บทความ (5) รูปแบบการปกครอง ของ เยอรมัน-รูปแบบการปกครองแตกต่างจากอเมริกาและไทย จะกล่าวถึงรูปแบบการปกครองของประเทศเยอรมัน โดยมีหัวข้อดังนี้ ความนำ อำนาจอธิปไตย 3 ระดับ รูปแบบการปกครองของเยอรมัน สรุป และปิดท้าย คุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
บทความ (4) เรื่องเล่าระบบตำรวจ และรูปแบบการปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่น่าสนใจ ผมได้เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างระบบตำรวจของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค และระบบตำรวจของไทย ซึ่งเป็นรัฐเดี่ยวที่มีการปกครองส่วนภูมิภาค
สำหรับทความนี้ จะเล่าเรื่องรูปแบบการปกครองของประเทศเยอรมันตามรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเยอรมัน 1949 ก่อน

แม้ประเทศสหพันธรัฐเยอรมันเป็นประเทศรัฐรวมเช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีอำนาจอธิปไตยคู่ พร้อมกับการมีรัฐบาลสองระดับ คือ รัฐบาลกลาง และรัฐบาลมลรัฐ แต่รัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเยอรมันมีข้อแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาอยู่ประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ได้กล่าวถึงการโอนอำนาจอธิปไตยให้แก่องค์การระหว่างประเทศด้วย
รัฐธรรมนูญแห่งประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน (Germany’s Constitution of 1949 with Amendments through 2012) ได้ประกาศใช้บังคับภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเยอรมันเป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกเช่นเดียวกับญี่ปุ่น จึงต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของฝ่ายสัมพันธมิตร
ดังจะเห็นได้จากคำอารัมภบท (Preamble) ที่ว่า รัฐธรรมนูญนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสันติภาพของโลก (To promote world peace) ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป โดยรัฐธรรมนูญนี้เป็นกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) ที่ใช้บังคับกับมลรัฐของเยอรมันทั้ง 16 มลรัฐ
รัฐธรรมนูญของเยอรมัน นับว่า มีความยาวมาก เพราะมีถึง 146 มาตรา ในขณะที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศใช้บังคับเมื่อปี ค.ศ.1789 มีอยู่เพียง 7 มาตรา และมีฉบับแก้ไขเพิ่มเติมอีก 27 ฉบับ
ในส่วนที่แสดงได้ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญของเยอรมันจำเป็นต้องสนองตอบความต้องการของฝ่ายสัมพันธมิตร คือ บทบัญญัติว่าด้วยการการป้องกันประเทศตามมาตรา 87a รัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมันจะสร้างกองทัพไว้เพื่อการป้องกันประเทศเท่านั้น (Establish Armed Forces for purpose of defence) โดยจะต้องแสดงโครงสร้างการจัดองค์กรพื้นฐานและตัวเลขที่บ่งบอกความเข้มแข็ง (numerical strength) ของกองทัพไว้ในงบประมาณ
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เยอรมันสร้างกองทัพไว้เพื่อการุกรานประเทศอื่น ๆ อีกเหมือนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการนาซี
2. อำนาจอธิปไตย 3 ระดับ
ก่อนจะเล่าถึงรูปแบบการปกครองของประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน ขออธิบายให้ท่านผู้อ่านทราบแนวคิดอำนาจอธิปไตย 3 ระดับ ตามมาตรา 20,24, 30 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมัน 1949 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจนถึง 2012 ได้วางหลักอำนาจอธิปไตยของประเทศไว้ถึง 3 ระดับ
คือ

2.1 อำนาจอธิปไตยของสหพันธรัฐเยอรมัน (มาตรา 20)
ตามมาตรา 20 แห่งรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐ ได้วางหลักไว้ชัดเจนว่า สหพันธรัฐเยอรมันเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย (democratic and social federal state) โดยอำนาจรัฐทั้งหมดได้มาจากประชาชน และประชาชนสามารถใช้อำนาจผ่านทางการเลือกตั้งและการรออกเสียงอื่น ๆ ผ่านทางองค์กรด้านนิติบัญญัติ ด้านการบริหาร และด้านตุลาการ
