87 / 100

10 ประเทศ อาเซียน น่าจะมีบทบาทในสถานการณ์ปัจจุบันของพม่าได้อย่างไร เป็นบทความลำดับที่ 6 ของหมวด 12 เรื่องเล่า ประเทศอาเซียน จะเล่าถึง ความนำ ความเป็นมาของ 10 ประเทศ อาเซียน กฎบัตรอาเซียน ความมุ่งประสงค์ของ อาเซียน หลักการ และกระบวนการตัดสินใจของอาเซียน  วิถีอาเซียน  วิเคราะห์บทบาทที่น่าจะเป็นของ 10 ประเทศ อาเซียน ในสถานการณ์ปัจจุบันของพม่า สรุป และคุยกับดร.ชา

          อนึ่ง ก่อนหน้านี้ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับพม่า ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ประทศ อาเซียน มาแล้วจำนวน 5 บทความ โดยบทความสุดท้าย คือ บทความ (5) สันติสุข ยังยากที่จะเกิดขึ้นได้ บนแผ่นดินพม่า

ธงประจำอาเซียน ที่ 10 ประเทศ อาเซียนใช้ร่วมกัน
(Wikipedia, ASEAN, 15th March 2021)
ธงประจำอาเซียน ที่ 10 ประเทศ อาเซียนใช้ร่วมกัน
(Wikipedia, ASEAN, 1
5th March 2021)

Table of Contents

1.ความนำ

          การเกิดรัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ทำให้ชาวโลกให้ความสนใจในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกครั้งหนึ่งว่า อาเซียนจะวางตัวหรือมีบทบาทอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบันของพม่า  ในฐานะพม่าเป็นสมาชิกประเทศหนึ่งของกลุ่มประเทศ อาเซียน

            ผมคิดว่า การที่จะพิจารณาว่าบทบาทของอาเซียนในสถานการณ์ปัจจุบันของพม่า ควรจะเป็นอย่างไร จำเป็นต้องวิเคราะห์บทบาทองประเทศอาเซียนที่น่าจะเป็นตามกรอบของกฎบัตรอาเซียน และวิถีอาเซียนเป็นหลัก  ทั้งนี้เพราะกฎบัตรอาเซียนเปรียบเสมือนกฎหมายของอาเซียนที่ใช้ในการบริหารงานของอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกทุกประเทศต้องถือปฏิบัติ

          ส่วนวิถีอาเซียน เป็นประเพณีหรือแนวทางในการปฏิบัติ ของประเทศอาเซียนในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน

            หากมีประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียนก็ดี หรือไม่ปฏิบัติตามวิถีอาเซียนก็ดี  ย่อมอาจจะส่งผลให้อาเซียนล่มสลายก็ได้

2.ความเป็นมาของ 10 ประเทศ อาเซียน

           2.1 อาเซียนมีกำเนิดจากอาสา

          สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asia Nations) ชื่อย่อ คือ อาเซียน (ASEAN )  มีกำเนิดจากการที่ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และสหพันธ์ มลายา (Federation of Malaya) ได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asia) หรือชื่อย่อคือ อาสา (ASA) เมื่อปีค.ศ.1961

          2.2 สมาชิกอาเซียนเริ่มแรกมีจำนวน 5 ประเทศ

            แต่อาเซียน (ASEAN) หรือชื่อเต็ม คือ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) ได้ถือกำเนิดภายหลังจากนั้น คือได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 (พ.ศ. 2510) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย รวมจำนวน 5 ประเทศได้ร่วมกันลงนามในคำแถลงการณ์อาเซียน (ASEAN

Declaration)

          2.3 การขยายจำนวนสมาชิกจนครบ 10 ประเทศ

ธงชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ณ สำนักงานเลขาธิาการอาเซียน กรุงจาร์กาตา อินโดนีเซีย
(Wilkipedia, ASEAN, 15th March 2021)
ธงชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ณ สำนักงานเลขาธิาการอาเซียน กรุงจาร์กาตา อินโดนีเซีย
(Wilkipedia, ASEAN, 15th March 2021

            หลังจากอาเซียนได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อปีค.ศ.1967 โดยมีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 5 ประเทศดังกล่าว ต่อมาได้มีประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติมจนครบ 10 ประเทศ คือ

            บรูไน ได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 เมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1984

          เวียดนาม ได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 7 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1995 ภายหลังสงครามเย็นได้สิ้นสุดลง

            ลาว และเมียนมา ได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 8 และ 9 เมื่อวันที่ 23 กรกฎคม ค.ศ.1997

          และกัมพูชา ได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับสุดท้ายหรือลำดับที่ 10 เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1999  ทั้ง ๆ ที่กัมพูชาจะต้องเข้าเป็นสมาชิกพร้อมกับลาว และเมียนมา แต่ได้เกิดการรัฐประหารในประเทศเมื่อปีค.ศ.1997 เสียก่อน จึงได้เลื่อนการเข้าเป็นสมาชิกออกไปก่อนจนกว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศได้สงบลง

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          แนวคิดเบื้องต้นของประเทศสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้งอาเซียน 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต้องการรวมพลังในการต่อต้านกับการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์  ต่อมาบรูไนก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 จนกระทั่งสงครามเย็นได้สิ้นสุดลง ประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา จึงได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียน

            2.4 ผู้สังเกตการณ์

            นอกจากสมาชิกจำนวน 10 ประเทศดังกล่าวแล้ว ยังมีประเทศที่ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียนในอนาคตอีกจำนวน 2 ประเทศ โดยได้เข้ามาอยู่ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ ได้แก่

            ประเทศปาปัว นิวกินี (Papua New Guinea) ได้เข้ามาเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976

          ประเทศติมอร์ตะวันออก (East Timor) ได้เข้ามาเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์มาตั้งแต่ปีค.ศ.2002

         นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่น ๆ อีกที่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน เช่น บังคลาเทศ ฟิจิ และศรีลังกา เป็นต้น

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          การที่อาเซียนมีประเทศอื่นนอกเหนือประเทศสมาชิก ได้สมัครเข้าเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ แสดให้เห็นว่า อาเซียนมีความเข้มแข็ง ทำให้มีประเทศอยากจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในอนาคตด้วย

            2.5 สถานะคู่เจรจาของยูเอ็น (Status of dialogue partner to the UN)

          เมื่อปีค.ศ.2006 ยูเอ็นได้มอบสถานะผู้สังเกตการณ์ของที่ประชุมใหญ่ของยูเอ็นแก่อาเซียน

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          การที่ยูเอ็นได้มอบสถานะผู้สังเกตการณ์ของที่ประชุมใหญ่ของยูเอ็นเมื่อปี ค.ศ.2006 แสดงให้เห็นความเข้มแข็งของอาเซียนในเวทีโลกได้เป็นอย่างดี

3.กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter)

          3.1 กฎบัตรของอาเซียน คือ อะไร

            กฎบัตรของอาเซียนหรือธรรมนูญของอาเซียน เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของอาเซียน ที่จะทำให้อาเซียนมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยผู้นำอาเซียนได้ลงนามรับรองกฎบัตรอาเซียน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ณ ประเทศสิงคโปร์ ในโอกาสของการก่อตั้งอาเซียนครบรอบ 40 ปี เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นความก้าวหน้าของอาเซียนที่กำลังจะก้าวไปพร้อมกับประเทศสมาชิก 10 ประเทศ อาเซียน

          กฎบัตรอาเซียน ถือว่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่จะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดย 10 ประเทศ อาเซียนได้ให้สัตยาบันครบทุกประเทศแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2008 (พ.ศ. 2551) และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2008 เป็นต้นมา

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          อาเซียนถือกำเนิดเมื่อปีค.ศ.1967 แต่เพิ่งสามารถออกกฎบัตรใช้บังคับได้เมื่อปีค.ศ.2008 นับเป็นระยะเวลายาวนานถึง 40 ปี แสดงให้เห็นว่า อาเซียนค่อย ๆ เติบโตไปทีละขั้นตอน จนมั่นใจว่า มีความพร้อมจึงได้ออกกฎอาเซียนมาใช้บังคับ

            กฎบัตรอาเซียนย่อมเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของอาเซียน ที่ประเทศสมาชิกทุกประเทศต้องถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากมีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งฝ่าฝืนไม่เคารพกฎบัตรอาเซียน อาจจะต้องได้รับโทษจากอาเซียน กฎบัตรอาเซียน เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาเซียนอยู่รอดได้

            3.2 วัตถุประสงค์ของกฎบัตรอาเซียน

            วัตถุประสงค์ในการออกกฎบัตรอาเซียน คือ การทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเคารพกฎกติกาในการทำงานร่วมกันมากขึ้น ยิ่งกว่านั้น กฎบัตรอาเซียนจะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล (intergovernmental organization) ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

            3.3 โครงสร้างของกฎบัตรอาเซียน

            กฎบัตรอาเซียน ประกอบด้วยบทบัญญัติ 13 หมวด จำนวน 55 ข้อ

            ในที่นี้จะขอยกมากล่าวเฉพาะ                                                                                                         

            หมวด 1 ความมุ่งประสงค์และหลักการอาเซียน

            หมวด 7 กระบวนการตัดสินใจ

4.ความมุ่งประสงค์ของอาเซียน

          ความมุ่งประสงค์ของอาเซียน เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน หมวด 1 ข้อ 1 มีข้อย่อย จำนวนทั้งหมด 15 ข้อ สรุปได้ดังนี้   

          4.1 เพื่อธำรงรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ ในภูมิภาค

          4.2 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมให้แน่นแฟ้น

          4.3 เพื่อให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธทำลายล้างอื่น ๆ

          4.4 เพื่อสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวกันที่มีเสถียรภาพ มั่งคั่ง และมีความสามารถในการแข่งขันสูง

          4.5 เพื่อลดช่องว่างในการพัฒนาภายในอาเซียน

          4.6 เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย

            ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          แม้ความมุ่งประสงค์ของอาเซียนอาจจะมีหลายข้อ แต่ ข้อ 4.4 การสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวกันที่มีเสถียรภาพ  น่าจะเป็นข้อที่มองเห็นโดดเด่นเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะทำให้ 10 ประเทศ อาเซียน เกิดความรู้สึกว่า คล้ายกับการเป็นประเทศเดียวกันมากที่สุดประการหนึ่ง เพื่อให้อาเซียนสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในด้านเศรษฐกิจได้ แทนที่ประเทศอาเซียนแต่ละประเทศ จะต้องเป็นคู่แข่งกันเองเหมือนอย่างในอดีต

5.หลักการและกระบวนการตัดสินใจของอาเซียน

          5.1หลักการของอาเซียน

          หลักการของอาเซียนเป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน หมวด 1 ข้อ 2 มีข้อย่อย 15 ข้อ แต่อาจสรุปได้ว่า อาเซียนและสมาชิกอาเซียนจะต้องปฏิบัติตามหลักการ ที่สำคัญ ดังนี้ คือ

                        5.1.1 การเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน และอัตลักษณ์แห่งชาติสมาชิก

                        5.1.2 ความผูกพันและรับผิดขอบร่วมกันในการเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งของภูมิภาค

                        5.1.3 การไม่ใช้การรุกรราน และการข่มขู่ว่าจะใช้หรือการใช้กำลังหรือการกระทำอื่นใดในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

                        5.1.4 การไม่แทรกแซงกิจการในของรัฐสมาชิก

                        5.1.5 การยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่รัฐสมาชิกอาเซียนยอมรับ

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          ตามหลักการดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ประเทศสมาชิกจะต้องเคารพเอกราช และอธิปไตยซึ่งกันและกัน ไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิก

            5.2 กระบวนการตัดสินใจของอาเซียน

                   ตามกฎบัตรอาเซียน หมวด 7 กำหนดเป็นหลักการพื้นฐานว่า การตัดสินใจของอาเซียนให้อยู่บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือและฉันทามติ

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          กระบวนการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของอาเซียน ไม่ได้ใช้หลักเสียงข้างมาก แต่ใช้หลักการมีความเห็นสอดคล้องต้องกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีการลงมติ เพราะประธานที่ประชุมจะเป็นผู้สรุปมติที่ประชุมเอง ดังนั้น มติที่ออกมาจะเป็นเพียงมติที่ประชุมเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ไม่มีคำว่า มติที่ประชุมเห็นชอบ เท่าใด ไม่เห็นชอบเท่าใด และไม่ออกเสียงเท่าใด

            กระบวนการตัดสินใจแบบนี้ เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เพราะถือว่า มติที่ออกมาเป็นมติที่ทุกคนเห็นชอบร่วมกัน

6.วิถีอาเซียน (ASEAN Way)        

            คำว่า วิถีอาเซียน หมายถึงแนวทางหรือวิธีการในการแก้ปัญหาของอาเซียนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมในการปฏิบัติของอาเซียน (Southeast Asia’s cultural norms) ซึ่งเป็นกระบวนการหรือสไตล์ในการทำงานอย่างไม่เป็นทางการและเป็นส่วนบุคคล (informal and personal)

          ดังนั้น วิถีอาเซียน จึงหมายถึง การประนีประนอม การมีความเห็นที่สอดคล้องกัน และการใช้กระบวนการตัดสินใจปรึกษาหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้มีความเห็นสอดคล้องกัน และไม่มีความขัดแย้งกัน นั่นคือ การใช้การทูตแบบเงียบ ๆ เพื่อให้ผู้นำอาเซียนได้พบปะหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ เพื่อหลักเลี่ยงความขัดแย้งกัน

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          วิถีอาเซียน ก็คือกระบวนการตัดสินใจของอาเซียน ซึ่งได้กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียน หมวด 7 แล้ว

         

       

7.วิเคราะห์บทบาทที่น่าจะเป็นของ 10 ประเทศ อาเซียน ในสถานการณ์ปัจจุบันของพม่

          เมื่อได้พิจารณาจากกฎบัตรอาเซียน และวิถีอาเซียน จะเห็นได้ว่า ประเทศ อาเซียน คงจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงในการแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันของเมียนมาไม่ได้ เพราะจะขัดต่อหลักการของอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน หมวด 1 ข้อ 2 ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเคารพอธิปไตยซึ่งกันและกัน ไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน ปัญหาภายในประเทศเมียนมา คงต้องปล่อยให้ประเทศเมียนมาแก้ไขกันเอง

            ดังนั้น สิ่งที่ประเทศ อาเซียน พอจะทำได้ก็คือ แสดงความห่วงใยในสถานการณ์เท่านั้น

ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

จากการวิเคราะห์กฎบัตรอาเซียนและวิถีอาเซียนดังกล่าว อาจนำมาเป็นคำอธิบายเพิ่มเเติมได้ว่า 10 ประเทศ อาเซียน มีรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกันไป ไม่ได้มีรูปแบบการปกครองที่เป็นระบอบประชาธิปไตยทุกประเทศ อย่างบรูไน มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เวียดนาม และลาว มีการปกครองระบอบส้งคมนิยมคอมมัวนิสต์และมีพรรคการเมืองพรรคเดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศในการเลือกรูปแบบการปกครองให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศตนเอง อาเซียนมิได้นำมาเป็นเงื่อนไขว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน ต้องมีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเท่านั้น

8.สรุป

          บทความนี้ ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ทางการเมืองในพม่าขณะนี้ 10 ประเทศ อาเซียน หรือกลุ่มประเทศอาเซียน คงไม่สามารถจะทำอะไรได้ นอกจากแสดงความห่วงในในสถานการณ์ในฐานะเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน และเป็นประเทศอาเซียนด้วยกัน เพราะตามกฎบัตรอาเซียน ประเทศสมาชิกต้องเคารพอำนาจอธิปไตยซึ่งกันและกัน ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเศสมาชิกอื่นได้

            ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของพม่า ต้องปล่อยให้พม่าจัดการกันเอง ประเทศสมาชิกจะเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ นอกจากการแสดงความห่วงใยในสถานการณ์เท่านั้น

            สำหรับ ความเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้

            แหล่งข้อมูล

            1.Wikipedia, ASEAN, 14th March 2021).

          2. กฎบัตรอาเซียน ใน https://www.m-culture.go.th/chachoengsao/images/11F.pdf

คุยกับดร.ชา

          คู่สนทนาของผมวันนี้ คือ คุณเรืองศักดิ์ ซึ่งได้เข้ามาเป็นคู่สนทนาใน บทความ หลักการ และเหตุผล ของรัฐธรรมนูญพม่า

          คุณเรืองศักดิ์ คู่สนทนา แต่งกายด้วยผ้าไทยพื้นเมืองอันสวยงามเช่นเคย
คุณเรืองศักดิ์ คู่สนทนา แต่งกายด้วยผ้าไทยพื้นเมืองอันสวยงามเช่นเค

            “ สวัสดี คุณเรืองศักดิ์ ดูเหมือนว่า พวกเราหลายคนอาจจะติดภารกิจ ไม่ว่างกันหลายคน อาจารย์ต้องขอขอบคุณ คุณเรืองศักดิ์มาก ที่กรุณาสละเวลามาพูดคุยกับอาจารย์ในวันนี้

            วันนี้ เราจะพูดคุยกันในเรื่องชอง ประเทศ อาเซียน ว่า น่าจะมีบทบาทต่อสถานการณ์ปัจจุบันของพม่าอย่างไร ” ผมทักทายพร้อมบอกหัวข้อที่จะสนทนกัน

            “สวัสดีครับอาจารย์ ผมดีใจที่ได้มีโอกาสได้มาสนทนากับอาจารย์อีกครั้งหนึ่งในหัวข้อที่หลายคนน่าจะสนใจ รวมทั้งตัวผมด้วย

            ผมขอแสดงความเห็นในเบื้องต้นก่อนว่า ในทัศนะของผม ผมคิดว่า สถานการณ์ทางการเมืองในพม่าขณะนี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อ ประเทศ อาเซียน หรือกลุ่มประเทศอาเซียน ทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะทำให้ประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา  จะถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงพม่า ซึ่งอาจจะเป็นการแทรกแซงในทางบวกหรือทางลบก็ได้ ” คุณเรืองศักดิ์แสดงความเห็นแบบกว้าง ๆ ยังไม่เจาะจงลงไป

            “ ดูเหมือนว่า ความเห็นของคุณเรืองศักดิ์ อาจจะกว้างมากไปหน่อย อาจารย์อยากจะให้โฟกัสให้แคบลง เอาตรงบทบาทของ กลุ่มประเทศ อาเซียน ว่า น่าจะเป็นเช่นไรต่อสถานการณ์พม่าในขณะนี้ ” ผมเริ่มบีบประเด็นให้แคบลง

            “ อ๋อ ผมเข้าใจประเด็นของอาจารย์แล้ว  ผมมีความเห็นว่า การจะมองบทบาทหรือท่าทีของประเทศอาเซียนต่อสถานการณ์ปัจจุบันของพม่า ว่าน่าจะมีทิศทางไปอย่างไร เราคงต้องพิจารณาจากกฎบัตรอาเซียน และวิถีอาเซียน ” คุณเรืองศักดิ์เริ่มจับประเด็นได้

            “ อาจารย์เห็นด้วย กับความเห็นของคุณเรืองศักดิ์ในแง่ที่ว่า การจะมองบทบาทของอาเซียนว่า น่าจะมีทิศทางไปอย่างไร ต้องเริ่มต้นด้วยการดูกฎบัตรอาเซียน และวิถีอาเซียน แต่อยากจะให้ขยายความสักหน่อยหนึ่ง ” ผมจี้ให้ขยายความ

            “ ถ้าเช่นนั้น ผมขอพูดถึงเรื่องกฎบัตรอาเซียนก่อน  การที่อาเซียนเป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่ง จำเป็นต้องมีธรรมนูญเป็นของตนเองเพื่อใช้เป็นหลักในการบริหารงานขององค์กร ในที่นี้ก็คือ กฎบัตรอาเซียน

            ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ กฎบัตรอาเซียน เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของอาเซียน ที่ประเทศสมาชิกทุกประเทศจะต้องเคารพและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นที่อาเซียนจำเป็นต้องพิจารณาตัดสินใจ ก็จะต้องเข้าไปดูกฎบัตรอาเซียนว่าได้กำหนดหลักและแนวทางปฏิบัติไว้ว่า อย่างไร อาเซียนมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้นหรือไม่ ถ้ามี จะต้องปฏิบัติอย่างไร ” คุณเรืองศักดิ์ตอบให้เห็นภาพการใช้กฎบัตรอาเซียน

            “ เพื่อความชัดเจน กรณีปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองของพม่าในขณะนี้ หากพิจารณาตามกฎบัตรอาเซียน  ประเทศสมาชิกหรือตัวอาเซียนเอง จะสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาของพม่าได้อย่างไร เพราะเหตุใด ” ผมขอให้ขยายความอย่างเป็นรูปธรรม

            “ คืออย่างนี้ อาจารย์ หากเราติดตามข่าว ก็ดูเหมือนว่า ประทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศอยากจะเข้าไปแก้ปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองของพม่าที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ตามกฎบัตรอาเซียนได้วางหลักการไว้ว่า ประเทศสมาชิกต้องเคารพเอกราช อธิปไตย ซึ่งกันและกัน และไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิก

            ดังนั้น อาเซียนจึงไม่อาจจะลงมติไปในทิศทางที่จะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของพม่าได้ สิ่งพอจะทำได้ก็คือ การแสดงความห่วงใยในสถานการณ์เท่านั้น แต่จะลงมติเพื่อกดดันพม่าให้ทำอย่างนี้อย่างนั้นไม่ได้ ” คุณเรืองศักดิ์ยกตัวอย่างเพื่อให้มองเห็นอย่างเป็นรูปธรรม

            “ ที่คุณเรืองศักดิ์พูดมานี้ อาจารย์ก็เห็นว่า อธิบายได้ชัดเจนดีในส่วนของกฎบัตรอาเซียน แต่ในส่วนของวิถีอาเซียน มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไหม” ผมถามเพราะเกรงว่า คุณเรืองศักดิ์จะหลงลืม

            “ เรื่องวิถีอาเซียนเหรอครับ จะว่าเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวก็ได้ คืออย่างนี้ วิถีอาเซียน คือวัฒนธรรมในการทำงานหรือการตัดสินใจของอาเซียน ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากองค์กรระหว่างประเทศอื่น อย่างเช่น สหภาพยุโรป หรือ อี.ยู.

ความจริงกระบวนการตัดสินใจของอาเซียนว่า จะต้องทำอย่างไร นอกจากจะเป็นวิถีอาเซียนแล้ว ยังเป็นหลักของกระบวนการตัดสินใจของอาเซียนในเรื่องต่าง ๆ ด้วย ” คุณเรืองศักดิ์ตอบสั้น ๆ

            “ อาจารย์อยากให้ขยายความให้ชัดเจนสักหน่อย ได้ไหม ” ผมขอให้ขยายความ

            “ ได้ครับอาจารย์ สมมุติว่า อาเซียนต้องการจะลมงมติในเรื่องของบทบาทของอาเซียนต่อสถานการณ์ทางการเมืองของพม่าในปัจจุบัน

            ประเทศสมาชิกอาเซียน จะต้องเริ่มต้นด้วยการพบปะพูดคุยกันนอกรอบก่อน เพื่อแสดงหาข้อมูลและข้อเท็จจริงให้รอบด้าน หลังจากนั้น จึงเข้าประชุม หลังจากได้ถกเถียง อภิปรายพูดคุยกันแล้ว ประธานที่ประชุม จะสรุปว่า มติที่ประชุมเป็นอย่างไร จะไม่มีการลงมติว่า เสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อยมีเท่าใด สมาชิกที่งดออกเสียงมีหรือไม่เท่าใด ” คุณเรืองศักดิ์อธิบายพอให้เข้าใจ

            “ อาจารย์อยากให้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบสักหน่อยได้ไหมว่า การประชุมแบบนี้ ในทางปฏิบัติมีตัวอย่างให้ดูอีกไหม ” ผมยังคิดว่า อาจจะยังไม่ชัดเจนพอ

            “ ได้เลย อาจารย์ การประชุมแล้วมีมติเช่นนี้ ผมอยากให้อาจารย์นึกถึงการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดประจำเดือนแต่ละเดือน ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ และนายอำเภอ เข้าร่มประชุมเป็นจำนวนมาก จังหวัดใหญ่ อาจจะมากกว่า 200-300 คน

            เมื่อถึงระเบียบวาระการประชุม ประธานที่ประชุม คือผู้ว่าราชการจังหวัด จะให้หัวหน้าส่วนราชการที่เป็นเจ้าของเรื่องชี้แจง เสร็จแล้วเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมซักถามจนเป็นที่พอใจ ต่อจากนั้น ประธานก็จะสรุปเป็นมติที่ประชุมว่า รับทราบ หรือเห็นชอบโดยไม่จำเป็นต้องมีการยกมือลงมติอย่างเป็นทางการ

            แต่ถ้าเรื่องใด ที่มีการโต้แย้งหรือซักถามมาก ประธานที่ประชุมก็จะใช้ศิลปะของการเป็นผู้นำ ขอให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องถอนเรื่องออกไปก่อน เพื่อป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งหรือขุ่นข้องหมองใจต่อกัน” คุณเรืองศักดิ์อธิบายได้ชัดเจนทีเดียว

            “ ดีมาก คุณเรืองศักดิ์ หากจะว่าไป วิถีอาเซียน ก็คือวิถีคนตะวันออกนั่นเอง ที่ไม่ชอบการหักด้ามพร้าด้วยเข่า แต่ชอบการประนีประนอม  สร้างความเห็นชอบร่วมกัน เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทีดีต่อกันไว้

            วันนี้อาจารย์ต้องขอขอบคุณ คุณเรืองศักดิ์มาก ที่สละเวลามาพูดคุยกับอาจารย์ มีโอกาสค่อยพบกันใหม่นะ ” ผมกล่าวยุติการสนทนา

            “ ด้วยความยินดีครับอาจารย์”

            ดร.ชา

            15/03/21

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***) 2

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 4

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11) 5

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

6 COMMENTS

  1. กฏบัตรอาเซี่ยนเป็นข้อตกลงที่ผนึกอาเซี่ยนเข้าด้วยกันทำให้แต่ละประเทศเคารพในอธิปไตยซึ่งกันและกันครับ.

  2. อาเซียน ก็คงแสดงออกได้แค่ห่วงใย เพราะเป็นเรื่องภายในประเทศพม่า จะไปท้วงติงข้างใดข้างหนึ่งก็คงไม่มีใครเชื่อฟังหรอกครับ

  3. อาจารย์คะ มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไหน ที่หน่วยชีลของสหรัฐจะเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ในพม่า ขอบคุณค่ะ

    1. ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลทหารพม่า มีจีนหนุนและรัสเซียหนุนอยู่ ไม่ได้สู้อย่างเดียวดาย

  4. ด้วยข้อตกลงอาเซียนคือการไม่เข้าไปแทกแทรงกิจการภายในของประเทศชาติสมาชิกอาเซียนนั้นๆ หากแต่พี่ใหญ่ฝากฝั่งสหรัฐอเมริกา และจีน ก็ยังมีแรงถัดทานกันอยู่ในตัว กับเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในพม่า ต่อไปครับ

  5. ผมเห็นว่า ปัญหาในพม่าเปรียบเสมือนเพื่อนบ้านเราที่มีรั้วบ้านติดกันทะเลาะกันในบ้านเขา นอกจากเราจะแสดงความห่วงใย ช่วยเหลือตามที่เขาร้องขอในสิ่งที่ไม่ผิดกฏหมายหนือกฏบัตรอาเซียนแล้ว เราต้องคอยสังเกตการณ์เพื่อหาทางหนีทีไล่ด้วยเผื่อมีผลกระทบหรือลูกหลงครับ😁

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: