“ เศรษฐกิจ ไทย อีกนานไหมกว่าจะเป็นประเทศรายได้สูง ” เป็นบทความลำดับที่ 31 ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน จะกล่าวถึง ความนำ ขนาดเศรษฐกิจ ไทย โครงสร้างเศรษฐกิจไทย สินค้าออก และสินค้าเข้า ตัวแบบเศรษฐกิจ ประเทศไทย 4.0 ดัชนีชี้วัดขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ ไทย วิเคราะห์ สรุป และถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369
Table of Contents
1.ความนำ
ผมได้นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มประเทศอาเซียนมาแล้ว 9 ประเทศ ในจำนวนประเทศอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ รูปแบบการปกครอง และเศรษฐกิจ โดยบทความสุดท้ายก่อนหน้านี้ที่ได้นำเสนอคือ บทความ เศรษฐกิจ อินโดนีเซีย ดีแค่ไหน
แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนประเทศหนึ่ง ยังไม่ได้นำเสนอในหมวด 12 เรื่องเล่า ประเทศอาเซียน จึงอยากจะเสนอให้ท่านได้ทราบเฉพาะในส่วนที่เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ เพราะในทางด้านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และรูปแบบการปกครอง ผมเชื่อว่า ท่านที่เป็นคนไทยก็น่าจะทราบดีพอสมควรอยู่แล้ว
ในการนำเสนอเรื่องราวเศรษฐกิจ ไทย จะนำเสนอในภาพกว้าง ๆ ที่ท่านน่าจะสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก
2. ขนาดเศรษฐกิจ ไทย

2.1 ขนาดเศรษฐกิจ ไทย ตามจีดีพี (GDP-nominal)
ธนาคารโลกได้ประมาณการขนาดจีดีพีของไทย ปี 2020 อยู่ที่ 501,795 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 26 ของโลก รองลงมาจากประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 25 ของโลก ด้วยขนาดจีดีพี 515,333 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเหนือกว่าประเทศไนจีเรีย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก ด้วยขนาดจีดีพี 432,294 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขนาดเศรษฐกิจ ไทย ตามจีดีพีของไทยสูงเป็นอันดับที่สองของอาเซียน รองลงมาจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีจีดีพี 1,058,424 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีอันดับสูงกว่าประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 33 ของโลกและอันดับ 3 ของอาเซียน ด้วยจีดีพี 361,489 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.2 รายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per capita-nominal)
ธนาคารโลกได้ประมาณการรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศไทย ปี 2020 อยู่ที่ 7,189 ดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 102 ของโลก และสูงเป็นอันดับที่ 4 ของอาเซียน รองลงมาจากสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย แต่อยู่เหนืออินโดนีเซีย กล่าวคือ
สิงคโปร์ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก 59,798 ดอลลาร์สหรัฐ
บรูไน มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว สูงเป็นอันดับที่ 38 ของโลก 27,466 ดอลลาร์สหรัฐ
มาเลเซีย มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว สูงเป็นอันดับที่ 79 ของโลก 10,402 ดอลลาร์สหรัฐ
ไทย มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว สูงเป็นอันดับที่ 102 ของโลก 7,189 ดอลลาร์สหรัฐ
อินโดนีเซีย มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว สูงเป็นอันดับที่ 127 ของโลก 3,870 ดอลลาร์สหรัฐ
3. โครงสร้างเศรษฐกิจ ไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (newly industrialized country) ที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับการส่งออกสินค้า อย่างเช่น เมื่อปี 2019 จีดีพีขึ้นอยู่กับรายได้จากการส่งสินค้าออก 60 %
ตามรายงานของธนาคารโลก ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 8 ของเอเชีย ในปี2019 อัตราเงินเฟ้อของไทยมีเพียง 1.06 % นอกจากนี้ เงินบาทของไทย ยังเป็นสกุลเงินที่มีการใช้แพร่หลายเมื่อปี 2017 เป็นอันดับ 10 ของโลก
ภาคการบริการและอุตสาหกรรม เป็นภาคสร้างรายได้หลักของไทย กล่าวคือ สร้างรายได้ประมาณ 39.2 % ของจีดีพี ภาคการเกษตรของไทยสร้างรายได้ 8.4 % ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าภาคการค้า และโลจิสติกส์ และการสื่อสาร (trade and logistics and communication sectors) ซึ่งสร้างรายได้ 13.4 % และ 9.8 % ของจีดีพี ตามลำดับ ภาคการทำเหมืองแร่และการก่อสร้างรายได้ให้ประเทศ 4.3 % ของจีดีพี
นอกจากนี้ภาคบริการอื่น ๆ รวมทั้ง ภาคการคลัง การศึกษา โรงแรม และภัตตาคาร สร้างรายได้ 24.9 % ของจีดีพี การโทรคมนาคมและการค้าในด้านการบริการ ได้กลายเป็นศูนย์กลางของการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจ ไทยมีขนาดใหญ่เป็นที่ 2 ของอาเซียน รองลงมาจากอินโดนีเซีย
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 ไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นที่สองของอาเซียนรองลงมาจากสิงคโปร์ กล่าวคือไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวน 237.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีบัญชีเกินดุลสะพัด อยู่อันดับที่ 10 ของโลก
ธนาคารโลกถือว่า ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ (one of the great development success stories in social and development indicators) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดจำนวนคนยากจนของประเทศจากปี 1988 ซึ่งมีจำนวนร้อยละ 65.25 เหลือเพียงร้อยละ 8.61 ในปี 2016 (พ.ศ. 2559)
ยิ่งกว่านั้น ไทยยังเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราว่างงานต่ำที่สุดในโลก อย่างเช่น เมื่อปี 2014 ไทยมีอัตราว่างงานเพียงร้อยละ 1 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่สัดส่วนขนาดใหญ่ของประชากรทำงานด้านการเกษตรที่ยั่งยืน (subsistence agriculture) หรือการจ้างงานชั่วคราวในด้านอื่น ๆ (vulnerable employment)
ความยากจนและปัญหาการกระจายรายได้
จำนวนคนยากจนของไทย ลดจาก 7.1 ล้านคนในปี 2014 คิดเป็นร้อยละ 10.5 ของจำนวนประชากร ลดลงเป็นจำนวน 4.9 ล้านคน ในปี 2015 คิดเป็นร้อยละ 7.2 ของจำนวนประชากร โดยถือเกณฑ์รายได้ของประชากรตั้งแต่เดือนละ 2,644 บาทลงมา
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีปัญหาการกระจายรายได้เป็นอย่างมาก ตามรายงานของ Credit Suisse Global Wealth Databook 2016 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาความไม่เท่าเทียมมากเป็นอันดับที่สามของโลก รองลงมารัสเซีย และอินเดีย กล่าวคือ มีประชากรไทยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ครอบครองความมั่งคั่งถึง ร้อยละ 58 ของประเทศ
เศรษฐกิจ ไทย ในเงามืด (Shadow economy)
เศรษฐกิจ ไทยในเงามืด มีมากจนอยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก กล่าวคือ เศรษฐกิจในเงามืดของไทยคิดเป็นร้อยละ 40.9 ของจีดีพีของปี 2014
เศรษฐกิจในเงามืด หมายถึง ผลผลิตของสินค้าและการบริการที่หลบหลีกอำนาจของรัฐด้วยเหตุผล ของ หลีกเลี่ยงการภารเสียภาษีให้รัฐและมาตรการบังคับตามกฎหมายต่าง ๆ ของรัฐ
4. สินค้าออก และสินค้าเข้า

4.1 สินค้าออก และคู่ค้า
สินค้าออกที่สำคัญของไทย
- เครื่องจักรกล 23 %
- อิเล็กทรอนิกส์ 19 %
- อาหารและไม้ 14 %
- ผลิตภัณฑ์ทางเคมีและพลาสติก 14 %
- รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ 12 %
- หินและแก้ว 7 %
สิ่งทอและเฟอร์นิเจอร์ 4 %
ประเทศคู่ค้า
สหรัฐอเมริกา 11.4 % จีน 11 % สหภาพยุโรป 10.3 % ญี่ปุ่น 9.6 %
ฮ่องกง 5.3 % และอื่น ๆ 52.4 %
4.2 สินค้าเข้าและคู่ค้า
สินค้าเข้า
เงินทุน และสินค้าขั้นกลาง (capital and intermediate goods) วัตถุดิบ สินค้าอุปโภคบริโภค และน้ำมันเชื้อเพลิง
ประเทศคู่ค้า
จีน 21 % ญี่ปุ่น 15.8 % สหภาพยุโรป 9.3 % สหรัฐอเมริกา 6.2 % มาเลเซีย 5.6 % และอื่น ๆ 41.5 %
5. ตัวแบบเศรษฐกิจ ไทย ประเทศไทย 4.0
รัฐบาลไทยต้องการยกระดับประเทศไทยให้ก้าวขึ้นไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงได้กำหนดตัวแบบเศรษฐกิจ ไทย ขึ้นมา เรียกชื่อว่า ประเทศไทย 4.0 หรือไทยแลนด์ 4.0 ดังจะนำเสนอย่อ ๆ พอให้เข้าใจดังนี้
