85 / 100

“เศรษฐกิจ จีน เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดได้อย่างไร” เป็นบทความลำดับที่ 6 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก ความนำ ข้อมูลพื้นฐานของเศรษฐกิจ จีน ( ขนาดจีดีพี และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีน) ดัชนีชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของจีนในเวทีโลก (ขีดความสามารถในการแข่งขัน ความสะดวกในการทำธุรกิจ ดัชนีนวัตกรรม ดัชนีการคอรัปชั่น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ ) จุดเริ่มต้นในการปฏิรูปเศรษฐกิจ จีน ให้เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด ความเจริญโตของเศรษฐกิจ จีนในปัจจุบัน วิเคราะห์  สรุป และถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369

1.ความนำ

          ในบทความที่แล้ว คือ ระบบเศรษฐกิจ จี เป็นอย่างไร (5) ได้เล่าว่า ระบบเศรษฐกิจ จีนนั้นเป็นระบบการตลาดแบบสังคมนิยม (socialist market economy) ซึ่งเป็นการประยุกต์เอาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของโลกตะวันตกมาปรับใช้กับระบบการเมืองแบบเผด็จการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ของจีน กล่าวคือ จีนยังคงมีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ต่อไปตามเดิม แต่ยอมรับเอาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองของจีน แล้วเรียกชื่อว่า ระบบเศรษฐกิจการตลาดแบบสังคมนิยม

            ระบบเศรษฐกิจการตลาดแบบสังคมนิยม เป็นระบบที่ได้เริ่มนำมาปรับใช้เมื่อครั้งมีการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนในยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้นำของประเทศจีนต่อจากยุคของเหมา เจ๋อตุง กล่าวคือ เป็นระบบเศรษฐกิจที่ยอมรับกลไกการตลาดในการกำหนดราคาสินค้า ตามกฎของอุปสงค์และอุปทาน  แต่รัฐจะมีอำนาจและบทบาทแทรกแซงได้ทุกเมื่อ เพื่อให้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางที่รัฐต้องการ ไม่ได้ปล่อยให้กลไกการตลาดเป็นไปอย่างเสรีเหมือนอย่างระบบทุนนิยมในโลกตะวันตก

            การที่รัฐสามารถแทรกแซงกลไกการตลาดได้ก็เพราะวิสาหกิจหรือธุรกิจใหญ่ ๆ ที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนรวม ล้วนเป็นของรัฐ ไม่ใช่ของเอกชนเหมือนอย่างโลกตะวันตก ทำให้รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยและผลผลิต ดังนั้น การแทรกแซงกลไกการตลาดโดยรัฐจึงสามารถทำได้ง่าย

            สำหรับบทความนี้ ต้องการนำเสนอให้เห็นว่า ผลของการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน นับตั้งแต่ยุค     ของเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นต้นมา ได้ทำเศรษฐกิจ จีน เจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้อย่างไร

2.ข้อมูลพื้นฐานของเศรษฐกิจ จีน

          การพิจารณาว่า เศรษฐกิจ จีน ได้มีความเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดหรือไม่นั้น เบื้องต้นคงต้องดูจากตัวเลขแสดงขนาดจีดีพี และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีน

            2.1 ขนาดจีดีพีของจีน

                        ขนาดจีดีพีของจีน หากวัดแบบnominal  สูงเป็นอันดับสองของโลก รองลงมาจากขนาดจีดีพีของสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าหากวัดตามอำนาจซื้อ (ppp ) จีนกลับมีขนาดจีดีพีสูงที่สุดในโลก

                        2.1.1 ขนาดจีดีพี แบบ nominal

                             Nominal gdp คือ มูลค่าของผลผลิตในประเทศ โดยวัดจากมูลค่าของสินค้าและบริการที่วัด ณ ระดับราคาสินค้าและบริการในปีที่ผลิตสินค้าและบริการนั้น ๆ

                             ธนาคารโลกได้ประเมินขนาดจีดีพีแบบ nominal ของจีนประจำปี 2020 ไว้ว่า จีนมีขนาดจีดีพีเป็นสูงอันดับสองของโลก จำนวน 14,722,731 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรองจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาดจีดีพี จำนวน 20,936,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีขนาด จีดีพีสูงกว่าอันดับสามคือญี่ปุ่น ซึ่งมีจีดีพี จำนวน 4,975,415 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                                    อนึ่ง ธนาคารโลกได้ประเมินขนาดจีดีพีของไทยอยู่ที่ 501,795 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่อันดับที่ 25 ของโลก

