บทความนี้นับเป็นบทความลำดับที่ 7 การ แก้ไข ปัญหา วิกฤตทางการเมืองของอเมริกาด้วยรัฐธรรมนูญ ของหมวด เรื่องเล่า รัฐธรรมนูญอเมริกา โดยจะกล่าวถึง วิกฤติทางการเมืองของอเมริกา คือ อะไร กระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอเมริกา การ แก้ไข ปัญหา วิกฤตทางการเมืองของอเมริกาด้วยรัฐธรรมนูญ สรุป และคุยกับดร.ชา
อนึ่งในบทความที่แล้ว คือ บทความ (6) ได้กล่าวถึง การใช้ นวัตกรรม ใหม่ สร้างรัฐธรรมนูญอเมริกา
Table of Contents
1.วิกฤตการทางการเมืองของอเมริกา คือ อะไร
ประเทศอเมริกาเป็นประเทศเกิดใหม่เมื่อปลายศตวรรษที่ 18 คือ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 ด้วยการประกาสอิสรภาพ ไม่ยอมเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิบริเตนอีกต่อไป แต่ประเทศนี้เป็นดินแดนที่ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา ดังนั้น จึงมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนต่างเชื้อชาติ และต่างศาสนามาเป็นเวลาช้านานนับตั้งแต่วันเริ่มต้นสถาปนาประเทศขึ้นมา
ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวจะออกมาในรูปของปัญหาสิทธิเสรีภาพ และความไม่เท่าเทียมระหว่างคนต่างเชื้อชาติ หรือผิวสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสี เพราะคนผิวสี ที่มีพื้นเพมาจากทวีปอาฟริกา ได้เข้ามาอยู่ดินแดนประเทศอเมริกาตั้งแต่ยุคเป็นอาณานิคมของบริเตนในฐานะทาส
การมีความสัมพันธ์กันในฐานะนายกับทาส ระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสี ได้สร้างความไม่เท่าเทียมระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสีมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยคนผิวขาวได้พยายามสร้างกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเอารัดเอาเปรียบคนผิวสีตลอดมา จนทำให้คนผิวสีต้องลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องหาความเท่าเทียมเป็นระยะ ๆ
ความขัดแย้งระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสีมีความรุนแรงมากถึงขั้นทำให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ อันมีสาเหตุมาจากการประกาศเลิกทาสในยุคของประธานาธิบดี อัมราฮัม ลินคอล์น ระหว่างปีค.ศ.1861-1865 ซึ่งเป็นสงครามที่มีการนองเลือดและทำให้คนผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา นับเป็นจำนวนทหารที่เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 620,000 นาย (วิกีพีเดีย, สงครามกลางเมืองอเมริกา, 21 ตุลาคม 2563)

แม้ในยุคปัจจุบันเมื่อไม่นานมานี้ ความขัดแย้งระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสีในประเทศ สหรัฐอเมริกา กรณีตำรวจผิวขาว เมิองมินนิแอโปลิส มลรัฐมินนิโซตา ได้จับกุมคนผิวสีด้วยวิธีการกดหน้าอกแนบกับพื้น จนเป็นเหตุทำให้คนผิวสีที่ถูกจับกุมหายใจไม่ออกและถึงแก่กรรมในที่สุด และเป็นเหตุทำให้มีการประท้วงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายเมืองของอเมริกาในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนผิวชาวกับผิวสียังมีอยูไม่น้อย
การ แก้ไข ปัญหาวิกฤตทางการเมืองของอเมริกาอันเกิดจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและผิวสีที่มีอยู่ในสังคมอเมริกามาเป็นเวลาช้านาน ประเทศอเมริกาได้อาศัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นเครื่องมือหลักในการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองดังกล่าวเป็นระยะ ๆ ตามสถานการณ์ความร้ายแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น
2. กระบวนการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอเมริกาเพื่อการ แก้ไข ปัญหา
แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุดของแผ่นดิน แต่หากมีความจำเป็นก็อาจจะแก้ไขเพิ่มเติมได้ตามกระบวนการในการแก้ไขเพิ่มเติมที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอเมริกา ปี 1789 เมื่อสภาพแวดล้อมหรือบริบทของประเทศเปลี่ยนแปลงไป
2.1 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของแผ่นดิน
ตามความในมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญ ตลอดจนบรรดากฎหมายของสหรัฐที่จะได้บัญญัติขึ้นภายใต้รัฐธรรมนญนี้ และสนธิสัญญาที่ได้ทำขึ้นหรือจะทำขึ้นตามสิทธิอำนาจของสหรัฐ ให้ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของแผ่นดิน (The Supreme Law of the Land) ที่ผู้พิพากษาในทุกมลรัฐต้องถือปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ บรรดาวุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ ตลอดสมาชิกสภานิติบัญญัติของมลรัฐต่าง ๆ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการทั้งของสหรัฐและมลรัฐต่าง ๆ จะต้องสาบานหรือกล่าวคำปฏิญญาณตน (oath or affirmation) ว่าจะสนับสนุนรัฐธรรมนูญ
ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริการะบุไว้ชัดเจนว่า เป็นกฎหมายสูงสุดของแผ่นดิน จึงได้บัญญัติเป็นการบังคับว่า บรรดาผู้มีอำนาจสูงสุดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ทั้งของสหรัฐ และมลรัฐต่าง ๆ จำต้องกล่าวคำปฏิญาณตนว่า จะสนับสนุนรัฐธรรมนูญนี้
2.2 กระบวนการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาเพื่อการ แก้ไข ปัญหา
เมื่อมีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของแผ่นดิน รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดผู้มีอำนาจและขั้นตอนในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ตามมาตรา 5 สรุปได้ดังนี้
2.2.1 การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
สภาคองเกรส เป็นฝ่ายริเริ่มในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ
วิธีที่หนึ่ง สภาคองเกรส จำนวน 2/3 ของจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภา เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง หรือ
วิธีที่สอง สภาคองเกรสด้วยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติของมลรัฐจำนวน 2/3 ของจำนวนมลรัฐทั้งหมด (ปัจจุบัน คือ จำนวน 34 มลรัฐ) เรียกการประชุมระดับชาติเพื่อพิจารณายกร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (national convention) โดยตรง
จะเห็นได้ว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม สภาคองเกรสอาจจะเป็นผู้ยกร่างเองก็ได้ โดยใช้มติ 2/3 ของทั้งสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หรือสภาคองเกรสด้วยความเห็นชอบของสภานติบัญญัติของมลรัฐต่าง ๆ จำนวน 2/3 เป็นผู้เรียกประชุมใหญ่เพื่อพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
2.2.2 การให้สัตยาบันรับรองการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สภาคองเกรสจะเรียกประชุมเพื่อกำหนดวิธีการในให้สัตยาบันรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าสมควรจะใช้วิธีใดในจำนวน 2 วิธี คือ
วิธีที่หนึ่ง การให้สัตยาบันด้วยการใช้มติของสภานิติบัญญัติของมลรัฐ จำนวน 3/4 ของมลรัฐทั้งหมด (จำนวน 38 แห่ง ) หรือ
วิธีที่สอง การให้สัตยาบันด้วยการใช้มติของที่ประชุมใหญ่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของมลรัฐ (State ratifying conventions) จำนวน 3/4 ของจำนวนมลรัฐทั้งหมด (จำนวน 38 แห่ง)
(Wikipedia, List of amendments to the United States Constitution, 17th July 2020)
