สั่งจิตใต้สำนึก เพื่อความสำเร็จและความสุข เป็นชื่อหนังสืออีบุ๊คเล่มใหม่ของผม ซึ่งในขณะนี้ได้วางจำหน่ายแล้วทางเว็บไซต์จำนวน 3 แห่ง คือ www.ookbee.com, www.mebmarket.com, และ www.se-ed.com หนังสือเล่มนี้นับเป็นเล่มที่ 3 ซึ่งได้วางจำหน่ายในเว็บไซต์ทั้งสามดังกล่าว ทั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการ หนังสือ อีบุ๊ค เรื่องเล่า ดร.ชา
สำหรับบทความนี้ ผมต้องการจะนำตัวทดลองอ่านที่ปรากฏในเว็บไซต์ทั้งสามดังกล่าว ประกอบด้วย คำนำ ภูมิหลัง และแนวคิดเบื้องต้น มาลงให้ท่านลองอ่านดู ดังนี้

1.คำนำ
หนังสืออีบุ๊ค สั่งจิตใต้สำนึก เพื่อความสำเร็จและความสุข เกิดจากการรวบรวมบทความที่เคยนำลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ เรื่องเล่า ดร.ชา สนุก และสร้างสรรค์ 369 (www.tridirek.com) ในหมวด 5 การสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จและความสุข เมื่อกลางปีพ.ศ.2563 มาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาให้สมบูรณ์และจัดทำเป็นรูปเล่ม เพื่อความสะดวกของท่านที่สนใจอยากจะศึกษาหาความรู้ในเรื่องดังกล่าว
เนื้อหาของหนังสือแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนหนึ่ง แนวคิด หลักการและวิธีการสั่งจิตใต้สำนึกให้ได้ผล
ส่วนที่สอง เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา 369
ส่วนที่สาม ถาม-ตอบ คลายความสงสัย
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้เป็นหนังสือวิชาการด้านจิตวิทยา แต่เป็นการนำเสนอในรูปแบบของการเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ของผู้เขียน เกี่ยวกับการฝึกสั่งจิตใต้สำนึกมาเป็นระยะเวลายาวนานร่วม 37 ปี นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2526 จึงหวังว่า คงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจศึกษาเรื่องราวของการสั่งจิตใต้สำนึกในเชิงประสบการณ์บ้างตามสมควร
สุดท้ายนี้ใคร่ขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่กรุณาอุดหนุนหนังสือนี้พอเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน.
ด้วยจิตคาราวะ
ดร.ชา 369
สิงหาคม 2564
2.สารบัญ
สารบัญ
คำนำ 2
ภูมิหลัง 7
ส่วนหนึ่ง แนวคิด หลักการและวิธีการสั่ง จิตใต้สำนึกให้ได้ผล 26
1.แนวคิดเบื้องต้น 27
2.ประเภทของจิต 44
3.หลักการเบื้องต้นของการฝึกสั่งจิตใต้สำนึก 65
4.การออกคำสั่งจิตใต้สำนึกจากภายนอก 79
5.การออกคำสั่งจิตใต้สำนึกจากภายใน ตอนหนึ่ง 92
6.การออกคำสั่งจิตใต้สำนึกจากภายใน ตอนสอง 112
7.เหตุใดการออกคำสั่งจิตใต้สำนึก จึงไม่ประสบความสำเร็จ 136
8.โรคซึมเศร้า อาจป้องกันและรักษาได้ด้วยจิตใต้สำนึก 153
9.การสร้างหนังสั้นแห่งความสำเร็จเพื่อแก้ปัญหาชีวิต 177
10.สรุป 206
ส่วนที่สอง เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา 369 214
11.สั่งจากภายใน 216
12.ความเข้าใจผิด 222
13.อยากหายจากโรคซึมเศร้าจัง 228
14.หนังสั้น 234
ส่วนที่สาม ถาม-ตอบ คลายข้อสงสัย 240
15.ภูมิหลัง แนวคิดเบื้องต้น ประเภทของจิต และหลักการเบื้องต้น 242 16.การออกคำสั่งจิตใต้สำนึก โรคซึมเศร้า และการสร้างหนังสั้น 249
17.ปัญหาการออกคำสั่งจิตใต้สำนึกและแนวทางแก้ไข 260
บทสรุปท้ายเล่ม 263
แหล่งที่มาของภาพประกอบ 266
เกี่ยวกับผู้เขียน 267
ปกหลัง 269
3.ภูมิหลัง
การอ่านหนังสือมากๆ ทำให้ผมมีความรู้ในการฝึกสั่งจิตใต้สำนึก
แม้ผมไม่ใช่นักจิตวิทยา แต่ผมก็ได้ให้ความสนใจในเรื่องของการฝึกจิตให้มีพลังเข้มแข็งมาเป็นเวลาช้านานนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2526 จนกระทั่งทุกวันนี้ นับเป็นระยะเวลายาวนานร่วม 37 ปี จึงเชื่อว่ามีองค์ความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนี้ เพียงพอที่จะเล่าเรื่องราวให้ท่านที่ยังไม่เคยศึกษาเรื่องนี้มาก่อนทราบพอเป็นแนวทางได้
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในด้านนี้ แต่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการฝึกจิตให้เข้มแข็งด้วยการสั่งจิตใต้สำนึกมาก่อน ได้ลองอ่านดูเผื่อจะเป็นประโยชน์ในการทดลองนำไปฝึกและปรับใช้ในชีวิตประจำวันของท่านได้บ้าง
สำหรับบทความนี้ เป็นการเล่าเรื่องภูมิหลังของผมในเรื่องของการฝึกสั่งจิตใต้สำนึก ได้แก่ หนังสือที่ผมชอบอ่าน ประสบการณ์ในการฝึกสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จ ประสบการณ์สั่งจิตใต้สำนึกเพื่อรักษาโรคเรื้อรังให้หายขาดประสบการณ์ในการฝึกสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสุข และสรุป
3.1.หนังสือที่ผมชอบอ่าน
มีคำกล่าวว่า หนังสือคือโลกกว้าง เราอยากไปท่องเที่ยวไปที่ใด อยากรู้อะไร เราสามารถค้นคว้าจากหนังสือได้ ส่วนจะเป็นหนังสือในแนวใด ก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคน เช่น หนังสือนวนิยาย หนังสือเกี่ยวกับความรู้เฉพาะทาง หนังสือการ์ตูน หนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง หนังสือพุทธประวัติหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาส หนังสือธรรมะแนวหลวงปู่มั่น และหนังสือเกี่ยวกับประวัติบุคคลสำคัญ เป็นต้น
ในบรรดาหนังสือซึ่งไม่ใช่ตำราเรียน ที่ผมชอบซื้อหามาอ่านเป็นพิเศษได้แก่ หนังสือเกี่ยวกับประวัติบุคคลสำคัญ หนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาและหนังสือเกี่ยวกับการสร้างพลังจิต
การอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติบุคคลสำคัญ ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ความสำเร็จในระดับของการเป็นบุคคลสำคัญ แต่เบื้องหลังของความสำเร็จของบุคคลสำคัญหลายคน ก็คือ เคยยากลำบากมาก่อน เคยยากจนมาก่อน เคยล้มเหลวมาก่อน แต่ในที่สุดด้วยความมุ่งมั่นและบากบั่น ก็ทำให้บุคคลเหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่จนเป็นแบบอย่างแก่คนทั่วไปรวมทั้งตัวผมด้วย
หลังจากเกิดแรงบันดาลใจที่ได้จากการอ่านประวัติบุคคลสำคัญแล้ว ผมคิดว่า หากจิตใจของเราไม่มีความเข้มแข็งและมุ่งมั่นมากพอ โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จย่อมยากที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น ผมจึงสนใจในการอ่านหนังสือเกี่ยวกับการสร้างพลังจิตให้เข้มแข็ง ซึ่งได้แก่หนังสือว่าด้วยการสั่งจิตใต้สำนึกนั่นเอง
เมื่อมีโอกาสพบหนังสือตามแผงหรือร้านหนังสือเกี่ยวกับการสั่งจิตใต้สำนึก ผมได้ซื้อมาอ่านเกือบทุกเล่ม เพื่อนำมาศึกษาไว้เป็นแนวทาง แต่หนังสือเหล่านี้มักเน้นการอธิบายในเชิงวิชาการด้านจิตวิทยามากกว่าประสบการณ์ แม้มีการยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย แต่ก็เป็นการยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของบุคคลอื่น ไม่ใช่ประสบการณ์ของผู้เขียนเอง
ดังนั้น ผมจึงอยากเขียนบทความชุดการสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จและความสุข โดยเรียบเรียงจากประสบการณ์ในแบบฉบับของผมเอง ซึ่งเชื่อว่า ท่านคงไม่เคยอ่านหนังสือหรือบทความเกี่ยวกับการสั่งจิตใต้สำนึกในลักษณะเช่นนี้มาก่อนแน่นอน
3.2.ประสบการณ์ในการสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จ
ผมเชื่อว่า ทุกคนต้องการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตตามสาขาอาชีพที่ตนเลือก ไม่ว่าจะเป็นอาชีพรับราชการ อาชีพนักธุรกิจ อาชีพเกษตร หรืออาชีพอิสระอื่น ๆ แต่การจะประสบความสำเร็จในอาชีพการงานของคนแต่ละคนย่อมมีความยากง่ายแตกต่างกัน บางคนก็ประสบความสำเร็จโดยง่าย บางคนกว่าจะประสบความสำเร็จได้ เลือดตาแทบกระเด็น
อย่างไรก็ดี เส้นทางไปสู่ความสำเร็จนั้น มีหลักกิโลเมตรวัดความสำเร็จของบุคคลเป็นระยะ ๆ หากใครสามารถเดินทางไปถึงสุดปลายทางได้ เขาเรียกว่า ไปถึงดวงดาว
ปัญหาคือ การไปสู่ดวงดาวยากไหม
หากพิจารณาอย่างกว้าง ๆ การที่จะสามารถเดินทางไปสู่ดวงดาวนั้น น่าจะยากสำหรับบุคคลทั่วไป แต่ก็ไม่ยากนักสำหรับบุคคลบางคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่ทุนเดิมและปัจจัยแวดล้อมที่ได้เปรียบบุคคลทั่วไป เพราะบุคคลบางคนสามารถไปสู่ดวงดาวได้ด้วยการเดินทางลัดหรือขึ้นทางด่วน ไม่ได้ผ่านหลักกิโลเมตรวัดความสำเร็จทุกหลักเสมอไป
ประสบการณ์สั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จ
เมื่อช่วงรับราชการ 10 ปีแรก ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง คือ คิดแล้วรวย (Think and Grow Rich,1937) ของนโปเลียน ฮิลล์ (Napoleon Hill:26 ตุลาคม 1883-8 พฤศจิกายน 1970) นักเขียนหนังสือแนวพัฒนาตนเองชาวอเมริกัน หนังสือเล่มนี้ติดอันดับหนังสือแนวการพัฒนาตนเอง ที่ขายดีตลอดกาล 1 ใน 10
ในหนังสือเล่นนี้ นโปเลียน ฮิลล์ สอนว่า หากอยากประสบความสำเร็จในเรื่องอะไร ขอให้สร้างมโนภาพในความสำเร็จที่ต้องการไว้ให้ชัดเจน แล้วสั่งจิตใต้สำนึกบ่อย ๆ ให้จดจำภาพแห่งความสำเร็จนั้นไว้ โดยอาจเขียนข้อความแสดงเป้าหมายที่เราต้องการแปะไว้ที่หัวนอน และสวดภาวนาด้วยเสียงอันดังก่อนนอนและหลังตื่นนอนทุกวันให้ขึ้นไจพร้อมกับสร้างมโนภาพดังกล่าว ครั้งละประมาณ 5 นาที โดยต้องกำหนดระยะเวลาที่ต้องการความสำเร็จไว้ด้วย
ผมได้นำหลักดังกล่าวมาปรับใช้ในการสอบเลื่อนระดับตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานปกครอง 6 เมื่อปี พ.ศ.2526 โดยตั้งเป้าไว้ว่า การสอบคราวนี้ ผมต้องสอบให้ได้ลำดับ 1-5 ของประเทศ การที่ผมกล้าตั้งเป้าไว้สูงเช่นนั้น ก็เพราะผมเชื่อว่าผมมีพื้นฐานความรู้ดีพอที่จะทำเช่นนั้นได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้น ผมได้ดำรงตำแหน่งผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี (เจ้าพนักงานปกครอง 6) ตำแหน่งนี้ปัจจุบันคือตำแหน่งท้องถิ่นจังหวัด มีเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นในเทศบาลเมืองอุดรธานี (ปัจจุบันคือเทศบาลนครอุดรธานี) เนื่องจากสภาเทศบาลมีมติไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี จำนวน 6 ล้านบาท แทนที่เทศบาลจะรีบรายงานเสนอร่างงบประมาณดังกล่าวพร้อมกับสำเนารายงานการประชุมสภาเทศบาล ไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาตามกฎหมาย เทศบาลกลับนำร่างเทศบัญญัติงบประมาณนั้น ไปให้สภาเทศบาลพิจารณาทบทวนใหม่ ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว งานในหน้าที่ผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานีจึงยุ่งยากและหนักมาก ผมต้องอุทิศเวลาให้ทางราชการอย่างเต็มที่ ทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งวันราชการและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำให้ผมมีเวลาอ่านหนังสือเฉพาะช่วงเวลา 22.00-24.00 ของแต่ละคืน แต่ด้วยการสั่งจิตใต้สำนึกตามเทคนิคของนโปเลียน ฮิลล์ ที่ผมได้เรียนรู้มาจากการอ่านหนังสือ ประกอบกับความเพียรพยายามอย่างจริงจัง
การสั่งจิตใต้สำนึกบ่อย ๆ ทำให้ผมสมหวังในการสอบเลื่อนระดับ เมื่อปีพ.ศ.2526
ของผม ทำให้ผมสามารถสอบเลื่อนระดับ 6 ของกรมการปกครองในครั้งนั้น ได้ที่ 1 ของประเทศ
ด้วยผลการสอบดังกล่าว ได้สร้างชื่อเสียงให้ผมในแวดวงนักปกครองยุคนั้นได้มาก เพราะปกติคนที่เคยสอบระดับ 6 หรือสอบชั้นเอกได้ที่หนึ่งของกรมการปกครองในอดีตที่ผ่านมา ล้วนเป็นคนที่ดำรงตำแหน่งในกรมเกือบทั้งสิ้น และจากจุดนั้นเองได้ทำให้ผมสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นนักเขียนหนังสือประเภทตำราเตรียมสอบของนักปกครองทั้งหลายในช่วงปี พ.ศ.2528-2532 ได้ไม่ยากนัก เพราะมีเครดิตของการสอบเลื่อนระดับ 6 ได้ที่หนึ่งของประเทศนั่นเอง
3.3.ประสบการณ์สั่งจิตใต้สำนึกเพื่อรักษาโรคเรื้อรังให้หายขาด
ชีวิตในวัยเด็กและวัยหนุ่ม ผมเคยเป็นโรคเรื้อรังอยู่ 2 โรค คือโรคริดสีดวงตา และโรคไซนัสอักเสบ ทั้งสองโรคผมได้ใช้เวลาในการรักษายาวนานหลายปีกว่าจะหายขาด การที่ผมสามารถรักษาโรคทั้งสองให้หายขาดได้ ก็ด้วยอาศัยพลังจิตใต้สำนึก ทำให้ผมมีความมุ่งมั่นในการรักษา
3.3.1 การรักษาโรคริดสีดวงตา
อาการของโรคริดสีดวงตา คือมีอาการระคายเคืองบริเวณเปลือกตาด้านในทั้งสองข้างอยู่บ่อยๆ ผมได้ใช้เวลารักษาตั้งแต่ปีพ.ศ.2506-2516 รวมระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่เรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรี โดยได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศไทย 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
3.3.2 การรักษาโรคไซนัสอักเสบ
อาการของโรคไซนัสอักเสบ คือ มีอาการปวดบริเวณหัวคิ้วทั้งสองข้าง โพรงจมูก แก้ม และศีรษะ มีอาการคัดจมูก และมีน้ำมูกไหลเป็นบางครั้ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนของผมเป็นอย่างมาก
ผมได้ล้มป่วยเป็นโรคนี้เมื่อปีพ.ศ.2510 ในขณะกำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยมีอาการเริ่มแรกคือป่วยเป็นไข้หวัด ในช่วงเป็นไข้หวัด ผมได้ล้มฟุบลงที่ป้ายรถเมล์ สะพานควาย กรุงเทพมหานคร
การรักษาเริ่มแรก ผมได้รักษากับคลินิกใกล้บ้าน อาการมีแต่ทรงตัว ผมเลยตัดสินใจไปรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งมีชื่อเสียงในการรักษาโรคไซนัสอักเสบในยุคนั้น แม้อาการจะดีขึ้น แต่ก็ไม่หายขาด
สุดท้ายผมได้รับข้อมูลจากคุณพ่อของผมว่า โรคไซนัสอักเสบ สามารถรักษาให้หายขาดได้ที่วัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นการรักษาด้วยสมุนไพร กับพระครูปลัดสุเทพ ท่านเจ้าอาวาสวัดชลอในขณะนั้น
การรักษาโรคไซนัสอักเสบ ผมใช้เวลา 6 ปี นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2510-2516
เนื่องจากโรคริดสีดวงตา และโรคไซนัสอักเสบ เป็นโรคเรื้อรัง จะต้องรักษาอย่างต่อเนื่องและต้องไปพบแพทย์ตามนัดตลอด หากไม่มีความมุ่งมั่นจริง คนป่วยก็อาจจะทิ้งการรักษาไปกลางคัน
แต่ตัวผมได้มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาโรคทั้งสองให้หายขาด เพื่ออนาคตของผมเอง กล่าวคือ ก่อนนอนทุกคืน ผมได้อธิษฐานขอให้หายขาดจากโรคทั้งสองตลอดมา ไม่มีว่างเว้นแม้แต่วันเดียว
3.4.ประสบการณ์การสั่งจิตใต้สำนึกสร้างความผ่อนคลายและความสุข
การฝึกสั่งจิตใต้สำนึกก่อนนอน จะทำให้ท่านหลับสบาย
นอกจากการสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อสร้างความสำเร็จในอาชีพการงานแล้ว เราอาจจะสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อสร้างความผ่อนคลายและความสุขได้ด้วย ส่วนจะเป็นความผ่อนคลายและความสุขในเรื่องอะไรนั้น ก็แล้วแต่ความต้องการของเรา
การสร้างความผ่อนคลายและความสุขประจำวัน
สำหรับตัวผม ในแต่ละคืน พอล้มตัวลงนอนบนเตียง ผมจะดำเนินการตามกระบวนการสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อให้ร่างกายและจิตเกิดความผ่อนคลาย เพราะเมื่อเรารู้สึกว่า ร่างกายและจิตของเราผ่อนคลาย เราจะรู้สึกว่า มีความสุข ไร้ความกังวลใด ๆ ปกติใช้เวลา ราว 5-10 นาที แต่ส่วนใหญ่ผมก็มักจะหลับไปก่อนในขณะที่กำลังสั่งจิตใต้สำนึกให้รู้สึกผ่อนคลายดังกล่าว
การนอนหลับง่ายและหลับสนิท จะทำให้เรามีความสุขเพราะได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เมื่อตื่นนอนขึ้นมาจะรู้สึกสดชื่น ผิดกับคนนอนหลับยาก กว่าจะนอนหลับได้ก็ดึกดื่น นอกจากนี้ยังนอนหลับไม่สนิท เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น หน้าตาไม่แจ่มใส

หลังรับประทานอาหารลางวัน ผมมักจะนั่ง
พักผ่อนบนเก้าอี้พร้อมกับสั่งจิตใต้สำนึก
ให้รู้สึกผ่อนคลาย ทำให้การทำงานรอบบ่าย
กระปี้กระเป่าและสดชื่น
หลังการรับประทานอาหารกลางวัน ผมมักจะใช้กระบวนการสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลายราว 30 นาที ซึ่งจะทำให้ผมสามารถทำงานในรอบบ่ายด้วยความสดชื่นและกระฉับกระเฉง
นอกจากนี้ ในยามกลางคืน ผมมักจะตื่นกลางดึกเพื่อเข้าห้องน้ำและปัสสาวะ ผมจึงใช้กระบวนการสั่งจิตใต้สำนึกให้รู้สึกผ่อนคลายดังกล่าว สักพักผมก็จะนอนหลับต่อได้จนรุ่งเช้า หรือบางทีผมรู้สึกตัวตื่นขึ้นในเวลาราวตีสี่ ตีห้า ผมก็จะใช้กระบวนการสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลายไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้เวลาตื่นนอนราว 6 โมงเช้าและผมก็จะตื่นขึ้นด้วยความรู้สึกสดชื่น กระปี้ประเป่า พร้อมที่จะทำงานได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ
คนที่นอนหลับยาก มักเกิดจากการคิดโน่นคิดนี่ ทำให้จิตใจไม่รู้สึกผ่อนคลาย ไม่สงบ จึงหลับยาก แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงกรณีมีอาการเจ็บป่วยบางโรค อาจจะทำให้หลับยากเพราะต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง เช่น โรคต่อมลูกหมาก โรคเบาหวาน เป็นต้น
หากท่านผู้อ่าน มีปัญหานอนหลับยาก ลองฝึกการสั่งจิตใต้สำนึกไปใช้ดู ผมเชื่อว่า ท่านน่าจะนอนหลับได้ง่ายและหลับสนิทมากกว่าเดิม นั่นคือ การได้มาซึ่งความสุขแบบไม่ต้องเสียเงินซื้อแม้แต่บาทเดียว
3.5.สรุป
บทความภูมิหลังของประสบการณ์การสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จและความสุข ต้องการชี้ให้เห็นว่า ผมได้มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการสั่งจิตใต้สำนึกได้อย่างไร โดยได้ยกตัวอย่างประสบการณ์บางอย่างที่ท่านอาจจะนำไปทดลองปฏิบัติได้จริง
ด้วยประสบการณ์อันยาวนานร่วม 37 ปี ผมเชื่อว่า ผมมีองค์ความรู้มากพอจะถ่ายทอดให้ท่านที่สนใจนำไปฝึกปฏิบัติ ขอเพียงแต่ติดตามอ่านบทความชุดนี้ไปเรื่อย ๆ จนจบ
พบกันใหม่ในบทความต่อไป แนวคิดเบื้องต้นของการฝึกสั่งจิตใต้สำนึก
ดร.ชา 369
12/06/20
4.แนวคิดเบื้องต้น(ของการสั่งจิตใต้สำนึก)
ผมสำหรับบทความ 1 นี้เป็นการเล่าเรื่องถึงแนวความคิดเบื้องต้นที่ควรทราบของการสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จและความสุข ประกอบด้วย ความฝันหรือวิสัยทัศน์ คิดใหญ่หรือคิดเล็ก คิดบวกหรือคิดลบ อุปนิสัย 7 และอิทธิบาท 4 โดยแนวคิดในบทความ 1 นี้จะเป็นพื้นฐานในการสร้างความเข้าใจให้ท่านผู้อ่านในบทความต่อ ๆ ไป
4.1.ความฝันหรือวิสัยทัศน์
ความฝัน (Dream)
ทุกคนย่อมมีความฝันว่า ในอนาคตตนอยากเป็นอะไรหรืออยากได้อะไร เช่น ฝันว่าโตขึ้นอยากประกอบอาชีพอิสระ หรืออาชีพรับราชการ อยากมีบ้านหลังใหญ่ ๆ อยากมีรถยนต์ยี่ห้อดัง อยากเที่ยวรอบโลก อยากถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ความฝันเป็นความรู้สึกอยากได้ อยากเป็นขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องคิดหรือวิเคราะห์ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ปกติความฝันเป็นเรื่องของบุคคล ไม่ใช่เรื่องของหน่วยงาน
วิสัยทัศน์ (Vision)
วิสัยทัศน์ เป็นการมองถึงจุดมุ่งหมายในอนาคตข้างหน้าว่า เราต้องการจะเป็นอะไร ต้องการจะไปถึงจุดไหน แต่ไม่ใช่การคิดขึ้นมาลอย ๆ เพราะก่อนจะกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ จะต้องมีการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ โดยพิจารณาจากจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค
วิสัยทัศน์ มีทั้งวิสัยทัศน์ระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว
ปกติ วิสัยทัศน์มักจะเป็นเรื่องขององค์กร หรือหน่วยงาน แต่บุคคลก็อาจมีวิสัยทัศน์ได้เช่นกัน
ตัวอย่างวิสัยทัศน์
องค์กร ก. จะเป็นหน่วยงานหลักด้านพลังงานของชาติ ภายใน 20 ปี
องค์กร ข. จะเป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงของชาติ ภายใน 30 ปี
บริษัท ค.จะเป็นบริษัทชั้นนำของอาเซียนด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ภายใน 25 ปี
ปัญหาคือ ควรจะนำความฝันลอย ๆ หรือควรจะนำวิสัยทัศน์ไปใช้ในการสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จและความสุข
ผมมีความเห็นว่า หากต้องการประสบความสำเร็จ ก็ควรจะนำวิสัยทัศน์ไปใช้ในการสั่งจิตใต้สำนึก เพราะวิสัยทัศน์มีความเป็นไปได้ในการที่จะขับเคลื่อนหรือผลักดันให้เกิดความสำเร็จได้จริง ส่วนความฝันลอย ๆ โอกาสจะทำสำเร็จได้จริงมีน้อย จึงไม่ควรจะเสียเวลาเอาไปใช้ในการสั่งจิตใต้สำนึก
4.2.คิดใหญ่หรือคิดเล็ก

ความคิดในการกำหนดเป้าหมาย อาจแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
4.2.1 คิดใหญ่
การคิดใหญ่ หมายถึง การกำหนดเป้าหมายที่ต้องการจะบรรลุไว้ให้ใหญ่ไว้ก่อน เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าในการไปสู่จุดหมาย การคิดลักษณะเช่นนี้ เป็นที่นิยมของคนตะวันตก เช่น
จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ประธานาธิบดีอเมริกาคนที่ 35 ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ.1961-1963 ได้กำหนดเป้าหมายจะส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์ ซึ่งมีระยะทางห่างจากโลกของเราประมาณ 384,403 กิโลเมตร ให้ได้เป็นชาติแรก แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี และก็สามารถทำได้สำเร็จในยุคริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกาคนที่ 37 โดยยานอพอลโล 2 ได้นำมนุษย์อวกาศเหยียบลงบนดวงจันทร์ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1969
4.2.2 การคิดเล็ก
ชาวเอเชีย อย่างชาวญี่ปุ่น ความคิดในการกำหนดเป้าหมายจะตรงข้ามกับชาวตะวันตก โดยตามหลักวิถีไคเซ็น ชาวญี่ปุ่นเชื่อในเรื่องของการคิดเล็ก กล่าวคือ หากต้องการความสำเร็จขอให้คิดเล็ก ๆ เมื่อคิดเล็กแล้ว ขอให้มีการกระทำเล็ก ๆ เพื่อจะได้มีความสำเร็จเล็ก ๆ และเมื่อมีความสำเร็จเล็ก ๆ แล้วก็ให้มีการฉลองหรือการให้รางวัลเล็ก ๆ
ความเชื่อตามวิถีไคเซ็นของชาวญี่ปุ่น เป็นไปตามหลักการค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องก้าวกระโดด ซึ่งเป็นความคิดที่ตรงกันข้ามกับชาวตะวันตกที่ต้องการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
4.2.3 การคิดแบบสายกลาง
สำหรับคนไทยมีสุภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า “นกน้อยให้ทำรังแต่พอตัว” เป็นการสอนว่า ทำอะไรก็อย่าทำเกินตัว ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงสอนว่า การจะทำอะไรขอให้เดินสายกลาง กล่าวคือ ต้องรู้จักประมาณตน ต้องมีเหตุผล และต้องมีภูมิคุ้มกัน ( มีความรู้คู่คุณธรรม)
ท่านผู้อ่านชอบการคิดแบบใด ขอให้พิจารณาดู แต่ถ้าถามความเห็นของผม น่าจะเป็นการคิดแบบสายกลาง ไม่ใหญ่ ไม่เล็ก คิดตามความพอเหมาะพอควร หากมีการผิดพลาดจะได้ไม่เจ็บมาก
4.3.คิดบวกหรือคิดลบ
การสั่งจิตใต้สำนึก ต้องใช้ความคิดบวกเสมอ
การกำหนดเป้าหมายในการสั่งจิตใต้สำนึกนั้น อาจจะสั่งด้วยความคิดบวก หรือความคิดลบก็ได้
การคิดบวก คือ การคิดในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ทำลายผู้ใด ทั้งตนเองและผู้อื่น
การคิดลบ คือ การคิดในทางตรงกันข้ามกับการคิดบวก การคิดในเชิงทำลาย อาจเป็นการทำลายตนเอง หรืออาจทำลายผู้อื่น หรือทั้งสองอย่าง
ในการสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จและความสุข ควรจะใช้ความคิดด้านบวกเป็นเป้าหมาย
ตัวอย่างของความคิดด้านบวก
กำหนดเป้าหมาย จะเรียนให้จบได้รับปริญญาตรีด้วยคะแนนเกียรตินิยม
กำหนดเป้าหมาย จะเก็บเงินให้ได้เดือนละ 10,000 บาท หรือปีละ 120,000 บาท
กำหนดเป้าหมาย จะมีบ้านเป็นของตนเองภายในเวลา 5 ปี
ฯลฯ
ตัวอย่างของการคิดลบ
ต้องการร่ำรวยเป็นเศรษฐี โดยไม่คำนึงว่าจะได้เงินมาโดยทางใด ถูกกฎหมายหรือถูกทำนองคลองธรรมหรือไม่
ผมเห็นว่า ความคิดที่ควรจะนำมาใช้ในการสั่งจิตใต้สำนึก ต้องเป็นความคิดด้านบวกเท่านั้น เพราะความคิดที่เป็นบวก ย่อมจะไปสู่การกระทำที่ถูกต้อง ไม่ผิดกฎหมายหรือขนบประเพณีอันดีงาม
4.4.อุปนิสัยที่นำไปสู่ความสำเร็จอย่างสูง 7 ประการ
การที่คนเราจะประสบความสำเร็จในอาชีพการงานหรือการดำรงชีวิตได้มากน้อยเพียงใด อุปนิสัยเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ เพราะอุปนิสัยเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมหรือการกระทำ และพฤติกรรมหรือการกระทำเป็นตัวบ่งบอกว่า เส้นทางในอนาคตของบุคคลจะเป็นอย่างไร
อุปนิสัยที่นำไปความสำเร็จอย่างสูง 7 ประการ
ต้องสร้างภาพความสำเร็จไว้ในใจก่อน
สตีเฟน อาร์ โควีย์ (Stephen R. Covey, 24 ตุลาคม 1932-16 กรกฎาคม 2012) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อชาวโลกเป็นอย่างมาก ในยุคก่อนที่จะสิ้นศตวรรษที่ 20 นั่นคือ The7 Habits of Highly Effective People, 1989) และอาจจะแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “อุปนิสัย 7ประการที่ทำให้บุคคลสามารถประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างสูง” หนังสือเล่มนี้นับเป็นหนังสือเล่มหนึ่งในด้านการพัฒนาตนเองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 34 ภาษา และมียอดจำหน่ายไปแล้วมากกว่า 25 ล้านเล่ม
เขากล่าวว่า บุคคลที่ต้องการจะประสบความสำเร็จอย่างสูงต้องสร้างอุปนิสัย 7 ประการ คือ
ประการแรก ต้องทำงานเชิงรุก (Be Proactive) หมายความว่า หากต้องการความสำเร็จ เราต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อน ไม่ใช่คอยแต่ตั้งรับ เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
ประการที่สอง ต้องเริ่มด้วยการสร้างภาพความสำเร็จไว้ในใจ (Begin with the End in the Mind.)
ประการที่สาม ต้องจัดเรียงลำดับความสำคัญ สิ่งใดสำคัญต้องทำก่อน (Put First Things First)
ประการที่สี่ คิดแบบประสบชัยชนะด้วยกัน (Think Win-Win)
ประการที่ห้า หากอยากให้คนอื่นเข้าใจเรา เราต้องเข้าใจเขาก่อน (Seek First to Understand, Then to Be Understood.)
ประการที่หก สร้างความแข็งแกร่งจากความแตกต่าง (Synergize)
ประการที่เจ็ด ลับใบเลื่อยไว้ให้คมเสมอ (Sharpen the Saw.)
ผมเห็นว่า การสั่งจิตใต้สำนึกสอดคล้องกับอุปนิสัยประการที่สอง กล่าวคือ เราสามารถสั่งจิตใต้สำนึกให้จดจำภาพแห่งความสำเร็จซึ่งเป็นเป้าหมายที่เราต้องการไว้ให้ขึ้นใจ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปในทิศทางและเป้าหมายที่เราต้องการอย่างแท้จริง
5.อิทธิบาท 4 คุณธรรมที่ทำให้ประสบความสำเร็จ
พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ว่า คุณธรรมที่จะทำให้คนเราประสบความสำเร็จ เรียกว่า อิทธิบาท 4 ได้แก่ ฉันทะ วิระยะ จิตตะ และวิมังสา
ฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่ในกิจที่จะทำ
วิริยะ คือ ความขยันหมั่นเพียรในกิจที่จะทำ ไม่ย่อท้อ
จิตตะ คือ ความมีใจจดจ่อในกิจที่จะทำ ไม่หันเหไปทางอื่น
วิมังสา คือ การรู้จักพิจารณาไตร่ตรอง หาเหตุผลว่า อะไรคือปัญหาอุปสรรค และอะไรคือแนวทางหรือวิธีการแก้ปัญหา
ผมเห็นว่า การสั่งจิตใต้สำนึกสอคล้องกับหลักอิทธิบาท 4 ในประการที่สาม คือ จิตตะ กล่าวคือ เราสามารถสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อสร้างจิตตะ คือ ความมีจิตใจจดจ่อในกิจที่เราจะทำ
6.สรุปและข้อคิดเห็น
แนวคิดในบทความนี้ ได้แก่ ความฝันหรือวิสัยทัศน์ คิดใหญ่หรือคิดเล็ก คิดบวกหรือคิดลบ อุปนิสัย7 ประการ และ อิทธิบาท 4 จะใช้เป็นแนวคิดพื้นฐานในการอธิบายและสร้างความเข้าใจให้แก่ท่านผู้อ่านในบทความของชุดประสบการณ์สั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จและความสุข
หากไม่ทราบแนวคิดพื้นฐานในการสั่งจิตใต้สำนึก อาจจะทำให้เราเข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ถ้าการสั่งจิตใต้สำนึกดีจริงหรือได้ผล ทำไมฉันลองทำดูแล้ว ไม่เห็นได้ผลเหมือนอย่างที่มีกล่าวไว้ในหนังสือหรือในบทความ หรือแม้แต่ในคำสอนของคนรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่า โค้ช
ดังนั้น หากอยากทราบว่า กระบวนการสั่งจิตใต้สำนึกจะต้องทำอย่างไร มีเงื่อนไขและข้อจำกัดอย่างไร กรุณาติดตามบทความในชุดประสบการณ์สั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จและความสุขจนครบทุกบทความ เพราะแต่ละบทความมีเนื้อหาเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันอย่างกใกล้ชิด
ขอบคุณทุกท่านครับ พบกันใหม่ในบทความต่อไป คือ ประเภทของจิต
ดร.ชา
15/06/20
การดูรายละเอียดของหนังสือเพิ่มเติม
หากท่านใด สนใจจะดูรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาคลิกเข้าไปดูในเว็บไซต์ทั้งสามข้างล่าง โดยใช้คำ” ดร.ชา 369 ” เป็นคำค้น
สถานการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตในปัจจุบัน เราสามารถนำเรื่องจิตใต้สำนึกมาใช้อย่างไรคะ
การสั่งจิตใต้สำนึกใช้ได้กับทุกสถานการณ์ แต่จะสำเร็จหรือไม่ เป็นเรื่องของรายละเอียด ซึ่งมีกล่าวไว้หนังสือ
การสั่จิตใต้สำนัก เหมือน หรืแตกต่างกันอย่างไรกับศาสนาพุทธของเรา ขอบคุณค่ะ
การสั่งจิตใต้สำนึกเป็นเรื่องของกระบวนการทางจิตวิทยาเพื่อทำให้จิตมีพลังเข้มแข็ง และนำมาซึ่งความสำเร็จและความสุขของมนุษย์ในการดำรงชีวิตประจำวัน ส่วนศาสนาพุทธเป็นแนวคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อให้คนพ้นทุกข์ แม้อาจจะมีส่วนคาบเกี่ยวกันบ้างในเรื่องการนั่งสมาธิ แต่มิได้หมายความว่า การนั่งสมาธิตามหลักพระพุทธศาสนาและการสั่งจิตใต้สำนึก เป็นเรื่องเดียวกัน
อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรคะ บางคนสวดคาถาจักรพรรดิแล้วมีแต่คนรู้จักกันเสียชีวิต
บางคนสวดคาถาแล้ว ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมค่ะ
การสวดคาถาเป็นวิธีหนึ่งในการรวมพลังจิตให้เป็นสมาธิ ส่วนสวดแล้วจะได้ผลสมความมุ่งหมายหรือไม่ คงตอบแบบฟันธงไม่ได้ เพราะความสำเร็จสมหวังของบุคคลขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง หากมีเหตุปัจจัยเกื้อหนุนเพียงพอ ก็ย่อมจะสมหวัง
เป็นเรื่องน่าสนใจครับ
ขอบคุณ คุณอนณที่กรุณาให้ความสนใจ