“อานิสงส์ ของการบวชถวายเป็นพระราชกุศล” เป็นบทความลำดับที่ 3 ของหมวด เรื่องเล่า เหตุการณ์ในความทรงจำที่ดี โดยมีหัวข้อที่จะเล่าให้ทราบ คือ อานิสงส์ ของการบวช มีมากน้อยเพียงใด เหตุใดจึงเลือกบวชที่วัดกุดไผท หลวงปู่ปาน คุตตสติ พระอุปัชฌาย์ กิจกรรมในการบวชถวายเป็นพระราชกุศล 9 วัน ณ วัดกุดไผท อานิสงส์ ของการบวชถวายเป็นพระราชกุศล สรุป และคุยกับดร.ชา
การบวชถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสต่าง ๆ เป็นที่นิยมของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสังคมไทย อย่างเช่น ข่าวการบวชถวายเป็นพระราชกุศลของพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก ณ วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา
อนึ่ง บทความนี้เป็นบทความต่อเนื่องบทความที่แล้ว (2) คือ สกลนคร เป็นจังหวัดที่ทำให้ผมได้รับพระราชทานผ้าไตร
Table of Contents
1.อานิสงส์หรือผลบุญของการบวชพระมีมากน้อยเพียงใด
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ในหนังสือ ธรรมปฏิบัติ เล่ม 1 หน้า 29-35 อ้างโดย ศ.ธรรมทัสสี บทความ อานิสงส์บวชพระเณร ได้แสดงพระธรรมเทศนาสรุปได้ความว่า สมเด็จพะบรมศาสดาได้ตรัสว่า การอุปสมบทบรรพชานี้มีอานิสงส์พิเศษ แม้การสร้างวิหาร การถวายสังฆทาน การทดกฐินผ้าป่า จัดว่าเป็นอานิสงส์สำคัญ แต่ผ้าผู้ใดไม่อนุโมทนาก่อนก็จะไม่ได้รับอานิสงส์
แต่การบรรพชาอุปสมบท แม้บิดามารดาไม่ทราบว่าบุตรบวชหรือไม่ทราบว่าเป็นบุตรของตน จึงไม่ได้อนุโทนา กระนั้นก็ตามผู้เป็นบิดามารดาย่อมได้รับอานิสงส์โดยสมบูรณ์ รายละเอียดดูได้ในเว็บไซต์นี้
ผลบุญของการบวช
การบวชมีอานิสงส์ทั้งต่อตัวผู้บวชเอง ต่อญาติมิตรของผู้บวช มีบิดามารดา เป็นต้น และต่อเพื่อนมนุษย์สัตว์โลกทั้งหลายและพระศาสนาที่จะได้รับร่วมกัน
1.1ผลบุญต่อตัวผู้บวชเอง
จะทำให้ผู้บวชได้เรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อทำให้ตัวเองเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ กาย วาจา และใจ เป็นผู้มีน้ำใจงาม และเป็นผู้มีปัญญา
1.2 ผลบุญต่อญาติมิตรทั้งหลาย
เมื่อบุตรได้บวช ย่อมทำให้บิดามารดาตลอดจนญาติมิตรใกล้ชิดมีความปิติยินดีพอใจในธรรมมากขึ้น
1.3 ผลบุญต่อสัตว์ทั้งหลาย
เมื่อมีคนบวชเรียน มีคนปฏิบัติถูกต้อง และมีคนปฏิบัติได้ผล ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา กระทั่งสากลจักรวาล เพราะตราบใดที่มีศาสนาอยู่ในโลก ตราบนั้นสัตว์ทั้งหลายก็จะอยู่รอดปลอดภัย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ข้างล่างนี้
(sarakuntho.org/ธรรมะ และความรู้/60-อานิสงส์ของการบวช.hmtl)
2.เหตุใดจึงเลือกบวชที่วัดกุดไผท
ในการบวชถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งผมได้รับพระราชทานผ้าไตรจีวรจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ณ ลานคำหอม พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2538 นั้น
ท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมผมจึงเลือกบวชที่วัดกุดไผท
คำตอบคือ การบวชครั้งนี้ของผม เป็นการบวชในฐานะเป็นนายอำเภอเมืองสกลนคร ดังนั้น จำเป็นต้องพิจารณาว่า ผมสมควรจะบวชที่วัดใดจึงจะเหมาะสมที่สุด

ความคิดเดิมขอผม คือ อยากจะบวชที่วัดป่าสุทธาวาส ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่มั่นเคยจำพรรษาอยู่ และเป็นวัดที่ประดิษฐานพิพิธภัณฑ์ของหลวงปู่มั่น ภูริภัตโต แต่คุณเรือง ฯ ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโส อำเภอเมืองสกลนครอยู่ กำลังรอคำสั่งแต่งตั้งเป็นนายอำเภอ ได้ให้ข้อคิดแก่ผมว่า ผมควรจะไปบวชที่วัดกุดไผท ตำบลดงชน อำเภอเมืองสกลนคร น่าจะเหมาะสมกว่า
คุณเรือง ฯ ให้เหตุผลว่า หลวงปู่ปาน คุตตสติ เจ้าอาวาสวัดกุดไผท ในเวลานั้น เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดสกลนคร จังหวัดใกล้เคียง กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล หลวงปู่เป็นพระผู้มีจิตใจเปี่ยมด้วยเมตตาและมีเมตตาบารมีสูง และเป็นพระสายปฏิบัติ หากผมไปบวชเป็นลูกศิษย์ หลวงปู่น่าจะมีเวลาอบรมสั่งสอนการปฏิบัติธรรมได้
ผมได้พิจารณาแล้ว ก็เห็นชอบด้วย จึงได้ตัดสินใจอุปสมบท ณ วัดกุดไผท
3.หลวงปู่ปาน คุตตสติ พระอุปัชฌาย์ของผม
หลวงปู่ปาน คุตตสติ อดีตเจ้าอาวาสวัดกุดไผท ตำบลดงชน อำเภอเมืองสกลนครและเจ้าคณะดงชน เกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2463 บ้านโนนปอหู ตำบลดงชน อำเภอเมืองสกลนคร และมรณภาพเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 สิริอายุได้ 85 ปี บวชได้ 65 พรรษา

หลวงปู่สนใจในด้านการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน นอกจากได้ฝึกปฏิบัติมหาสติปัฏฐาน 4 ตามแนวยุบหนอ-พองหนอ ของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานครแล้ว หลวงปู่ยังได้ศึกษาตามแนวหลวงปู่มั่นกับลูกศิษย์สายหลวงปู่มั่นที่มีอยู่ในจังหวัดสกลนครเป็นจำนวนมาก เช่น หลวงปู่กงมา พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์วัน เป็นต้น
หลวงปู่ได้จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมขึ้น ณ วัดกุดไผท เมื่อปี พ.ศ.2498 และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดกุดไผทเมื่อปี พ.ศ.2517
อนึ่ง หลวงปู่ เป็นพระผู้มีจิตเปี่ยมไปด้วยเมตตาอย่างสูง ใบหน้ามีแต่รอยยิ้มด้วยความเมตตาอยู่ตลอดเวลา และมักจะผูกด้วยสายสิญจน์ที่ข้อมือลูกศิษย์ลูกหาที่เข้าไปกราบนมัสการเพื่อความเป็นสิริมงคล หากใครไปกราบหลวงปู่จะสัมผัสความรู้สึกเช่นนี้ได้
4.กิจกรรมในการบวช 9 วัน ณ วัดกุดไผท
ผมได้ทำการอุปสมบท ณ วัดกุดไผท ตำบลดงชน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2638 ในช่วงเช้า โดยมีหลวงปู่ปาน คุตตสติ หรือพระครูสังวรภิบาล เจ้าคณะดงชน เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 75 ปี หลังจากนั้น หลวงปู่ปาน ได้มีเมตตาให้ผมจำวัด ณ กุฏิเดียวกันกับหลวงปู่ โดยมีครูบานริศ ซึ่งเป็นเลขานุการของหลวงปู่เป็นพระพี่เลี้ยง
สำหรับกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมในช่วงเวลาของการอุปสมบท 9 วัน ของผม พอจะสรุปได้ดังนี้
4.1 การออกบิณบาตรและการทำวัตรเช้า
ทุกเช้า ผมต้องเดินออกบิณบาตร ด้วยการเดินออกจากวัดไปยังหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากวัดราว 2 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็เดินกลับวัด และทำวัตรเช้าในเวลาประมาณ 07.00 ณ ศาลาวัด โดยมีหลวงปู่เป็นประธานในการทำวัตรเช้าทุกวันเสร็จแล้วก็ฉันภัตตาหารเช้า
4.2 การฉันภัตตาหารเพล
เมื่อได้เวลาฉันเพลเวลาประมาณ 11.00 น.ของแต่ละวัน ผมได้ไปฉันเพล ณ ศาลาวัด โดยมีหลวงปู่เป็นประธาน
4.3 การทำวัตรเย็น การนั่งสมาธิ และเดินจงกรม
การทำวัตรเย็น เริ่มต้นเวลาประมาณ 16.30 น. ณ ศาลาวัด
หลังจากได้สวดมนต์ทำวัตรเย็นเสร็จ หลวงปู่ให้พระเณร ตลอดจนอุบาสก อุบาสิกา
ที่ได้มาร่วมสวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ ด้วยการบริกรรมคำว่า “ยุบหนอ พองหนอ”
นอกจากนี้ยังมีการเดินจงกรมรอบอุโบสถเพื่อเปลี่ยนอิรยาบถ กว่าจะแล้วเสร็จราว ๆ สองทุ่ม
อุบาสก อุบสิกา ที่ได้ร่วมทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ ส่วนใหญ่จะเป็นคนในตัวเมืองสกลนครที่มีความศรัทธาในวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ และส่วนใหญ่แต่งกายด้วยชุดนุ่งขาวห่มขาว หรือชุดสภาพ
4.4 การฝึกปฏิบัติธรรมในยางว่าง
หลังจากฉันภัตตาหารเพลแล้ว เป็นเวลาพระเณรว่างจนกว่าจะถึงเวลาทำวัตรเย็น ผมได้ใช้เวลาช่วงนี้ปฏิบัติธรรม
5.ผลบุญของการบวชถวายเป็นพระราชกุศล ณ วัดกุดไผท
หากจะถามว่า ในการบวชถวายเป็นพระราชกุศลของผม ณ วัดกุดไผท ในช่วงเวลา 9 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน- 4 ธันวาคม 2538 มีผลบุญอะไรบ้าง ผมขอตอบดังนี้
5.1 ผลบุญต่อตัวผมเอง
5.1.1 การบวชครั้งนี้ของผมแตกต่างไปจากการบวชครั้งแรกของผมเมื่อปีพ.ศ.2523 เมื่อครั้งที่ผมดำรงตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโส อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิมาก กล่าวคือ ในการบวชคราวนี้ ผมได้มีโอกาสฝึกการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพิ่มเติม โดยมีหลวงปู่ปานเป็นครูอาจารย์คอยตรวจสอบอารมณ์พระกรรมฐานให้
มีอยู่วันหนึ่ง เวลาประมาณ 15.30 น. ในขณะที่ผมกำลังนั่งสมาธิอยู่ ณ บริเวณหน้ากุฏิของหลวงปู่ ผมมีความรู้สึกว่าหลวงปู่ได้ส่งจิตมาตรวจสอบสมาธิของผม ผมมองเห็นหลวงปู่ในนิมิตได้ชัดเจน และในเวลาต่อมาหลวงปู่ได้กล่าวว่า การนั่งสมาธิของผมถูกต้อง โดยมิได้ให้คำแนะนำอะไรเพิ่มเติม
การนั่งสมาธิของผมดังกล่าว เป็นการนั่งสมาธิแบบพระกรรมฐานหลวงที่ผมได้ฝึกมาจากแม่ชีหรืออุบาสิกา พิมพา อุ้มปรีชา แห่งกุฏิประชาชื่น วัดกำแพง กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2534 หากท่านอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม อาจจะย้อนกลับไปอ่าน บทความ นิวรณ์ 5 แก้ได้ด้วยพระกรรมฐานหลวง
5.1.2 ในการบวชครั้งนี้ หลวงปู่ได้มอบหมายให้ผมแสดงพระธรรมเทศนา จำนวน 3 ครั้ง โดยเป็นการแสดงต่อญาติโยมที่มาถวายภัตตาหารเช้าและภัตตาหารเพล ณ ศาลาวัดกุดไผท จำนวน 2 ครั้ง และแสดงต่อที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ประจำเดือนธันวาคม 2538 ณ หอประชุมอำเภอเมืองสกลนคร จำนวน 1 ครั้ง โดยหัวข้อธรรมะที่แสดงเป็นเรื่องความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
5.2 ผลบุญต่อภรรยา บิดามารดา และญาติมิตร
อานิสงส์ของการบวชถวายเป็นพระราชกุศลครั้งนี้ ภรรยา บิดามารดา และญาติมิตรขอผมย่อมได้รับทั่วกัน นับตั้งแต่การมาร่วมในพิธีบวช การมาร่วมถวายภัตตาหารเช้าและภัตตาหารเพล และการสวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ และเดินจงกรม
ในพิธีอุปสมบท ณ อุโบสถ วัดกุดไผท เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2538 ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มอบหมายให้ท่านชนินทร์ บัวประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครในขณะนั้น เป็นประธาน โดยมีบิดามารดา ภรรยา และญาติผู้ใหญ่ของผม หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พ่อค้าคหบดี ผู้นำท้องถิ่น ตลอดจนสื่อมวลชน ได้ให้เกียรติมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
ในฐานะเป็นนายอำเภอที่ได้บวชถวายเป็นพระราชกุศล ทำให้สามารถน้อมนำให้หัวหน้าส่วนราชการทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ข้าราชการ พ่อค้าคหบดี ผู้นำท้องถิ่นจากทุกตำบลหมู่บ้านของอำภอเมืองสกลนคร (กำนันผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ผู้บริหาร สมาชิกสภา และพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) และพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้เข้ามาร่วมทำบุญกันเป็นอย่างมาก โดยมีคุณสารปัญญา อินทรพุฒ ปลัดอำเภออาวุโส อำเภอเมืองสกลนคร ในขณะนั้น เป็นผู้ประสานงานให้เป็นไปด้วยความเหมะสมและเรียบร้อย
5.3 ผลบุญต่อสถาบันหลักของประเทศ
เนื่องจากการบวชครั้งนี้ของผมมิใช่การบวชตามปกติแต่เป็นการบวชในโอกาสพิเศษ กล่าวคือ เป็นการบวชถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงเท่ากับมีส่วนทำให้พสกนิกรทั้งหลายมีจิตใจจงรักภักดี ผูกพัน และยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศมากและมั่นคงยิ่งขึ้น ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
6.สรุป
การบวชถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีของผม ณ วัดกุดไผท ตำบลดงชน อำเภอเมืองสกลนคร เป็นเวลา 9 วัน ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน- 4 ธันวาคม 2538 นับว่ามีอานิสงส์หลายประการทั้งต่อตัวผมเอง ภรรยา บิดามารดา ญาติมิตร และสถาบันหลักของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการบวชที่ทำให้มีผู้คนมาร่วมทำบุญและร่วมอนุโมทนาเป็นจำนวนมาก ทั้งหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พ่อค้าคหบดี กำนันผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ และพุทธศากนิกชนทั่วไปในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
ดังนั้น เหตุการณ์ครั้งนี้จึงอยู่ในความทรงจำทีดีของผมและครอบครัวตลอดมา
กรุณาอ่านความเห็นเพิ่มเติมในหัวข้อ คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมวันนี้ คือ คุณพิศวง(ชื่อสมสมมุติ) ในฐานะเคยเป็นเพื่อนร่วมงานทีใกล้ชิดที่สุดคนหนึ่งของผมเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองกลนคร

“สวัสดี คุณพิศวง วันนี้เรามารื้อฟื้นความหลังกันหน่อยเกี่ยวกับการบวชถวายเป็นพระราชกุศล ณ วัดกุดไผท เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2538 ” ผมทักทายพร้อมกับเปิดเกม
“ยินดีค่ะ ดร.ชา เรื่องนี้นับเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของดิฉันเช่นกัน ดิฉันขอเป็นฝ่ายสอบถามนะค่ะ
ในความรู้สึกของดร.ชา คิดว่าการได้บวชถวายเป็นพระราชกุศล ณ วัดกุดไผท โดยมีหลวงปู่ปานเป็นพระอุปัชฌาย์และครูอาจารย์ผู้สอนการนั่งสมาธิ มีผลบุญมากน้อยเพียงใด” คุณพิศวงถามเจาะเข้าประเด็นทันที
“ เรื่องนี้ ขอตอบตามตรงเลยนะ ผมคิดว่า การได้บวชถวายเป็นพระราชกุศลดังกล่าว เป็นผลบุญที่ยิ่งใหญ่มาก ทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว วงศ์ตระกูล ญาติมิตร ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า จะมีบุญวาสนาถึงเพียงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับพระราชทานผ้าไตรจีวรจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ” ผมตอบกว้าง ๆ ในภาพรวมก่อน
“ดร.ชา มีความรู้สึกอย่างไรค่ะ ที่ได้เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่คนหนึ่งในช่วงเวลาของการบวช 9 วัน ” คุณพิศวงถามเจาะจงในเรื่องของหลวงปู่ปาน
“ ผมรู้สึดีใจและภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่ด้วยคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่หลวงปู่ได้มีเมตตาให้ผมพักอยู่ในกุฏิเดียวกับหลวงปู่ และยังได้มอบหมายให้ครูบานริศ เลขานุการของหลวงปู่เป็นพระพี่เลี้ยงดูแลผมอย่างใกล้ชิด เพราะเราเป็นพระบวใหม่ หลายอย่างยังไม่คล่อง
อย่างเช่น การห่มจีวรให้ถูกต้อง เพราะหากทำไม่ถูกต้อง ก็จะดูรุ่มร่าม ไม่สวยงาม หรือการเดินทางไปนอกสถานที่ หลวงปู่ก็ได้มอบหมายให้ครูบานริศเดินทางไปด้วยเสมอ ” ผมตอบถามความรู้สึกที่แท้จริง
“ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ดร.ชาได้รับแนวทางปฏิบัติอะไรเพิ่มเติมไหมค่ะ ” คุณปริศนาถามเพิ่มเติม
“ ในเรื่องนี้ ถ้าจะว่าไป เผอิญอาจารย์พอจะมีพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะเคยเป็นลูกศิษย์อุบาสิกาหรือแม่ชี พิมพา อุ้มปรีชา มาก่อนแล้ว จึงไม่เป็นภาระอะไรแก่หลวงปู่มาก แต่หลวงปู่ก็ทำให้ผมทราบว่า การใช้คำว่า ยุบหนอ-พองหนอ เป็นคำบริกรรม ต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง
หลวงปู่สอนว่า ให้ตั้งจิตอยู่บริเวณหน้าท้องเหนือสะดือเล็กน้อย เมื่อหายใจเข้า ให้นึกคำว่า พอง-หนอ โดยให้หายใจเข้าลึก ๆ และท้องจะพองในจังหวะ ภาวนาด้วยคำว่า หนอ ไม่ใช่พองในจังหวะภาวนาด้วยคำว่า พอง
หลังจากนั้น ให้หายใจออกพร้อมกับภาวนาด้วยคำว่า ยุบ-หนอ หน้าท้องจะแฟบในจังหวะ หนอ ไม่ใช่ในจังหวะภาวนาคำว่า ยุบ ” ผมอธิบายพอให้คุณพิศวงเข้าใจ
“ เป็นเช่นนี้เอง ดิฉันเข้าใจผิดมาเสียนาน นึกว่า หายใจเข้า ท้องจะพองในตอนภาวนาคำว่า พอง และเข้าใจว่า เมื่อหายใจออก ท้องจะแฟบ ตอนภาวนาว่า ยุบ
ถ้าเช่นนั้น ดิฉันขอถามความเห็นสุดท้ายก็แล้วกันว่า หลวงปู่มีจุดเด่นอะไรเป็นพิเศษที่ทำให้พุทธศาสนิกชนทั้งในจังหวัดสกลนคร จังหวัดใกล้เคียง หรือแม้แต่กรุงเทพมหานครเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่เป็นอย่างมาก ” คุณปริศนาผมเชิงสรุป
“ ในฐานะทีเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่คนหนึ่ง อาจารย์ขอยืนยันว่า หลวงปู่เป็นพระผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ สามารถกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ หลวงมีเมตตาต่อทุกคนที่ได้ไปกราบหลวงปู่ ดังจะเห็นได้จากหลวงปู่ได้ผูกด้ายสายสิญจน์ให้ทุกคนและทุกครั้ง ไม่เลือกชั้นวรรณะ
เมตตาบารมีของหลวงปู่ นับว่าสูงมาก ดังมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์นิมนต์หลวงปู่ให้ไปทำกิจนิมนต์ที่บ้านหลังซึ่งเลี้ยงสุนัขตัวโตและดุร้ายไว้ แต่หลวงปู่ก็สามารถแผ่เมตตาให้สุนัขตัวนั้น สงบลงและหายดุร้ายได้อย่างแทบไม่น่าเชื่อ
อาจจะกล่าวได้ว่า หากใครมีโอกาสได้กราบหลวงปู่แล้ว ล้วนแล้วแต่ได้รับความสงบสุขใจกลับมาทั้งสิ้น เพราะนอกจากการผูกด้ายสายสิญจน์ที่ข้อมือให้แล้ว หลวงปู่ยังให้ศีลให้พรด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มเสมอ ” ผมสรรเสริญความดีงามของหลวงปู่ด้วยความความศรัทธาอย่างแท้จริง
“ อาจารย์สรุปได้ชัดเจนดีมาก เรื่องที่จะสอบถามความเห็นของอาจารย์คงจะมีเท่านี้ ขอบคุณมากนะค่ะ” คุณพิศวงกล่าวยุติการสนทนา
“ ด้วยความยินดี คุณพิศวง อาจารย์ขอขอบคุณ คุณพิศวงเช่นกันที่สละเวลามา สนทนากับอาจารย์ในวันนี้ มีโอกาสเราค่อยคุยกันใหม่ ” ผมกล่าวยุติการสนทนาเช่นเดียวกัน
“ด้วยผลบุญกุศลที่เกิดจากการเขียนบทวามนี้เป็นธรรมทาน ขออุทิศถวายแด่หลวงปู่ปาน คุตตสติ อดีตเจ้าอาวาสวัดกุดไผท ตำบลดงชน อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ”
ดร.ชา
11/11/20
ขอบคุณคุณพิศวง ที่ได้กลับมาแบ่งปันความรู้อีกครั้งค่ะ
การนั่งสมาธิหนูก็เข้าใจผิด คิดว่าหายใจเข้าท้องพอง มาอ่านบทความของอาจารย์จึงเข้าใจได้ถูกต้องค่ะ
ดีแล้ว
อาจารย์รู้จักสายหลวงปู่ดู่ หลักการนั่งสมาธิ คือ อัญเชิญหลวงปู่เข้าตัวแล้วครอบวิมานแก้วค่ะ
หนูอยากให้อาจารย์เล่าให้ฟังค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรื่องนี้ อาาจารย์ไม่ทราบและไม่มีข้อมูล
อาจารย์คะ เรื่องที่หนูจะถามเป็นนอกเรื่องค่ะ ธนาคารกรุงไทยพ้นสภาพจากรัฐวิสาหกิจ เป็นอย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ
รัฐวิสาหกิจ หมายถึง รัฐ หรือกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ มากกว่าครึ่งหนึ่ง ทิศทางของธุรกิจอยู่ที่กระทรวงการคลังในฐานะหุ้นใหญ่เป็นผู้กำหนด