3. การ แก้ไข ปัญหาวิกฤตทางการเมืองของอเมริกาด้วยรัฐธรรมนูญ
ด้วยความขัดแย้งอันมีสาเหตุมาจากความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสีในสังคมอเมริกาได้มีอยู่มาเป็นเวลาช้านาน จึงทำให้มีการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองของประเทศ ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลายครั้ง เพื่อให้สถานการณ์ทางการเมืองผ่อนคลายลง
นับตั้งแต่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1789 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นระยะ ๆ ให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมของประเทศและของโลกที่ได้เปลี่ยนแปลงไป จำนวนทั้งหมด 27 ฉบับ โดย 10 ฉบับแรกได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี ค.ศ.1791 และฉบับล่าสุดได้มีการแก้ไขเมื่อ ปี ค.ศ.1992 โดยมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 6 ฉบับที่ไม่ผ่านการให้สัตยาบัน
การแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาทั้ง 27 ฉบับอาจแบ่งออกเป็นกลุ่มตามช่วงเวลาได้ดังนี้
3.1 กลุ่มที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมภายในเวลา 5 ปีแรก ของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ มีจำนวน 10 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1-10/1791 ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ 2 ปี
รัฐธรรมนูญอเมริกาแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1-10 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรวดเดียว จำนวน 10 ฉบับ เพื่อนำสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน (Bill of Rights) ตามข้อเรียกร้องของฝ่ายต่อต้านการให้รัฐบาลกลางมีอำนาจเหนือกว่ามลรัฐ (Anti-Federalists) เพราะเกรงว่า รัฐบาลกลางจะใช้อำนาจคุกคามประชาชน
3.2 กลุ่มที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลังการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน (Bill of Rights)
มีจำนวน 1 ฉบับ คือ ฉบับที่ 11/1795 เพื่อจำกัดอำนาจจองศาลของรัฐบาลกลางไม่ให้ขยายออกไปจากเดิมที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอเมริกา มาตรา 3 อนุมาตรา 2
รัฐธรรมนูญอเมริกาแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที 11 ต้องการตอกย้ำว่า ศาลของรัฐบาลกลางไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีที่พลเมืองของมลรัฐหนึ่ง หรือพลเมืองหรือผู้ที่อยู่ในบังคับของรัฐต่างประเทศ เป็นผู้ยื่นฟ้องคดีที่มีมลรัฐเป็นจำเลยหรือเป็นผู้ถูกฟ้องคดี หากไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 3 อนุมาตรา 2 วรรคแรก แต่อำนาจดังกล่าวจะเป็นอำนาจองศาลมลรัฐ พลเมืองของมลรัฐ(private citizens) จะไปยื่นฟ้องมลรัฐต่อศาลของรัฐบาลกลางโดยตรงไม่ได้ ต้องยื่นฟ้องต่อศาลมลรัฐเท่านั้น เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลในการฟ้องมลรัฐต่อศาลของรัฐบาลกลาง(Wikipedia, Eleventh Amendment to the United States Constitution)
https://en.wikipedia.org/wiki/Eleventh_Amendment_to_the_United_States_Constitution
3.3 กลุ่มที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในศตวรรษที่ 19 มีจำนวน 5 ฉบับ คือ ฉบับที่ 12-15
รัฐธรรมนูญอเมริกา แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 12/1804 เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการกำหนดให้การสมัครเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ให้สมัครเป็นทีมเดียวกัน โดยผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี(Electors) ต้องใช้บัตรลงคะแนน จำนวน 2 ใบ คือ เลือกประธานาธิบดี 1 ใบ และเลือกรองประธานาธิบดีอีก 1 ใบ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญอเมริกา ฉบับที่ 13/1865 เป็นการเลิกทาสทั่วแผ่นดินอเมริกา
การแก้ไขรัฐธรรมนูญอเมริกา ฉบับที่ 14/1868 เป็นการแก้ไขให้สิทธิแก่ผู้เกิดบนแผ่นดินอเมริกา ให้ได้รับสัญชาติอเมริกา และมลรัฐจะต้องคุ้มครองความเท่าเทียมกันของบุคคล
การแก้ไขรัฐธรรมนูญอเมริกา ฉบับที่ 15/1870 เป็นการแก้ไขให้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งแก่ชาวอเมริกัน โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ผิวสี หรือการเคยเป็นทาสมาก่อน
3.4 กลุ่มที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 มีจำนวน 5 ฉบับ คือ ฉบับที่ 16-20
การแก้ไขเพิ่มเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอเมริกา ฉบับที่ 16/1913 เป็นการให้อำนาจสภา คองเกรสสามารถออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีเงินได้โดยไม่ถูกจำกัดด้วยสัดส่วนของจำนวนประชาการของแต่ละมลรัฐ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอเมริกา ฉบับที่ 17/1913 เป็นการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภาจากเดิมที่ให้อำนาจสภานิติบัญญัติของแต่ละมลรัฐเป็นผู้เลือก ให้เป็นการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในแต่ละมลรัฐ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอเมริกา ฉบับที่ 18/1919 เป็นการห้ามผลิต ขาย หรือขนส่งสุราเข้า-ออกประเทศอเมริกา ซึ่งต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 21
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอเมริกา ฉบับที่ 19/1920 เป็นการแก้ไขให้สตรีมีสิทธิเลือกตั้งเช่นเดียวกับชาย

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอเมริกา ฉบับที่ 20/1920 เป็นการกำหดนวันและเวลาของการสิ้นสุดและการเริ่มต้นในการดำรงตำแหน่งใหม่ของ ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และสมาชิกสภาคองเกรส
3.5 กลุ่มที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 มีจำนวน 7 ฉบับ คือ ฉบับที่ 21-27
รัฐธรรมนูญอเมริกา แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 21/1933 เป็นการแก้ไขเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญอเมริกา แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 18
รัฐธรรมนูญอเมริกา แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 22/1951 เป็นการแก้ไขเพื่อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่ให้เกินกว่าสองสมัยติดต่อกัน
รัฐธรรมนูญอเมริกา แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 23/1961 เป็นการแก้ไขเพื่อกำหนดให้กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอเมริกา ให้มีฐานะเทียบเท่ามลรัฐในการแต่งตั้งผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี จำนวน 3 คน ซึ่งเป็นผลทำให้คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี ทั้งประเทศมีจำนวน 538 คน
รัฐธรรมนูญอเมริกา แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 24/1964 เป็นการแก้ไขเพื่อให้คนยากจนซึ่งไม่มีรายได้มากพอจะต้องเสียภาษี ให้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้เหมือนคนที่เสียภาษี

รัฐธรรมนูญอเมริกา แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 25/1967 เป็นการแก้ไขเพื่อกำหนดผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีที่ว่างลง รวมทั้งกำหนดผู้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นการชั่วคราว
รัฐธรรมนูญะอเมริกา แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 26/1971 เป็นการแก้ไขเพื่อลดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งลงมาเหลือเพียง 18 ปี
รัฐธรรมนูญอเมริกา แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 27/1992 เป็นการแก้ไขเพื่อกำหนดระยะเวลาของการขึ้นค่าตอนบแทนของสมาชิกสภาคองเกรสว่า จะให้มีผลได้ต่อเมื่อได้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งถัดไป
5.สรุป
แม้อเมริกาจะเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างสูง แต่ตามประวัติศาสตร์ของอเมริกา ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อเมริกาเป็นประเทศทีมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเป็นอย่างสูงเช่นกัน โดยมีสาเหตุมาจากความแตกต่างในด้านเชื้อชาติและผิวสี และทำให้เกิดปัญหาจลาจลความวุ่นวายทางการเมืองหลายครั้ง โดยฉพาะอย่างยิ่งการเกิดสงครามกลางเมืองในยุคประธานาธิบดีลินคอล์นช่วงปีค.ศ.1861-1865
อย่างไรก็ตาม ประเทศอเมริกาได้ใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองเรื่อยมา จนทำให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอเมริกามาแล้วจำนวน 27 ฉบับ ซึ่งเป็นผลทำให้รัฐธรรมนูญอเมริกาสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยืนยาวมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1789 จนกระทั่งปัจจุบันนับเป็นเวลา 231 ปี
สำหรับความเห็นเพิ่มเติม ขอเชิญติดตามได้ใน คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมวันนี้ คือ คุณเนรมิต (ชื่อสมมุติ)

คุณเนรมิต เป็นเพื่อนเก่าแก่และเป็นกัลยาณมิตรของผมคนหนึ่ง โดยเราได้รับราชการเป็นปลัดอำเภอครั้งแรกด้วยกันเมื่อปี พ.ศ.2517 ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คุณเนรมิตเป็นนักเรียนนอก จบปริญญาตรี-โท จากสหรัฐอเมริกา เรามักจะมีแนวคิดในด้านการเมือง ศาสนา และวิถีในการดำรงชีวิตหลายอย่างสอดคล้องกัน สามารถคุยกันได้อย่างถูกคอและสนุกสนาน
ดังนั้น จึงถือได้ว่า คุณเนรมิตเป็นผู้มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกามาเป็นเวลายาวนาน และเป็นผู้เหมาะสมที่จะได้รับเชิญมาเป็นคู่สนทนาของผมในวันนี้
“ สวัสดี คุณเนรมิต ท่านสบายดีเหรอ วันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ท่านกรุณาสละเวลามาเป็นคู่สนทนาของผมในวันนี้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองของประเทศอเมริกา ” ผมทักทายก่อนเพื่อสร้างบรรยากาศ
“ สวัสดี ดร.ชา ผมสบายดี ภาระอะไรก็ไม่มีแล้ว สบายกว่าเมื่อก่อนเยอะ ขอเชิญดร.ชา เปิดประเด็นเลย ” คุณเนรมิตกล่าวทักทายผมตอบอย่างอารมณ์ดี
“ถ้าเช่นนั้น ผมขอถามความเห็นในประเด็นแรกเลยว่า การที่อเมริกาเป็นประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติหรือผิวสี หรือพูดง่าย ๆ ระหว่างคนผิดขาวกับคนผิวสี จนทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองอยู่หลายครั้ง ท่านคิดว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอเมริกาได้มีส่วนคลี่คลายวิกฤตการเมืองให้อเมริกาได้มากน้อยเพียงใด ” ผมถามเข้าประเด็นเลย
“ อ๋อ แน่นอนเลยครับ ดร.ชา เพราะสิ่งที่คนผิวสีเรียกร้องตลอดมา คือ ความเท่าเทียมระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสี เนื่องจากคนผิวสีได้เริ่มเข้ามาอยู่ในประเทศนี้ ในฐานะทาส ซึ่งไม่มีสิทธิเสรีภาพอะไร มีแต่หน้าที่รับใช้คนผิวขาวที่เป็นนายทาส
ดังนั้น การที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอเมริกาหลายครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้คนผิวสีมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมคนผิวขาว จึงสามารถคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองของอเมริกาได้เป็นอย่างดี ” คุณเนรมิตตอบในภาพกว้าง
“ ผมคิดว่า คุณเนรมิตตอบในหลักการได้ชัดเจนดี ถ้าเช่นนั้น ในประเด็นที่สอง ขอทราบว่า ในบรรดารัฐธรรมนูญอเมริกาที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 27 ฉบับ ท่านคิดว่า ฉบับใดบ้างที่มีความสำคัญเป็นพิเศษในการสร้างความเท่าเทียมในสังคมอเมริกัน ” ผมถามในเชิงลึก
“ ในมุมมองของผม รัฐธรรมนูญอเมริกาที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมหลายฉบับ ผมคิดว่า ฉบับที่ 13 ฉบับที่ 14 ฉบับที่ 15 ฉบับที่ 19 และฉบับที่ 24 น่าจะทำให้คนอเมริกันมีความเท่าเทียมกัน กล่าวคือ
ฉบับที่ 13/1865 ได้มีการแก้ไขในยุคประธานาธิบดีลินคอล์น เมื่อปีค.ศ.1865 เป็นการประกาศให้เลิกทาสในแผ่นดินอเมริกาทั้งหมด
ฉบับที่ 14/1868 เป็นการรับรองว่า บุคคลทุกคนที่เกิดในแผ่นดินอเมริกาจะได้รับสัญชาติอเมริกา ทำให้คนผิวสีไม่เป็นพลเมืองชั้นสองอย่างที่ผ่านมา
ฉบับที่ 15/1870 เป็นการรับรองว่า คนอเมริกาทุกคนย่อมมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง โดยไม่ถูกจำกัดด้วยเชื้อชาติ ผิวสี หรือการเคยเป็นทาสมาก่อน
ฉบับที่ 19/1920 เป็นการรับรองว่า สตรีมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้เท่าเทียมกับบุรุษ
แลฉบับที่ 24/1964 เป็นการรับรองว่า คนยากจนแม้ไม่เคยเสียภาษี ย่อมมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้เหมือนคนมีฐานะดีที่ได้เสียภาษี ” คุณเนรมิตตอบข้อข้องใจของผมอย่างชัดเจน
“ เยี่ยมมากเลย คุณเนรมิต ขอความเห็นประเด็นสุดท้ายก็แล้วกัน ในฐานะท่านเคยใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาเป็นเวลาหลายปี ท่านอยากจะตั้งข้อสังเกตอะไรไหม ” ผมเปิดช่องให้คุณเนรมิตพูดอย่างเปิดกว้าง
“ ได้เลยครับ ดร.ชา ผมอยากจะให้ข้อสังเกตว่า กว่าอเมริกาจะเป็นสังคมที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาถึงระดับนี้ เขาได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ได้ทันที แต่เขาโชคดีที่ เขาสามารถใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ไม่เหมือนบ้านเรานะที่ชอบร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เรื่อยไป แทนที่จะใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา แต่กลับมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นตัวปัญหาเสียเอง ผมงงมาก ” คุณเนรมิตตอบตามความรู้สึกที่แท้จริง พร้อมกับอดมีอารมณ์ขันนิด ๆ ไม่ได้
“ คำตอบของท่าน ดีมากเลย ขอบคุณมากครับ คุณเนรมิตที่กรุณาสละเวลามาพูดคุยกันในวันนี้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านไม่น้อย โอกาสหน้าค่อยพบกันใหม่นะ ” ผมกล่าวของคุณและปิดท้ายการสนทนา
“ ด้วยความยินดีครับ ดร.ชา เราเพื่อนกัน ท่านเชิญเมื่อใด ผมก็ยินดี พร้อมที่จะมาเสมอ ” คุณเนรมิตกล่าวตอบผมด้วยมิตรไมตรีอันดี
ดร.ชา
21/10/20
ขอบคุณ คุณเนรมิตร ที่ได้มาแบ่งปันความรู้ที่เป็นประโยชน์ ค่ะ
อาจารย์ขอขอบคุณแทนคุณเนรมิตด้วย เดี๋ยวอาจารย์จะเรียนให้คุณเนรมิตทราบ ท่านคงดีใจ
หนูเคยอ่านหนังสือนอกเวลาเรื่องชีวิตที่รุ่งเรืองขึ้นมาาจากทาส เขียนจากชีวิตจริงของ อดีตประธานาธิบดี ลินคอล์น ถ้าจำไม่ผิดค่ะ
ท่านประธานาธฺบดีลินคอล์น เป็นผู้ประกาศให้เลิกทาสทั่วแผ่นดินอเมริกา และท่านถุกลอบสังหาในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเพราะการเลิกทาส ท่านไต้เต้ามาจากคนยากจน เป็นทนายความก่อนจะเข้าเล่นการเมืองจนได้เป็นประธานาธิบดี คนที่ 16 ของอเมริกา แต่ท่านไม่ได้เป็นทาส อย่าเข้าใใจผิด เพราะถ้าท่านเป็นทาส ท่านจะไม่มีสิทธิในการเล่นการเมือง
บทความต่อไป คุณเนรมิตจะได้มาพูดคุยกับอาจารย์ ไหมคะ
มาแน่นอน สบายใจได้