หัวข้อที่ผมจะนำมาเล่าประกอบด้วย ภูมิหลัง แนวคิดเบื้องต้น ประเภทของจิต การวิเคราะห์ปัญหาและการกำหนดเป้าหมาย หลักการเบื้องต้นของการฝึกสั่งจิตใต้สำนึก การสั่งจิตใต้สำนึกจากภายนอก การสั่งจิตใต้สำนึกจากภายใน การประเมินผลและการปรับเป้าหมาย สรุปและข้อคิดเห็น โดยในบทความ (2) ได้กล่าวถึงแนวคิดเบื้องต้นของการฝึกสั่งจิตใต้สำนึก
สำหรับบทความ (4) เป็นการเล่าถึงหลักการเบื้องต้นของการฝึกสั่งจิตใต้สำนึก ได้แก่ การวิเคราะห์ปัญหาและกำหนดเป้าหมายที่จะนำมาสั่งจิตใต้สำนึก ทำไมต้องสั่งจิตใต้สำนึก สภาวะที่จิตใต้สำนึกพร้อมจะรับคำสั่ง สรุปและข้อคิดเห็น
Table of Contents
1.การวิเคราะห์ปัญหาและกำหนดเป้าหมายที่จะนำมาสั่งจิตใต้สำนึก
ผมได้กล่าวมาแล้วในบทความ (3) ประเภทของจิตว่า จิตสำนึกและจิตใต้สำนึกมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด หากสิ่งใดที่จิตสำนึกได้ออกคำสั่งไปยังจิตใต้สำนึกบ่อย ๆ ในที่สุดจิตใต้สำนึกก็จะยอมรับคำสั่งของจิตสำนึก กลายเป็นระบบอัตโนมัติใหม่ของจิต หากเมื่อใดที่เราอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับสภาวะแวดล้อมที่จิตใต้สำนึกสะสมไว้เป็นระบบอัตโนมัติของจิต จิตใต้สำนึกก็จะสั่งให้ร่างกายตอบสนองสภาวะแวดล้อมดังกล่าวซึ่งเป็นสิ่งเร้าโดยอัตโนมัติ
ดังนั้น การที่จะนำปัญหาใดมาสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อสร้างระบบอัตโนมัติใหม่ขึ้นมา เราควรที่จะวิเคราะห์ปัญหาและกำหนดเป้าหมายที่เราต้องการจะสั่งจิตใต้สำนึกนั้น เป็นเป้าหมายที่เราต้องการจริง ๆ เพระหากไม่ใช่เป้าหมายที่เราต้องการจริง ๆ จิตใต้สำนึกจะไม่ยอมรับคำสั่งจากจิตสำนึก
เมื่อจิตใต้สำนึกไม่ยอมรับคำสั่ง ย่อมหมายความว่า จิตไม่สามารถสร้างระบบอัตโนมัติอันใหม่ขึ้นมาได้
ตัวอย่าง
ในบรรดากลุ่มเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน นางสาวดาว จัดว่าเป็นคนคนสวยมาก แต่ยังไม่สวยที่สุดต้องการทดสอบดูว่า จิตใต้สำนึกจะสามารถ ทำให้ตนกลายเป็นสวยที่สุดในกลุ่มเพื่อนได้ไหม จึงได้ทดสอบด้วยการลองสั่งจิตใต้สำนึกก่อนนอนทุกคืน และทุกเช้าหลังตื่นนอน
หากนางสาวสั่งจิตใต้สำนึกด้วยความรู้สึกอยากทดสอบ การสั่งจิตใต้สำนึกของนางสาวดาวจะไม่ได้ผล เพราะนางสาวไม่มีความต้องการอย่างแท้จริงที่จะเป็นคนสวยที่สุดในกลุ่มเพื่อน แค่อยากทดสอบการสั่งจิตใต้สำนึกดูเท่านั้นเอง
2.ทำไมต้องสั่งจิตใต้สำนึก
หากเราต้องการจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราไปสู่ความเจริญก้าวหน้า จำเป็นต้องให้จิตใจส่วนลึกของเรายอมรับเสียก่อน เพราะถ้าจิตใจส่วนลึกของเราไม่ยอมรับ การกระทำหรือพฤติกรรมในการดำรงชีวิตของเราก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเมื่อการกระทำหรือพฤติกรรมในการดำรงชีวิตของเราไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผลลัพธ์ก็จะไม่มีอะไรใหม่ เพราะผลย่อมมาจากเหตุ เมื่อเหตุไม่เปลี่ยนผลก็จะไม่เปลี่ยน