ยิ่งกว่านั้น ประชาชนชาวเยอรมันทุกคนยังมีสิทธิต่อต้านใครก็ตามที่คิดจะล้มล้างรัฐธรรมนูญ
2.2 การโอนอำนาจอธิปไตยให้องค์การระหว่างประเทศ (มาตรา 23,24)
สหพันธรัฐเยอรมันอาจจะอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายโอนอำนาจอธิปไตยไปให้องค์การระหว่างประเทศ ( A law transfer sovereign powers to international organisations)
เพื่อเป็นการรักษาสันติภาพ สหพันธรัฐเยอรมันอาจเข้าร่วมระบบความความมั่นคงร่วมกัน ซึ่งอาจจะต้องยอมเสียอำนาจอธิปไตยบางส่วนเพื่อนำสันติภาพอย่างถาวรมาสู่ยุโรป และเพื่อทำความตกลงแก้ไขความขัดแย้งร่วมกัน สหพันธรัฐอาจจะเข้าเป็นภาคีในการทำความตกลง อันจะนำมาซึ่งอำนาจในการชี้ขาดของนานาชาติ
ผมขอทำความเข้าใจในการโอนอำนาจอธิปไตยบางอย่างไปให้องค์การระหว่างประเทศ หมายความว่าอำนาจบางอย่างที่เคยเป็นอำนาจของรัฐในอดีต อาจจำเป็นต้องโอนอำนาจดังกล่าวให้เป็นอำนาจขององค์การระหว่างประเทศแทน ซึ่งเป็นการใช้ร่วมกันของประเทศที่เป็นสมาชิก เพื่อให้เกิดสันติภาพหรือความสงบสุขร่วมกัน
ดังจะเห็นได้จากมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า สหพันธรัฐอาจอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายยินยอมโอนอำนาจอธิไตยบางส่วนด้วยความยินยอมของสภาผู้แทนมลรัฐให้แก่สหภาพยุโรป (European Union)

นอกจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปแล้ว สหพันธรัฐเยอรมันยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับองค์การระหว่างประเทศหลายองค์การ เช่น องค์การสนธิสัญญานาโต้ องค์การสหประชาชาติ เป็นต้น
2.3 อำนาจอธิปไตยของมลรัฐ (มาตรา 30)
นอกเหนือไปจากอำนาจที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐนี้ การใช้อำนาจรัฐในส่วนที่เหลือย่อมตกเป็นอำนาจของมลรัฐ
หลักการตามมาตรานี้ก็คงเป็นไปในทำนองเดียวกับรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่ได้บัญญัติไว้ว่า อำนาจใดที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา มิได้สงวนไว้ให้เป็นอำนาจของสหรัฐอเมริกา และมิใช่อำนาจที่ห้ามมลรัฐใช้ อำนาจที่เหลือทั้งหมดย่อมตกเป็นอำนาจของมลรัฐและประชาชน
3.รูปแบบการปกครองของประเทศเยอรมัน
ประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน (The Federal Republic of Germany) เป็นประเทศรัฐรวมเช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา มีรัฐบาลสองระดับ คือ รัฐบาลกลาง และรัฐบาลมลรัฐ ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมัน
สำหรับรูปแบบการปกครองของประเทศเยอรมันตามมาตรา 20 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมัน 1949 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจนถึงปี 2012 กำหนดไว้ชัดเจนว่า สาธารณรัฐสหพันธรัฐเยอรมัน เป็นรัฐรวมที่เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย ( Democratic and social federal state) โดยมีรูปแบบการปกครอง พอจะสรุปได้ดังนี้
3.1 รัฐบาลกลาง (Federal Government)
รูปแบบการปกครองของสหพันธรัฐเยอรมัน เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
ที่มาของประธานาธิบดี
ตามรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ มาตรา 54 ประธานาธิบดีได้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจากที่ประชุมใหญ่
ของสหพันธ์ (Federal Convention) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหพันธรัฐ(Budestag) และตัวแทนของสภาผู้แทนมลรัฐต่าง ๆ จำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหพันธรัฐ โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันไม่เกินสองสาระ
ประธานาธิบดีต้องไม่เป็นบุคคลในคณะรัฐบาล หรือไม่เป็นบุคคลที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของสหพันธรัฐหรือมลรัฐ (มาตรา 55)
สภานิติบัญญัติ
สภานิติบัญญัติของสหพันธรัฐเยอรมัน ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) และสภาตัวแทนมลรัฐ (Bundestrat)
❶สภาผู้แทนราษฎร (Bundestag)
ตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 38 และ 39 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี
❷สภาผู้แทนมลรัฐ (Bundestrat)
มลรัฐสามารถมีส่วนร่วมผ่านทางสภาผู้แทนมลรัฐในด้านนิติบัญญัติ ด้านการบริหารของสหพันธรัฐ และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสหภาพยุโรป (The European Union) (มาตรา 50)
สภาผู้แทนมลรัฐประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลมลรัฐ ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนตัวแทนดังกล่าว ส่วนมลรัฐใดจะมีจำนวนตัวแทนมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของแต่ละมลรัฐ แต่มลรัฐหนึ่งจะมีตัวแทนได้อย่างน้อย 3 เสียง มลรัฐใดมีประชากรมากกว่า 2 ล้านคน มีตัวแทนได้ 4 เสียง มลรัฐใดมีประชากรมากกว่า 6 ล้านคน มีตัวแทนได้ 5 เสียง และมลรัฐมีประชากรมากกว่า 7 ล้านคน มีตัวแทนได้ 5 เสียง
ฝ่ายบริหารของรัฐบาลกลาง
ฝ่ายบริหารประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี (Federal Chancellor) เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และรัฐมนตรี (Federal Ministers) (มาตรา 62)
นายกรัฐมนตรีได้มาจากการเสนอชื่อผู้ที่เห็นสมควรของประธานาธิบดีต่อสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบแล้ว ประธานาธิบดีจะเป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง (มาตรา 63) ซึ่งในทางปฏิบัติ นายกรัฐมนตรีก็คือหัวหน้าพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง
3.2 รัฐบาลมลรัฐ (Lander Government)
ตามรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐ มาตรา 28 ภายใต้รัฐธรรมนูญของแต่ละมลรัฐ รูปแบบการปกครองของแต่ละมลรัฐ ต้องเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย เช่นเดียวกับรูปแบบของการปกครองของสหพันธรัฐ
เนื่องจากสหพันธรัฐเยอรมัน ประกอบด้วยมลรัฐจำนวน 16 มลรัฐ ทำให้สหพันธรัฐเยอรมันมีรัฐธรรมนูญรวมทั้งหมด 17 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเยอรมันหรือรัฐบาลกลางจำนวน 1 ฉบับ และรัฐธรรมนูญของมลรัฐต่าง ๆ รวม 16 ฉบับ
โครงสร้างการบริหารของมลรัฐ (Lander )
ทุกมลรัฐมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง โดยมีโครงสร้างแยกเป็นสภาและฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภามลรัฐมาจากการเลือกตั้งโดยตรง
แต่บางมลรัฐมีขนาดใหญ่ จึงได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนภูมิภาคของมลรัฐ คือ จังหวัด โดยเฉพาะมลรัฐในทางตะวันตก จำนวน 6 มลรัฐ ได้ แบ่งพื้นที่เป็นจังหวัด จำนวน 3 -7 จังหวัด โดยมีตำแหน่งที่อาจจะเทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัดของไทย (Regierungspraesident) แต่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ไม่ได้สังกัดกระทรวง กรมต่าง ๆ เหมือนของไทย แต่ขึ้นตรงต่อตำแหน่งเทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าวโดยตรง
มีมลรัฐอยู่ 3 แห่ง ที่มีฐานะเป็นมหานครได้แก่ Bremen,Hamburg,Berlin จะมีหน่วยการปกครองเทียบเท่าเขตของกทม. และมีสภาเขตด้วย
3.3 การปกครองส่วนท้องถิ่น
ตามรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเยอรมัน มาตรา 28 กำหนดให้การปกครองท้องถิ่นประกอบด้วย เคาน์ตี(county ) และเทศบาล (municipalities)
นอกเหนือไปจากส่วนที่รัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเยอรมันได้บัญญัติไว้ การปกครองท้องถิ่นของสหพันธรัฐเยอรมันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎบัตรของแต่ละมลรัฐ ในทำนองเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา แตกต่างตรงที่รัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเยอรมันได้บัญญัติรับรองหลักการบางอย่างของการปกครองท้องถิ่นไว้ด้วย