5.1 การแบ่งกลุ่มประเทศออกตามระดับรายได้ของธนาคารโลก
ธนาคารโลก ได้แบ่งกลุ่มประเทศออกตามระดับรายได้ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
5.1.1 กลุ่มที่หนึ่ง ประเทศที่มีรายได้สูง (High income)
คือ ประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว สูงเกินกว่า 12,375 ดอลลาร์สหรัฐ
5.1.2 กลุ่มที่สอง ประเทศที่มีรายได้ปากลางระดับสูง (Upper middle-income)
คือ ประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ระหว่าง 3,996-12,378 ดอลลาร์สหรัฐ
5.1.3 กลุ่มที่สาม ประเทศทีมีรายได้ปานกลางระดับล่าง (Lower middle-income)
คือ ประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวระหว่าง 1,026-3,995 ดอลลาร์สหรัฐ
5.1.4 กลุ่มที่สี่ ประเทศทีมีรายได้ระดับล่าง (Low income)
คือ ประเทศที่มีประชากรมีรายได้ต่ำกว่า 1,026 ดอลลาร์สหรัฐ
ตามเกณฑ์การจัดกลุ่มประเทศตามระดับรายได้ของธนาคารโลกดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 7,189 ดอลลาร์สหรัฐ จึงอยู่ในกลุ่มที่สอง คือ เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง คือ 12,375 ดอลลาร์สหรัฐ มากถึง 5,186 ดอลลาร์สหรัฐ (12,375-7,189=5,186) หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ตัวเลขเกณฑ์ขั้นต่ำของประเทศที่มีรายได้สูง มากเกือบจะเป็นสองเท่าของตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศไทย
ด้วยตัวเลขที่อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำดังกล่าวเป็นอย่างมาก ทำให้รัฐบาลไทยได้หาตัวแบบทางเศรษฐกิจที่จะนำมาผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงเสียที หลังจากติดกับดักการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง มาเป็นเวลานานมากกว่า 20 ปี เรียกชื่อตัวแบบทางเศรษฐกิจดังกล่าวว่า ประเทศ 4.0
5.2 ตัวแบบเศรษฐกิจ ไทย ประเทศไทย 4.0
ประเทศไทย 4.0 เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาบริหารประเทศด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ให้เจริญก้าวหน้า สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ ๆ ในศตวรรษที่ 21
5.2.1 ประเทศไทยในอดีต
ก่อนจะถึงยุคปัจจุบัน ประเทศไทย ได้ผ่านยุคของการพัฒนาเศรษฐกิจมาแล้ว 3 ยุค คือ ประเทศไทย 1.0 ประเทศไทย 2.0 และประเทศไทย 3.0
ประเทศไทย 1.0 เป็นยุคของการพัฒนาประเทศที่เน้นการเกษตรเป็นหลัก เช่น ผลิตและขาย พืชไร่ พืชสวน หมู เป็ด ไก่ เป็นต้น
ประเทศไทย 2.0 เป็นยุคของการพัฒนาอุตสาหกรรมเบา นอกเหนือไปจากการเกษตรที่มีอยู่เดิม เช่น การผลิตและขายรองเท้า เครื่องหนัง เครื่องดื่ม เครื่องประดับ เครื่องเขียน กระเป๋า เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
ประเทศไทย 3.0 ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน เน้นหนักไปทางอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก เช่น การผลิตและการขาย ส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ กลั่นน้ำมัน แยกก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ เป็นต้น
การที่ประเทศไทย อยู่ในยุค 3.0 ทำให้ประเทศไทยมีรายได้อยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น ไม่สามารถขยับขึ้นไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงเสียที แม้เมื่อ 50 ปีก่อน ช่วงพ.ศ.2500-2536 เศรษฐกิจของไทยมีการเติบโตอย่างมากถึงร้อยละ 7-8 ต่อปี แต่พอนับจากปีพ.ศ.2537 จนกระทั่งปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยกลับเติบโตเพียงร้อยละ 3-4 ต่อปี
การที่ประเทศไทยติดกับดักของการเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ และความไม่สมดุลของการพัฒนา
5.2.2 ประเทศไทย 4.0 มีลักษณะอย่างไร
หัวใจของเศรษฐกิจ ไทย ประเทศไทย 4.0 คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) โดยมีฐานคิดคือ เปลี่ยนการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น
ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ ประเทศไทย 4.0
- การเกษตร
เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องรวยขึ้นและเป็นผู้ประกอบการ
- เอสเอ็มอี
เปลี่ยนจากเอสเอ็มอีแบบดั้งเดิม (Traditional SMEs) ที่รัฐต้องคอยให้ความช่วยเหลือตลอดเวลาไปเป็น Smart Enterprises และStartups หรือบริษัทเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง
- การบริการ
เปลี่ยนจากการบริการแบบดั้งเดิม (Traditional Services) ซึ่งมีการสร้างมูลค่าต่ำไปเป็นการบริการมูลค่าสูง (High Value Services)
- แรงงาน
เปลี่ยนจากแรงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง
จะเห็นได้ว่า หัวใจของการเปลี่ยนแปลงของ ประเทศไทย 4.0 คือ การขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม (innovation) นั่นเอง
6. ดัชนีชี้วัดขีดความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ ไทย ในเวทีโลก
การพิจารณาว่า การที่ไทยได้กำหนดตัวแบบเศรษฐกิจ ประเทศไทย 4.0 เพื่อใช้เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศให้ข้ามพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคตภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด อาจจะพิจารณาจากดัชนีชี้วัดในด้านต่าง ๆ ในเวทีโลก เช่น ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขัน ดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจ ดัชนีความโปร่งใส ดัชนีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และดัชนีนวัตกรรม เป็นต้น
6.1 ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness Rank)
World Economic Forum เป็นผู้จัดทำรายงาน ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Report) ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยการนำตัวแปรต่าง ๆ ทางด้านเศรษฐกิจทั้งภาพใหญ่ (macro) และภาพเล็ก (micro/business) รวมทั้งนวัตกรรม มาวิเคราะห์รวมกันและจัดทำเป็นดัชนีนี้ขึ้นมา
ตามรายงานประจำปี 2019 ปรากฏว่า ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก ได้ 68.1 คะแนน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน ไทยได้คะแนนเป็นที่ 3 ของอาเซียน ตามหลัง สิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่ได้คะแนนเหนืออินโดนีเซีย กล่าวคือ
สิงคโปร์ ได้คะแนน 84.8 อันดับ 1 ของโลก
มาเลเซีย ได้คะแนน 74.6 อันดับ 27 ของโลก
ไทย ได้คะแนน 68.1 อันดับ 40 ของโลก
อินโดนีเซีย ได้คะแนน 64.6 อันดับ 50 ของโลก
6.2 ดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of doing business index)
ดัชนีชี้วัดความสะดวกในการทำธุรกิจ เป็นดัชนีที่ธนาคารโลก เป็นผู้จัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการชี้วัดว่า ประเทศใดจะมีมาตรการในด้านต่าง ๆ ในการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติได้มากกว่ากัน หากประเทศใดมีค่าดัชนีชี้วัดตัวนี้อยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก ก็น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถดึงนักลงทุนจากต่างประเทศได้มากกว่าประเทศที่มีค่าดัชนีนี้อยู่ในลำดับต่ำกว่า
ในการทำดัชนีดังกล่าวประจำปี ธนาคารโลก ได้แบ่งประเทศออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มสะดวกมาก(very easy) กลุ่มสะดวก (สะดวก) กลุ่มมาตรฐาน(medium) และกลุ่มต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (below average)
สำหรับการจัดทำดัชนีชี้วัดความสะดวกในการทำธุรกิจประจำปี 2020 ปรากฏว่า ประเทศไทยมีค่าดัชนีดังกล่าวอยู่ในกลุ่มสะดวกมาก อยู่ในลำดับที่ 21 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองลงมาจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยมีอันดับติดกับฟินแลนด์ และเยอรมัน กล่าวคือ
กลุ่มสะดวกมาก
อันดับ 2 สิงคโปร์
อันดับ 12 มาเลเซีย
อันดับ 20 ฟินแลนด์
อันดับ 21 ไทย
อันดับ 22 เยอรมนี
กลุ่มสะดวก
อันดับ 66 บรูไน
อันดับ 70 เวียดนาม
อันดับ 73 อินโดนีเซีย
อันดับ 95 ฟิลิปปินส์
6.3 ดัชนีความโปร่งใส (Corruption Index)
หากประเทศใดมีค่าดัชนีความโปร่งใสสูง ย่อมแสดงว่าประเทศนั้นมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการดึงดูดนักลงจากต่างประเทศให้เข้าไปลงทุน ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วนมีดัชนีความโปร่งใสอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก
ในทางตรงกันข้าม หากประเทศใดมีค่าดัชนีความโปร่งใสต่ำ ย่อมเป็นสิ่งผลักให้นักลงทุนจากต่างประเทศตัดสินใจไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ที่มีค่าดัชนีความโปร่งใสสูงแทน เนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่นักลงทุนจากต่างประเทศ
องค์การความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เป็นผู้จัดดัชนีดังกล่าวเป็นประจำทุกปี
สำหรับค่าดัชนีความโปร่งใสประจำปี 2020 ประเทศไทย ได้ 36 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 44 ร่วมกับเวียดนาม และอยู่ในอันดับที่ 5 ของอาเซียน รองลงมาจากสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย กล่าวคือ
อันดับ 1 เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ คะแนน 88
อันดับ 2 ฟินแลนด์ สิงคโปร์ คะแนน 85 สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์
อันดับ 21 บรูไน คะแนน 60
อันดับ 51 มาเลเซีย คะแนน 51
อันดับ 43 อินโดนีเซีย คะแนน 37
อันดับ 44 ไทยและเวียดนาม คะแนน 36
อันดับ 46 ฟิลิปปินส์ คะแนน 34
อนึ่ง คะแนนย้อนหลังของประเทศไทย จากปี 2020 ไปจนถึงปี 2013 (พ.ศ.2563 ย้อนหลังไปถึงปี พ.ศ. 2557) เป็นดังนี้
ปี 2020 2019 2018 2017 2016 2015 2014 2013
คะแนน 36 36 36 37 35 38 38 35
6.4 ดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Index)
ประเทศที่มีรายได้สูงหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วนมีค่าดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สูง และอยู่ในอันดันต้น ๆ ของโลกทั้งสิ้น
โครงการพัฒนาของยูเอ็น (The United Nations Development Programme -UNDP) เป็นผู้จัดทำรายงานดัชนีดังกล่าว เป็นประจำทุกปี โดยพิจารณาจากปัจจัยทางด้านสุขภาพ การศึกษา และรายได้
ในการรายงานประจำปี 2020 (ข้อมูลของปี 2019) ผลปรากฏว่า ประเทศไทยมีค่าดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 0.777 สูงเป็นอันดับที่ 79 ของโลก และสูงเป็นอันดับที่ 4 ของอาเซียน รองลงมาจากสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย กล่าวคือ
อันดับ 1 นอรเวย์ คะแนน 0.957
อันดับ 11 สิงคโปร์ คะแนน 0.938
อันดับ 47 บรูไน คะแนน 0.838
อันดับ 62 มาเลเซีย คะแนน 0.810
อันดับ 79 ไทย คะแนน 0.777
อันดับ 107 อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ คะแนน 0.718
อันดับ 117 เวียดนาม คะแนน 0.704
6.5 ดัชนีนวัตกรรมแห่งโลก (Global Innovation Index-GII)
ตามรายงานดัชนีนวัตกรรมแห่งโลกปี 2021 ปรากฏว่า ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีดัชนีนวัตกรรมสูง 1-50 ประเทศแรกของโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 43 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ของอเซียน รองลงมาจากประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย กล่าวคือ
อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์
อันดับ 8 สิงคโปร์
อันดับ 36 มาเลเซีย
อันดับ 43 ไทย
อันดับ 44 เวียดนาม
7. สินค้าออก และสินค้าเข้า
7.1 สินค้าออก และคู่ค้า
สินค้าออกที่สำคัญของไทย
- เครื่องจักรกล 23 %
- อิเล็กทรอนิกส์ 19 %
- อาหารและไม้ 14 %
- ผลิตภัณฑ์ทางเคมีและพลาสติก 14 %
- รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ 12 %
- หินและแก้ว 7 %
สิ่งทอและเฟอร์นิเจอร์ 4 %
ประเทศคู่ค้า
สหรัฐอเมริกา 11.4 % จีน 11 % สหภาพยุโรป 10.3 % ญี่ปุ่น 9.6 %
ฮ่องกง 5.3 % และอื่น ๆ 52.4 %
7.2 สินค้าเข้าและคู่ค้า
สินค้าเข้า
เงินทุน และสินค้าขั้นกลาง (capital and intermediate goods) วัตถุดิบ สินค้าอุปโภคบริโภค และน้ำมันเชื้อเพลิง
ประเทศคู่ค้า
จีน 21 % ญี่ปุ่น 15.8 % สหภาพยุโรป 9.3 % สหรัฐอเมริกา 6.2 % มาเลเซีย 5.6 % และอื่น ๆ 41.5 %
8.วิเคราะห์เศรษฐกิจไทย กว่าจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง อีกนานไหม
การที่ประเทศไทยติดกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงมาเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี แต่ยังไม่สามารถยกระดับประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงเสียที จนรัฐบาลต้องสร้างโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เรียกชื่อว่า ประเทศไทย 4.0 เพื่อให้ไทยสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง จากรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในปัจจุบัน 7,189 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นเป็น 12,375 ดอลลาร์สหรัฐในอนาคต
คำถาม คือ อีกนานแค่ไหนกว่าจะประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้นได้
ในที่นี้ผมขอวิเคราะห์กว้าง ๆ พอให้เห็นภาพจากดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกในหัวข้อที่ 6 ดังนี้
8.1 ขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness Index)
ปัจจุบันไทยมีคะแนนขีดวามสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก ด้วยคะแนน 68.1 แม้จะไม่ใช่อันดับและคะแนนที่ต่ำ แต่ก็ยังไมใช่อันดับสูงพอที่จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง
8.2 ดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of doing business)
ปัจจุบันไทยมีดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจ อยู่ในกลุ่มสะดวกมาก (very easy) และอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก ถือได้ว่าในส่วนนี้ ไทยทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ก็น่าจะทำให้อันดับของประเทศไทยสูงขึ้นกว่านี้ได้
8.3 ดัชนีความโปร่งใส (Corruption Index)
คะแนนดัชนีความโปร่งใสของไทยยังถือว่าต่ำ เพราะทำได้เพียง 36 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 44 ของโลก และดูเหมือนว่าประเทศไทยติดกับดักคะแนนความโปร่งใสอยู่ระหว่าง 35-38 มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ซึ่งยังเป็นคะแนนที่ห่างไกลความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วค่อนข้างมาก
8.4 ดัชนีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Index)
ประเทศไทยสามารถทำคะแนนดัชนีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้ 0.777 อยู่ในลำดับที่ 79 ของโลก ซึ่งยังไม่ใช่คะแนนที่ดีมากพอจะเป็นประเทศมีรายได้สูงหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว
8.5 ดัชนีนวัตกรรม (Global Innovation Index)
ประเทศไทยสามารถทำคะแนนดัชนีนวัตกรรมอยู่ในระดับค่อนข้างดี คือ อยู่ในอันดับที่ 43 ของโลก แต่ยังไม่อาจถือได้ว่า ดีมากพอจะเป็นประเทศทีมีรายได้สูงหรือประเทศที่พัฒนาแล้วได้
นอกจากดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกทั้ง 5 ประการแล้ว ยังต้องพิจารณาปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ระบาดอย่างหนังในประเทศไทยเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน คือ ปีพ.ศ.2563-2564 ซึ่งย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่ออัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างน้อยเป็นเวลา 2-3 ปีเช่นกัน
ยิ่งกว่านั้น ยังจะต้องพิจารณาปัญหาความมีเสถียรภาพทางการเมืองและปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย เพราะประเทศไทยมักจะประสบปัญหาดังกล่าวบ่อยครั้ง ทำให้เป็นอุปสรรคในการสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของชาติในระยะยาวเป็นอย่างมาก
9. สรุป
การที่จะประเทศไทย จะสามารถก้าวข้ามกับดักของการเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง จากรายได้เฉลี่ยต่อหัว 7,189 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ขึ้นเป็น 12,375 ดอลลาร์สหรัฐในอนาคต ได้หรือไม่เพียงใด คงจะต้องพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ว่า มีขีดความสามารถสูงเพียงพอหรือยัง
หากขีดความสามารถด้านใด ยังไม่สูงพอหรือยังมีจุดอ่อน ก็จะต้องเร่งรัดพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในด้านนั้น ๆ ให้อยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลกให้ได้ โดยเฉพาะดัชนีความโปร่งใสของประเทศไทย ยังมีคะแนนไม่ดีพอได้เพียง 36 คะแนนเท่านั้น ในทำนองติดกับการได้คะแนนดัชนีความโปร่งใส 35-38 มาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน
การที่ไทยจะสามารถพัฒนาประเทศให้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 7,189 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ขึ้นเป็น 12,375 ดอลลาร์สหรัฐในอนาคตนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทยต้องใช้เวลาฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงักลงเพราะโรคโควิด -19 ระบาดในช่วงปีพ.ศ.2563-2564 เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี
ความคิดเห็นและข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369

ฟอร์ด แรงเยอร์ ซึ่งส่งขายทั่วโลก (Wikipedia, Automotive industry in Thailnd, 30th September 2021)
ถาม- ประเทศไทย 4.0 จะพัฒนาในเรื่องใดบ้าง
ตอบ- ประเทศไทย 4.0 จะพัฒนาในกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 อาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น สร้างเส้นทางธุรกิจใหม่ (New Startups) ด้านเทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีอาหาร
กลุ่มที่ 2 สาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น พัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพ เทคโนโลยีการแพทย์ สปา
กลุ่มที่ 3 เครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์
กลุ่มที่ 4 ดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว เช่น เทคโนโลยีด้านการเงิน อุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์โดยไม่ต้องใช้คน เทคโนโลยีการศึกษา อี-มาร์เก็ตเพลส อี-คอมเมิรธ์
กลุ่ม 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และการบริการที่มีมูลค่าสูง เช่น เทคโนโลยีการออกแบบ ธุรกิจไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยีการท่องเที่ยว การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร
ถาม- ประเทศไทย 4.0 จะพัฒนาอย่างไร
ตอบ- ประเทศไทย 4.0 จะพัฒนาในรูปแบบของพลังประชารัฐ (รัฐ-เอกชน-ประชาชน) โดยแยกออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 การยกระดับนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์
กลุ่มที่ 2 การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ
กลุ่มที่ 3 การส่งเสริมการท่องเที่ยว การสร้างรายได้ และการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ
กลุ่มที่ 4 การศึกษาพื้นฐานและพัฒนาผู้นำ
กลุ่มที่ 5 การสิ่งเสริมการส่งออก และการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการส่งเสริม SMEs และผู้ประกอบการใหม่
ถาม- ประเทศไทย 4.0 เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ท่านเข้าใจว่าอย่างไร
ตอบ- นวัตกรรมหมายถึงเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นใหม่เป็นของไทยเอง ที่จะทำให้การทำงานลดน้อยลง แต่กลับได้ผลตอบแทนมากกว่าวิธีการเดิม ๆ หลายเท่า จึงเป็นการสร้างคุณค่าผลผลิตสูงให้สูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตสินค้าคุณภาพดี ทันสมัย ราคาต้นทุนไม่สูงเพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ และจะทำให้ประเทศมีรายได้เข้าประเทศมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
ถาม- ท่านเข้าใจคำว่า Smart Farming, Smart Enterprises และ Startup ว่าอย่างไร
ตอบ- Smart Farming หมายถึง การทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าช่วย
Smart Enterprises หมายถึง ธุรกิจ SMEs สมัยใหม่ที่มีความเข้มแข็ง ไม่ใช่คอยแต่พึ่งแต่ภาครัฐอย่างเดียว
Startup หมายถึงบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่โดยอาศัย นวัตกรรม
ถาม- การบริการสมัยใหม่ (High Value Services) คืออะไร แตกต่างจาการบริการสมัยเก่าอย่างไร
ตอบ- การบริการสมัยใหม่ หมายถึง การบริการที่มีการพัฒนายกระดับให้มีคุณค่าสูงด้วยเทคโนโลยี และมีการรับรองมาตรฐานคุณภาพในการบริการนั้น ๆ ส่วนการบริการแบบเก่า ไม่มีการรับรองมาตรฐานคุณภาพของงาน จึงได้ค่าตอบแทนต่ำ
ถาม- อุตสาหกรรม (industry) และอุตสาหกรรมการผลิต(manufacturing) มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร
ตอบ- อุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมการผลิต สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยได้มาก อย่างเช่น ในปี 2007 สร้างรายได้ 43.9 % ของจีดีพี
ถาม-อุตสาหกรรมรถยนต์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร
ตอบ- ไทยเป็นประเทศผู้นำของประเทศอาเซียนในด้านการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ อย่างเช่นเมื่อปี 2015 อุตสาหกรรมรถยนต์สามารถสร้างการจ้างานจำนวน 417,000 ตำแหน่ง คิดเป็นการจ้างงาน 6.5 % ของการจ้างงานด้านอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมการผลิตให้แก่ไทย และสร้างรายได้ 10 % ของจีดีพี และในปี 2014 ประเทศไทยส่งรถยนต์เป็นสินค้าออกคิดเป็นมูลค่า 25.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยานยนต์ อันดับหนึ่งของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 12 ของโลก
ถาม- การท่องเที่ยวมีส่วนในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด
ตอบ- การท่องเที่ยวมีส่วนสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยมาก อย่างเช่น เมื่อปี 2016 การท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยจำนวนมากถึง 2.53 ล้าน ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ถาม- ไทยมีสินค้าอะไรบ้างที่โดดเด่นในเวทีโลก
ตอบ- มีอยู่หลายตัว เช่น ข้าว ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน ไทยเป็นประเทศผุู้ผลิตและส่งออกสินค้าเครื่องอัญมณีคิดตามมูลค่า รายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกแร่ยิบซัมมากเป็นอันดับสองของโลก รองลงมาจากแคนาดา
ถาม- เมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถขอบแรงงานไทยกับแรงงานสิงคโปร์ และแรงงานมาเลเซีย แตกต่างกันอย่างไร
ตอบ- แรงานสิงคโปร์มีประสิทธิผล (productive) ในการทำงานเป็น 5 เท่าของแรงงานไทย และแรงงานมาเลเซียมีประสิทธิผลในการทำงานเป็น 2 เท่าของแรงงานไทย
ดร.ชา 369
29/09/21
แหล่งข้อมูล
- https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
- https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)_per_capita
- https://www.excise.go.th/cs/groups/public/documents/document/dwnt/mjgy/~edisp/uatucm282681.pdf
- https://en.wikipedia.org/wiki/Global_Competitiveness_Report
- https://en.wikipedia.org/wiki/Corruption_Perceptions_Index
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ease_of_doing_business_index
- https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_Human_Development_Index
- https://en.wikipedia.org/wiki/Global_Innovation_Index
ค่าแรงานในประเทศไทยมีราคาสูง กว่า ประเทศเพื่อนบ้าน บางประเทศ จึงทำให้ผู้ผลิตหลายราย ย้ายถิ่นฐานการผลิตไปประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าไทย
อาจารย์คิดอย่างไรคะเกี่ยวกับเรื่องนี้
ก็เป็นธรรมดาของนักลงทุน เขาต้องหาทางลดต้นทุน แต่แรงงานที่มีค่าจ้างแพง ย่อมเป็นแรงงานที่มีฝีมือสูงกว่า ดังนั้น ถ้าเขาต้องการแรงงานที่มีฝีมือมากกว่า ผู้ประกอบการอาจจะตัดสินใจเลือกลงทุนในประเทศไทยแทน
การเมืองภประเทศเกิดความไม่สงบ ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก นักลงทุนลังเลใจในการเข้ามาลงทุน
ในมุมมองของอาจารย์ คิดอย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ
คำตอบก็อยู่ในคำถามแล้ว
สหภาพยุโรปนำเข้าสินค้า ประเภทไหนคะ จากประเทศไทย
มีหลายอย่าง เช่น อุปกรณ์บรรจุข้อมูล เนื้อสัตว์ผ่านกระบวนการ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนเครื่องประดับ เลนส์แว่นตา เครื่องที่ใช้ในการขนส่ง ยางรถยนต์ และเครื่องปรับอากศ