สวัสดี คุณกัลยา วันนี้ อาจารย์อยากจะชวนคุยเกี่ยวกับเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่าง อิสรภาพของชาติ กับวันชาติสักหน่อย ” ผมทักทายและชวนคุยเข้าประเด็นทันที
“สวัสดีค่ะ อาจารย์ ดิฉันพร้อมแล้ว ขอเชิญอาจารย์กำหนดประเด็นเลย” คุณกัลยาทักทายผมตอบ
“ถ้าเช่นนั้น อาจารย์ขอถามในประเด็นแรกเลยว่า อิสรภาพของชาติ มีความสำคัญต่อประเทศแต่ละประเทศเพียงใด และทำไมจึงต้องรักษาอิสรภาพของชาติไว้ ” ผมเริ่มเปิดประเด็นแรก
“ ดิฉันมีความเห็นเป็นเกี่ยวกับความสำคัญของเอกราชของชาติ คือ
ชาติใดไม่มีอิสรภาพ ก็เท่ากับความเป็นชาติได้ตายไปแล้ว เพราะต้องถูกปกครองโดยชาติอื่น และดินแดนของชาตินั้นก็จะกลายเป็นดินแดนของชาติที่มีอำนาจปกครอง
ดังนั้น การทำนิติกรรมสัญญาระหว่างรัฐหรือประเทศ ชาติที่ตกเป็นเมืองขึ้นเขาก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะอำนาจดังกล่าวตกเป็นของเจ้าอาณานิคมเสียแล้ว
ส่วนอีกคำถามหนึ่งว่า ทำไมต้องรักษาอิสรภาพของชาติไว้ ดิฉันคิดว่า องค์ประกอบของรัฐข้อสุดท้ายคือ การที่จะเรียกดินแดนใดว่า เป็นรัฐได้ ดินแดนแห่งนั้น ต้องมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง เพราะถ้าขาดอำนาจอธิปไตยลงเมื่อใด ความเป็นรัฐก็จะสิ้นสุดลงทันที ” คุณกัลยาตอบรวดเดียวเลยไม่รอให้ผมถามซ้ำอีก
“ก็ชัดเจนดีนะคุณกัลยา ขอถามประเด็นที่สอง เมื่อตกเป็นเมืองขึ้นของนักล่าอาณานิคม รูปแบบการบริหารประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ” ผมถามลึกเข้าไปอีก
“ ถ้าเราตกเป็นเมืองขึ้นเขาแล้ว อำนาจตัดสินใจหรือสั่งการต่าง ๆ เขาจะเป็นผู้กำหนดตามใจของเขาเลย
โดยเขาอาจจะยอมให้คนของประเทศเราปกครองประเทศต่อไป แต่ก็เป็นเพียงหุ่นเชิดให้เขา เพราะต้องทำตามนโยบายและคำสั่งของเขาทั้งหมด เขาอยากได้อะไรก็ต้องยอมเขาหมด ไม่มีทางขัดขืน
หรือเขาอาจจะตั้งคนของเขามาปกครองประเทศของเราเอง ในรูปแบบของผู้สำเร็จราชการแทนก็ได้ ถ้าเป็นแบบนี้แสดงว่า เขาเลือกที่จะบริหารแผ่นดินของเราด้วยตัวของเขาเอง ” คุณกัลยาตอบแบบเศร้า ๆ เล็กน้อย
“ เราโชคดีนะ คุณกัลยา ที่ไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของเขา ไม่เช่นนั้นเราก็คงต้องก้มหน้ารับกรรม เป็นทาสของเขา ” ผมกล่าวเสริม
“ใช่ค่ะ อาจารย์ ที่เป็นเช่นนี้ ก็เป็นเพราะพระปรีชาสามารถอันสูงยิ่งของบูรพมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงใช้พระสุขุมคัมภีรภาพรักษาอิสรภาพของชาติไทยไว้ให้ลูกหลานอย่างพวกเรา ๆ ได้อยู่สุขสบายตราบเท่าทุกวันนี้
ดิฉันรู้สึกเสียดายที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย มีแต่คิดจะเอาอย่างฝรั่งมังค่า โดยไม่ดูรากเหง้าของตนเองว่า มีความเจริญและดีงามเพียงใด
ดิฉันทราบมาว่า ประเทศอเมริกาเขาให้ความสำคัญในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์มาก ทั้ง ๆ ที่เขาเพิ่งสถาปนาประเทศขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.1776 ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ของเราเพียง 6 ปี เท่านั้นเอง ” คุณกัลยากล่าวสรุปได้อย่างน่าฟัง
“ดีเยี่ยมเลย ความเห็นในตอนสุดท้ายของคุณกัลยา วันนี้ขอบคุณมากนะ มีโอกาสค่อยคุยกันใหม่ ”ผมกล่าวชมเชยพร้อมกับขอบคุณ
“ ด้วยความยินดีค่ะ อาจารย์”
ขอบคุณ คุณกัลยาที่ได้มาแบ่งปันความรู้ค่ะ
ถ้าพูดถึงพม่า นึกถึง นางอองซาน ซูจี
ถ้าพูดถึงเขมร นึกถึง นายกฮุนเซน ค่ะอาจารย์
ขอบคุณอาจารย์ที่นำความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์มาให้อ่านอีกครั้งค่ะ
อาจารย์ดีใจ ที่คุณณัชชาชอบ
อาจารย์คะ หนูเกือบลืมประเทศติมอร์ ได้รับเอกราชจากอินโดนีเซียหรือแยกตัวออกจากติมอร์
ขอบคุณค่ะ
ติมอร์แยกตัวออกจากอินโดนีเซียเป็นประเทศเกิดใหม่
หรือแยกตัวออกมาจากอินโดนีเซีย คะ