                        2.1.2 ขนาดจีดีพีแบบ ppp

                             Ppp gdp คือ จีดีพีที่เปรียบเทียบกับอำนาจซื้อ โดยดูจากค่าครองชีพ (Purchasing Power Parity)

                             ธนาคารโลกได้ประเมินขนาดจีดีพีแบบ ppp ของจีนประจำปี 2020 ไว้ว่า จีนมีขนาดจีดีพีสูงสุดที่สุดในโลก จำนวน 23,009,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าอันดับสองคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีขนาดจีดีพี จำนวน 19,846,720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับสามคือ อินเดีย ซึ่งมีขนาดจีดีพี จำนวน 8,443,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับสี่คือ ญี่ปุ่น มีขนาดจีดีพี 5,328,033 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                                    อนึ่ง ธนาคารโลกได้ประเมินขนาดจีดีพีของไทยอยู่ที่ 1,223,040 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 22 ของโลก

            2.2 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีน (per capita income)

                   รายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีน อาจแสดงได้ทั้งรายได้เฉลี่ยต่อหัวแบบ nominal และรายได้เฉลี่ยต่อหัวแบบ ppp

                   2.2.1 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีนแบบ nominal

                             ธนาคารโลกได้ประเมินรายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีนประจำปี 2020 ไว้ว่า จีนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 10,500 ดอลลาร์สหรัฐ จัดอยู่ในอันดับที่ 78 ของโลก ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 65,134 ดอลลาร์สหรัฐ จัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก ส่วนญี่ปุ่นมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 40,887 ดอลลาร์สหรัฐ (2019) อยู่ในอันดับที่ 31 ของโลก

                        2.2.2 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีนแบบ ppp

                             ธนาคารโลกได้ประเมินรายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีนแบบ ppp ประจำปี 2020 อยู่ที่ 17,312 ดอลลาร์สหรัฐ จัดอยู่อันดับ 100 ของโลก ในขณะสหรัฐอเมริกา อยู่ในอันดับ 15 ของโลก จำนวน 63,544 ดอลลาร์สหรัฐ และญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 43 ของโลก จำนวน 42,197 ดอลลาร์สหรัฐ (2019)

                             อนึ่ง ธนาคารโลกได้ประเมินรายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยอยู่ในอันดับ 97 ของโลก จำนวน 18,236 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอันดับที่สูงกว่าจีน

3.ดัชนีชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของจีนที่น่าสนใจ

          การดูดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ จะทำให้ทราบได้ว่า ประเทศใดมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกมากน้อยเพียงใด ซึ่งดัชนีดังกล่าวมีอยู่หลายอย่าง แต่ในที่นี้จะนำเสนอเฉพาะบางดัชนีที่น่าสนใจ คือ

            – ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Index)

          -ดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of doing business index)

          -ดัชนีนวัตกรรม (Global Innovation Index )

          -ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index)

          -ดัชนีการคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index)

4.ดัชนีความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก (Global Competitiveness Index)

          ดัชนีความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่ง World Economic Forum เป็นผู้จัดพิมพ์ เพื่อจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ สถาบันต่าง ๆ  โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาอบรม ตลาดสินค้า ตลาดแรงงาน ตลาดการคลัง เทคโนโลยี ขนาดตลาดทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดระหว่างประเทศ การผลิตสินค้าชนิดต่าง ๆ และนวัตกรรม

            สำหรับการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกปี 2019 ปรากฏว่า จีนอยู่ในอันดับที่ 28 ของโลก ด้วยคะแนน 73.9 ในขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยคะแนน 83.7 (สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 1 ของโลก คะแนน 84.8) ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก ด้วยคะแนน 82.3 ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 40 ของโลก ด้วยคะแนน 68.1

5.ดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business Index)

          ดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จัดทำจากหลายองค์ประกอบ ได้แก่ การเริ่มต้นทำธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การขอไฟฟ้า การลงทะเบียนทรัพย์สิน การขอเครดิต  การส่งเสริมการลงทุน  การชำระภาษี การค้าชายแดน การบังคับตามสัญญา และการแก้ปัญหากรณีล้มละลาย

            ดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจปี 2020 ปรากฏว่า จีนจัดอยู่ในกลุ่มง่ายมากในการทำธุรกิจ อยู่ในลำดับที่ 31 ของโลก ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นที่อยู่ในอันดับ 29 ของโลก แต่อยู่ในอันดับต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก ส่วนไทยที่อยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก

6.ดัชนีนวัตกรรม (Global Innovation Index)

          การจัดทำดัชนีนวัตกรรมได้เริ่มทำครั้งแรกเมื่อปี 2007 เพื่อใช้วัดขีดความสามารถในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ จากการสร้างนวัตกรรม

          การจัดทำดัชนีนวัตกรรมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกประจำปี 2021 ได้จัดทำขึ้นท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควัด-19 ผลปรากฏว่า จีนอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก เหนือกว่าญี่ปุ่น 1 อันดับ แต่เป็นรองสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก (อันดับ1 ตกเป็นของสวีเดน) ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของโลก

7.ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index)

          ดัชนีการพัฒนามนุษย์เป็นการวัดความคาดหมายการคงชีพ การรู้หนังสือ การศึกษา มาตรฐานการครองชีพ และคุณภาพชีวิตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อวัดมาตรฐานความอยู่ดีกินดี  พร้อมกับแยกออกเป็นเกณฑ์ของประเทศเป็นกลุ่มประเทศต่าง ๆ ตามระดับของการพัฒนา คือ การพัฒนาสูงมาก  การพัฒนาสูง การพัฒนาปานกลาง และการพัฒนาต่ำ

          สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้รายงานผลการประเมินดัชนีทรัพยากรมนุษย์ประจำปี 2020 จีนจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงเช่นเดียวกับไทย อยู่ในอันดับที่ 85 ของโลกด้วยคะแนน 0.761 โดยไทยที่อยู่ในอันดับที่ 79 ของโลก ด้วยคะแนน 0.777

          ส่วนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงมาก โดยสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 17 ของโลก ด้วยคะแนน 0.926  และญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 19 ของโลก ด้วยคะแนน 0.919

8.ดัชนีการคอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index)

          ดัชนีการคอร์รัปชั่น เป็นรายงานประจำปีขององค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐบาล คือ Transparency International นับตั้งแต่ปี 1995 โดยเป็นการวัดระดับการรับรู้การคอร์รัปชั่นของสาธารณะ

            สำหรับรายงานดัชนีการคอร์รัปชั่นประจำปี 2020 ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2021 ปรากฏว่า จีนอยู่ในอันดับที่ 78 ของโลก ด้วยคะแนน 42 ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำกว่าญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา แต่สูงกว่าไทย กล่าวคือ ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 19 ของโลก ด้วยคะแนน 74 สหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 25 ของโลก ด้วยคะแนน 67 และไทยอยู่ในอันดับที่ 104 ของโลก ด้วยคะแนน 36

9.จุดเริ่มต้นที่ทำให้เศรษฐกิจ จีน เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด

          ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยระบบเศรษฐกิจแบบผสมที่มีการตลาดนำหน้า (developing market-oriented mixed economy) และใช้นโยบายอุตสาหกรรมและแผนยุทธศาสตร์ห้าปี

            ระบบเศรษฐกิจจีนเป็นระบบการตลาดแบบสังคมนิยม กล่าวคือ วิสาหกิจใหญ่ ๆ ล้วนเป็นของรัฐ เมื่อปี 2019 รัฐวิสาหกิจของจีนมีอำนาจเหนือการตลาดของจีนมากกว่าร้อยละ 60 และคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 40 ของขนาดจีดีพีเมื่อปี 2020

            จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในการนับแบบ nominal gdp  แต่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกในการนับแบบ ppp gdp มาตั้งแต่ปี 2014

แต่ในช่วงที่เหมา เจ๋อตุง ได้เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนปฏิวัติเปลี่ยนการปกครองประเทศเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 จีนยังเป็นประเทศที่ล้าหลังและยากจนมาก จนกระทั่งได้เริ่มต้นการปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อปี 1978 ภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง ผลคือทำให้จีนเป็นประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยอัตราก้าวกระโดด ซึ่งเป็นอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก เฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี     

มหานครเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางการเงินแห่งหนึ่งของจีน ซึ่งเป็นหัวใจ เศรษฐกิจ จีน(Wikipedia, Economy of China, 5th January 2022)
มหานครเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางการเงินแห่งหนึ่งของจีน ซึ่งเป็นหัวใจ เศรษฐกิจ จีน(Wikipedia, Economy of China, 5th January 2022)

              ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ด้วยอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดดังกล่าว ทำให้จีนมีศูนย์กลางการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจำนวน 4 แห่ง คือ เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ปักกิ่ง และเซินเจิ้น   จากจำนวนศูนย์การกลางการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลกทั้งหมด 10 แห่ง   นอกจากนี้ จีนยังมีตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจำนวน 3 แห่ง คือเซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง และเซินเจิ้น จากจำนวนตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้งหมด 10 แห่ง

10.ความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ จีน ในปัจจุบัน

          ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ผลของการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนในยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง นับแต่ปี 1978 จนกระทั่งปัจจุบัน ได้ทำให้จีนมีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี  โดยอาจแบ่งกล่าวเป็น การลงทุนจากต่างประเทศ การลงทุนในต่างประเทศ การขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

            10.1 การลงทุนจากต่างประเทศ

                   ผลของการปฏิรูปเศรษฐกิจ ได้ทำให้เกิดบรรยากาศของการลงทุนจากต่างประเทศขนานใหญ่ในระยะเวลามากกว่าสองทศวรรษ ในช่วงปี 1993-2001 จีนเป็นประเทศที่มีการลงทุนจากต่างประเทศมากเป็นอันดับสองของโลกรองลงมาจากสหรัฐอเมริกา

            10.2 การลงทุนในต่างประเทศ

ตลาดหุ้น มหานครเซี่ยงไฮ้ (Wikipedia, Economy of China, 5th January 2022)
ตลาดหุ้น มหานครเซี่ยงไฮ้ (Wikipedia, Economy of China, 5th January 2022)

                   นอกจากการส่งเสริมให้มีการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศแล้ว จีนยังส่งเสริมให้มีการลงทุนในต่างประเทศด้วย นับตั้งแต่ปี 2005 จีนได้มีการลงทุนทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา โดยนิยมลงทุนในรูปแบบของการควบรวมกิจการ

            10.3 การขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน  

                   จีนให้ความสำคัญแก่การขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานเป็นอันมาก อันเป็นผลมาจาก อิทธิพลทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งทางรถไฟ จีนใช้เงินงบประมาณราวร้อยละ 9 ของจีดีพี ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในช่วงทศวรรษ 1990 และ2000 ในขณะประเทศที่กำลังเจริญก้าวหน้าอย่างบราซิล อาร์เยนตินา และอินเดีย ได้ใช้งบประมาณเพียงร้อยละ 2- 5 ของจีดีพีเท่านั้นในการลงทุนในด้านนี้ ดังนั้น จึงทำให้ประเทศเหล่านี้เผชิญปัญหาคอขวดในการพัฒนาประเทศอันเกิดจากการมีโครงข่ายการขนส่งที่ไม่ดี

            10.4 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

                      ในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ จีนได้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมาก เพราะรัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญในการจัดตั้งงบประมาณ การปฏิรูป และสถานะของสังคมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะเป็นส่วนพื้นฐานของการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมและเกียรติภูมิของชาติ จึงทำให้จีนมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในหลาย ๆ ด้าน

                             ตัวอย่างเช่น การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ ธุรกิจการพิมพ์ผลงานทางวิชาการ สิทธิบัตร และแอพพลิเคชั่นทางการค้า อยู่ในชั้นแนวหน้าของโลก ปัจจุบันจีนมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างนวัตกรรมและการปฏิรูปในส่วนที่ยังอ่อนแออยู่ โดยการส่งนักศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศ

            10.5 การป้องกันการผูกขาด และการแข่งขัน

                   ระบบเศรษฐกิจจีนได้ชื่อว่า ถูกครอบงำโดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ไม่กี่ราย ดังนั้น ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาล สี จิ้นผิง จึงได้บังคับใช้กฎการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากการบังคับใช้กฎดังกล่าวในกรณีกลุ่มบริษัทค้าปลีก อาลี บาบา (Alibaba)และกลุ่มบริษัทไอที เทนเซนต์ (Tencent)

