บทความ (5) เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์: หลวงตามหาบัว เป็นการเล่าเรื่องราวของประวัติหลวงตัวมหาบัวโดยย่อ การทำบุญ ฟังธรรมและกราบหลวงมหาบัว สรุป และคุยกับดร.ชา
อนึ่งบทความก่อนหน้านี้ คือ (4) ได้เล่าถึงกัลยาณมิตร และดินแดนอริยสงฆ์
Table of Contents
1.คำนำ
การได้มีโอกาสได้ทำบุญกุศล ฟังธรรม สนทนาธรรม หรือปฏิบัติธรรมกับพระอริยสงฆ์นับว่าเป็นบุญวาสนาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนาในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายว่า มีพระสงฆ์ลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จำนวนมากที่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยสงฆ์ รวมทั้งหลวงตามหาบัว แห่งวัดป่าบ้านตาด(วัดเกษรศีลคุณ) อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ดังจะเห็นได้จากอัฐิของหลวงตามหาบัว เวลานี้ได้กลายเป็นพระธาตุแล้วเช่นเดียวกับอัฐิของหลวงปู่มั่น และพระอริยสงฆ์ลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นอีกหลายรูป

ในบทความนี้ ผมจะได้เล่าประวัติหลวงตามหาบัวให้ท่านทราบโดยย่อ ต่อจากนั้นจะได้เล่าให้ท่านทราบว่า ในช่วงดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา 5 ปี 6 เดือน ระหว่างเดือนมีนาคม 2523 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2528 ผมได้มีโอกาสกราบนมัสการหลวงตามหาบัวอย่างไรบ้าง
2.ประวัติย่อของหลวงตามหาบัว
เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบประวัติความเป็นมาของหลวงตามหาบัวพอสังเขป ขอแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ คือ ข้อมูลเบื้องต้น ผลงานด้านหนังสือธรรมะ ผลงานด้านการช่วยเหลือชาติในยามวิกฤต และผลงานด้านสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ (วิกิพีเดีย, พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสัมปันโน), 23 สิงหาคม 2563) และหนังสือวัดป่าบ้านตา โดยวัดป่าบ้านตาด

2.1 ข้อมูลเบื้องต้น
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน (พระธรรมวิสุทธิมลคล) เกิดวันที่ 12 สิงหาคม 2456 และมรณภาพวันที่ 30 มกราคม 2554 อายุ 97 ปี บวชได้ 76 พรรษา โดยได้บวชเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2477 ณ วัดโยธานิมิตร ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
หลวงตามหาบัวได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่นเมื่อปี พ.ศ.2485 จนกระทั่งหลวงปู่มั่นได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2492 ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
หลวงตาได้บำเพ็ญความเพียรอย่างไม่ย่อท้อ จนกระทั่งได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุด เมื่อวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2493 ซึ่งตรงกับแรม 14 ค่ำ เดือน 6 เวลา 5 ทุ่ม บนหลังเขา ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดดอยธรรมเจดีย์ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร รวมระยะเวลาของการบำเพ็ญเพียรอย่างเต็มเหนี่ยว 9 ปี นับจากปีพ.ศ.2485
2.2 ผลงานด้านหนังสือสอนธรรมะ
หลังจากนั้น หลวงตาได้เดินทางกลับบ้านเกิด คือ บ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมืองอุดรธานี และได้สร้างวัดป่าบ้านตาด (วัดเกษรศีลคุณ) ขึ้น และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์แรกจนกระทั่งหลวงตาได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2554
หลวงตามีผลงานด้านการสอนธรรมะที่เป็นเทปและหนังสือเป็นจำนวนมาก หนังสือภาษาไทยมีมากกว่า 102 เล่ม และหนังสือภาษาอังกฤษมีมากกว่า 8 เล่ม นอกจากนี้ยังมีเทปบันทึการแสดงธรรมอีกเป็นจำนวนมาก
ตัวอย่างผลงานด้านการเขียนหนังสือสอนธรรมะ
ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
หนังสือเกี่ยวกับธรรมะขั้นพื้นฐานสำหรับผู้เริ่มต้นปฏิบัติ เช่น แว่นส่องธรรม ธัมมะในลิขิต
หนังสือเกี่ยวกับธรรมะขั้นสูงสำหรับผู้ฝึกจิตตภาวนาเพื่อมรรคผลนิพพานโดยเฉพาะ เช่น รากแก้วของศาสนา แสวงโลก แสวงธรรม
หนังสือทั่วไป เช่น พระมหากษัตริย์คือหัวใจของชาติไทย และพระพุทธศาสนารักษาชาติไทย
2.3 ผลงานด้านการช่วยชาติในยามวิกฤต
แม้หลวงตาจะได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดแล้วเมื่อปีพ.ศ.2493 แต่หลวงตาก็ยังทำหน้าที่โปรดสัตว์โลก ในทำนองเดียวกันกับพระพุทธองค์ที่ได้เสด็จออกโปรดสัตว์โลกหลังจากได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เมื่อปีพ.ศ.2540 ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เรียกชื่อว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นยุคที่เศรษฐีนักธุรกิจเป็นจำนวนมากประสบภาวะล้มละลาย และเป็นผลทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งต้องล้มละลายไปด้วย แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังมีอาการซวนเซ ดังนั้น หลวงตาจึงจัดทำโครงการทอดผ้าป่าช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ด้วยการทอดผ้าป่าเอาทองคำและเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้เป็นเงินสำรองของชาติ
โครงการช่วยชาติดังกล่าว ได้มอบเงินเข้าคลังรวม 15 ครั้ง รวมเป็นทองคำแท่ง 967 แท่ง 12,079.8 กิโลกรัม หรือ 388,000 ออนซ์ และเป็นเงินตราต่างประเทศประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน 15,000 ล้านบาท
2.4 ผลงานด้านสังคมสงเคราะห์
สงเคราะห์โรงพยาบาล ในจังหวัดต่าง ๆ มากกว่า 100 แห่ง
สงเคระห์พระเณร สงเคราะห์หน่วยราชการ โรงเรียน ผู้ด้อยโอกาส และสัตว์
3.ทำบุญ ฟังธรรม และกราบหลวงตามหาบัว
ในช่วงดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานีระหว่างเดือนมีนาคม 2523 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2528 เป็นระยะเวาลายาวนาน ร่วม 5 ปี 6 เดือนนั้น ผมได้มีโอกาสไปทำบุญ ฟังธรรม และกราบหลวงตาบัว จำนวนหลายครั้ง ดังจะได้เล่าบรรยากาศให้ท่านผู้อ่านมองเห็นภาพดังนี้
3.1 การทำบุญ
