ระบบเศรษฐกิจ จีน เป็นอย่างไร นับเป็นบทความลำดับที่ 5 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก ความนำ ระบบเศรษฐกิจ จีน ตามรัฐธรรมนูญ ทฤษฎีของ เติ้ง เสี่ยว ผิง แนวคิดของ สี จิ้น ผิง วิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจ จีน สรุป และถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีน มีรูปแบบการปกครองอย่างไร ได้เล่าถึงรูปแบบการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดไว้ กล่าวคือ ประเทศจีนเป็นประเทศทีมีการปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยยึดถืออุดมการณ์ตาม ลัทธิมาร์ก-เลนิน ตลอดแนวคิดของเหมา เจอ ตุง ทฤษฎีของเติ้ง เสี่ยว ผิง ทฤษฎีตัวแทนสามฝ่าย และแนวคิดของสี จิ้น ผิง
ประเทศจีน เป็นรัฐเดี่ยว แบ่งการปกครองออกเป็นมณฑล จำนวน 22 แห่ง (หากนับไต้หวันรวมด้วย ก็จะเป็นจำนวน 23 มณฑล) เขตปกครองตนเอง จำนวน 5 แห่ง และเขตบริหารพิเศษ จำนวน 2 แห่ง นอกจากนี้ยังมีมหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล จำนวน 4 แห่ง
สำหรับเนื้อหาในบทความนี้ จะเล่าถึง ระบบเศรษฐกิจ จีน ว่าเป็นอย่างไร โดยจะกล่าวถึง ระบบระบบเศรษฐกิจ จีน ตามรัฐธรรมนูญ ทฤษฎีของ เติ้ง เสี่ยว ผิง และแนวคิดของสี จิ้น ผิง
2. ระบบเศรษฐกิจ จีน ตามรัฐธรรมนูญจีน-อารัมภบท
การจะทำความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจ จีน นั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ.1982 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่เป็นอารัมภบทและหมวด 1 หลักการทั่วไป
ระบบเศรษฐกิจ จีน ตามอารัมภบท
ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญจีนได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า ประเทศนี้เป็นประเทศที่จะเปลี่ยนผ่านจากสังคมประชาธิปไตยใหม่ (new democratic society) ไปสู่สังคมแบบสังคมนิยม ( socialist society) โดยยึดถือตามแนวทางของ ลัทธิมาร์ก-เลนิน แนวคิดของเหมา เจอ ตุง ทฤษฎีของเติ้ง เสี่ยวผิง ทฤษฎีตัวแทนสามฝ่าย และแนวคิดของสี จิ้นผิง เกี่ยวกับลัทธิสังคมนิยมสำหรับจีนยุคใหม่
การปกครองตามระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ของจีน เป็นการปกครองระบบเผด็จการประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพ นำโดยผู้ใช้แรงงาน ร่วมกับชาวนา และปัญญาชน
ส่วนชนชั้นที่เอารัดเอาเปรียบ (exploiting class) หรือนายทุน แม้ได้ถูกล้มล้างไปแล้ว แต่การต่อสู้ระหว่างชนชั้นก็ยังมีอยู่เป็นระยะเวลาอีกยาวนาน
3.ระบบเศรษฐกิจ จีน ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 1 หลักการทั่วไป
ตามรัฐธรรมนูญจีน หมวด 1 หลักการทั่วไป ได้วางหลักเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ จีน สรุปได้ดังนี้
3.1 ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม (Socialist Economic System)
ระบบเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม โดยมีหลักการพื้นฐานว่า ผู้ใช้แรงงานทั้งหมดเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและผลผลิตร่วมกัน ซึ่งแตกต่างไปจากระบบเดิมที่ผู้ใช้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนพวกหนึ่ง และถือหลักการว่า ให้แต่ละคนทำตามความสามารถ และได้รับผลตอบแทนตามผลงาน
3.2 บทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ
ในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่ผู้ใช้แรงงานทั้งหมดเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและผลผลิตร่วมกัน โดยภาครัฐจะเป็นพลังนำในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ เพื่อเป็นหลักประกันในการสร้างความแข็งแกร่งและการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ
3.3 การจัดองค์กรทางเศรษฐกิจรวมในชนบท (Rural collective economic organization)
การจัดองค์การทางเศรษฐกิจในชนบท ใช้ระบบสองชั้น คือ มีทั้งแบบผลิตแยกและผลิตรวมกัน (Two-tied system of both unified and separate operation) ในส่วนของการผลิตร่วมกันในชนบท หมายถึง การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและผลผลิตร่วมกันของผู้ใช้แรงงาน
3.4 ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลาย น้ำ ป่า ภูเขา ทุ่งหญ้า ที่รกร้างว่างเปล่า ชายหาดที่เป็นโคลน (mudflats) และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ล้วนเป็นของรัฐ ยกเว้นป่า ภูเขา ทุ่งหญ้า ที่รกร้างว่างเปล่า และชายหาดที่เป็นโคลน ซึ่งมีกฎหมายให้ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน
3.5 เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
รัฐเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ถ้าเป็นที่ดินในชนบทและชานเมือง ถือเป็นที่ดินที่มีประชาชนเจ้าของร่วมกัน เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติว่า เป็นที่ดินของรัฐ นอกจากนี้ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารบ้านเรือน ที่ดินสำหรับปลูกพืชผัก และชายเขา ซึ่งถูกจัดแบ่งให้ใช้เป็นของส่วนบุคคล ถือเป็นสมบัติร่วมกันของประชาชนด้วย
3.6 ภาคเศรษฐกิจที่ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม (non-public economic sectors)
ภาคเศรษฐกิจที่ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย อย่างเช่น ธุรกิจของเอกชน นับเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม ที่รัฐจะคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ให้ตามกฎหมาย โดยรัฐจะสนับสนุน ส่งเสริมและกำหนดแนวทางในการดำเนินการ
3.7ความศักดิ์ของทรัพย์สินของสาธารณะ
รัฐจะต้องปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินของสาธารณะ ห้ามองค์กรหรือบุคคลใดเข้าไปยึดหรือทำลายทรัพย์สินที่ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกันหรือทรัพย์สินของรัฐ
3.8 การคุ้มครองทรัพย์สินส่วนบุคคล
รัฐจะคุ้มครองสิทธิของพลเมืองในการเป็นเจ้าของและสืบทอดทรัพย์สินส่วนบุคคลให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
3.9 การคุ้มครองและส่งเสริมผู้ใช้แรงงาน
รัฐจะเพิ่มความสามารถในการผลิตของผู้ใช้แรงงาน (labor productivity) และปรับปรุงผลปฏิบัติงานด้านเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนากำลังในการผลิต ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ใช้แรงงาน และทักษะทางด้านเทคนิค ส่งเสริมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า ปรับปรุงระบบการจัดการทางเศรษฐกิจและการประกอบการของวิสาหกิจ การประกอบการในรูปแบบต่าง ๆ ของระบบความรับผิดชอบแบบสังคมนิยม และปรับปรุงการจัดองค์กร
รัฐจะดำเนินการในด้านเศรษฐกิจที่เข้มงวด (strict economy) และการกำจัดของเสีย
รัฐจะดำเนินการในทางด้านเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ ผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชน และผลประโยชน์ของเอกชน บนพื้นฐานของการพัฒนาการผลิต การปรับปรุงความอยู่ดีกินดีของประชาชนไปทีละน้อย
รัฐจะสร้างระบบความมั่นคงทางสังคมที่ดีให้เหมาะสมกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
3.10 ระบบเศรษฐกิจการตลาดแบบสังคมนิยม (socialist market economy)
รัฐจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายทางด้านเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง และปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางด้านเศรษฐกิจในภาพใหญ่
รัฐจะใช้อำนาจตามกฎหมาย ห้ามการทำให้เกิดความปั่นป่วนทางระเบียบเศรษฐกิจสังคมโดยองค์กรหรือบุคคลใด ๆ
3.11 วิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ (state-owned enterprise)
วิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของมีสิทธิที่จะประกอบการได้อย่างอิสระตามกฎหมาย โดยการบริหารแบบประชาธิปไตยผ่านสภาลูกจ้าง
3.12 องค์กรทางเศรษฐกิจที่มีเจ้าของร่วมกัน (collective economic organization)
องค์กรทางเศรษฐกิจที่มีประชาชนเป็นจ้าของร่วมกัน มีอิสระในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างอิสระ
3.13 วิสาหกิจของต่างประเทศ
สาธารณรัฐประชาชนจีน อาจอนุญาตให้วิสาหกิจ องค์กรทางเศรษฐกิจ และเอกชนของต่างประเทศ ลงทุนในจีนได้ตามกฎหมาย
3.14 การศึกษาแบบสังคมนิยม (socialist education)
รัฐจะพัฒนาการศึกษาแบบสังคมนิยม เพื่อยกระดับทางด้านวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ของชาติ
4. ทฤษฎีของเติ้ง เสี่ยว ผิง
ความยิ่งใหญ่ของเหมา เจ๋อตุง คือ การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีการปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้สำเร็จเมื่อปีค.ศ.1949 โดยมีลัทธิมาร์ก-เลนิน ผสมด้วยแนวคิดของเหมา เจอ ตุง เป็นอุดมการณ์
แต่หากสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ได้คนอย่าง เติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นนำในยุคต่อจากเหมา เจอ ตุง ประเทศจีนจะไม่มีทางเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดเหมือนอย่างทุกวันนี้
ความจริง เติ้ง เสี่ยว ผิง ไม่ได้มีตำแหน่งสูงสุดในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเหมือนอย่างเหมา เจ๋อตุงในตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลาต่อมา แต่ได้แสดงบทบาทในการเป็นผู้นำในการปฏิรูปประเทศจีนให้เจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด จนได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ให้เป็น “บุคคลแห่งปี 1978”
ทฤษฎี เติ้ง เสี่ยวผิง
ทฤษฎี เติ้ง เสี่ยวผิง หมายถึงแนวคิดในการจะพัฒนาตนเองของจีนตามระบอบสังคมนิยมที่มี ลักษณะจำเพาะของจีน (Socialism with Chinese characteristics) โดยมีการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายสี่ทันสมัย และนโยบายการปกครองประเทศเดียวสองระบบ
ทฤษฎีของ เติ้ง เสี่ยวผิง ยืนหยัดอยู่บนพื้นฐาน 2 ประการคือ
4.1 ดำเนินปฏิรูปประเทศด้วยนโยบายสี่ทันสมัย (Four Modernization)
การพัฒนาประเทศจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่เจริญก้าวหน้าด้วยนโยบายสี่ทันสมัย ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การทหาร และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
4.2 ยึดหลักการพื้นฐานสี่ประการ (Four Cardinal Principles)
หลักการสี่ประการ คือ
4.2.1 แนวทางของสังคมนิยม
4.2.2 ลัทธิมาร์กซ-เลนิน และเหมา เจ๋อตุง
4.2.3 การเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ
4.2.4 แนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์
4.3 เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ในยุค เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (Special Economic Zones) ได้แก่ เซินเจิ้น จูไห่ เซี่ยเหมิน และซัวเถา

(วิกิพีเดีย, เซินเจิ้น, 15 ธันวาคม 2564)ult
เซินเจิ้น ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเกาะฮ่องกง เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย เพราะคนไทยที่ไปเที่ยวงจีน ส่วนใหญ่คงได้เห็นด้วยตาตนเองมาแล้วว่า มีความเจริญมากเพียงใด
4.4 ความแตกต่างระหว่างทฤษฎีของเติ้ง เสี่ยวผิง กับแนวคิดของเหมา เจ๋อตุง
แนวคิดของเหมา เจ๋อตุง มุ่งเน้นที่จะพัฒนาทางด้านโครงสร้างของสังคมนิยมและการต่อสู้ระหว่างชนชั้น (Class Struggle) แต่แนวคิดตามทฤษฎีของเติ้ง เสี่ยวผิงมุ่งเน้นด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพ โดยพยายามรวม (merge) ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดของทุนนิยม (Market Economy) ให้เข้ากันได้กับแนวคิดทางการเมืองของลัทธิมาร์กซ-เลนิน กลายเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาดสังคมนิยม (Socialist market economy) ซึ่งเป็นสังคมนิยมที่มีลักษณะจำเพาะของจีน
ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดสังคมนิยมของจีน มักจะปรากฏในรูปแบบทุนนิยมโดยรัฐ หรือรัฐเป็นเจ้าของวิสาหกิจ (State-Owned Enterprise) ขนาดใหญ่เสียเอง ในขณะเดียวกันก็ยอมให้เอกชนเข้ามาลงทุนได้ ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจแบบนี้จึงคล้ายกับระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed-Market Economy) ในโลกทุนิยม
4.5 ความร่ำรวยแบบสังคมนิยมแตกต่างจากความร่ำรวยแบบทุนนิยม
เติ้ง เสี่ยวผิงมีความเห็นว่า ความร่ำรวยแบบสังคมนิยมแตกต่างไปจากความร่ำรวยแบบทุนนิยม กล่าวคือ ความร่ำรวยแบบสังคมนิยมเป็นความร่ำรวยพร้อมกันทั้งมวลชน โดยจะไม่ยอมให้คนในสังคมแยกขั้ว ไม่ใช่ทำให้คนรวยยิ่งรวย และคนจนยิ่งจน และจะไม่ยอมให้มีชนชั้นนายทุนเกิดขึ้นใหม่
ทฤษฎีของเติ้ง เสี่ยวผิงได้มีอิทธิพลต่อแนวคิดของผู้นำจีนรุ่นหลัง อย่างเช่นแนวคิดสามตัวแทน (The Three Represents) ของเจียง เจ๋อหมิน และการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ (The scientific development concept) ของหู จิ่นเทา
5. แนวคิดของ สี จิ้นผิง

(Wikipedia, High Speed Rail in China, 15th December 2021)
สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน คนปัจจุบัน
นับตั้งแต่จีนได้สถาปนาการปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ขึ้นเมื่อปีค.ศ.1949 จนกระทั่งปัจจุบันได้มีผู้นำมาแล้ว 5 รุ่น รุ่นที่ 1.0 คือ เหมา เจ๋อตุง รุ่นที่ 2.0 คือ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำในการเปิดและปฏิรูปประเทศจีน รุ่นที่ 3.0 คือ เจียง เจ๋อหมิน รุ่นที่ 4.0 คือ หู จิ่นเทา และรุ่นที่ 5.0 คือ สี จิ้นผิง
5.1 รู้จัก สี จิ้นผิง
สี จิ้นผิง เป็นผู้นำที่มีบารมีมากที่สุดในรอบ 40 ปีเทียบเท่ากับบารมีของเหมา เจ๋อตุง โดยเขาเป็นผู้นำประเภทพลิกโฉมประเทศ (Transformative Leader) กล่าวคือเมื่อได้มีอำนาจแล้วได้พลิกโฉมการเมืองจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบบของจีน ซึ่งเป็นการพลิกโฉมที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของประเทศตะวันตกที่คาดหวังว่า จีนน่าจะเปลี่ยนเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยทุนนิยมเหมือนอย่างประเทศตะวันตก แต่สี จิ้นผิงได้พลิกโฉมไปในทางอำนาจนิยมมากและเด็ดขาดมากขึ้น
ผลงานชิ้นโบแดงของเขา คือ การปราบคอรัปชั่นอย่างจริงจัง จนทำให้มีสมาชิกพรรคจำนวน 1.4 ล้านคน ถูกดำเนินการทางวินัย และคนระดับรัฐมนตรีประมาณ 200 คน ถูกจับดำเนินคดี ผลงานการปราบคอรัปชั่นดังกล่าว ทำให้สี จิ้นผิง ได้รับคะแนนนิยมเป็นอย่างมาก เป็นผลทำให้เขามีอำนาจเพิ่มขึ้นพร้อมกับได้รับคะแนนนิยมจากประชาชน
5.2 วิสัยทัศน์ของจีนในยุค สี จิ้นผิง
จีนในยุคสี จิ้นผิง ได้สร้างความฝันในยุคศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญไว้ 3 ประการคือ
5.2.1 ปี 2020 ซึ่งเป็นปีครบ 100 ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์ (สถาปนาเมื่อปีค.ศ.1921) ประเทศจีนจะไม่มีคนจน บรรลุการกินดีอยู่ดี โดยกำหนดมาตรฐานเส้นของคนจนว่า ต้องมีรายได้เท่าใด ทุกคนในประเทศจีนจะต้องมีรายได้เหนือกว่าเส้นดังกล่าว
5.2.2 ปี 2035 จีนจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เจริญแล้ว
5.2.3 ปี 2050 ซึ่งเป็นปีที่ครบ 100 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนจะเป็นประเทศมหาอำนาจสังคมนิยมสมัยใหม่ที่ร่ำรวย ประชาชนเป็นใหญ่ มีวัฒนธรรมชั้นเลิศ สมานฉันท์ และสวยงาม
5.3 แนวคิดด้านเศรษฐกิจของ สี จิ้นผิง
จีนเป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมระบบตลาดที่นำโดยภาครัฐ กล่าวคือ ให้ถือหลักอุปสงค์ (demand) และหลักอุปทาน (supply) เป็นตัวกำหนดราคาสินค้าในตลาด แต่รัฐจะเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมคมนาคม การเงิน เหล็ก ซีเมนต์ ไฟฟ้า และธนาคารขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกันก็ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจแข่งกันเองด้วย เช่น China Mobile, China Telecom เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รัฐบาลจีนมีบทบาทในทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เพราะมีกลไกที่อยู่ในอำนาจรัฐเป็นจำนวนมาก สามารถสนองตอบนโยบายของรัฐได้ทันที
สี จิ้นผิง มีแนวคิดว่า สังคมนิยมไม่ใช่ความยากจน เขาจึงตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการพัฒนาคุณภาพโดยเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากการเกษตรไปเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในขณะเดียวกันก็พยายามเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมให้เป็นภาคบริการมากขึ้น เพราะภาคบริการสมัยใหม่จะมีรายได้ดี ยิ่งกว่านั้น ยังจะเปลี่ยนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการบริโภคในประเทศมากขึ้น แทนที่จะหวังจากการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติ
การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการบริโภคในประเทศได้ จะต้องสร้างคนจนให้เป็นคนชั้นกลางให้มากขึ้น หากสามารถทำให้คนจนของจีนราว 600 ล้านคน ได้กลายเป็นคนชั้นกลาง ก็จะมีกำลังในการบริโภคมหาศาล
5.4 แนวคิดด้านเทคโนโลยี
จีนยุค 5.0 ให้ความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI โดยไม่ได้พูดถึง Digital แล้ว กล่าวคือ การทำให้เครื่องมือต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์ สามารถคิดได้เหมือนมนุษย์ สามารถพูดคุยสื่อสารกับมนุษย์ได้ โดยสี จิ้นผิง ได้กล่าวว่า AI จะสามารถตอบโจทย์ทุกด้านของจีนได้ เพราะหุ่นยนต์จะสามารถทำงานแทนแรงงานมนุษย์ที่ขาดแคลนได้เป็นอย่างดี
6.วิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจ จีน ในภาพรวม
ระบบเศรษฐกิจ จีน ในปัจจุบันนี้ ได้นำเอาจุดแข็งของระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ และจุดแข็งของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาผสานกัน กลายเป็นระบบเศรษฐกิจการตลาดแบบสังคมนิยม กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจ ยอมรับกลไกของราคาสินค้าตามกฎของอุปสงค์และอุปทาน (demand& supply) แบบตลาดทุนนิยม แต่ในขณะเดียวกัน รัฐเป็นเจ้ารัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่พร้อมจะสนองนโยบายต่าง ๆ ของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เช่น รัฐเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมคมนาคม การเงิน เหล็กและธนาคาร ซีเมนต์ ไฟฟ้า
ดังนั้น กลไกของราคาของจีนจึงแตกต่างไปจากกลไกของราคาของโลกตะวันตกที่ตัวอุปสงค์และตัวอุปทานเป็นตัวกำหนดราคาอย่างแท้จริง โดยรัฐมิได้เข้าแทรกแซง หรือถ้าจะมีแทรกแซงก็ไม่มาก
จุดแข็งของระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์คือ การเมืองและรัฐบาลมีเสถียรภาพมาก เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่มีอำนาจในการปกครองและบริหารประเทศในทุกระดับ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นไปตามวาระ ไม่มีเหตุวุ่นวายเหมือนอย่างหลายประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบประเทศ ตะวันตก อย่างเช่นประเทศไทย เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กำหนดนโยบายไว้อย่างไร รัฐหรือรัฐบาลก็จะต้องบริหารประเทศและดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐหรือรัฐบาลทุกระดับของจีน ล้วนเป็นบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งนั้น
7.สรุป
ระบบเศรษฐกิจ จีน ในปัจจุบันนี้ เป็นระบบเศรษฐกิจการตลาดแบบสังคมนิยม (socialist market economy) ที่แม้จะยอมรับกลไกการตลาดเป็นตัวกำหนดราคา แต่อำนาจในการแทรกแซงกลไกการตลาดเป็นของรัฐ เพราะรัฐเป็นเจ้าของวิสาหกิจขนาดใหญ่ของประเทศ ดังนั้น รัฐจึงเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ จึงย่อมสามารถกำหนดทิศทางการตลาดได้ไม่ยาก
ผู้นำจีน ที่มีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจ จีน มีอยู่สองคน คือ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีน ยุค 2.0 และ สี จิ้นผิง ผู้นำจีนยุค 5.0 ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน

ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
ถาม- จีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ได้ทำการปฏิวัติล้มล้างระบบนายทุนมาก่อน แล้วทำไมจึงได้หันมายอมรับระบบทุนนิยมนับตั้งแต่ยุคเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นต้นมา
ตอบ- การที่จีนในยุค เติ้ง เสี่ยวผิง ยอมรับระบบทุนนิยมว่า มีความจำเป็นต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศก็เพราะได้เห็นตัวอย่างประเทศหรือดินแดนที่ใช้ระบบทุนนิยมมีความเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจ เช่น ฮ่องกง ดินแดนในการครอบครองของสหราชอาณาจักร หรือประเทศมหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายล้วนมีระบบเศรษฐกิจเป็นระบบทุนนิยมด้วยกันทั้งสิ้น
ถาม- เติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้นำจีนที่มีบทบาทสำคัญอย่างไรในการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน
ตอบ- บทบาทของเติ้ง เสี่ยวผิง ในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ จีน คือ การเปิดประเทศ ยอมรับจุดแข็งของระบบทุนนิยมมาปรับใช้กับการเมืองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จีน ทำให้เศรษฐกิจจีนเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ถาม-จุดเด่นแนวคิดของสี จิ้นผิง ในทางด้านเศรษฐกิจจีน คืออะไร
ตอบ-ในยุคของสี จิ้นผิง เป็นยุคจีน 5.0 เน้นความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศเพื่อให้ทัดเทียมและเอาชนะประเทศตะวันตกให้ได้ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) ด้วยการสร้างหุ่นยนต์อัจฉริยะ ให้มีความสามารถเสมือนคน
ถาม-จุดแข็งและจุดอ่อนของเศรษฐกิจระบบทุนนิยมคืออะไร จีนแก้ปัญหานี้อย่างไร
ตอบ- เศรษฐกิจระบบทุนนิยม มีจุดแข็งคือ ทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบ
โตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นระบบเศรษฐกิจที่จูงใจนักลงทุนให้อยากลงทุน ด้วยการสร้างกำไรได้อย่างมหาศาล
แต่มีจุดอ่อนคือ มีปัญหาเรื่องกระจายรายได้ มักจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมาก เว้นแต่รัฐจะมีกฎหมายและมาตรการบังคับมิให้นายทุนเอารัดเอาเปรียบคนจนได้มากจนเกินไป
จีนแก้ปัญหานี้ด้วยการที่รัฐเป็นเจ้าของวิสาหกิจขนาดใหญ่เองหรือรัฐเป็นนายทุนเสียเอง เพื่อให้สามารถกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสม แทนที่จะปล่อยให้อำนาจทางเศรษฐกิจตกอยู่ในมือนายทุนเพียงหยิบมือเดียวเหมือนอย่างในหลายประเทศ
ถาม-ทำไมในรัฐธรรมนูญจีนจึงได้กำหนดเรื่องระบบเศรษฐกิจไว้อย่างชัดเจน
ตอบ-การที่รัฐธรรมนูญจีนได้กำหนดไว้ในอารัมภบท และหมวด 1 หลักการทั่วไป เพื่อเป็นการแสดงอย่างชัดแจ้งว่า ระบบเศรษฐกิจจีนแท้ที่จริงเป็นอย่างไร และการนำแนวคิดและหลักการของระบบทุนนิยมมาปรับใช้กับระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์สามารถทำได้อย่างไร
ถาม- ทำไมการที่จีนซึ่งเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ จึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการนำเอาแนวคิดและหลักการของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมาปรับใช้
ตอบ- ประเทศที่มีการปกครองระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์อย่างจีนมีจุดแข็งอยู่อย่างหนึ่ง คือ การเมืองมีเสถียรภาพสูงมาก และรัฐบาลก็มั่นคง สามารถอยู่ได้จนครบวาระทุกรัฐบาล เพราะการถ่ายเทอำนาจของรัฐบาลแต่ละชุด เป็นไปอย่างราบรื่นและอยู่ครบวาระ ทั้งนี้ เนื่องจากพรรคการเมืองที่มีอำนาจในการปกครองและบริหารประเทศมีอยู่เพียงพรรคเดียว คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดังนั้น การดำเนินการตามนโยบายในการปกครองและบริหารประเทศจึงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รัฐสามารถกำหนดวิสัยทัศน์และวางแผนระยะยาวได้โดยไม่มีอาการสะดุดเหมือนประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยหลายประเทศ ที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการบริหารประเทศไปตามพรรคการเมืองที่ผลัดกันขึ้นมีอำนาจในการบริหารประเทศ
ถาม-อยากให้ยกตัวอย่างประกอบได้ไหม
ตอบ- ได้อย่างจีนยุค 5.0 ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ได้กำหนดวิสัยทัศน์และวางแผนระยะยาวไว้
ปี 2020 ประชาชนจีนต้องไม่มีคนจน
ปี 2035 จีนจะต้องเป็นประเทศที่ทันสมัยและพัฒนาแล้ว
ปี 2050 จีนจะต้องเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก
ถาม-อยากให้เปรียบเทียบกับประเทศไทยสักเล็กน้อยว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรกที่กำหนดให้รัฐมียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งนำไปสู่การมีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อมุ่งทำให้ประเทศไทยได้เป็นประเทศที่รายได้สูงหรือประเทศที่พัฒนาแล้วนั่นเอง
แต่ทำไมฝ่ายค้านจึงนำมาโจมตีว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นแผนในการสืบทอดอำนาจ ทั้ง ๆ ที่ประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศ ล้วนแต่มีการกำหนดวิสัยทัศน์และแผนพัฒนาประเทศในระยะยาวด้วยกันทั้งสิ้น
ตอบ-นี่แหละคือจุดอ่อนของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีปัญหาขาดเสถียรภาพทางการเมือง ที่พรรคการเมืองต่าง ๆ มุ่งที่จะแย่งชิงอำนาจกัน ไม่ยอมรับแนวคิดที่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลกำหนดไว้ ทั้ง ๆ ที่ความจริง หากพรรคฝ่ายค้านได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลก็คงต้องทำอย่างที่ตนได้ด่าหรือตำหนิเขาไว้
คงไม่มีพรรคการเมืองใดที่ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ เพราะการจะสร้างผลงานให้โดดเด่นได้ ต้องมีระยะเวลาครองอำนาจยาวนานเพียงพอ มิใช่อยู่แค่สมัยเดียวหรือครึ่งสมัยก็หมดอำนาจไป การมีอำนาจบริหารประเทศในระยะสั้นย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาที่เรื้อรังและสลับซับซ้อนของประเทศได้อย่างแน่นอน