การสร้าง ถนน สายประชาธิปไตยของพม่าที่แสนลำบาก เป็นบทความลำดับที่ 4 ของหมวด เรื่องเล่า ประเทศอาเซียน จะกล่าวถึง ความนำ การสร้าง ถนน สายประชาธิปไตยของพม่ายุคต่าง ๆ วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารปี 2021 สรุป และคุยกับดร.ชา

Table of Contents
1.ความนำ
หลังจากกองทัพพม่า นำโดยพลเอกอาวุโส ทิน อ่อง หล่าย ได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 โดยกล่าวหา การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดของพม่าที่พรรคการเมืองของนางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เป็นการเลือกตั้งที่มีการทุจริตครั้งใหญ่นั้น ประชาคมโลกก็ได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในพม่าอย่างใกล้ชิดว่า จะคลี่คลายไปในทิศทางใด
ขณะนี้ประธานกรรมการการเลือกตั้งของพม่าก็ได้ประกาศให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นโมฆะแล้ว
อนึ่ง ในบทความ (2) ได้กล่าวถึง ปัญหา ความขัดแย้ง ของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับรัฐบาลพม่า และในบทความ (3) ได้กล่าวถึง หลักการ และเหตุผล ของรัฐธรรมนูญพม่าว่า จะสามารถใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งของชนกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลพม่าได้หรือไม่ เพียงใด
สำหรับบทความนี้ ต้องการจะเล่าเรื่อง เส้นทาง ไปสู่ประชาธิปไตยของพม่าว่า มีความยากลำบากเพียงใด และจะมีโอกาสไปสู่จุดหมายปลายทางหรือไม่ โดยในที่นี้จะขอใ้ช้คำย่อว่า ถนนสายปชต.
2. การสร้าง ถนน สายประชาธิปไตย(ถนนสายปชต.)ของพม่า ยุคต่าง ๆ
การสร้าง ถนน สายปขต.ในพม่า อาจแบ่งออกเป็น 4 ช่วงใหญ่ คือ
– ช่วงที่ยังตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
– ช่วงได้รับเอกราชจากอังกฤษใหม่ ๆ
– ช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหาร
– ช่วงการปฏิรูปประชาธิปไตย
3.ช่วงที่พม่ายังตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ค.ศ.1885-1948
พม่าได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษระหว่างปีค.ศ.1885-1948 รวมระยะเวลา 63 ปี โดยในช่วงแรก อังกฤษได้ผนวกดินแดนพม่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1886 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1937 อังกฤษจึงได้แยกพม่าออกจากอินเดียมาเป็นดินแดนอาณานิคมเอกเทศ และได้สถาปนากรุงย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงของพม่า
การก่อตัวทางด้านการปกครองตนเองของประชาชนในพม่าได้เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองพม่าแทนอังกฤษในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ได้มีการสู้รบกันอย่างหนักระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นได้สูญเสียทหารจำนวน 150,000 นาย บนแผ่นดินพม่า และถูกยึดเป็นเชลยจำนวน 1,700 นาย
แม้ทหารพม่าได้รบช่วยญี่ปุ่นในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพกู้ชาติของพม่า
( Burma Independence Army) แต่ก็มีชาวพม่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อยู่ในกองทัพของอังกฤษด้วย
กองทัพแห่งชาติพม่า ( The Burma National Army) และกองทัพแห่งชาติยะไข่ (The National Arakan Army) ได้ร่วมรบกับญี่ปุ่น ในช่วงปี ค.ศ.1942-1944 แต่พอถึงปีค.ศ.1945 ได้เปลี่ยนมาเข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ มีทหารและพลเรือนพม่าจำนวนระหว่าง 170,000-250,000 คนสูญเสียชีวิต
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง นายพล อองซาน ได้เจรจาทำความตกลงปางหลวง (Panglong Agreement) กับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อปีค.ศ.1947 เพื่อเป็นหลักประกันว่า เมื่อพม่าได้เอกราชแล้ว จะตั้งเป็นรัฐรวม (Unified State) โดยในปีนั้น นายพลอองซาน เป็นรองประธานสภาบริหารของพม่า ซึ่งเป็นรัฐบาลในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1947 นายพลออกซานพร้อมรัฐมนตรีอีกหลายคนถูกลอบสังหารจากคู่แข่งทางการเมือง
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ และฝรั่งเศส อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายอักษะ นำเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น โดยเยอรมันและอิตาลี รับผิดชอบในการโจมตีในยุโรป ส่วนญี่ปุ่นรับผิดชอบในการโจมตีทางเอเชีย
สำหรับประเทศไทยในช่วงนั้นอยู่ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้ทำความตกลงเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ยอมให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นทางผ่านเข้าไปยังพม่า โดยญี่ปุ่นทำความตกลงว่า จะยอมยกดินแดนที่ไทยเคยเสียไปให้อังกฤษและฝรั่งเศสคืน
แต่ในเวลานั้น พม่าไม่ได้มีฐานะเป็นรัฐ เพราะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะเลือกอยู่กับฝ่ายใด กลุ่มคนพม่าที่รักชาติ ต้องการอาศัยญี่ปุ่นช่วยให้พม่าได้เอกราชจากอังกฤษ จึงเข้าช่วยญี่ปุ่นรบอังกฤษ แต่ก็มีคนพม่าที่เป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ยอมเป็นทหารของอังกฤษสู้รบกับญี่ปุ่น
