ในบทความก่อนหน้านี้ คือ บทความ (2)ได้เล่าถึงรูปแบบการปกครองของ อังกฤษ และได้เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างไปจากรูปแบบการปกครองของประเทศไทย
สำหรับบทความ (3) นี้เป็นบทความต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว โดยจะกล่าวถึงระบบตำรวจของประเทศอังกฤษ แยกออกเป็น 3 หัวข้อ คือระบบกฎหมายของประเทศอังกฤษ ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษ สรุปและข้อคิดเห็น
Table of Contents
1.ระบบกฎหมายของประเทศอังกฤษ
ด้วยเหตุผลความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นรัฐเดี่ยว แต่มีลักษณะบางอย่างคล้ายกับเป็นรัฐรวม กล่าวคือ นอกจากมีรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรแล้ว ยังมีสภาแคว้นเวลส์ สภาแคว้นสก็อตแลนด์ และสภาแคว้นไอร์แลนด์เหนือ และยิ่งกว่านั้น ประเทศอังกฤษเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่มีรัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Unwritten Constitution)
และด้วยเหตุผลความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ได้ทำให้ระบบกฎหมายของประเทศอังกฤษ แบ่งออกเป็น ๓ ระบบด้วยเช่นกัน คือ
❶ระบบกฎหมายอังกฤษ (English Law) ใช้บังคับในอังกฤษและแคว้นเวลส์ (England and Wales)
❷ ระบบกฎหมายสก็อต (Scot Law) ใช้บังคับในแคว้นสก็อตแลนด์ อันเป็นผลมาจาก Acts of Union 1707 ทำให้เกิดการรวมสก็อตแลนด์เข้าเป็นบริเตนใหญ่ (Great Britain) แต่ยังคงยินยอมให้มีระบบกฎหมายสก็อตแยกออกมาต่างหาก
❸ ระบบกฎหมายไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) ใช้บังคับในแคว้นไอร์แลนด์เหนือ อันเป็นผลมาจาก Acts of Union 1800 ทำให้มีการรวม ไอร์แลนด์เหนือเข้ากับบริเตนใหญ่ แต่ยังคงให้แคว้นไอร์แลนด์เหนือมีระบบกฎหมายของตนเองต่อไป
ในส่วนของระบบศาล ศาลสูงแห่งสหราชอาณาจักร The Supreme Court of the United Kingdom) เพิ่งมีการจัดตั้งเมื่อปี 2009 ทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดเพื่อแทนที่คณะกรรมาธิการพิจารณาอุทธรณ์ของสภาขุนนาง (Appellate Committee of the House of Lords) มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกิดขึ้นในอังกฤษ แคว้นเวลส์ และแคว้นไอร์แลนด์เหนือ แต่ถ้าเป็นคดีที่เกิดขึ้นตามกฎหมายสก็อตแลนด์ จะมีอำนาจพิจารณาเฉพาะคดีแพ่ง ส่วนคดีอาญาจะเป็นอำนาจของศาลสก็อตแลนด์เอง
นอกจากนี้ ยังมีศาลสูงสุดที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์คดีที่เกิดขึ้นในประเทศเครือจักรภพอังกฤษด้วย เรียกชื่อว่า Judicial Committee of the Pricy Council
(Wikipedia, Law of the United Kingdom, 12nd July 2020)
2.ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษ
แม้ประเทศอังกฤษเป็นรัฐเดี่ยว แต่ก็ไม่ใช้ระบบตำรวจแห่งชาติ แต่ใช้ระบบตำรวจท้องถิ่นเป็นหลักภายใต้ระบบไตรภาคี
2.1 ระบบไตรภาคี (Tripartite System )
แม้ประเทศอังกฤษเป็นประเทศรัฐเดี่ยว แต่ก็ไม่มีระบบตำรวจแห่งชาติ ในทางตรงข้าม เป็นระบบตำรวจที่ยึดติดอำนาจความยินยอมของประชาชนเป็นหลัก ส่วนการควบคุมตำรวจนั้น ใช้ระบบการถ่วงดุลสามฝ่าย ( ( Tripartite system of control for the police) ประกอบด้วย รัฐบาล (central government) ผ่านทางรัฐมนตรีมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local government) ซึ่งใช้อำนาจผ่านคณะกรรมการตำรวจของท้องถิ่น (police authorities) และองค์กรตำรวจเอง (police organization) โดยรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดตั้งงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในกิจการตำรวจ
การจัดระบบตำรวจของประเทศอังกฤษมีความสัมพันธ์กับการจัดรูปแบบการปกครองและระบบกฎหมายของประเทศ กล่าวคือ ประเทศอังกฤษเป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาคเหมือนประเทศรัฐเดี่ยวโดยทั่วไป คงมีเฉพาะการปกครองส่วนกลางและการปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น การจัดระบบตำรวจจึงถือหลักการถ่วงดุลระหว่าง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล องค์กรตำรวจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงโครงสร้างระบบไตรภาคีในการบริหารงานระบบตำรวจของอังกฤษและเวลส์ เพื่อให้มองเห็นภาพระบบดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น

2.1.1 โครงสร้างระบบไตรภาคีของอังกฤษและแคว้นเวลส์ (Tripartite Structure of England and Wales)
(House of Commons, The tripartite structure, www.parliament.uk, 11th July 2020)

ดังได้กล่าวมาแล้ว่า อังกฤษและแคว้นเวลส์ใช้ระบบกฎหมายเดียวกัน จึงทำให้มีระบบตำรวจเดียวกันด้วย กล่าวคือ นับแต่ปี 1964 ตามกฎหมายตำรวจ 1964 (Police Act 1964) กองกำลังตำรวจในอังกฤษและแคว้นเวลส์แบ่งออกเป็น 43 เขตซึ่งอิสระต่อกัน (independent forces) แต่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงมหาดไทย (Home Office directive) โดยโครงสร้างระบบไตรภาคีในการบริหารงานตำรวจ ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือรัฐมนตรีมหาดไทย (Home Secretary) หัวหน้าตำรวจประจำเขต (Chief Constable) และคณะกรรมการตำรวจของท้องถิ่น (Police Authority) ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากสภาท้องถิ่น (Local Council) จำนวน 9 คน
❶รัฐมนตรีมหาดไทยรับผิดชอบต่อสภา ในเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงานของตำรวจ รวมทั้งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติงานของตำรวจ
❷หัวหน้าตำรวจในแต่ละเขตรับผิดชอบในเรื่องประสิทธิผลในการปฏิบัติงานของตำรวจในเขต
❸คณะกรรมการตำรวจของท้องถิ่น เป็นผู้แต่งตั้งหัวหน้าตำรวจ และนายตำรวจอาวุโสในเขต และเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์หรือทิศทางในการปฏิบัติงานของตำรวจให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น

ต่อมาได้มีกฎหมายตำรวจปี 1996 (Police Act 1996) ได้โอนอำนาจในการบริหารงบประมาณจากคณะกรรมการตำรวจของท้องถิ่นให้เป็นอำนาจของหัวหน้าตำรวจ และได้ให้อำนาจรัฐมนตรีมหาดไทยในการขอให้คณะกรรมการตำรวจของท้องถิ่นสั่งให้หัวหน้าตำรวจพ้นตำแหน่งได้ และยิ่งกว่านั้น ตามกฎหมายตำรวจปี 2002 (Police Act 200) ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีมหาดไทยสั่งการตำรวจได้โดยตรงมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษมีแนวโน้มไปในทิศทางที่จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจและบทบาทในการสั่งงานตำรวจได้มากขึ้น โดยผ่านทางรัฐมนตรีมหาดไทย
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากภัยของการก่อการร้ายสากลที่เริ่มต้นขึ้นอย่างชัดเจนจากการถล่มเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 (พ.ศ.2544)
ดังนั้น ประเทศอังกฤษจึงต้องปรับกลไกอำนาจในการสั่งและประสานงานตำรวจให้สามารถรับมือกับการก่อการร้ายสากลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการเผชิญเหตุ เพราะหากยังคงใช้กลไกเดิมที่อำนาจตัดใจส่วนใหญ่อยู่ที่ท้องถิ่น การแก้ปัญหาภัยการก่อการร้ายอาจจะไม่ทันการ
เมื่อเล่าถึงเรื่องนี้ ผมขอขยายความเพิ่มเติมว่า หลังจากการถล่มเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ ณ กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาได้ยกเครื่องระบบการรักษาความมั่นคงของประเทศใหม่เพื่อให้สามารถตอบโต้การก่อการร้ายสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการจัดตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่เพื่อรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง คือ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเมื่อปี ค.ศ.2002 โดยเป็นกระทรวงที่มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ราว 240,000 คน นับเป็นกระทรวงที่มีอัตรากำลังมากรองลงมาจากกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความระบบตำรวจและรูปแบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา
2.1.2 ระบบตำรวจแคว้นสก็อตแลนด์ และระบบตำรวจแคว้นไอร์แลนด์
อยู่ในอำนาจของสภาแห่งแคว้นสก็อตแลนด์ และสภาแห่งแคว้นไอร์แลนด์เหนือ โดยใช้ระบบไตรภาคีในทำนองเดียวกันกับระบบไตรภาคีของอังกฤษและแคว้นเวลส์
2.2 ประเภทของตำรวจในประเทศอังกฤษ

ตำรวจในสหราชอาณาจักรอาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้ คือ
❶ ตำรวจเขตพื้นที่ Territorial police services) ซึ่งเป็นตำรวจส่วนใหญ่ของประเทศ โดยแบ่งเขตพื้นที่ในการดูแลของตำรวจออกเป็น ๔๕ เขตในจำนวนนี้ รวมถึงตำรวจเขตพื้นที่มหานครลอนดอนด้วย (Greater London)
❷ หน่วยตำรวจระดับชาติ (National law enforcement) ได้แก่
หน่วยอาชญากรรมแห่งชาติ (National crime agency) มีอำนาจในการป้องกัน.เหนือ จะต้องทำความตกลงกันก่อน
หน่วยตำรวจขนส่งแห่งบริเตน (British Transport Police)
❸ ตำรวจเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous police services) เป็นตำรวจที่มีอำนาจหน้าที่นอกเหนือไปจากตำรวจสองประเภทแรก เช่น ตำรวจดูแลสวนสาธารณะ
(Wikipedia, Law Enforcement in the United Kingdom, 11th July 2020)
3.สรุปและข้อคิดเห็น
ในบทความ (3) เรื่องเล่า ระบบตำรวจและรูปแบบการปกครองประเทศของประเทศที่พัฒนาแล้ว กรณีประเทศอังกฤษ ได้ชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า แม้ประเทศอังกฤษเป็นรัฐเดี่ยว แต่มีระบบกฎหมายอยู่ถึง 3 ระบบ คือ ระบบกฎหมายอังกฤษและเวลส์ ระบบกฎหมายสก็อต และระบบกฎหมายไอร์แลนด์เหนือ ทั้งนี้เป็นผลมาจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของประเทศ
ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ได้ทำให้ประเทศอังกฤษมีระบบตำรวจอยู่ 3 ระบบด้วยเช่นกัน แต่ทั้งสามระบบก็มีความละม้ายคล้ายกัน แตกต่างกันเพียงในรายละเอียด
การที่ประเทศอังกฤษเป็นรัฐเดี่ยว ไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค มีแต่การปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น การวางระบบตำรวจของประเทศอังกฤษจึงได้วางให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองประเทศ คือ ให้ใช้ระบบตำรวจท้องถิ่นเป็นหลัก แต่มิได้หมายความว่า ส่วนกลางหรือรัฐบาลไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ หากปล่อยให้ท้องถิ่นดำเนินการโดยลำพัง มาตรฐานในการปฏิบัติงานของตำรวจแต่ละท้องถิ่นอาจจะแตกต่างกัน และถ้ามีเหตุการณ์ร้ายแรงเกี่ยวข้องกับหลายพื้นที่หรือทั่วประทศ จะไม่มีผู้ประสานหรือสั่งการได้อย่างทันท่วงที
ด้วยเหตุนี้ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษ จึงใช้ระบบถ่วงดุลไตรภาคี ระหว่างรัฐบาลผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สภาท้องถิ่นที่เขตตำรวจนั้นสังกัดอยู่ โดยผ่านทางคณะกรรมการตำรวจของท้องถิ่น และองค์กรตำรวจภายใต้การนำของหัวหน้าตำรวจประจำเขตพื้นที่ต่าง ๆ
หวังว่า ท่านผู้อ่านคงพอจะเข้าใจระบบตำรวจของประเทศอังกฤษ และคงพอจะเข้าใจว่า ระบบตำรวจของประเทศอังกฤษแตกต่างไปจากระบบตำรวจของประเทศไทยอย่างไร
หากบทความนี้ถูกใจท่าน และท่านเห็นว่า น่าจะเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ทราบ กรุณากดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม(Subscribe) หรือกดคอมเมนต์ด้วย จักขอบคุณยิ่ง
ขอบคุณทุกท่าน พบกันใหม่ในบทความต่อไป ซึ่งเป็นบทความสุดท้ายที่ว่าด้วยระบบตำรวจและรูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษ
ดร.ชา
13/07/2020
ระบบถ่วงดุลอำนาจตำรวจแบบไตรภาคีของประเทศอังกฤษ ดูๆ แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะมีอำนาจมากกว่า ฝ่ายหัวหน้าตำรวจประจำเขต และฝ่ายคณะกรรมการตำรวจของท้องถิ่น เพราะรัฐมนตรีมหาดไทยมีอำนาจที่เหนือกว่า และสั่งการตำรวจ ได้โดยตรง ครับ
คำว่า ถ่วงดุลหมายความว่า มีอำนาจอยู่ 3 ฝ่าย แต่ละฝ่ายก็มีอำนาจในส่วนของตน ไม่อาจใช้อำนาจตามลำพังได้ รัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษ ไม่ใช่ผู้บังคับบัฐชาตำรวจ แต่มีอำนาจในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐในการกำกับดูแลท้องถิ่น หากท้องถิ่นมีความเห็นแตกต่างก็อาจจะโต้แย้งได้ แต่ตำรวจระบบอังกฤษ เป็นตำรวจสังกัดท้องถิ่น กินเงินเดือนจากงบประมาณของท้องถิ่น ดังนั้น ท้องถิ่นจึงมีอำนาจเหนือตำรวจ
แต่การที่รัฐสภาได้ออกกฎหมายในระยะหลังให้อำนาจรัฐมนตรีมหาดไทยสั่งการตำรวจได้โดยตรงมากขึ้น ก็เพื่อให้สามารถสั่งการในการแก้ปัญหาเร่งด่วนหรือเฉพาะหน้าของประเทศได้ทันท่วงที เพราะถ้าสั่งผ่านท้องถิ่นแล้วให้ท้องถิ่นไปสั่งตำรวจต่ออีกที อาจจะชักช้าไม่ทันการ
ที่จริงตำรวจอยู่มหสดไทยถูกต้องสุดๆ เลยค่ะ เหมือน มทสมัยก่งตำววจขึ้นกับ มอ ดี้ดี
ต้องรออ่านให้จบทุกประเทศที่เป็นแม่แบบก่อน อาจารย์รับรองว่า จะได้คำตอบด้วยตัวคุณบุญญสรณ์เอง