การปกครองส่วนท้องถิ่นของเยอรมันมีอยู่ 2 ชั้น คือ
❶การปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน เรียกว่า เคาน์ตี แยกเป็น
- เคาน์ตีในเขตชนบท ( Landkreise / County )
- เคานน์ตีในเขตนคร ( Stadtkreise/ County Borough )
*เคาน์ตีในเขตชนบท กรณีอยู่ในเยอรมันตะวันตก มีประชากรประมาณ 160,000 บาท แต่ถ้าอยู่ในเยอรมันตะวันออก มีประชากรเฉลี่ย 80,000 คน
❷การปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง เรียกว่า เทศบาล ( Gemeinden ) ซึ่งจะมีเฉพาะในเคาน์ตีในเขตชนบทเท่านั้น หมายความว่า ในเขตขนบท การปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นแบบ 2 ชั้น ชั้นบน เป็นเคาน์ตี และชั้นล่าง เป็นเทศบาล
โครงสร้างของเทศบาลประกอบด้วย
– สภาเทศบาล มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
– ฝ่ายบริหาร คือ นายกเทศมนตรี ส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และจะทำหน้าที่เป็นประธานสภาด้วย
กฎบัตรสภายุโรปว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ( The European Charter of Self-Government 1985 )*
องค์กรปกครองท้องถิ่นเยอรมัน นอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐบาลกลาง และกฎหมายของมลรัฐแล้ว จะต้องปฏิบัติตามกฎบัตรของสภายุโรปด้วย
- ประเทศที่เป็นสมาชิกของสภายุโรปมีทั้งหมด 47 ประเทศ เกือบทุกประเทศในทวีปยุโรป เป็นสมาชิกของสภายุโรป
*สภายุโรป( Council of Europe ) กับสภาแห่งสหภาพยุโรป ( Council of the European Union ) เป็นคนละสภา โดยประเทศที่เป็นสมาชิกแห่งสหภาพยุโรปมีสมาชิกเพียง 27 ประเทศเท่านั้น
*เนื้อหาสาระของกฎบัตรสภายุโรปว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ประกอบด้วยแนวคิดและหลักการปกครองท้องถิ่นเบื้องต้นที่รัฐที่เป็นสมาชิกแห่งสภายุโรป ( States of the Council of Europe ) ต้องนำไปปฏิบัติ
รัฐที่เป็นสมาชิกแห่งสภายุโรปมีจำนวน 47 ประเทศ เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี เดนมาร์ค สเปน กรีซเนเธอร์แลนด์ ตุรกี ออสเตรีย ฮังการี สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
4.สรุป
บทความ (4) เรื่องเล่า ระบบตำรวจและรูปแบบการปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่น่าสนใจ : เยอรมัน ประเทศรัฐรวม เป็นบทความที่ต้องเล่าเรื่องรูปแบบการปกครองของประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศรัฐรวมเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา เพียงแต่เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กกว่ามาก โดยมีมลรัฐจำนวน 16 มลรัฐ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งสหพันรัฐเยอรมัน 1945 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ยกร่างขึ้นภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเยอรมันตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามเช่นเดียวกับญี่ปุ่น เนื้อหาของรัฐธรรมนูญจึงต้องสนองตอบความต้องการของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ชนะสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างกองทัพต้องสร้างไว้เพื่อการป้องกันเท่านั้น
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
เมื่อครั้งผมลงไปสอนปริญญาโทรัฐศาสตร์ ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผมมีโอกาสรู้จักคุ้นเคยกับลูกศิษย์คนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ในการขับรถรับ-ส่งอาจารย์ จากโรงแรมที่พักไปยังห้องเรียน มีชื่อว่า “ผู้กอง” (ชื่อสมมุติ) ผู้กองเป็นคนมีอัธยาศัยดี ท่าทางเป็นคนสุขุมเยือกเย็น แต่ผมเข้าใจว่าชีวิตของผู้กองน่าจะโลดโผนไม่น้อย เพราะเป็นบุคคลหมายเลข 8 ผมจึงเห็นสมควรเชิญมาเป็นคู่สนทนาในครั้งนี้
“ ผู้กอง สบายดีไหม ” ผมทักทายผู้กองตามธรรมเนียมก่อนที่จะเริ่มสนทนากัน
“ สบายดีครับ อาจารย์ อาจารย์คงสบายดีเหมือนกันใช่ไหม ” ผู้กองทักทายผมตอบ