11.สรุป

          หลังจากเหมา เจ๋อตุง ได้เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำการปฏิวัติเปลี่ยนการปกครองประเทศเป็นระบอบสังคมคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 จีนยังเป็นประเทศที่ยากจนและล้าหลังมาก จนกระทั่งเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีน รุ่นต่อจากเหมา เจ๋อตุง ได้เป็นผู้นำในการปฏิรูปเศรษฐกิจ จีน เมื่อปี 1978 ได้ทำให้เศรษฐกิจ จีน มีความเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา ด้วยอัตราเจริญเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี นับว่าเป็นอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุดในโลก

            สำหรับข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้

ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369

รถไฟด่วนของจีนไปไกลถึงยุโรป ในภาพประธานธิบดี สี จิ้นผิง ร่วมกับประธานาธิบดีโปแลนด์ ทำพิธีเปิดรถไฟด่วนจีน ณ กรุงวอร์ซอ เมื่อปี 2016 (Wikipedia, Economy of China, 5th January 2022)
รถไฟด่วนของจีนไปไกลถึงยุโรป ในภาพประธานธิบดี สี จิ้นผิง ร่วมกับประธานาธิบดีโปแลนด์ ทำพิธีเปิดรถไฟด่วนจีน ณ กรุงวอร์ซอ เมื่อปี 2016 (Wikipedia, Economy of China, 5th January 2022)

          ถาม-อะไรคือสาเหตุทำให้เศรษฐกิจ จีน มีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก

          ตอบ-สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจ จีน มีอัตราเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ จีน ครั้งใหญ่ ในยุคที่เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เป็นผู้นำต่อจาก เหมา เจ๋อตุง โดยยอมรับเอาระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบเผด็จการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ของจีนนับตั้งแต่ปี 1978 เป็นต้นมา

          ระบบทุนนิยมมีข้อดี คือ ทำให้มีการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าป้อนตลาดด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะนักลงทุนหรือผู้ประกอบการต้องการผลกำไรสูงสุดเป็นการตอบแทน ผิดกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่เน้นการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและผลตอบแทนเป็นของส่วนรวม มิใช่ของบุคคล จึงทำให้ขาดแรงจูงใจในการลงทุน

ถาม-การที่จีนไ้ด้ยอมรับระบบทุนนิยมมาประยุกต์ใช้กับระบอบการปกครองเผด็จการสังคมนิยมคอมมูนิสต์ของจีน โดยรัฐเป็นเจ้าของวิสหากิจขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ มีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของจีนอย่างไร

ตอบ- การที่รัฐเป็นเจ้าของวิสหากิจขนาดใหญ่ดังกล่าว มีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของจีน คือ ทำให้รัฐสามารถแทรกแซงตลาดได้ง่าย ไม่ได้ปล่อยให้ใครมือยาวสาวได้สาวเอาเหมือนอย่างหลายประเทศ นอกจากนี้ ผลกำไรที่เกิดขึ้นย่อมตกเป็นรายได้ของรัฐ ทำให้รัฐมีเงินงบประมาณไปใช้พัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ได้มาก

          ถาม-จริงหรือไม่ที่ว่า เมื่อปี 2020 จีนเป็นประเทศที่มีต่างชาติเข้าไปลงทุนมากที่สุดในโลก

          ตอบ- ถูกต้อง โดยมียอดการลงทุนของต่างประเทศในจีนเมื่อปี 2020 จำนวน 163 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ จีนยังเป็น ประเทศที่มีการลงทุนในต่างประเทศเป็นอันดับสองของโลกด้วยยอดลงทุนในปี 2019 ด้วยยอดลงทุน 136.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรองจากญี่ปุ่นที่มียอดการลงทุน 226.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

            ถาม-จริงหรือไม่ที่ว่า จีนเป็นประเทศที่รวยที่สุดในโลก

          ตอบ- เป็นความจริง อย่างเช่นเมื่อปี 2018 จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนมหาเศรษฐีพันล้าน(billionaires) และมหาเศรษฐีเงินล้าน (millionaires) รวมกันมากที่สุดในโลก กล่าวคือ จีนมีมหาเศรษฐีพันล้านจำนวน 658 คน และมหาเศรษฐีเงินล้าน จำนวน 3.5 ล้านคน

          ถาม-จีนเป็นประเทศผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก ใช่หรือไม่

          ตอบ-ถูกต้องแล้ว จีนเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อปี 2018 จีนสามารถผลิตรถยนต์ได้มากถึง 27 ล้านคัน เหนือกว่าสหรัฐอเมริกาที่ผลิตได้ 11.3 ล้านคัน และญี่ปุ่นที่ผลิตได้ 9.7 ล้านคัน

            ถาม-ประเทศใดเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้มากที่สุดในโลก

          ตอบ-จีนเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้มากที่สุดในโลกอย่างเช่นเมื่อปี 2018 จีนผลิตรถไฟฟ้าได้ 1.3 ล้านคัน นอกจากนี้จีนยังเป็นประเทศที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใช้มากที่สุดในโลกด้วย โดยซื้อเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดในโลก และร้อยละ 96 เป็นรถไฟฟ้ายี่ห้อของจีนเอง ปัจจุบันจีนมีโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากกว่า 100 แห่ง

            ถาม-เศรษฐกิจภาคบริการ(services) ของจีนมีมากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา

          ตอบ-เศรษฐกิจภาคบริการของจีนมีมากเป็นอันดับสองของโลกรองลงมาจากสหรัฐอเมริกา

            ถาม-อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจีนเป็นอย่างไร

          ตอบ-อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจีน จัดอยู่ในชั้นแนวหน้าของโลก โดยองค์การท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) คาดคะเนว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจีน จะเติบโตถึงร้อยละ 8.6 ของตลาดการท่องเที่ยวโลกในปี 2020

            ยิ่งกว่านั้น จีนยังเป็นประเทศที่มีแหล่งมรดกโลก (World Heritage Sites) มากที่สุดในโลก มีจำนวนมากถึง 55 แห่ง ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวจีนเป็นจำนวนมากถึง 58 ล้านคนเมื่อปี 2011 และทำให้จีนมีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 2.6 ของจีดีพี

            “โชคดีปีใหม่ 2565 ทุกท่าน”

          ดร.ชา 369

            5/01/22

แหล่งอ้างอิง

1.https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)      

2.https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(PPP). 3.https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)_per_capita  4.https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(PPP)_per_capita

5.https://en.wikipedia.org/wiki/Global_Competitiveness_Report

6. https://en.wikipedia.org/wiki/Ease_of_doing_business_index

7.https://www.wipo.int/global_innovation_index/en/2021/

8. https://en.wikipedia.org/wiki/Corruption_Perceptions_Index

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***) 2

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 4

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11) 5

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

6 COMMENTS

  1. ประเทศจีนมีผลผลิตทางการเกษต แต่ไม่สามรถปลูกทุเรียนได้ จึงนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยเป็นจำนวนมากค่ะ แล้วทำไมจีนสามารถปลูกยางพาราได้
    อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรคะ เกี่ยวกับเรื่องนี้

    1. การที่ประเทศใดจะปลูกอะไรได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศเป็นสำคัญ แต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ อาจแก้ปัญหาอุปสรรคอันเกิดจากดินฟ้าอากาศได้ เช่น การปรับปรุงพันธุ์ใหม่ เป็นต้น

  2. จีนมีการปกครองระบอบสังคมนิยม แต่มีเศรษฐีหน้าใหม่ อายุยังน้อยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
    ทำไม ยังมีคนรวยคนจนเกิดขึ้นคะ ไม่เท่าเทียมกัน รัฐบาลไม่ได้จัดสรร ทรัพยากร ที่มีอยู่หรืออย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ

    1. ความเท่าเทียมเป็นเพียงแนวคิด หรืออุดการณ์ ไม่ใช่เรื่องจริง เพียงแต่ประเทศใดจะสามารถลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนได้ดีกว่ากันเท่านั้นเอง

  3. จีนผลิตแต่สินค้าที่โดนใจผู้บริโภค ราคาไม่สูงมาก ผู้บริโภคทุกระดับจับต้อง ซื้อหามาใช้ได้ง่าย

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: