ฝึกนั่งสมาธิเพื่อคลายทุกข์ด้วยตนเอง เป็นบทความลำดับที่ 6 ของหมวด 13 เรื่องเล่า หนังสือ อีบุ๊ค โดยจะเล่าถึง ความนำ ส่วนประกอบของหนังสืออีบุ๊ค ฝึกนั่งสมาธิฯ ส่วนที่หนึ่ง ส่วนที่สอง ส่วนที่สาม ส่วนที่สี่ สรุป หนังสือ ฝึกนั่งสมาธิเพื่อคลายทุกข์ด้วยตนเอง (ฉบับเต็ม)
“ความทุกข์ของคนเรา เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ และไม่มีตัวตนที่แท้จริง เพราะเป็นเพียงสิ่งสมมุติ เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไปในที่สุด
ดังนั้น หากบุคคลหมั่นฝึกการเจริญสัมมาสมาธิและสัมมาสติ อยู่เป็นประจำ ก็ย่อมจะทำให้มีสติที่ว่องไวและมีจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะคลายความยึดมั่นถือมั่นหรือปล่อยวางในสิ่งที่ทำให้ตนเกิดความทุกข์ได้”
Table of Contents
1.ความนำ

ผมได้นำเสนอหนังสืออีบุ๊คมาแล้ว จำนวน 3 เล่ม คือ เล่มแรก สนุกกับการสร้างมนุษยสัมพันธ์ ด้วยเลข 1-9 เล่มที่สอง ปลัดอำเภอ อาชีพนี้ ดี และเล่มที่สาม สั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จและความสุข ทุกเล่มมีวางจำหน่ายทางเว็บไซต์ www.ookbee.com, www.mebmarket.com, และ www.se-ed.com
สำหรับเล่มที่สี่ คือ ฝึกนั่งสมาธิเพื่อคลายทุกข์ด้วยตนเอง
หนังสืออีบุ๊ค “ฝึกนั่งสมาธิเพื่อคลายทุกข์ด้วยตนเอง” เป็นหนังสือขนาด A5 มีจำนวน 300 หน้า เกิดจากการนำบทความที่ผมได้เขียนและนำลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ เรื่องเล่า ดร.ชา สนุก และสร้างสรรค์ 369 (www.tridirek.com) หมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ เมื่อปีพ.ศ.2563 มาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมและรวมเล่มขึ้นมา เพื่อให้ท่านที่สนใจในการหัดนั่งสมาธิสามารถใช้เป็นคู่มือในการฝึกได้ด้วยตนเอง
เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เป็นการเล่าเรื่องการฝึกนั่งสมาธิเพื่อคลายทุกข์ที่อยู่บนพื้นฐานประสบการณ์ของผมที่ได้หัดนั่งสมาธิมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2522 จนกระทั่งปัจจุบัน รวมระยะเวลายาวนานร่วม 42 ปี ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือคำสอนของ พระอริยสงฆ์ที่คนไทยหรือชาวพุทธทั่วโลกมีความศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก อาทิ หลวงปู่มั่น หลวงพ่อฤาษีลิงดำ พุทธทาสภิกขุ หลวงปู่ชา หลวงตามหาบัว หลวงพ่อวิริยังค์ และหลวงพ่อจรัญ เป็นต้น
2.ส่วนประกอบของหนังสือ ฝึกนั่งสมาธิเพื่อคลายทุกข์ด้วยตนเอง
หนังสืออีบุ๊ค เล่มนี้ แบ่งออกกเป็น 4 ส่วนคือ
2.1 ส่วนที่หนึ่ง ภูมิหลัง จุดเริ่มต้น และครูสอนพระกรรมฐาน
1.ภูมิหลัง
2.ครูสอนการนั่งสมาธิครั้งแรกของผม
3.ดินแดนอริยสงฆ์
4.กราบหลวงตามหาบัวที่กุฏิ
5.ครูสอนสัมมาสมาธิ-พระกรรมฐานหลวง
6.ครูสอนสัมมาสติ-มหาสติปัฏฐาน 4
2.2 ส่วนที่สอง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ
7.ก่อนนั่งสมาธิ
8.หลักธรรมเบื้องต้น
2.3 ส่วนที่สาม สัมมาสมาธิ และสัมมาสติ
9.นั่งสมาธิเพื่อให้ได้ฌาน
10.นั่งสมาธิ เพื่อคลายทุกข์ ด้วยสัมมาสติ
11.สติปัฏฐาน 4 จะช่วยคลายทุกข์ให้ท่านได้อย่างไร
12.ธรรมะในการพิจารณาธรรมในธรรมเพื่อคลายทุกข์
13.อานาปานสติ สัมมาสมาธิ 16 ขั้นตอนเพื่อคลายทุกข์
2.4 ส่วนที่สี่ บทสรุป
14.บทสรุปการนั่งสมาธิเพื่อคลายทุกข์ด้วยตนเอง
15.ข้อแนะนำในการนำหลักมหาสติปัฏฐาน 4 ไปปรับใช้ในการคลายทุกข์ในชีวิตประจำวัน
16.สรุปด้วยแผนภาพ
3. ส่วนที่หนึ่ง ภูมิหลัง จุดเริ่มต้น และครูสอนพระกรรมฐาน

ส่วนที่หนึ่งนี้ ต้องการจะนำเสนอภูมิหลัง จุดเริ่มต้น และครูสอนพระกรรมฐาน ในการหันหน้าเข้าหาแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาด้วยการฝึกนั่งสมาธิ หรือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ประกอบด้วย 6 บทความ (บทความ 1-6) คือ
1.ภูมิหลัง
ภูมิหลัง เป็นการเล่าเรื่องให้ทราบว่า ผมได้ให้ความสนใจในการนั่งสมาธิมาตั้งแต่เมื่อใด อะไรคือมูลเหตุแห่งแรงจูงใจ เพราะการที่คนเราซึ่งเป็นปุถุชนหรือฆราวาสจะหันหน้าเข้าสู่การศึกษาธรรมะ และนั่งสมาธิอย่างจริงจัง ย่อมจะต้องมีมูลเหตุจูงใจพิเศษบางประการแน่นอน

2.ครูสอนการนั่งสมาธิครั้งแรกของผม
ต้องการเล่าให้ทราบว่า การนั่งสมาธิครั้งแรกของผมเริ่มต้นได้เมื่อใด อย่างไร ที่ใด มีใครเป็นครูสอน ถูกต้องหรือถูกทางหรือไม่ เพราะการเริ่มต้นครั้งแรกนับว่าสำคัญมาก หากเริ่มต้นด้วยดี ย่อมเท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ในทางตรงกันข้าม หากเริ่มต้นไม่ดี ย่อมเท่ากับล้มเหลวไปแล้วครึ่งหนึ่งเช่นกัน
ส่วนรายละเอียดในการฝึกปฏิบัติครั้งแรกขอผมว่า ทำอย่างไร กรุณาอ่านต่อในส่วนที่สาม สัมมาสมาธิ และสัมมาสติ บทความที่ 13 อานาปานสติ สัมมาสมาธิและสัมมาสติ 16 ขั้นตอน เพื่อคลายทุกข์
3.ดินแดนอริยสงฆ์
บทความนี้เป็นบทความต่อเนื่องจากบทความที่ 2 โดยต้องการเล่าว่า ผมได้รับคำสั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นหัวเมืองหลักเมืองหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปีพ.ศ.2523 ได้อย่างไร มีใครเป็นผู้สนับสนุน
จังหวัดอุดรธานีในยุคสมัยนั้น มีเนื้อที่กว้างใหญ่กว่าปัจจุบันมาก เพราะรวมเอาพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูทุกอำเภอในปัจจุบันเข้าไว้ด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยพระอริยสงฆ์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นจำนวนมาก
4.กราบหลวงตามหาบัวที่กุฏิ
บทความนี้เป็นบทความต่อเนื่องจากบทความที่ 3 เพื่อเล่าให้ท่านทราบว่า หลังจากได้รับคำสั่งจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ให้ย้ายจากตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโส อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันคือตำแหน่งท้องถิ่นจังหวัด) เมื่อไปพ.ศ.2523 ผมได้มีโอกาสเข้าไปกราบหลวงตามหาบัวที่กุฏิ วัดป่าบ้านตาด และหลวงตาได้มอบหนังสืออะไรให้เป็นที่ระลึกและกล่าวกับผมว่าอย่างไร
5.ครูสอนสัมมาสมาธิ-พระกรรมฐานหลวง

พระกรรมฐานหลวงให้ผม
บทความนี้เป็นการเล่าเรื่องประสบการณ์ของผมถึงสาเหตุที่ได้เข้าไปสมัครเป็นลูกศิษย์อุบาสิกาหรือแม่ชี พิมพา ทองเกลา(อุ้มปรีชา) ณ กุฏิประชาชื่น วัดกำแพง กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียนการนั่งสมาธิแบบพระกรรมฐานหลวง โดยมีจุดประสงค์ในการแก้นิวรณ์ 5 เมื่อปลายปี พ.ศ. 2534
6.ครูสอนสัมมาสติ-มหาสติปัฏฐาน 4
บทความนี้เป็นการเล่าเรื่องการที่ผมได้บวชถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จย่าเมื่อปีพ.ศ.2538 ณ วัดกุดไผท อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ทำให้ผมได้เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ปาน คุตตสติ (พระครูสังวรภิบาล) เจ้าอาวาสวัดกุดไผท และได้เรียนสัมมาสติ คือ มหาสติปัฏฐาน 4
4.ส่วนที่สอง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ
ส่วนที่สองนี้ ต้องการจะปูพื้นฐานความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ ประกอบด้วย 2 บทความ
(บทความ 7-8) คือ
7.ก่อนนั่งสมาธิ
บทควานนี้ ต้องการจะนำเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ ได้แก่ ความหมายและความสำคัญของสมาธิ ประโยชน์ของสมาธิ ประเภทของสมาธิ ท่านั่งสมาธิ การแต่งกายนั่งสมาธิ และสภาวะแวดล้อมของการนั่งสมาธิ
8.หลักธรรมเบื้องต้น
บทความนี้ ต้องการเล่าให้ทราบถึงหลักธรรมเบื้องต้นที่จำเป็นต้องทราบก่อนจะหัดนั่งสมาธิ ได้แก่ สมุทัย มรรคแปด และการจัดกลุ่มมรรคแปด
5. ส่วนที่สาม สัมมาสมาธิ และสัมมาสติ

ส่วนที่สามนี้ นับเป็นเนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้ โดยเป็นการเล่าเรื่องของวิธีการนั่งสมาธิโดยตรง ประกอบด้วย 5 บทความ (บทความที่ 9-13) คือ
9.นั่งสมาธิให้ได้ฌาน
บทความนี้ ต้องการจะเล่าให้ทราบว่า การที่จะนั่งสมาธิให้ได้ฌานนั้น ต้องทราบเสียก่อนว่า ฌานมีองค์ประกอบอะไรบ้าง คำภาวนา และนิมิตในการนั่งสมาธิ คืออะไรและมีอะไรบ้าง อารมณ์ฌานคืออะไร และอารมณ์ของแต่ละฌานแตกต่างกันอย่างไร
10.นั่งสมาธิ เพื่อคลายทุกข์ ด้วยสัมมาสติ
บทความนี้ บอกเล่าถึงสัมมาสติว่า ซึ่งหมายถึงมหาสติปัฏฐาน 4 ประกอบด้วยอะไรบ้าง และการพิจารณากายในกายคืออะไร และพิจารณาอย่างไร
11. สติปัฏฐาน 4 จะช่วยคลายทุกข์ให้ท่านได้อย่างไร
บทความนี้ เป็นบทความที่มีเนื้อหาต่อเนื่องบทความที่ 10 โดยจะเล่าถึงวิธีการพิจารณาสติแบบมหาสติฐาน 4 ได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ต่อจากบทความที่ 10 ) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
12. ธรรมะในการพิจารณา ธรรมในธรรม
บทความนี้ เป็นบทความต่อเนื่องจากบทความที่ 11 ในส่วนที่เกี่ยวกับ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยได้ยกหัวข้อธรรมที่ควรจะนำมาพิจารณา คือ นิวรณ์ 5 อุปสรรคของการบรรลุธรรม อุปาทานขันธ์ 5 อาตยนะ โพชฌงค์ 7 และอริสัจ 4
13. อานาปานสติ สัมมาสมาธิ และสัมมาสติ 16 ขั้นตอน เพื่อคลายทุกข์
บทความนี้ เป็นบทความสืบเนื่องจากบทความที่ 2 ในส่วนที่หนึ่ง ภูมิหลัง จุดเริ่มต้น และครูสอนพระกรรมฐาน คือบทความการฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรกของผม โดยได้นำเอาแนวทางในการหัดนั่งสมาธิแบบอานาปานสติ 16 ขั้นตอน ตามที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้เขียนไว้ในหนังสืออานาปานสติมาเล่า
6.ส่วนที่สี่ บทสรุป
ส่วนที่สี่ บทสรุป เป็นการสรุปการนั่งสมาธิเพื่อคลายทุกข์ด้วยตนเอง พร้อมทั้งมีข้อแนะนำในการนำหลักมหาสติปัฏฐาน 4 ไปปรับใช้ในการคลายทุกข์ในชีวิตประจำวัน มีจำนวน 3 บทความ คือบทความที่ 14-16 ทั้งนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านมีความเข้าใจในการฝึกสมถวิปัสสนากรรมฐาน ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปทดลองฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง
โดยบทความที่ 16 เป็นการสรุปเนื้อหาทั้งหมดเป็นแผนภาพประกอบ จำนวน 8 แผนภาพ เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
7.สรุป
หนังสืออีบุ๊ค ฝึกนั่งสมาธิเพื่อคลายทุกข์ด้วยตนเอง เป็นหนังสือแนวเรื่องเล่าในการฝึกนั่งสมาธิสำหรับผู้ครองเรือนหรือฆราวาส เพื่อใช้เป็นคู่มือในการหัดนั่งสมาธิด้วยตนเอง ประกอบด้วย สัมมาสมาธิและสัมมาสติ กล่าวคือ สัมมาสมาธิ เป็นการนั่งสมาธิเพื่อให้ได้ฌาน 1-4 ส่วนสัมมาสตินั้น เป็นการเจริญมหาสติปัฏฐาน 4
พระกรรมฐานหลวง เป็นสัมมาสมาธิ อานาปานสติเป็นทั้งสัมมาสมาธิและสัมมาสติ ส่วนมหาสติปัฏฐาน 4 เป็นสัมมาสติ
ทั้งสัมมาสมาธิและสัมมาสติ มีสัมมาวายาจะ (ความเพียรชอบ) เป็นฐานไปสู่ความสำเร็จในคลายทุกข์และอาจจะดับทุกข์ได้ในที่สุด ถ้ายังมีความเพียรต่อไปเรื่อย ๆ
การเจริญสัมมาสมาธิและสัมมาสติ เรียกรวมกันว่า การเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นไปตามแนวคำสอนของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการดับทุกข์ในที่สุด แม้บุคคลจะยังไม่สามารถดับทุกข์ได้แต่ก็ยังสามารถคลายทุกข์ลงได้ระดับหนึ่ง กล่าวคือ บุคคลผู้ครองเรือนหรือฆราวาส อาจจะยังไม่หวังจะดับทุกข์หรือไปสู่นิพพาน แต่การเจริญสัมมาสมาธิและสัมมาสติอยู่เสมอหรือบ่อย ๆ ก็จะช่วยทำให้บุคคลคลายทุกข์หรือมีความทุกข์น้อยลงนั่นเอง
บุคคลใดที่หมั่นเจริญสัมมาสมาธิและสัมมาสติอยู่เสมอ บุคคลนั้นแม้ชีวิตอาจจะเผชิญปัญหาร้ายแรงเพียงใด ก็อาจจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยผลแห่งการเจริญสัมมาสมาธิและสัมมาสติ เพราะบุคคลเช่นนี้จะไม่ขาดสติ และจะไม่แก้ปัญหาชีวิตด้วยอารมณ์หุนหันพลันแล่น แต่จะแก้ปัญหาด้วยสติอันฝึกมาดีแล้วนั่นเอง
หนังสือ ฝึกนั่งสมาธิเพื่อคลายทุกข์ด้วยตนเอง (ฉบับเต็ม)
ท่านใดที่ต้องการอ่านหนังสืออีบุ๊คเล่มนี้ฉบับเต็ม อาจคลิกเข้าไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์ข้างล่างนี้ คือ
ขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาให้ความสนใจ
ดร.ชา 369
18 พฤศจิกายน 2564
อาจารย์คะ เหตุใดชาวตะวันตก จึงนิยม มาบวชพระในประเทศไทยเรา ที่วัดหนองป่าพงมีแต่ชาวต่างชาติ ศาสนาแต่ละศาสนา สั่งสอนให้ผู้ที่นับถือเป็นคนดี
ก็เพราะเขามีความเลื่อมใสและศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า จะทำให้ผู้ปฏิบัติตามคำสอนสามารถพ้นทุกข์ได้จริง<ซึ่งเขาไม่อาจหาได้ในศาสนาหรือความเชื่อเดิมของตน/p>
อาจารย์คะ จุดแข็งของศาสนาพุทธ คือ อะไร คะ ขอบคุณค่ะ
จุดแข็งของศาสนาพุทธ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า บุคคลสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเองว่า เป็นความจริงหรือไม่ จึงเป็นศาสนาที่ได้รับการยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์มากที่สุดว่าเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต คือ สามารถพิสูจน์ได้จริง
เป็นบทความที่น่าจะมีต่อไปในขั้นตอการฝึกสมาธิถึงกรรมฐานครับ
อ๋อ ได้รวมเนื้อหาทั้งหมดไว้ใน อีบุ๊คแล้ว
น่าสนใจมากค่ะ ยิ่งด้วยภูมิรู้ บวกความตั้งใจขอผู้เขียน และวิธีการเขียนให้อ่านสนุกเข้าใจง่ายแล้ว ท่านผู้อ่านหลายท่านคงอยากฝึกนั่สมาธิให้เคมีในร่างการสมดุลกับสนามแม่เหล็กโลกแน่เลยค่ะ
ขอบคุณ คุณบุญญสรณ์มาก ที่กรุณาให้กำลังใจ