บทความ ก่อน นั่งสมาธิ (6) เป็นการเล่าถึงข้อควรทราบก่อนจะนั่งสมาธิ ได้แก่ ความหมายและความสำคัญของสมาธิ ประโยชน์ของสมาธิ ประเภทของสมาธิ ท่านั่งสมาธิ การแต่งกายนั่งสมาธิ สภาวะแวดล้อมในการนั่งสมาธิ สรุป และคุยกับดร.ชา
ส่วนบทความก่อนหน้านี้ (5) เป็นบทความที่เล่าถึงหลวงตา มหาบัว พระอริยสงฆ์ ศิษย์รูปสำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตะ
Table of Contents
1.ความหมายและความสำคัญของสมาธิ
คำว่า สมาธิ หมายถึงการมีจิตใจจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่คิดวอกแวกไปในเรื่องอื่น ๆ
การมีสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องมี เพราะในวิถีชีวิตประจำวันคนเราจำเป็นต้องใช้สมาธิในการประกอบกิจการงานต่าง ๆ ถ้าหากการประกอบกิจการงานใด ๆ ที่เราขาดสมาธิ เราก็จะทำได้ไม่ดี หรือบางอย่างหากผิดพลาด ก็อาจจจะเป็นอันตรายแก่ตนเองและผู้อื่น เช่น
แดง นอนหลับไม่ดีนัก ทำให้รู้สึกง่วงนอน แต่มีความจำเป็นต้องขับรถเดินทางไปต่างจังหวัด ดังนั้น หากแดงรู้สึกง่วงในขณะขับรถ อาจเกิดอาการวูบขึ้นมาและไม่สามารถควบคุมการขับรถได้เหมือนคนปกติที่ไม่มีอาการง่วงนอนในขณะขับรถ จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
นางสาวเขียว เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ปีที่ 2 มีปัญหาทะเลาะกับคนรัก ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ไม่อาจตั้งสมาธิในการฟังคำบรรยายของอาจารย์ได้ จึงเรียนไม่ค่อยรู้เรื่องในชั่วโมงนั้น
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างอีกมากที่แสดงให้เห็นได้ว่า สมาธิมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตประจำวันของคนเรามากน้อยเพียงใด
2.ประโยชน์ของสมาธิ
หากใครหมั่นนั่งสมาธิเป็นประจำ จะพบว่า สมาธิมีประโยชน์อยู่หลายประการ คือ
2.1 ทำให้นอนหลับสบาย
การที่คนเรานอนไม่ค่อยหลับ มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเวลานอนชอบคิดเรื่องนี้เรื่องนั้น ทำให้จิตใจตกอยู่ในความวิตกกังวลหรือฟุ้งซ่าน และอาจจะเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้นอนหลับได้ยาก
ขอให้สังเกตดูว่า เวลาเข้านอน ช่วงเวลาที่เราสามารถนอนหลับได้ คือ ในขณะที่จิตใจของเราว่างเปล่า ไม่คิดถึงเรื่องอะไร ดังนั้น หากเราสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิในขณะล้มตัวลงนอนบนเตียง สักพักเราก็จะนอนหลับได้ไม่ยาก
2.2 ทำให้เป็นคนมีสมองและปัญญาดี
คนที่จิตมีสมาธิดีย่อมสามารถเรียนรู้อะไรได้ไว สามารถคิดและวิเคราะห์อะไรได้ดีและถูกต้อง ในทางตรงกันข้าม หากใครไม่ค่อยมีสมาธิ การเรียนรู้ก็จะยากหรือเป็นไปอย่างเชื่องช้า