การสู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงแรก ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะ รุกไล่ฝ่ายสัมพันธมิตรออกไปจากเอเชีย แต่ตอนหลังฝ่ายสัมพันธมิตรกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบ กองทัพพม่าที่เคยช่วยญี่ปุ่นรบ จึงได้เปลี่ยนใจมาเข้าข้างฝ่ายสันพันธมิตร
ในที่สุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง ด้วยความปราชัยของญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ.1945 และอังกฤษก็ยอมที่จะให้เอกราชแก่พม่า แต่ก่อนที่จะได้เอกราชโดยสมบูรณ์จากอังกฤษ สภาบริหารของพม่า ที่มีนายพลออง ซาน เป็นผู้นำได้มีการเจรจาทำความตกลงกับผู้นำชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เมื่อปี ค.ศ.1947 เรียกชื่อว่า ความตกลงปางหลวง โดยตกลงกันในหลักการว่า ภายหลังที่พม่าได้รับเอกราชแล้วจะตั้งประเทศเป็นรัฐรวม
แต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 1947 นายพล อองซานและคณะรัฐมนตรีหลายคนได้ถูกลอบสังหาร ทำให้เป็นจุดหักเหที่สำคัญภายหลังที่พม่าได้รับเอกราชแล้ว ในปีถัดมา คือ ปีค.ศ. 1948 นี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้าง ถนนสายปชต.ของพม่าสะดุดลงเป็นครั้งที่ 1
4. ช่วงภายหลังได้รับเอกราชใหม่ ๆ ค.ศ.1948-1962
พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1948 ตามกฎหมายว่าด้วยเอกราชของพม่า (Burma Independence Act 1947) ภายใต้ชื่อประเทศ สหภาพพม่า (The Union of Burma) แต่พม่าไม่ยอมเข้าเป็นสมาชิกจักรภพอังกฤษเหมือนอย่างประเทศอดีตอาณานิคมของอังกฤษทั้งหลาย
พม่าใช้รูปแบบการปกครองครั้งแรกในระบบรัฐสภา ประกอบด้วยสองสภา คือ สภาล่าง(Chamber of Deputies) และสภาสูง (Chamber of Nationalities) มีพรรคการเมืองหลายพรรค ได้เซา ชเว ไทยค (Sao Shwe Thaik )เป็นประธานาธิบดีคนแรก และอูนุ (U Nu) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก
ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ของพม่า สามารถแบ่งพื้นที่ของพม่าออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
ส่วนที่เป็นพม่าแท้ (Burma Proper) ตั้งอยู่ตอนล่างและตอนบนของประเทศ
ส่วนที่ชนกลุ่มน้อย ตั้งอยู่ตามพื้นที่ชายแดน (Frontier Areas)
โดยอังกฤษได้แบ่งการปกครองส่วนที่เป็นพม่าแท้ และส่วนที่เป็นกลุ่มน้อยที่อยู่ตามชายแดนแยกออกจากกัน เพื่อให้ง่ายในการปกครอง
เมื่อปีค.ศ.1961 อูถั่น (U Thant) ผู้แทนถาวรของพม่าประจำสหประชาชาติ ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เป็นเวลายาวนานถึง 10 ปี ซึ่งในช่วงเวลานี้ นาง อองซาน ซูจี ได้เป็นคนพม่าคนหนึ่งที่ร่วมทำงานกับอูถั่น และในเวลาต่อมา นางได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปีค.ศ.1991 (1991 Nobel Peace Prize)
เนื่องจากชนกลุ่มน้อยได้ผลักดันให้มีการปกครองตนเองในรูปแบบสหพันธรัฐ (autonomy or federalism) ประกอบกับรัฐบาลพลเรือนก็อ่อนแอ ทำให้คณะทหารได้กระทำการรัฐประหารเมื่อปีค.ศ.1962 แล้วจัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้นมา พร้อมกับระบุว่า การใช้คำว่า สหพันธรัฐ แม้จะเป็นคำที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 1947 แต่ถือว่า เป็นการทำลายความเป็นชาติ(anti-national) ทำลายความเป็นเอกภาพ(anti-unity) และเป็นการทำให้เกิดความแตกแยก (pro-disintegration)
การกระทำปฏิวัติรัฐประหารโดยพลเอก เนวิน เมื่อปีค.ศ.1962 เป็นสาเหตุที่ทำให้การสร้างถนน สายปชต.ของพม่าสะดุดลงและประสบความยากลำบากเป็นครั้งที่ 2
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ ได้มีการประชุมกันระหว่างผู้นำของสภาผู้บริหารของรัฐบาลพม่า นำโดยนายพล อองซาน และผู้นำของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ที่ปางหลวง ในเขตรัฐฉาน เมื่อปีค.ศ.1947 โดยได้บรรลุความตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1947 ว่า จะจัดตั้งประเทศพม่าแบบรัฐรวมหรือแบบสหพันธรัฐ และได้นำความตกลงนั้นไปบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ
แต่ในระหว่างที่กำลังมีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ณ กรุงย่างกุ้ง ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน- 24 กันยายน ค.ศ.1947 ได้เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดฝัน กล่าวคือได้มีการลอบสังหารนายพล อองซานและรัฐมนตรีหลายคนเสียชีวิต จึงเป็นเหตุทำให้ทิศทางการร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น การที่ทหารภายใต้การนำของพลเอก เนวิน ได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนายก ฯ อูนุ เมื่อปีค.ศ. 1962 (พ.ศ.2505) ก็เพราะไม่ต้องการให้มีการปกครองในรูปแบบรัฐรวม หรือยอมให้บางรัฐของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ขอแยกตัวออกไปตั้งเป็นประเทศใหม่ เพราะถือว่าเป็นการทำลายเอกภาพของชาติ
5.ช่วงอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร (ค.ศ.1962-2011)
หลังจากพลเอก เนวิน ได้กระทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1962 ประเทศพม่าก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนานร่วม 50 ปี โดยอาจแบ่งการปกครองภายใต้รัฐบาลทหารออกได้เป็น 2 ช่วง คือ
5.1 ช่วงอยู่ภายใต้การปกครองของคณะปฏิวัติ (ช่วงปี 1962-1974)
ในช่วงนี้กิจการสำคัญ ๆ ของประเทศทั้งในด้านธุรกิจ สื่อมวลชน และการผลิต ได้ถูกโอนให้เป็นกิจการของชาติหรืออยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลตามแนวทางไปสู่สังคมนิยมแบบพม่า ซึ่งได้แนวคิดมาจากสหภาพโซเวียตโดยใช้การวางแผนจากส่วนกลาง (Soviet-style nationalism and central planning)
จนกระทั่งปีค.ศ.1974 จึงได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ในช่วงที่รัฐบาลทหารพลเอก เนวิน ได้ปกครองพม่าภายใต้ชื่อคณะปฏิวัติ ช่วงปีค.ศ.1962-1974 หรือช่วงพ.ศ.2505-1517 ตรงกับช่วงเวลาเดียวกันกับรัฐบาลจอมพลถนอม-ประภาส ของประเทศไทย ซึ่งได้ครองอำนาจนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2506 โดยเป็นการครองอำนาจต่อเนื่องมานับตั้งแต่ยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ พ.ศ.2501 ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ ตุลาคม พ.ศ.2516 วิปโยค ประเทศไทยจึงได้หลุดพ้นจากการปกครองโดยรัฐบาลทหารในช่วงเวลานั้น และได้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน นายสัญญา ธรรมศักดิ์ขึ้นบริหารประเทศแทน
5.2 ช่วงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 1974-2011
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีชื่อเรียกว่า รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า (Constitution of the Socialist Republic of the Union of Burma)
ในช่วงนี้ประเทศพม่าอยู่ภายใต้การปกครองระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว คือ พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (Burma Socialist Programme Party: BSPP) โดยพลเอก เนวินและเจ้าหน้าที่ทหารคนอื่น ๆ ได้ลาออกจากราชการมาทำงานการเมืองเพื่อบริหารประเทศผ่านพรรคการเมืองดังกล่าว ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พม่าได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง
ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ได้มีการประท้วงรัฐบาลทหารเป็นระยะ ๆ ในปีค.ศ.1974 รัฐบาลทหารได้ใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างรุนแรง ณ สุสาน อูถั่น นอกจากนี้ยังมีการประท้วงของนักศึกษาเมื่อปี ค.ศ.1975,1976 และ 1977 แต่รัฐบาลก็ได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างราบคาบด้วยความรวดเร็ว
ยุคสลอร์ค (State Law and Order Restoration Council: SLORC)
เมื่อปีค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ อันสืบเนื่องมาจากการบริหารเศรษฐกิจผิดพลาดและการปราบปรามทางการเมืองอย่างรุนแรงของรัฐบาลทหาร พลเอก เนวิน ได้นำไปสู่การประท้วงของกลุ่มผู้ต้องการการปกครองตนเองของประชาชนไปทั่วประเทศ เรียกชื่อเหตุการณ์ความไม่สงบนี้ว่า การปฏิวัติ 8888 (8888 Uprising)
ในเหตุการณ์การปฏิวัติ 8888 กองกำลังฝ่ายความมั่นคงภายใต้รัฐบาลพลเอก เนวินได้สังหารกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนร่วม 3,000 คน ดังนั้น จึงทำให้พลเอก ซอ หม่อง (General Saw Maung) จำเป็นต้องเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ด้วยการกระทำการรัฐประหารและก่อตั้งสภาฟื้นฟูระเบียบและกฎหมายของรัฐ (State Law and Order Restoration Council) เรียกชื่อย่อว่า SLORC)
นี่คือ การสะดุดหรือการพบความยากลำบากของถนนสายปชต.ของพม่า ครั้งที่ 3
ในปีค.ศ.1989 รัฐบาลสลอร์ค ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกหลังจากได้มีการประท้วงไปทั่วประเทศ ในที่สุดรัฐบาลทหารได้กำหนดแผนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.1989 นอกจากนี้ รัฐบาลสลอร์ค ยังได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก สาธารณรัฐสังคมนิยมสหภาพพม่า (Socialist Republic of the Union of Burma) เป็น สหภาพเมียนมาร์ (The Union of Myanmar) โดยตราเป็นกฎหมายใช้บังคับเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1989
เมื่อเดือนพฤษภาคม 1990 รัฐบาลได้จัดให้การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 30 ปี ปรากฏว่า พรรคสันนิบาติชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD ) ของนาง อองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น จำนวน 392 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 492 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 80
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือนทั้ง ๆ ที่ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายเมื่อปีค.ศ.1990 และยังคงบริหารประเทศในนามสลอร์คต่อไปจนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1997 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นสภาสันติภาพและพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council: SPDC) และได้บริหารประเทศต่อไปจนกระทั่งถึงวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ.2011
การที่รัฐบาลทหารยุคสลอร์ค ได้ปฏิเสธการถ่ายโอนอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือนดังกล่าวเมื่อปีค.ศ.1990 ทำให้การ ถนน สายปชต.ของพม่าสะดุดลงเป็นครั้งที่ 4
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
จะเห็นได้ว่า ถนนสายปชต.ของพม่าในช่วงนี้ นับว่ายากลำบากมาก แม้มีการเลือกตั้งไป ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 30 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1990 พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย ของนางอองซาน ซูจี จะได้รับชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น แต่รัฐบาลทหารยุคาพลเอก ซอ หม่อง ก็ยังกล้าปฏิเสธไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจให้ และยังคงบริหารประเทศในนามสลอร์คต่อไป ก่อนที่จะได้เปลี่ยนเป็นสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) เมื่อปีค.ศ.1997 จนกระทั่งวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ.2011 จึงยอมถ่ายโอนอำนาจ
เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่ควรทราบ
การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน และการย้ายเมืองหลวง*
พม่าได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ.1997 และได้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงย่างกุ้งไปยังกรุงเนปิดอร์ (Naypyidaw) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2005 เนปิดอร์ แปลว่า นครของกษัตริย์ (City of the Kings)
การปฏิวัติผ้ากาวสาวพัตร์ (Saffron Revolution 2007)*
เมื่อเดือนสิงหาคม 2007 (พ.ศ.2550) รัฐบาลได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบเท่าตัว และขึ้นราคาก๊าซหุงต้มถึงห้าเท่าอย่างฉับพลัน ทำให้ประชาชนไม่พอใจ ได้ทำการประท้วง เรียกชื่อว่าการปฏิวัติผ้ากาวสาวพัตร์ (Saffron Revolution) นำโดยพระภิกษุสงฆ์ แม่ชี นักศึกษา และได้มีประชาชนเข้าร่วมประท้วงมากกว่าหนึ่งแสนคน รัฐบาลได้สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2007 และมีพระlสงฆ์ถูกฆ่า อันเป็นเหตุทำให้พม่าถูกแซงค์ชันทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ
พายุไซโคลนนากิส 2008*
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2008 ได้เกิดพายุไซโคลนนากิส ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้แก่พม่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวะดี มียอดประชากรตายหรือสูญหายประมาณ 200,000 คน และมีคนมากกว่า 1 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
จะเห็นได้ว่า พม่าในยุคการปกครองของรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศภายใต้สภาสลอร์ค (SLORC) นับตั้งแต่ปีค.ศ.1888 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐเมื่อปีค.ศ.1997 จนกระทั่งได้มีการถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปีค.ศ. 2011 นอกจากพม่าจะต้องประสบการประท้วงต่อต้านรัฐบาลแล้ว ยังต้องประสบภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อปีค.ศ.2008 คือพายุไซโคลนนากิส
อย่างไรก็ดีในช่วงเวลานี้ พม่าได้เข้าเป็นสมาชิอาเซียนเมื่อปีค.ศ.1997 และได้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงย่างกุ้ง ไปกรุงเนปิดอว์ เมื่อปีค.ศ.2005(พ.ศ.2548)
6.การปฏิรูปประชาธิปไตย (Democratic Reforms)
เป้าหมายของ การออกเสียงลงประชามติเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2008 คือการสร้างประชาธิปไตยที่เจริญรุ่งเรืองและมีระเบียบวินัย (discipline-flourishing democracy) การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสหภาพพม่า (Union of Myanmar) เป็นสาธารณรัฐสหภาพพม่า (The Republic of the Union of Myanmar) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลงประชามติดังกล่าว
การจัดให้มีการเลือกตั้งปี 2010 ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ปรากฏว่า เป็นการเลือกตั้งที่สงบ แต่ก็มีการกล่าวหาว่า การเลือกตั้งไม่สะอาด ทั้งจากยูเอ็นและประเทศตะวันตกจำนวนมาก
พรรคการเมืองที่มีทหารหนุนคือ พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party) ได้ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2010 โดยได้รับคะแนนนิยมมากกว่าร้อยละ 80 หลังจากนั้นได้ยุบคณะปฏิวัติลงเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2011 เป็นอันสิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลทหารที่มีสืบเนื่องมาเป็นเวลายาวนานร่วม 50 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 และได้มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีพลเอก เต็ง เส่ง ได้เป็นประธานาธิบดี

ภายหลังการเลือกตั้งปี 2010 รัฐบาลมุ่งไปสู่ประชาธิปไตยเสรี (liberal democracy) เศรษฐกิจแบบผมสม (mixed economy) และการปรองดอง (reconciliation) ดังจะเห็นได้จาก การปล่อยตัวนาง อองซาน ซูจี ออกจากการกักกันไว้ที่บ้านพัก การจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การปล่อยนักโทษการเมืองมากกว่า 200 คน ออกกฎหมายแรงงานใหม่ที่อนุญาตให้จัดตั้งสหภาพแรงงานและนัดหยุดงานได้ การผ่อนคลายการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ และการวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเงินตรา
ผลของการปฏิรูปประชาธิปไตย
ผลของการปฏิรูปหลังการเลือกตั้งมีอยู่หลายประการ เช่น
การได้รับอนุมัติจากอาเซียนให้เป็นประธานอาเซียนในปี 2014 การมาเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นางฮิลลารี คลินตัน เมื่อเดือนธันวาคม 2011 ซึ่งเป็นการมาเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 50 ปี
นอกจากนี้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ยังได้พบกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง (Thein Sein) ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการทหาร และนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน การเปิดโอกาสให้ นางอองซาน ซูจีลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมเมื่อปี 2012 ซึ่งผลของการเลือกตั้งซ่อมปี 2012 ปรากฏว่าพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งซ่อมอย่างท่วมท้นโดยได้ 43 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 44 ที่นั่ง
การเลือกตั้งซ่อมปี 2012 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของพม่าที่ยินยอมให้ผู้แทนนานาชาติเข้ามาตรวจสอบกระบวนการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 (พ.ศ.2558)
จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2015 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้แข่งขันกันอย่างเปิดเผยนับตั้งแต่ปี 1990 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคสันนิบาตชาติเพื่อปชต. ของนางอองซาน ซูจีชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากทั้งสองสภา ทำให้ หติน คยอว์ (Htin Kyaw) ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มิใช่ทหารนับแต่ปี 1962 ส่วนนางอองซาน ซูจี มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ จึงได้เป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ (state counsellor) เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2016 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กำหนดขึ้นใหม่ เทียบเท่านายกรัฐมนตรี
การเลือกตั้งปี 2020 และการรัฐประหารปี 2021
พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย ของนางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งแบบแผ่นดินถล่ม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ทางกองทัพกล่าวหาว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้ง ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 กองทัพได้จับตัวนางอองซาน ซูจี และสมาชิกคนอื่น ๆ ของพรรค กองทัพให้อำนาจแก่ผู้บัญชาการทหารสูงุด คือ มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่
การรัฐประหารยึดอำนาจของรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาาน ซูจีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 เป็นการทำให้การสร้างถนน สายปชต.ของพม่า ต้องสะดุดลงเป็นครั้งที่ 5
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
การที่พรรคสันนิบาตชาติเพื่อปชต.ของนางอองซาน ซูจี ได้รับชนะเสียงข้างมากในทั้งสองสภาในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 แต่กลับถูกกองทัพนำโดย มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกระทำการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 โดยอ้างเหตุผลว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีการโกงเลือกตั้งมาก และได้แจ้งเตือนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร จึงต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในฐานะผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญกระทำการรัฐประหารเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในเวลา 1 ปี
การยึดอำนาจรัฐประหารดังกล่าว เป็นเหตุทำให้ประชาธิปไตยพม่าที่กำลังเบ่งบานและมีทีท่าว่ากำลังจะไปได้ด้วยดี ต้องมีเหตุสะดุดลงแบบคาดไม่ถึง
ปัญหาคือ กองทัพมีเหตุผลแค่นั้นจริง ๆ หรือ
7.วิเคราะห์สาเหตุของการยึดอำนาจรัฐประหาร ปี 2021
เพื่อทำความเข้าใจในการสร้าง ถนนสายประชาธิปไตยของพม่าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมขอวิเคราะห์สาเหตุของการยึดอำนาจรัฐประหารพลเรือนของนางอองซาน ซูจี ซึ่งได้ครองอำนาจในการบริหารประเทศมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 หลังจากประสบชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีค.ศ.2015 อย่างถล่มทลาย โดยจะใช้แนวคิดตามกรอบรัฐธรรมนูญพม่าปี 2008
7.1 โครงสร้างรัฐสภาพม่า
ตามรัฐธรรมนูญพม่าปี 2008 หมวด 4 มาตรา 74 รัฐสภาประกอบด้วยสภาจำนวน 2 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร และสภาสูง
7.1.1 สภาผู้แทนราษฎร
ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ ประเภทแรกได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามเขตเมืองต่าง ๆ ตามสัดส่วนของประชากร และประเภทที่สอง ได้มาจากการแต่งตั้งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด
สำหรับจำนวนสมาชิกแต่ละประเภทเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 109 กล่าวคือ
สมาชิกประเภทแรก ให้มีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 330 คน ได้รับเลือกตั้งจากเขตเมืองต่าง ๆ ตามสัดส่วนประชากร
สมาชิกประเภทที่สอง ให้มีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 110 คน ซึ่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่งตั้งบุคคลจากกองทัพ
รวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดมีจำนวน 450 คน ในจำนวนนี้เป็นบุคคลจากกองทัพจำนวน 110 คน คิดเป็นร้อยละ 24 หรือประมาณ ¼ ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด
7.1.2 สภาสูง
มีสมาชิกสภาสูง จำนวนทั้งหมด 224 คน ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 2 ประเภทเช่นเดียวกันกับสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับจำนวนสมาชิกแต่ละประเภท เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 คือ
ประเภทแรก สมาชิกสภาสูงที่ได้มาจากการเลือกตั้งจากแต่ละมณฑล และรัฐ แห่งละ 12 คน รวมทั้งจากดินแดนปกครองตนเองแห่งละ 1 คน
ประเภททีสอง สมาชิกที่ได้มาจากบุคคลในกองทัพ และแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีจำนวน 56 คน
จะเห็นได้ว่า สมาชิกสภาสูง เป็นบุคคลจากกองทัพจำนวน 56 คน คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนสมาชิกสภาสูงทั้งหมด 224 คน
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า กองทัพมีทหารที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปเป็นสมาชิกรัฐสภาทั้งสภาผู้แทนราษฎร และสภาสูงมากถึงร้อยละ 25 ดังนั้น หากรัฐบาลพลเรือนที่ได้มาจากการเลือกตั้งจะลงมติให้ได้คะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 75 จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก หากสมาชิกรัฐสภาที่เป็นตัวแทนจากกองทัพไม่เอาด้วย
7.2 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี
ตามรัฐธรรมนูญพม่าปี 2008 ได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไว้ตามมาตรา 59 สรุปได้ดังนี้
7.2.1 จะต้องจงรักภักดีต่อสหภาพพม่าและประชาชนสหภาพพม่า
7.2.2 จะต้องเป็นพลเมืองพม่า โดยทั้งบิดามารดาเกิดในพม่า และเป็นคนสัญชาติพม่า
7.2.3 จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี
7.2.4 จะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในกิจการของสหภาพพม่า อย่างเช่น การเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ หรือการทหาร
7.2.5 จะต้องเป็นผู้ที่ได้อยู่อาศัยในสหภาพพม่าติดต่อกันเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 20 ปี นับจนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดี
*7.2.6 จะต้องไม่เป็นผู้ที่มีบิดาหรือมารดา คู่สมรส หรือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายคนใดคนหนึ่งหรือคู่สมรสของบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวเป็นคนต่างชาติ
7.2.7 นอกเหนือไปจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามข้างต้นแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
นางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย มีคุณสมบัติในการจะเป็นประธานาธิบดีพม่าได้ทุกประการ ยกเว้นการมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 7.2.6 เนื่องจากคู่สมรสเป็นชาวอังกฤษ
7.3 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญพม่าปี 2008
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญพม่าปี 2008 สามารถทำได้ตามหมวด 7 มาตรา 433-436 พอจะสรุปได้ดังนี้
7.3.1 ผู้มีสิทธิยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สมาชิกรัฐสภาจำนวน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด
7.3.2 การลงมติในเรื่องที่สำคัญ จะต้องได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 75 หรือมากกว่า ¾ ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด
หลังจากนั้นจะต้องนำไปลงประชามติทั่วประเทศ โดยจะต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
7.3.3 การลงมติในเรื่องธรรมดาหรือไม่สำคัญ จะต้องได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 75 หรือมากกว่า ¾ ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด แต่ไม่ต้องนำไปลงประชามติ
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่าฉบับปี 2008 เป็นเรื่องที่ยากจะกระทำได้ ถ้าหากสมาชิกรัฐสภาสายทหารไม่เอาด้วย เพราะต้องใช้คะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 75 หรือมากกว่า ¾ ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด
แต่ถ้ามีสมาชิกสายทหารบางส่วนให้ความร่วมมือ จนเป็นเหตุทำให้การลงมติได้คะแนนเสียงในรัฐสภามากกว่าร้อยละ 75 หากเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การแก้ไขลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หรือการลดจำนวนสมาชิกรัฐสภาสายทหารลงมา ก็จะต้องผ่านด่านการลงประชามติที่จะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนน
อย่างไรก็ตาม หากเป็นช่วงกระแสพรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งรัฐบาลเหมือนอย่างพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซาน ซูจี มาแรง สิ่งที่ยากก็อาจจะไม่ยากก็ได้
ดังนั้น หากวิเคราะห์โดยอาศัยแนวคิดตามกรอบรัฐธรรมนูญพม่า ปี 2008 กองทัพคงจะเล็งเห็นว่า หากพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2020 ก็คงจะเข้ามารื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญจากหลักการและเหตุผลที่รัฐบาลทหารได้วางไว้ กลายเป็นหลักการและเหตุผลใหม่ที่ทางรัฐบาลทหารและกองทัพไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด นั่นคือ การยอมให้ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ได้ปกครองตนเองในรูปแบบรัฐรวม หรือมีสิทธิขอถอนตัวออกจากสหภาพพม่าไปตั้งเป็นประเทศใหม่
นี่คือสิ่งที่ทางกองทัพกังวลและคงยอมไม่ได้
8. สรุป
บทความ การสร้าง ถนน สายปชต.ของพม่าที่แสนยากลำบาก ต้องการนำเสนอให้ท่านผู้อ่านมองเห็นภาพความยากลำบากในการสร้างและพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยของพม่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1947 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์จากอังกฤษในปีถัดมา คือปีค.ศ.1948 จนกระทั่งปัจจุบัน โดยได้ชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็นการสร้างถนน สายประชาธิปไตยต้องสะดุดหรือประสบความยากลำบากครั้งใหญ่ จำนวน 4 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 เมื่อปีค.ศ.1947 ในขณะที่กำลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่า ณ กรุงย่างกุ้ง นายพลอองซาน ผู้นำในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ และรัฐมนตรีหลายคน ถูกลอบสังหาร อันเป็นเหตุทำให้ทิศทางของการร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไป
ครั้งที่ 2 เมื่อปีค.ศ.1962 กองทัพภายใต้การนำของพลเอก เนวิน ได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ของนายก ฯ อูนุ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประเทศพม่าต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารเป็นเวลายาวนานร่วม 50 ปี
ครั้งที่ 3 เมื่อปี ค.ศ.1988 ได้เกิดการประท้วงรัฐบาลพลเอก เนวิน จนรัฐบาลต้องใช้กำลังทหารปราบปรามอย่างรุนแรง และเป็นเหตุทำให้มีคนเสียชีวิตหลายพันคน พลเอก ซอ หม่อง ได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอก เนวิน
ครั้งที่ 4 เมื่อปี ค.ศ.1990 ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่ไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนได้ปกครองประเทศตามครรลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 กองทัพภายใต้การนำของ พลเอก อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้กระการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี โดยอ้างว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 มีการทุจริตโกงการเลือกตั้งในวงกว้าง
สำหรับความเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณประดิษฐ์

คุณประดิษฐ์ เป็นลูกศิษย์ปริญญาโท รามคำแหงของผมผู้หนึ่ง รุ่นเดียวกับคุณภัทรนันท์ และคุณเรืองศักดิ์ ที่ได้เข้ามาร่วมสนทนาก่อนหน้านี้แล้ว คุณประดิษฐ์เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ดำรงตำแหน่ระดับหัวหน้าหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง
“สวัสดี คุณประดิษฐ์ อาจารย์ขอต้อนรับเข้าสู่การสนทนา คุยกับดร.ชา ซึ่งเป็นครั้งแรกของคุณประดิษฐ์ ด้วยความยินดียิ่ง
วันนี้เราจะมาคุยในเรื่องของการสร้างถนน สายประชาธิปไตยของพม่า ว่าทำไมจึงยากลำบากเหลือเกิน ซึ่งอาจารย์เชื่อว่า สถานการณ์ปัจจุบันของพม่า กำลังเป็นที่สนใจของคนทั้งโลก หรือคุณประดิษฐ์คิดอย่างไร ” ผมทักทายคุณประดิษฐ์พร้อมกับบอกจุดประสงค์เพื่อให้คุณประดิษฐ์รู้สึกผ่อนคลาย ไม่ใช่มาเข้าสอบสัมภาษณ์เอาคะแนน
“สวัสดีครับ อาจารย์ ผมยอมรับว่า ผมรู้สึกตื่นเต้นที่มีโอกาสได้เข้ามาเป็นคู่สนทนากับอาจารย์ในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการสนทนาในหัวข้อที่เรียกว่ากำลังเป็นที่สนใจของคนทั้งโลก
ถ้าเช่นนั้น ผมขออนุญาตแสดงความเห็นก่อนนะครับ
ในความเห็นของผม คิดว่าปัญหาอุปสรรคในการสร้างประชาธิปไตยในพม่า มีสาเหตุมาจากปัญหาของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งมีจำนวนประชากรราวร้อยละ 30 ของยอดประชากรทั้งหมดของประเทศพม่า ” คุณประดิษฐ์ยิงเข้าเป้าทันที
“อาจารย์เห็นด้วยกับคุณประดิษฐ์นะ แต่ขอทราบเหตุผลนิดหนึ่งว่า ทำไมชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพม่า จึงเป็นอุปสรรคในการสร้างปชต.ในพม่ามากมาย ” ผมถามเจาะลึกลงไปเล็กน้อย

“ คืออย่างนี้ครับอาจารย์ ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในพม่า มีอยู่ 7 กลุ่มใหญ่ หรือ 7 รัฐ แต่ละรัฐมีเชื้อชาติ ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง และก็อาศัยแยกอยู่ต่างหาก คืออาศัยอยู่ตามที่สูงตามป่าเขา ไม่ได้อยู่ปะปนกับชนชาติพม่า ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่บริเวณตามที่ราบลุ่มของแม่น้ำสายต่าง ๆ
ในยุคที่พม่ายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อังกฤษได้แบ่งการปกครองชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ออกจากชนชาติพม่า ซึ่งชอบอาศัยตามที่ราบลุ่ม โดยใช้การปกครองคนละระบบกันเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ดังนั้น ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ เขาจึงเคยชินกับการอยู่แยกต่างหากกับคนพม่า
ดังนั้น เขาจึงอยากปกครองตนเองมากกว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ” คุณประดิษฐ์ร่ายยาวตอบราวกับว่าเคยไปเที่ยวพม่ามาก่อน
“ การที่คุณประดิษฐ์อ้างว่า ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ มีความต้องการปกครองตนเอง ฟังดูก็เป็นประชาธิปไตยนะ แล้วทำไมจึงกล่าวว่า ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยในพม่า ลองขยายความให้ชัดได้ไหม ” ผมจี้ให้คุณประดิษฐ์ใช้ความคิดในการตอบมากขึ้น
“ คืออย่างนี้ครับอาจารย์ ชนชาติพม่าโดยเฉพาะกองทัพเขาเห็นว่า ประเทศพม่าจะไม่เป็นเอกภาพ ถ้ายอมให้ชนกลุ่มน้อยได้ปกครองตนเองในรูปแบบรัฐรวม เพราะทหารเขาต้องการให้พม่าปกครองในรูปแบบรัฐเดี่ยว แม้ว่าประเทศพม่าจะมีชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์จำนวนมากก็ตาม
อย่างที่รัฐบาลทหารพม่า เขาชอบใช้คำว่า เอกภาพท่ามกลางความแตกต่าง ” คุณประดิษฐ์ตอบได้ลึกซึ้งไม่น้อยเลย
“ ทำไมกองทัพจึงได้กระทำการัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอยู่หลายครั้ง เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาขนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ของพม่า ” ถามเจาะลึกลงไปอีก
“เรื่องนี้ถ้าไม่วิเคราะห์หรือคิดให้ลึกซึ้งก็จะไม่เข้าใจ
ผมขอตอบอย่างนี้ว่า ในฐานะคนทำงานอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผมก็จะมองภาพการแก้ปัญหาการเมืองด้วยการการเมืองออก หมายความว่า รัฐบาลพลเรือนพม่าที่มาจากการเลือกตั้ง คงเล็งเห็นว่า ตราบใดรัฐของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ทั้ง 7 รัฐ ไม่ได้ปกครองตนเองในรูปแบบรัฐรวม พวกเขาก็จะไม่พอใจ มีโอกาสก็จะจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับทหารของรัฐบาลพม่า เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องมานานแล้ว ดังนั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงมีแนวโน้มที่จะยอมให้รัฐของชนกลุ่มน้อยได้ปกครองตนเองแบบมลรัฐของสหรัฐอเมริกา ” คุณประดิษฐ์ตอบแบบคนเข้าใจปัญหาชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
“แต่แนวคิดนี้ตรงกันข้ามกับกองทัพ กองทัพก็เลยมักจะยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายออกไป
วันนี้อาจารย์ต้องขอขอบคุณ คุณประดิษฐ์มาก ที่กรุณาสละเวลามาพูดคุยกับอาจารย์ คิดว่า บทสนทนาของเราคงจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านตามสมควร
โอกาสหน้าค่อยคุยกันใหม่นะ ” ผมกล่าวยุติการสนทนา
“ ด้วยความยินดีครับ อาจารย์”
ดร.ชา
2/03/21
ขอพระคุณท่านอาจารย์ครับ ที่ให้โอกาศได้เป็นคู่สนทนา สำหรับบทความเรื่องนี้ทำให้เห็นเส้นทางประชาธิไตย และทิศทางการเมือง การแกตรองของประเทศเพื่อนบ้านเรา ชาวพม่าได้อย่างชัดเจนครับผม
การได้มีส่วนร่วม คงทำให้คุณประดิษฐ์จำเนื้อหาของบทความได้ดีขึ้น
การศึกษาเรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ของเขาได้ถูกต้อง
ขอบคุณ คุณประดิษฐ์ที่ได้มาแบ่งปันความรู้ ในมุมมองของตนเองแก่เพื่อนๆด้วยค่ะ
ได้ทราบอีกหลักและเหตุผลการสร้างกระบวนการให้ได้มีซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศที่มีภูมิสังคมที่ต่างกันออกไป ขอบคุณมากครับ
ความแตกต่างในบริบทของแต่ละประเทศ ย่อมจะส่งต่อการทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป
ปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงตายถึง 3,000 ศพ โหดร้ายมากครับ
ตามประวัติศาสตร์ของพม่านับว่าไม่ธรรมดาเลยในเรื่องการปราบปรามอย่างเด็ดขาด
ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมแสดงความคิดเห็นกับบทความท่านอาจารย์ครับผม
อาจารย์คะ เผ่าอินคาในรัฐฉานประเทศพม่า ประท้วงการทำรัฐประหาร ชนเผ่านี้มีความเป็นมาอย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ
เผ่าอินทา อยู่แถบทะเล สาบอินเล ในรัฐฉาน มาเป็นเวลาร่วมร้อยปีแล้ว