82 / 100
ปกหนังสือ ปลัดอำเภอ อาชีพนี้ดี โดย ดร.ชา 369
ปกหนังสือ ปลัดอำเภอ อาชีพนี้ดี โดย ดร.ชา 369

ปลัดอำเภอ อาชีพนี้ดี เป็นหนังสืออีบุ๊ค เล่มที่สอง ตามโครงการหนังสืออีบุ๊ค เรื่องเล่า ดร.ชา ซึ่งได้วางจำหน่ายในทางตลาดออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ จำนวน 3 แห่ง คือ www.ookbee.com, www.mebmarket.com, www.se-ed.com เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2564

            ในการวางจำหน่ายหนังสืออีบุ๊ค ทางตลาดออนไลน์ ผู้จัดจำหน่ายกำหนดให้มีหนังสือตัวทดลองอ่าน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทดลองอ่านดูก่อนได้ ดังนั้น ในโอกาสนี้ผมจึงถือขอนำตัวทดลองอ่าน “ ปลัดอำเภอ อาชีพนี้ดี “ มานำเสนอให้ท่านได้ทดลองอ่านดูในอีกช่องทางหนึ่ง นอกเหนือไปจากช่องทางเว็บไซต์ของผู้จัดจำหน่าย

            เนื้อหาในตัวทดลองอ่านดังกล่าวประกอบด้วย คำขอขอบคุณ คำนำ สารบัญ และส่วนที่หนึ่ง แรงบันดาลใจเข้าสู่เส้นทางอาชีพนักปกครอง และการคลิกเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม

            อนึ่ง ก่อนหน้านี้ผมได้นำตัวทดลองอ่าน “สั่งจิตใต้สำนึก เพื่อความสำเร็จและความสุข” มาให้ท่านได้ลองทดลองอ่านดู

1.คำขอขอบคุณ

ขอขอบคุณ

นายภัทรนันท์ บุญมานัด       นายอำเภอศรีรัตนะ          จังหวัดศรีสะเกษ

พร้อมคณะปลัดอำเภอที่กรุณาเอื้อเฟื้อภาพประกอบ

2.คำนำ

          ขณะนี้กรมการปกครองกำลังดำเนินการเปิดรับสมัครบุคคลสอบแข่งขันเข้ารับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ (ปลัดอำเภอ) ซึ่งเป็นการสอบแข่งขันเข้ารับราชการยอดนิยมของผู้เรียนจบทางมาทางด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์หรือบริหารรัฐกิจ และนิติศาสตร์ ทั้งชายและหญิง ดังจะเห็นได้จากมีจำนวนผู้สมัครแต่ละครั้งมากเป็นหลักหมื่นคน แต่ผู้สมัครสอบส่วนใหญ่ อาจจะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นในเส้นทางของอาชีพนี้ว่า เริ่มต้นอย่างไร จะเจริญก้าวหน้าได้เพียงใด และอย่างไร

          ดังนั้น ผมจึงได้จัดทำหนังสืออีบุ๊ค ปลัดอำเภอ อาชีพนี้ดี ขึ้นมา เพื่อเป็นคู่มือในรูปแบบเรื่องเล่าเชิงประสบการณ์นักปกครองให้น้อง ๆ ทั้งหลายที่อยากจะสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอ ได้ศึกษาทำความเข้าใจในการประกอบอาชีพนี้เป็นเบื้องต้น โดยการนำบทความที่ผมเคยเขียนและนำลงเผยแพร่มาก่อนแล้วในเว็บไซต์ เรื่องเล่า ดร.ชา สนุกและสร้างสรรค์ 369 (tridirek.com) ในหมวด 1 เส้นทางสู่อาชีพนักปกครอง  มาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาและข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

         เนื้อหาประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรก เป็นการเล่าถึงแรงบันดาลใจในการเข้าสู่อาชีพนักปกครอง  ส่วนที่สอง เป็นการเล่าถึงประสบการณ์ในการสอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอ และความเจริญก้าวหน้าในอาชีพปลัดอำเภอ  และส่วนที่สาม คือ เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา มีจำนวน 2 เรื่อง

            หวังว่า หนังสืออีบุ๊ค เล่มนี้ คงจะเป็นประโยชน์แก่น้อง ๆ ทั้งหลายที่ต้องการจะสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอ ในแง่ของการสร้างความรู้ความเข้าใจในเส้นทางของอาชีพปลัดอำเภอ ซึ่งเป็นตำแหน่งเริ่มต้นของอาชีพนักปกครอง ได้ตามสมควร

            ขอให้น้อง ๆ ทุกคนโชคดี สอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอได้สมความปรารถนา

ด้วยรักและปรารถนาดีต่อน้อง ๆ ทุกคน

ดร.ชา 369

25 พฤษภาคม 2564

3.สารบัญ

คำนำ                                                   3

บทนำ                                                  9

ส่วนที่หนึ่ง    แรงบันดาลใจเข้าสู่อาชีพนักปกครอง     15

1.นักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก          16

2.ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ                                  25

3. นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม                        35

4.คำพยากรณ์ของโหราจารย์                      59

ส่วนที่สอง ประสบการณ์ในการสอบเป็นปลัดอำเภอ          และความเจริญก้าวหน้าในอาชีพปลัดอำเภอ                                 78

5.อาชีพนักปกครองเริ่มต้นด้วยตำแหน่งปลัดอำเภอ    79

6.ประสบการณ์และความประทับใจ                                                                                          ในการสอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอ           89

7.การเปรียบเทียบความยากง่ายของเส้นทาง                                                                   สู่อาชีพนักปกครอง ยุคเก่าและยุคปัจจุบัน          97

8.ความเจริญก้าวหน้าของอาชีพปลัดอำเภอ                                                                  ไปได้ไกลแค่ไหน                                                112

9.ประสบการณ์และความประทับใจใน                                                                        การสอบเลื่อนระดับตำแหน่ง                     122

10. นายอำเภอ กว่าจะได้เป็นยากไหม 133

ส่วนที่สาม เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา                           156

11. งานปลัดอำเภอ น่าสนุกจัง                   157

12.เส้นทางสู่ดวงดาว                               180

เกี่ยวกับผู้เขียน                                       190                     

ปกหลัง                                                 192

4.บทนำ

          หนังสืออีบุ๊ค ปลัดอำเภอ อาชีพนี้ ดี แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนที่หนึ่ง แรงบันดาลใจเข้าสู่อาชีพนักปกครอง

        การตัดสินใจว่าจะประกอบอาชีพอะไรเป็นเรื่องสำคัญ เราควรจะเลือกอาชีพที่เราชอบและถูกกับอุปนิสัยของเราจริง ๆ เพราะหากตัดสินใจผิดพลาด ด้วยการเลือกประกอบอาชีพที่ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของเรา ความสำเร็จหรือความเจริญก้าวหน้าในอาชีพย่อมยากที่จะเกิดขึ้นได้ เป็นการเสียเวลาเปล่า ๆ  

ดังนั้น บทความในส่วนที่หนึ่งนี้ จึงต้องการเล่าถึงแรงบันดาลใจว่า เป็นเพราะเหตุใดจึงทำให้ผมตัดสินใจเลือกอาชีพนักปกครอง ประกอบด้วย 4 บทความ คือ

1.นักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก

2.ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ

3. นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม

4.คำพยากรณ์ของโหราจารย์

ส่วนที่สอง ประสบการณ์ในการสอบเป็นปลัดอำเภอ และความเจริญก้าวหน้าในอาชีพปลัดอำเภอ

          การได้ศึกษาเรื่องราวในการประกอบอาชีพที่เราสนใจจากผู้มีประสบการณ์มาก่อนเรา จะมีส่วนช่วยทำให้เรามีข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจได้ดีขึ้นว่า อาชีพที่เราสนใจนั้น เราจะก้าวเข้าไปสู่อาชีพนั้นได้อย่างไร และมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพได้มากน้อยเพียงใด เป็นระดับความเจริญก้าวหน้าที่เราพึงพอใจหรือไม่                                                                   

        ดังนั้น ส่วนที่สองนี้ ต้องการจะเล่าถึงประสบการณ์ในการสอบเป็นปลัดอำเภอ และความเจริญก้าวหน้าในอาชีพปลัดอำเภอว่า ไปได้ไกลแค่ไหน มีจำนวน 6 บทความ คือ

5.อาชีพนักปกครองเริ่มต้นด้วยตำแหน่งปลัดอำเภอ

6.ประสบการณ์และความประทับใจในการสอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอ

7.การเปรียบเทียบความยากง่ายของเส้นทางสู่อาชีพนักปกครอง ยุคเก่าและยุคปัจจุบัน

8.ความเจริญก้าวหน้าของอาชีพปลัดอำเภอไปได้ไกลแค่ไหน

9.ประสบการณ์และความประทับใจในการสอบเลื่อนระดับตำแหน่ง

10. นายอำเภอ กว่าจะได้เป็นยากไหม

ส่วนที่สาม เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

          การได้รับฟังเรื่องเล่าจากผู้มีประสบการณ์และอยู่ในแวดวงนักปกครองที่ยังรับราชการอยู่ในเรื่องเกี่ยวกับบรรยากาศในการทำงานและเส้นทางความเจริญก้าวหน้า ด้วยสไตล์สบาย ๆ ในรูปแบบบทสนทนา เพื่อให้เกิดความสนุก เพลิดเพลิน ในขณะเดียวกันก็ได้เนื้อหาสาระ จะทำให้น้อง ๆ ที่สนใจอยากจะสอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอ สามารถใช้จินตนาการสร้างภาพตามได้ง่าย   

           การสร้างจินตนาการตามเรื่องเล่า จะช่วยให้น้อง ๆ พิจารณาตัดสินใจได้ง่ายว่า อาชีพปลัดอำเภอหรืออาชีพนักปกครอง เป็นอาชีพที่น้อง ๆ ใฝ่ฝันที่จะเป็นจริงหรือไม่  ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างหนึ่งให้แก่ผู้อยากจะสอบเข้ารับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอ มีจำนวน 2 เรื่องด้วยกัน

11. งานปลัดอำเภอ น่าสนุกจัง

12.เส้นทางสู่ดวงดาว

เนื้อหาของหนังสือ ปลัดอำเภอ อาชีพนี้ ดี ทั้งสามส่วน เป็นเนื้อหาที่เสริมซึ่งกันและกัน เหมาะสำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะตัดสินใจเลือกประกอบอาชีพนักปกครองว่า เป็นอาชีพที่ตัวเราต้องการจริงหรือไม่

การจะทราบได้ว่า การเป็นปลัดอำเภอเป็นอาชีพที่เราต้องการจริงหรือไม่ น้อง ๆ ก็ควรจะทราบว่าในเบื้องต้นว่า การจะสามารถเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอ ต้องทำอย่างไร และเมื่อเข้าไปแล้ว จะมีความเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร และเพียงใด และที่สำคัญคือ บรรยากาศในการทำงานของอาชีพนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอเป็นอย่างไร สนุกหรือไม่ ตรงกับอุปนิสัยของที่แท้จริงของเราหรือไม่ เพียงใด

5.ส่วนที่หนึ่ง  แรงบันดาลใจเข้าสู่อาชีพนักปกครอง

        บทความในส่วนที่หนึ่งนี้ ต้องการเล่าถึงแรงบันดาลใจว่า เป็นเพราะเหตุใดจึงทำให้ผมตัดสินใจเลือกอาชีพนักปกครอง ประกอบด้วย 4 บทความ 

1.นักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก

        การเข้าสู่อาชีพนักปกครองของผม ก็ด้วยภูมิหลัง และแรงบันดาลใจ 4 ประการ คือ นักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม และคำพยากรณ์ของโหราจารย์ ในหัวข้อนี้ จะขอเล่าถึงภูมิหลัง และนักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก

1.ภูมิหลัง

          ตระกูลของผม  ในชั้นคุณปู่ คุณย่า ถอยหลังลงไปเป็นชาวนา  แต่พอรุ่นคุณพ่อของผม ได้เริ่มผันตัวเข้าสู่อาชีพรับราชการ โดยคุณพ่อของผมได้เริ่มต้นด้วยการเป็นเสมียนของกรมสรรพสามิต ต่อมาก็ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นไปตามระบบราชการ ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นสรรพสามิตอำเภอ และได้เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ช่วยสรรพสามิตจังหวัด

            ส่วนคุณแม่ของผม ในชั้นคุณตา เริ่มเข้าสู่อาชีพรับราชการเป็นครูประชาบาล และคุณแม่ของผมก็ได้เจริญรอยตามคุณตาด้วยการประกอบอาชีพเป็นครูประชาบาลจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ

            เมื่อเกิดมา ผมจึงได้ชื่อว่า อยู่ในครอบครัวของข้าราชการ ซึ่งเท่ากับเป็นฝังลงไปในจิตใต้สำนึกว่า เมื่อโตขึ้นผมคงจะต้องรับราชการเหมือนคุณพ่อคุณแม่ ส่วนจะเป็นอาชีพรับราชการสังกัดใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมต่างจังหวัดหรือสังคมชนบทในยุคสมัยนั้น ทำให้ผมมองความโดดเด่นของอาชีพรับราชการที่มีเหนือกว่าอาชีพอื่น ๆ ได้อย่างชัดเจน

2.แรงบันดาลใจ: นักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก

          ผมเชื่อว่า การที่คนเราอยากจะเป็นอะไรนั้น จะต้องเกิดจากแรงบันดาลใจ อย่างที่ทุกวันนี้เรียกว่า ต้องมีไอดอล (Idol) ผมก็เช่นเดียวกัน มีนักปกครองอย่างน้อย 3 คนที่ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจอยากจะก้าวเข้าสู่อาชีพนักปกครอง  คนแรก คือ ท่านกำนันคงศักดิ์ รักสกุลพิพัฒน์

          กำนันคงศักดิ์ รักสกุลพิพัฒน์ กำนันตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ คือนักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก  ท่านเป็นญาติทางคุณปู่ของผม มีศักดิ์เป็นลุงของคุณพ่อของผม และบ้านก็อยู่ติดกันกับบ้านคุณปู่ของผม     

            ผมขอเล่าแทรก ณ ตรงนี้ว่า กำนันผู้ใหญ่บ้านในยุคนั้น นับว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อสังคมชนบทมาก  อันเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ฯ ที่ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างความเป็นเอกภาพหรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้แก่สยามประเทศ เพื่อนำพาสยามประเทศให้สามารถรอดพ้นจากการล่าอาณานิคมอย่างหิวกระหายของประเทศมหาอำนาจตะวันตกในยุคนั้น  และระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองในส่วนภูมิภาค

            ระบบกำนันผู้ใหญ่บ้าน ทำให้อำนาจรัฐสามารถเชื่อมโยงไปถึงประชาชนในชนบททุกตำบลหมู่บ้าน  และเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย   หากไม่มีระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นรากฐาน การปกครองบ้านเมืองก็คงยากที่จะสงบสุขได้ เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้าน คือ บุคคลที่ทำหน้าที่สองอย่างในเวลาเดียวกัน เป็นทั้งตัวแทนราษฎรและตัวแทนของทางราชการ                                          

กำนันในยุคนั้นสามารถดำรงตำแหน่งไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะตายหรือลาออก หรือทำความผิดแล้วถูกปลดออก เหตุที่ให้ดำรงตำแหน่งไปเรื่อย ๆ ก็เพราะทางราชการเห็นว่า กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน คือ ผู้นำของชาวบ้านพร้อมกับการเป็นตัวแทนของทางราชการ การให้อยู่ในตำแหน่งไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการปลดเกษียณอายุ น่าจะเกิดผลดีมากกว่า เพราะรู้จักคุ้นเคยกับลูกบ้านเป็นอย่างดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาในยุคของรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ได้แก้กฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน เกษียณอายุราชการ 60 ปี เหมือนข้าราชการ เนื่องจากเห็นว่าหลายคนมีอายุมาก มีปัญหาเรื่องสุขภาพและขาดความกระฉับกระเฉงในการปฏิบัติหน้าที่

ความประทับในตัวกำนันคงศักดิ์ รักสกุลพิพัฒน์

กำนันผู้ใหญ่บ้านในยุคนั้น เวลาแต่งเครื่องแบบมักจะพกปืนไปด้วย เพราะต้องทำหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในปราบปรามโจรผู้ร้ายร่วมกับนายอำเภอและปลัดอำเภอ

  เมื่อประมาณปี พ.ศ.2501 คุณพ่อของผมได้รับคำสั่งให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นสรรพสามิตอำเภอและย้ายไปดำรงตำแหน่งสรรพสามิตอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ

ท่านได้สละเวลาเดินทางมาส่งคุณพ่อผม และครอบครัวที่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ ในโอกาสต้องเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ โดยแต่งเครื่องแบบกำนัน เมื่อได้เวลาตามฤกษ์ออกเดินทางราว ๆ 08.09 น. ท่านได้กรุณาให้เกียรติคุณพ่อและพวกเรา ด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้า 3 นัด เป็นอำนวยอวยพรตามกระแสนิยมในยุคสมัยนั้น หลังจากนั้น พวกเราก็ออกเดินทางไปยังอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองชัยภูมิประมาณ 40 กิโลเมตร

นี่คือภาพความประทับใจในตัวกำนันคงศักดิ์ รักสกุลพิพัฒน์ นักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก ที่เด็กน้อยวัย 7 ขวบอย่างผมยังจำได้อย่างฝังใจ

3.สรุป

          การที่ผมเกิดมาในครอบครัวที่คุณพ่อและคุณแม่ประกอบอาชีพรับราชการ อันเป็นอาชีพที่โดดเด่นที่สุดในสังคมชนบทเมื่อประมาณ 70 ปีที่ผ่านมา ย่อมเป็นพื้นฐานที่ทำให้ผมเกิดความชื่นชอบในอาชีพรับราชการได้ไม่ยาก และการที่ผมได้รู้จักนักปกครองคนแรก คือ ท่านกำนันคงศักดิ์ รักสกุลพิพัฒน์ ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งของคุณพ่อของผมที่ได้กรุณาสละเวลามาส่งคุณพ่อของผมและครอบครัวในการเดินทางไปรับตำแหน่งสรรพสามิตอำเภอ โดยได้ยิงปืนขึ้นฟ้า 3 นัด เป็นการอำนวยพรให้เดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ด้วยความปลอดภัย ก็ยิ่งทำให้ผมรู้สึกประทับใจในการเป็นนักปกครองว่า เป็นบุคคลสำคัญและมีบทบาทอันโดดเด่นในสังคมต่างจังหวัด

          ในตอนต่อไป ผมจะเล่าเรื่อง ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ ซึ่งเป็นนักปกครองคนที่สอง ในการสร้างแรงบันดาลใจหรือเป็นไอดอลให้ผม

          ขอบคุณครับ

          ดร.ชา

            วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2563

2.ผู้ว่า ฯในดวงใจ

อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) ผลงานของนายช่วย นันทะนาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิคนที่ 34 (วิกิพีเดีย, พระยาภักดีชุมพล (แล), 13 กันยายน 2564)
อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) ผลงานของนายช่วย นันทะนาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิคนที่ 34 (วิกิพีเดีย, พระยาภักดีชุมพล (แล), 13 กันยายน 2564)

        การเข้าสู่อาชีพนักปกครองของผม ก็ด้วยภูมิหลัง และแรงบันดาลใจ 4 ประการ คือ นักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม และคำพยากรณ์ของโหราจารย์ ในหัวข้อที่ 2 นี้ จะขอเล่าถึงผู้ว่า ฯ ในดวงใจ

1.ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ

          นักปกครองคนที่ 2 ที่อยู่ในดวงใจของผมตลอดมา คือ นายช่วย นันทะนาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ คนที่ 34  ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2504-2511 รวมระยะเวลายาวนานถึง 7 ปี  ซึ่งนับได้ว่าเป็นการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดเดียวกันที่ยาวนานมาก การที่ท่านสามารถดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิเป็นเวลายาวนานถึง 7 ปี ย่อมแสดงให้เห็นว่า ท่านย่อมเป็นที่รักใคร่ของข้าราชการ พ่อค้า คหบดี และประชาชนอย่างแน่นอน  และต้องมีผลงานดีเด่นหลายอย่าง

          บางท่านอาจจะสงสัยว่า ท่านผู้ว่า ฯ ช่วย  นันทะนาคร เป็นอะไรกับ คุณชรินทร์  นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ และเป็นนักร้องคนโปรดคนหนึ่งของผม  ผมขอตอบว่า ไม่ได้เป็นอะไรกัน แม้นามสกุลอาจจะออกเสียงอ่านเหมือนกัน แต่การสะกดการันต์คนละอย่าง  ส่วนคุณชรินทร์ นันทนาคร นามสกุลเดิมคือ งามเมือง ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลใหม่ เป็นนันทนาคร

2.การสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล

            ช่วงที่ท่านผู้ว่า ฯ ช่วย นันทะนาคร ได้ดำรงตำแหน่ง   ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ผมอายุประมาณ 10-17 ปี ผลงานโดดเด่นของท่านซึ่งอยู่ในใจของชาวชัยภูมิมาจนทุกวันนี้ คือ การสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล

          เจ้าพ่อพญาแล หรือพระยาภักดีชุมพล เป็นเจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดชัยภูมิ ดำรงตำแหน่งระหว่างปีพ.ศ.2360-2369 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ท่านเป็นผู้สร้างเมืองชัยภูมิขึ้นมา เดิมท่านเป็นคนคนเวียงจันทน์ ได้พามิตรสหายอพยพมาอยู่ที่พื้นที่จังหวัดชัยภูมิในปัจจุบัน

            เจ้าอนุวงศ์แห่งกรุงเวียงจันทน์ได้ตั้งตนเป็นกบฏ และได้เดินทัพผ่านมาทางจังหวัดชัยภูมิ บังคับให้ท่านร่วมมือเป็นกบฏ ด้วย ท่านไม่ยอม เพราะถือว่าได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมการของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ แล้ว จึงถูกเจ้าอนุวงศ์ จับประหารชีวิตที่บ้านหนองปลาเฒ่า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ

การที่เจ้าพ่อพญาแลได้สละชีวิตเพื่อแผ่นดินไทย จึงทำให้เจ้าพ่อพญาแลเป็นที่เคารพบูชาของชาวชัยภูมิเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ท่านผู้ว่า ฯ ช่วย นันทะนาคร จึงต้องการเชิดชูเกียรติเจ้าเมืองคนแรกในฐานะเป็นผู้สร้างเมืองชัยภูมิขึ้นมาให้โดดเด่นขึ้นมามากกว่าเดิม จึงได้หารือกับหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า คหบดี และผู้นำท้องถิ่น ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวชัยภูมิ และได้มีความเห็นสอดคล้องกันว่า สมควรจะสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแลไว้ตรงสี่แยกกลางวงเวียนศูนย์ราชการจังหวัดชัยภูมิ หลังจากนั้นก็ได้ร่วมกันรณรงค์หาเงินสมทบทุนสร้าง ซึ่งรายได้หลักก็ได้มาจากการสร้างเหรียญเจ้าพ่อพญาแลนั่นเอง

            กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบและสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล  โดยมีอาจารย์พิมาน มูลประมุข ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ออกแบบ การก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ.2509 และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2510

          หลังจากนั้น จังหวัดชัยภูมิก็ได้จัดให้มีงานประจำปี ชื่อว่า งานฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแลและงานกาชาดประจำปี ระหว่างวันที่ 12-20 มกราคม เป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา

3.การจัดงานการแสดงของช้างจังหวัดชัยภูมิ

          เดิมจังหวัดชัยภูมิเคยมีการจัดงานการแสดงของช้างเช่นเดียวกับจังหวัดสุรินทร์  ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยท่านผู้ว่า ฯ ช่วย นันทะนาคร  เมื่อได้เห็นข่าวแล้ว ผมรู้สึกตื่นเต้นและยินดีมากที่บ้านเกิดของผม สามารถจัดงานการแสดงของช้างได้

            ทุกวันนี้ ท่านอาจไม่ได้ยินข่าวการจัดงานการแสดงของช้างของจังหวัดชัยภูมิ แต่มิได้หมายความว่า การจัดงานดังกล่าว ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ความจริงยังมีอยู่ โดยได้จัดรวมกับงานฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแลและงานกาชาดประจำปี นั่นแหละ เรียกชื่อ งานช้างคืนถิ่น  การที่ไม่มีข่าวการจัดงานการแสดงของช้างของจังหวัดชัยภูมิอย่างเอิกเกริกเหมือนอย่างการจัดงานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ ผมเข้าใจว่า ทางองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยงหรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ต้องการให้จังหวัดชัยภูมิและจังหวัดสุรินทร์จัดงานการแสดงของช้างแข่งกันเอง โดยขอให้หวัดชัยภูมิหลีกทางให้จังหวัดสุรินทร์เป็นเจ้าหลัก เพื่อให้สามารถจัดงานให้ได้โดดเด่น เพราะองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวในอดีตหรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ต้องใช้งบประมาณส่วนหนึ่งช่วยในการประชาสัมพันธ์ในการจัดงานให้เป็นงานใหญ่ระดับโลก

            เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองชัยภูมิ ระหว่างปีพ.ศ.2546-2548 ผมได้รับคำสั่งจังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นประธานกรรมการจัดงานช้างคืนถิ่น  ทั้งนี้เพราะบ้านค่ายหมื่นแผ้ว ตำบลบ้านค่าย อำเภอเมืองชัยภูมิเป็นถิ่นที่อยู่ของเจ้าของช้างหลายเชือกที่ได้ออกไปทำมาหากินในจังหวัดต่าง ๆ พอถึงเวลางานช้างคืนถิ่นพวกเขาก็ได้โอกาสกลับมาเยี่ยมภูมิลำเนาปีละครั้ง เพื่อนำช้างถวายคาราวะแด่เจ้าพ่อพญาแล ณ อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล ที่ท่านผู้ว่า ฯ ช่วย นันทะนาคร เป็นผู้นำริเริ่มสร้างไว้

            หน้าที่ของผมก็เพียงแต่ออกไปดูแลความเรียบร้อยที่บ้านค่ายหมื่นแผ้ว  ส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในยุคนั้น เป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิรับผิดชอบ

4.สรุป

          การที่ผู้ว่า ฯ ช่วย นันทะนาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ คนที่ 34  ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งยาวนานเป็นระยะเวลา 7 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2504-2511 มีผลงานโดดเด่น เป็นที่ประทับใจของชาวจังหวัดชัยภูมิ อย่างน้อย 3-4 ประการ คือ เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัตถุมงคลเจ้าพ่อพญาแล เพื่อนำรายได้ไปสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก ไว้ตรงบริเวณสี่แยกศูนย์ราชการจังหวัด ถนนชัยภูมิ-นครราชสีมา ต่อจากนั้นได้มีการจัดงานฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล และงานกาชาดจังหวัดประจำปี ซึ่งเป็นงานที่ได้จัดสืบต่อเนื่องมาจากปีพ.ศ.2510 จนกระทั่งทุกวันนี้

            ด้วยผลงานโดดเด่นดังกล่าวของท่านผู้ว่า ฯ ช่วย  นันทะนาคร ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งในขณะที่ผมมีอายุระหว่าง 10-17 ปี ทำให้ท่านเป็นผู้ว่า ฯ ในดวงใจของชาวชัยภูมิรวมทั้งผมตราบเท่าทุกวันนี้

                                    

3.นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม

        การเข้าสู่อาชีพนักปกครองของผม ก็ด้วยภูมิหลัง และแรงบันดาลใจ 4 ประการ คือ นักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม และคำพยากรณ์ของโหราจารย์ ในหัวข้อที่ 3 นี้ จะขอเล่าถึงเรื่องราวของนายอำเภอผู้น่าเกรงขาม

            เรื่องราวของนายอำเภอผู้น่าเกรงขาม ประกอบด้วย  การย้ายครอบครัวตามบิดามารดา การศึกษาอบรมที่อำเภอจัตุรัส นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม นายอำเภอกับอำนาจในการสอบสวนคดีอาญา อาคารที่ว่าการอำเภอกับความน่าเกรงขามของนายอำเภอ นายอำเภอกับการแสดงบทบาทภาวะผู้นำในด้านต่าง ๆ   สรุปและข้อคิดเห็น

1.การย้ายติดตามบิดามารดา

            ผมได้เล่าให้ท่านฟังแล้วว่า คุณพ่อผมรับราชการกรมสรรพสามิต ไต่เต้าจากเสมียน พอสอบเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งได้เป็นสรรพสามิตอำเภอ กรมสรรพสามิตได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นสรรพสามิตอำเภอตรี อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ เมื่อปี พ.ศ.2501

          อำเภอจัตุรัส เป็นอำเภอเก่าแก่อำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ เป็นอำเภอที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่ 3 ของจังหวัด รองลงมาจากอำเภอเมืองชัยภูมิ และอำเภอภูเขียว อยู่ห่างตัวจังหวัดราว 38 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดกับอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของอำเภอในโซนทิศใต้ของจังหวัดชัยภูมิ  เมื่อปี พ.ศ.2501 ถนนสายชัยภูมิ-จัตุรัส-ด่านขุนทด-สีคิ้ว ยังมีสภาพเป็นถนนลูกรัง และกว่าจะได้รับการยกระดับให้เป็นลาดยาง ต้องใช้เวลาอีกหลายปีหลังจากนั้น  แต่ทุกวันนี้ เส้นทางสายนี้ได้รับการยกระดับจากกรมทางหลวง ให้เป็นถนนสี่เลนเรียบร้อยแล้ว

          ขอเล่าแทรกตรงนี้ว่า สรรพสามิตอำเภอในยุคนั้น เป็นส่วนราชการประจำอำเภอเช่นเดียวกับสรรพากรอำเภอ และเป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนกระทั่งได้มีการปฏิรูประบบราชการช่วงปี พ.ศ.2545-2547 ยุครัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จึงได้มีการออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการใหม่  โดยให้สรรพสามิตจังหวัด และสรรพากรจังหวัดเป็นสรรพสามิตพื้นที่ และสรรพากรพื้นที่ ตามลำดับ ส่วนสรรพสามิตอำเภอ และสรรพากรอำเภอ ก็ให้เป็นสรรสามิตพื้นที่สาขา และสรรพากรพื้นที่สาขา ตามลำดับ ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง  คือ กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากร  ไม่ได้ขึ้นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภออีกต่อไป

            ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ตัวผมและน้อง ๆ ทุกคน จึงต้องย้ายครอบครัวไปอยู่อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ 

            งานหลักของสรรพาสามิตอำเภอในยุคนั้น  คือ การออกตรวจจับกุมชาวบ้านตามตำบลหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ลักลอบต้มเหล้าเถื่อน หรืออย่างที่เรียกว่า สาโท โดยต้องทำงานร่วมกับตำรวจอย่างใกล้ชิด เพราะตำรวจมีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญา  ด้วยเหตุนี้ จึงมีนายตำรวจหนุ่ม ๆ มาพบคุณพ่อของผมที่บ้านพักบ่อยครั้งเพื่อประสานกัน ที่ผมจำได้ดี คือ ผู้หมวดสมภพ ฯ

            ผู้หมวดสมภพ ฯ เป็นผู้หนุ่มรูปหล่อ รูปร่างสูงสง่างาม จบจากโรงเรียนนายร้อยสามพราน เป็นคนกรุงเทพ ฯ พูดจาสุภาพและไพเราะมาก และในเวลาต่อมา ผู้หมวดก็ได้เจริญก้าวหน้าในอาชีพตำรวจของท่านตามลำดับ

2.การศึกษาอบรมที่อำเภอจัตุรัส

            ก่อนจะย้ายตามบิดามารดาจากอำเภอเมืองชัยภูมิไปอยู่อำเภอจัตุรัส ผมเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนวัดบริบูรณ์ หรือโรงเรียนบ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ แล้ว  แต่คุณแม่เห็นว่า ผมอายุยังน้อย เพราะเรียนก่อนเกณฑ์สองปี  คุณแม่จึงให้ผมเรียน ป.2 ซ้ำชั้นอีกปีหนึ่ง   ในขณะที่มีอายุได้ 7 ขวบ  โดยผมได้เข้าเรียนที่โรงเรียนจัตุรัสวิทยานุกูล จากชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-4  หลังจากนั้น ผมได้เข้าเรียนต่อชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ชั้นประถมที่ 5-7 ที่โรงเรียนจัตุรัส หรือ ช.ย.7 ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายประจำอำเภอในยุคนั้น

         ผมได้เข้าเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาตอนต้นและตอนปลายที่โรงเรียนทั้งสองแห่งดังกล่าว เป็นเวลา 6 ปี นับจากปีพ.ศ.2501-2507 หลังจากนั้น คุณพ่อแม่ของผมได้ส่งผมเข้าไปเรียนต่อที่กรุงเทพ ฯ เรื่องราวเกี่ยวกับนายอำเภอผู้น่าเกรงขามที่จะเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง จึงเป็นเรื่องราวในช่วงเวลา 6 ปีดังกล่าว

            ขอเล่าแทรกตรงนี้สักเล็กน้อยว่าในยุคนั้น รัฐบาลต้องการขยายการศึกษาภาคบังคับจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไปถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 โดยเริ่มจากการให้อำเภอหนึ่งมีโรงเรียนชั้นประถมศึกษาประจำอำเภอหนึ่งแห่ง และต่อมาก็ได้ยกระดับโรงเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายประจำอำเภอขึ้นเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอ

            แต่กรณีโรงเรียนจัตุรัส (ช.ย.7) ได้ย้ายออกไปสร้างเป็นโรงเรียนแห่งใหม่อยู่ห่างจากสถานที่ตั้งโรงเรียนเดิมออกไปราว 10 กิโลเมตร เพื่อให้ได้พื้นที่ของโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม นัยว่าจะให้เป็นโรงเรียนหลักสูตรผสม พร้อมตั้งชื่อใหม่ว่า โรงเรียนจัตุรัสวิทยาคาร ทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่า โรงเรียนจัตุรัส ที่ผมเคยเป็นศิษย์เก่า ไม่มีอีกแล้ว แม้ในช่วงเวลาของการดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองชัยภูมิระหว่างปี พ.ศ.2546-2548 ผมเคยคิดอยากจะเข้าไปเยี่ยมโรงเรียนเก่า แต่ผมก็ไม่กล้าเข้าไป เพราะไม่แน่ใจว่า ผมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนดังกล่าวหรือไม่ นั่นเอง

3.แรงบันดาลใจ: นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม

          การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะเป็นที่น่าเกรงขามหรือไม่ เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับบุคลิกลักษณะ การมีอำนาจในการให้คุณให้โทษแก่บุคคลอื่น และที่สำคัญคือ การมีคุณธรรมประจำใจ ไม่ลุแก่อำนาจ เพราะหากมีอำนาจแต่ลุแก่อำนาจ แทนที่จะเป็นคนที่น่าเกรงขาม ก็จะกลายเป็นบุคคลที่ผู้คนเขาเกลียดกลัว และสาปแช่ง

          ทำไมผมจึงกล่าวว่า นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม เป็นแรงบันดาลใจในการก้าวเข้าสู่อาชีพพนักปกครอง หากอยากทราบ ผมจะเล่าให้ท่านฟังดังนี้

          การที่ผมมีคุณพ่อเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ และมีคุณแม่เป็นครูประชาบาล ทำให้ผมได้อยู่ในวงสังคมชั้นสูงของอำเภอจัตุรัสได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยนั้น หรือเมื่อประมาณ 60 ปีเศษที่ผ่านมา สังคมชนบทยังมีความเจริญน้อยมาก คนที่จะมีความโดดเด่นในสังคมชนบทยุคนั้นก็คือ ข้าราชการ เพราะพ่อค้าที่ร่ำรวยก็ยังไม่ค่อยมีมากนัก  นักการเมืองท้องถิ่นมีแค่กรรมการสุขาภิบาลโดยการเลือกตั้ง สุขาภิบาลละ 4 คน เทศบาลมีแค่เทศบาลเมืองในตัวจังหวัด นักการเมืองระดับชาติบางช่วงก็มี บางช่วงก็ไม่มี แต่ถึงมี ความโดดเด่นก็ยังไม่มาก

          ส่วนพวกพ่อค้าที่รำรวยในยุคนั้นเท่าที่เห็นคือ พวกโรงเลื่อยที่ได้รับสัมปทานตัดไม้ในป่า ตัดจนป่าหมด และต้องยุบโรงเรียนป่าไม้แพร่ จนกระทั่งปี พ.ศ.2523 พลเอกเปรม   ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี จึงต้องใช้อำนาจสั่งปิดป่า เพื่อฟื้นฟูและรักษาสมดุลธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด มิฉะนั้นแล้ว ป่าเมืองไทยจะหมดไปมากกว่านี้  รองลงมา คือ ร้านตัวแทนจำหน่ายสุรารัฐบาล

            ดังนั้น ศูนย์กลางอำนาจจึงอยู่ที่ระบบราชการอย่างชัดเจน

            นายอำเภอจัตุรัสในช่วงที่ผมได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ณ โรงเรียนจัตุรัสวิทยานุกูล คือ นายอำเภอจัตุรัสคนที่ 24 นายประจงฤทธิ์ นาคะปักษิณ  ท่านดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.2499-2503 ส่วนนายอำเภอจัตุรัสก่อนหน้านี้ คือ ท่านนายอำเภอคล้าย จิตพิทักษ์ ซึ่งในเวลาต่อมาท่านได้เจริญก้าวหน้าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช คนที่ 24 และถูกกลุ่มพวกหัวรุนแรงนำโดย นายสุรชัย แซ่ด่าน เผาจวนในยุค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งได้เป็นข่าวใหญ่พาดหัวหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น

          ว่าตามความเป็นจริง ท่านนายอำเภอ ประจงฤทธิ์ นาคะปักษิณ ท่านคือนายอำเภอคนแรกที่ผมรู้จัก ท่านเป็นคนรูปร่างสันทัด ผิวดำแดง สีหน้าเรียบเฉย ทำให้ดูน่าเกรงขาม

            บ้านพักนายอำเภอจัตุรัส อยู่ในบริเวณเดียวกันกับ            ที่ว่าการอำเภอ และอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนจัตุรัสวิยานุกูล โรงเรียนของผมในยุคนั้น ทำให้ผมมีโอกาสเดินสวนกับท่านหลายครั้ง ในเวลาที่ผมเดินไปเที่ยว ณ ที่ว่าการอำเภอ  ทุกครั้งผมได้โค้งทำความเคารพท่านเสมอด้วยความรู้สึกเคารพยำเกรง นอกจากนี้ ผมมักจะมองดูบ้านพักนายอำเภอแทบทุกครั้งที่ผมได้เดินผ่าน

            ในเวลานั้น ผมอาจจะอธิบายไม่ได้ว่า ทำไมผมหรือผู้คนในสังคมไทยในชนบทจึงให้ความเคารพยำเกรงนายอำเภอกันยิ่งนัก  แต่เวลานี้ผมเข้าใจแล้ว โดยผมจะเล่าเหตุผลให้ท่านผู้อ่านฟังว่าเป็นเพราะเหตุใด

4.นายอำเภอกับอำนาจสอบสวนคดีอาญา

          ท่านผู้อ่านคงทราบดีว่า ในบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐในปัจจุบัน ตำรวจนับเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สามารถทำให้ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวได้มากที่สุด เพราะมีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งเป็นอำนาจเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม หากใครเป็นตกผู้ต้องหา ตำรวจย่อมสามารถจับกุมเข้าห้องขังได้ จนกว่าจะได้รับการประกันตัวออกไป   

            แม้ตำรวจส่วนใหญ่จะใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม  แต่ก็มีตำรวจบางคนใช้อำนาจในการกดขี่ข่มเหงประชาชน ดังที่ปรากฏข่าวทางสื่อสารมวลชนอยู่ตลอด ทำให้ประชาชนที่ถูกกดขี่ข่มเหงได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะการที่ชีวิตคนต้องพบชะตากรรมมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลไม่ใช่เรื่องสนุกเลย กว่าคดีจะจบเรื่องมักจะยืดเยื้อยาวนานไปหลายปี ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปตำรวจจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ส่วนผลจะออกมามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เป็นที่พอใจของสังคมหรือไม่ พวกเราคงต้องคอยติดตามดู

            เพื่อให้ท่านผู้อ่านทราบว่า อำนาจในการจับกุมดำเนินคดีอาญามีความสำคัญมากเพียงใดผมจึงขอเล่าเรื่องแทรกตรงนี้ว่าในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ( ปีพ.ศ.2502-2506) ท่านกุมอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จไว้ในมือถึง 4 ตำแหน่งพร้อมกัน คือ เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และอธิบดีกรมตำรวจ  การที่ท่านต้องเป็นอธิบดี                กรมตำรวจควบไปด้วย เพราะท่านได้ถามคนใกล้ชิดว่า การที่ดำรงตำแหน่งใหญ่โตขนาดนี้ ตำรวจยังจับกุมดำเนินคดีท่านได้ไหม ผู้ใกล้ชิดตอบว่า ยังจับกุมดำเนินคดีได้ ท่านเลยตัดสินใจควบตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจด้วย

            อย่างไรก็ดี แต่เดิมนั้นอำนาจสอบสวนคดีอาญาอยู่ที่อำเภอ แต่ตอนหลังก็ได้มีวิวัฒนาการโดยมีการโอนอำนาจสอบสวนระหว่างอำเภอกับตำรวจ บางครั้งก็ให้อำเภอกับตำรวจร่วมกันสอบสวน โดยให้นายอำเภอเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน บางครั้งก็ให้ตำรวจสอบสวนฝ่ายเดียว แต่ถ้ามีคนร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมหรือกรณีเห็นสมควร นายอำเภอก็สามารถเข้าควบคุมการสอบสวนได้ ส่วนจะเป็นรูปแบบใด ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุค  โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ใช้อำนาจออกข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยกำหนดแนวทางปฏิบัติ  เพราะเมื่อก่อนกรมตำรวจเป็นกรมหนึ่งที่อยู่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเหมือนอย่างในปัจจุบัน

            แต่ในบทความนี้ ผมจะเล่าถึงอำนาจสอบสวนดีอาญาในช่วงปี พ.ศ.2501-2506 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมได้สัมผัสกับบทบาทของนายอำเภอในวัยเด็กของผม โดยขอแบ่งเป็น 2 ช่วง

          ช่วงแรก อำนาจในการสอบสวนคดีอาญาในช่วงปี พ.ศ.2489-2502 อำนาจในการสอบสวน เป็นอำนาจของอำเภอฝ่ายเดียว โดยมีนายอำเภอเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน แต่จะสั่งให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจทำการสอบสวนหรือร่วมกันทำการสอบสวนก็ได้  และช่วงที่สอง  ช่วง เดือนตุลาคม 2502-2506 กำหนดให้ตำรวจเป็นพนักงานสอบสวน  แต่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน (กรมการปกครอง, การสอบสวนความผิดอาญาบางประเภท โดยพนักงานสอบสวนฝายปกครอง เล่ม ๑,หน้า ๒-๓)

          ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่า ในช่วงปีพ.ศ.2501-2506 อำเภอยังมีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญา โดยในช่วงปี พ.ศ.2499-2502 ท่านนายอำเภอจัตุรัสในขณะนั้น คือ ท่านนายอำเภอประจงฤทธิ์ นาคะปักษิณ ท่านมีอำนาจเต็มในการสอบสวนคดีอาญา เพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยให้อำเภอมีอำนาจสอบสวนฝ่ายเดียว แต่หลังจากนั้น แม้กระทรวงมหาดไทยจะได้มอบหมายให้ตำรวจมีอำนาจสอบสวนฝ่ายเดียว แต่นายอำเภอก็ยังเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน

            เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านผู้อ่านคงพอจะเข้าใจว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำไมบุคลิกภาพของนายอำเภอจึงดูน่าเกรงขาม หรือดูเป็นคนที่มีอำนาจบารมี

5.อาคารที่ว่าการอำเภอยุคเก่ากับความน่าเกรงขามของนายอำเภอ

อาคารที่ว่าการอำเภอรุ่นเก่า มีห้องขังสำหรับข้งผู้ต้องหา ในทำนองเดียวกับห้องขังของสถานีตำรวจในยุคปัจจับัน  เพราะเมื่อก่อนอำนาจการสอบสวยอยู่ที่อำเภอ ไม่ใช่ตำรวจ
อาคารที่ว่าการอำเภอรุ่นเก่า มีห้องขังสำหรับข้งผู้ต้องหา ในทำนองเดียวกับห้องขังของสถานีตำรวจในยุคปัจจับัน เพราะเมื่อก่อนอำนาจการสอบสวยอยู่ ที่อำเภอ ไม่ใช่ตำรวจ

          ท่านเชื่อไหมว่า อาคารที่ว่าการอำเภอ สามารถสร้างภาพลักษณ์ให้แก่นายอำเภอได้

          ในช่วงปี พ.ศ.2501-2507 ซึ่งเป็นช่วงที่ผมได้ใช้ชีวิตในวัยเด็ก และเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-7 นั้น ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงยังไม่เคยเห็นสภาพที่ว่าการอำเภอยุคนั้นว่า รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

            ที่ว่าการอำเภอยุคนั้น เป็นอาคารไม้ทั้งหลังและมีอยู่ชั้นเดียว แต่ยกพื้นสูง พร้อมที่จะปรับพื้นชั้นล่างเป็นห้องทำงานได้ ต้นเสาเป็นเสาไม้ขนาดใหญ่ แผ่นพื้นกระดานและฝาก็เป็นแผ่นไม้ขนาดใหญ่ สีเป็นสีดำหรือเทา  และมีอยู่ห้องหนึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่มีลูกกรง สำหรับขังผู้ต้องหา ในทำนองเดียวกันกับห้องขังผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจ

            อำเภอใดเป็นอำเภอเก่าแก่ ตั้งมายาวนาน อย่างเช่นอำเภอจัตุรัส ตัวอาคารที่ว่าการอำเภอ ก็จะมีรูปแบบและลักษณะเดียวกัน จนกว่าจะได้งบประมาณมาสร้างใหม่ แต่ที่ว่าการอำเภอที่ได้สร้างรุ่นหลังจากนี้ ก็เป็นอาคารไม้ สองชั้น ส่วนใหญ่จะทาสีเขียวอ่อน แต่ไม่มีห้องขัง เพราะเป็นการสร้างในช่วงเวลาที่กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้ตำรวจมีอำนาจสอบสวนแต่ฝ่ายเดียว

            การที่อาคารที่ว่าการอำเภอรุ่นเก่าอย่างเช่นอำเภอจัตุรัสที่ผมได้เห็นเมื่อช่วงปี พ.ศ.2501-2507 มีห้องขังสำหรับไว้ขังผู้ต้องหา จึงเป็นเสริมบุคลิกภาพนายอำเภอยุคนั้นให้ดูน่าเกรงขามยิ่งนัก

            ท่านเชื่อไหมว่า เมื่อปีพ.ศ.2522-2523 ผมได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโส อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ อาคารที่ว่าการอำเภอภูเขียวก็ยังเป็นอาคารไม้รุ่นโบราณในทำนองเดียวกันกับอาคารที่ว่าการอำเภอจัตุรัส ซึ่งผมได้พบเห็นเมื่อปี พ.ศ.2501 จนกระทั่งวันหนึ่ง  นายดำรง วชิโรดม                ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในขณะนั้น  ได้เดินทางไปตรวจราชการที่อำเภอ ท่านเห็นแล้วคงรู้สึกประหลาดใจและตกใจที่เห็นอาคารที่ว่าการอำเภอภูเขียว ซึ่งเป็นอำเภอชั้นหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ มีสภาพเก่าแก่ มีอายุร่วม 50 ปี ท่านจึงเขียนสั่งในบันทึกตรวจราชการของอำเภอว่า ให้ทำเรื่องของบประมาณก่อสร้างที่ว่าการอำเภอหลังใหม่จากกรมการปกครองด่วน

6.บทบาทของนายอำเภอในการแสดงภาวะผู้นำในด้านต่าง ๆ

          นอกจากบุคลิกอันน่าเกรงขามของท่านนายอำเภอ ประจงฤทธิ์ นาคะปักษิณ นายอำเภอจัตุรัส ในขณะนั้นแล้ว ผมยังเห็นบทบาทของนายอำเภอในการแสดงภาวะผู้นำในด้านต่าง ๆ เช่น บทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลจัตุรัสโดยตำแหน่ง ซึ่งเป็นบทบาทในการพัฒนาความเจริญให้แก่ชุมชนเมืองหรือชุมชนตัวตลาด อันเป็นบทบาทที่เกี่ยวข้องชาวตลาดโดยตรง

            แต่ในวัยเด็กของผม บทบาทในการเป็นประธานในงานวันเด็กแห่งชาติของนายอำเภอ น่าจะเป็นบทบาทที่สร้างความประทับใจให้ผมได้มากที่สุด เพราะในยุคนั้น การจัดงานวันเด็กในต่างจังหวัด กระทรวงศึกษาธิการให้ให้จัดรวมกัน ณ ที่ว่าการอำเภอ โดยโรงเรียนต่าง ๆ พานักเรียนมาชุมนุมกัน เมื่อได้เวลา นายอำเภอในฐานะประธานในพิธีจะเป็นผู้กล่าวให้โอวาท หลังจากนั้น ก็มีการแสดงการละเล่นของเด็กจากโรงเรียนต่าง ๆ 

            มีอยู่ปีหนึ่ง คือ ปีพ.ศ.2505 ศาลโลกได้ตัดสินให้เขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา รัฐบาลในยุคนั้นได้เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความรู้สึกไม่พอใจในคำตัดสินของศาลโลกดังกล่าว โดยให้เด็กที่มาร่วมงานวันเด็กในปีนั้น ร่วมกันบริจาคเงินคนละ 1 บาท เพื่อรวบรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้เอาเขาพระวิหารกลับคืน แต่กรณีของผม เข้าใจว่า คุณแม่คงจัดการให้ผมแล้ว

          อนึ่ง หลังจากท่านนายอำเภอประจงฤทธิ์ นาคะปักษิณ ได้ย้ายไปแล้ว ได้มีนายอำเภอจัตุรัสอีก 3-4 ท่านที่ได้มาดำรงตำแหน่งต่อในช่วงปีพ.ศ.2503-2507 คือ นายไชยศิริ ธีรัทธานนท์  ร.ต.ต.ประทวน สุทธูรณ์ และนายอุดม จันทร์เจริญ

7.สรุปและข้อคิดเห็น

          ผมได้เล่าเรื่อง นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม ซึ่งเป็นนายอำเภอคนแรกที่ผมรู้จักเมื่อปี พ.ศ.2501 ในวัยเจ็ดขวบ คือท่านนายอำเภอ ประจงฤทธิ์ นาคะปักษิณ นายอำเภอจัตุรัสคนที่ 24 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.2499-2503 ซึ่งในช่วงนั้น อำนาจการสอบสวนคดีอาญาอยู่ที่อำเภอฝ่ายเดียว แม้ต่อมาจะได้มีการแก้ไขข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ให้โอนอำนาจสอบสวนคดีอาญาเป็นของตำรวจ แต่ก็ยังให้นายอำเภอเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน หมายความว่า เมื่อตำรวจสอบสวนเสร็จแล้ว ก็ต้องเสนอสำนวนการสอบสวนให้นายอำเภอพิจารณาสั่งการและลงนาม เพื่อเสนอความเห็นไปยังพนักงานอัยการว่า สมควรจะสั่งฟ้องหรือไม่ อย่างไร

            ด้วยบุคลิกภาพของนายอำเภอประจงฤทธิ์    นาคะปักษิณ ซึ่งเป็นนายอำเภอคนแรกที่ผมรู้จักในวัยเจ็ดขวบ ดูแล้วน่าเกรงขาม ประกอบกับความประทับใจในบทบาทการเป็นผู้นำของนายอำเภอในโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในงานวันเด็กประจำปี  ทำให้ผมได้ซึมซับความอยากเป็นนักปกครองเข้าทีละน้อยอย่างไม่รู้ตัว

            ท่านผู้อ่าน เคยพบใครในวัยเด็กแล้วเกิดความประทับใจ อยากจะเอาแบบอย่างหรือถือเป็นไอดอลของท่าน อย่างผมไหม

          พบกันใหม่ในบทความต่อไป ซึ่งเป็นบทความสุดท้ายของบทความชุด ภูมิหลังและแรงบันดาลใจในการเข้าสู่อาชีพนักปกครอง  “คำทำนายของโหราจารย์”

          ขอบคุณนะครับ

          7/06/20

4.คำพยากรณ์ของโหราจารย์

การเข้าสู่อาชีพนักปกครองของผม ก็ด้วยภูมิหลัง และแรงบันดาลใจ 4 ประการ คือ นักปกครองคนแรกที่ผมรู้จัก ผู้ว่า ฯ ในดวงใจ นายอำเภอผู้น่าเกรงขาม และคำพยากรณ์ของโหราจารย์ ในหัวข้อที่ 4  นี้ จะขอเล่าถึงคำพยากรณ์ของโหราจารย์

ในการเล่าเรื่องราวคำพยากรณ์ของโหราจารย์นี้ จะกล่าวถึง โหราศาสตร์กับสังคมไทย คำพยากรณ์ของโหราจารย์ คำพยากรณ์ของโหราจารย์กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย  ผลของคำพยากรณ์  สรุปและข้อคิดเห็น

การหารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้

          หากท่านใดสนใจจะหารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ หนังสือ ปลัดอำเภอ อาชีพนี้ดี กรุณาคลิกเข้าไปดูในเว็บไซต์ของผู้จัดจำหน่ายทั้งสาม ข้างล่างนี้ ระบบจะนำท่านไปสู่ร้านจัดจำหน่ายหนังสือออนไลน์ทันที

            www.ookbee.com

          www.mebmarket.com

          www.se-ed.com

          ขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาให้ความสนใจ

            ดร.ชา 369

          13/09/21

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***) 2

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 4

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11) 5

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: