จากกรุงลอนดอน เสด็จเยือน สกลนครครั้งประวัติศาสตร์ 2539 เป็นบทความลำดับที่ 4 ในหมวด 10 เรื่องเล่า เหตุการณ์ในความทรงจำที่ดี โดยจะเล่าถึง ความเป็นมาของการได้รับเสด็จสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พระราชประวัติย่อของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ฯ การเตรียมการรับเสด็จของจังหวัดสกลนคร การแก้ปัญหาการทารุณกรรมสัตว์เพื่อการรับเสด็จฯ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ในสมัยปัจจุบัน การคัดเลือกบ้านราษฎรที่จะให้สมเด็จบรมพระราชินีนาถ ฯ เสด็จทอดพระเนตร การรับเสด็จ ณ บ้านนานกเค้า สรุป และคุยกับดร.ชา
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ผมได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับการรับเสด็จที่สกลนครเมื่อปีพ.ศ.2538 มาแล้วจำนวน 2 บทความ คือ สกลนคร เป็นจังหวัดที่ทำให้ผมได้รับพระราชทานผ้าไตรจีวร (2) และ อานิสงส์ ของการบวชถวายเป็นพระราชกุศล (3)
Table of Contents
ถวายความอาลัย สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ผมเป็นผู้หนึ่งที่ได้มีโอกาสถวาย การรับเสด็จสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 อย่างใกล้ชิด ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินจากรุงลอนดอนเยือนจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2539 เพื่อทอดพระเนตรวิถีชีวิตชาวชนบทไทย ณ บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
ในโอกาสนี้ ผมจึงขอถวายความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระองค์ ณ ปราสาทบัลมอรัล แคว้นสกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ในขณะที่ทรงมีพระชนมายุ 96 พรรษา ผ่านทางบทความนี้
อนึ่ง สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นบุคคลหมายเลข 3 วันพระราชสมภพคือ 21 เมษายน ค.ศ.1926 ทรงเป็นผู้มีพระราชหฤทัยเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น มานะบากบั่น และไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค
ดร.ชา 369
11/09/22
1.ความเป็นมาของการรับเสด็จสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เยือนสกลนคร เมื่อปีพ.ศ.2539

เมื่อปีพ.ศ.2539 เป็นปีมหามิ่งมลคลของพสกนิกรชาวไทย เพราะเป็นปีของการฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 รัฐบาลได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ รวมทั้งการมีงานพระราชพิธี กาญนาภิเษก พ.ศ.2539
ในปี พ.ศ.2539 สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าฟ้าฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ ได้เสด็จจากกรุงลอนดอนมาเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 โดยได้มีหมายกำหนดการเสด็จเยือนจังหวัดสกลนครเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม และ 1 พฤศจิกายน 2539 ในการนี้ได้มีหมายกำหนดการทอดพระเนตรวิถีชีวิตชาวชนทบทไทย ณ บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง สกกลนคร ด้วย
2.พระราชประวัติย่อของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร
ก่อนจะเล่าเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เยือนสกลนครของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมควรที่จะรับทราบพระราชประวัติย่อของพระองค์สักเล็กน้อย

สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth 2) ทรงมีพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1926 ปัจจุบันมีพระชนมายุได้ 94 พรรษา ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติสืบต่อพระเจ้าจอร์จที่ 6 (King George VI) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1952 นับเป็นระยะเวลาที่ได้ครองราชย์จนถึงปัจจุบัน 68 พรรษา และเป็นพระมหากษัตริย์บริเตนที่ได้เสวยราชย์ยาวนานที่สุดและยังมีพระชนชีพอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทรงเป็นพระประมุขแห่งรัฐที่เป็นสตรีที่ได้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก
แต่ก็มีข่าวเมื่อปี 2560 ว่า พระองค์จะตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติเเพื่อให้พระราชโอรสองค์โต คือ สมเด็จเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เสด็จเสวยราชสมบัติแทนภายในอีก 4 ปีข้างหน้า (ปี 2564) ส่วนจะเป็นความจริงหรือไม่ คงต้องคอยติดตามดู
นอกจากทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขของสหราชอาณาจักรแล้ว ยังทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขของประเทศในเครือจักรภพอังกฤษอีก 15 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จาไมกา บาร์บาโดส เกรเนดา ปาปัว นิวกินี (Papua New Guinea) หมู่เกาะโซโลมอน (Solomon Islands) ทุวาลู (Tuvalu) เป็นต้น
พระราชสวามี คือ เจ้าฟ้าลิป ดยุค แห่งเอดินเบอระ (Philip, Duke of Edinburg)
รายละเอียดเกี่ยวกับพระราชประวัติ อาจศึกษาได้ในเว็บไซต์ข้างล่างนี้
https://www.britannica.com/biography/Elizabeth-II
https://en.wikipedia.org/wiki/Elizabeth_II
3.การเตรียมการรับเสด็จ ฯ ของจังหวัดสกลนคร
เมื่อจังหวัดสกลนครได้รับทราบหมายกำหนดการที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะเสด็จพระราชดำเนินจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เยือนสกลนครในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราชแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัด ฯ ในขณะนั้น คือ นายเกียรติพันธ์ น้อยมณี ได้ออกคำสั่งเตรียมการรับเสด็จ และประชุมเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ แต่จะขอนำมากล่าวเฉพาะที่ผมในฐานะนายอำเภอเมืองสกลนครในขณะนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องมาเล่าให้ทราบ คือ
3.1 การเตรียมพัฒนาและปรับสภาวะแวดล้อมของหมู่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร
หมู่บ้านานกเค้า ตำบลห้วยยาง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณรอบพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ บนเส้นทางหลวงแผ่นดินสกลนคร-กาฬสินธุ์ เป็นหมู่บ้านที่มีหมายกำหนดการนำเสด็จพระบรมราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เสด็จทอดพระเนตรวิถีชีวิตชาวชนบทไทย ดังนั้นผมจึงได้รับมอบหมายจากจังหวัดให้ดูแลเรื่องความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชนบ้านนานกเค้าไว้ให้พร้อม
ผมได้มอบหมายให้คุณประสิทธิ์ ฯ พัฒนาการอำเภอ และคุณเสน ฯ เกษตรอำเภอ ร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งการเตรียมการในส่วนนี้ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากมากนัก เพราะเป็นงานประจำของพัฒนการอำเภอและเกษตรอำเภออยู่แล้ว
3.2 การแก้ปัญหาทารุณกรรมสัตว์
เนื่องจากชาวอังกฤษหรือชาวสหราชอาณาจักรซึ่งมีกรุงลอนดอน เป็นเมืองหลวงมีความรักใคร่และเอ็นดูสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวเป็นอันมาก ราวกับเป็นบุคคลในครอบครัวทีเดียว ไม่ได้เลี้ยงแบบทิ้งขว้างเหมือนประเทศไทย ทางรัฐบาลไทยจึงไม่อยากให้ขบวนเสด็จหรือส่วนล่วงหน้าของขบวนเสด็จของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ได้พบเห็นการวางจำหน่ายเนื้อสุนัขในท้องตลาด เพราะจะทำให้เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของประเทศไทยว่า เป็นประเทศที่มีการทารุณกรรมสัตว์อันเป็นการแสดงถึงความป่าเถื่อนอย่างหนึ่ง จังหวัดจึงมีนโยบายให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน

ในยุคสมัยนั้น เรื่องการจำหน่ายเนื้อสุนัขในพื้นที่สกลนครอาจมีอยู่หลายอำเภอและหลายตำบล แต่พื้นที่ที่มีผู้คนกล่าวขวัญมากที่สุด คือ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร ซึ่งตั้งอยู่ห่างตัวจังหวัดออกไปทางจังหวัดนครพนมราว 15 กิโลเมตร กล่าวคือ ในยุคสมัยนั้น หากท่านผู้อ่านมีโอกาสไปจังหวัดสกลนคร ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อที่จะได้เห็นการวางจำหน่ายเนื้อสุนัขตามท้องตลาดดังกล่าว หลายคนพอมีโอกาสเดินทางไปถึงสกลนคร มักจะถามหาเนื้อสุนัข หรืออย่างที่นิยมเรียกกันว่า เนื้อสวรรค์
4.การแก้ปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ช่วงเตรียมการรับเสด็จ ฯ
การเสด็จพระราชดำเนินจากกรุงลอนดอน เยือนจังหวัดสกลนคร มีปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งที่จังหวัดสกลนครต้องรับผิดชอบในการแก้ไขคือ ปัญหาการรุณกรรมสุนัข
การแก้ไขปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ในยุคนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะยังไม่มีพระราชบัญญัติการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ฯ ใช้บังคับเหมือนอย่างทุกวันนี้
ท่านอาจจะสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้น ผมมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร
ในยุคสมัยนั้น มีคนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดสกลนครนิยมกินเนื้อสุนัขโดยเชื่อว่าเป็นอาหารเสริมพลังทางเพศ วิธีการก็คือ เอารถบรรทุกเล็กออกลาดตระเวนตามตำบลหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้ชาวบ้านที่เลี้ยงสุนัขแบบตามมีตามเกิด เอาสุนัขมาแลกกับภาชนะของใช้ในครัว เช่น กาละมัง ถ้วยชาม หม้อ เป็นต้น
หลังจากนั้น ก็จะเอาสุนัขขึ้นบนหลังรถที่ได้ทำกระบะขึ้นสูงเพื่อให้สามารถบรรทุกสุนัขได้หลายตัว และเมื่อรวบรวมสุนัขได้มากจนแออัดเต็มกระบะรถแล้วจึงเดินทางกลับสกลนคร เพื่อนำสุนัขไปขังรวมกันไว้ในคอก รอวันนำมาเชือดและชำแหละตามที่มีลูกค้าสั่งต่อไป
ภาพดังกล่าว หากใครได้มีโอกาสพบเห็น ก็ล้วนแล้วรู้สึกเวทนาสงสารสุนัขเหล่านั้นด้วยทั้งนั้นที่ต้องถูกทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส
ผมได้หารือกับคุณหมอตุ้ง ปศุสัตว์อำเภอเมืองสกลนครในขณะนั้นว่า เราจะหาทางแก้ปัญหาทารุณกรรมสัตว์ที่มีอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองสกลนครได้อย่างไรดี เพื่อมิให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยติดลบในสายตาต่างชาติ อย่างน้อยที่สุดในช่วงเวลาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เสด็จเยือนสกลนคร
ในที่สุดได้ข้อยุติว่า ให้เอาอำนาจของสัตวแพทย์และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 มาเป็นมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญส่วนหนึ่ง สรุปได้ดังนี้
เพื่อเป็นการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เจ้าของสุนัขมีหน้าที่จัดการให้สุนัขได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อสุนัขมีอายุตั้งแต่สองเดือนขึ้นไปแต่ไม่เกินสี่เดือน และได้รับการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบรับรอง (มาตรา 5 (1))
และเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ให้สัตวแพทย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มอบเครื่องหมายประจำตัวสัตว์เพื่อแสดงว่าสุนัขนั้นได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และเจ้าของสุนัขต้องนำเครื่องหมายนั้นแสดงไว้ที่ตัวสุนัขให้เห็นได้ชัดเจน (มาตรา 6)
หากสนใจรายละเอียด อาจดูได้ในเว็บไซต์ข้างล่างนี้
https://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=304399&ext=htm
ผมได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ออกประกาศอำเภอเมืองสกลนครแจ้งให้ทราบทั่วกันว่า อำเภอโดยปศุสัตว์อำเภอและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะตั้งด่านตรวจสุนัขที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และได้มอบหมายให้หมอตุ้งและปลัดอำเภอฝ่ายป้องกัน คือปลัดสุพัฒน์ ฯ ฯไปประสานการปฏิบัติกับทางตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลดงมะไฟและสถานีตำรวจภูธรตำบลตาดโตน ซึ่งเป็นสถานีตำรวจภูธรประจำตำบลตั้งด่านตรวจพวกรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กที่ขนสุนัขที่ได้มาจากท้องที่จังหวัดต่าง ๆ ผ่านไปตามเส้นทางหลวงแผ่นดินสาย สกลนคร-อุดรธานี และสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ ตามลำดับแล้วดำเนินคดีฐานไม่นำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
ผมขอเล่าสอดแทรกตรงนี้เล็กน้อย เพื่อความเข้าใจอันดีของท่านผู้อ่านว่า ในยุคนั้น ตำรวจยังเป็นกรมตำรวจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีการแบ่งส่วนราชการเป็นส่วนภูมิภาคทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ โดยสถานีตำรวจภูธรอำเภอ มีฐานะเป็นส่วนราชการหนึ่งของอำเภอด้วย ทำให้นายอำเภอมีอำนาจในการสั่งการตำรวจได้
ปรกฎว่า มาตรการนี้ใช้ได้ผลดีทีเดียว เพราะร้อยทั้งร้อย ไม่มีสุนัขตัวใดที่ถูกนำมาขังรวมกันจนอัดแน่นมาในรถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสนุขบ้า จึงทำให้พวกนี้จำใจต้องหยุดหยุดขนสุนัขเพื่อนำไปชำแหละในช่วงระยะของการเตรียมการเสด็จ ฯ เป็นการชั่วคราว
5.การป้องกันและแก้ปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ในปัจจุบัน
แต่ปัจจุบันนี้ปัญหาดังกล่าวได้คลี่คลายลงมาก เพราะมีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิการสัตว์ พ.ศ.2557 ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ไว้ตามมาตรา 25 อย่างชัดเจนจึงทำให้บุคคลไม่สามารถกระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย หากผู้ใดฝฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท (มาตรา 31)
จะเห็นได้ว่า อัตราโทษผู้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้สูงมากพอจะทำให้คนที่คิดกระทำความผิดหวาดกลัวได้
หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาอ่านเว็บไซต์ข้างล่างนี้
https://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=719599&ext=htm
6.การคัดเลือกบ้านราษฎร ที่จะให้สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ฯ เสด็จทอดพระเนตร
ก่อนจะถึงวันเสด็จ ฯ เยือนสกลนคร ทางวัง กระทรวงการต่างประเทศ และจังหวัดสกลนคร ได้พิจารณาร่วมกันว่า สมควรจะให้สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เสด็จทอดพระเนตรวิถีชีวิตชาวชนบทไทย ณ บ้านหลังใดดี ในที่สุดได้มีความเห็นร่วมกันว่า สมควรให้เสด็จ ฯ ทอดพระเนตร บ้านของ นายวัง พันธุลา ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร
สาเหตุที่เลือกเอาบ้านนายวัง พันธุลา ก็เพราะเป็นบ้านทรงไทยโบราณ ชั้นเดียว มีใต้ถุนสูง นอกจากอาชีพทำนาแล้ว เจ้าของบ้านยังมีอาชีพเสริมด้วยการทอกี่กระตุก และบริเวณรอบบ้านมีการเลี้ยงหมู เป็ดไก่ ตามวิถีชีวิตของชาวชนบทไทยโดยทั่วไป

นอกจากนี้ยังได้มีการมอบหมายภารกิจในวันเสด็จ ฯ ไว้ว่า ให้ผมในฐานะนายอำเภอท้องที่ เป็นผู้คอยรับเสด็จ ณ บริเวณหน้าบ้านของนายวัง พันธุลา ให้ภรรยาของผม และภรรยาของผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสกลนคร เป็นผู้ทูลเกล้า ฯ ถวายพวงมาลัยกร ส่วนตัวนายวัง พันธุลา และภรรยาให้นั่งพับเพียบอยู่กับพื้น โดยให้ผมเป็นผู้ถวายรายงานเบิกตัวนายวัง พันธุลา หลังจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยศในขณะนั้น) จะทรงเป็นผู้นำเสด็จ ฯ เข้าทอดพระเนตรกิจกรรมภายในบ้านของนายวัง พันธุลา ด้วยพระองค์เอง
7.การรับเสด็จ ฯ บ้านนานกเค้า วันที่ 31 ตุลาคม 2539
เมื่อถึงวันเสด็จ ฯ คือ วันที่ 31 ตุลาคม 2539 สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าฟ้าฟิลิป ดยุค แห่งเอดินเบอระ ได้เสด็จโดยเครื่องบินพระที่นั่งถึงท่าอากาศยานสกลนคร
หลังจากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เพื่อเข้าเผ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งได้เสด็จประทับอยู่ก่อนแล้ว
หลังจากได้ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถตามสมควรแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ฯ พระราชอิสริยศในขณะนั้นได้นำเสด็จ ฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังบ้านนานกเค้า และได้เสด็จ ฯ ถึงบ้านขอนายวัง พันธุลา เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น.

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงบ้านนายวัง พันธุลา ผมได้ถวายความเคารพพร้อมกับกล่าวถวายรายงานเป็นภาษาอังกฤษตามที่ได้เตรียมการไว้ว่า “ May it please Your Majesty. I am the chief district officer of Muang Sakon Nakhon. My name is Chartri Direksri.”
หลังจากนั้น ทั้งสองพระองค์ให้ยื่นพระหัตถ์ให้ผมสัมผัสตามธรรมเนียมฝรั่ง
อาจารย์ศิริพร ฯ ภรรยาของผมได้ทูลเกล้า ฯ ถวายมาลัยกรแด่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 และภรรยาผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสกลนคร ( พ.ต.อ.สุพจน์ ฯ) ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายมาลัยกรแด่เจ้าฟ้าฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ โดยผมได้ยินเจ้าฟ้าฟิลิป ฯ ตรัสถามผู้ทูลเกล้า ฯ ถวายมาลัยกรแด่พระองค์ด้วยพระสุรเสียงเบา ๆ ว่า “Hand made?” (ทำด้วยมือหรือ)
ต่อจากนั้น ผมได้ขอเบิกตัวนายวัง พันธุลา เจ้าของบ้านว่า “May I introduce Mr.Wang Puntula, the owner of this house.” นายวัง พันธุลา และภรรยาได้ก้มลงกราบแทบพระบาทของทั้งสองพระองค์ตามแบบธรรมเนียมไทย

หลังจากกันนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ได้ทรงนำเสด็จทอดพระเนตรวิถีชีวิตชาวชนบทไทยภายใต้ถุนบ้านและบริเวณรอบบ้านของนายวัง พันธุลา พอได้สมควรแก่เวลาแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์เพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถตาม พระราชอัธยาศัยต่อไป

8.สรุป
เมื่อปีพ.ศ.2539 ซึ่งเป็นปีแห่งการฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยเจ้าฟ้าฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ ได้เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงลอนดอนเยือนราชอาณาจักรไทย รวมทั้งจังหวัดสกลนคร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2539 ผมในฐานะนายอำภอเมืองสกลนครในขณะนั้น ได้มีโอกาสถวายการต้อนรับในวโรกาสเสด็จพระราดำเนินเพื่อทอดพระเนตรวิถีชีวิตของชาวชนบทไทย ณ บ้านของนายวัง พันธุลา บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2539
เหตุการณ์ดังกล่าว นับเป็นความทรงจำที่ดีอย่างหนึ่งของผม จนยากที่จะลืมได้ และผมก็เชื่อว่า เป็นบุญวาสนาอย่างหนึ่งของผม ที่ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองสกลนครในช่วงเวลานั้นพอดี จึงได้มีโอกาสดังกล่าวอันเป็นสิริมงคลอันสูงสุดในชีวิตครั้งหนึ่งของผมและครอบครัว
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาอ่านได้ใน คุยกับดร.ชาท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณพิศวง (ชื่อสมมุติ) เพื่อนร่วมงานใกล้ชิดของผมเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองสกลนคร
“สวัสดี คุณพิศวง วันนี้ อาจารย์อยากชวนคุยเรื่องการรับเสด็จควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงลอนดอนมาเยือนราชอาณาจักรไทย ในส่วนของจังหวัดสกลนครหน่อย ดีไหม ”ผมเชิญชวนคุณพิศวงสนทนา
“ สวัสดีค่ะ อาจารย์ ดิฉันคิดว่า เป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจมาก ไม่เคยคิดมาก่อนว่า ตัวเองจะมีบุญวาสนาได้เฝ้ารับเสด็จเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินของประเทศมหาอำนาจประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักรที่สกลนครกับเขาด้วย
ถ้าเช่นนั้น ดิฉันขอเป็นฝ่ายถามเลยนะคะ อาจารย์มีความรู้สึกอย่างไรบ้างที่มีโอกาสได้เผ้ารับเสด็จควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2539 ” คุณพิศวงถามความรู้สึกของผมในภาพรวม
“ บอกตามตรงเลยนะ คุณพิศวง ทันทีที่ได้รับทราบว่า ทางวังและกระทรวงการต่างประเทศ มีความเห็นตรงกันว่า สมควรให้นายอำเภอเมืองสกลนคร คือ ตัวอาจารย์ เป็นผู้คอยเฝ้ารับเสด็จ ฯ และถวายรายงานตัว ณ บ้านนายวัง พันธุลา อาจารย์ก็รู้สึกตื่นเต้นมาก เหมือนฝันเลยเชียวแหละ
เพราะนอกจากจะตื่นเต้นที่ได้เฝ้ารับเสด็จ ฯ แล้ว ยังตื่นเต้นตรงจะได้กล่าวคำถวายรายงานเป็นภาษาอังกฤษด้วย ” ผมตอบตามความรู้สึกที่แท้จริง
“ นอกจากตัวอาจารย์จะได้เป็นผู้กล่าวถวายรายงานแล้ว อาจารย์ศิริพร ฯ ภรรยาของอาจารย์ก็ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายพวงมาลัยกรด้วยใช่ไหมไม่ทราบว่า ภรรยาของอาจารย์ มีความรู้สึกอย่างไร อาจารย์พอจะบอกได้ไหมคะ” คุณพิศวงถามถึงความรู้สึกของภรรยาของผม
“ แน่นอน คุณพิศวง ภรรยาของอาจารย์เขาก็คงตื่นเต้นไม่แพ้อาจารย์หรอก
ยิ่งกว่านั้น ความตื่นเต้นของเรายังได้เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ร่วมเสด็จด้วย ” ผมตอบไปตามความรู้สึกทั้งหมดที่ผมมีอยู่
“ อาจารย์ได้ตอบครบถ้วนตามที่ดิฉันอยากจะทราบแล้ว จึงขอขอบคุณอาจารย์เป็นอย่างมากที่กรุณาเล่าเรื่องดี ๆ ให้ดิฉันและท่านผู้อ่านทราบ ” คุณพิศวงกล่าวขอบคุณและปิดท้ายการสนทนา
“ ด้วยความยินดี คุณพิศวง โอกาสหน้าเราค่อยคุยกันใหม่นะ วันนี้ขอขอบคุณ คุณพิศวงมาก ที่กรุณาสละเวลามาคุยกัน ” ผมกล่าวปิดการสนทนา
ดร.ชา
18/11/20
สมบูรณ์แบบจริงๆ ค่ะอาจารย์
ขอบคุณมาก คุณบุญญสรณ์
บุญบารมีของอาจารย์อย่างแท้จริงค่ะ
ขอบคุณมาก คุณณัชชา
เต็ม 10 ไม่หักค่ะท่านอาจารย์ประสบการณ์มากมายจริงๆ
ขอบคุณ คุณบุญญสรณ์มากที่ชื่นชอบบทความนี้เป็นพิเศษ