ความ สัมพันธ์ระหว่างการบริหารอำนาจทางการเมือง กับ อำนาจการบริหารงานประเทศ เป็นบทความลำดับที่ 6 ของหมวด 5 เหตุการณ์ปัจจุบัน จะเล่าถึง ความนำ ความหมายของการบริหารอำนาจทางการเมือง และอำนาจการบริหารประเทศ องค์ประกอบของการบริหารอำนาจทางการเมือง องค์ประกอบของอำนาจการบริหารงานประเทศ ความ สัมพันธ์ระหว่างการบริหารอำนาจทางการเมืองกับอำนาจการบริหารงานประเทศ วิเคราะห์ปัญหาความ สัมพันธ์ระหว่างการบริหารอำนาจทางการเมือง กับอำนาจการบริหารงานประเทศของรัฐบาลผสมในระบบรัฐสภา สรุป และเรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา
อนึ่งบทความสุดท้ายที่ได้นำลงโพสต์ คือประวัติ ฟิลิปปินส์น่ารู้
Table of Contents
1.ความนำ
ในขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติอย่างหนึ่ง นั่นคือปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ที่กำลังเป็นภัยคุกคามผู้คนไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในประเทศที่เจริญแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศที่ด้อยพัฒนา ดังจะเห็นได้จากการรายงานประจำวันเกี่ยวกับยอดผู้ติดเชื้อ และยอดผู้เสียชีวิตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งมีจำนวนมากมหาศาล
หากมองในด้านการเมือง การแก้ปัญหาโรคไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศใดระบาดว่า จะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับการบริหารอำนาจทางการเมือง และการบริหารงานประเทศเป็นสำคัญ กล่าวคือ หากการบริหารอำนาจทางการเมือง และการบริหารงานประเทศสอดคล้องกัน การแก้ปัญหาก็จะมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชน แต่ถ้าการบริหารอำนาจทางการเมืองและการบริหารงานประเทศ ขัดแย้งกันหรือไม่สอดคล้องกัน การแก้ปัญหาก็จะไม่มีประสิทธิผล และไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชน
ดังนั้น บทความนี้จึงต้องการจะชี้ให้เห็นว่า การบริหารอำนาจทางการเมือง และอำนาจการบริหารงานประเทศ มีความ สัมพันธ์กันอย่างไร เพื่อจะทำให้ท่านมองเห็นภาพประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ รวมทั้งความพึงพอใจของประชาชน
2. ความหมายของการบริหารอำนาจทางการเมือง และอำนาจการบริหารงานประเทศ
การบริหารอำนาจทางการเมือง และการบริหารงานประเทศ มีความหมายแตกต่างกัน กล่าวคือ
2.1 การบริหารอำนาจทางการเมือง
การบริหารอำนาจทางการเมือง หมายถึง การแสวงหาอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล และการรักษาอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลไว้ให้นานที่สุด
2.2 อำนาจการบริหารงานประเทศ
อำนาจการบริหารงานประเทศ หมายถึง การที่รัฐบาลได้ใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายในการบริหารงานราชการแผ่นดิน ผ่านทางกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ
3. องค์ประกอบของการบริหารอำนาจทางการเมือง
การจะได้มาซึ่งอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล อาจแบ่งออกตามระบบการปกครองประเทศ ดังนี้
3.1 การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ถือหลักการรวมอำนาจ กล่าวคือ พรรคใดมีเสียงข้างในสภา พรรคนั้นจะได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ถ้าพรรคเดียวไม่มีเสียงข้างมากมากพอ ก็จะต้องรวมกันหลายพรรค เป็นรัฐบาลผสม
ระบบรัฐสภา สภาอาจใช้เสียงข้างมากล้มรัฐบาลได้ ในขณะเดียวกัน หัวหน้ารัฐบาลอาจจะใช้อำนาจยุบสภาได้เช่นกัน
อังกฤษเป็นแม่แบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
3.2 การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี
การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี เป็นระบบแบ่งแยกอำนาจ ประธานาธิบดี และสมาชิกรัฐสภาต่างได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ซึ่งบางครั้งฝ่ายเสียงข้างมากในสภา อาจจะสังกัดคนละพรรคกับประธานาธิบดีก็ได้
ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขและหัวน้าฝ่ายบริหาร
ระบบนี้ สภาไม่อาจจะใช้เสียงข้างมากล้มประธานาธิบดีได้ ทำให้ประธานาธิบดีสามารถอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ ในขณะเดียวกันประธานาธิบดีก็ไม่มีอำนาจจะยุบสภาได้เช่นกัน
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแม่แบบของการปกครองระบบประธานาธิบดี
3.3 การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา
ระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบกึ่งประธานาธิบดี มีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและเป็นประมุขของประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วย ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจากฝ่ายเสียงข้างมากในสภา สภาอาจใช้เสียงข้างมากล้มคณะรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับระบบรัฐสภา ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีอาจเสนอประธานาธิบดียุบสภาได้เช่นกัน
ฝรั่งเศสเป็นประเทศแม่แบบของการปกครองระบบกึ่งประธานาธิบดี
3.4 การปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
การปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เป็นการปกครองระบบเผด็จการอย่างหนึ่งภายใต้อุดมการณ์มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ มีพรรคการเมืองได้พรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์ จึงไม่มีพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ปัจจุบันประเทศที่มีการปกครองระบอบนี้เหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ ได้แก่ จีนแผ่นดินดินใหญ่หรือจีนคอมมิวนิสต์ ลาว เวียดนาม และคิวบา
3.5 การปกครองระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์
การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองที่ถือว่าอำนาจในการปกครองประเทศเป็นของพระมหากษัตริย์ เป็นระบอบการปกครองซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยโบราณ ปัจจุบันยังมีเหลืออยู่ในบางประเทศบ้าง เช่น บรูไน ซาอุดิอาระเบีย
4.องค์ประกอบของอำนาจการบริหารงานประเทศ
อำนาจในการบริหารงานประเทศ ได้แก่ อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ใช้ในการบริหารประเทศผ่านทางกระทรวง ทบวง กรม อาจแยกออกตามระบอบการปกครองประเทศ ดังนี้
4.1 ระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
ตำแหน่งทางการเมืองในการบริหารงานประเทศ ได้แก่ คณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล
หากเป็นรัฐบาลที่ฝ่ายเสียงข้างมากในสภามีอยู่พรรคเดียว ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ย่อมมาจากพรรคการเมืองเดียวกัน แต่ถ้าเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ย่อมมาจากพรรคการเมืองหลายพรรค
4.2 ระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี
ตำแหน่งทางการเมืองในการบริหารงานประเทศ ได้แก่ ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และรัฐมนตรี
ระบบประธานาธิบดี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว ล้วนมาจากพรรคการเมืองเดียวกัน กล่าวคือ ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งด้วยความเห็นขอบของสภา
4.3 ระบอบประชาธิปไตยระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา
ตำแหน่งทางการเมืองในการบริหารงานประเทศ ได้แก่ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยประธานาธิบดีได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งจากสมาชิกสภาฝ่ายเสียงข้างมาก
หากฝ่ายเสียงข้างมากในสภาเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียว ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองย่อมมาจากพรรคการเมืองเดียว แต่ถ้าเป็นรัฐบาลผสม ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองย่อมมาจากพรรคร่วมรัฐบาล
4.4 ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ล้วนมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ดังนั้น ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จะไม่มีคำว่ารัฐบาลผสม
4.5 ระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ ล้วนเป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงเห็นสมควร
กล่าวโดยสรุปแล้ว ในบรรดาระบอบการปกครองทั้ง 5 ระบอบดังกล่าวข้างต้น การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เป็นระบบเดียวที่มีโอกาสได้จัดตั้งเป็นรัฐบาลผสม ถ้าหากฝ่ายเสียงข้างมากในสภาประกอบด้วยพรรคการเมืองอย่างน้อยสองพรรครวมกัน เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองใดเพียงพรรคเดียวที่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา
อย่างไรก็ดี ระบอบประชาธิปไตยระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา การจัดตั้งรัฐบาลอาจจะเป็นรัฐบาลผสมก็ได้ หากไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา
5. ความ สัมพันธ์ระหว่าง การบริหารอำนาจทางการเมือง กับ การบริหารงานประเทศ
การบริหารอำนาจทางการเมือง มีความ สัมพันธ์กับการบริหารงานประเทศอย่างใกล้ชิด ส่วนจะเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับระบอบการปกครองประเทศ กล่าวคือ
5.1 ระบอบการปกครองประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
โดยหลักการของระบอบการปกครองประชาธิปไตยระบบรัฐสภา พรรคการเมืองที่ได้มีเสียงข้างมากในสภา ย่อมเป็นพรรคที่มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล

5.1.1 การจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
กรณีมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา กล่าวคือ ได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง การจัดตั้งรัฐบาลจะง่ายและราบรื่น ซึ่งจะส่งผลทำให้การบริหารงานราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นเช่นเดียวกัน เพราะผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีล้วนมาจากพรรคการเมืองเดียวกัน
การจัดตั้งรัฐบาลด้วยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว จะทำให้รัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายที่ตั้งไว้ได้อย่างเต็มที่ ผลงานที่ออกมาจะมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชน
5.1.2 การจัดตั้งรัฐบาลผสม

กรณีผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด จำเป็นต้องมีการรวมพรรคอย่างน้อยสองพรรคเพื่อให้ได้เสียงมากพอจะจัดตั้งรัฐบาล เรียกว่ารัฐบาลผสม
ความมีเสถียรภาพของรัฐบาลผสม มักจะน้อยกว่ารัฐบาลพรรคเดียวที่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด เพราะพรรคร่วมรัฐบาลมีโอกาสบริหารงานขัดแย้งกันเองได้ หากขัดแย้งมาก ๆ พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค อาจขอถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล และอาจเป็นสาเหตุทำให้รัฐบาลล้มลงได้
5.2 ระบอบการปกครองประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี
การปกครองระบอบนี้ การจัดตั้งรัฐบาลมีแต่การจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เพราะหัวหน้าฝ่ายบริหาร คือ ประธานาธิบดีได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่ได้มาจากฝ่ายเสียงช้างมากในสภาเหมือน อย่างระบบรัฐสภา
อย่างไรก็ดี หากฝ่ายเสียงข้างในสภาเป็นคนละพรรคหรือคนละฝ่ายกับประธานาธิบดี การบริหารอาจจะไม่ราบรื่น ในแง่ของการผลักดันกฎหมายบางฉบับ ให้ผ่านสภาตามนโยบายหรือความต้องการของฝ่ายบริหารอาจไม่เป็นผล
5.3 ระบอบการปกครองประชาธิปไตยระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา
การปกครองระบอบนี้ หัวหน้าฝ่ายบริหารและประมุขของประเทศ คือประธานาธิบดีตามหลักการของระบบประธานาธิบดี ในขณะเดียวกัน ยังมีคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ซึ่งประธานาธิบดีแต่งตั้งจากฝ่ายเสียงข้างมากในสภาตามหลักการของระบบรัฐสภา หากรัฐบาลประกอบด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียว ก็ไม่มีปัญหาความขัดแย้งอะไร แต่ถ้ารัฐบาลประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค อาจจะเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองที่ร่วมเป็นรัฐบาลได้
ความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล อาจจะนำไปสู่การลาออกของรัฐบาลหรือการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ก็ได้
5.4 ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
การปกครองระบอบนี้ มีพรรคการเมืองพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์ ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาความขัดแย้งใด ๆ ในการบริหาร เพราะผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลล้วนเป็นบุคคลสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ และนโยบายในการบริหารประเทศย่อมต้องเป็นไปตามนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์
5.5 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
โดยหลักการของการปกครองระบอบนี้ ถือว่า พระมหากษัตริย์คือศูนย์กลางของอำนาจ ดังนั้น การบริหารประเทศย่อมเป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ
6. วิเคราะห์ปัญหาของรัฐบาลผสมในระบบรัฐสภา
การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เป็นระบบรวมอำนาจ กล่าวคือ ฝ่ายใดครองเสียงข้างมากในสภา ฝ่ายนั้นจะได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ หากมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวครองเสียงข้างในสภา การบริหารประเทศมักจะเป็นไปด้วยความราบรื่น รัฐบาลย่อมจะสามารถผลักดันนโยบายตามที่ได้แถลงไว้ต่อสภาได้โดยง่าย เพราะฝ่ายค้านย่อมยากที่จะเอาชนะรัฐบาลในสภาได้
แต่ถ้าเป็นรัฐบาลผสมในระบบรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งในการบริหารประเทศ ด้วยเหตุผลดังนี้
6.1 ปัญหาของการมุ่งหวังจะชิงความได้เปรียบเพื่อหวังผลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
แต่ละพรรคที่มาร่วมเป็นรัฐบาลผสม แม้จะยอมรับในนโยบายของรัฐบาลร่วมกันแล้ว แต่ในส่วนที่เป็นงานของกระทรวงที่แต่ละพรรคได้รับโควตาไปใช้อำนาจบริหาร ย่อมเปิดโอกาสให้พรรคนั้นใช้อำนาจบริหารสร้างผลงานให้เป็นที่พึงพอใจของประชาชน
การมุ่งหวังที่จะใช้ผลงานของกระทรวงที่พรรคตนได้รับโควตาไปบริหาร ในการสร้างคะแนนนิยมให้แก่พรรคการเมือง บางครั้งอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล
6.2 ปัญหาในการบูรณาการ

แม้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะมีอำนาจตามกฎหมายเหนือรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติหรือในทางพฤตินัยก็มิได้หมายความว่า นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจสั่งการรัฐมนตรีได้ตามใจชอบ เพราะการใช้อำนาจบีบบังคับรัฐมนตรีที่อยู่คนละพรรคกับนายกรัฐมนตรีมากจนเกินไป อาจจะส่งผลให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคไม่พอใจ ถึงขั้นขอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลได้
ปัญหาเช่นนี้จะไม่มีทางเกิด หากรัฐบาลจัดตั้งจากพรรคการเมืองเดียว ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ย่อมสามารถใช้อำนาจสั่งการได้เต็มที่โดยไม่ส่งผลต่อเอกภาพของรัฐบาล
6.3 ปัญหาพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมีอุดมการณ์หรือเป้าหมายแตกต่างกัน
การที่พรรคการเมืองได้ร่วมกันเป็นรัฐบาลผสม มิได้หมายความว่า ทุกพรรคจะมีอุดมการณ์หรือเป้าหมายอย่างเดียวกันทุกอย่าง เพราะการกำหนดนโยบายของรัฐบาล เป็นเพียงนโยบายที่แต่ละพรรคพอจะยอมรับร่วมกันได้เท่านั้น ส่วนที่ยังมีความเห็นแตกต่างของแต่ละพรรค ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์หรือเป้าหมายบางอย่างก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจเป็นเหตุปัจจัย ทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้เสมอ
หากเป็นรัฐบาลพรรคเดียวปัญหาเช่นนี้จะไม่มี
จะเห็นได้ว่า ประเทศใดที่มีระบอบการปกครองประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ซึ่งมีรัฐบาลประกอบด้วยหลายพรรคการเมืองผสมกัน มักจะไม่สามารถสร้างผลงานให้โดดเด่นและเป็นที่พึงพอใจของประชนได้เท่าที่ควร ก็ด้วยปัญหาทั้งสามประการดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ปัญหาแย่งชิงความได้เปรียบการเลือกตั้งครั้งต่อไป ปัญหาในการบูรณาการงานระหว่างกระทรวงที่อยู่ภายใต้การบริหารของพรรคการเมืองต่างพรรคกัน และปัญหาการมีอุดมการณ์หรือเป้าหมายทางการเมืองบางประการที่แตกต่างกันของพรรคร่วมรัฐบาล
7.สรุป
การบริหารอำนาจทางการเมือง และอำนาจการบริหารประเทศมีความ สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ การบริหารอำนาจทางการเมืองเป็นฐานไปสู่อำนาจการบริหารประเทศ การบริหารอำนาจทางการเมือง หมายถึง การแสวงหาและรักษาอำนาจของพรรคในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
พรรคใดครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา พรรคนั้นจะได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แต่ถ้าไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา จำเป็นต้องรวมกันหลายพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม
แต่การจัดตั้งรัฐบาลผสม โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งในการบริหารประเทศย่อมมีเสมอ เพราะแต่ละพรรคอาจจะมีอุดมการณ์และเป้าหมายที่แท้จริงของตนแตกต่างกัน และต่างคาดหวังอยากจะเป็นพรรคแกนนำหรือพรรคเดียวในการจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ประเทศใดที่มีการปกครองระบบรัฐสภา หากอำนาจการบริหารประเทศอยู่ในมือพรรคการเมืองหลายพรรคหรืออย่างที่เรียกว่ารัฐบาลผสม การบริหารแบบบูรณาการในการแก้ปัญหาวิกฤตใหญ่ ๆ ของประเทศอาจจะไม่ดีพออย่างเช่นปัญหาโรคไวรัสโคโรนา 2019 ระบาด เพราะแต่ละพรรคที่ร่วมรัฐบาลมักจะหาโอกาสหรือช่องทางในการแสดงบทบาทให้เหนือกว่าพรรคร่วมรัฐบาล
สำหรับความคิดเห็นอื่นๆ กรุณาติดตามได้ใน ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
การถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369 มีจุดประสงค์จะขยายความเนื้อหาของบทความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อความความเข้าใจอันดีของท่านผู้อ่าน
ถาม-การบริหารอำนาจทางการเมืองมีความ สัมพันธ์ และความจำเป็นอย่างไร ต่อการมีอำนาจการบริหารประเทศ
ดร.ชา-ผู้ที่จะมีอำนาจบริหารประเทศ ซึ่งหมายถึงการเป็นรัฐบาล ไม่ว่าระบอบหรือระบบการเมืองการปกครองประเทศจะเป็นเช่นไร ต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจการเมืองในมือก่อน จึงจะสามารถเป็นรัฐบาลได้ กล่าวคือ กรณีมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา จะเป็นพรรคที่มีอำนาจทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ถ้าพรรคเดียวคะแนนเสียงไม่มากพอ ก็จะต้องมีหลายพรรคการเมืองรวมกันจัดตั้งเป็นรัฐบาลผสม
ถาม-การจัดตั้งรัฐบาลพรรคการเมืองพรรคเดียวดีกว่าการจัดตั้งรัฐบาลผสมอย่างไร
ดร.ชา- ทุกพรรคการเมืองที่ส่งคนสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ล้วนอยากจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ต้องมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่ากึ่งหนึ่ง การลงมติใด ๆ ในสภาจึงจะเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่างพระราชบัญญัติที่สำคัญ ๆ
ในกรณีเป็นรัฐบาลผสม การลงมติดังกล่าว อาจจะไม่แน่นอน เพราะพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอาจจะไม่ลงมติไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป ซึ่งอาจจะทำให้แพ้โหวตในบางครั้งได้
ถาม-หากรัฐบาลไทยในปัจจุบันเป็นรัฐบาลพรรคเดียว การแก้ปัญหาโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบาด จะมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ไหม
ดร.ชา-แน่นอน หากรัฐบาลไทยในปัจจุบันเป็นรัฐบาลพรรคเดียว การแก้ปัญหาโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบาด ย่อมมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะการทำงานของรัฐบาลจะเป็นเอกภาพ กระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็พร้อมที่จะทำงานไปในทิศทางเดียวกัน จะไม่มีการออกมาให้สัมภาษณ์แบบขัดแย้งกันเองอย่างที่เราเห็น
รัฐบาลไทยในปัจจุบันเป็นรัฐบาลผสมของหลายพรรคการเมือง แต่ที่เป็นแกนสำคัญก็มีพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา
ถาม- นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจตามกฎหมายเป็นผู้บังคับบัญชารัฐมนตรีทุกคน และมีอำนาจสั่งการโดยตรงไปยังข้าราชการทุกกระทรวงได้ ทำไมการเป็นรัฐบาลผสมจึงดูเหมือนว่า นายกรัฐมนตรีจะไม่สามารถนำอำนาจดังกล่าวมาใช้บังคับได้
ดร.ชา-ในการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้มีการแบ่งโควตาระหว่างพรรคการเมืองที่มาร่วมรัฐบาลแล้ว พรรคใดจะได้คุมกระทรวงใด ดังนั้น โดยหลักการก็ต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นในการบริหารงาน แม้นายกรัฐมนตรีอาจจะใช้อำนาจสั่งการบางอย่าง เพื่อดึงอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงให้มาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่การปฏิบัติงานต่าง ๆ ของกระทรวงนั้นก็ยังคงเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นในการกำกับดูแล เว้นแต่นายกรัฐมนตรีจะสั่งให้หน่วยงานอื่นทำแทนในบางภารกิจ
ถาม-ขอให้ยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจนได้ไหม
ดร.ชา-ได้ อย่างกรณีการแก้ปัญหาโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบาดอย่างรุนแรงในประเทศไทยเวลานี้ กระทรวงสาธารณสุข อยู่ในความรับผิดชอบของพรรคภูมิใจไทย หากจะปล่อยให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบอยู่กระทรวงเดียว คงไปไม่รอดแน่ จำเป็นต้องมีหลาย ๆ กระทรวงมาร่วมกันทำงานในรูปแบบของการบูรณาการ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นผู้ใช้อำนาจในการสั่งการกระทรวงต่าง ๆ ผ่านทางปลัดกระทรวงในรูปแบบของ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เรียกชื่อว่า ศคบ.
การที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจสั่งการดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจสั่งการซึ่งปกติจะเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ โดยนายกรัฐมนตรีจะสั่งการไปยังปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรง จะได้รวดเร็ว แต่การปฏิบัติตามกฎหมายแต่ละฉบับก็ยังเป็นเรื่องของแต่ละกระทรวงเหมือนเดิม
ถาม-การที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจสั่งการแทนรัฐมนตรีเช่นนี้ ย่อมทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องไม่ทราบเรื่องใช่ไหม
ดร.ชา-ไม่ใช่ รัฐมนตรียังเป็นกรรมการใน ศคบ.ชุดใหญ่ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมกันเป็นระยะ ๆ ดังนั้น ย่อมทราบเรื่องแน่นอน นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติของการบริหารราชการ แม้นายกรัฐมนตรีจะสั่งการปลัดกระทรวงโดยตรง เรื่องสำคัญเช่นนี้ ปลัดกระทรวงย่อมทำเรื่องรายงานให้รัฐมนตรีทราบอยู่แล้ว
ถาม-ฟังดูก็ไม่น่าเป็นปัญหา แต่ทำไมจึงมีข่าวเล็ดลอดออกมาเป็นระยะ ๆ ในทำนองคล้ายกับมีความขัดแย้งระหว่างพรรคภูมิใจที่คุมกระทรวงสาธารณสุข และนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเสนอชื่อของพรรคพลังประชารัฐ
ดร.ชา-ก็น่าจะเกิดจากพรรคภูมิใจไทยน้อยใจหรือไม่พอใจที่นายกรัฐมนตรีดึงอำนาจสั่งการบางอย่างไปสั่งการแทนรัฐมนตรี แต่ก็เป็นการดึงอำนาจไปชั่วคราว ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งย่อมรวมทั้งรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยด้วย
แต่คนเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องกล้าตัดสินใจในการดึงอำนาจไปสั่งการเอง แม้ว่าอาจจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจ เพราะตนเป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องรับผิดชอบเต็มที่ จะปล่อยให้แต่ละกระทรวงบริหารกันเองตามใจชอบคงไม่ได้ เพราะเวลาคนตำหนิหรือด่า เขามุ่งไปยังนายกรัฐมนตรีมากกว่ารัฐมนตรี
ถาม-ในเมื่อนายกรัฐมนตรีดึงอำนาจบางอย่างไปสั่งการเองแล้ว ทำไมดูเหมือนประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความพึงพอใจของประชาชนในเรื่องการแก้ปัญหาโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบาดจะยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร
ดร.ชา- ในเรื่องนี้ ต้องเข้าใจให้ดีว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะดึงอำนาจสั่งการบางอย่างไปสั่งการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่รักษาการตามกฎหมายอยู่ แต่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายก็ยังเป็นกระทรวงเดิม หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นก็ยังเป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลในการปฏิบัติของกระทรวงที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการเหมือนเดิม
ถาม-สมมุติว่า รัฐบาลไทยในปัจจุบันเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ท่านคิดว่า การแก้ปัญหาโรคไวรัสโคโรนา 2019 ระบาดอย่างรุนแรงเหมือนอย่างในขณะนี้ จะมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนได้ดีกว่ารัฐบาลผสมหรือไม่ อย่างไร
ดร.ชา-ดีกว่าแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะการบูรณาการระหว่างกระทรวงและส่วนราชการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาจะสามารถทำได้อย่างลื่นไหล ไม่มีกำแพงของพรรคมาขวางกั้น การสั่งวัคซีนก็จะสามารถสั่งได้อย่างรวดเร็ว การรณรงค์ให้ผู้คนมาฉีดวัคซีนก็จะสามารถทำได้อย่างทั่วถึง เพราะนายกรัฐมนตรีอาจมอบอำนาจให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักในส่วนนี้ เนื่องจากเป็นกระทรวงที่มีอำนาจและเครือข่ายไปยังทุกตำบลหมู่บ้านและทุกครัวเรือน ย่อมสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็คงให้เป็นเจ้าภาพหลักในด้านการฉีดวัคซีน
ยิ่งกว่านั้น การแถลงข่าวสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนก็จะเป็นเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ประชาชนไม่สับสน ซึ่งไม่เหมือนปัจจุบันนี้ บางครั้งดูเหมือนว่า พรรครัฐบาลขัดแย้งกันเอง แม้แต่หมอก็ขัดแย้งกันเอง ก็ยิ่งทำให้ประชาชนสับสน
และถ้านับเอาพวกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เอาข้อมูลไปบิดเบือนขยายผล ก็ยิ่งจะบานปลายมากยิ่งขึ้น
ถาม- ท่านพอจะยกตัวอย่างประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียวเป็นรัฐบาลปกครองประเทศไหม
ดร.ชา-ก็ประเทศสิงคโปร์เพื่อนบ้านเราไง นับตั้งแต่ได้รับเอกราชมาเป็นประเทศสิงคโปร์มาตั้งแต่ ปีพ.ศ.2508 จนกระทั่งทุกวันนี้ สิงคโปร์มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ได้เป็นรัฐบาล คือพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party) ที่ลี กวน ยู เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น
เราจะเห็นได้ว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้ามาก จัดเป็นประเทศชั้นนำของโลก
การที่สิงคโปร์มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ได้จัดตั้งรัฐบาล บางครั้งก็เลยมีคนเอาไปเปรียบเปรยว่า สิงคโปร์เป็นประเทศเผด็จการรัฐสภา แต่มิได้หมายความว่า เขาไม่อนุญาตให้ตั้งพรรคการเมืองอื่นนะ ใครอยากตั้งก็ตั้งได้ แต่ประชาชนไม่นิยมก็เลยเหมือนว่า มีพรรคการเมืองพรรคเดียว