87 / 100

สันติสุข ยังยากที่จะเกิดขึ้นได้ บนดินแดนพม่า นับเป็นบทความลำดับที่ 5 ของหมวด 12 เรื่องเล่า ประเทศอาเซียน จะกล่าวถึง ความนำ สันติสุข ยังยากที่จะเกิดบนดินแดนพม่า เพราะอะไร ความขัดแย้งกับรัฐคะฉิ่น  ความขัดแย้งกับรัฐคะยา ความขัดแย้งกับรัฐกะเหรี่ยง ความขัดแย้งกับรัฐยะไข่ ความขัดแย้งกับรัฐฉาน สรุป และคุยดับดร.ชา

Table of Contents

1.ความนำ

          นับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์จากอังกฤษเมื่อ วันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1948 เป็นต้นมา ความสงบสุขที่แท้จริง ยังไม่ได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินแห่งนี้เลย แต่เต็มไปด้วยการทำสงครามกลางเมืองหรือการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ มาโดยตลอด

            ตามบทความ (2) ผมได้เล่าถึงปัญหา ความขัดแย้ ระหว่างชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับรัฐบาลพม่าว่า เกิดจากสาเหตุหลายประการ ประการแรก เกิดจากสภาพภูมิประเทศ ประการที่สอง เกิดจากนโยบายแบ่งแยกและปกครองเมื่อครั้งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษเป็นเวลายาวนานร่วม 63 ปี ระหว่างปีค.ศ. 885-1948  ประการที่สาม เกิดจากการฉีกความตกลงปางหลวงเมื่อปี พ.ศ.2505 โดยการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนายก ฯ อูนุ แล้วตั้งรัฐบาลทหารขึ้นปกครองแทนและสืบทอดอำนาจต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานจนกระทั่งปี พ.ศ.2554 เป็นเวลาร่วม 50 ปี และประการสุดท้าย เกิดจากนโยบายกลืนชาติชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้กลายเป็นชนชาติพม่าเพียงชาติเดียว 

             ด้วยความขัดแย้งที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังกล่าว จึงทำให้ชนกลุ่มน้อยชาติพันธ์ต่าง ๆ ไม่พอใจ และได้สร้างกองกำลังสู้รบกับทหารของรัฐบาลพม่าเรื่อยมา เป็นระยะ ๆ จนกระทั่งปัจจุบันนี้

          สำหรับบทความนี้ จะนำเสนอปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ๆ กับรัฐบาลพม่า  เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นภาพของความขัดแย้งในเชิงลึกได้ชัดเจนขึ้น

2. สันติสุข ยังยากที่จะเกิดบนแผ่นดินพม่า เป็นเพราะสาเหตุใด

          ความขัดแย้งภายในพม่า เป็นการก่อจลาจล (insurgency) ในพม่าที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ภายหลังที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1948 ความขัดแย้งดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากความแตกต่างในเชื้อชาติ โดยมีหลายเชื้อชาติที่จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธสู้รบกับรัฐบาลพม่า เพื่อจะได้ปกครองตนเอง (self-determination)

          แม้ว่าจะได้มีข้อตกลงหยุดยิงหลายครั้ง และมีการจัดตั้งเขตกปกครองตนเองหลายเขตเมื่อปี ค.ศ.2008 แต่กลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ ก็ยังคงเดินหน้าเรียกร้องการปกครองตนเองที่มีอิสรภาพมากขึ้น หรือการเป็นรัฐรวม ความขัดแย้งดังกล่าวได้ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดในโลกที่ยังคงดำรงอยู่ (the world’s longest ongoing  civil war) เป็นเวลาร่วม 7 ทศวรรษ

            การที่สันติสุข ยังยากที่จะเกิดขึ้นได้ในดินแดนพม่า นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 จนกระทั่งปัจจุบัน ก็เพราะรัฐบาลทหารพม่าที่ได้ปกครองประเทศมาเป็นเวลายาวนานไม่ต้องการให้ชนกลุ่มชาติพันธุ์มีอิสระในการปกครองตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการแยกตัวออกไปตั้งเป็นประเทศใหม่หรือตั้งเป็นมลรัฐในรูปแบบของรัฐรวม  ซึ่งเป็นความต้องการที่สวนทางกับความต้องการของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

            ดังนั้น เมื่อทั้งสองฝ่ายยังมีความต้องการที่ขัดแย้งกันอยู่ จึงทำให้ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธสู้รบกับทหารของรัฐบาลพม่าเป็นระยะ ๆ เพื่อจะได้ปกครองตนเองหรือเป็นอิสระจากพม่า ดังจะเห็นได้จากข่าวล่าสุด ชาวกะเหรี่ยงได้ร่วมต่อต้านการยึดอำนาจรัฐประหารเมือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564

            ความขัดแย้งที่ทำให้เกิดการสู้รบหรือการก่อจลาจลในพม่า หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

            2.1 ความขัดแย้งอันเกิดจากความไม่สงบทางการเมืองของพม่าโดยตรง ซึ่งเป็นความขัดแย้งในภาพใหญ่ รายละเอียดอ่านได้จากบทความที่ (4) การสร้าง ถนน สายประชาธิปไตยของพม่าที่แสนยากลำบาก

            2.2 ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ

            ในบทความนี้จะเล่าถึง ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์รัฐต่าง ๆ ตามข้อ 2.2  ซึ่งประกอบด้วย รัฐคะฉิ่น รัฐคะยา รัฐกะเหรี่ยง รัฐยะไข่ และรัฐฉาน เพื่อให้ท่าน ทราบปมขัดแย้งเป็นรายรัฐหรือรายชาติพันธุ์

พม่ายังไม่มีสันติสุข แผนที่แสดงพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบในดินแดนพม่า นับแต่ ค.ศ.1995-ปัจจุบัน (Wikipedia, Internal Conflict of Myanmar, 9th March 2021)
พม่ายังไม่มีสันติสุข แผนที่แสดงพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบในดินแดนพม่า นับแต่ ค.ศ.1995-ปัจจุบัน (Wikipedia, Internal Conflict of Myanmar, 9th March 2021)

3.ความขัดแย้งกับรัฐคะฉิ่น (Kachin State)

          3.1 พื้นฐานของความขัดแย้ง

            คนคะฉิ่น คือคนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในรัฐคะฉิ่น  ซึ่งเป็นพื้นที่เทือกเขาคะฉิ่น ในอดีตทหารคะฉิ่นเป็นกำลังสำคัญของกองทัพพม่า แต่พอพลเอก เนวิน เข้าทำการัฐประหารเมื่อปีค.ศ.1962 ทหารคะฉิ่นก็ทิ้งกองทัพพม่าไปอยู่กับกองกำลังเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army-KIR) ซึ่งสังกัดองค์กรเอกราชคะฉิ่น  (Kachin  Independence Organisation-KIO)

          ความตึงเครียดทางศาสนา เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง เพราะคนคะฉิ่นนับถือศาสนาคริสต์ ในขณะที่คนพม่านับถือศาสนาพุทธ

            3.2 เหตุการณ์ความรุนแรงในการต่อสู้กัน

            เมื่อปีค.ศ.2012 ได้มีการต่อสู้ระหว่างกองกำลังเอกราชคะฉิ่น กับกองทัพรัฐบาลพม่า ทำให้เกิดการสูญเสียถึง 2,500 คน ทั้งที่เป็นพลเรือนและทหาร ในจำนวนนี้เป็นทหารรัฐบาลพม่า 211 นาย ผลของการสู้รบ ทำให้มีพลเรือนต้องไร้ที่อยู่ 100,000 คน และต้องทอดทิ้งหมู่บ้านจำนวน 364 หมู่บ้าน

            3.3 การทำข้อตกลงหยุดยิง

นักเรียนทหารในรัฐคะฉิ่น กำลังเตรียมตัวฝึก
ณ สำนักงานใหญ่ของกองกำลังเอกราชคะฉิ่น
(Wikipedia, Internal Conflicts of Myanmar. 9th March 2021)
นักเรียนทหารในรัฐคะฉิ่น กำลังเตรียมตัวฝึก
ณ สำนักงานใหญ่ของกองกำลังเอกราชคะฉิ่น
(Wikipedia, Internal Conflicts of Myanmar. 9th March 2021
)

            ได้มีการทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกองกำลังเอกราชคะฉิ่น และรัฐบาลพม่าหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปีค.ศ.1994 และได้มีความสงบต่อเนื่องกันมาได้ 17 ปี จนกระทั่งเดือนมิถุนายน ปีค.ศ. 2011 รัฐบาลได้โจมตีฐานที่มั่นของกองกำลังเอกราชคะฉิ่น ซึ่งตั้งอยู่ตามแม่น้ำทาปิง (Taping River) และอยู่ทางตะวันออกของเมืองบาโม รัฐคะฉิ่น

            ผลของการที่ข้อตกลงหยุดยิงได้ถูกทำลายลง ทำให้รัฐคะฉิ่นต้องเผชิญปัญหาประชากรต้องย้ายถิ่นฐานจำนวนมากถึง 90,000 คน และต้องตั้งค่ายผู้อพยพมากกว่า 150 แห่ง  ซึ่งอยู่ในพื้นที่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล และยากที่จะเข้าถึง

            ได้มีการประเมินว่า เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2018 มีประชากรที่ต้องหนีภัยการสู้รบระหว่างกองกำลังกู้เอกราชคะฉิ่นและทหารของรัฐบาลพม่า จำนวนมากกว่า 14,000 คน

            

4. ความขัดแย้งกับรัฐคะยา (Kayah State)

          รัฐคะยาเป็นรัฐของกะเหรี่ยงแดง เมื่อราวหลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวคะยาต้องการแยกเป็นรัฐอิสระ เป็นรัฐของชาวกะเหรี่ยงแดง เพราะเห็นว่าพวกตนถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดเปลืองไปอย่างรวดเร็ว ถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องราคาผลผลิต ถูกกดขี่แรงงาน ถูกบังคับให้เคลื่อนย้ายหมู่บ้าน และที่ทำกิน มีการทำลายบ้านเรือน มีการทำเหมืองในที่ซึ่งควรเป็นที่อยู่อาศัย มีการทรมาน การข่มขืน การฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ การเผาหมู่บ้าน มีการยึดทรัพย์ที่เป็นตัวห่วงโซ่ของการผลิตอาหาร และปศุสัตว์ มีการจับกุมโดยไม่มีข้อกล่าวหา และการเอารัดเอาเปรียบคนจน

            กองทัพกะเหรี่ยงแดง ปัจจุบันมีกำลังราว 500-1,500 คน ภายใต้การนำของนายพล บี หตู (General Bee Htoo)

5. ความขัดแย้งกับรัฐกะเหรี่ยง (Kayin State)

          5.1 พื้นฐานความขัดแย้ง

          รัฐกะเหรี่ยง (Karen State)  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ขนชาติกะเหรี่ยง มีจำนวนมากเป็นอันดับสามของพม่า  คิดเป็นราวร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ กลุ่มผู้ก่อการร้ายกะเหรี่ยงได้ต่อสู้เพื่อเอกราชและการปกครองตนเองมาตั้งแต่ปีค.ศ.1949 ในปีนั้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า มีเชื้อสายกะเหรี่ยง คือ พลเอก สมิธ ดูน (Smith Dun) ได้ถูกยิงตาย อันมีสาเหตุมาจากการเกิดขึ้นของกลุ่มผู้ก่อการร้ายกะเหรี่ยง ทำให้พลเอก เนวิน ซึ่งมีเชื้อสายพม่า ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

          เป้าหมายดั้งเดิม ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) และกองกำลังปลดแอกชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA) คือ การสร้างรัฐอิสระของชนชาติกะเหรี่ยง อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1976 ได้เปลี่ยนเป้าหมายเป็นการปกครองตนเองในรูปแบบรัฐรวม

            5.2 เหตุการณ์ความรุนแรงในการสู้รบ

          รัฐบาลพม่าถูกกล่าวหาว่า ได้ใช้กลยุทธ์ในการทำลายล้าง (scorched earth tactics) ชนขาติกะเหรี่ยงในอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งการเผาหมู่บ้านให้ราบเป็นหน้ากลอง การทำเหมืองแร่ การใช้แรงงานเยี่ยงทาส การใช้แรงงานกวาดหาทุ่นระเบิด การข่มขืนและฆ่า

ความโหดร้ายดังกล่าว ทำให้รัฐบาลพม่าถูกกล่าวหาว่า ต้องการทำลายเชื้อชาติกะเหรี่ยง (ethnic cleansing)

          เมื่อปีค.ศ.1995 รัฐบาลพม่าได้ทำลายสำนักงานใหญ่และฐานปฏิบัติการส่วนใหญ่ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ลงเป็นส่วนมาก ทำให้กองกำลังปลดแอกแห่วงชาติกะเหรี่ยง ต้องหลบซ่อนเข้าไปอยู่ในป่าแทน

            ในอดีตรัฐบาลไทยเคยสนับสนุนการก่อการร้ายของชนชาติกะเหรี่ยง จนกระทั่งปีค.ศ.1995  (พ.ศ.2538) จึงได้เลิกสนับสนุน เพราะรัฐบาลไทยได้ทำสัญญาในโครงการทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่กับพม่า

            5.3 การทำข้อตกลงหยุดยิง

          เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ.2015 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าพร้อมกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายอีก 7 กลุ่ม  อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2018 รัฐบาลพม่าได้ละเมิดข้อตกลงเสียเองด้วยการยึดพื้นที่เพื่อสร้างถนนไปสู่ฐานทางทหารสองแห่ง ทำให้เกิดการสู้รบกันระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงกับกองทัพพม่า อันเป็นผลทำให้ราษฎรกะเหรี่ยงต้องอพยพออกไปจำนวน 2,000 คน แต่เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.2018 รัฐบาลพม่าได้ตกลงหยุดการก่อสร้างถนนไว้ชั่วคราวพร้อมถอนทหารออกไปจากพื้นที่

6. ความขัดแย้งกับรัฐยะไข่ (Rakhine State)

          6.1 พื้นฐานความขัดแย้ง

            ในรัฐยะไข่มีความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวโรฮิงยาที่นับถือศาสนาอิสลาม(Muslim Rohingyas)  และชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธ (Buddhist Rakhines)

          6.2 เหตุการณ์ความรุนแรง

            กลุ่มผู้ก่อการร้ายยะไข่ อย่างเช่น กองกำลังอาระกัน (Arakan Army) และกองกำลังปลดแอกอาระกัน (Arakan Liberation Army) ได้ใช้ความรุนแรงต่อรัฐบาลพม่า แม้ว่าความรุนแรงขนาดใหญ่จะได้เกิดขึ้นน้อยครั้งนับตั้งแต่มีการปฏิรูปการเมืองและมีการเจรจาสงบศึกก็ตาม

            กองกำลังอาระกัน ได้จัดตั้งขึ้นในรัฐยะไข่เมื่อปีค.ศ.2009 ปัจจุบันมีกองกำลังราว 7,000 คน

            กลุ่มผู้ก่อการร้ายโรฮิงยาได้ต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลประจำท้องถิ่นและกลุ่มผู้ก่อการร้ายอื่น ๆ ในทางเหนือของรัฐยะไข่ มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 ด้วยปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์การก่อจลาจลของรัฐยะไข่เมื่อปีค.ศ. 2012 (2012 Rakhine State riots) และเหตุการณ์การก่อจลาจลต่อต้านชาวมุสลิมเมื่อปีค.ศ.2013 (2013 Myanmar anti-Muslim riots)

          แม้ว่าชาวโรฮิงยาจะเป็นชนกลุ่มใหญ่ของเมืองทางเหนือของรัฐยะไข่ แต่ชาวโรฮิงยามักจะตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางศาสนา เพราะรัฐบาลพม่าไม่ถือว่า ชาวโรฮิงยาไม่ใช่พลเมืองของพม่า ดังนั้น ชาวโรฮิงยาจึงไม่สามารถแสดงตัวเป็นพลเมืองพม่า และทำให้ขาดสิทธิตามกฎหมายบางประการ

            เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ.2016 ได้มีกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ได้เข้าโจมตีกองกำลังรักษาของพม่า ซึ่งอยู่ติดชายแดนพม่า-บังคลาเทศ ทำให้เป็นการเริ่มต้นความขัดแย้งรอบใหม่ในทางเหนือของรัฐยะไข่ การโจมตีดังกล่าวได้ทำให้เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนพม่าเสียชีวิต 9 คน และผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตหลายคน ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.2016 ทหารพม่า 4 คนถูกสังหาร ในการนี้กองกำลังไถ่บาปโรฮิงยา อาระกัน (Arakan Rohingya Salvation Army-ARSA) ได้แสดงความรับผิดชอบในเวลาหนึ่งสัปดาห์ต่อมา

            เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.2017 กองกำลังไถ่บาปโรฮิงยา ได้โจมตีสถานีตำรวจ 24 แห่ง และฐานทหารอีกหนึ่งแห่ง ฆ่าผู้คนร่วม 12 คน ทำให้กองทัพพม่า ได้ปฏิบัติการกวาดล้างในพื้นที่ทิศเหนือของรัฐยะไข่ แต่ถูกตำหนิว่า เป็นการโจมตีพลเรือนมากกว่าผู้ก่อการร้าย ผลของการ กวาดล้างดังกล่าว ทำให้ประชาชนร่วม 200,000 คน ได้รับความยากลำบากเพราะไม่สามารถเข้าถึงตลาด มีปัญหาในดำรงตามวิถีชีวิตประจำวัน การบริการ และการดูแลทางด้านสุขภาพ

            เมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.2019 ผู้ก่อการร้ายแห่งกองกำลังอาระกันจำนวน 300 คน ได้โจมตีสถานีตำรวจ อันเป็นผลทำให้ตำรวจตระเวนชายแดน 13 นายถูกฆ่าตาย และอีก 9 นายบาดเจ็บ  ในขณะที่อาวุธปืนเล็ก จำนวน 40 กระบอก และกระสุนปืนราว 10,000 นัด ถูกยึดไป

            หลังจากนั้น ทางการพม่าได้เพิ่มความเข้มข้นในการกวาดล้าง ผลของการสู้รบ ทำให้มีพลเมืองมากกว่า 5,000 คน ต้องอพยพออกไป และหลายร้อยคนต้องหนีข้ามชายแดนไปบังคลาเทศ

7. ความขัดแย้งกับรัฐฉาน (Shan State)

          7.1 พื้นฐานของความขัดแย้ง

            ชนชาติฉานเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในรัฐฉาน และเป็นคนกลุ่มใหญ่เป็นอันดับสองของพม่า เมื่อปีค.ศ.1947 ได้มีการทำความตกลงปางหลวง (Panglong Agreement 1947) ระหว่างอองซาน ผู้ได้ชื่อว่า เป็นบิดาผู้สถาปนาพม่า และผู้นำของรัฐฉาน ซึ่งเป็นความตกลงที่ยินยอมให้รัฐฉานขอแยกตัวออกไปเป็นรัฐอิสระได้หลังจากครบ 10 ปี นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ถ้าไม่พอใจในการอยู่ร่วมกันต่อไป แต่ข้อตกลงนี้ รัฐบาลพม่าหลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นผลมาจากอองซานถูกฆ่าตายไปก่อนได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1947

          7.2 เหตุการณ์ความรุนแรง

          ในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองรัฐบาลทหารพม่า ราวปลายทศวรรษ 1940 และ1950 รัฐบาลพม่าได้ถูกกล่าวว่า ได้กระทำการมิชอบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการทรมาน การโจรกรรม การข่มขืน การจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การสังหารหมู่ชาวบ้าน ดังนั้น จึงทำให้เกิดขบวนการต่อต้านติดอาวุธในรัฐฉานขึ้นมาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ.1958

            กลุ่มผู้ก่อการร้ายกลุ่มใหญ่ที่สุดในพม่า คือ กองกำลังรัฐฉานใต้ (Shan State Army-South: SSA-S) มีกองกำลังราว 6,000-8,000 คน นำโดยเจ้ายอดศึก แต่ได้ลาออกไปแล้วเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2009 กองกำลังรัฐฉานใต้มีฐานที่มั่นตามแนวชายแดนไทย-พม่า และได้ทำข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเมื่อ วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.2011

          นอกจากกองกำลังรัฐฉานใต้ ยังมีกองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (Myanmar National Democratic Alliance Army-MNDAA) ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายของพวกโกกั้ง ปฏิบัติการอยู่ในเขตปกครองตนเอง ทางเหนือของรัฐฉาน แต่กลุ่มนี้ได้ทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเมื่อปีค.ศ.1989 ในปีเดียวกันกับที่ได้จัดตั้งกอกำลังขึ้นมา

          การทำข้อตกลงหยุดยิงอยู่ได้ยาวจนถึงปีค.ศ.2009 ได้เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นอีกระหว่างกองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า กับรัฐบาลพม่า เมื่อปีค.ศ.2015 และ 2017

          เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2016 กลุ่มพันธมิตรเหนือ (Northern Alliance) ได้โจมตีเมืองและสถานีตำรวจชายแดน ตามแนวชายแดนจีน-พม่า โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ยึดมองโค (Mong Ko) ไว้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2016 ไปจนถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2016จึงยอมถอนกำลังออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีทางอากาศจากรัฐบาลพม่า

            ยิ่งกว่านั้น เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2019 กลุ่มผู้ก่อการร้ายของกลุ่มพันธมิตรเหนือได้โจมตีวิทยาลัยทหาร ในเมืองนองหเคีย (Nawnghkio)  ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 นาย

8. สรุป

          บทความ สันติสุข ยังยากที่จะเกิดขึ้นได้บนแผ่นดินพม่า ต้องการจะนำเสนอให้เห็นว่า นับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1948 ดินแดนแห่งนี้ยังไม่เคยได้รับสันติภาพที่แท้จริง เพราะนอกจากมีปัญหาความไม่สงบทางการเมืองของประเทศ ซึ่งเป็นการเมืองในภาพใหญ่แล้ว พม่ายังประสบปัญหาการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตลอดมา

            ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ซึ่งมีฐานะเป็นรัฐของสหภาพพม่า จำนวน 7 รัฐ มีความต้องการที่จะปกครองตนเอง หากไม่สามารถแยกตัวออกไปตั้งเป็นรัฐอิสระได้ ก็ขอให้ปกครองตนเองในรูปแบบรัฐรวมแบบมลรัฐของสหรัฐอเมริกา แต่รัฐบาลทหารพม่า ไม่ต้องการให้ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ทั้ง 7 รัฐ ได้ปกครองตนเองไม่ว่าในรูปแบบใด เพราะถือเป็นการทำลายเอกภาพของสหภาพพม่า

            ดังนั้น ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ จึงได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลทหารของพม่าเรื่อยมา นับตั้งแต่ได้พม่าได้เอกราชจากอังกฤษจนกระทั่งทุกวันนี้

          นี่คือคำตอบว่า เพราะเหตุใด สันติสุข จึงยากที่จะเกิดขึ้นได้บนดินแดนพม่า

            สำหรับ ความเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้

คุยกับดร.ชา   

          คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณประดิษฐ์ ซึ่งได้เข้ามาเป็นคู่สนทนาในบทความที่แล้ว คือ บทความ (4) การสร้าง ถนน สายประชาธิปไตยในพม่าที่แสนยากลำบาก

คุณประดิษฐ์ คู่สนทนา
คุณประดิษฐ์ คู่สนทนา

            “สวัสดี คุณประดิษฐ์ เมื่อคราวที่แล้ว เราได้คุยกันในปัญหา การสร้าง ถนน สายประชาธิปไตยในพม่าที่แสนยากลำบาก สำหรับการสนทนาครั้งนี้เป็นการสนทนาที่ต่อเนื่องกัน แต่เราจะลงลึกไปถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในรัฐต่าง ๆ ของพม่า  เพื่อชี้ให้เห็นว่า สันติสุข บนแผ่นดินพม่ายังยากที่จะเกิดขึ้นได้ คุณประดิษฐ์พร้อมไหม ” ผมทักทายพร้อมกำหนดประเด็นสนทนาไปด้วย

            “ สวัสดีครับ อาจารย์ ผมดีใจที่อาจารย์ยังกรุณาเลือกให้ผมมาเป็นคู่สนทนาอีกครั้งหนึ่ง

           ผมขออนุญาตแสดงความเห็นก่อนว่า ตราบใดรัฐบาลพม่า และชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ไม่ยอมหันหน้าคุยกัน มีแต่จับอาวุธสู้รบกันเหมือนอย่างที่แล้วมา ผมอดคิดไม่ได้ว่า สันติสุข บนแผ่นดินพม่า น่าจะยังอยู่อีกยาวไกล” คุณประดิษฐ์แสดงความเห็นในภาพรวมก่อน

            “ อาจารย์เห็นด้วยกับคุณประดิษฐ์นะ  แต่การที่จะให้รัฐบาลทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์วางอาวุธแล้วหันหน้าเข้าคุยกันเพื่อสร้างสันติสุข น่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ” ผมตั้งคำถามให้คุณประดิษฐ์ได้คิดในเชิงลึก

            “ ในความเห็นของผม ก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะดูตามข้อมูลตามที่อาจารย์ได้เล่ามาก็ดี หรือดูตามสถานการณ์ปัจจุบันในพม่าก็ดี ต่างฝ่ายต่างมีทิฐิ หรือความยึดมั่นถือมั่นในจุดมุ่งหมายเดิมของพวกตน ไม่ยอมลดวาลดศอก ” คุณประดิษฐ์ตอบตามข้อมูลที่พอจะมีอยู่

            “ อาจารย์อยากให้ขยายความอีกสักนิดได้ไหมว่า ที่ว่าต่างฝ่ายต่างมีทิฐินั้น คืออย่างไร ” ผมถามสั้น ๆ

            “ คืออย่างนี้ครับอาจารย์ ทางฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า ถือหลักของการเป็นรัฐเดี่ยว พม่าเป็นเอกภาพหรืออันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกออกไปเป็นรัฐอิสระไม่ได้ หรือแค่จะขอปกครองตนเองแบบมลรัฐหนึ่งในทำนองเดียวกันกับมลรัฐของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ แต่ชน กลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ต้องการจะแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระ หรืออย่างน้อยก็ขอให้ได้ปกครองตนเองในรูปแบบมลรัฐ ตามหลักรัฐรวม

            จะเห็นได้ว่า เป็นความต้องการที่สวนทางกันมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้วนับตั้งแต่พม่าได้รับ  เอกราชจากอังกฤษเมื่อปีค.ศ.1948 ” คุณประดิษฐ์ตอบแบบมั่นใจ

            “ ใช่ อาจารย์คิดอย่างนั้นเหมือนกัน

            ถ้าเช่นนั้น เราลองมามองดูสถานการณ์พม่าในปัจจุบัน ภายหลังคณะทหารได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ ที่ผ่านมา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ของพม่า ได้เข้ามามีบทบาทอะไรบ้างไหม ” ผมชวนให้หันมาคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของพม่าบ้าง

คุณประดิษฐ์ คู่สนทนา
คุณประดิษฐ์ คู่สนทนา

            “ เท่าที่ผมติดตามข่าวดู ผมก็เห็นพวกชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ได้เข้าร่วมในการต่อต้านการรัฐประหาร แสดงให้เห็นว่า ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ไม่อยากให้พม่ามีรัฐบาลทหาร  เพราะรัฐบาลทหาร คือ ตัวขัดขวางในการได้ปกครองตนเองหรือการเป็นอิสระของรัฐของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์โดยตรง

            คนกลุ่มน้อย เชื่อว่า รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง น่าจะสามารถเจรจากันง่ายกว่า  ” คุณประดิษฐ์ตอบแบบมองทะลุเลย

            “ แสดงว่า ชนกลุ่มน้อยพม่ามีผลประโยชน์ในทางการเมืองร่วมกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งใช่ไหม ” ผมลองถามความเห็นในอีกแง่มุมหนึ่งดู

            “ ผมเชื่อว่า เป็นเช่นนั้น เพราะถ้าเขาไม่มีผลประโยชน์บางอย่างร่วมกัน เขาคงไม่เข้ามาช่วยกัน เพราะการเข้ามาช่วย ก็เป็นการเสี่ยงต่อชีวิตหรือเสียงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี” คุณประดิษฐ์ตอบสั้น ๆ

            “ ใช่ คุณประดิษฐ์พูดถูก

            เอาล่ะ ขอถามเป็นความเห็นสุดท้ายว่า กรณีมีการสู้รบกันระหว่างทหารรัฐบาลพม่ากับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย เช่น กะเหรี่ยง มอญ ไทยใหญ่ เป็นต้น ว่า มีผลกระทบอะไรต่อไทยเราไหม ” ผมลองถามเกี่ยวกับประเทศไทยบ้าง

            “ แน่นอนครับอาจารย์ หากมีการสู้รับของกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่อยู่ติดชายแดนไทย เช่น กะเหรี่ยง มอญ ไทยใหญ่หรือฉาน ที่ผ่านมาก็จะมีชนกลุ่มน้อยส่วนหนึ่งหนีภัยการสู้รบเข้ามาอยู่ในเขตชายแดนไทย จนกว่าเหตุการณ์จะสงบ จึงจะยอมกลับไป

            แต่บางครั้ง แม้ไม่มีชายแดนติดกับไทย แต่ยังส่งผลกระทบมาถึงไทยก็มี เช่น การสู้รบในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นรัฐอยู่ทิศตะวันตก ชายแดนติดประเทศบังคลาเทศ ได้มีคนยะไข่ที่เป็นชาวมุสลิมบางส่วนหนีภัยการสู้รบ เข้ามาถึงประเทศไทย เหมือนอย่างที่ปรากฏในข่าว จนเป็นปัญหาการค้าขายมนุษย์ ในช่วงก่อนปีพ.ศ.2557 ” คุณประดิษฐ์ตอบแบบร่ายยาว

            “เอาล่ะนะ วันนี้เราได้คุยกันครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว คงต้องยุติการสนทนาไว้เพียงนี้ โอกาสหน้าค่อยคุยกันใหม่

            ขอบคุณมาก คุณประดิษฐ์ที่กรุณาสละเวลามาคุยกับอาจารย์ถึงสองครั้งติดต่อกัน ” ผมกล่าวยุติการสนทนาและขอบคุณ

            “ ด้วยความยินดีครับอาจารย์ ”

                                    ดร.ชา 9/03/21

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***) 2

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 4

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11) 5

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

4 COMMENTS

  1. ขอบคุณ คุณดิษฐ์ ที่ได้มาแสดงความคิดเห็นในมุมมองของตนเอง ข้าพเจ้าขอสนับสนุนทุกความคิดเห็น ที่ได้แสดงออก ค่ะ

    1. Feelgood2514 ขอบคุณครับที่ร่วมกันแสดงความคิดเห็นกับบทความของท่านอาจารย์ ครับผม
      ในความคิดเห็นของผมครับ ในบริบทความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงใปอย่างมากและรวดเร็ว เหมือนยุค 5G เลยที่เดียวโดยเฉพาะในด้านของตัวบบุคคล คนมีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น มีความหลากหลายทางด้านความคิด ความชอบ มีวัฒนธรรมประเพณีที่เปลี่ยนไปตามปัจเจกของตัวเองมากขึ้น จึงทำให้มีการเรียกร้องสิ่งต่างๆเพื่อความเป็นปัจเจกของตัวเอก ของกลุ่ม ของเชื้อชาติ ของพวกพ้องและตัวเองมากขึ้น
      ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ ผมจึงมองว่าสันติสุขยังยากที่เิกิดขึ้นในพม่า หรือแม้แต่ประเทศอื่นๆในสังคมโลกนี้ได้ ตราบที่ประชาชนยังไม่มองถึงความปรองดอง ความสันติ ความเคารพให้เกียรติ การแบ่งปัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคมโดยส่วนรวมของคนในชาติ แล้ว ความสันติสุขของคนในชาติ หรือในโลกนี้ก็ยังยากที่จะมีสันติสุข ในหมู่มนุษยชาติได ครับผม

  2. อาจารย์คะ รัฐมอญในพม่า ยังมีเชื้อสายเจ้าสืบทอดกันจนถึงปัจจุบันนี้ หรือ อย่างไรคะ

    1. หากดูตามข่าว น่าจะเป็นเชื้อสายของกษัตริย์พม่า ราชวงศ์สุดท้ายก่อนจะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ คงไม่ใช่มอญ เพราะมอญสูญสิ้นอาณาจักรไปนานแล้ว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: