รัฐไทย เกี่ยวข้องกับสงครามเย็นอย่างไร เป็นบทความลำดับที่ 3 ในหมวด เรื่องเล่า ประเทศไทย กับชาติมหาอำนาจ โดยจะกล่าวถึง ความหมายของสงครามเย็น สงครามเย็นระยะที่หนึ่ง สงครามเย็นระยะที่สอง รัฐไทยเกี่ยวข้องกับสงครมเย็นอย่างไร สรุป และคุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว (2) ผมได้เล่าถึงเรื่อง ไทย แลนด์ หรือประเทศไทย ได้รับแรงกดดันจากชาติมหาอำนาจอย่างไร โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ยุค ยุคโบราณเป็นผลมาจากสงครามขยายอาณาเขตของพระมหากษัตริย์ ยุคที่สอง เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคที่สาม เป็นผลมาจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์และสงครามเย็น และยุคปัจจุบัน เป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์
สำหรับบทความนี้ คือ รัฐไทยหรือประเทศไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามเย็นอย่างไร ผมคิดว่าหลายท่านคงอยากจะทราบ เพราะในยุคสงครามเย็นนั้น โลกของเราเต็มไปด้วยความตึงเครียดมาก โดยผมจะเล่าให้ท่านทราบตามหัวข้อดังนี้ คือ
- ความหมายของสงครามเย็น
- สงครามเย็นระยะที่หนึ่ง
- สงครามเย็นระยะที่สอง
- รัฐไทยเกี่ยวข้องกับสงครามเย็นอย่างไร
2.ความหมายของสงครามเย็น (Cold War)
สงครามเย็น เป็นช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดในทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical tension) ระหว่างสหภาพโซเวียต (The Soviet Union) และสหรัฐอเมริกา (The United States) และพันธมิตร คือ กลุ่มยุโรปตะวันออก (Eastern Bloc) และกลุ่มยุโรปตะวันตก (Western Bloc) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ช่วงเวลาของสงครามเย็น คือ ช่วงปีค.ศ.1947 ในสมัยประธานาธิบดีทรูแมน (Truman )แห่งสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงปีค.ศ.1991 ซึ่งเป็นปีที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย (The dissolution of the Soviet Union)

การใช้คำว่า สงครามเย็น ก็เพราะไม่ได้มีการต่อสู้กันโดยตรงระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง แต่ทั้งสองมหาอำนาจได้ใช้วิธีสงครามตัวแทน (proxy war) ณ ภูมิภาคที่มีความขัดแย้งกัน ความขัดแย้งมีสาเหตุมาจากอุดมการณ์ที่แตกต่างกันและปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยทั้งสองฝ่ายต่างต้องการครองโลกตามอุดมการณ์ของตน ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองชาติได้เป็นพันธมิตรกันเป็นการชั่วคราวในการต่อสู้กับนาซีเยอรมัน(Nazi Germany) จนได้ชัยชนะในปีค.ศ.1945
การต่อสู้เพื่อเอาชนะของแต่ละฝ่าย นอกจากได้ออกมาในรูปของการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ การสร้างกองกำลังทหารขนาดใหญ่แล้ว ยังมีการกระทำในทางอ้อม คือ สงครามจิตวิทยา (psychological warfare) การโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda campaigns) การจารกรรม (espionage) การห้ามส่งสินค้าบางอย่าง (embargoes) และการแข่งขันกีฬาและการแข่งขันทางเทคโนโลยีอย่าง การแข่งขันทางด้านอวกาศ(Space Race)
โลกตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปตะวันตกที่ถือเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง โดยทั่วไปมีการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย (liberal democratic) แต่ก็เชื่อมเครือข่ายกับประเทศเผด็จการ (network of authoritarian states) ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของตนมาก่อน ส่วนโลกตะวันออก นำโดยสหภาพโซเวียตและพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีอิทธิพลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ผมขอเล่าสอดแทรกตรงนี้เล็กน้อยว่า ตามข้อมุลในอดีตแสดงให้เห็นว่า แม้เป็นประเทศเผด็จการ หากยอมร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการต่อสุู้กับสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกาก็ให้การสนัสนุนรัฐบาลเผด็จการของประเทศนั้น
รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนรัฐบาลปีกขวา (right-wing governments) ไปทั่วโลก ส่วนสหภาพโซเวียตสนับสนุนเงินพรรคคอมมิวนิสต์และการปฏิวัติไปทั่วโลก นอกจากนี้ บรรดาอาณานิคมซึ่งได้รับเอกราชในช่วงปีค.ศ.1945-1960 ได้กลายเป็นประเทศโลกที่สาม (Third World) ในสงครามเย็น (ประเทศเหล่าน้้ ประกาศตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด)
3.สงครามเย็นระยะที่หนึ่ง (1947-1962)
สงครามเย็นระยะที่หนึ่ง เริ่มต้นหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีเหตุการณ์สำคัญดังนี้
ปี 1949 สหรัฐอเมริกาสร้างองค์การนาโต (NATO) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหาร เพื่อคอยยับยั้งการโจมตีของสหภาพโซเวียตที่มีนโยบายจะครองโลก

ปี 1955 โซเวียตตั้งกลุ่มกติกาวอร์ซอว์ (Warsaw Pact) เพื่อตอบโต้นาโต
ได้เกิดวิกฤตการณ์ที่สำคัญหลายอย่างเช่น การปิดล้อมกรุงเบอร์ลิน (Berlin Blockade) เมือปี 1918-1949
เกิดสงครามประชาชนในจีน (Chinese Civil War) ปีค.ศ.1927-1950
เกิดสงครามเกาหลี (Korean War) ปี ค.ศ. 1950-1953
เกิดวิกฤติการณ์คลองสุเอช (Suez Crisis) ปี ค.ศ.1956
เกิดวิกฤติการณ์กรุงเบอร์ลิน (Berlin Crisis) ปีค.ศ. 1961
เกิดวิกฤติการณ์จรวดคิวบา (Cuban Missile Crisis) ปีค.ศ. 1962
ยิ่งกว่านั้น สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกายังได้แข่งขันกันสร้างอิทธิพลใน ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมในทวีปอาฟริกาและเอเชีย
3.สงครามเย็นระยะที่ 2 (1968-1991)
สงครามเย็นระยะที่ 2 ได้เริ่มต้นเมื่อเกิดความขัดแย้งกันระหว่างจีนกับโซเวียต (Sino-Soviet split) ในขณะเดียวกันฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาก็ต้องการความเป็นตัวของตัวเองในการดำเนินนโยบาย (greater autonomy action)
สงครามเย็นระยที่ 2 นี้มีเหตุการณ์สำคัญ ดังนี้
สหภาพโซเวียตส่งกองทัพบุกกรุงปราก เมืองหลวงของเช็คโกสโลวาเกีย เมื่อปีค.ศ.1968 (Prague Spring)
สหรัฐอเมริกาเผชิญปัญหาการก่อจลาจลจากขบวนการสิทธิพลเมือง (civil rights movement) และการต่อต้านสงครามเวียดนาม (Vietnam War)
ช่วงทศวรรษที่ 1960 และทศวรรษท1970 ได้เกิดขบวนการสันติภาพนานาชาติในกลุ่มประชาชนไปทั่วโลก มีการต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และมีการเจรจาลดอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาแทนที่ ด้วยการประท้วงต่อต้านสงครามอย่างใหญ่โต (large anti-war protests)
ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ทั้งอเมริกาและโซเวียต ได้เริ่มต้นเจรจาทำข้อตกลงสันติภาพและความมั่นคงด้วยการจำกัดอาวุธ (Strategic Arms Limitation Talks) ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามยุทธศาสตร์ต่อต้านโซเวียต
แต่ข้อตกลงได้พังทลายลงในช่วงปลายทศวรรษเมื่อโซเวียตได้ใช้กำลังบุกอาฟกานิสถานเมื่อปีค.ศ. 1979 (Soviet-Afgan War) ดังนั้น จึงทำให้ช่วงทศวรรษที่ 1980 กลายเป็นช่วงแห่งความตึงเครียดอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 ผู้นำคนใหม่ของโซเวียต คือ มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ได้ใช้นโยบายในการปฏิรูปประเทศไปสู่การมีเสรีภาพมากขึ้นทั้งด้านการเมืองที่เรียกว่า กลาสนอสต์ (glasnost) เมื่อปีค.ศ.1985 และฬฯด้านเศรษฐกิจที่เรีกว่า เปเรสทรอยกา (perestroika) เมื่อปีค.ศ.1987 และได้ยุติการบุกรุกอาฟกานิสถาน
ได้มีการเรียกร้องอำนาจอธิปไตยในยุโรปตะวันออกมากขึ้น และกอร์บาชอฟได้ปฏิเสธการส่งทหารไปช่วยรัฐบาลของประเทศเหล่านั้น ดังนั้น จึงทำให้เกิดคลื่นการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกอย่างสันติ มียกเว้นเฉพาะประเทศโรมาเนียที่ได้ใช้ความรุนแรง
แม้ในสหภาพโซเวียตเอง พรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่อาจจะคุมสถานการณ์ในประเทศได้อีกต่อไป จนมีการรัฐประหารที่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ (abortive coup attempt) เมื่่อเดือนสิงหาคม 1991 เหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การล่มสลายอย่างเป็นทางการของสหภาพโซเวียตเมื่อเดือนธันวาคม 1991
ผลจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตดังกล่าวได้นำไปสู่การประกาศเอกราชของหลายประเทศของสาธารณรัฐที่ขึ้นอยู่กับสหภาพโซเวียต และการล่มสลายของการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ทั่วทวีปเอเชียและอาฟริกา ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา ( ประเทศเหล่านี้ได้แก่ประเทศที่ตั้งอยู่รายล้อมสหพันธ์รัสเซียในปัจจุบัน)
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ก็ได้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ของประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) หรืออดีตสหภาพโซเวียต กับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรกับจีน ในยุคศตวรรษที่ 21 ชึ่งน่าจะเป็นสงครามเย็นครั้งที่ 2 (Second Cold War)
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสงครามเย็น กรุณาดูได้ในเว็บไซต์ข้างล่างนี้
https://en.wikipedia.org/wiki/Cold_War
4.รัฐไทยกับสงครามเย็น
ในช่วงของการเกิดสงครามเย็น ระหว่างปีค.ศ.1947-1991 ประเทศไทยของเราก็ได้รับผลกระทบจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างค่ายโลกเสรีซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกและยุโรปตะวันตก และค่ายโลกคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์ พอสรุปเหตุการณ์สำคัญ ๆ ได้ดังนี้
4.2 รัฐไทยกับสงครามเย็นภายในประเทศ
ภายหลังเหมา เจ๋อ ตุง สามารถพามวลชนก่อการปฏิวัติเอาชนะรัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้การนำของเจียงไคเช็ค จนทำให้เจียง ไคเช็ก ต้องทิ้งแผ่นดินใหญ่จีนลงไปทางใต้ตั้งมั่นอยู่ที่ไต้หวัน เมื่อปีค.ศ.1949 หรือพ.ศ.2492 หลังจากนั้น ได้มีการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) โดยเน้นการเคลื่อนไหวในพื้นที่ชนบท ตามยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองของเหมา เจ๋อ ตุง ทำให้รัฐบาลไทยนับตั้งแต่ยุคสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ทำการต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อการร้าคอมมิวนิสต์ (ผกค.) อย่างจริงจังมาโดยตลอดภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา และมาประสบผลสำเร็จในยุคพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงประสบผลสำเร็จด้วยนโนบายการเมืองนำหน้าการทหารตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 โดยบรรดา ผกค. ได้ยอมวางอาวุธออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เหตุการณ์จึงได้สงบลงในปีพ.ศ.2525

อนึ่ง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีนคอมมิวนิสต์เป็นหลัก
4.2 รัฐไทยกับสงครามเวียดนาม 20 ปี พ.ศ.2498-2518 (1955-1975)
สงครามเวียดนามเป็นสงครามเย็นที่เกิดขึ้นใกล้ประเทศไทย เป็นสงครามระหว่างเวียดนามใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร และเวียดนามเหนือซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตเป็นหลัก ประเทศไทยได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนามในสองลักษณะ คือ
การตั้งฐานทัพในประเทศไทย
ประเทศไทยในยอมให้อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพอากาศในไทยช่วงปีพ.ศ.2504-2518 เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการโจมตีประเทศเวียดนามเหนือ คาดว่า ประมาณร้อยละ 80 ของการทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือมาจากฐานทัพอากาศในประเทศไทย โดยมีจำนวนทหารอเมริกันภาคพื้นดินสูงสุดในปีพ.ศ.2511 จำนวน 11,494 คน และทหารอากาศจำนวนสูงสุดในปีพ.ศ.2512 จำนวน 33,500 คน และมีเครื่องบินสหรัฐในไทยในปีพ.ศ.2512 ประมาณ 600 เครื่อง นับเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารที่ใหญ่มาก และใหญ่กว่าฐานปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามเสียอีก
สำหรับรายชื่อฐานทัพอากาศในไทยที่ยินยอมให้สหรัฐตั้งเป็นฐานปฏิบัติการในสงครามเวียดนาม ได้แก่ ฐานทัพอากาศดอนเมือง ฐานทัพอากาศโคราช ฐานทัพเรือนครพนม ฐานทัพอากาศตาคลี สนามบินทหารเรืออู่ตะเภา ฐานทัพอากาศอุบล และฐานทัพอากาศอุดร
หลังจากกรุงไซ่ง่อนแตกเมื่อปีพ.ศ.2518 สหรัฐได้ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2518 ถอนกำลังพลทั้งหมดออกไปจากไทยภายใน 12 เดือน ประกอบด้วย ทหารจำนวน 28,000 นาย และเครื่องบินจำนวน 300 เครื่อง
(th.wikipedia.org/wiki/กองทัพอากาศสหรัฐในประเทศไทย)
การส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม
ไทยในฐานะประเทศพันธมิตรของอเมริกา ได้ส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเวียดนามในช่วงปี พ.ศ.2510-2515 ณ ค่ายเบียร์แคต เบียนฮหว่า โดยปีพ.ศ.2510 ส่งกรมทหารอาสาสมัคร จงอางศึก และปีพ.ศ.2511 ส่งกองพลทหารอาสาสมัคร เสือดำ รวมทหารไทยที่ส่งไปช่วยรบที่เวียดนาม จำนวน 40,000 คน มีทหารไทยตาย 351 คน และบาดเจ็บ 1,358 คน (th.wikipedia.org/wiki/ประเทศไทยในสงครามเวียดนาม)
5.สรุป
รัฐไทยได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามเย็น 2 ลักษณะ คือ
สงครามเย็นภายในประเทศ ประเทศไทยได้ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย (พคท.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นเวลาหลายปีนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2504 จนกระทั่งปีพ.ศ.2525 การต่อสู้จึงได้ยุติลงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ทีเปิดโอกาสให้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ไทยยอมวางอาวุธ และมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
สงครามเวียดนาม ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในสงครามเวียดนาม 2 ประการ คือ ยอมให้สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพอากาศจำนวน 7 แห่ง เพื่อนำระเบิดไปทิ้งในเขตประเทศเวียดนามเหนือ และส่งทหารไทยจำนวน 40,000 นาย ไปร่วมรบในสงครมเวียดนาม ร่วมกับทหารอเมริกัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเวียดนามใต้
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม โปรดติดตามได้ใน คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณวัชรินทร์ (นามสมสมุติ) ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของผมในการเรียนปริญญาโทของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเป็นผู้ทำคะแนนได้สูงสุดตลอดกาลในบรรดาผู้ที่เคยเป็นลูกศิษย์ปริญญาโทของผม

“สวัสดี คุณวัชรินทร์ เราไม่ได้พบกันนาน สบายดีหรือ วันนี้อาจารย์อยากรบกวนเวลามาสนทนากันเกี่ยวกับเรืองสงครามเย็นหน่อย ทราบว่า คุณวัชรินทร์เคยมีประสบการณ์ในการทำสงครามเย็นอยู่บ้างไม่ใช่เหรอ ” ผมทักทายคุณวัชรินทร์ด้วยความคิดถึง
“สวัสดีครับ อาจารย์ นึกว่าอาจารย์ลืมผมเสียแล้ว ผมก็ได้แต่รอว่า เมื่อใดจะเชิญผมมาคุยเสียที ” คุณวัชรินทร์พูดจาตัดพ้อผมเล็กน้อย
“ คือการเชิญใครมาคุยนี่ อาจารย์ก็ต้องพิจารณาดูว่า ท่านใดจะเหมาะสมกับการคุยกันในเรื่องใด อย่างเรื่องนี้ อาจารย์คิดว่า น่าจะเหมาะกับคุณวัชรินทร์แน่ ขอเริ่มเรื่องเลยนะ
ประเด็นคือ คำว่า สงครามเย็นนี่ เย็นสมชื่อหรือเปล่า ในมุมมองของคุณวัชรินทร์คิดว่า ทำไมไทยเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามเย็น เราไม่เข้าไปเกี่ยวงข้องไม่ได้หรือ” ผมยิงคำถามรวดเดียวเลย
“ ในความเห็นผมนะ สงครามเย็น เย็นแต่ชื่อ แต่ของจริงร้อน เพราะสงครามเย็นเป็นสงครามที่ไม่มีการประกาศว่าจะทำสงครามกัน แต่ได้มีการต่อสู้ สู้รบกันในหลายลักษณะ ทั้งในด้านการโฆษณาชวนเชื่อ การทำสงครามจิตวิทยา แย่งชิงมวลชนกัน มีการสู้รบแบบกองโจร บางครั้งก็เป็นสงครามขนาดใหญ่ อย่างสงครามเวียดนาม มีการใช้เครื่องบิน บี 52 ขนระเบิดไปทิ้งในเวียดนามเหนือเป็นเวลาหลายปี
อเมริกาทำขนาดนั้นก็ยังเอาชนะในสงครามเวียดนามไม่ได้เลย ” คุณวัชรินทร์ตอบแบบร่ายยาวพร้อมกับถอนหายใจเล็กน้อย
“ ถ้าเราจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามเย็น จะทำได้ไหม คุณวัชรินทร์ยังไม่ได้ตอบประเด็นนี้” ผมทวงคำตอบ
“ ผมเข้าใจว่า เป็นเรื่องของสถานการรณ์ของประเทศหรือของภูมิภาคหรือของโลกในแต่ละช่วงว่าเป็นอย่างไร เราคงจะไปวางแผนหรือกำหนดล่วงหน้าไม่ได้” คุณวัชรินทร์ตอบสั้น ๆ
“คุณวัชรินทร์คิดว่า การจะแพ้ชนะกันในสงครามเย็น อยู่ที่อะไร ” ผมถามสั้น ๆ แต่ตรงประเด็น
“ ผมคิดว่า อยู่ที่ว่าฝ่ายใดจะดึงประชาชนหรือมวลชนให้มาอยู่ฝ่ายตนได้มากกว่า เพราะว่าจริง ๆ แล้ว ต่อให้เรามีอาวุธที่เหนือกว่า หากประชาชนไม่เอาด้วยกับเราก็ยาก เพราะสงครามเย็นเป็นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน
อย่างสงครามเวียดนาม อเมริกาที่ว่าแน่ เพราะเพิ่งเป็นผู้พิชิตสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังไม่สามารถเอาชนะเวียดนามเหนือได้เลย ทั้ง ๆ ทีมีอาวุธเหนือกว่ากันตั้งเยอะ ” คุณวัชรินทร์พูดเปรย ๆ
“ อยากให้คุณวัชรินทร์พูดให้ชัดเจนได้ไหม ” ผมรบเร้าต่อเล็กน้อย
“ ได้อาจารย์ คือ ผู้นำเวียดนามเหนือในขณะนั้น คือ โฮจิมินห์ เป็นคนที่ชาวเวียดนามเชื่อว่า ได้อุทิศตนและเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองของตนจริง ประชาชนยอมรับและศรัทธา อีกอย่างคนเวียดนามเขาเชื่อว่า อเมริกาเป็นมหาอำนาจที่เข้ามารังแกหรือข่มเหงพวกเขาในประเทศของเขา พวกเขายอมไม่ได้ ” คุณวัชรินทร์ตอบตามหลักภาวะผู้นำ
“ แสดงว่า ในการต่อสู้กับชาติมหาอำนาจที่เข้ามารุกรานดินแดนเรา หากเราได้ผู้นำที่ดี ประชาชนมีความศรัทธาในตัวผู้นำ โอกาสที่จะเอาชนะได้ก็มีอยู่ไม่น้อยใช่ไหม ” ผมถามแบบอยากได้ข้อสรุป
“ แน่นอนอาจารย์ ผมเคยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ของไทยบ้าง ของต่างประเทศบ้าง พบว่า ประเทศใดได้ผู้นำเก่งและดี มักจะสามารถนำชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ทั้งนั้น แต่ถ้าได้ผู้นำไม่ดี ก็อาจจะพาชาติล่มจมได้ เพราะผู้นำคือคนที่พาคนอื่นทำไงอาจารย์ พาทำดีก็ดี พาทำชั่วก็ชั่ว” คุณวัชรินทร์ตอบตามประสบการณ์ที่มองเห็นและตามความรู้ที่ได้ศึกษามา
“ดีมาก คุณวัชรินทร์ ถ้าคะแนนเต็มร้อย อาจารย์ให้คะแนน 120 เลย วันนี้คงรบกวนเท่านี้ พบกันใหม่คราวหน้านะ ” ผมกล่าวขอบคุณพร้อมยุติการสนทนา
“ด้วยความยินดีครับ อาจารย์ ผมขอแถมท้ายอีกนิดหนึ่ง นวนิยายและภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ เป็นเรื่องราวของสายลับ 007 ของหน่วยสืบราชการลับอังกฤษในยุคสงครามเย็นนี่เอง ” คุณวัชรินทร์อดกล่าวทิ้งท้ายด้วยความชื่นชมไม่ได้
ดร.ชา
30/10/20
ขอบคุณ คุณวัชรินทร์ที่มาแบ่งปันความรู้ค่ะ
อาจารย์คะ คุณวัชรินทร์เป็นอดีตนักศึกษาปริญญาโท ศูนย์ไหนคะ ขอบคุณค่ะ
อาจารย์คะ เขมรแดง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามเย็น แล้วเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้อย่างไร และได้ยุติลงเมื่อไหร่คะ ขอบคุณค่ะ
เขมรแดง เคยปกครองกัมพุชา 4 ปี ระหว่างปีพ.ศ. 2518-2522 ได้ปกครองเขมรด้วยความโหดร้ายทารุณ ฆ๋าผู้เห็นต่างร่วม 3 ล้านคน เกือบครึ่งของประชากรเขมรในยุคนั้น ได้หมดอำนาจลงเพราะเวียดนามส่งทองทัพบุกเขมร หลังจากนั้น ก็เป็นยุคสมเด็จฮุนเซนปกครองเขมรมาจนกระทั่งทุกวันนี้
อาจารย์คะ ฮุนเซนปกครองกัมพูชามาอย่างยาวนาน เพราะเหตุใด ประเทศยังไม่ก้าวหน้า ไม่มีการเปลี่ยนผู้นำ แล้วจีนทำไมจึงก้าวหน้าอย่างรวดเร็วคะ ขอบคุณค่ะ
ขอตอบสั้น ๆ ก็แล้วกันว่า
ข้อแรก การที่ฮุนเซนปกครองเขมรได้นาน แสดงว่า เขาต้องมีผลงานถูกใจประชาชน ในขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะโค้นล้มเขาได้
ข้อสอง การที่จีนคอมมิวนิสต์เจริญเร็ว ก็เพราะยอมรับระบบทุนนิยม ที่จีนเคยเคยมองว่าเป็นศัตรูของระบบคอมมมิวนิสต์มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประทศ
ยอมรับนักลงทุนจากทั่วโลก ประกอบกับจีนมีประชากรมาก ทำให้มีแรงงานเหลือเฟือ ราคาค่าแรงไม่สูง ตรงกับความต้องการของนักลงทุนทั่วโลกที่ประสบปัญหาค่าแรงงานในประเทศของตนเองสูง
จึงแห่เข้าไปลงทุนในจีนอย่างล้นหลาม ทำให้จีนสามารพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และที่สำคัญมากคือ เขาไม่มีปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง และไม่มีปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล
ขอตอบสั้น ๆ ดังนี้
ขัอแรก ฮุนเซนครองอำนาจได้ยาวนาน เพราะมีผลงานถูกใจประชาชน และฝ่ายค้านอ่อนแอมาก
ข้อสอง จีนเจริญเร็วในช่วงหลัง เพราะเติ้งเสี่ยว ผิง ยอมรับระบบทุนนิยมที่จีนเคยด่าว่าเป็นศัตรูของคอมมิวนิสต์ จีนมีประชากรมาก ทำให้ค่าแรงถูก ถูกใจนักลงทุนจากทั่วโลก และที่สำคัญ คือ จีนมีเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพด้วย การบริหารประเทศจึงไม่มีอุปสรรคมาก
ขอตอบสัน ๆ ดังนี้
ข้อแรก ฮูนเซน ครองอำนาจได้นานเพราะเหตุ 2 ประการ คือ มีผลงานถูกใจประช่าชน และฝ่ายค้านอ่อนแอมาก จนไม่มีทางจะโค่นล้มฮุนเซนได้
ข้อสอง จีนเจริญได้เร็ว เพราะเหตุ 3 ประการ คือ จีนยุคเติ้ง เสี่ยวผิงยอมรับระบบทุนนิยมที่คนเคยด่าว่าเป็นศัตรูร้ายของคอมมิวนสิสต์ จีนมีประชากรมาก ทำให้มีแรงงานมาก ราคาถูก ถูกใจนักลงทุนจากทั่วโลก
และประการสุดท้าย คือจีนมีเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพด้วย การบริหารประเทศจึงราบรืน ไม่มีการขัดแข้งขัดขาเหมือนบางประเทศได้เณ