“ สบายดี ขอบคุณมาก วันนี้เรามาคุยกันเรื่องรูปแบบการปกครองของประเทศเยอรมัน ก่อนที่จะคุยกันในเรื่องระบบตำรวจของเยอรมันในคราวต่อไป ผู้กองเห็นเป็นอย่างไร น่าสนใจไหม ” ผมเริ่มเปิดประเด็นพูดคุย
“ ผมชอบมากครับ เรื่องประเทศเยอรมัน ขนาดเป็นประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็สามารถฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว จนสามารถก้าวขึ้นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจของโลกได้อีกครั้งหนึ่งภายในเวลาไม่นานนัก ” ผู้กองอดแสดงความชื่นชมประเทศเยอรมันไม่ได้
“ ผู้กองคิดว่าเป็นเพราะอะไร เยอรมันจึงสามารถพัฒนาประเทศจากประเทศที่พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างยับเยิน ให้ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจได้อีกครั้งหนึ่ง ” ผมทดสอบความเข้าใจของผู้กอง
“ ถ้ายังงั้น ผมขอมองจากมิติด้านการเมืองการปกครอง หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมันได้ถูกแบ่งเป็น 2 ประเทศ คือประเทศเยอรมันตะวันตก และประเทศเยอรมันตะวันออก
ประเทศเยอรมันตะวันตกมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนเยอรมันตะวันออกปกครองในระบอบเผด็จการสังคนิยมคอมมิวนิสต์ แต่ภายหลังได้กลับมารวมเป็นประเทศเดียวกันก่อนที่จะสิ้นสุดศตวรรษที่ 20 โดยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาตามแบบอย่างประเทศเยอรมันตะวันตก ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมัน 1949 ซึ่งได้ใช้บังคับเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้”
ผู้กองแสดงความเห็นแบบคนมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์โลกยุคปัจจุบัน
“ การที่เยอรมันสามารถใช้บังคับรัฐธรรมนูญ 1949 อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน ผู้กองคิดว่า มีความหมายอะไรไหม ” ผมถามเพื่อให้ผู้กองแสดงความเห็นในเชิงสรุป
“ อ๋อ ก็แสดงว่าการเมืองของเยอรมันมีเสถียรภาพ ไม่ล้มลุกคลุกคลานเหมือนอย่างประเทศเรา จึงทำให้เยอรมันสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง และทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างน่าทึ่ง”ผู้กองสรุปเข้าประเด็นได้อย่างแหลมคม
“ ดีมาก ผู้กอง แสดงว่า ผู้กองวิเคราะห์ได้ถูกต้อง ความมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมาก หากการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ก็ไม่ต้องทำอะไร คิดคอยจ้องแต่จะแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทั้ง ๆ รัฐธรรมนูญนั้น มีจุดบกพร่องหรือจุดที่เป็นปัญหาเพียงไม่กี่มาตรา แสดงว่า คงจะมีความคิดอะไรแอบแฝงบางอย่าง ” ผมอดวกถึงบรรยากาศการเมืองบ้านเราไม่ได้
“ ผมก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน อาจารย์ ” ผู้กองเห็นได้จังหวะบ้างที่จะแสดงความเห็นสอดคล้องกับผม
“ เรื่องเยอรมันยังไม่จบนะ ผู้กอง เอาไว้คราวหน้าเราค่อยคุยกันต่อ ” ผมกล่าวสรุปปิดฉากสนทนา
ประเทศที่แพ้สงครามโลก พัฒนาตนเองได้ดีกว่าประเทศที่ไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้น ของต่างชาติ มาจากสาเหตุอะไรคะ?
ประเทศเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความเจริญก้าวหน้าเป็นประเทศอุตสาหกรรมอยู่่แล้ว จึงเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่ง ดังนั้น แม้แพ้สงครามสงงครามโลกครั้งที่ 2
และมีความเสียหายอย่างย่อยยับ แต่ก็พร้อมที่จะฟื้นฟูประเทศได้เร็วเพราะคนมีคุณภาพอยู่่แล้ว ประกอบกับได้รับความช่วยเหลือในการฟื้นฟูประเทศจากประเทศอเมริกาด้วย
สมัยล่าอาณานิคม ประเทศเพื่อนบ้านเรามีแต่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เยอรมันไปรบอยู่แถวไหนคะอาจารย์
ขอบคุณค่ะ
เยอรมัน ไม่ใช่นักล่าอาณานิคมเหมือนอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคู่แข่งกัน เยอรมันมีอาณานิคมอยู่บ้างแถบอาฟริกา หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก