ลิขสิทธิ์ อันเกิดจาก ความคิดสร้างสรรค์ เป็นบทความลำดับที่ 5 ของหมวด เรื่องเล่า ความฝัน และความสำเร็จ จะกล่าวถึง ความนำ ความหมายของคำว่า ลิขสิทธิ์ ความแตกต่างระหว่างสิทธิผู้สร้างสรรคฺกับสิทธิบัตร สิทธิผู้สร้างสรรค์กับความคิดสร้างสรรค์ ความสำคัญของสิทธิผู้สร้างสรรค์ ประโยชน์ของสิทธิผู้สร้างสรรค์ ประเภทของงานที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โทษของการละเมิดสิทธิผู้สร้างสรรค์ นักประพันธ์ผู้กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก สรุป และคุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว (3) ความคิดสร้างสรรค์ เป็นพื้นฐานของคนที่จะประสบความสำเร็จ ผมได้เล่าให้ท่านทราบว่า ความคิดสร้างสรรค์ เป็นความคิดด้านบวก เป็นความคิดด้านข้าง ไม่มีขอบเขตจำกัด และเป็นความคิดที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ขึ้นมา
ทั้งนี้ ได้แบ่งความคิดสร้างสรรค์ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ตามมิติของการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย คือ ความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ ความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายสิทธิบัตร และความคิดสร้างสรรค์ทั่วไป
เนื่องจากเห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์ประเภทแรก คือ ความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นเรื่องที่คนทั่วไปมีโอกาสจะสร้างผลงานที่มีสิทธิผู้สร้างสรรคฺได้ ในบทความนี้จึงเป็นการนำเรื่องลิขสิทธิ์มาเล่าเพิ่มเติมในแง่มุมต่าง ๆ
กฎหมายว่าด้วยสิทธิผู้สร้างสรรค์ คือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 พ.ศ.2558)
2. ความหมายของคำว่า ลิขสิทธิ์ (สิทธิผู้สร้างสรรค์)
2.1 ความหมายตามพจนานุกรม
ลิขสิทธิ์ คือ สิทธิทางวรรณกรรม ศิลปกรรม และประดิษฐกรรม ซึ่งผู้เป็นต้นคิดได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย สิทธิแต่ผู้เดียวที่กฎหมายรับรองให้ผู้สร้างสรรค์กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ตนได้ทำขึ้น อันได้แก่ สิทธิที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำออกโฆษณาไม่ว่ารูปลักษณะใดหรือวิธีใด รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปทำเช่นว่านั้นด้วย
2.2 ความหมายของกระทรวงพาณิชย์ (กรมทรัพย์สินทางปัญญา)
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความหมาย ไว้ดังนี้
ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน
ตามนิยามคำว่า ลิขสิทธิ์ ดังกล่าว อาจนำมาแยกอธิบายเป็นข้อ ๆ ดังนี้
2.2.1 เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้กระทำการในงานที่ได้ริเริ่มสร้างสรรค์
2.2 .2 งานที่ริเริ่มสร้างสรรค์ ต้องเป็นงานที่ผู้นั้นได้ใช้สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานผู้อื่น
2. 2.3 เป็นงานตามประเภทกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง
2.2.4 จะได้รับการคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์ผลงานเสร็จ โดยไม่ต้องจดทะเบียน
2.3 ความหมายตาม Great Dictionary
Copyright-the exclusive legal right, given to the originator or their assignee for a fixed number of years, to publish, perform, film, or record literary, artistic, or musical material, and to authorize others to do the same
ลิขสิทธิ์ เป็นสิทธิตามกฎหมายแต่ผู้เดียว ของผู้ริเริ่มหรือผู้ได้รับมอบหมาย ภายในระยะเวลาที่กำหนด ในการพิมพ์ การกระทำ การสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือการบันทึกเป็นตัวหนังสือ การสร้างเป็นงานศิลปะ หรือดนตรี รวมถึงการมอบอำนาจให้คนอื่นกระทำอย่างเดียวกัน
ในบทความนี้ ผมจะขอใช้คำว่า สิทธิผู้สร้างสรรค์ สลับกับ คำว่า ลิขสิทธิ์ ตามความเหมาะสม
3. ความแตกต่างระหว่าง สิทธิผู้สร้างสรรค์ กับ สิทธิบัตร
เมื่อทราบความหมายของคำว่า ลิขสิทธิ์ แล้ว ท่านก็คงอยากจะทราบความหมายของอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน คือ คำว่าสิทธิบัตร
สิทธิผู้สร้างสรรค์ เป็นไปตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความหมายของคำว่า สิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร ดังนี้
3.1สิทธิบัตร (Patent)
สิทธิบัตร หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด เป็นสิทธิพิเศษทีให้ผู้ประดิษฐ์ คิดค้น หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยมีสิทธิที่จะผลิตสินค้า จำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
การประดิษฐ์ (Invention) หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับ ลักษณะองค์ประกอบ โครงสร้างของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิตการรักษา หรือปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น หรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น กลไกของเครื่องยนต์ ยารักษาโรค วิธีการในการเก็บรักษาพืชผลไม้ไม่ให้เน่าเสียเร็วเกินไป เป็นต้น
3.2 อนุสิทธิบัตร (Petty Patent)
อนุสิทธิบัตร คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้ เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ที่มีลักษณะคล้ายกันกับการประดิษฐ์ แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์ทีมีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก หรือเป็นการประดิษฐ์คิดค้นเพียงเล็กน้อย และมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างสิทธิผู้สร้างสรรค์ กับสิทธิบัตร คือ สิทธิผู้สร้างสรรค์ เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ผู้สร้างผลงานขึ้นมาจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทันทีที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาสำเร็จ โดยไม่ต้องจดทะเบียน แต่จะต้องเป็นผลงานตามประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
แต่สิทธิบัตร เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา ปกติจะเป็นผลงานที่ต้องใช้ความรู้ทางวิศวกรรม หรือวิทยาศาสตร์ แต่ต้องไปจดทะเบียนกับทางราชการ จึงจะได้รับความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
4.ความสำคัญของสิทธิผู้สร้างสรรค์
สิทธิผู้สร้างสรรค์ เป็นการคุ้มครองสิทธิเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ ไม่ถูกผู้อื่นละเมิด หรือเอารัดเอาเปรียบ
ในเมื่อบุคคลใดใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์งานใดขึ้นมา ผลงานที่เกิดขึ้นย่อมเป็นของบุคคลนั้น หากใครละเมิดย่อมสมควรได้รับโทษตามกฎหมาย หากไม่มีมาตรการเช่นนี้ สังคมคงจะวุ่นวาย เพราะจะมีการแอบอ้างเอาผลงานคนอื่นเป็นของตน
5. ประโยชน์ของสิทธิผู้สร้างสรรค์
เมื่อผู้สร้างผลงานสร้างสรรค์ขึ้นมาได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนี้
5.1 ผลงานสร้างสรรค์แสดงให้เห็นศิลปะ วัฒนธรรมอันดีงามของประเทศชาติ เช่น
ประเทศเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการถ่ายทอด ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศ ไปทั่วโลก ผ่านทางละครโทรทัศน์
5.2 ทำให้บุคคลมีกำลังใจที่จะสร้างผลงานที่ดีออกสู่สังคมเรื่อย ๆ
การที่บุคคลเจ้าของผลงานได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ย่อมมีกำลังใจจะผลิตผลงานสร้างสรรค์ดี ๆ สู่สังคมเรื่อย ๆ
5.3 จะทำให้ประทศสามารถยกระดับการพัฒนาประเทศได้ง่าย
หากประชาชนได้รับการคุ้มครองผลงานสร้างสรรค์ ผลงานดี ๆ ก็จะมีการผลิตสู่สังคมตลอดเวลา อันจะเป็นประโยชน์ในการยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่การพัฒนาระดับสูงขึ้น เช่น การยกระดับพัฒนาไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้เร็วขึ้น
5.4 เป็นพื้นฐานในการสร้างผลงานที่เป็นนวัตกรรม
หากบรรยากาศการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศเป็นไปอย่างเคร่งครัด ทำให้เจ้าของผลงานสร้างสรรค์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมเป็นการกระตุ้นและจูงใจให้ผู้มีผลงานด้านการประดิษฐ์ อยากจะสร้างผลงานใหม่ ๆ เพื่อนำไปขอจดทะเบียนสิทธิบัตรด้วย เพราะมีความเชื่อมั่นในมาตรการของรัฐในการให้ความคุ้มครองเจ้าของผลงานริเริ่มสร้างสรรค์
การมีเจ้าของผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ไปยื่นคำขอจดทะเบียนต่อรัฐเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ย่อมเป็นผลดีต่อการสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือนวัตกรรม (Innovation) ให้แก่ประเทศ เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง
6.ประเภทของงานที่ได้รับความคุ้มครองในเรื่อง สิทธิผู้สร้างสรรค์
ผลงานสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จะต้องเป็นผลงานประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้จำนวน 9 ประเภทเท่านั้น คือ
6.1 งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
6.2 งานนาฏกรรม เช่น ท่ารำ ท่าเต้น ฯลฯ
6.3 งานศิลปกรรม เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ศิลปะต่าง ๆ ฯลฯ
6.4 งานดนตรีกรรม เช่น ทำนอง ทำนองและเนื้อร้อง ฯลฯ
6.5 งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น ซีดี
6.6 งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วีซีดี ดีวีดี ที่มีภาพหรือมีทั้งภาพและเสียง
6.7 งานภาพยนตร์
6.8 งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
6.9 งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ
จะเห็นได้ว่าผลงานสร้างสรรค์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมีขอบเขตกว้างขวางมาก หากใครสนใจ ย่อมมีโอกาสสร้างผลงานเหล่านี้ได้
7.ช่องทางในการยื่นแจ้งข้อมูลสิทธิผู้สร้างสรรค์
การแจ้งข้อมูลสิทธิผู้สร้างสรรค์ต่อ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ได้เป็นการรับรองสิทธิ์ของเจ้าของสิทธิผู้สร้างสรรค์แต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการแจ้งต่อหน่วยงานราชการว่า ตนเองเป็นเจ้าของสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์ที่แจ้งไว้เท่านั้น โดยผู้แจ้งต้องรับรองตนเองว่าเป็นเจ้าของผลงานที่นำมาแจ้งข้อมูลสิทธิผู้สร้างสรรค์ และหนังสือรับรองที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้ ก็มิได้รับรองว่าผู้แจ้งเป็นเจ้าของผลงานสร้างสรรค์แต่อย่างใด หากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ ผู้แจ้งจำเป็นต้องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของผลงานสร้งสรรค์นั้นเอง
เจ้าของผลงานสร้างสรรค์ หากประสงค์จะแจ้งข้อมูลผลงงานสร้างสรรค์ อาจแจ้งตามช่องทางดังนี้
7.1 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
7.2 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด
7.3 ทางไปรษณีย์
7.4 สถานที่ที่กรมกำหนด เช่น ศูนย์บริการร่วมกระทรวงพาณิชย์ หน่วยบริการเคลื่อนที่ (MOBILE UNIT) ตามสถานที่ต่างๆ (มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ)
8. โทษของการละเมิดสิทธิผู้สร้างสรรค์
การละเมิดสิทธิผู้สร้างสรรค์มีโทษทางอาญาทั้งจำคุกและโทษปรับแล้วแต่กรณี และเจ้าของสิทธิผู้สร้างสรรค์ ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งด้วย โทษทางอาญา เช่น การทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และหากทำเพื่อการค้าต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
จะเห็นว่า โทษของการละเมิดสิทธิเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ มีอัตราโทษไม่น้อย ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองเจ้าของผลงานไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบนั่นเอง
9.นักประพันธ์ผู้กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก

มีบุคคลเป็นจำนวนมากที่เป็นเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งด้านเกียรติยศชื่อเสียง และเงินทอง ในบทความนี้ จะขอยกตัวอย่าง นักประพันธ์สตรีผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง จนได้กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก บุคคลนั้น คือ โจแอน โรวลิง (Joanne Rowling) เจ้าของบทประพันธ์ นิยาย ชุด แฮรี พอตเตอร์ (Harry Porter)
ยอดจำหน่ายสูงถึง 500 ล้านเล่ม
โจแอน โรวลิง (Joanne Rowling) เป็นนักประพันธ์ชาวอังกฤษ เกิดวันที่ 31 กรกฎาคม 1965 ปัจจุบันมีอายุ 56 ปี มีนามปากกาว่า เจ.เค. โรวลิง (J.K. Rowling) เจ้าของบทประพันธ์แฟนตาซี ชุดแฮร์รี พอตเตอร์ ซึ่งมียอดจำหน่ายสูงถึง 500 ล้านเล่ม มีจำนวนทั้ง 7 ตอน ตอนแรกเริ่มตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1997 และตอนสุดท้ายตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.2007
บทประพันธ์นิยายชุดแฮร์รี พ็อตเตอร์ ดังกล่าว นอกจากได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือแล้ว ยังได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกด้วยเช่นเดียวกัน
นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) เคยจัดอันดับให้โจแอน โรวลิง เป็นนักประพันธ์มหาเศรษฐีคนแรกของโลก
เมื่อปี ค.ศ.2020 ได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในบริเตน
เมื่อปีค.ศ. 2020 นิตยสาร Sunday Times Rich List รายงานว่า เธอมีรายได้มากถึง 795 ล้านปอนด์ (32,626.8 ล้านบาท) นับเป็นคนรวยลำดับที่ 178 ของสหราชอาณาจักร
เฉพาะรายได้ในสหราชอาณาจักรมีมากถึง 238 ล้านปอนด์ (9,767.52 ล้านบาท )
แรงบันดาลใจ
แรงบันดาลใจ เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการนั่งรถไฟที่เสียเวลาจากลอนดอน-แมนเชสเตอร์ เมื่อปี 1990
ในช่วงระยะเวลาเจ็ดปี ระหว่างปี ค.ศ.1990 -1997 เป็นช่วงเวลาที่โรวลิงประสบความ
ยากลำบากมาก เพราะนอกจากแม่ตาย และคลอดลูกคนแรกแล้ว ยังได้หย่ากับสามีคนแรกด้วย กลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ทำให้ประสบปัญหาความยากจนอย่างหนัก
โรวลิงจึงเริ่มเขียนนิยายในแนวแฟนตาซี เล่มแรกคือ แฮร์รี พ็อตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (Harry Potter& Philosopher’s Stone) ซึ่งได้จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1997 และได้เขียนต่อมาอีก 6 ตอน ตอนสุดท้ายได้พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ.2007 ชื่อ แฮรี พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต
คนใจบุญ
นอกจากเป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงและร่ำรวยที่สุดในโลกแล้ว โรวลิงได้ชื่อว่าเป็นผู้ใจบุญเป็นอย่างมาก เพราะได้ให้เงินสนับสนุนองค์กรการกุศลต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
ข้อสังเกต
ความร่ำรวยของโรวลิง เกิดจากการใช้จินตนาในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ล้วน ๆ มิได้เกิดจากการลงทุนแบบนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการ ดังนั้น ค่าลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์ก็ดี จากผู้สร้างภาพยนตร์ก็ดี ถือเป็นรายได้ทั้งสิ้นไม่มีค่าใช้จ่าย แต่กระนั้นก็ตาม โรวลิงก็ยังสามารถสร้างรายได้มากถึง 32,000 ล้านบาทเมื่อปีค.ศ.2020
นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากใช่ไหมท่านผู้อ่าน
9.สรุป
กฎหมายได้คุ้มครองผู้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงานใหม่ ๆ เพื่อไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้โดยชอบ
หลังจากที่สร้างผลงานที่ริเริ่มขึ้นใหม่เสร็จ เจ้าของผลงานจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทันที่ โดยเจ้าของผลงานไม่ต้องจดทะเบียนต่อทางราชการแต่อย่างใด แต่ต้องเป็นผลงานตามประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้จำนวน 9 ประเภท ได้แก่ งานวรรณกรรม งานนาฏกรรม งานศิลปกรรม งานดนตรีกรรม งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพยนตร์ งานสิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ และงานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ
ความแตกต่างระหว่างสิทธิผู้สร้างสรรค์ กับสิทธิบัตร คือ สิทธิผู้สร้าวสรรค์เกิดขึ้นทันทีที่ผลงานปรากฎ แต่สิทธบัตร สิทธิจะเกิดขึ้นเมื่อได้นำสิ่งประดิษฐ์ไปจดทะเบียนต่อกรมทรัย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์แล้วเท่าน้ัน
ถ้ามีการดโต้แย้วว่าสิทธิสร้างสรรค์เป็นของใคร เป็นเรื่องจะต้องพิสูจน์สิทธิกันในศาล
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม ติดตามได้ใน คุยกับดร.ชา
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาในวันนี้ คือ คุณนัดชา

“ สวัสดี คุณนัดชา วันนี้อาจารย์อยากจะชวนคุยเกี่ยวกับเรื่องสิทธิผู้สร้างสรรค์ อันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์หน่อย คิดว่าคุณนัดชา น่าจะสนใจ ” ผมทักทายพร้อมเปิดการสนทนา
“สวัสดีค่ะ อาจารย์ เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ดิฉันสนใจอยู่ แต่ฟังดูแล้วเป็นเรื่องกฎหมาย น่าจะปวดหัว
ถ้าเช่นนั้นในประเด็นแรก ดิฉันขอลองเดาก่อนว่า สิทธิสร้างสรรค์ เป็นเรื่องของการที่บุคคลได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาใหม่ แล้วได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาไปยื่นเรื่องขอจดทะเบียนต่อทางราชการ ถูกต้องไหมค่ะ อาจารย์ ” คุณนัดชา ลองให้ความหมายของลิทธิผู้สร้างสรรค์
“ ถูกต้อง คุณนัดชา แต่ถ้าเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ สิทธิบัตร ต้องไปยื่นเรื่องขอจดทะเบียนต่อทางราชการก่อนนะ จึงจะได้รับการคุ้มครอง ”ผมตอบไปในทิศทางเดียวกันพร้อมกับขยายความเพิ่มเติม
“ดิฉันเข้าใจค่ะ ในประเด็นที่สอง ผลงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายคุ้มครอง ต้องเป็นผลงานตามประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งมีอยู่ 9 ประเภท เช่น งานวรรณกรรม งานนาฏกรรม และงานศิลปกรรม เป็นต้น หากเป็นงานสร้างสรรค์อย่างอื่นที่อยู่นอกเหนือ 9 ประเภท กฎหมายไม่ให้ความคุ้มครอง ถูกต้องไหมอาจารย์ ” คุณนัดชาตอบพร้อมขอความเห็นจากผม

“ถูกต้อง คุณนัดชา อาจารย์อยากให้คุณนัดชาลองยกตัวอย่างงานสร้างสรรค์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมาให้ดูหน่อยได้ไหม ” ผมเป็นฝ่ายตั้งคำถามบ้าง
“ ได้เลยค่ะ ดิฉันขอยกตัวอย่างคนดัง ๆ ที่มีผลงานสร้างสรรค์ในเมืองไทยยุคปัจจุบัน
ในอดีต ดิฉันทราบมาว่า นักร้องและผู้แต่งเพลง ได้รับค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายครั้งเดียว แม้ผลงานเพลงที่ออกมาจะได้รับความนิยมและสร้างรายได้มากก็ตาม นักร้องและผู้แต่งเพลงจะไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งใด ๆ จากผู้ลงทุนผลิตผลงานเพลงออกสู่ตลาด
แต่ทุกวันนี้ ศิลปินนักร้อง และครูเพลง จะได้รับส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ตามยอดขาย ดังนั้น ทุกวันนี้ จึงทำให้นักร้องและครูเพลงผู้มีผลงานโดดเด่นและมีชื่อเสียง มีฐานะร่ำรวยกว่าเมื่อก่อนมาก อย่างเช่น ครูสลา คุณวุฒิ หรือนักร้องหลายคนที่เป็นนักร้องยอดนิยม ” คุณนัดชาตอบอย่างคล่องแคล่ว
“ ดูคุณนัดชามีความเข้าใจเรื่องนี้ดีนะ เราลองมาคุยในเรื่องของเมืองนอกเมืองนาบ้าง อย่างกรณีคุณโจแอน โรวลิง เจ้าของบทประพันธ์นิยายแฟนตาซีชุดแฮร์รี พอตเตอร์ ที่มีผลงานก้องโลกจนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีมีรายได้มากกว่า สามหมื่นล้านบาท คุณนัดชามองเรื่องนี้อย่างไร ” ผมวกถามถึงนักประพันธ์หญิงนามก้องโลกบ้าง
“ พูดถึงเรื่องนี้ ดิฉันยอมรับว่าทึ่งมาก ที่นักประพันธ์จะสามารถใช้เพียงการจินตนาการสร้างความคิดสร้างสรรค์ และเครื่องพิมพ์หรือโน๊ตบุ๊ค สร้างสรรค์ผลงานจนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่จนเหลือเชื่อ โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเหมือนอย่างนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการ แต่ก็สามารถสร้างความร่ำรวยมหาศาลจนกลายเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งของโลก
หนังสือขายทั่วโลกได้มากถึง 500 ล้านเล่ม สร้างเป็นภาพยนตร์ก็โกยเงินมหาศาลจากทั่วโลกเช่นกัน เพราะเป็นหนังแนวแฟนตาซีเกี่ยวกับการผจญภัยด้วยเวทมนตร์คาถาของ แฮรี พอตเตอร์ บรรดาเด็ก ๆ และคนหนุ่มสาวทั่วโลกติดกันงอมแงม รวมทั้งตัวดิฉันด้วย ” คุณนัดชาแสดงความเห็นอย่างตื่นเต้น

“ นักประพันธ์คนไทยมีบ้างไหม ที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ” ผมถามถึงนักประพันธ์คนไทยบ้าง
“ก็มีนะคะ อย่าง รอมแพง เจ้าของบทประพันธ์ เรื่องบุพเพสันนิวาส เมื่อ 2-3 ปีก่อนหนังสือพิมพ์เท่าใดก็ไม่พอขาย ต้องจองล่วงหน้า เมื่อนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ช่อง 3 คนติดกันทั้งเมือง แถมยังได้รับความนิยมไปต่างประเทศอีกหลายประเทศ
นอกจากนี้ยังมีละครโทรทัศน์ช่อง 3 อีกเรื่อง คือ นาคี กระแสก็ดีเหมือนกัน
พอนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เห็นว่า ทำรายได้มากถึง 400 ล้านบาท เชียวนะ อาจจะไม่มากเท่ากับภาพยนตร์ เรื่องพี่มากพระโขนง ซึ่งทำรายได้สูงสุดร่วม 1,000 ล้านบาท แต่ก็นับว่ามากโขอยู่นะค่ะ อาจารย์ ” คุณนัดชาบรรยายออกมาอย่างพรั่งพรู
“อาจารย์คิดว่า คุณนัดชาบรรยายได้อย่างชัดเจน มองเห็นภาพ
วันนี้คงพอเท่านี้ ต้องขอขอบคุณ คุณนัดชามาก โอกาสหน้าค่อยคุยกันใหม่ ” ผมกล่าวขอบคุณพร้อมปิดการสนทนา
“ ด้วยความยินดีค่ะ อาจารย์”
ดร.ชา
26 มกราคม 2564
นิยายของ เจ เค โลวลิง มีครบ ทุกอย่าง คือ รูป รส กลิ่น เสียง จึงทำให้นิยายสนุกน่าติดตามค่ะ
หนูจำได้ว่า บรรณาธิการของสำนักพิมพ์เป็นเด็ก 8ขวบ คือเป็นลูกของเจ้าของสำนักพิมพ์
เห็นหนังสือวางอยู่บนโต๊ะ จึงหยิบไปอ่าน เมื่ออ่านแล้วสนุกวางไม่ลง
เมื่อก่อนนี้ นางไปยื่นหนังสือให้สำนักพิมพ์มีแต่ถูกปฏิเสธ นางไม่ยอมแพ้ จนนางประสบผลสำเร็จค่ะ เป็นบุคคลอีกคนหนึ่งที่น่ายกย่องค่ะ
เรื่องประเภทนี้ ดูคุณณัชชา จะมีข้อมูลมาก เพราะมีความสนใจอยู่แล้ว
พาดหัของหนังสือพิมพ์ฉบับ มีเนื้อหาว่า ภาพถ่ายปลดหนี้ได้ เป็นเรื่องราวของชายชาวรัสเซีย มีอาชีพเป็นภารโรงและมีหนี้หลักแสนจากการถูกเพื่อนโกงค่ะ
มีช่างภาพฝีมือดีถ่ายภาพแล้วนำไปตกแต่งในปกนิตยสาร จนเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้
ในยามวิกฤติย่อมมีโอกาสค่ะ
ใช่ ถ้าคิดสรร้างสรรค์เป็น วิกฤตก็อาจจะเป็นโอกาสได้