2.3 ทำให้ผ่อนคลายความเครียด
คนที่จิตมีสมาธิดี มักจะไม่ค่อยมีความเครียด เพราะสามารถคิดและตัดสินใจทำอะไรได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว จึงไม่ต้องเก็บมาคิดเป็นความกังวล ส่วนคนที่ไม่มีสมาธิ มักจะคิดฟุ้งซ่าน ตัดสินใจอะไรไม่ค่อยได้ ต้องนำมาคิดและกลายเป็นความวิตกกังวล และในที่สุดก็นำไปสู่ความเครียด
2.4 ทำให้มีความสุขเป็นพิเศษ
ในขณะที่นั่งสมาธิ จะทำให้บุคคลนั้น มีความสุขเป็นพิเศษซึ่งเป็นความสุขอันเกิดจากการนั่งสมาธิ
หากใครสามารถนั่งสมาธิได้ลึกเท่าใด ก็จะได้รับความสุขพิเศษมากเท่านั้น
2.5 ทำให้เป็นคนใจเย็นและสุภาพอ่อนโยน
คนที่นั่งสมาธิเป็นประจำ ย่อมเป็นคนใจเย็น สามารถระงับความโกรธได้ง่าย เพราะการนั่งสมาธิทำให้เรามีสติ ไม่วู่วาม นอกจากนี้ยังทำให้เป็นคนสุภาพอ่อนโยน
2.6 ทำให้ป้องกันและรักษาโรคหลายอย่างได้
โรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างมีสาเหตุจากความเครียด เพราะเมื่อจิตใจมีความเครียด จะส่งผลไปยังร่างกาย และอาจทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างได้
โรคภัยไข้เจ็บที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความเครียด ซึ่งทำให้การรักษาโรคนั้นยากขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า โรคมะเร็ง โรคกระเพาะ และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
นอกจากนี้ การนั่งสมาธิเป็นประจำ ยังสามารถป้องกันมิให้เป็นโรคความจำเสื่่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ในยามชราได้
ดังนั้น หากใครเป็นโรคเหล่านี้ ถ้าหมั่นนั่งสมาธิเพื่อทำให้จิตใจผ่อนคลาย ไม่เครียด อาจจะทำให้โรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่เบาบางลงจนกระทั่งหายขาดไปได้ในที่สุด
2.7 ทำให้เป็นคนมีสติในการประกอบอาชีพการงาน
ทุกอาชีพต้องใช้สติในการทำงานเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาด เช่น
นักกอล์ฟอาชีพ เวลาลงแข่งต้องอยู่ภายใต้ภาวะกดดัน อาจจะทำให้เกิดความเครียดในบางจังหวะที่มีผลต่อการแพ้ชนะ แต่ถ้านักกอล์ฟอาชีพคนนั้น หมั่นนั่งสมาธิเป็นประจำ ก็จะทำให้สามารถควบคุมอารมณ์มิให้เกิดความเครียดในสถานการณ์คับขันดังกล่าวที่เป็นความเป็นความตายต่อชัยชนะ
ผู้สมัครเข้าแข่งขันร้องเพลงชิงรางวัลทางสถานีวิทยุต่าง ๆ จำเป็นต้องมีสมาธิในขณะร้องเพลง หากสมาธิหลุดในจังหวะใด อาจทำให้ลืมเนื้อเพลงและร้องผิดจังหวะ และทำให้โอกาสชนะหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดดาย แม้ว่าเสียงอาจจะดีกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน
2.8 เป็นการสร้างบุญบารมี
การนั่งสมาธิเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบุญบารมี ตามหลักไตรสิกขา คือ ทาน ศีล ภาวนา
คำว่า ภาวนา หมายถึง การนั่งสมาธินั่นเอง และเมื่อจิตเกิดสมาธิแน่วแน่ได้จนถึงระดับฌาน ก็จะทำให้เกิดปัญญาตามมา
การภาวนาหรือการนั่งสมาธิ มีบุญมากกว่า การรักษาศีล แต่ก็ต้องอาศัยกัน กล่าวคือ การรักษาศีลจะทำให้สามารถภาวนาหรือนั่งสมาธิได้ง่าย และการรักษาศีลจะทำได้ง่าย ถ้ารู้จักให้ทาน
3.ประเภทของสมาธิ
อาจแบ่งสมาธิตามระดับความลุ่มลึกออกได้ 3 ประเภท คือ
3.1 ขณิกะสมาธิ
ขณิกะสมาธิ เป็นสมาธิขั้นพื้นฐานที่คนเราใช้อยู่ในชีวิตประจำ นับตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน เพราะทุกกิจกรรมที่คนเราทำ ย่อมต้องใช้สมาธิทั้งนั้น เพียงแต่เป็นสมาธิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ต้องตั้งใจทำให้เกิด เช่น การรับประทานอาหาร การสนทนากับคนในครอบครัว การอ่านหนังสือ การติดตามข่าวสารทางสื่อต่าง ๆ การเล่นไลน์หรือเฟสบุ๊ค เป็นต้น
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ขณิกะสมาธิ เป็นสมาธิที่ทุกคนมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ
3.2 อุปจาระสมาธิ
อุปจาระสมาธิ เป็นสมาธิระดับกลาง เป็นสมาธิที่มีความละเอียดกว่าขณิกะสมาธิ ผู้ที่จะมีอุปจาระสมาธิได้ ปกติต้องฝึกฝนการนั่งสมาธิให้เกิดความชำนาญพอสมควร
3.3 อัปปนาสมาธิ
อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิขั้นสูง ที่เรียกว่าฌาน เป็นสมาธิที่มีความละเอียดมาก
การที่บุคคลจะมีอัปปนาสมาธิได้ ต้องหมั่นฝึกนั่งสมาธิให้เกิดความชำนาญ และทำให้จิตใจเข้มแข็งและสามารถรวมพลังให้เป็นหนึ่งได้
4.ท่านั่งสมาธิ
ท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยฝึกการนั่งสมาธิมาก่อน อาจจะสงสัยว่า การนั่งสมาธิต้องนั่งอย่างไรจึงจะถูกต้อง ผมขอแนะนำในเบื้องต้นว่า การนั่งสมาธิมีให้เลือกได้ 2-3 แบบ คือ
4.1 การนั่งขัดสมาธิชั้นเดียว
การนั่งขัดสมาธิ หมายถึง การนั่งโดยเอาขาและเท้าขวาวางทับบนขาซ้าย เอามือขวาวางบนมือซ้ายโดยให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองจรดกัน ตั้งกายให้ตรง ใบหน้าตั้งตรงในทำนองเดียวกับพระพุทธรูป

หากใครไม่ถนัดในการเอาขาและเท้าขวาทับขาซ้าย อาจจะเปลี่ยนเป็นเอาขาและเท้าซ้ายวางทับบนขาขวาก็ได้
4.2 การนั่งขัดสมาธิสองชั้นหรือขัดสมาธิเพชร
เพื่อให้การนั่งสมาธิมั่นคง กายไม่โยก อาจนั่งขัดสมาธิสองชั้นก็ได้
การนั่งขัดสมาธิสองชั้น บางครั้งเรียกนั่งขัดสมาธิเพชร

วิธีการคือ เอาเท้าซ้ายวางทับบนขาขวาท่อนบนก่อน เป็นการขัดสมาธิขั้นแรก
ต่อจากนั้น ให้ยกเอาเท้าขวาขัดขึ้นมาวางบนขาซ้ายท่อนบน เป็นการขัดสมาธิขั้นที่สอง
เอามือขวาวางทับบนมือซ้ายเช่นเดียวกันกับการนั่งขัดสมาธิชั้นเดียว
การนั่งขัดสมาธิสองชั้นหรือขัดสมาธิเพชร จำเป็นต้องมีการฝึกหัดให้เกิดความชำนาญและทำให้ร่ายกายเกิดความเคยชิน เพราะอาจทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณเท้าและขา
4.3 การนั่งตามความสามารถที่จะทำได้
หากท่านผู้อ่านมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ไม่อาจนั่งขัดสมาธิได้ ก็อาจจะเลือกวิธีการนั่งตามที่ท่านพอจะนั่งได้ เช่น เอาขาและเท้าทั้งสองวางข้างหน้าโดยไม่ต้องขัดสมาธิ
หรืออาจจะนั่งขัดสมาธิ แต่เอามือซ้ายวางบนเข่าซ้าย และเอามือขวาวางบนมือขวา

เมื่อนั่งบ่อย ๆ ท่านเกิดความชำนาญ ก็อาจจะปรับมานั่งขัดสมาธิได้เช่นกัน
5.การแต่งกายนั่งสมาธิ
การแต่งกายนั่งสมาธิ ควรเป็นชุดใส่แล้วรู้สึกสบายและสงบ หากเป็นชุดขาวแบบชุดบวชชีพราหมณ์ได้ก็จะดีมาก

6.สภาวะแวดล้อมในการนั่งสมาธิ
การนั่งสมาธิจำเป็นต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เพื่อให้เกิดความเงียบสงบ เช่น อากาศต้องไม่ร้อน ไม่มีเสียงดังรบกวน
ส่วนจะเป็นสถานที่ใด ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบุคคล อาจจะเป็นที่วัด สำนักปฏิบัติธรรม หรือห้องพระที่บ้านก็ได้
นอกจากนี้ การเลือกเวลานั่งสมาธิก็สำคัญ ควรเลือกเวลาที่มีความเงียบสงบ ส่วนจะเป็นเวลาใดก็ขึ้นอยู่ความเหมาะสมของแต่ละสถานที่ อาจเป็นเวลาก่อนนอน เวลาเช้า เวลาบ่าย หรือเวลาเย็นก็ได้ ขอให้เป็นเวลาที่ไม่มีเสียงรบกวน
7.สรุป
บทความ ก่อน นั่งสมาธิ นี้ ต้องการบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยฝึกการนั่งสมาธิมาก่อน ได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการพื้นฐานที่จะต้องเตรียมความพร้อมก่อนจะนั่งสมาธิ เพื่อให้การนั่งสมาธิบังเกิดผลดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสภาวะแวดล้อม
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม ติดตามได้ใน คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
เมื่อครั้งยังรับราชการอยู่ ผมมีคนใกล้ชิดคนหนึ่ง ซึ่งเวลานี้กำลังหันมาเอาดีทางนั่งสมาธิด้วยการเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรครูสมาธิ ของสถาบันพลังจิตตานุภาพ ซึ่งริเริ่มและอำนวยการโดยพระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์วิริยังค์) เขาชื่อ เบน(นามสมมุติ) วันนี้ผมจึงเห็นสมควรเชิญเข้ามาเป็นคู่สนทนาธรรมกับผม
เบนเป็นคนที่มีบุคลิกและอุปนิสัย เป็นคนกล้าหาญ ชอบเป็นนายตนเอง บางครั้งดูออกจะใจร้อนไปนิดหนึ่ง ตามแบบฉบับของบุคคลหมายเลข 9
“ สวัสดี คุณเบน อาจารย์ทราบว่า เวลานี้คุณเบนกำลังมุ่งจะเอาดีทางด้านการปฏิบัติธรรมใช่ไหม ” ผมทักทายคุณเบนแบบคนคุ้นเคยกันมาเป็นเวลายาวนาน
“ สวัสดีครับอาจารย์ เวลานี้ผมได้ตัดสินใจเข้ารับการอบรมหลักสูตรครูสมาธิของสถาบันพลังจิตตานุภาพ ซึ่งหลวงพ่อวิริยังค์ ศิษย์สายตรงของหลวงปู่มั่น รูปหนึ่ง เป็นผู้ริเริ่มสร้างหลักสูตรและอำนวยการสอน โดยผมก็ได้เข้าเรียนมาเป็นเวลาสัก 2 สัปดาห์แล้ว ” คุณเบนบอกเล่าการเข้ารับอมรมหลักสูตรครูสมาธิให้ผมฟัง
“ ขอโทษนะคุณเบน อาจารย์ขอถามหน่อยว่า คิดอย่างไรจึงตัดสินใจเข้ารับการอบรมหลักสูตรครูสมาธิ ” ผมถามความในใจของคุณเบน
“ ก็คงไม่มีอะไรมากครับอาจารย์ ผมเองก็เป็นชาวพุทธ แต่ว่ายังนั่งสมาธิไม่เป็น ผมจึงอยากเข้ารับการอมรมจากสถาบันที่เชื่อถือได้ สอนถูกต้องตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้รู้จักวิธีคลายทุกข์ในการประกอบอาชีพการงานและดำรงชีวิตประจำวัน ” คุณเบนตอบสั้น ๆ
“ รุ่นที่คุณเบนเข้ารับการอบรมนี้ คนที่เข้ารับอบรมส่วนใหญ่เป็นใครมาจากไหน ” ผมถามถึงกลุ่มคนที่เข้ารับการอบรม
“ มีทุกสาขาอาชีพครับอาจารย์ แต่ที่เป็นข้าราชการจะมากหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาครูบาอาจารย์” คุณเบนตอบสั้น ๆ เช่นเคย
“ อาจารย์ขอถามอีกสักคำถามหนึ่งว่า การที่คุณเบนเข้ารับการอบรมครูสมาธินี้ คาดหวังว่าจะได้รับอะไรบ้าง ” ผมถามความรู้สึกภายในใจของคุณเบน
“ ก็ไม่มีอะไรมากหรอกอาจารย์ ผมแค่ต้องการนั่งสมาธิเป็น จิตใจจะได้คลายทุกข์ลงบ้าง อีกอย่างผมอยากสร้างบุญกุศลเผื่อจะทำให้ชีวิตรับราชการของผมเจริญก้าวหน้ากับเขาบ้าง เพราะผมรู้สึกเสียจังหวะความก้าวหน้าตามไม่ทันเพื่อนอยู่ 2-3 ก้าว อายุตัวก็ชักมากขึ้นทุกปี ” คุณเบนสารภาพความรู้สึกในใจกับผมตรง ๆ
“ ดีแล้ว คิดถูกแล้วคุณเบน อาจารย์ขออนุโมทนาบุญด้วยนะ และขอให้ผลบุญได้ทำให้คุณเบนสมหวังในสิ่งที่ปรารถนาทุกประการ ค่อยพบกันใหม่คราวหน้านะ ” ผมยุติการสนทนาธรรมพร้อมกับอวยพรให้คุณเบนด้วยใจจริง
ดร.ชา
30/08/20
ขอนั่งสมาธิตามหลักพุทธไม่ได้ค่ะ มีอาการเหนื่อย เหมือนใช้พลังงานเยอะ
นั่งสมาธิ นับเลข 4-8-8 ได้ค่ะ ไม่มีอาการ หนูจึงเลือกใช้วิธีของชาวตะวันตกค่ะ
เราจะบริกรรมด้วยคำอะไรก็แล้วแต่ความชอบของเรา เพียงแต่ชาวพุทธส่วนใหญ่จะบริกรรมด้วยคำว่า พุท-โธ
จริงๆ ครับอาจารย์ ผมสังเกตุเห็นว่าคนที่เรียนเก่ง จดจำอะไรได้ง่ายและไว เวลานอนเขาก็จะหลับง่ายมาก เขาเป็นคนที่มีสมาธิดีนั่นเองครับ
ถูกต้องแล้ว ผู้หมวด
เป็นบทความที่ดีครับ การทำสมาธิ เป็นประโยชน์ต่อชีวิตในหลายๆด้าน จริงๆ
ขอบคุณปลัดเบนซ์ที่สละเวลาแสดงความคิดเห็น ขอให้ประสบความสำเร็จทางธรรมนะ
สาธุ ขออนุญาตส่งเผยแพร่ต่อเป็นธรรมทานนะคะอาจารย์
ด้วยความยินดี คุณบุญญสรณ์ ขออนุโมทนาด้วย