ในช่วงเวลานั้น หลวงตามีอายุราว 67-73 ปี ร่างกายยังแข็งแรง ท่านยังนำพระลูกวัดออกเดินบิณบาตรเป็นประจำ โดยมีระยะทางไป-กลับ ราว 3 กิโลเมตร ผมและภรรยาก็ได้มีโอกาสไปทำบุญใส่บาตรบ้างในโอกาสอันควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เป็นวันพระสำคัญ ๆ

บรรยากาศที่ผมมองเห็นนั้น มีผู้คนเป็นจำนวนมากจากทั่วสารทิศได้เดินทางมาทำบุญใส่บาตรกับหลวงตาและพระลูกวัดซึ่งมีอยู่ราว 50 รูป แม้แต่คนที่อยู่ทางไกลขนาดกรุงเทพมหานครก็ยังมีจิตศรัทธาอย่างแรงกล้าขับรถมาเป็นระยะทาง 600 กิโลเมตร ซึ่งในยุคนั้นยังเป็นแค่ถนนลาดยางสองเลนอยู่ ไม่ใช่สี่เลนเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ เพื่อใส่บาตรกับหลวงตาโดยเฉพาะ
ทุกคนที่มา ล้วนมีใบหน้าอิ่มเอิบที่จะได้ทำบุญกับพระอริยสงฆ์ ต่างเข้าแถวเรียงต่อกันไปตามแนวถนนหน้าวัด นอกจากนี้ ยังได้แต่งตัวอย่างสวยงาม โดยส่วนใหญ่แต่งตัวด้วยชุดผ้าไหม เพื่อรอเวลาที่หลวงตาและพระลูกวัดจะออกเดินทางจากวัดมารับการใส่บาตรของพวกเขา
หลังจากออกเดินบิณบาตรเสร็จแล้ว หลวงตาและพระลูกวัดจะกลับเข้าวัด เพื่อฉันภัตตาหารบนศาลาวัด ซึ่งเป็นการฉันภัตตาหารเพียงมื้อเดียวของแต่ละวัน โดยนำอาหารที่ได้มาจากการบิณบาตรมาคลุกเคล้ารวมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความยึดติดในรสชาดอาหาร ตามแนววัตรปฏิบัติของพระสายธรรมยุตินิกาย
3.2 การแสดงธรรม
หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว หลวงตาก็จะได้แสดงธรรม โดยเป็นการแสดงธรรมในลักษณะที่เป็นหลักธรรมล้วน ๆ เพื่อให้ทุกคนที่ได้ฟังธรรมจะได้เกิดข้อคิดในการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
ท่านผู้อ่าน อาจจะสงสัยว่า การที่หลวงตาแสดงธรรมที่เป็นนามธรรมล้วน ๆ ผู้คนที่ไปวัดจะเข้าใจหรือ
ผมขอตอบว่า ผู้คนที่ไปทำบุญที่วัดป่าบ้านตาดในยุคนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีการศึกษาดี มีหน้าที่การงานดี และมีความรู้ดี จึงมีความพร้อมที่จะสามารถฟังธรรมของหลวงตาอยู่แล้ว หากใครอยากได้หนังสือและเทปไปอ่านไปฟัง ก็มีลูกศิษย์คอยจัดเตรียมแจกจ่ายให้ทุกคนรับไปอ่านและฟังต่อที่บ้านได้ฟรี
3.3 กราบหลวงตาที่กุฎิ
วัดป่าบ้านตาด เป็นวัดที่เงียบสงบ ดูร่มรื่น มีบริเวณวัดกว้างขวาง มีเนื้อที่ถึง 167 ไร่ เต็มไปด้วยต้นไม้ และได้สร้างกุฏิเป็นหลังเล็ก ๆ ให้พอเหมาะกับพระที่จะอาศัยอยู่เพียงรูปเดียว โดยแต่ละกุฏิมองไม่เห็นกัน ยิ่งกว่านั้น ในยามค่ำคืนก็มีแต่ความมืด เพราะหลวงตาไม่ให้มีไฟฟ้าใช้ในวัด เนื่องจากเห็นว่า จะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติธรรมของพระเณรในวัด กล่าวคือ หากมีไฟฟ้าใช้ ย่อมหมายถึงว่า ยังยึดติดความสะดวกสบายในทางโลก โอกาสที่จะบรรลุธรรมได้ก็จะน้อยลง
หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จ หลวงตาและพระลูกวัด ต่างแยกย้ายกันไปยังกุฏิของตน เพื่อนั่งสมาธิ เดินจงกรม ปฏิบัติธรรม โดยมีพระนิพพานเป็นเป้าหมาย หากใครจะต้องการไปกราบหลวงตาที่กฎิ จะต้องไปในเวลาที่หลวงตาได้ปิดประกาศไว้หน้าวัดเท่านั้น คือเวลาประมาณ 14.00-15.00 น.
มีวันหนึ่ง ผมได้เข้าไปกราบหลวงตาที่กุฏิ สิ่งที่ผมได้รับจากหลวงตาคือ หนังสือ แว่นส่องธรรม จำนวน 2 เล่ม ซึ่งเป็นหนังสือขนาดใหญ่หนาประมาณ 400-500 หน้า โดยหลวงตาได้กล่าวกับผมว่า “หนังสือเล่มนี้ หลวงตาไม่ได้มอบให้ใครง่าย ๆ ” ทำให้ผมเกิดความปลื้มปิติจนมีอาการขนลุกซู่ขึ้นมาทันใด
4.สรุป
บทความตอนนี้ ต้องการจะเล่าให้ท่านทราบว่า หลวงตามหาบัว พระอริยสงฆ์หรือพระอรหันต์ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ท่านมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ผมได้มีโอกาสไปทำบุญ ฟังธรรม และกราบหลวงตาอย่างไร
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาอ่าน คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
ผมมีลูกศิษย์คนหนึ่ง ชื่อ ผู้หมวด (นามสมมุติ) ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสกลนคร ไม่ไกลจากวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี สมัยเรียน ผู้หมวด ได้แสดงความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอันเป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนขอผม ทำให้ผมและผู้หมวด มีความคุ้นเคยกันไม่น้อย เพราะผู้หมวดเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการดูแลอุปกรณ์ในการสอนให้ผม
ผู้หมวดเป็นคนสุภาพเรียบร้อย อ่อนโยน ตามแบบฉบับของบุคคลหมายเลข 2
“ผู้หมวด อาจารย์สังเกตเห็นว่า นับตั้งแต่ผู้หมวดได้เข้ารับอบรมเพื่อเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งมานี้ ดูเหมือนว่า ผู้หมวดจะมีความมั่นอกมั่นใจในการแสดงออกมากขึ้นนะ” ผมทักทายผู้หมวดด้วยความคิดทางบวก
“ขอบคุณครับอาจารย์ ที่กรุณาให้เกียรติชมเชยผม ผมยอมรับครับหลังจากผ่านการอบรมเพื่อเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งดังกล่าว ผมมีความมั่นใจในการแสดงออกมากขึ้น ” ผู้หมวดยอมรับกับผมด้วยความรู้สึกหน้าชื่นตาบาน
“ วันนี้ เรามาสนทนาธรรมกันหน่อยเกี่ยวกับเรื่องราวของหลวงตามหาบัว ผู้หมวดคงจะรู้จักดี ใช่ไหม ” ผมเกริ่นนำเพื่อให้ผู้หมวดเตรียมใจ
“ รู้จักดีครับอาจารย์ ถ้าเช่นนั้น ผมขออนุญาตเรียนถามอาจารย์เลยนะ ทำไมอาจารย์จึงเล่าว่า พอหลวงตามอบหนังสือ แว่นส่องธรรม ให้อาจารย์สองเล่ม อาจารย์จึงมีอาการขนลุกซู่ ” ผู้หมวดอดสงสัยในความรู้สึกของผมไม่ได้
“ คืออย่างนี้ การที่หลวงตามหาบัว ซึ่งเป็นพระอรหันต์แล้ว กล่าวว่า หนังสือแว่นส่องธรรม ที่ท่านมีความเมตตากรุณามอบให้อาจารย์ ท่านมอบให้ไม่กี่คน ทำให้อาจารย์อดคิดเข้าข้างตนเองไม่ได้ว่า ตัวเราน่าจะพอมีบุญวาสนาที่จะเอาดีในด้านการปฏิบัติธรรมในชาตินี้ได้บ้าง ” ผมตอบด้วยความรู้สึกที่แท้จริงของผม
“อ๋อ เป็นเช่นนั้นเอง ผมพอเข้าใจ ยังมีประเด็นหนึ่ง ที่ผมยังมีความข้องใจอยู่ว่า หลวงตาบวชเป็นพระแล้ว และใคร ๆ ก็เชื่อว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ ทำไมท่านจึงเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องของการทอดผ้าป่าช่วยชาติในช่วงประเทศไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมือปี พ.ศ.2540 น่าจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองเขาแก้ปัญหาดีกว่า ” ผู้หมวดถามในสิ่งที่หลายคนอาจจะสงสัย
“ ผู้หมวด ต้องเข้าใจว่า การเป็นพระมิได้หมายความว่า จะยุ่งเกี่ยวกับทางโลกไม่ได้ เพราะวัดกับบ้านต้องอาศัย มิใช่ต่างคนต่างอยู่ เหมือนอย่างพระพุทธองค์ หลังจากตรัสรู้ใหม่ ๆ พระพุทธองค์ก็เกิดความคิดท้อพระทัยเหมือนกันว่า ธรรมะที่พระองค์ค้นพบนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก ยากที่จะมีคนเข้าใจและปฏิบัติตามได้ จนกระทั่งมีท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูลอาราธนานั่นแหละ พระพุทธองค์จึงได้ตัดสินพระทัยออกประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก เพราะทรงเล็งเห็นว่า แท้ที่จริงมนุษย์ก็สามารถจำแนกออกได้เหมือนดอกบัวสี่เหล่า จึงทำให้พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้น ณ บัดนั้นตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ ” ผมอธิบายโดยย้อนเรื่อวราวไปยังสมัยพุทธกาล
“ เรื่องนี้ผมพอจะเข้าใจอยู่ แต่เรื่องหลงตาจัดผ้าป่าช่วยชาติ ผมยังงงอยู่ รบกวนอาจารย์อธิบายเพิ่มเติมสักนิดได้ไหม” ผู้หมวดยังแสดงอาการมึนงงอยู่
“ คืออย่างนี้ หลวงตาท่านคงเห็นด้วยญาณของท่านว่า ประเทศไทย ณ เวลานั้น ประสบภาวะวิกฤตอย่างหนัก หากท่านนิ่งเฉยเสีย สถานการณ์อาจจะเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนกำลังเกิดความรู้สึกระส่ำระสาย ตระหนกตกใจเกิดอาการเสียขวัญ จนรัฐบาลเองก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรได้
ดังนั้น หลวงตาจึงได้จัดตัดสินใจจัดทำโครงการทอดผ้าป่าเพื่อช่วยชาติในยามวิกฤติขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนในสังคม มีสติ ไม่เกิดอาการตื่นตระหนกตกใจมากจนเกินไป แล้วผลลัพธ์ก็ออกมาดี ใช่ไหม ผู้หมวด เพราะทำให้ประเทศไทยของเราได้เงินคงคลังเพิ่มขึ้นตั้ง 15,000 ล้านบาท หลังจากนั้น สถานการณ์ความเลวร้ายของประเทศไทยก็ลดลง และค่อย ๆ ดีขึ้นมาเป็นลำดับ ” ผมอธิบายให้ผู้หมวดเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม
“ อ๋อ ถ้าเป็นอย่างอาจารย์ว่า ผมก็พอจะเข้าใจแล้วว่า การที่หลวงตาได้เป็นผู้นำในการทอดผ้าป่าช่วยชาติเมื่อปีพ.ศ.2540 ก็เพื่อให้สติแก่สังคมและคนไทยทั้งประเทศทุกหมู่เหล่า จะได้ไม่ตื่นตระหนกตกใจจนเกินไป เพราะหากขาดสติ การแก้ปัญหาก็ย่อมยากที่จะทำได้ ต้องขอขอบคุณอาจารย์มากที่ช่วยทำให้ผมเข้าใจในเรื่องนี้ ” ผู้หมวดรู้สึกสบายใจที่ได้รับคำตอบอย่างมีเหตุผลจากผม
“ ผู้หมวดเข้าใจถูกแล้ว การที่หลวงตายอมมาเป็นผู้นำสังคมในการทอดผ้าป่าช่วยชาติ เท่ากับเป็นการเตือนสติสังคมว่า คนเราหรือประเทศไทยต้องเริ่มต้นด้วยการพึ่งตนเองก่อน ไม่ใช่คอยแต่หวังพึ่งคนอื่นหรือต่างประเทศ เพราะการเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งก็มีสาเหตุมาจากนักลงทุนไทยคอยหวังพึ่งเงินทุนจากต่างประเทศ พอเขาเปลี่ยนใจไม่ให้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำอีกต่อไป ก็เลยหมดท่า ล้มครืนลงมา กลายเป็นคนเคยรวยอย่างที่เราได้ยินข่าวมานั่นแหละ
หลังจากนั้น รัฐบาลไทยและคนไทยก็เริ่มได้สติ หันมาปฏิบัติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนกระทั่งทุกวันนี้ ” ผมอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้หมวดเข้าใจอย่างชัดเจน
“ ที่อาจารย์เชื่อมโยงมาถึงแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมว่าดีมากเลยครับอาจารย์ ” ผู้หมวดแสดงคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับผม
“ วันนี้ ขอขอบคุณผู้หมวดมาก มีโอกาส อาจารย์จะเชิญมาคุยกันใหม่นะ ขอให้โชคดี เจริญก้าวหน้า และมีความสุขตลอดไป ” ผมกล่าวขอบคุณผู้หมวด พร้อมกับอวยพรตามตามธรรมเนียม
“ ขอน้อมถวายบุญกุศลที่เกิดจากการเขียนบทความนี้เป็นธรรมทาน แด่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และหลวงตามหาบัว ”