“สาธารณรัฐประชาชนจีน มีรูปแบบการปกครองอย่างไร “ นับเป็นบทความลำดับที่ 4ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก โดยจะกล่าวถึง ความนำ รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนจีน อารัมภบท หลักการทั่วไป สถาบันของรัฐ สภาประชาชนแห่งชาติ ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการทหารแห่งชาติ สภาประชาชนท้องถิ่นระดับต่าง ๆ องค์กรปกครองตนเองของเขตปกครองตนเองของชนกลุ่มชาติพันธุ์ รายชื่อมณฑลหรือหน่วยการปกครองเทียบเท่ามณฑลของจีน วิเคราะห์รูปแบบการปกครองของจีน สรุป และถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว คือ บทความ ประวัติ จีน ยุคใหม่ ได้เล่าถึง ประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุคที่มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยราชวงศ์ชิงไปสู่การปกครองระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยเมื่อปีค.ศ.1912 ก่อนที่จะมีการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่งเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองไปสู่ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เมื่อปีค.ศ.1949 จนกระทั่งวันนี้
สำหรับบทความนี้ต้องการจะเล่าถึงรูปแบบการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือจีนแผ่นดินใหญ่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ.1982 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
2.รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ใช้บังคับอยู่ คือ รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ.1982 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 5 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 ค.ศ.1988, ฉบับที่ 2 ค.ศ.1993, ฉบับที่ 3 ค.ศ.1999, ฉบับที่ 4 ค.ศ. 2004, และฉบับที่ 5 ค.ศ.2018
2.1 โครงสร้างรัฐธรรมนูญ
สำหรับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญประกอบด้วย
อารัมภบท
หมวด 1 หลักการทั่วไป
หมวด 2 สิทธิขั้นพื้นฐานและข้อผูกพันของประชาชน
หมวด 3 สถาบันต่าง ๆ ของรัฐ
หมวด 4 ธงชาติ เพลงชาติ และตราประจำแผ่นดิน
2.2 หมวด 3 สถาบันต่าง ๆ ของรัฐ
หมวด 3 เป็นหมวดที่มีเนื้อหามากที่สุดของรัฐธรรมนูญของจีน โดยแบ่งย่อยออกเป็น 8 หัวข้อ ประกอบด้วย
- สภาประชาชนแห่งชาติ
- ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐ
- คณะรัฐมนตรี
- คณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติ
- สภาประชาชนท้องถิ่นระดับต่าง ๆ
- องค์ปกครองตนเองของชนกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ
- คณะกรรมาธิการในการตรวจสอบและควบคุม
- ศาลของประชาชน และอัยการของประชาชน
3.อารัมภบทของรัฐธรรมนูญ

อารัมภบทเป็นบทนำของรัฐธรรมนูญได้กล่าวถึงความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
3.1 ประเทศจีนหลังปีค.ศ.1840
หลังปีค.ศ.ประเทศจีนในยุคราชวงศ์ชิงได้ค่อย ๆ กลายเป็นประเทศกึ่งศักดินาและกึ่งอาณานิคม (semi-colonial, semi-feudal country) ทำให้คนจีนต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระและการปลดปล่อยประเทศ ตลอดจนประชาธิปไตยและเสรีภาพ
3.2 ประเทศจีนในศตวรรษที่ 20
ประวัติศาสตร์ของประเทศจีนในยุคศตวรรษที่ 20 ได้เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กล่าวคือ เมื่อปีค.ศ.1911 ดร.ซุน ยัต เซน ได้เป็นผู้นำในการปฏิวัติโค่นล้มระบอบการปกครองประเทศซึ่งเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชวงศ์ชิงไปสู่การปกครองแบบสาธารณรัฐ อย่างไรก็ตาม ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของชาวจีนในการต่อต้านระบอบจักรวรรดินิยมและระบอบศักดินายังไม่สำเร็จลุล่วง
จนกระทั่งปีค.ศ.1949 ประชาชนจีนทุกเชื้อชาติ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเหมา เจ๋อ ตุง ได้ทำการปฏิวัติโค่นล้มระบอบจักรวรรดินิยม(imperialism) ระบบศักดินา(feudalism) และระบบทุนนิยมภายใต้การชี้นำของราชการ(bureaucrat-capitalism) ซึ่งถือเป็นชัยชนะในการปฏิวัติประชาธิปไตยใหม่ (New Democratic Revolution) และนำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ประชาชนจีนได้มีอำนาจและเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง
หลังจากการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศจีนได้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปทีละน้อยจากสังคมประชาธิปไตยใหม่ไปสู่การเป็นประเทศสังคมนิยม กล่าวคือ ได้มีการแปรสภาพความเป็นเจ้าของการผลิตของเอกชน ระบบการแสวงหาผลประโยชน์เอารัดเอาเปรียบของบุคคลถูกยกเลิก ระบบเผด็จการประชาธิปไตยของประชาชนซึ่งนำโดยชนชั้นแรงงาน (working class รวมทั้งชาวนา (peasant) เรียกรวมว่า เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ (dictatorship of the proletariat) ได้รับการพัฒนาขึ้น ประชาชนจีนและกองทัพปลดแอกของประชาชนจีนสามารถเอาชนะการรุกรานของพวกจักรวรรดินิยม ความสำเร็จใหญ่ ๆ ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจได้ปรากฏขึ้น
ทั้งชัยชนะในการการปฏิวัติประชาธิปไตยใหม่ของจีน และความสำเร็จของการเป็นสังคมนิยม โดยประชาชนจีนทุกเชื้อชาติ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้วยการยึดถือแนวทางของลัทธิมาร์กและเลนิน (Marxist-Leninism) และแนวคิดของเหมา เจ๋อ ตุง (Mao Zedong Thought) ทฤษฏีของเติ้ง เสี่ยว ผิง (Deng Xiaping) ทฤษฏีตัวแทนสามฝ่าย (Theory of Three Represents) การนำวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อการพัฒนา (Scientific Outlook on Development) และแนวคิดของสี จิ้น ผิงในด้านลัทธิสังคมนิยมให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของจีนยุคใหม่ ที่จะยึดถือความเป็นเผด็จการประชาธิปไตยขงประชาชน บนเส้นทางสังคมนิยม ในการปฏิรูปและปรับปรุงสถาบันสังคมนิยม พัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาดสังคมนิยม (socialist market economy) และประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม (socialist democracy)
ชนชั้นที่คอยเอารัดเอาเปรียบได้ถูกขจัดทิ้งไป แต่การต่อสู้ยังคงมีต่อไปเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน ประชาชนจีนต้องต่อสู้กับพลังอำนาจของต่างประเทศและพลังอำนาจในประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อระบบสังคมนิยมของประเทศ
การสร้างลัทธิสังคมนิยมต้องขึ้นอยู่กับคนงาน ชาวนา และปัญญาชน ด้วยการรวมพลังทั้งหมดเข้าด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของของการปฏิวัติจีน การพัฒนา และการปฏิรูป ไม่มีทางเป็นไปได้หาก ไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาวโลก อนาคตของจีนผูกพันกับอนาคตของโลก
3.หลักการทั่วไป

รัฐธรรมนูญจีน ได้วางหลักการทั่วไปในปกครองประเทศ สรุปได้ดังนี้
3.1 การเป็นรัฐสังคมนิยม (Socialist State)
สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นรัฐสังคมนิยม ปกครองด้วยระบบเผด็จการประชาธิปไตยของ ประชาชน (People’s democratic dictatorship) ซึ่งนำโดยชนชั้นแรงงานอันอยู่บนพื้นฐานของการเป็นพันธมิตรของผู้ใช้แรงงานและชาวนา
ระบบสังคมนิยม เป็นระบบพื้นฐานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การนำของพรรค คอมมิวนิสต์จีน ซึ่งได้ปรับลัทธิลัทธิสังคมนิยมให้สอดคล้องกับคุณลักษณะเฉพาะของชาวจีน การจัดตั้งองค์การใดๆ หรือบุคคลใดจะทำลายระบบสังคมนิยมจะทำไม่ได้
3.2 อำนาจทั้งหมดเป็นของประชาชน
ประชาชนใช้อำนาจผ่านสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress) และ สภาประชาชนแห่งท้องถิ่นทุกระดับ
3.3 หลักประชาธิปไตยรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (Democratic Centralism)
สถาบันของรัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีนจะปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตยรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง
สภาประชาชนแห่งชาติและสภาท้องถิ่นทุกระดับ ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน
การแบ่งหน้าที่และอำนาจระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น ถือหลักให้อำนาจอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความริเริ่มและแรงจูงใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง
3.4 ความเท่าเทียมของคนจีนทุกเผ่าพันธุ์
คนจีนทุกเผ่าพันธุ์หรือทุกเชื้อชาติมีความเท่าเทียมกัน โดยชนกลุ่มน้อยในแต่ละเขตจะได้ปกครองตนเอง (regional autonomy)
ชนกลุ่มน้อยทุกเผ่าพันธุ์ มีอิสระในการจะใช้และพัฒนาภาษาพูดและภาษาเขียนของตนเอง และสามารถรักษาหรือปฏิรูปขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเองได้
3.5 การแบ่งพื้นที่ในการปกครองประเทศ
พื้นที่ในการปกครองประเทศแบ่งออกเป็น ดังนี้
3.5.1 ประเทศจีนประกอบด้วย มณฑล (provinces) เขตปกครองตนเอง (autonomous regions) และมหานคร (city) ที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล
3.5.2 มณฑล และเขตปกครองตนเอง ประกอบด้วย จังหวัดปกครองตนเอง (autonomous prefecture) เคาน์ตี (county) เคาน์ตีปกครองตนเอง (autonomous county) และนคร
3.5.3 เคาน์ตี และเคาน์ปกครองตนเอง ประกอบด้วย เมือง (township) เมืองของชาติพันธุ์ (ethic town)
มหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล และนครใหญ่อื่น ๆ ประกอบด้วยเขต และเคาน์ตี เคาน์ตีปกครองตนเอง และเขตปกครองตนเองของชนกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนจังหวัดปกครองตนเอง ประกอบด้วย เคาน์ตี เคาน์ตีปกครองตนเอง และนคร
เขตปกครองตนเองทั้งหลาย รวมถึงจังหวัดปกครองตนเอง และเคาน์ตีปกครองตนเอง เป็นเขตปกครองตนเองของชนกลุ่มชาติพันธุ์
3.5.4 รัฐอาจจะจัดตั้งเขตบริหารพิเศษ (special administrative areas) ขึ้นมาได้ตามความจำเป็น
4.สภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress)
ตามหมวด 3 ตอนที่ 1 ได้กำหนดเรื่อง สภาประชาชนแห่งชาติ สรุปดังนี้
4.1 ความสำคัญ
สภาประชาชนแห่งชาติเป็นองค์กรของรัฐที่มีอำนาจสูงสุด โดยมีคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาเป็นองค์กรถาวร (Standing Committee) ทั้งสภาประชาชนแห่งชาติและคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ
ส่วนสมาชิกสภาจะมีจำนวนกี่คน ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
4.2 ที่มาของสมาชิกสภา
สภาประชาชนแห่งงชาติ ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากมณฑล เขตปกครองตนเอง มหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล เขตบริหารพิเศษ และกองทัพ ในส่วนของชนกลุ่มชาติพันธุ์ จะมีจำนวนสมาชิกตามความเหมาะสม
สมาชิกสภาประชาชนมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี
4.3 อำนาจหน้าที่
สภาประชาชนมีอำนาจหน้าที่หลายประการ ตามมาตรา 62 เช่น
- การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- การตรวจติดตามการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ
- การตราและการแก้ไขกฎหมาย
- การเลือกประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี
- การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ของรัฐ
- การอนุมัติงบประมาณ
- การอนุมัติการจัดตั้งมณฑล เขตปกครองตนเอง และมหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล ตลอดจนเขตปกครองพิเศษ
4.4 อำนาจในการถอดถอน
ตามมาตรา 63 สภาประชาชนแห่งชาติ มีอำนาจในการถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ของประเทศ เช่น
- ประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี
- นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี
- ประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งรัฐ
- ประธานศาลสูง
- อัยการสูงสุด
5.ประธานาธิบดี
5.1 ที่มา
ประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี ได้มาจากการเลือกตั้งของสภาประชานแห่งชาติ มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปีเช่นเดียวกับสภาประชาชนแห่งชาติ
5.2 อำนาจหน้าที่
ประธานาธิบดี เป็นผู้มีอำนาจในการเสนอให้สภาประชาชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ของชาติ
นอกจากนี้ประธานาธิบดียังทำหน้าที่เป็นประมุขของประเทศ
6.คณะรัฐมนตรี (State Council)
ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ตอน 2 ได้กำหนดเรื่องคณะรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้
6.1 ความสำคัญ
คณะรัฐมนตรี เป็นองค์กรฝ่ายบริหารสูงสุดของรัฐ ประกอบด้วย
- นายกรัฐมนตรี
- รองนายกรัฐมนตรี
- ที่ปรึกษาแห่งรัฐ (state councilors)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
- รัฐมนตรีเฉพาะภารกิจ (minister of commission)
- ผู้ตรวจสอบทั่วไป (auditor)
- เลขาธิการ
คณะรัฐมนตรี มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี เช่นเดียวกันกับสภาประชาชนแห่งชาติ โดยจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองวาระไม่ได้
6.2 อำนาจหน้าที่
คณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ 18 ประการ ตามมาตรา 89 แต่กล่าวโดยสรุปแล้ว คือ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารของประเทศ
6.3 ความรับผิดชอบ
คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในการบริหารประเทศต่อสภาประชาชนแห่งชาติ และต้องรายงานผลต่อสภาประชาชนแห่งชาติ เว้นแต่อยู่นอกสมัยประชุมให้รายงานต่อคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาแทน
6.4 ระบบการบริหาร
การบริหารของคณะรัฐมนตรี เป็นระบบความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี
7.คณะกรรมาธิการทหารแห่งรัฐ (Central Military Commission)
ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ตอนที่ 4 คณะกรรมาธิการทหารแห่งรัฐ เป็นผู้นำกองทัพของประเทศ มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปีเหมือนวาระของสภาประชาชนแห่งชาติ โดยต้องรายงานต่อสภาประชาชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา
การบริหารงานอยู่ในระบบความรับผิดชอบของผู้เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (chairperson responsibility system)
8. สภาประชาชนระดับท้องถิ่น และการปกครองระดับท้องถิ่น
ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ตอนที่ 5 กำหนดโครงสร้างการปกครองระดับท้องถิ่น สรุปดังนี้
8.1 หน่วยการปกครองระดับต่าง ๆ
โครงสร้างการปกครองประเทศในระดับรองลงไป คือ มณฑล เขตปกครองตนเอง และมหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีเขตบริหารพิเศษ
มณฑล และเขตปกครองตนเอง ประกอบด้วย จังหวัดปกครองตนเอง เคาน์ตี เคาน์ตีปกครองตนเอง และนคร
เคาน์ตี และเคาน์ตีปกครองตนเอง ประกอบด้วย เมืองของชนกลุ่มชาติพันธุ์ และเมืองทั่วไป
ส่วนมหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล และนครอื่น ๆ ประกอบด้วย เขต และเคาน์ตี
จังหวัดปกครองตนเอง ประกอบด้วย เคาน์ตี เคาน์ตีปกครองตนเอง และเมืองขนาดใหญ่
8.2 ฐานะ วาระ และที่มาของสภาประชาชนระดับท้องถิ่น
สภาประชาชนท้องถิ่นทุกระดับ เป็นองค์กรใช้อำนาจรัฐระดับท้องถิ่น และสามารถจัดตั้งคณะกรรมการสามัญประจำสภาของตนเองได้
สภาประชาชนท้องถิ่นทุกระดับ มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี
สภาประชาชนมณฑล มหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล และนคร แบ่งออกเป็นเขต และสมาชิกได้มาจากการเลือกตั้งของแต่ละเขต
ส่วนเคาน์ตี และนคร ไม่ได้แบ่งออกเป็นเขต เทศบาล เมืองของชนกลุ่มชาติพันธุ์ และเมืองทั่วไป สมาชิกสภาได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนภายใน เคาน์ตี นคร เทศบาล เมืองของชนกลุ่มชาติพันธุ์ และเมืองทั่วไป
8.3 สภาประชาชนท้องถิ่น กับ คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา
การบริหารงานของสภาประชาชนของมณฑล และ,มหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล จะต้องไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และจะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ
8.4 สภาประชาชนระดับท้องถิ่น กับฝ่ายบริหารของท้องถิ่น
สภาประชาชนท้องถิ่นทุกระดับมีอำนาจในเลือกและถอดถอนฝ่ายบริหารของตนออกจากตำแหน่ง ได้แก่ ผู้ว่าการมณฑลและ รองผู้ว่าการมณฑล นายกเทศมนตรีและรองนายกเทศมนตรี หัวหน้าเคาน์ตีและรองหัวหน้าเคาน์ตี หัวหน้าเทศบาลและรองหัวหน้าเทศบาล หัวหน้าและรองหัวหน้าเมืองของชนกลุ่มชาติพันธุ์ หัวหน้าและรองหัวหน้าของเมืองทั่วไป
8.5 ฝ่ายบริหารของท้องถิ่น
ฝ่ายบริหารของท้องถิ่นเป็นองค์กรบริหารงานของรัฐในระดับท้องถิ่น ได้แก่ ผู้ว่าการมณฑล นายกเทศมนตรี หัวหน้าเคาน์ตี หัวหน้าเทศบาล หัวน้าเมืองของชนกลุ่มชาติพันธุ์ และหัวหน้าเมืองทั่วไป โดยมีวาระดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระของสภาประชาชนระดับท้องถิ่นของแต่ละระดับ
8.6 อำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารท้องถิ่น
ฝ่ายบริหารท้องถิ่นทุกระดับมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานท้องถิ่นในเขตอำนาจของตน
ฝ่ายบริหารท้องถิ่นระดับมณฑล และมหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล มีอำนาจในการจัดตั้งเมืองของชนกลุ่มชาติพันธุ์ และเมืองทั่วไป
ฝ่ายบริหารท้องถิ่นในแต่ละระดับ ต้องรับผิดชอบต่อองค์กรบริหารของรัฐในระดับที่สูงกว่าตนในลำดับถัดไป
ฝ่ายบริหารท้องถิ่นทุกระดับทั่วประเทศเป็นองค์กรฝ่ายบริหารที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรี
9. องค์กรปกครองตนเองของเขตปกครองตนเองของชนกลุ่มชาติพันธุ์ (Autonomous Organs of Ethnic Autonomous Areas)
ตามรัฐธรรมนูญ ฯ หมวด 3 ตอนที่ 6 ได้รับรองให้ชนกลุ่มชาติพันธุ์สามารถปกครองตนเองได้ โดยจัดให้มีสภาประชาชนของเขตปกครองตนเอง จังหวัดปกครองตนเอง และเคาน์ตีปกครองตนเอง และมีฝ่ายบริหารของพื้นที่ปกครองตนเอง ได้แก่ ผู้ว่าการเขตปกครองตนเอง ผู้ว่าการจังหวัดปกครองตนเอง และหัวหน้าเคาน์ตีปกครองตนเอง
10. รายชื่อมณฑล และหน่วยการปกครองเทียบเท่ามณฑลของจีน

จีนแบ่งพื้นที่การปกครองที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลออกเป็นมณฑล มหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล จำนวน 4 แห่ง เขตปกครองตนเองจำนวน 5 แห่ง และเขตบริหารพิเศษ จำนวน 2 แห่ง
ทุกมณฑลในจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งมณฑลไหหลำ มีคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑล นำโดยเลขาธิการพรรคประจำมณฑล ซึ่งมีอำนาจมากกว่าผู้ว่าการมณฑลเสียอีก
10.1 รายชื่อมณฑล
สาธารณรัฐประชาชนจีน มีจำนวน 22 มณฑล หากนับรวมไต้หวันด้วย จะเป็น 23 มณฑล ได้แก่
- มณฑล กวางตุ้ง เมืองหลวง กวางโจว ประชากร 95.4 ล้านคน
- มณฑล กุ้ยโจว เมืองหลวง กุ้ยหยาง ประชากร 37.9 ล้านคน
- มณฑล กานซู่ เมืองหลวง หลานโจว ประชากร 26.2 ล้านคน
- มณฑล จี๋หลิน เมืองหลวง ฉางชุน ประชากร 27.3 ล้านคน
- มณฑล เจียงซู เมืองหลวง หนานจิง (นานจิง) ประชากร 76.7 ล้านคน
- มณฑล เจียงซี เมืองหลวง หนานชาง ประชากร 44 ล้านคน
- มณฑล เจ้อเจียง เมืองหลวง หางโจว ประชากร 51.2 ล้านคน
- มณฑล ส่านซี เมืองหลวง ซีอาน ประชากร 37.6 ล้านคน
- มณฑล ชานซี เมืองหลวง ไท่หยวน ประชากร 34.1 ล้านคน
- มณฑล ชานดง เมืองหลวง จี่หนาน ประชากร 94.1 ล้านคน
- มณฑล ชิงไห่ เมืองหลวง ซีหนิง ประชากร 5.5 ล้านคน
- มณฑล ซื่อชวน (เสฉวน) เมืองหลวง เฉิงตู (เฉินตู) ประชากร 81.3 ล้านคน
- มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) เมืองหลวง ฝูโจว ประชากร 36.0 ล้านคน
- มณฑล หยุนหนาน (ยูนาน) เมืองหลวง คุณหมิง ประชากร 45.4 ล้านคน
- มณฑล หูเป่ย์ เมืองหลวง อู่ฮั่น ประชากร 57.1 ล้านคน
- มณฑล หูหนาน เมืองหลวง ฉางชา ประชากร 63.8 ล้านคน
- มณฑล เหอเป่ย์ เมืองหลวง ฉือเจียจวง ประชากร 69.8 ล้านคน
- มณฑล เหอหนาน เมืองหลวง เจิ้งโจว ประชากร 94.2 ล้านคน
- มณฑล เหลียวหนิง เมืองหลวง เสิ่นหยาง ประชากร 43.1 ล้านคน
- มณฑล ไห่หนาน (ไหหลำ) เมืองหลวง ไหโช่ว ประชากร 8.5 ล้านคน
- มณฑล อานฮุย เมืองหลวง เหอเฝย์ ประชากร 61.3 ล้านคน
- มณฑล เฮย์หลวงเจียง เมืองหลวง ฮาร์บิน 38.2 ล้านคน
ข้อสังเกต
ในบรรดา 22 มณฑลนั้น มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
- มณฑลที่มีประชากรมากที่สุด คือ มณฑลกวางตุ้ง จำนวน 95.4 ล้านคน
- มณฑลที่มีประชากรน้อยที่สุด คือ มณฑลชิงไห่ จำนวน 5.5 ล้านคน
- มณฑลที่มีพื้นที่มากที่สุด คือ มณฑลชิงไห่ จำนวน 721,000 ตร.กม.
- มณฑลที่มีพื้นที่น้อยที่สุด คือ มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) จำนวน 33,920 ตร.กม.
10.2 พื้นที่พิพาท
ไต้หวัน นับเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างสาธารณรัฐจีน และสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเมืองหลวงชื่อ ไทเป มีพื้นที่ 35,581 ตร.กม. และมีประชากร 23.5 ล้านคน
10.3 เขตปกครองตนเอง
เขตปกครองมีจำนวน 5 แห่ง คือ
- กว่างสีจ้วง (กวางสี) ชนกลุ่มน้อย จ้วง เมืองหลวง หนานหนิง ประชากร 48.8 ล้านคน
- มองโกเลียใน ชนกลุ่มน้อย มองโกล เมืองหลวง ฮูฮอด (ฮูเหอเฮ่าเท่อ)
ประชากร 23.8 ล้านคน
- หนิงเซี่ยหุย ชนกลุ่มน้อย หุย เมืองหลวง อิ๋นชวาน ประชากร 5.8 ล้านคน
- ซินเจียงอุยกูร์ ชนกลุ่มน้อย อุยกูร์ เมืองหลวง อุรุมชี ประชากร 21.8 ล้านคน
- ทิเบต ชนกลุ่มน้อย ทิเบต เมืองหลวง ลาซา ประชากร 2.7 ล้านคน
10.4 มหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล
มีอยู่ 4 แห่ง คือ
– เป่ย์จิง (ปักกิ่ง) ประชากร 20.6 ล้านคน
– ฉงชิ่ง (จุงกิง) ประชากร 52.1 ล้านคน
– ชางไห่ (เซี่ยงไอ้) ประชากร 34.0 ล้านคน
– เทียนจิน (เทียนสิน) ประชากร 15.4 ล้านคน
10.5 เขตบริหารพิเศษ
เขตบริหารพิเศษ มีอยู่ 2 แห่ง คือ
- ฮ่องกง ประชากร 7.2 ล้านคน
- มาเก๊า ประชากร 0.65 ล้านคน
11.วิเคราะห์รูปแบบการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน
แม้สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ในลำดับต้น ๆ ของโลก แต่ประเทศนี้ไม่ได้จัดรูปแบบการปกครองเป็นรัฐรวมเหมือนอย่างประเทศขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินเดีย บราซิล เป็นต้น
จีนเลือกใช้รูปแบบรัฐเดี่ยวที่เป็นสาธารณรัฐ โดยอำนาจรวมเข้าสู่ศูนย์กลางตามหลักประชาธิปไตยแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (democratic centralism) แต่การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางดัง กล่าวคือ จีนไม่ได้ใช้กลไกในรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคเหมือนอย่างของไทย แต่จีนใช้กลไกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนควบคุมการปกครองประเทศในทุกระดับให้รวมเป็นหนึ่งหรือเป็นเอกภาพอย่างสมบูรณ์ ผู้ที่จะได้ดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐหรือของรัฐบาล มักจะเป็นคนที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์จีนในระดับต่าง ๆ อยู่แล้ว อย่างเช่น สี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในระดับมณฑลก็จะต้องเป็นคนมีตำแหน่งสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในระดับมณฑล เป็นต้น
การที่จีนประสบความสำเร็จในการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ก็เพราะประชาชนจีนคุ้นเคยกับระบบการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมาตั้งแต่โบราณกาลที่อยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระจักรพรรดิอยู่แล้ว
12.สรุป
รูปแบบการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศรัฐเดี่ยว ที่มีการปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ภายใต้รัฐธรรมนูญปีค.ศ.1982 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ตามอารัมภบทของรัฐธรรมนูญได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า การปกครองประเทศอยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยยึดแนวทางของลัทธิมาร์ก-เลนิน รวมทั้งแนวคิดของเหมา เจอ ตุง ทฤษฎีของ เติ้ง เสี่ยวผิง ทฤษฎีตัวแทนสามฝ่าย การมองวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนา และแนวคิดของสี จิ้น ผิง ในด้านสังคมในยุคสมัยใหม่
โครงสร้างการปกครองในระดับชาติ มีสภาประชาชนแห่งชาติ เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งประธานธิบดี รองประธานาธิบดี ตลอดผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ของประเทศ
สมาชิกสภาประชาชนได้มาจากการเลือกตั้งมาจากมณฑล เขตปกครองตนเอง มหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล เขตบริหารพิเศษ และกองทัพ อยู่ในวาระ 5 ปี
คณะรัฐมนตรี (State Council) เป็นผู้ใช้อำนาจในการบริหารประเทศ ได้รับแต่งตั้งจากสภาประชาชนแห่งชาติตามที่ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอ
ส่วนโครงสร้างการปกครองประเทศในระดับรองลงไป คือ มณฑล เขตปกครองตนเอง และมหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีเขตบริหารพิเศษ
มณฑล และเขตปกครองตนเอง ประกอบด้วย จังหวัดปกครองตนเอง เคาน์ตี เคาน์ตีปกครองตนเอง และนคร
เคาน์ตี และเคาน์ตีปกครองตนเอง ประกอบด้วย เมืองของชนกลุ่มชาติพันธุ์ และเมืองทั่วไป
ส่วนมหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล และนครอื่น ๆ ประกอบด้วย เขต และเคาน์ตี
จังหวัดปกครองตนเอง ประกอบด้วย เคาน์ตี เคาน์ตีปกครองตนเอง และเมืองขนาดใหญ่
มณฑล และหน่วยการปกครองระดับรองลงไป มีสภาประชาชนของท้องถิ่น และมีฝ่ายบริหารของท้องถิ่น ซึ่งสภาประชาชนท้องถิ่นในแต่ละระดับเป็นผู้เลือกขึ้นมา
สถาบันแห่งรัฐระดับต่าง ๆ จะต้องยึดหลักประชาธิปไตยแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (principle of democratic centralism)
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
ถาม- ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญจีนได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า การปฏิวัติโค่นล้มการปกครองจีนเมื่อปีค.ศ.1949 เป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยใหม่ (New Democratic Revolution) ขอทราบว่า เป็นเพราะเหตุใดจึงกล่าวเช่นนั้น
ตอบ- เมื่อปีค.ศ.1911 ดร. ซุน ยัต เซน ได้เป็นผู้นำในการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง สถาปนาการปกครองสาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่การบริหารประเทศประสบความล้มเหลว จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายใต้การนำของเหมา เจอ ตุง ได้ทำการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง เรียกชื่อ การปฏิวัติประชาธิปไตยใหม่ เพื่อสถาปนาการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ขึ้นมา
ตามแนวคิดของผู้นิยมการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์เห็นว่า การปกครองระบอบนี้ เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะเป็นการปกครองของคนชั้นกรรมาชีพ มิใช่นายทุนเหมือนอย่างการปกครองระบอบประชาธิปไตยในโลกตะวันตก
ถาม- นอกจากลัทธิมาร์ก-เลนิน แล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีนยึดแนวคิดหรือทฤษฎีของผู้ใดอีกเป็นหลักในการปกครองประเทศ
ตอบ- นอกจากยึดถือลัทธิมาร์ก-เลนิน เป็นหลักในการาปกครองประเทศแล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ระบุไว้ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญไว้ว่า ยึดถือแนวคิดของเหมา เจอ ตุง ทฤษฎีของเติ้ง เสี่ยว ผิง ทฤษฎีตัวแทนสามฝ่าย การมองวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนา และแนวคิดของ สี จี้ ผิง ในด้านสังคมนิยมยุคใหม่
ถาม-ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญจีนได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า การปกครองของจีนเป็นระบบเผด็จการประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพ ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น ดูขัดแย้งกัน
ตอบ-เป็นการใช้คำตอบโต้โลกตะวันตกที่อ้างว่า ประเทศตะวันตกมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประเทศที่มีการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ก็มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่เป็นการปกครองระบบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เพราะตามอุดมการณ์ของลัทธิมาร์ก-เลนิน ประเทศที่ปกครองตามระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มีเพียงชนชั้นเดียวคือ ชนชั้นกรรมาชีพ ส่วนชนชั้นนายทุนจะต้องถูกกวาดล้างไปให้หมด ดังนั้น การปกครองจึงเป็นการผูกขาดอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น
ในมุมมองของโลกตะวันตก ถือว่า การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์เป็นการปกครองแบบเผด็จการสมบูรณ์แบบ
ถาม- คำว่า ประชาธิปไตยแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของประเทศจีนคืออย่างไร
ตอบ- หมายความว่า หน่วยงานของรัฐระดับล่างต้องปฏฺิบัติตามนโยบายและคำสั่งของหน่วยเหนือเสมอ ไม่มีอิสระที่จะคิดริเริ่มไปนอกเหนือนโยบายและคำสั่งของหน่วยเหนือได้
ถาม-พรรคการเมืองในจีน นอกจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว ยังมีพรรคการเมืองอื่นอีกหรือไม่
ตอบ- ตามรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดการห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น แต่ในทางปฏิบัติพรรคการเมืองอื่นที่มี่อุดมการณ์แตกต่างไปจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ย่อมยากที่จะเกิดขึ้นได้
ถาม- เป็นความจริงหรือไม่ที่ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอำนาจเหนือกว่ารัฐ หรือรัฐบาลจีน
ตอบ- ใช่แล้ว ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐหรือรัฐบาล ปกติต้องเป็นผู้กุมอำนาจสำคัญในพรรค เช่น สี จี้ ผิง นอกจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดของพรรค
ถาม- เป็นความจริงหรือไม่ที่ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคของคนชั้นนำ (e’lite party)ของจีนเท่าน้ัน
ตอบ- เป็นความจริง การที่จะเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสตฺ์จีนได้นั้น เป็นเรื่องยาก เพราะจะต้องได้รับการพิจารณากลั่นกรองจากพรรคว่า เป็นผู้มีอุดมการณฺ์สังคมนิยมคอมมิวนสิต์อย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากตัวเลขสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีเพียง 80 ล้านคนเท่านั้น คิดเป็นร้อยละ 5.7 จากยอดประชากรทั้งประเทศราว 1,400 ล้านคน
ถาม- ประเทศจีนมีชนกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย เป็นจำนวนมาก เป็นเพราะเหตุใดจึงสมารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
ตอบ- พื้นที่ใดมีชนกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยมาก รัฐธรรมนูญรับรองให้พื้นที่ดังกล่าว จัดตั้งเป็นเขตการปกครองตนเองได้ ทำให้ชนกลุ่มชาติพันธุ์มีอิสระในการปกครองตนเองให้สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตของตน ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทำให้ได้รับความพอใจ และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
อาจารย์คะ การคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของจีน มีความเป็นมาอย่างไรคะ
คนที่จะได้เป็นประธานาธิบดีจีน สภาประชาชนแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีอำนาจสูงสุด เป็นผู้แต่งตั้ง
ปกติจะแต่งตั้งจากผู้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ในทางพฤตินัย เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน คือ บุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของจีน ดังนั้น การแต่งตั้งโดยสภาประชาชนแห่งชาติ เป็นเพียงพิธีการมากกว่า มีอำนาจที่แท้จริง
จีนมีพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ มีบทบาททางด้านไหนคะ ขอบคุณค่ะ
ตามความเป็นจริงไม่มี หากใครแสดงไปในทางต่อต้านระบอบการปกครองสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลจีนจะไม่ปล่อยไว้ เช่น คนนิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตก
การจัดการบริหารประเทศที่ขนาดใหญ่และประชากรมากที่สุดจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการความมีเอกภาพในการปกครองแบบรัฐเดี่ยวแต่ก็ให้อิสระในการปกครองถิ่นที่มีความเสมอภาคทุกเผ่าพันธุ์
ถูกต้อง หากจีนไม่ยินยอมผ่อนปรนให้ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้ปกครองตนเองให้สอดคล้องวิถีชีวิต วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของพวกเขา ความสงบสุขอาจจะยังมีปัญหาในบางพื้นที่