ในบทความ (3) ได้กล่าวถึงระบบตำรวจของประเทศอังกฤษ
สำหรับบทความ (4) นี้จะเล่าถึง รายชื่อเขตตำรวจของอังกฤษ กองกำลังชายแดนของประเทศอังกฤษ การจัดตั้งงบประมาณสนับสนุนกิจการตำรวจของประเทศอังกฤษ ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษแตกต่างจากระบบตำรวจของประเทศไทยอย่างไร สรุปและข้อคิดเห็น และคุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.รายชื่อกองกำลังตำรวจประเทศอังกฤษที่น่าสนใจ
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจการจัดระบบตำรวจประเทศของอังกฤษได้ชัดเจนขึ้น ผมจึงขอนำรายชื่อกองกำลังตำรวจของประเทศอังกฤษที่ได้จัดให้สอดคล้องกับรูปแบบปกครองประเทศมาเล่าให้ท่านฟังพอได้มองเห็นภาพ
ปัจจุบันประเทศอังกฤษได้จัดให้มีตำรวจจำนวน 45 เขต และตำรวจหน่วยพิเศษอีก 3 หน่วย โดยยึดถือหลักว่า เขตการปกครองใดเป็นเขตขนาดใหญ่หรือมีความสำคัญสูง จะมีตำรวจเป็นของตนเอง หากเขตการปกครองใดมีขนาดใหญ่ไม่พอ ก็จะต้องร่วมกับเขตการปกครองอื่น ๆ ในการจัดให้มีตำรวจเป็นของตนเองขึ้นมาเขตหนึ่ง ซึ่งอาจแยกออกเป็น
1.1ตำรวจสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งเดียว เช่น
- ตำรวจกรุงลอนดอน City of London Police) มีอัตรากำลังตำรวจ 676 คน รับผิดชอบพื้นที่กรุงลอนดอน
- ตำรวจมหานครลอนดอน (Metropolitan Police Service) มีอัตรากำลัง 30,871 คน รับผิดชอบพื้นที่มหานครลอนดอน ยกเว้นพื้นที่กรุงลอนดอน ซึ่งมีกองกำลังตำรวจของตนเองแล้ว *สำนักงานใหญ่ของตำรวจมหานครลอนดอน มีชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่า สก็อตแลนด์ยาร์ด (Scotland yard)
- ตำรวจเมอร์เซย์ไซด์ (Merseyside Police) อัตรากำลัง 3,484 คน รับผิดชอบพื้นที่ เคาน์ตีมหานครเมอร์เซย์ไซด์ (Metropolitan county of Merseyside)
- ตำรวจมหานครแมนเชสเตอร์ (Greater Manchester Police) มีอัตรากำลัง 6,237 คน รับผิดชอบพื้นที่มหานครแมนเชสเอตอร์

*ผมคิดว่า ท่านผู้อ่านคงรู้จักมหานครแมนเชสเตอร์ดี เพราะทีมฟุตบอลสโมสรดังของอังกฤษจำนวน 2 ทีมอยู่ที่มหานครแมนเชสเตอร์
1.2 ตำรวจสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งรวมกัน เช่น
- ตำรวจเบดฟอร์ดไชร์ (Bedfordshire Police) มีอัตรากำลัง 1,136 คน รับผิดชอบพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกรูป 3 แห่ง คือ เบดฟอร์ด เบดฟอร์ไชร์กลาง และลูตัน
- ตำรวจเคนต์ (Kent Police) รับผิดชอบพื้นที่เคาน์ตีเคนต์(Non-metropolitan county of Kent) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกรูปเมดเวย์ (Unitary authority of Medway)
1.3 กองกำลังตำรวจประจำแคว้น
- ตำรวจสก็อตแลนด์ (Scotland Police) มีอัตรากำลัง 17,170 คน รับผิดชอบพื้นที่แคว้นสก็อตแลนด์ทั้งหมด

- ตำรวจไอร์แลนด์เหนือ (Police Service of Northern Ireland) มีอัตรากำลัง 6,621 คน รับผิดชอบพื้นที่แคว้นไอร์แลนด์ทั้งหมด

1.4 กองกำลังตำรวจหน่วยพิเศษ มีอยู่ 3 หน่วย
สำหรับกองกำลังตำรวจหน่วยพิเศษ จำนวน 3 หน่วยประกอบด้วย
- ตำรวจขนส่งบริติช (British Transport Police) มีอัตรากำลัง 3,028 คน
- ตำรวจดูแลนิวเคลียร์เพื่อสันติ (Civil Nuclear Constabulary) มีอัตรากำลัง 1,310 คน
- ตำรวจดูแลกระทรวงกลาโหม (Ministry of Defence Police) มีอัตรากำลัง 2,594 คน
*รวมอัตรากำลังตำรวจของประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2017 มีทั้งสิ้น 153,002 คน
(Wikipedia, List of police forces of the United Kingdom, 11th July 2020)
2.กองกำลังชายแดนของประเทศอังกฤษ (Border Force)
กองกำลังชายแดนเป็นหน่วยงานในการบังคับใช้กฎหมาย สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่ดูแลกิจการชายแดนทั้งทางด้านอากาศ ทะเล และสถานีรถไฟทั่วประเทศอังกฤษ ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2012 โดยยุบสำนักงานชายแดนของสหราชอาณาจักรเดิม (UK Border Agency)
เจ้าหน้าที่กองกำลังชายแดน ไม่ใช่ตำรวจ มีอำนาจทั้งในด้านตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร การต่อต้านการก่อการร้าย ปัจจุบันมีอัตรากำลัง 7,500 คน
(Wikipedia, Border Force, 16th July 2020)

(Wikipedia, Border Force, 16th July 2020)
จะเห็นได้ว่า การจัดตั้งกองกำลังชายแดนดังกล่าวเป็นการจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถประสงค์หลักในการตอบโต้การก่อการร้ายสากลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้จัดตั้งเป็นหน่วยงานตำรวจ
แม้โดยหลักการระบบตำรวจของประเทศอังกฤษ เป็นระบบตำรวจสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มิได้หมายความว่า รัฐบาลจะปล่อยภาระให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณค่าใช้จ่ายในกิจการตำรวจทั้งหมด โดยรัฐบาลอังกฤษได้วางหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งงบประมาณสนับสนุนกิจการตำรวจของท้องถิ่นตามสัดส่วนของประชากร และปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคม อย่างเช่นในปีงบประมาณ 2017/18 รัฐบาลอังกฤษได้ตั้งงบประมาณสนับสนุนกิจการตำรวจของท้องถิ่นไว้จำนวน 11 พันล้านปอนด์ ในขณะเดียวกันก็ได้ตั้งงบประมาณในการต่อสู้การก่อการร้ายและโปรแกรมพิเศษอื่น ๆ จำนวน 1.5 พันล้านปอนด์ เป็นต้น
4.ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษแตกต่างจากระบบตำรวจของประเทศไทยอย่างไร
ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษมีข้อแตกต่างไปจากระบบตำรวจของประเทศไทยหลายประการ คือ
4.1 สังกัดของตำรวจ
ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษ ไม่ใช่ระบบตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากประเทศอังกฤษเป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค มีแต่การปกครองส่วนกลางกับการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศอังกฤษได้มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลาช้านาน จึงทำให้มีความเข้มแข็งและความเป็นอิสระมาก เพราะรัฐบาลได้ความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ หากจำเป็นต้องใช้อำนาจสั่งการในการกำกับดูแล จะใช้อำนาจผ่านทางศาล
ตำรวจของประเทศอังกฤษสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเคาน์ตีขนาดใหญ่ หรือถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดมีขนาดไม่ใหญ่ มีงบประมาณไม่มากพอ ก็จะรวมกันเป็นเขตตำรวจเขตหนึ่งดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตาม ตำรวจที่สังกัดส่วนกลางก็มีอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่กองกำลังหลักในการรักษาความสงบเรียบร้อย
ผมขอให้ท่านผู้อ่านคิดเทียบเคียงง่าย ๆ ว่า ประเทศอังกฤษไม่มีจังหวัด แต่มีเคาน์ตี ให้คิดว่า เคาน์ตีของประเทศอังกฤษก็พอจะเทียบได้กับจังหวัดของบ้านเรา ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษแบ่งออกเป็น 45 เขต แต่ละเขตอิสระต่อกัน ไม่ขึ้นต่อกัน แต่การทำงานก็มีการประสานกัน
เนื่องจากระบบตำรวจของประเทศอังกฤษเป็นตำรวจที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงกินเงินเดือนจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตำรวจเขตนั้นสังกัดอยู่ เช่น ตำรวจกรุงลอนดอนกินเงินเดือนจากกรุงลอนดอน ตำรวจมหานครลอนดอนกินเงินเดือนจากมหานครลอนดอน ตำรวจมหานครแมนเชสเตอร์ กินเงินเดือนจากมหานครแมนเชสเตอร์ เป็นต้น
ส่วนระบบตำรวจของประเทศไทย เป็นระบบตำรวจแห่งชาติ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติแห่งเดียว กินเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน
ในเรื่องสังกัดของตำรวจนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ตามพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการและมีอำนาจในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดออกกฎกระทรวง แสดงให้เห็นว่า โดยหลักการงานด้านการตรวจคนเข้าเมือง เป็นงานของกระทรวงมหาดไทย เพียงแต่ในทางปฏิบัติ ตำรวจโดยกองบัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเป็นผู้ปฏิบัติมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นกรมตำรวจสังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่อำนาจจริง ๆ เป็นของกระทรวงมหาดไทย
4.2 ระบบถ่วงดุลอำนาจตำรวจ
ประเทศอังกฤษ ใช้กลไกไตรภาคีในการถ่วงดุลอำนาจของตำรวจ ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการตำรวจของสภาท้องถิ่นจำนวน 9 คน และหัวหน้าตำรวจประจำเขต ดังได้กล่าวรายละเอียดมาแล้วในบทความ (3) อังกฤษ- ระบบตำรวจแตกต่างจากไทย
ส่วนระบบตำรวจไทยในปัจจุบัน เป็นระบบที่ไม่ได้วางกลไกในการถ่วงดุลอำนาจของตำรวจไว้ชัดเจน มีแต่กลไกในการถ่วงดุลอำนาจภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง กล่าวคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจในการจับกุมและสอบสวนคดีอาญาทั่วราชอาณาจักรแต่เพียงหน่วยเดียว เป็นอำนาจที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางอย่างเบ็ดเสร็จ
ส่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจในส่วนทีเป็นคดีคดีพิเศษ ไม่ใช่คดีอาญาทั่วไป จึงไม่ใช่หน่วยงานในการถ่วงดุลอำนาจตำรวจเหมือนระบบไตรภาคีของประเทศอังกฤษแต่อย่างใด
ในเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า การที่ประเทศไทยไม่ได้สร้างกลไกในการถ่วงดุลอำนาจตำรวจไว้ จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการกำหนดเรื่องการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
4.3 การยึดโยงประชาชน
เนื่องจากระบบตำรวจของประเทศอังกฤษเป็นระบบตำรวจสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก ดังนั้น การยึดโยงประชาชนจึงชัดเจน กล่าวคือ ประชาชนเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และสภาท้องถิ่นเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นจำนวน 9 คน เป็นคณะกรรมการตำรวจของท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งหัวหน้าตำรวจประจำเขต และนายตำรวจอาวุโสประจำเขต และยิ่งกว่านั้น ยังเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์หรือทิศทางในการปฏิบัติงานของตำรวจให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น
ส่วนระบบตำรวจของไทย เป็นระบบตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้วางกลไกให้เชื่อมโยงกับท้องถิ่น แม้ว่าในทางปฏิบัติอาจจะมีการแต่งตั้งประชาชนเป็นที่ปรึกษาโรงพัก แต่ก็เป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่มีอำนาตตัดสินใจแต่อย่างใด ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด
4.4 ตำแหน่งสูงสุดในระบบตำรวจ
เนื่องจากระบบตำรวจของประเทศอังกฤษ ไม่ใช่ระบบตำรวจแห่งชาติ แต่เป็นระบบตำรวจสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก ดังนั้น จึงไม่มีตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีแต่ตำแหน่งหัวหน้าตำรวจของแต่ละเขต ส่วนระบบตำรวจของประเทศไทย เป็นระบบตำรวจแห่งชาติ ตำแหน่งสูงสุด คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
4.5 งบประมาณในการบริหารงานตำรวจ
ระบบตำรวจชองประเทศอังกฤษเป็นระบบตำรวจท้องถิ่น ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดตั้งงบประมาณในด้านกิจการตำรวจ โดยรัฐบาลอังกฤษจัดตั้งงบประมาณอุดหนุนตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ แต่ระบบตำรวจไทยเป็นระบบตำรวจแห่งชาติ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดตั้งงบประมาณกิจการตำรวจ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจตั้งงบประมาณอุดหนุนบ้างในบางส่วน
5.สรุปและข้อคิดเห็น
การจัดตั้งกองกำลังตำรวจของประเทศอังกฤษ ได้จัดตั้งตามรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ แบ่งกองกำลังตำรวจออกเป็นเขต ๆ ตามเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 45 เขต ในจำนวนนี้เป็นตำรวจประจำแคว้นสก็อตแลนด์ 1 เขต และตำรวจประจำแคว้นไอร์แลนด์เหนือ 1 เขต แต่ประเทศอังกฤษไม่มีตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพราะการตรวจคนเข้าเมือง รัฐบาลอังกฤษได้จัดตั้งกองกำลังชายแดน (Border Force) สังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านนี้โดยตรง
โดยพื้นฐาน ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษ แตกต่างไปจากระบบตำรวจของประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นละระบบกัน กล่าวคือ ประเทศอังกฤษใช้ระบบตำรวจท้องถิ่น แต่ประเทศไทยใช้ระบบตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น จึงมีความแตกต่างกันในทุกมิติ นับตั้งแต่สังกัดของตำรวจ ระบบการถ่วงดุลอำนาจ การยึดโยงประชาชน และการจัดตั้งงบประมาณสนับสนุนกิจการตำรวจ
ผมได้เล่าเรื่องราวของระบบตำรวจและรูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษมาให้ท่านผู้อ่านทราบพอสังเขป จำนวน 3 บทความด้วยกันแล้ว ก็คงจะจบลงแค่นี้ หวังว่า ทุกท่านคงจะมีความรู้ความเข้าใจในระบบตำรวจและรูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษดีขึ้นบ้าง และเชื่อว่า ท่านคงพอจะหาคำตอบได้ว่า หากจะใช้ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษเป็นแม่แบบของระบบตำรวจไทยจะเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร
คุยกับดร.ชา
ผมได้เขียนบทความในเว็บไซต์ รวมเรื่องเล่า ชุดประสบการณ์นักปกครอง สนุก และสร้างสรรค์ มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 นับจำนวนบทความที่ได้เขียนมาแล้วจำนวน 50 บทความ จึงอยากเพิ่มความเป็นกันเอง และความสนุกเพลิดเพลินให้กับท่านผู้อ่านไว้ในตอนท้ายของบทความแต่ละบทความ โดยเริ่มต้นบทความนี้เป็นบทความแรก
สำหรับคู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณบุญอนุสรณ์ (ชื่อสมมุติ)
เมื่อครั้งที่ผมยังรับราชการอยู่ คุณบุญอนุสรณ์เป็นคนหนึ่งที่ผมชอบพูดคุยด้วยอยู่เสมอ เพราะหล่อนเป็นคนมีอารมณ์ขัน ชอบมองโลกในแง่บวก และที่สำคัญคือ หล่อนเป็นกำลังสำคัญในการเชิญชวนเพื่อนข้าราชการให้ร่วมกันบริจาคเงินสมทบกองทุนทอดกฐินสามัคคีที่ผมได้ริเริ่มขึ้นในปีก่อนที่ผมจะเกษียณอายุราชการ จึงทำให้ผมระลึกถึงคุณงามความดีของหล่อนอยู่ตลอดมามิรู้ลืม
“ คุณบุญอนุสรณ์ คงได้ติดตามอ่านบทความชุดเรื่องเล่า ระบบตำรวจและรูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษ จำนวน 3 บทความติดต่อกันแล้ว มีความเห็นประการใดบ้าง ” ผมชวนสนทนาแบบคนคุ้นเคยกัน
“เท่าที่ได้อ่านบทความของอาจารย์จำนวน 3 บทความดังกล่าวแล้ว ดิฉันรู้สึกประทับใจในระบบตำรวจของอังกฤษมาก โดยเฉพาะเรื่องการสร้างกลไกในการถ่วงดุลอำนาจตำรวจระหว่าง 3 ฝ่าย ที่เรียกว่า ระบบไตรภาคี ” คุณบุญอนุสรณ์ตอบตามความรู้สึกจริง ๆ ของตัวเอง
“ ที่ว่าประทับใจนั้น ลองขยายความสักหน่อยได้ไหม ” ผมกระตุ้นให้หล่อนเผยความรู้สึกออกมาให้มากขึ้น
“ คืออย่างนี้ การที่ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษ เป็นระบบตำรวจสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กินเงินเดือนจากงบประมาณของท้องถิ่น หัวหน้าตำรวจและนายตำรวจอาวุโสสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องถิ่นเป็นผู้แต่งตั้ง จึงทำให้ตำรวจของประเทศอังกฤษต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นที่พึงพอใจของประชาชน
หากประชาชนไม่พอใจ อาจจะสะท้อนปัญหาผ่านไปยังสภาท้องถิ่นและคณะกรรมการตำรวจที่สภาท้องถิ่นแต่งตั้งจำนวน 9 คน ให้กดดันไปยังตำรวจให้แก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้น โอกาสที่ตำรวจของประเทศอังกฤษจะใช้อำนาจข่มเขงประชาชนจึงไม่มี หรือมีน้อยมาก ”
หล่อนอธิบายราวกับว่าเคยไปอยู่ประเทศอังกฤษ
“ คุณบุญอนุสรณ์คิดว่า ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษเหมาะสมที่จะนำมาเป็นตัวแบบในการปฏิรูปตำรวจไทยไหม ” ผมถามด้วยความอยากรู้ความในใจของหล่อน
“ ถ้าจะทำให้เหมือนระบบตำรวจของประเทศอังกฤษเสียทีเดียวก็คงจะไม่ได้ เพราะระบบตำรวจไทยเป็นระบบตำรวจแห่งชาติ แต่ถ้าจะเอาแนวคิดบางอย่างของเขามาใช้ในการปฏิรูปตำรวจไทยบ้างก็น่าจะดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกลไกในการถ่วงดุลอำนาจตำรวจ ” หล่อนตอบแบบไม่ต้องคิด ราวกับว่าเป็นความรู้สึกที่ฝังลึกอยู่ในใจมาช้านาน
“ อาจารย์ขอขอบคุณ คุณบุญอนุสรณ์มากที่สละเวลามาคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์ในวันนี้ เชื่อว่า การสนทนาของเราในวันนี้ คงจะทำให้ท่านผู้อ่านมีความเข้าใจในระบบตำรวจและรูปแบบการการปกครองของประเทศอังกฤษได้ดีขึ้น
โอกาสหน้า อาจารย์จะเชิญคุณบุญอนุสรณ์มาคุยกันใหม่นะ ” ผมกล่าวสรุปการสนทนาสั้น ๆ
หนูได้อ่านบทความเพิ่มเติมที่อาจารย์เขียน อ่านแล้วสนุกค่ะ
อาจารย์ดีใจที่การนำเสนอบทความเรื่องเล่า ฯ ในเวอร์ชั่นใหม่ ถูกใจคุณณัชชา คราวต่อไปอาจารย์อาจจะเชิญคุณณัชชาเข้าร่วมสนทนานะ
เรื่องตำรวจถูกใจมากค่ะท่านอาจารย์ และยังได้เชิญคนตอบตรงมาคุยด้วยยิางไเอรรถรสเลยค่ะ ชอบๆ ค่ะ
ผมดีใจที่เรื่องเล่า เวอร์ชั่นใหม่ ถูกใจคุณบุญญสรณ์ หวังว่าคงจะถูกใจผู้อ่านท่านอื่น ๆ ด้วย ขอบคุณมากที่กรุณาให้คำชมมาช่วยสร้างกำลังใจแก่ผู้เขียน
ได้เป็นอย่างดียิ่ง