ตัวอย่าง
นายแดง เป็นคนพูดจาไม่ไพเราะ แถมยังหยาบคาย ชอบใช้คำพูดหยาบกับขาว ซึ่งเป็นลูกชาย แต่เขาก็อยากให้ขาวเป็นคนพูดจาไพเราะ เมื่อได้ยินลูกพูดจาไม่ไพเราะครั้งใด เขาก็จะดุด่าขาวด้วยถ้อยคำหยาบคาย ถ้าเป็นเช่นนี้ ขาวก็คงยากที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นคนพูดจาไพเราะได้ เพราะจิตใต้สำนึกของขาวได้ยินได้ฟังแต่คำพูดหยาบคายจากแดงผู้เป็นพ่ออยู่ทุกวัน
ในทางตรงกันข้าม หากแดงพัฒนาตนเองด้วยการหัดพูดจาสุภาพเรียบร้อยกับขาวทุกวัน เลิกการพูดจาหยาบคายกับขาวได้เด็ดขาด ย่อมจะทำให้จิตใต้สำนึกของขาวได้ยินได้ฟังแต่คำพูดจาที่สุภาพ เรียบร้อย ถ้าเป็นเช่นนี้ ขาวลูกของแดง ก็จะกลายเป็นคนพูดจาสุภาพเรียบร้อยได้ภายในเวลาไม่นาน
3.สภาวะที่จิตใต้สำนึกพร้อมจะรับคำสั่ง
หากต้องการจะให้จิตใต้สำนึกพร้อมจะรับคำสั่งของจิตสำนึก ต้องสั่งในขณะที่จิตใจของเราสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ใช่คิดอยากจะสั่งจิตใต้สำนึกเมื่อก็ได้ สภาวะที่จิตใต้สำนึกพร้อมจะรับคำสั่งคือสภาวะที่เงียบสงบ เช่น
3.1เวลาก่อนนอน
ปกติคนเรามักจะเข้านอนในช่วงเวลาระหว่าง 22.00-24.00 น.การสั่งจิตใต้สำนึก ในเวลาก่อนนอน มักจะได้ผลดี เพราะบรรยากาศจะเงียบสงบ ไม่ค่อยมีเสียงจากภายนอกรบกวน ตัวเราก็เริ่มจะรู้สึกง่วงแล้ว ไม่คิดถึงเรื่องอื่น คิดแต่เรื่องจะเข้านอนพักผ่อน ทำให้จิตใจของเราสงบ หากเลือกสั่งจิตใต้สำนึกในเวลาเช่นนี้ ก็จะได้ผลดีเพราะจิตใต้สำนึกพร้อมที่จะรับคำสั่ง

การสั่งจิตใต้สำนึก
3.2 เวลาตื่นนอนใหม่ ๆ
ปกติคนเรามักจะตื่นนอนระหว่างเวลา 04.30-06.00 น. เมื่อเราตื่นนอนใหม่ ๆ ยังไม่ลุกจากที่นอน เรามักจะรู้สึกง่วงอยู่ และบรรยากาศโดยรอบก็ยังเงียบสงบ ไม่มีเสียงจากภายนอกรบกวน หากจะสั่งจิตใต้สำนึกในเวลาอย่างนี้ จะทำให้จิตใต้สำนึกพร้อมที่จะรับคำสั่ง

3.3 การได้ยินได้ฟังหรือได้กระทำบ่อย ๆ
หากสิ่งใดที่เราได้ยินได้ฟังหรือได้กระทำบ่อย ๆ เท่ากับเป็นการทำให้จิตใต้สำนึกยอมรับคำสั่งโดยปริยาย แม้เราจะไม่ได้ตั้งใจสั่งให้จิตใต้สำนึกยอมรับก็ตาม
ตัวอย่าง
นางสาวดำ มีความฝันอยากจะพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วเหมือนเจ้าของภาษา พยายามฝึกฝนมาเป็นเวลายาวนานมาหลายปี เวลาเรียนก็เลือกเรียนปริญญาตรีเอกภาษาอังกฤษ แต่ฝึกเท่าใดก็ไม่ได้ดังใจหวัง
อยู่มาวันหนึ่ง นางสาวดำได้รู้จักหนุ่มฝรั่งคนหนึ่ง ทั้งคู่ถูกชะตากัน ตกลงแต่งงานอยู่กินกันเป็นสามีภรรยา และตัดสินใจไปใช้ชีวิตที่อเมริกา ทำให้สิ่งที่นางสาวดำฝันมาทั้งชีวิตได้กลายเป็นความจริง เพราะการที่เธอได้สามีเป็นฝรั่งแถมได้ย้ายไปอยู่อเมริกา ทำให้สามารถเรียรู้การใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างรวดเร็ว เพราะได้ยินได้ฟังและได้ใช้วิถีชีวิตแบบอเมริกันทุกวัน สิ่งเคยว่ายากก็กลายเป็นเรื่องง่ายนิดเดียวเพราะจิตใต้สำนึกของเธอยอมรับสิ่งที่เธอได้ยินได้ฟังหรือได้กระทำบ่อย ๆ กลายเป็นระบบอัตโนมัติใหม่ของจิตขึ้นมา
3.4 การใช้คำสั่งจิตใต้สำนึกด้วยความคิดด้านบวก
การใช้ความคิดด้านบวกในการสั่งจิตใต้สำนึก จะทำให้จิตของเราไม่รู้สึกขัดแย้งกันเองว่าผิดหรือถูก ทำให้จิตใต้สำนึกพร้อมที่จะรับคำสั่งจากจิตสำนึก แต่ถ้าใช้ความคิดด้านลบ จะทำให้จิตของเราสับสน เกิดการโต้แย้งภายในจิตของเรา ทำให้จิตใต้สำนึกยากที่จะยอมรับได้
ตัวอย่าง
น้ำเงิน มีปัญหาการเงิน มีหนี้สินที่เกิดจากความสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย หากน้ำเงินบอกตัวเองบ่อย ๆ ว่า ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งเมื่อใดจะปลดหนี้ให้หมดแล้วค่อยเริ่มต้นชีวิตใหม่ การที่น้ำเงินคิดว่า เอาไว้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งแล้ว ค่อยปลดหนี้และเริ่มต้นชีวิตใหม่ เท่ากับเป็นการสร้างความคิดลบให้แก่ตนเอง เพราะน้ำเงินก็ตระหนักดีอยู่แล้วว่า โอกาสจะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งนั้น เลื่อนลอยมาก ดังนั้น จิตใต้สำนึกก็จะไม่ยอมรับคำสั่งอันเลื่อนลอยของน้ำเงินดังกล่าว ในที่สุดน้ำเงินก็มีแต่จะมีหนี้สินรุงรุงเหมือนดินพอกหางหมูไปเรื่อย ๆ
ในทางตรงกันข้าม หากน้ำเงินบอกตนเองบ่อย ๆ ว่า ต้องตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือฟุ่มเฟือยออกไปให้หมด เพื่อจะมีเงินสะสมไปชำระหนี้ ตลอดมีเงินลงทุนในบางอย่างที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของตน จิตใต้สำนึกของน้ำเงินก็จะยอมรับคำสั่ง เพราะเป็นคำสั่งในเชิงบวกและมีความเป็นไปได้
4.สรุปและข้อคิดเห็น
หลักการเบื้องต้นของการสั่งจิตใต้สำนึก คือ จะต้องเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ปัญหาชีวิตที่เราเผชิญอยู่ว่า คืออะไร ต่อจากนั้นให้เรากำหนดลงไปให้ชัดเจนว่า เพื่อจะแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ให้ประสบผลสำเร็จ เรามีเป้าหมายอย่างไร เพราะเราต้องนำเอาเป้าหมายดังกล่าวไปสั่งจิตใต้สำนึกให้จดจำ
การที่จะต้องสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อให้เราสามารถแก้ปัญหาสำเร็จก็เพราะ ความคิดของจิตสำนึกเป็นเพียงความคิดในการหาเหตุผล ยังไม่ใช่เป็นการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง หากต้องการให้มีการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่องจนกว่าจะประสบผลสำเร็จ จะต้องสร้างระบบอัตโนมัติของจิตขึ้นมา นั่นคือ การสั่งจิตใต้สำนึกบ่อย ๆ
แต่การสั่งจิตใต้สำนึกให้ได้ผล ต้องสั่งในสภาวะที่จิตใต้สำนึกพร้อมที่จะรับคำสั่ง คือ ต้องมีสภาวะแวดล้อมเอื้ออำนวย บรรยากาศเงียบสงบ ไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก การสั่งจิตใต้สำนึกต้องสั่งบ่อย ๆ และสั่งด้วยความคิดด้านบวก เพราะถ้าสั่งด้วยความคิดด้านลบ อาจจะทำให้จิตเกิดความสับสนว่าจะเชื่อดีไหม หรือถ้าเชื่อ ก็อาจจะนำไปสู่การกระทำที่เป็นลบ ผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีงาม
ผมหวังว่า ท่านผู้อ่านคงพอจะเข้าในหลักการเบื้องต้นของการสั่งจิตใต้สำนึก
พบกันใหม่ในบทความต่อไป “การสั่งจิตใต้สำนึกจากภายนอก”
ขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาติดตามบทความที่ผมเขียนด้วยดีเสมอมา
ดร.ชา
29/06/20
10.00 น.
“หากบทความนี้ถูกใจท่าน และท่านมีความประสงค์จะสนับสนุนให้บทความนี้แพร่หลายออกไป กรุณามีส่วนร่วมด้วยการกดไลค์ กดแชร์ไปยังกลุ่มบุคคลหรือบุคคลในเครือข่ายของท่าน หรือแสดงความคิดเห็น รวมทั้งสมัครเป็นผู้ติดตามได้ตามอัธยาศัย และขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
กรุณาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเพจ การสมัครเป็นผู้ติดตามและการมีส่วนร่วม ของเว็บไซต์นี้ คือ รวมเรื่องเล่า สนุกและสร้างสรรค์ ชุดประสบการณ์นักปกครองที่น่าสนใจ (https://tridirek.com) “
หนูเคยเข้าคอร์สเรียนกับโค้ชสอนเรื่องนี้ค่ะ ใช้หลักผสมผสานระหว่างจิตวิทยาและหมอดู
โค้ชสะกดจิต ตอนที่หนูมีอาการภวังค์ โค้ชใส่ข้อมูลให้หนูได้รับเงินเดือน 500บาท ต่อเดือน
และห้ามไปทำงาน ถ้าจะไปทำงานอะไรก็ต้องบอก
วันนี้จึงรู้ว่า โค้ชต้องการเงินค่าดูดวง ครั้งแรก3,500บาท ต่อไป เพิ่มเป็น5,000บาท และ9,000บาท
หนูดูครั้งแรกจึงหยุดแล้ว เลิกติดต่อทุกช่องทาง ค่ะ
อะไรก็ตามที่ดูแปลก ๆ ก็น่าจะมีอะไรแอบแฝง ถือเป็นประสบการณ์ คราวต่อไปเราจะได้ระมัดระวังตัว ไม่ให้เขาหลอกได้อีก
ขอบคุณครับที่แนะนำวิธีการสั่งจิตใต้สำนึก เพื่อจักได้เป็นประ่โยชน์ต่อการปรับปรุง พัฒนาตนเองต่อไปครับ
ติดตามให้จบทุกบทความนะผู้หมวด จะได้เข้าใจเป็นระบบ
อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรคะ เกี่ยวกับไลฟ์โค้ช ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ค่ะ
คงต้องฟังเจ้าตัวชี้แจงก่อนมั้ง เราต้องฟังความสองข้างก่อน อย่าเพิ่งสรุปอะไรเร็วจนเกินไป