Table of Contents
นายภัทรนันท์ บุญมานัด
นายอำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
การศึกษา นอกโรงเรียน สามารถทำให้ผมประสบความสำเร็จตามความฝัน เรื่องราวเป็นอย่างไร ขอเชิญทุกท่านติดตามครับ
1.พื้นเพ ภูมิหลัง ณ บ้านนอก
สิ่งที่ผมจะเล่าสู่ทุกท่านฟังต่อไปนี้ไม่ใช่นิยายน่ะครับ ไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิง แต่คือ เรื่องจริง จากชีวิตของคนจริงๆ และคนๆ นั้นก็คือผมเอง ผมเป็นเด็กบ้านนอก บ้านนอกจริงๆ นอกจากจะเป็นเด็กบ้านนอกแล้ว ครอบครัวผมยังยากจนอีกต่างหากและไม่ใช่ยากจนธรรมดาๆ แต่ยากจนค้นแค้นสุดๆ ยากจนแม้กระทั่งไม่มีใครคิดว่าพ่อและแม่ผมจะมีปัญญาส่งเสียผมเรียนจนจบปริญญาตรีได้ เพราะพ่อกับแม่ผมมีลูกมากถึงหกคน ท่านไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่ได้เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมใดๆ

จังหวัดศรีสะเกษ จบจากการศึกษา นอกโรงเรียน
อาชีพหลักของท่านก็เหมือนกับชาวอีสานทั่วไปก็คือทำนา เงินเก็บไม่มีหรอกครับแค่ให้ลูกทั้งหกคนได้มีอยู่มีกินก็ถือว่าสุดยอดแล้ว อ้าว…แล้วผมเรียนหนังสือจนจบปริญญาตรีสอบเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอ พากเพียรพยายามต่อสู้ฟันฝ่าเอาชนะปัญหาอุปสรรต่างๆ จนกระทั่งสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอซึ่งเป็นโรงเรียนที่บรรดาปลัดอำเภอทั้งหลายบอกว่าสอบเข้ายากที่สุดและได้ดำรงตำแหน่ง ”นายอำเภอ” ที่เป็นตำแหน่งในฝันของผมและปลัดอำเภอหลายคนได้อย่างไร
ท่านคงสงสัยและงวยงงแล้วสินะ ไม่ต้องแปลกใจที่ท่านสงสัยงวยงงนะครับ เพราะมีคนงงก่อนท่านอยู่แล้ว กล่าวคือเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ผมได้รับคำสั่งย้ายจากนายอำเภอ โนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ ให้มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ มีรุ่นพี่สมัยเรียนประถม ที่โรงเรียนบ้านหนองบัวอารี ได้ตั้งรกรากอยู่ที่อำเภอศรีรัตนะ และรู้จักคุ้นเคยกับครอบครัวของผมดีเพราะพ่อกับแม่ผมเคยเช่าที่น่าพ่อของรุ่นพี่ท่านนี้ทำ ได้มาพบปะแสดงความยินดีกับผมและรุ่นพี่ท่านนี้ได้ถามผมว่า “มาเป็นนายอำเภอได้อย่างไร เพราะพ่อแม่ก็ไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่จะสามารถส่งลูกเรียนหนังสือได้ และไม่เคยเห็นผมเรียนหนังสืออยู่แถวๆ บ้านเลย” และที่สำคัญแม้กระทั่งตัวผมเองก็ยังงงอยู่เลย…
พ่อผมชื่อ นายสา นามสกุล บุญมานัด บอกแล้วว่าผมเป็นคนบ้านนอก บ้านนอกไม่บ้านนอกก็ดูชื่อพ่อผมก็น่าจะรู้ เพราะทั้งบ้านนอกและโบราณขณะนี้ท่านอายุ 83 ปี ถ้าท่านเกิดในสมัยนี้ท่านคงไม่ได้ชื่อสาเฉยๆ อาจจะเป็น สารัช สาคร สายัณห์ แต่ผมก็ภูมิใจนะเพราะในประเทศไทยผมน่าจะเป็นนายอำเภอลูกพ่อสาเพียงคนเดียว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ลูกตาสีตาสา” นั่นแหละ
ส่วนแม่ผมชื่อ นางประคอง บุญมานัด ชื่อแม่ผมดีขึ้นมาหน่อยเพราะไม่โบราณเท่าพ่อ ถ้าเกิดแม่ชื่อมีหรือมาแล้วล่ะก็ผมคงเอามาโม้ได้อีก เพราะผมจะได้ชื่อว่าเป็นนายอำเภอลูกตาสา เป็นนายอำเภอลูกยายมา ผมเกิดที่บ้านหนองดินดำ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของแม่และตายาย ( ปัจจุบันแยกเป็นอำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี ) ต่อมาพ่อกับแม่ได้พาพวกผมอพยพครอบครัวไปอยู่ที่บ้านตาโท ตำบลทุ่งเทิง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของพ่อและปู่ย่า ( ปัจจุบันแยกไปขึ้นกับตำบลนาห่อม อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี )
ตอนที่ท่านพาพวกผมอพยพจากบ้านหนองดินดำ ไปที่บ้านตาโท ผมยังจำความไม่ได้ ที่ผมจำความได้คือผมเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนบ้านหนองบัวอารี ตำบลทุ่งเทิง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี พอผมจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พ่อกับแม่ก็พาพวกผมอพยพกลับไปที่บ้านหนองดินดำ ผมจึงได้เรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่โรงเรียนบ้านหนองดินดำ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อผมเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แล้ว เส้นทางชีวิตอันน่าเหลือเชื่อของผมจึงได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่บัดนั้น
2.การศึกษาระดับประถมศึกษา
ผมเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ที่โรงเรียนบ้านหนองบัวอารี ตำบลทุ่งเทิง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ผมอยู่บ้านตาโท ตำบลทุ่งเทิง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี แต่บ้านตาโท ไม่มีโรงเรียนต้องเรียนโรงเรียนเดียวกันกับบ้านหนองบัวอารี โดยโรงเรียนตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างหมู่บ้านสองหมู่บ้านและธรรมดาของเด็กๆ ที่มักจะหาเรื่องมาล้อกันอยู่เสมอ และสิ่งที่ผมมักจะโดนเพื่อนบ้านหนองบัวอารีล้ออยู่เสมอๆ ก็คือ “ลูกส่วยบ้านตาโท” มันก็จริงนะครับ ผมนี่ไม่ธรรมดานะครับ เป็นลูกครึ่งเชียวนะ
รู้มั๊ยครับว่าลูกครึ่งอะไร “ ครึ่งลาวครึ่งส่วย” โดยบรรพบุรุษของผมคือ ปู่ ย่า และพ่อเป็นเผ่าส่วย ส่วนบรรพบุรุษฝ่ายแม่คือตา ยาย และแม่เป็นเผ่าลาว การที่ผมได้ไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอโนนคูณ และ นายอำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ ผมจึงรู้สึกสบายใจมาก เพราะที่สองอำเภอนี้มีทั้งเผ่าส่วยและเผ่าลาว สิ่งที่ผมแอบภูมิใจและติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผมที่โรงเรียนแห่งนี้ก็มีนะครับ “จรด”อ่านว่าอะไรครับ เมื่อผมอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีศึกษานิเทศก์ มาตรวจเยี่ยมโรงเรียนและมีการทดสอบความรู้นักเรียน โดยจะเขียนคำต่างๆ บนกระดานและให้เด็กนักเรียนอ่าน
ผมจำได้ว่าศึกษานิเทศก์ได้เขียนคำว่า “จรด” และถามนักเรียนในห้องผมว่าอ่านว่าอะไร ผมได้ตอบเป็นคนแรกอย่างรวดเร็วว่า “อ่านว่า จะ หรด ครับ“ ท่านศึกษานิเทศก์ชื่นชมและให้ทุกคนปรบมือให้ จริงๆ เพื่อนคนอื่นก็คงตอบได้นะครับ แต่ตอบไม่ทันผมจึงทำให้ผมมีโอกาสเก็บความภาคภูมิใจ มั่นใจ เล็กๆ ไว้คนเดียวตลอดมา
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 ผมเรียนที่โรงเรียนบ้านหนองดินดำ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อครั้งที่ผมเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 มีคุณครูสองท่านที่ดูแลประคบประหงมผมและอยู่ในความทรงจำของผมตลอดมา คุณครูท่านแรกคือคุณครูแดง ท่านเป็นคุณครูที่สอนและเมตตาผมมาก นอกจากนี้แล้วท่านยังสนิทสนมกับครอบครัวของผมมาก ท่านปฏิบัติกับพ่อแม่ผมเสมือนเป็นพ่อแม่ของท่าน มีอยู่ครั้งหนึ่งผมป่วยเป็นไข้ปวดศีรษะมาก ที่บ้านผมไม่มียาแก้ไข้ คุณครูแดงได้หายามาให้รับประทานและทำให้ผมหายเป็นไข้
คุณครูท่านที่สองคือคุณครูเทียน เป็นครูพลศึกษา ท่านเรียกผมว่า “ไอ้ขาไก่” ที่ท่านเรียกผมอย่างนั้นไม่ใช่เพราะผมชอบกินขาไก่นะครับ อาจจะเป็นเพราะว่าสมัยเป็นเด็ก ผมตัวเล็กและผอมมาก ดังนั้นขาผมก็ต้องเล็กมากด้วย คุณครูจึงนำขาผมไปเปรียบเทียบกับขาไก่ คุณครูเทียนสอนให้ผมและเพื่อนๆ เล่นฟุตบอล คุณครูบอกว่าให้ผมเล่นตำแหน่งเซนเตอร์ฮาล์ฟ ผมคิดว่าผมชอบเล่นฟุตบอลก็เพราะท่าน เพราะช่วงที่ผมเรียนชั้น ป.5-6 นอกจากคุณครูจะสอนให้เล่นฟุตบอลแล้ว ผมยังมีโอกาสได้ดูฟุตบอลโลกครั้งแรกในชีวิตของผมผ่านจอทีวีด้วย ในครั้งนั้นถ้าผมจำไม่ผิดคู่ชิงชนะเลิศน่าจะเป็นเยอรมนีตะวันตกกับอาร์เจนตินา
3.เข้าเรียน การศึกษา นอกโรงเรียน (กศน.)
ณ โรงเรียนบ้านหนองดินดำ ผมมีโอกาสได้รับทุนการศึกษาที่โรงเรียนมอบให้จำไม่ได้ว่า 300 บาท หรือ 500 บาท ตอนที่ผมได้รับทุนการศึกษาผมไม่ได้เรียนเก่งที่สุดของห้องแต่คุณครูคงคิดว่าผมเป็นเด็กดีความประพฤติเรียบร้อยจึงมีชื่อได้รับทุนการศึกษา และการได้รับทุนการศึกษาในครั้งนั้น ทำให้ผมคิดตามประสาเด็กวัย 10-11 ปี ว่าถ้าเราเป็นเด็กดีเชื่อฟังคุณครูเชื่อฟังพ่อแม่ตั้งใจเรียนหนังสือแล้วคงจะได้รับการยอมรับ ได้รับคำชื่นชมยกย่อง ได้รับทุนการศึกษา ทำให้ผมมุ่งมั่นตั้งใจเรียน เป็นเด็กดี มีความมั่นใจ และมีกำลังใจในการเรียนหนังสือ
หลังจากนั้นผลการเรียนของผมก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ในระดับท็อปทรีของห้อง และติดเป็นนิสัยในการทำงานช่วยครอบครัว ก่อนไปโรงเรียนตอนเช้าผมจะไปช่วยพ่อแม่ทำงานขุดมันสำปะหลัง ผมจะขีดเส้นไว้เลยว่าต้องเสร็จตรงนี้ถ้าไม่เสร็จจะไม่ยอมหยุดพัก
ระดับ 4 โรงเรียนอมรวิทยา วัดบ้านปลาขาว ตำบลยาง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ทุกท่าน คงจะสงสัยว่าระดับการศึกษาระดับ 4 คืออะไร มีด้วยหรือ ระดับ 4 คือวุฒิการศึกษาในสมัยนั้นเรียกว่าการศึกษาผู้ใหญ่ซึ่งในสมัยนี้ คือ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน.นั่นเอง วุฒิการศึกษาระดับ 4 เทียบเท่ากับมัธยมศึกษาปีที่ 3
บวชเป็นสามเณรก่อน
ด้วยความที่ผมเป็นเด็กเรียนดีทำให้พ่อกับแม่ของผมอยากให้ผมได้เรียนต่อแต่ด้วยฐานะทางบ้านไม่ดีและมีลูกจะต้องเลี้ยงดูอีกห้าคนท่านคงคิดว่าท่านอาจจะไม่สามารถส่งเสียให้ผมเรียนหนังสือได้ วันหนึ่งมีศึกษาธิการอำเภอน้ำยืน มาในหมู่บ้าน ผมทราบว่าพ่อกับแม่ของผมได้ไปปรึกษากับศึกษาธิการอำเภอว่า ผมเรียนหนังสือดีอยากให้เรียนต่อแต่พ่อกับแม่ผมไม่มีเงินจะส่งเสียให้เรียนหนังสือจะทำอย่างไรดี
ศึกษาธิการอำเภอจึงแนะนำให้พ่อและแม่ผมพาผมไปบวชเรียน พ่อกับแม่ผม ได้นำผมไปฝากหลวงพ่อที่วัดป่าจันทรังสี ตำบลยาง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ผมได้บวชเป็นสามเณร เรียนหนังสือควบคู่กันไปทั้งธรรมศึกษาและสามัญศึกษา โดยสามัญศึกษาเรียนระดับ 4 ที่โรงเรียนอมรวิทยา วัดบ้านปลาขาว ตำบลยาง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี และเรียนธรรมศึกษาที่วัดป่าจันทรังสี ตำบลยาง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
ที่วัดป่าจันทรังสี แห่งนี้ คือสถานที่ที่ให้ผมและเพื่อนๆ ที่บวชเป็นสามเณรหลายอย่างมาก ทั้งการศึกษา การได้เรียนรู้หลักธรรมะมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ผมและเพื่อนๆ สามเณรตื่นนอนท่องหนังสือตั้งแต่ตีสี่แทบทุกวัน ซึ่งอุปนิสัยที่เกิดขึ้นกับผมอย่างไม่รู้ตัวจากเมื่อครั้งเรียนประถมศึกษาก็ติดตามตัวผมมาในการท่องหนังสือผมจะกำหนดไว้เลยว่าจะท่องให้ได้กี่หน้าและถ้าท่องไม่ได้จะไม่ยอม
เพื่อนๆ ผมที่เรียนด้วยกันที่วัดแห่งนี้เท่าที่มีการติดตามข่าวคราวทราบว่าได้รับราชการหลายคน มีทั้งเป็นปลัดเทศบาล ตำรวจ และครู เป็นต้น เมื่อผมเรียนจบระดับ 4 และสอบได้นักธรรมชั้นโท จึงได้เดินทางเข้าไปเรียนหนังสือในตัวเมืองอุบลราชธานี มัธยมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนสมเด็จ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี

“บ้านก็ไม่ต้องเช่า กับข้าวก็ไม่ต้องซื้อ ปรึกษาหารือไม่ต้องเสียสตางค์”ท่อนหนึ่งของเพลงช่างเข้ากับชีวิตของผมจริงๆ เมื่อผมเรียนจบระดับ 4 ซึ่งเทียบเท่ากับมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว ตอนนั้นผมยังเป็นสามเณร แม่ผมได้พาผมไปหาน้าของแม่ที่ตัวเมืองอุบลราชธานี พาไปฝากกับหลวงพ่อที่วัดปทุมมาลัย ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และผมได้ไปสมัครเรียนระดับชั้น ม.4 ที่โรงเรียนสมเด็จ วัดสุปัฎนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองจังหวัดอุบลราชธานี โรงเรียนสมเด็จเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนทั้งพระภิกษุสามเณรและนักเรียนชาย หญิงทั่วไป
ด้วยความที่ผมชอบเตะฟุตบอลเตะตะกร้อ ผมจึงได้สึกจากสามเณรในช่วงปิดเทอมชั้น ม.4 เมื่อเปิดเทอมเรียนในชั้น ม.5 ผมก็ได้รับสถานะ “เด็กวัด” เป็นเด็กวัดเรียนก็เรียนโรงเรียนวัด ตอนเช้าเมื่อพระภิกษุสามเณรฉันภัตตาหารเสร็จแล้วพวกผมเด็กวัดก็จะรับประทานก่อนไปโรงเรียน
เมื่อมาโรงเรียน บางวันผมจะไปกินข้าวกลางวันกับเพื่อนที่เป็นเด็กวัดที่วัดสุปัฎนารามวรมหาวิหาร บางวันก็ไปกินข้าวกับเพื่อนเด็กวัดที่วัดไชยมงคล โดยเพื่อนจะเป็นคนปั่นจักรยานส่วนผมจะนั่งซ้อนท้ายและถือปิ่นโต สิ่งที่ผมภาคภูมิใจที่โรงเรียนสมเด็จก็มีอยู่นะ เมื่อเรียนอยู่ชั้น ม.6 ผมและเพื่อนอีกสองคนได้เป็นตัวแทนโรงเรียน เข้าร่วมตอบปัญหาในรายการวิทยุรายการเยาวชนอยากรู้ และได้รับรางวัลที่สาม
4.เรียนปริญญาตรี-โท รามคำแหง
เรียนปริญญาตรีรัฐศาสตร์ รามคำแหง
ด้วยความที่เป็นเด็กบ้านนอกได้มีโอกาสไปติดต่อราชการที่อำเภอพบเห็นข้าราชการทำงานบนที่ว่าการอำเภอดูมีเกียรติมีสง่าราศรีมาก ผมจึงอยากเป็นปลัดอำเภอและลงทะเบียนเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่สำคัญไม่มีการสอบเข้าและค่าหน่วยกิตถูกมาก สมัยผมเรียนหน่วยกิตล่ะ 25 บาท
แม้จะจบมานานแล้วผมยังจำรหัสนักศึกษาได้อยู่เลยเพราะต้องฝนบ่อยมากในการสอบ คือรหัส 326005059 ผมสมัครเข้าเรียนเมื่อปี 2532 และจบในปี 2535 รวมระยะเวลา 4 ปี ไม่มากไปไม่น้อยไป มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นมหาวิทยาลัยที่เข้าง่ายแต่ออกยากคือใครจะสมัครเข้าเรียนก็ได้ขอให้มีวุฒิการศึกษาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดแต่ออกยากคือจบยากเพราะระบบมหาวิทยาลัยเปิดไม่มีการเช็คเวลา ไม่มีคะแนนเก็บ ไม่มีอาจารย์มาจ้ำจี้จำไซ นักศึกษาต้องรับผิดขอบตัวเองล้วนๆ ต้องเข้าเรียนเอง อ่านหนังสือเอง และคะแนนมาจากการสอบอย่างเดียว ถ้านักศึกษาไม่มีความรับผิดชอบต่อตนเองต่อการเรียน อาจจะเรียนจบช้าหรืออาจจะไม่จบเลยก็ได้
ผมหาเวลาว่างจากการเรียนหนังสือไปทำงานหารายได้เป็นพนักงานเสิร์ฟตามสวนอาหารและคาเฟ่ ผมได้วิชาจากสวนอาหารและคาเฟ่ติดตัวมาด้วยนะคือวิชาปอกผลไม้รวมซึ่งประกอบด้วยแตงโม มะละกอ สับปะรด เมื่อผมเรียนจบได้ทำงานแล้วเวลาผมไปรับประทานอาหารที่ไหนผมมักจะให้ติ๊ปกับพนักงานเสิร์ฟเสมอ ภรรยาและลูกผมมักจะถามผมว่าให้ติ๊ปทำไมเพราะเป็นหน้าที่ของพนักงานเสิร์ฟของแต่ละร้านผมก็บอกว่าผมอยากให้เพราะผมเคยได้เงินจากติ๊ปมาเรียนหนังสือ

เมื่อผมเรียนใกล้จะจบประมาณปี 3 ผมเกรงว่าถ้าเรียนจบแล้วผมจะตกงานเพราะในยุคนั้นคนที่จบสายสังคมศาสตร์ตกงานจำนวนมาก ผมได้ไปทำงานบริษัทแถวๆ บางนา ในตำแหน่งพนักงานฝ่ายผลิต พอผมเรียนจบปริญญาตรี บริษัทได้ปรับให้ผมมาทำงานในสำนักงานตำแหน่งผู้ช่วยแคชเชียร์ มีหน้าที่หลักคือเขียนเช็คและจ่ายเช็ค ผมจึงไม่ตกงาน ในขณะเดียวกันผมก็อ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ารับราชการเพื่อที่จะได้มาทำงานใกล้ๆ บ้านและเป็นอาชีพที่พ่อกับแม่ตั้งความหวังไว้กับผม
เรียนปริญญาโทหลังทำงานได้ 20 ปี
ผมเป็นคนที่ไม่เคยได้อะไรมาง่ายๆ นะครับ ปริญญาโทก็เช่นกันกว่าผมจะมีโอกาสได้เรียนผมก็ทำงานมาแล้ว 20 ปี เพราะผมมีภาระหลายอย่างทั้งผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ผ่อนโน้ตบุ๊ค ผ่อนมือถือ อาจจะรวมทั้งผ่อนภรรยาด้วยนะครับ ผมตัดสินใจสมัครเรียนปริญญาโทเมื่อปี 2557 ก็ต้องขอขอบพระคุณสหกรณ์ออมทรัพย์กรมการปกครองอีกเช่นเคยครับ สหกรณ์ไม่ได้มอบทุนการศึกษาให้ผมนะครับ ผมกู้เงินเพื่อนำมาเป็นค่าเทอมและค่าใช้จ่ายในการศึกษาและเรียนจบในปี 2558 เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อ 18 มีนาคม 2559
5.การทำงาน
พนักงานสินเชื่อ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2537-2539
เมื่อผมจบปริญญาตรีเมื่อปี 2535 แล้ว ผมได้ทำงานบริษัทเอกชนอยู่ประมาณ 2 ปี จึงสอบเข้าทำงานที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือที่เกษตรกรและคนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดีคือ ธกส.นั่นแหละครับ ในปี 2537 ธนาคารได้ส่งผมไปทำงานในตำแหน่งพนักงานสินเชื่อ ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
ผมทำงานอยู่ที่นี่ 2 ปี ก็ลาออก เพราะผมสอบได้ปลัดอำเภอ ผมชั่งใจอยู่นานว่าจะลาออกจากพนักงาน ธกส. ไปเป็นปลัดอำเภอดีมั๊ย เพราะอยู่ ธกส. ก็มีความสุข สนุกสนาน ดีอยู่แล้ว และที่สำคัญในห้วงนั้น ธกส. มีโบนัสประจำปีให้พนักงานจำนวน 5 เท่าของเงินเดือน ผมได้ไปปรึกษาพ่อกับแม่ ท่านอยากให้ผมเป็นปลัดอำเภอ ผมจึงได้ลาออกจากพนักงาน ธกส. เมื่อปลายปี 2539
ปลัดอำเภอ พ.ศ.2539-2561
กรมการปกครอง มีคำสั่งบรรจุแต่งตั้งผมเป็นปลัดอำเภอครั้งแรกที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ในห้วงระยะเวลา 20 ปี ที่ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ ส่วนมากผมจะได้ทำงานอยู่อำเภอชายแดนโซนใต้ของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านถึงสองประเทศคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรกัมพูชา ประกอบด้วย อำเภอน้ำยืน อำเภอน้ำขุ่น ซึ่งมีชายแดนติดกับราชอาณาจักรกัมพูชา อำเภอนาจะหลวย อำเภอบุณฑริก อำเภอสิรินธร มีชายแดนติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนด้านบวกในชีวิตรับราชการของผมก็คือในปี 2553 ผมได้รับความเมตตาจากผู้บังคับบัญชาย้ายให้ผมมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยป้องกันจังหวัดอุบลราชธานี ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้งานจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของจังหวัดไม่ว่าจะเป็นท่านผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ป้องกันจังหวัด จ่าจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด โดยผมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานกิจการชายแดนและแผนงานด้านความมั่นคง
สอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ
โรงเรียนนายอำเภอ เป็นโรงเรียนในฝันของปลัดอำเภอ ทุกคน เพราะการที่ปลัดอำเภอจะเจริญก้าวหน้าจากปลัดอำเภอไปเป็นนายอำเภอ ปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี หรือปลัดกระทรวง ต้องผ่านโรงเรียนนายอำเภอก่อน ถ้าใครสอบไม่ได้ก็จะไม่ได้เป็นนายอำเภอ ชีวิตราชการจะหยุดอยู่ที่ตำแหน่งปลัดอำเภอ
เพราะฉะนั้นการสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอจึงเป็นเรื่องยากมากเพราะมีการแข่งขันสูง บางคนสอบ 10 ครั้งจึงได้ก็มี บางคนสอบเข้าเรียนโรงเรียนนายอำเภอแล้วก็ไม่ได้เป็นนายอำเภอเพราะเกษียณอายุราชการก่อนก็มี ทุกท่านทราบมั๊ยว่าผมสอบกี่ครั้ง ผมใช้เวลาสอบถึง 3 ครั้ง จึงสอบได้รวมระยะเวลาที่สอบถึง 7 ปี จากปี 2550-2557 โดยผมสอบได้ในปี 2558
ในครั้งที่ผมสอบได้ กรมการปกครองจัดสอบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ข้อสอบเป็นแบบปรนัยแบ่งออกเป็นสองภาคๆ ละ 100 คะแนน รวม 200 คะแนน นำคะแนนที่สอบได้แต่ละภาคมารวมกันแล้วเรียงลำดับคนที่สอบได้จากคะแนนมากมาหาน้อย รับ 120 คน ไม่มีข้อสอบอัตนัย ไม่มีคะแนนจากการสอบสัมภาษณ์ เรียกว่าปิดจุดอ่อนที่จะทำให้มีข้อครหาว่าการสอบไม่เป็นธรรม เมื่อสอบเสร็จนำกระดาษคำตอบตรวจโดยระบบคอมพิวเตอร์ทันที และประกาศผลการสอบภายในวันสอบ
อ่านหนังสือเต็มที่
ในการสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอทั้ง 3 ครั้ง ผมได้อ่านหนังสืออย่างเต็มที่ทุกครั้ง โดยผมจะทำแผนการอ่านหนังสือและอ่านให้ได้ตามแผน ครั้งที่ 1 สอบไม่ได้ ครั้งที่ 2 สอบไม่ได้ เพื่อนผมและรุ่นพี่บางคนท้อและไม่อ่านหนังสือเลย ในการสอบครั้งที่ 3 ผมก็อ่านหนังสือเตรียมความพร้อมเช่นเคย ผมจะอ่านสะสมไว้เรื่อยๆ ทำสรุป โน้ตย่อ ทำตารางเปรียบเทียบระเบียบ กฎหมายที่คิดว่าจะใช้ในการสอบ ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพหนังสือหน้าที่ผมให้ความสำคัญไว้อ่านทบทวน และใช้เวลาอ่านหนังสือให้เต็มที่
ถ้ามีเวลาว่างจากภารกิจผมจะอ่านหนังสือทันที แม้กระทั่งเวลาขับรถจากบ้านไปที่ทำงานหรือที่ทำงานกลับบ้านในช่วงที่รถติดไฟแดงผมจะเปิดคลิปเสียงตัวเองที่อ่านหนังสือฟัง หลังจากรับประทานอาหารเที่ยงผมจะหาเวลาไปทบทวนหนังสือคนเดียวเงียบๆ อาคารศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี สร้างเสร็จใหม่ๆ บางห้องยังไม่มีหน่วยงานใดใช้ ที่ห้องว่างของชั้น 4 ฝั่งทิศตะวันตกด้านเหนือ คือที่อ่านหนังสือของผมในเวลาเที่ยง ผมจำได้ว่าข้อสอบมีเรื่องการวางแผน การจัดทำแผน หลายข้อ ซึ่งเข้าทางผมเพราะในขณะที่มีการเปิดสอบผมได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้รับผิดชอบเรื่องแผนงานความมั่นคง
ก่อนที่จะทำแผนงานความมั่นคงเสนอให้ผู้บังคับบัญชาเห็นชอบ ผมจะต้องศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย แผนพัฒนาจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงและให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับการที่ผมวางแผนอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอจึงทำให้ผมสอบได้ เมื่อสอบได้แล้วได้เข้ารับการศึกษาอบรมเป็นระยะเวลา 5 เดือน ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม – 2 ตุลาคม 2558 ที่วิทยาลัยการปกครอง อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
นายอำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ 15 พฤศจิกายน 2561 – 6 เมษายน 2563
“ฮักแพง ฮักแพงโนนคูณ โนนคูณ โนนคูณฮักแพง มาเถอะเรามาร่วมแรง ร่วมกันฮักแพง สร้างแปงโนนคูณ” นี่คือท่อนหนึ่งของเพลง “ฮักแพงโนนคูณ” เปรียบเสมือนเพลงประจำอำเภอโนนคูณ โดย ครูตุ๋ย ครู กศน. อ.โนนคูณ ที่ผมรักเหมือนน้องชายเป็นคนแต่ง และอาจารย์ป๋อง ครูบำนาญบ้านบก ต.บก อ.โนนคูณ เป็นคนใส่ทำนอง ผมและตัวแทนพี่น้องชาวอำเภอโนนคูณได้ร่วมกันร้องและนำมาใช้ในกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ในอำเภอโนนคูณ
ผมได้รับแต่งตั้งจากกรมการปกครอง ให้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ผมดำรงตำแหน่งนายอำเภอโนนคูณ เป็นระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน 23 วัน ถึงแม้ว่าระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายอำเภอโนนคูณจะไม่มาก แต่ผมรักและผูกพันกับอำเภอโนนคูณมาก โดยได้ร่วมกับคณะสงฆ์ หัวหน้าส่วนราชการ นายก อบต. ผอ.โรงเรียน ครู ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องชาวอำเภอโนนคูณทุกภาคส่วนทำงานที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก
โครงการเดินวิ่ง ปั่น ฮักแพงโนนคูณ
โครงการ ที่ผมภาคภูมิใจมากคือโครงการเดินวิ่งปั่น ฮักแพงโนนคูณ เพื่อลูกค้ำลูกคูณ หาทุนการศึกษาให้นักเรียนและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ได้เงินจำนวน 400,000 บาท จัดสรรมอบทุนการศึกษาให้นักเรียน ทุนละ 500 บาท จำนวน 600 ทุน เป็นเงิน 300,000 บาท อีก 100,000 บาท จัดสรรช่วยเหลือผู้ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน เช่น ได้เกิดพายุฤดูร้อนพัดบ้านเรือนชาวบ้านตำบลโนนค้อเสียหาย ประมาณ 100 หลังคาเรือน ก็ได้จัดสรรเงินก้อนนี้ไปบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน
ผมคิดว่านักเรียนจำนวน 600 คน ที่ได้รับทุนการศึกษา สำหรับผู้ใหญ่แล้วอาจจะคิดว่าเป็นเงินไม่มาก แต่สำหรับเด็กแล้วเป็นจำนวนเงินที่มาก และที่สำคัญลูกๆ นักเรียนคงมีความภาคภูมิใจ มีกำลังใจ มีความมั่นใจ ที่จะศึกษาเล่าเรียน เป็นเด็กดีของพ่อแม่ผู้ปกครอง และเป็นพื้นฐานต่อยอดจนกระทั่งประสบความสำเร็จในการเรียนหรืออาชีพการงาน เสมือนที่ผมเคยได้รับทุนการศึกษาเมื่ออยู่ชั้นประถมศึกษาและเป็นแรงผลักให้ผมได้ดำรงตำแหน่งในฝัน คือ นายอำเภอ นั่นเอง
นายอำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ 7 เมษายน 2563 – ปัจจุบัน
ยูทูปช่อง นายอำเภอลูกทุ่ง เสน่ห์สาวศรีรัตนะ

“ข้าวโพดหวาน ข้าวสารหอม ทุเรียนภูเขาไฟ เป็นเหมือนดั่งมนต์ดลให้ อ้ายอยากกลับคืนมา สาวสี่เผ่า ส่วย เขมร ลาว เยอร์ ยังสิงสู่อ้ายอยู่เสมอ แค่ได้เจอก็นับเป็นบุญตา” นี่คือบางท่อนของเพลง “เสน่ห์สาวศรีรัตนะ” เพลงนี้ดังมากที่อำเภอศรีรัตนะ เพราะหอกระจายข่าวเปิดทุกหมู่บ้าน
ผมได้อัดเสียงและน้องๆลูกหลานสาวสวย หนุ่มหล่อ ชาวอำเภอศรีรัตนะCyterteam ได้มาทำมิวสิควิดีโอให้ สำหรับท่านที่อยากให้กำลังใจผมและทีมงานเยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถดูได้ที่ยูทูปช่อง “นายอำเภอลูกทุ่ง” หรือพิมพ์คำว่า “เสน่ห์สาวศรีรัตนะ” ในกูเกิลก็เจอแล้วครับ
สำหรับยอดวิวในยูทูปหลังลงยูทูปได้ 3 เดือน ตอนนี้ 5,808 วิว เพลงนี้แต่งและเรียบเรียงโดยมืออาชีพนะครับ แต่งโดยอาจารย์ธิบดินทร์ ทองสิน เรียบเรียงโดยอาจารย์สมศักดิ์ พิลารัตน์ นักเรียบเรียงชื่อดังผู้เรียบเรียงเพลงเมื่อไหร่จะพอ ของเดือนเพ็ญ อำนวยพร โดยผมได้รับความอนุเคราะห์จากคุณวัฒนวุฒิ พิลารัตน์ เพื่อนนักศึกษาปริญญาโท เป็นผู้ประสานผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านมาช่วยทำเพลงให้ผมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรม ฮักศรีรัตนะสัญจร หาทุนการศึกษาให้นักเรียนในพื้นที่อำเภอศรีรัตนะ ขณะนี้ได้รับเงินบริจาคเพื่อมอบเป็นทุนการศึกษาแล้ว 285,513 บาท เมื่อสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโครานา (โควิด-19) ดีขึ้นแล้ว จะจัดกิจกรรมมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในพื้นที่อำเภอศรีรัตนะ ให้ได้จำนวนมากที่สุดต่อไป
6.ความฝัน-นายอำเภอ
ความฝันของผมก็คงจะเหมือนทุกท่านนะครับ ความฝันของผมเป็นไปตามช่วงวัยและประสบการณ์ ที่ได้ประสบพอเจอ ช่วงเป็นเด็กระดับประถมศึกษาถึงมัธยมต้น ผมฝันอยากเป็นครู เพราะผมเห็นตัวอย่างที่ดีๆ ที่คุณครูทำและคุณครูได้เมตตาดูแลผม พอเติบโตขึ้นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้มีโอกาสไปติดต่อราชการ ที่อำเภอทั้งไปกับพ่อแม่และไปด้วยตนเอง เห็นข้าราชการบนอำเภอแต่งตัวดี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านเคารพนับถือ สังคมให้การยอมรับจึงอยากเป็นปลัดอำเภอ และเป็นเหตุผลให้ผมตัดสินใจเรียนคณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เมื่อเป็นปลัดอำเภอแล้วก็ฝันอยากเป็นนายอำเภอ เพราะนายอำเภอเป็นผู้บริหารสูงสุดของอำเภอ เมื่อเป็นนายอำเภอแล้วผมก็ฝันที่จะเป็น…สำหรับผมเมื่อเป็นนายอำเภอแล้ว ผมไม่ฝันที่จะมีตำแหน่งหน้าที่ที่สูงกว่านี้อีกแล้ว เพราะการที่เด็กบ้านนอก สามเณรตัวน้อย นักศึกษา กศน. เด็กวัด เรียนที่โรงเรียนวัด และมหาวิทยาลัยเปิดอย่างผมได้เป็นนายอำเภอก็ถือว่ามาไกลเกินฝันแล้ว และจะตั้งใจทำหน้าที่นายอำเภอให้ดีที่สุดเพื่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ สมกับที่ผมใฝ่ฝันที่จะได้เป็น ส่วนในอนาคตหากผู้บังคับบัญชาเมตตาไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งที่ สููงกว่านี้ก็คือกำไรล้วนๆ
7.แรงบันดาลใจ
“ได้มาชิดใกล้ หัวใจเหมือนได้รางวัล ชีวิตผมภัทรนันท์ มุ่งมั่นสร้างความฮักแพง จากเด็กบ้านนอก ใฝ่เรียนด้วยใจเข้มแข็ง โชคดีที่บุญปั้นแต่ง มีแรงมีกำลังใจ” ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ เป็นแรงผลักให้ผมทำในสิ่งที่ฝันได้คือ
7.1 การได้รับทุนการศึกษา
การได้รับทุนการศึกษาเมื่ออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-5 ทั้งๆที่ ผมไม่ได้เรียนเก่งที่สุดของห้อง แต่คุณครูคงคิดว่าผมเป็นเด็กดี ความประพฤติเรียบร้อย จึงมีชื่อได้รับทุนการศึกษาและการได้รับทุนการศึกษาในครั้งนั้นทำให้ผมคิดตามประสาเด็กวัย 10-11 ปี ว่าถ้าเราเป็นเด็กดีเชื่อฟังคุณครูเชื่อฟังพ่อแม่ตั้งใจเรียนหนังสือแล้วคงจะได้รับการยอมรับ ได้รับคำชื่นชมยกย่อง ได้รับทุนการศึกษา ทำให้ผมมุ่งมั่นตั้งใจเรียน เป็นเด็กดี มีความมั่นใจ และมีกำลังใจ ในการเรียนหนังสือ และหลังจากนั้นผลการเรียนของผมก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ในระดับท็อปทรีของห้อง
7.2 อุปนิสัย
อุปนิสัยที่จะต้องทำให้สำเร็จเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เป็นผลจากการได้รับคำชื่นชมยกย่องให้กำลังใจจากคุณครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง
7.3 การศึกษา นอกโรงเรียน
การได้รับโอกาสทางการศึกษาด้วยการศึกษา นอกโรงเรียน โดยเข้าเรียนโรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่หรือ กศน. ในปัจจุบัน ในระดับ4 ซึ่งเทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั้งๆ ที่แทบจะไม่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา
การศึกษา นอกโรงเรียน มีผลต่อความสำเรจในชีวิตของผมมาก
7.4 การบวชเป็นสามเณร
การบวชเป็นสามเณรและเป็นเด็กวัดทำให้ซึมซับและนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
8..แนวคิด เคล็ดลับในการทำงาน
8.1 ให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นการพัฒนาตนเอง พัฒนาองค์กร พัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม และประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า
8.2 เตรียมตนเองให้พร้อมอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไปเพราะบางทีโอกาสอาจไม่กลับมาหาเราอีกเลย
8.3 วางแผนอย่างละเอียด และทำตามแผนอย่างสุดความสามารถ
8.4 ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ที่สุด เพราะเวลาทุกนาทีมีคุณค่า
9.ปัญหาอุปสรรคและการปรับกลยุทธ์
การทำงานทุกหน่วยงาน ทุกสถานที่มีปัญหา แนวทางในการเอาชนะปัญหาอุปสรรคของผมก็คือ
9.1 วิชาคน วิชาธรรม การที่ผมได้มีโอกาสบวชเป็นสามเณรและเรียนธรรมศึกษาประกอบกับเรียนรัฐศาสตร์ ทำให้ผมได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคน เมื่อเข้าใจคนและนำหลักธรรมะมาประยุกต์ใช้ในการทำงานแล้ว จึงสามารถบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนได้
9.2 ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ทำเรื่องเล็กไม่ให้เป็นเรื่อง
9.3.ไม่รื้อของเดิมที่เคยมีอยู่แต่จะปรับปรุง ต่อยอด ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
9.4 ความมุ่งมั่นและความเพียรพยายาม
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ จะเป็นใครไม่ได้ นอกจากคุณภัทรนันท์ บุญมานัด นายอำเภอ ศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ เจ้าของบทความข้างต้น
“สวัสดี ท่านนายอำเภอ ก่อนอื่นอาจารย์ต้องขอขอบคุณท่านนายอำเภอมากที่กรุณาสละเวลาเขียนบทความเล่าประสบการณ์ส่งมาลงในเว็บไซต์ เรื่องเล่า ดร.ชา สนุก และสร้างสรรค์ ” ผมทักทายแบบคนคุ้นเคยกัน
“ สวัสดีครับ อาจารย์ ผมเองก็ต้องขอขอบคุณอาจารย์เช่นกัน ที่กรุณาให้โอกาสและเกียรติแก่ผม เพราะความจริงผมเองก็อยากจะเขียนเรื่องเล่าประสบการณ์ให้ผู้คนเขาได้อ่านเหมือนกัน เผื่อจะทำให้คนอ่านได้ข้อคิดอะไรบ้าง ” คุณภัทรนันท์เผยความรู้สึกในส่วนลึก
“ เท่าที่อาจารย์ได้อ่านบทความของท่านนายอำเภอดูแล้ว คิดว่ามี่อยู่ 2-3 ประเด็น ที่เราน่าจะนำมาพูดคุยขยายความต่อสักเล็กน้อย เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ” ผมเริ่มวกเข้าหาเรื่องที่จะคุยกัน
“ดีครับอาจารย์ มีประเด็นใดบ้างที่ยังไม่ชัดเจน ผมก็พร้อมที่จะชี้แจงเพิ่มเติม ” คุณภัทรนันท์แสดงความพร้อมเต็มที่
“ ในมุมมองของท่านนายอำเภอ คิดว่า การศึกษา นอกโรงเรียน (กศน.) มีความสำคัญกับสังคมไทยอย่างไร ” ผมถามแบบเปิดกว้าง
“ อาจารย์ถามกว้างดีนะ ผมเชื่อว่า การศึกษา นอกโรงเรียน ซึ่งเป็นการศึกษา นอกระบบ เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีโอกาสหรือไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนตามปกติได้ มีโอกาสได้เรียนรู้และได้คุณวุฒิไปต่อยอด ไปเรียนต่อในระดับสูงขึ้นไปได้
อย่างตัวผมเอง พ่อแม่เป็นชาวนามีฐานะยากจน ไม่มีเงินจะส่งให้ผมเรียนต่อในระดับมัธยมได้ เพราะการเรียนต่อชั้นมัธยมในโรงเรียนปกตินั้น มีค่าใช้จ่ายมาก ลูกชาวนาผู้ยากจนอย่างผมไม่มีเงินเรียนแน่ ผมต้องไปบวชเป็นเณร เพื่อให้มีโอกาสได้เรียนต่อ โดยผมได้เรียนทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป
ในทางโลก ผมได้สมัครเรียนการศึกษา นอกระบบ หรือการศึกษาผู้ใหญ่ หรือ กศน. ทำให้ผมมีโอกาสสอบเทียบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้ ” คุณภัทรนันท์พูดถึงการศึกษา นอกโรงเรียน ด้วยความภาคภูมิใจ
“ อาจารย์อยากจะถามว่า การศึกษา นอกโรงเรียน มีผลต่อชีวิตของชีวิตของท่านนายอำเภอมากน้อยเพียงใด ” ผมถามในเชิงลึกมากขึ้น
“ แหม อาจารย์ไม่น่าถาม หากไม่มีการศึกษา นอกโรงเรียน ชีวิตของผมคงมาไม่ได้ถึงขนาดนี้ อย่างดีก็ได้เรียนทางธรรม สักระยะหนึ่ง แล้วอาจจะลาสิกขาบทออกไปทำนาเหมือนกับพ่อแม่ก็ได้
เพราะหากไม่มีการศึกษาผู้ใหญ่ ผมก็ไม่มีคุณสมบัติสมัครเรียนรามคำแหง ซึ่งผมก็คิดว่า การเรียนรามคำแหงก็เป็นการศึกษา นอกระบบเหมือนกัน เพียงแต่เป็นระดับปริญญา แต่ผมหมายถึงชั้นปริญญาตรีนะ แต่ชั้นปริญญาโทที่ผมได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์นั้น เป็นการศึกษาในระบบแน่ เพราะมีการเช็คชื่อ หากเวลาเรียนไม่พอในวิชาใด ก็จะไม่มีสิทธิสอบในวิชานั้น
พูดถึงเรื่องนี้ ผมอดเสียดายไม่ได้ มีวิชาหนึ่งที่อาจารย์เป็นผู้สอน พอดีผมติดอบรมทำให้ไม่สามารถมาเรียนทุกครั้ง ผมจึงหมดสิทธิได้เกรดเอจากอาจารย์ ทั้ง ๆ ที่ผมทำข้อสอบไล่วิชานั้นได้ดีมาก ” คุณภัทรนันท์อดรำพันถึงความหลังไม่ได้
“ อ๋อ ยังจำได้นะ ในประเด็นต่อไป อาจารย์ชอบไอเดียของท่านายอำเภอที่รู้จักใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ คือ การอัดวิดีโอลงในยูทูปเพื่อประขาสัมพันธ์งานของอำเภอ เป็นอย่างไรกระแสตอบรับดีไหม ” ผมเปลี่ยนเรื่องคุยบ้าง
“ ก็ดีนะครับอาจารย์ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเพลงเสน่ห์สาวศรีรัตระ มียอดวิวถึงห้าพัน อำเภอเรา เป็นส่วนราชการไม่ใช่ศิลปิน มียอดวิวขนาดนี้ผมก็ค่อนข้างพอใจ แต่ยังไม่หยุดนิ่งแค่นี้หรอก ” คุณภัทรนันท์แสดงความฝันในเรื่องยูทูปออกมา
“ ท่านนายอำเภอนี่ดีและเก่งนะ มีความฝันอยู่เสมอ ตราบใดที่ยังมีความฝันอยู่ ความสำเร็จก็คงอยู่ไม่ไกล ขอให้พยายามต่อไป อาจารย์เอาใจช่วย
วันนี้ มีเรื่องรบกวนท่านนายอำเภอเท่านี้ ขอขอบคุณเป็นอย่างมากที่สละเวลาให้อาจารย์ทั้งในเรื่องเขียนบทความและการมาสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
ขอให้ท่านนายอำเภอประสบความสำเร็จในความฝันที่ปรารถนาทุกอย่าง อย่าลืมส่งข่าวให้อาจารย์ทราบด้วยนะ ” ผมยุติการสนทนาพร้อมกับอวยพรให้คุณภัทรนันท์
“ ขอบคุณอาจารย์มากครับ ”
ดร.ชา
24 มกราคม 2564
ขอแสดงความยินดีกับท่านนายอำเภอด้วยค่ะ หนูเรียนไม่เก่งแต่มีความสุขที่ได้เห็นลูกชาวนาประสบความสำเร็จในชีวิตค่ะ
เดี๋ยวจะบอกท่านนายอำเภอให้
คนที่เรียนหนังสือเก่งไม่จำเป็นต้องเรียนในระบบ เรียนตามอัธยาศัยสอบเข้ารับราชการได้มีเยอะค่ะ
ใช่ ถ้าเจ้าตัวมีวินัยควบคุมต้วเองได้
ขอบพระคุณทุกกำลังใจครับ ขอบพระคุณท่านอาจารย์ ดร.ชาตรี ที่ให้โอกาสผมได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่อาจจะเป็นประโยชน์กับเด็ก เยาวชน ผมหวังว่าหากเด็ก เยาวชน ลูกๆ นักเรียน รวมถึงปลัดอำเภอ มีโอกาสได้อ่านบทความนี้ อาจจะได้แนวคิดดีๆ นำไปใช้ในการเรียน การทำงาน และสอบเลื่อนระดับตำแหน่ง ครับ
คนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ชื่อเภียริน เป็นชาวกัมพูชา สามารถจำปฏิทิน700ปีได้
และเคยเป็นนักเรียนทุน มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ เรียนได้เกียรตินิยมอันดับ1
พื้นฐานมาจากครอบครัวที่ยากจน จึงทำให้ขยันมากกว่าคนอื่น จึงประสบผลสำเร็จค่ะ
นับว่า เขาเก่ง มีบุญเก่าที่ได้สร้างไว้
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็เคยเป็นคนพูดติดอ่างแล้วโดนเพื่อนล้อ จึงพูดต่อหน้ากระจกทุกวันทำให้สามารถก้าวข้ามมาได้ค่ะ
คนเก่งมีชื่อเสียง ล้วนเคยผ่านอุปสรรคมาแล้วทั้งสิ้น