ศรัทธาต่อสถาบันหลักของชาติอย่างแรงกล้า ทำให้ไทยชนะสงครามเย็น นับเป็นบทความลำดับที่ 4 ในหมวด ประเทศไทยกับชาติมหาอำนาจ โดยจะกล่าวถึง แนวคิดที่แตกต่างระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิประชาธิปไตย ลัทธิหรืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์นำมาเผยแพร่ในไทยตั้งแต่เมื่อใด แนวคิดหลักในการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น ศรัทธาพระพุทธศาสนาในการต่อสู้สงครามเย็น ศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในการต่อสู้เอาชนะสงครามเย็น สรุป และคุยกับดร.ชา
อนึ่ง ในบทความที่แล้ว 3 ผมได้เล่าให้ท่านทราบว่า รัฐ ไทยหรือประเทศไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามเย็นอย่างไร
Table of Contents
1.แนวคิดที่แตกต่างระหว่างลัทธิประชาธิปไตยและลัทธิคอมมิวนิสต์
การต่อสู้ในสงครามเย็น เป็นการต่อสู้กันในทางความคิดหรืออุดมการณ์ที่แตกต่างกัน การแพ้ชนะอยู่ที่ว่า ฝ่ายใดจะสามารถโฆษณาชวนเชื่อและสร้างผลงานให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับได้มากกว่ากัน เพราะต่างฝ่ายต่างนำเสนอว่า อุดมการณ์ของฝ่ายตนดีกว่าอุดมการณ์ของอีกฝ่ายหนึ่ง
1.2 ลัทธิประชาธิปไตย Democracy
ลัทธิประชาธิปไตย เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่งทีมีความเชื่อว่า ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน มีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค ประชาชนสามารถปกครองตนเองได้ รัฐบาลเป็นผู้รับใช้ประชาชน ไม่ใช่นายของประชาชน รัฐบาลเป็นเพียงผู้ที่ได้รับความยินยอมจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศภายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
หากบริหารประเทศไม่ดี ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชานส่วนใหญ่ของประเทศ ประชาชนมีสิทธิเอาออกได้
ในทางปฏิบัติ การปกครองระบอบประชาธิปไตย จะใช้เศรษฐกิจแบบทุนนิยม เพราะเป็นระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องหลักเสรีนิยม
ประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อาจจะมีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดีก็ได้
1.2 ลัทธิคอมมิวนิสต์
ลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นอุดมการณ์ที่มีความเชื่อตรงกันข้ามกับลัทธิประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ลัทธิคอมมิวนิสต์มีความเชื่อในเรื่องของชั้น โดยสังคมจะแบ่งออกเป็น 2 ชนชั้น คือ ชนชั้นผู้ปกครอง กับชนชั้นผู้ถูกปกครอง
ลัทธิคอมมิวนิสต์เชื่อว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองของชนชั้นนายทุนที่คอยเอารัดเอาเปรียบชนชั้นกรรมาชีพในทุกวิถีทางจนชนชั้นกรรมาชีพทนไม่ไหว ก็จะพร้อมกันลุกฮือขึ้นโค่นล้มการปกครองของนายทุน แล้วสร้างรัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมาแทน และบริหารประเทศไปจนกว่านายทุนจะถูกจำกัดไปหมด รัฐก็จะสลายไป เพราะไม่มีชนชั้นอีกแล้ว
ด้วยความเชื่อดังกล่าว ทุกประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ จึงได้มีการปฏิวัติล้มล้างการปกครองที่มีอยู่เดิมด้วยความโหดร้ายและรุนแรง จนทำให้มีการเสียเลือดเนื้อเป็นจำนวนมาก และทำให้บุคคลที่อยู่ในข่ายจะถูกทำลายล้างได้อพยพหนีตายไปสู่ประเทศเสรีนิยมเป็นจำนวนมากเช่นกัน
2.ลัทธิหรืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ถูกนำมาเผยแพร่ในไทยมาตั้งแต่เมื่อใด
หากจะถามว่า ประเทศไทยได้รับแนวคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่เมื่อใด คงพอจะตอบได้ว่า ได้รับมาตั้งแต่ยุคพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 5 ได้ส่งเชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพารจำนวนหนึ่งไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศ โดยพระองค์ทรงหวังว่า บุคคลเหล่านั้นจะได้นำความรู้สมัยใหม่กลับมาพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าเป็นประเทศสมัยใหม่เหมือนอย่างอารยประเทศ
อย่างไรก็ตาม ได้มีนักเรียนไทยจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสไปศึกษาเล่าเรียนยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีโอกาสไปศึกษาด้านการเมืองการปกครอง กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้รับแนวคิดด้านลัทธิคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมกลับมา จึงต้องการนำแนวคิดและอุดมการณ์ดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทย และได้เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475
หลังจากนั้น แนวคิดและอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็ได้แพร่เข้ามาในประเทศไทยเรื่อยมา แม้ในปัจจุบันผู้ที่นิยมศรัทธาในอุดมการณ์ดังกล่าวก็ยังมีแฝงอยู่ เพียงแต่อาจซ่อนหรือปิดบังอำพรางเจตนาที่แท้จริงไว้
3.แนวคิดหลักในการต่อสู้อาชนะคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น
แนวคิดหลักในการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น คือ
3.1 ใช้การเมืองนำหน้าการทหาร
การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนว่า แท้ที่จริงแล้ว หลักการของลัทธิคอมมิวนิสต์ คืออะไร แตกต่างจากลัทธิประชาธิปไตยอย่างไร
การสร้างความรู้ความเข้าใจดังกล่าว สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
3.1.1 การฝึกอบรมสร้างวิทยากรเพื่อนำความรู้ความเข้าใจจากระดับชาติลงไปสู่ระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน
การอบรมต้องมุ่งเน้นลงไปที่ผู้นำในแต่ละระดับ เพื่อให้ผู้นำแต่ละระดับนำความรู้ความเข้าใจที่ได้ไปถ่ายทอดแก่บุคคลที่อยู่ในปกครองหรือเครือข่ายต่อไป
3.1.2 การฝึกอบรมพลังมวลชนในระดับต่าง ๆ โดยใช้วิทยากรที่ได้สร้างขึ้นไว้ตามข้อ 3.1.1 เพื่อให้การอบรมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
3.2 ใช้การปฏิบัติการทางทหารเท่าที่จำเป็น
การปฏิบัติการทางทหาร หากใช้โดยไม่จำเป็นอาจส่งผลไปในทางตรงข้าม เพราะจะทำให้ญาติมิตรของผู้ก่อการร้ายหรือผู้หลงผิดมองเห็นว่า รัฐใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม และจะทำให้เป็นการสร้างความเกลียดชังรัฐในหมู่ญาติมิตรของผู้ก่อการร้ายหรือหลงผิดเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
3.3 ขยายอำนาจอธิปไตยไปสู่ประชาชนด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย
3.4 ขจัดความไม่ยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมให้หมดไป
จุดสำคัญประการหนึ่งที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ชอบหยิบยกขึ้นมาโจมตี คือ ความไม่เป็นธรรมในสังคมและความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น
การไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีอาญา
การถูกเอารัดเอาเปรียบในทางเศรษฐกิจโดยพ่อค้านายทุนหน้าเลือด
การกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม กระจุกอยู่กับคนไม่กี่ตระกูล
3.5 ขจัดการทุจริตคอรัปชั่น
ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนานจนกระทั่งทุกวันนี้ ก็ยังแก้ไม่ตก
ในยุคสงครามเย็น ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้หยิบยกปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลและข้าราชการมาเป้าโจมตีเพื่อทำลายศรัทธาของประชาชนในอำนาจรัฐและระบบราชการ
4.ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาในการต่อสู้เอาชนะสงครามเย็น

ประชากรไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 นับถือพระพุทธศาสนา ในช่วงของการต่อสู้สงครามเย็น ข้อมูลที่มีการเผยแพร่กันในประเทศไทยคือ หากประเทศไทยตกเป็นคอมมิวนิสต์ ศาสนาพุทธ จะไม่มีอีกต่อไป หรือถ้ามีรูปแบบของศาสนาพุทธ ก็จะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม พระสงฆ์สามเณรจะอยู่จำวัดเฉย ๆ ไม่ได้ ต้องทำงานเหมือนประชาชนทั่วไป
ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปเช่นนี้ นับเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนไทยเกลียดและกลัวการเป็นประเทศคอมมิวนิสต์
5.ศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น
ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเราอย่างเวียดนาม ลาว หรือแม้แต่กัมพูชาในยุคเขมรแดง ประเทศได้ล่มสลายมาก่อนแล้วก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ กล่าวคือ ลาวและเวียดนาม ได้กลายเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เมื่อปีพ.ศ. 2518 จนกระทั่งปัจจุบัน ส่วนกัมพูชาได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดงช่วง ปีพ.ศ.2518-2522 ส่วนประเทศไทยยังคงดำรงการปกครองแบบเดิมไว้ได้ ไม่ได้ล่มสลายไปเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน
คำถาม คือประเทศไทยมีอะไรดี จึงสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเอาตัวรอดจากการไม่ตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก การไม่เป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้ง ๆ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้จับมือเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นอย่างเหนียวแน่น และล่าสุด คือ การไม่ตกเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ทั้ง ๆ ที่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นกันหมด
คำตอบ คือ เพราะประเทศไทยเรามีสถาบันหลักไว้เป็นศูนย์กลางในการยึดเหนี่ยวรวมจิตใจประชาชนได้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นสถาบันชาติไทย สถาบันศาสนา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

ในยุคสงครามเย็นตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้เสวยสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นระยเวลายาวนานร่วม 70 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2489-2559 โดยทรงมีบทบาทสำคัญในการนำพาชาติไทยให้รอดพ้นจากการตกเป็นประเทศคอมมิวนิวสต์ ดังนี้
5.1 ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
ตามประวัติชาติไทย นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกฉบับ พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะ ซึ่งสอดคล้องกับประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนาที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกซ์ หรือศาสนาอื่นใด
5.2 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนพสกนิกรของพระองค์ทั่วทุกพื้นที่ของผืนแผ่นดิน นับตั้งแต่ได้เสวยราชสมบัติตลอดมา
ทำให้พระองค์ให้ใกล้ชิดกับพสกนิกร รับทราบปัญหาและเห็นทุกข์สุขของประชาชนได้ด้วยพระองค์เอง
5.3 การที่ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์ทั่วผืนแผ่นดินไทยตลอดรัชกาลของพระองค์ ทำให้พระองค์สามารถทรงริเริ่มโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาให้แก่พสกนิกรเป็นจำนวนมากกว่า 3,000 โครงการ โดยมีโครงการที่โดดเด่นเป็นพิเศษจำนวน 9 โครงการ คือ
– โครงการแกล้งดิน
– โครงการหญ้าแฝก
– โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน
– โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
– ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล
– แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่
– โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
– โครงการฝนหลวง
– โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา
รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการที่โดดเด่นทั้ง 9 โครงการและโครงการตามพระราชดำริอื่น ๆ อาจดูได้ในเว็บไซต์ข้างล่างนี้
ในหลวงของเรา-พระราชกรณียกิจ- Google SiteS
https://sites.google.com/site/kingofking015/phra-rach-krniykic
6.สรุป
บทความนี้ คือบทความ ศรัทธาต่อสถาบันหลักของชาติอย่างแรงกล้า ทำให้ไทยชนะสงครามเย็น ต้องการเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบว่า การที่ชาติเราสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ของชาติมาได้หลายครั้งก็เพราะประชาชนมีศรัทธาต่อสถาบันหลักของชาติอย่างแรงกล้า
สถาบันหลักของชาติมีอยู่สามสถาบัน คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีบทบาทโดดเด่นในการนำพาประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์คอมมิวนิสต์ด้วยความวิริยะอุตสาหะแลพระปรีชาสามารถอันสูงส่งของพระองค์
พระองค์ทรงเป็นหลักชัยให้แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าตลอดระยเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ
กรุณาอ่านความคิดเห็นเพิ่มเติมใน หัวข้อคุยกับดร.ชาท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมวันนี้ คือ คุณนิรนาม (นามสมมุติ)
“ สวัสดีครับ คุณนิรนาม วันนี้หลาย ๆ คนเขาไม่ว่างกัน ผมเลยอยากเชิญคุณนรินาม มาสนทนากันหน่อย ” ผมทักทายก่อนเพื่อสร้างบรรยากาศ
“ ด้วยความยินดีครับ ดร.ชา ขอเชิญเริ่มต้นเลย ผมพร้อมแล้ว ” คุณนิรนามแสดงความพร้อม
“ วันนี้คงมีประเด็นเดียว คือ ผมอยากทราบความเห็นของคุณนิรนามหน่อยว่า สถาบันกษัตริย์ไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านได้มีบทบาทสำคัญมากน้อยเพียงใด ในการป้องกันมิให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโนที่ว่า เมื่อมีประเทศหนึ่งล้มประเทศที่อยู่ข้างเคียงก็ต้องล้มตาม ทั้ง ๆ ที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราได้กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์กันหลายประเทศแล้ว ” ผมถามเจาะประเด็นทันที
“ ดีครับสำหรับคำถามนี้ ผมคิดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราได้ทรงเสียสละทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินไปทุกที่ในแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นขึ้นเขาลงห้วย ทางทุรกันดารยากลำบากเพียงใด พระองค์พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงเสด็จไปมาแล้วตลอดรัชสมัยของพระองค์ เพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์ รับทราบปัญหาและหาทางแก้ปัญหาความยากจนของพสกนิกรด้วยพระองค์เอง”
“คุณนิรนาม คิดว่า ในเมื่อรัฐบาลก็มีอยู่ งบประมาณของรัฐบาลก็มีมากมาย ทำไมพระองค์จึงต้องทรงลำบากพระวรกายขนาดนั้น พระมหากษัตริย์ในประเทศอื่น ๆ ก็ไม่เห็นจะเหมือนอย่างในหลวงของเรา ” ผมถามในเชิงลึก
“ ในความเห็นของผมนะ ดร.ชา เรื่องนี้ก็คงเป็นเรื่องของพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์แต่ละประเทศและแต่ละพระองค์ อย่างพระมหากษัตรย์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจจะทรงเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องทำ แต่ประเทศที่เคยด้อยพัฒนาอย่างไทยจนได้กลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงอย่างทุกวันนี้ ในหลวงของเรา พระองค์ท่านก็คงอยากจะช่วยในส่วนที่พระองค์พอจะทำได้เพื่อความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรของพระองค์เอง
หลายโครงการ รัฐบาลก็ได้ตั้งงบประมาณสนับสนุนอย่าง เช่น โครงการหลวง ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือชาวเขาบนดอยทางภาคเหนือให้พ้นจากความยากจน ไม่ต้องปลูกฝิ่นผิดกฎหมายอีกต่อไป ” คุณนิรนามตอบอย่างคล่องแคล่ว
“ นอกจากที่กล่าวมา คุณนิรนามมีอะไรจะเสริมอีกไหม ” ผมยิงคำถามเปิด ก่อนจะปิดการสนทนา
“ มีแน่นอน อย่างการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด ได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาในบ้านเรามีความมั่นคงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชนได้อย่างมั่นคง
ในขณะเดียวกัน ในฐานะเป็นอัครศาสนูปถัมภก พระองค์ก็ได้ทรงส่งเสริมทุกศาสนา เพราะศาสนานี้ เป็นเรื่องสำคัญ หากคนมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ บ้านเมืองก็จะอยู่อย่างสงบเรียบร้อยไม่วุ่นวาย ” คุณนิรนามกล่าวปิดท้ายได้อย่างน่าฟัง
“ ดีมากเลย คุณนิรนาม ผมคิดว่า คำตอบของคุณนิรนามพอจะเป็นข้อคิดของท่านผู้อ่านได้ตามสมควร วันนี้ ผมคงรบกวนเท่านี้ ขอขอบคุณมาก โอกาสหน้าค่อยพบกันใหม่
“ ด้วยความยินดีครับ ดร.ชา ” คุณนิรนามตอบรับด้วยมิตรไมตรีอันดี
ดร.ชา 2/11/20
ขอบคุณ คุณนิรนามที่มาแบ่งปันความรู้ค่ะ
โครงการของ ร 9 หนูขอแสดงความคิดเห็นค่ะ หนูเป็นคนรักสุขภาพ หนูกินนมอัดเม็ด ที่วางขายในร้านสะดวกซื้อ เหตุผล คือ ดีต่อสุขภาพค่ะ
หญ้าแฝก หนูปลูกไว้ที่คันนา อยู่ติดกับห้วย เป็นดินทราย ป้องกันการพังทลายของดินได้ดีค่ะ
ถูกต้องแล้ว คุณณัชชา