การคิดบวก เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การคิดสร้างสรรค์อาจเกิดจากจินตนาการหรือองค์ความรู้ โดยมีกระบวนการสร้างความคิดสร้างสรรค์ ความเชื่อหรือความกลัวบางอย่างเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์มีกฎหมายคุ้มครองอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ และกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร
ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) คืออะไร
ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง ความคิดหรือไอเดียใหม่ ๆ ที่มีการคิดค้นขึ้นมาใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่า แนวทางหรือวิธีการที่มีอยู่เดิม ทั้งในด้านประสิทธิภาพ ประสิทธิลผล และความพึงพอใจของลูกค้า หรือประชาชน
หากเป็นการบริการสาธารณะ อย่างงานราชการ เป้าหมายหลักก็คือ งานหรือโครงการที่ทำด้วยความคิดสร้างสรรค์ วัตถุประสงค์ คือ การทำให้การบริหารราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น พร้อมกับสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น
แต่ถ้าเป็นภาคธุรกิจ เป้าหมายย่อมอยู่ที่การสร้างกำไรสูงสุด นั่นคือสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เป็นที่นิยมของลูกค้ามากกว่าเดิม หรือมากกว่าคู่แข่ง
ความคิดสร้างสรรค์ เกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อเผชิญปัญหา คนเราก็จะต้องหาวิธีหรือแนวทางในการแก้ปัญหา หากเห็นว่า แนวทางหรือวิธีการที่ใช้กันอยู่เดิม ๆ จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็จำเป็นต้องคิดหรือสร้างไอเดียใหม่ ๆ ขึ้นมา
ความคิดสร้างสรรค์ อาจเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ คือ

จินตนาการ (Imagination) คนที่ไม่มีจินตนาการ จะไม่สามารถคิดสร้างสรรค์ได้เลย การจินตนาการ ก็คือการนึกภาพหรือสร้างภาพขึ้นมาในใจว่า ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากจะแก้ปัญหาด้วยแนวทางหรือวิธีการใหม่ๆ จะสามารถทำได้อย่างไร เช่น
การจินตนาการว่า ทำอย่างไร คนเราจะบินได้อย่างนก ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างเครื่องบิน
การจินตนาการว่า ทำอย่างไร คนเราจะเดินทางได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างรถไฟ และรถยนต์
การจินตนาการว่า ทำอย่างไรคนเราจะสามารถติดต่อกันได้สะดวกรวดเร็ว แม้จะอยู่ห่างไกลกันคนละประเทศหรือคนละมุมโลก ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผ่านดาวเทียม
องค์ความรู้ (Knowledge) ด้วยการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ทำให้มนุษย์สามารถคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ หรือ ระบบการทำงานหรือแนวทางการทำงานใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาทดลองจากงานวิจัย
ปัจจุบัน องค์ความรู้ ถือเป็นแหล่งที่มาหลักของความคิดสร้างสรรค์ เพราะมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ให้ความสำคัญของงานด้านวิจัย
กระบวนการสร้างความคิดสร้างสรรค์
ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ก็ไม่ง่ายนัก ถ้าเราเป็นคนที่ไม่ชอบคิดหาแนวทางหรือวิธีการใหม่ ๆ
ข้อแรก เราต้องเชื่อว่า ทุกคนสามารถคิดอย่างสร้างสรรค์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการงานของเรา
ข้อสอง หมั่นตั้งคำถามว่า นอกจากวิธีการที่ทำกันอยู่เดิม จะมีแนวทางหรือวิธีการอื่น ๆ ได้อีกไหม
ข้อสาม ต่อจากนั้น ให้มีใจจดจ่อที่จะคิดค้นหาคำตอบ
ข้อสี่ ปล่อยเวลาให้ความคิดได้ฟักตัว อย่างเพิ่งสรุปอะไรเร็วจนเกินไป
ข้อห้า นำแนวทางหรือวิธีการทีคิดได้ไปทดลองหรือทดสอบปฏิบัติ
ข้อสุดท้าย คือ มีการติดตามและประเมินผล จนเป็นที่พอใจ จึงนำไปใช้งานจริง
อุปสรรคของการสร้างความคิดสร้างสรรค์
การคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป
อุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้คนเราขาดความคิดสร้างสรรค์ คือ

ประการแรก การเป็นคนชอบคิดลบ มองโลกในแง่ร้าย คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่มีทางออกหรือไม่มีทางแก้ไขได้
ประการทีสอง การกลัวความล้มเหลว จึงไม่กล้าคิดสิ่งใหม่ ๆ
ประการที่สาม ขาดเวลาในการคิดในเชิงคุณภาพ หรืออาจจะกล่าวอีกอย่างก็คือไม่ทุ่มเทเวลาในการคิดค้นนั่นเอง
ประการที่สี่ การยึดมั่นในกรอบความคิดเดิมมากจนเกินไป เลยไม่กล้าสร้างกรอบความคิดใหม่ ๆ
ประการที่ห้า การชอบคิดเอาเองว่า คงไม่มีความคิดอะไรใหม่ ๆ เลยไม่ยอมคิดต่อ
ประการที่หก การชอบอ้างเหตุผลมากจนเกินไป เลยไม่กล้าคิดต่อ
ประการสุดท้าย การมีความคิดฝังใจว่า ตัวเองเป็นคนไม่มีความคิดริเริ่ม
ความคิดสร้างสรรค์ มีกฎหมายคุ้มครองไหม
การที่มีผู้คิดค้นความคิดใหม่ ๆ ขึ้นมา มีกฎหมายคุ้มครองอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ และกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร
กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์คุ้มครองงานประเภทงานวรรณกรรม และงานศิลปะต่าง ๆ ที่มีผู้คิดค้นหรือเขียน หรือทำขึ้นมา
หากใครฝ่าฝืน ก็อาจจะถูกดำเนินคดี ทั้งทาอาญาและทางแพ่ง ฐานละเมิดลิขสิทธิ
เมื่อมีการคิดค้นความคิดใหม่ ๆ ขึ้นมาได้แล้ว หากเรื่องใด เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ จะเป็นนวัตกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และด้านวิศวกรรมเป็นพื้นฐานในการคิดค้นงานที่จะสามารถนำไปจดทะเบียนสิทธิบัตร ตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ การจดทะเบียนสิทธิบัตร จะทำให้สิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นได้ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หากมีผู้ใดละเมิด ก็อาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง
สรุป
ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการจะก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือการเป็นประเทศไทย ยุค 4.0 ก็จะต้องทุ่มเทสร้างนวัตกรรมอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศไทยมีนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นของตนเองให้มากที่สุด
การนำเข้าเทคโนโลยี เพราะไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ทำให้ทุนการผลิตสูง และสินค้าไทยดูล้าสมัย ไม่เป็นที่นิยมของลูกค้า และทำให้สินค้าไทยจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
เทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถลดต้นทุนการผลิต ในขณะเดียวกันก็เพิ่มคุณภาพสินค้า ทำให้สินค้าไทยสามารถเข้าแข่งขันในตลาดโลกได้
ทุกวันนี้ ทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ ประเทศเจริญ หรือไม่เจริญ สินค้าที่ผลิตขึ้น ต้องแข่งขันกันในตลาดโลกทั้งหมด
“เทคโนโลยีใหม่ หรือนวัตกรรม ทำให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าคุณภาพดี แต่ราคาถูกลงได้ แต่นวัตกรรมจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ถ้าขาดความคิดสร้างสรรค์”
ดร.ชา
5 มีนาคม 2563
1 COMMENT