บทความ (3) การฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรกของผม โดยจะเล่าเรื่อง สถานที่ฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรก อาจารย์สอนการฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรก วิธีการฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรก สรุป และปิดท้ายด้วย คุยกับดร.ชา อนึ่ง บทความก่อนหน้านี้ คือ บทความ (2) ได้เล่าถึงหลักธรรมเบื้องต้นที่ควรทราบก่อนปฏิบัติธรรม
Table of Contents
1.คำนำ
มีคำสุภาษิตฝรั่งอยู่บทหนึ่งว่า “ การเริ่มต้นที่ดีเท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง” (Well begun is half done.)
ผมเองชอบสุภาษิตบทนี้มาก และยึดถือเป็นข้อคิดตลอดมา รวมทั้งการฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรกของผม
การเริ่มต้นที่ดี ย่อมหมายถึง ก่อนจะลงมือฝึกปฏิบัติธรรมก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้ ได้แก่ การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหลักและวิธีการฝึกการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มิใช่ไปนึกคิดเอาเองว่า พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้อย่างนั้น ทั้ง ๆ ทีไม่เคยศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์
2. สถานที่ฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรก: โรงแรมภูทอง
ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยหรืองงไม่น้อยว่า ทำไมผมจึงกล่าวว่า สถานที่ฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรกของผม คือโรงแรมภูทอง โรงแรมภูทอง อยู่ที่ไหน และทำไมผมจึงเริ่มต้นการฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรกที่โรงแรม แทนที่จะเป็นวัดวาอารามหรือสถานที่ปฏิบัติธรรมสักแห่งหนึ่ง
ผมได้เล่าให้ท่านฟังมาแล้วในบทความ (1) เรื่องเล่าเข้าพรรษา ฯ ว่าสาเหตุที่เริ่มต้นให้ความสนใจจะศึกษาการปฏิบัติธรรม ก็เนื่องจากผมเริ่มมองเห็นความไม่เทียงแท้ของชีวิต กล่าวคือ เมื่อต้นปีพ.ศ.2522 กรมการปกครองได้มีคำสั่งแต่งตั้งและโยกย้ายผมจากตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโส อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนคราชสีมา ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิ ด้วยอายุราชการเพียง 5 ปี ในขณะที่มีอายุตัวแค่ 28 ปี นับเป็นผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นที่หนุ่มที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น
แต่แล้วก็เหมือนมีฟ้าผ่าลงมาโดยไม่มีฝนตกเลย ผมดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิได้เพียงเดือนเดียว จังหวัดชัยภูมิเห็นว่า ผมยังมีประสบการณ์ในการรับราชการน้อยมาก จึงออกคำสั่งให้ผมย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโส อำเภอภูเขียว เมื่อเดือนมีนาคม 2522 และได้แต่งตั้งจ่าจังหวัดชัยภูมิให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิ พร้อมกับโยกปลัดอำเภออาวุโส อำเภอภูเขียว ขึ้นดำรงตำแหน่งจ่าจังหวัดชัยภูมิ
การที่ผมต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโส อำเภอภูเขียวอย่างคาดไม่ถึง ทำให้ผมรู้สึกผิดหวังในชีวิตไม่น้อย เพราะเท่ากับเป็นการดับความหวังของผมในการที่จะมีชีวิตราชการที่รุ่งโรงจน์ลงทันใด
เมื่อได้เดินทางไปรับตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโส อำเภอภูเขียว เป็นช่วงเวลาที่ท่านนายอำเภอ โกวิท รามณัฐ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอภูเขียว ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งนายอำเภอระดับ 7 คนแรกของอำเภอภูเขียว เนื่องจากในยุคนั้น นายอำเภอเพิ่งจะเริ่มต้นปรับเป็นระดับ 7 ปกตินายอำเภอเมือง และนายอำเภอชั้นหนึ่งของแต่ละจังหวัดจะได้รับการปรับระดับตำแหน่งขึ้นก่อนอำเภออื่น ๆ
ต่อมาท่านนายอำเภอโกวิท รามณัฐ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง กรมการปกครองจึงได้แต่งตั้งนายเชื่อม น้อยชูชื่น ไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอภูเขียวแทน
การที่่อำเภอภูเขียว เป็นอำเภอที่มีศาลจังหวัดภูเขียวจังหวัดตั้งอยู่ จึงทำให้อำเภอภูเขียวมีฐานะเป็นอำเภอชั้นหนึ่งคู่กับอำเภอเมืองชัยภูมิตลอดมา
การที่อำเภอภูเขียวเป็นที่ตั้งศาลจังหวัดภูเขียว ทำให้มีตำแหน่งอัยการจังหวัดประจำศาลจังหวัดภูเขียว และช่วงเวลาน้ัน อัยการจังหวัดประจำศาลจังหวัดภูเขียว คือ ท่านบุญร่วม เทียมจันทร์ นักเขียนชื่่อดังคนหนึ่่ง ซึ่งผมได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านบ้างเล็กน้อย
ในช่วงเวลาที่่่ผมได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโส อำเภอภูเขียว ที่ว่าการอำเภอภูเขียว ยังเป็นอาคารไม้หลังเก่ามีอายุร่วม 50-60 ปี ตั้งอยู่ในใจกลางตลาด และอยู่ติดกับโรงพักหรือสถานีตำรวจภูเขียวในปัจจุบัน
เนื่องจากการเดินทางไปรับตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโสในครั้งนั้น เป็นช่วงเวลาที่ผมยังโสดอยู่ ทรัพย์สินอะไรก็ยังไม่มี ข้าวของก็มีแค่เสื้อผ้า และของใช้ส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ความจำเป็นที่จะต้องมีบ้านพักหลังใหญ่จึงไม่มี อย่าว่าแต่รถยนต์เลย รถจักรยานยนต์ส่วนตัว ผมก็ยังไม่มี
เผอิญว่า ณ ฝั่งตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอภูเขียวในยุคนั้น มีโรงแรมเก่าแก่โรงแรมหนึ่งของอำเภอภูเขียว ชื่อโรงแรมภูทอง และภายใต้โรงแรมก็มีโรงภาพยนตร์อยู่ด้วย มีการฉายภาพยนตร์เป็นระยะ ๆ ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ไทย และบางครั้งก็มีการแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งอยู่บ้าง
เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปทำงาน ผมจึงตัดสินใจพักที่่โรงแรมภูทอง โดยทางโรงแรมได้เอื้อเฟื้อให้ผมชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน เท่ากับอัตราค่าเช่าที่ผมเบิกได้ คือ เดือนละ 500 บาท
ภายในห้องพัก มีเตียงนอนขนาดใหญ่ ขนาดเตียงคู่ และมีพัดลมเพดาน ส่วนห้องน้ำใช้รวมกันนอกห้องพัก นอกจากนี้ ยังมีเก้าอี้รับแขก จำนวน 2 ตัว
ผมเล่ามาให้ท่านผู้อ่านมองเห็นภาพว่า ผมอยู่อาศัยอย่างไร การที่ผมยังไม่มีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัวในเวลานั้น หลังจากเลิกงานแล้ว ผมจึงไม่ได้เดินทางไปไหนมาไหน พอทานข้าวเย็นเสร็จ ผมก็ต้องขลุกอยู่ในห้องพักที่โรงแรม
ห้องพักที่โรงแรมภูทอง อำเภอภูเขียว นี่แหละ คือ สถานที่ฝึกการปฏิบัติธรรมครั้งแรกของผม เพราะผมไม่มีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ใช้ส่วนตัว จึงไม่สะดวกที่จะเดินทางไปฝึกการปฏิบัติที่วัด ซึ่งในเวลานั้น มีวัดหนึ่งในพื้นที่อำเภอภูเขียว มีชื่อเสียงในด้านการสอนปฏิบัติธรรมแนว ยุบหนอ-พองหนอ คือวัดบ้านแก้ง ตำบลบ้านแก้ง หากผมมีความสะดวกในการเดินทางไปวัด วัดดังกล่าวอาจจะเป็นสถานที่ฝึกการปฏิบัติธรรมครั้งแรกของผมก็ได้
3.อาจารย์สอนการฝึกปฏิบัติธรรมคนแรกของผม: พุทธทาสภิกขุ
เมื่อผมเอ่ยคำว่า พุทธทาสภิกขุ คือ อาจารย์สอนการฝึกปฏิบัติธรรมคนแรกของผม หลายท่านอาจจะสงสัยหรืองงว่าเป็นไปได้อย่างไร ชีวิตการฝึกการปฏิบัติธรรมของผมได้เริ่มต้นดีขนาดได้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นอาจารย์สอนเชียวหรือ หากท่านอยากทราบคำตอบ ผมจะเล่าให้ท่านฟังดังนี้

เมื่อเอ่ยชื่อพุทธทาสภิกขุ ชาวพุทธระดับปัญญาชนในยุคสมัยนั้นน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักท่าน เพราะท่านได้แสดงธรรมไว้เป็นจำนวนมาก และได้มีผู้รวบรวมคำเทศนาของท่านจัดพิมพ์เป็นหนังสือธรรมะออกเผยแพร่เป็นจำนวนมากเช่นกัน จนทำให้ท่านได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี 2548 ด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ
พุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์) แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 และมรณภาพวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 ท่านได้นำหลักธรรมจากพระไตรปิฎกมาถ่ายทอดให้พุทธศาสนิกชนเข้าใจได้ง่ายด้วยภาษาร่วมสมัย ดังนั้น ผลงานการเขียนหนังสือธรรมะของท่านจึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มปัญญาชนที่ต้องการศึกษาหลักธรรมของพระพุทธองค์ล้วน ๆ ตลอดจนชาวพุทธทั่วโลก
ผมเองเคยไปกราบและฟังธรรมจากท่านที่วัดสวนโมกขพลาราม จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2518 ในช่วงเข้ารับการอบรมโรงเรียนปลัดอำเภอ รุ่นที่ 15 ของวิทยาลัยการปกครอง และครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2534 ในโอกาสเข้ารับการศึกษาอบรม โรงเรียนนายอำเภอ รุ่นที่ 31 โดยทางวิทยาลัยการปกครองได้จัดเป็นโครงการทัศนศึกษาสี่ภาค รวมทั้งภาคใต้
เล่ามาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านคงจะเริ่มสงสัยว่า ท่านพุทธทาสภิกขุ อยู่ที่สวนโมกขพลาราม วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร (วัดวัดธารน้ำไหล) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนตัวผมในเวลานั้น รับราชการเป็นปลัดอำเภออาวุโส อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ แล้วผมจะเป็นศิษย์ของท่านพุทธทาสภิกขุได้อย่างไร ขี้โม้หรือเปล่า

ท่านอย่าเพิ่งโมโห ความจริงเป็นอย่างนี้ ผมได้ศึกษาหลักและวิธีการปฏิบัติธรรม จากหนังสือสอนวิปัสสนากรรมฐาน อานาปานสติ ที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้เรียบเรียงขึ้น และผมก็ได้นำความรู้ความเข้าใจจากหนังสือเล่มนั้นมาเป็นครูในการฝึกสมถวิปัสสนากรรมฐานเป็นครั้งแรกในชีวิตของผม
ดังนั้น ผมจึงถือว่าท่านพุทธทาสเป็นครูอาจารย์ผู้สอนหลักและวิธีการฝึกการปฏิบัติธรรมคนแรกของผม หากไม่มีหนังสือดังกล่าว ผมอาจจะยังไม่สามารถเริ่มต้นฝึกการปฏิบัติธรรม ณ ช่วงเวลานั้นก็ได้ หวังว่าทุกท่านคงพอเข้าใจนะครับ
4.วิธีฝึกการปฏิบัติธรรมครั้งแรกของผม
ผมได้ใช้เตียงนอนในห้องพัก โรงแรมภูทอง เป็นที่นั่งในการฝึกการปฏิบัติธรรมตามแนวอานาปานสติที่ท่านพุทธทาสได้อธิบายหลักและวิธีการไว้อย่างละเอียด
หลักและวิธีการฝึกอานาปานสติโดยย่อก็คือ ให้เอาสติติดตามลมหายใจเข้า-ออก ตั้งแต่ปลายจมูกขวาไปจนสุดที่หน้าท้องหรือสะดือ และจากหน้าท้องหรือสะดือออกมาที่ปลายจมูกขวา โดยให้รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่า เป็นลมหายเข้า-ออก เป็นลมหายใจหยาบ-ละเอียด เป็นลมหายใจสั้น-ยาว เริ่มแรกก็ให้มีคำบริกรรม “พุท- โธ ” ประคองจิตเพื่อให้จิตสงบไปพลางก่อน และเมื่อจิตสงบคำบริกรรม พุท-โธ ก็จะหายไปเองโดยอัตโนมัติ
ผมฝึกอยู่เช่นนี้ทุกคืน จากเวลาสาม-สี่ทุ่ม ถึงเที่ยงคืน เป็นประจำทุกคืน ตลอดระยะเวลาของการฝึก ผมรู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกว่าจิตมีความสว่างไสว และทำให้ผมคลายทุกข์ได้เป็นอันมากเพราะจิตไม่คิดฟุ้งซ่านอีกแล้ว
5.สรุป
การฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรกของผม เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม 2522 ณ โรงแรมภูทอง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ตามหลักและวิธีการของอานาปานสติ โดยใช้หนังสือสอน อานาปานสติของท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม วัดธารน้ำไหล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปราฏว่า จิตของผมมีความสงบดี ไม่ฟุ้งซ่าน สามารถคลายความทุกข์จากการถูกย้ายแบบฟ้าผ่าจากตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิ ลงไปเป็นปลัดอำเภออาวุโส อำเภอภูเขียว ได้เป็นอย่างดี
หากผมไม่ได้เริ่มต้นฝึกการปฏิบัติธรรม ณ เวลานั้น จิตใจของผมน่าจะรู้สึกขมขื่นไปนานหน่อยกว่าจะรู้สึกสงบ
คุยกับ ดร.ชา
ผมมีลูกศิษย์ ปริญญาโท รัฐศาสตร์ รามคำแหง อยู่คนหนึ่ง มีอุปนิสัยและบุคลิกเข้ากับคนได้ง่าย ตามแบบฉบับของบุคคลหมายเลข 5 และท่าทางเป็นคนสุขุมรอบคอบแบบคนที่ทำงานด้านกฎหมายนับเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งที่ผมรู้สึกคุ้นเคย เขาชื่อ อมรฤทธิ์ (ชื่อสมมุติ) ซึ่งผมเห็นสมควรที่จะเชิญมาเป็นคู่สนทนาในวันนี้
“ สวัสดี คุณอมรฤทธิ์ สบายดีไหม งานยุ่งหรือเปล่า ” ผมเปิดเกมด้วยการทักทายก่อนเพื่อสร้างความเป็นกันเอง
“ สวัสดีครับอาจารย์ ผมสบายดี ขอบคุณครับ อาจารย์คงสบายดีนะครับ ” คุณอมรฤทธิ์ ทักทายผมตอบ
“ วันนี้ อาจารย์อยากจะชวนคุยกันเรื่องการปฏิบัติสักหน่อย ดีไหม” ผมเปิดประเด็นที่จะพูดคุยกันเพื่อให้คุณอมรฤทธิ์รู้สึกผ่อนคลาย
“ดีครับอาจารย์ แต่ผมขอเป็นฝ่ายถามนะ คืออย่างนี้ เห็นอาจารย์บอกว่า ได้เริ่มฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรก ณ ห้องพัก โรงแรมภูทอง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ผมสงสัยว่า การฝึกปฏิบัติธรรมที่โรงแรม มีความเงียบสงลบดีหรืออยู่เหรอ เพราะถ้าไม่เงียบ อาจารย์คงไม่น่าจะมีสมาธิในการฝึก” คุณอมรฤทธิ์ถามด้วยความสงสัย
“ คืออย่างนี้คุณอมรฤทธิ์ การฝึกปฏิบัติธรรม จำเป็นต้องฝึก ณ สถานที่ที่มีความเงียบ ไม่มีเสียงรบกวน อาจจะเป็นที่วัด สำนักปฏิบัติธรรม ที่บ้าน หรือแม้แต่โรงแรม ขอให้มีความเงียบสงบ สำหรับโรงแรมภูทอง ที่อาจารย์ใช้เป็นที่ฝึกการปฏิบัติธรรม ก็มีความเงียบสงบดี โดยเฉพาะเวลาหลังสามทุ่มก็จะเงียบสงบดีมาก แต่ก็มิใช่เงียบมากจนรู้สึกวังเวงเหมือนอย่างป่าช้า ซึ่งไม่เหมาะกับคนเริ่มฝึกใหม่ ๆ หรือแม้แต่ฝึกมานาน หากจิตใจยังไม่กล้าแข็งพอ ก็ไม่เหมาะเช่นกัน ” ผมชี้แจงให้คุณอมรฤทธิ์เข้าใจ
“ อ๋อ ผมเข้าใจแล้ว แต่ผมยังมีข้อสงสัยอีกข้อหนึ่งที่ว่า พุทธทาสภิกขุ คือครูอาจารย์คนแรกที่สอนการปฏิบัติธรรมแก่อาจารย์ นี่เป็นยังไง ผมยังงงอยู่ ๆ เพราะอาจารย์อยู่ที่อำเภอภูเขียว ส่วนท่านพุทธทาสอยู่ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระยะทางห่างกันร่วม 1,000 กิโลเมตร ” คุณอมรฤทธิ์ยังมีข้อกังขาอยู่
“ เอายังนี้ อาจารย์จะเปรียบเทียบให้ฟัง ในยุคสมัยนี้มีหลักการเรียนออนไลน์มาก มีทั้งหลักสูตรที่ได้รับประกาศนียบัตร ปริญญาบัตรตรี-โท-เอก ทั้งในและต่างประเทศ อาจารย์ผู้สอนและผู้เรียนอยู่กันคนละที่หรือคนละมุมโลก ก็ยังเป็นลูกศิษย์อาจารย์กันได้ ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน
ในยุคนั้นหลักสูตรการเรียนออนไลน์ยังไม่มี แต่อาจารย์ก็ถือเอาหนังสืออานาปานสติที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้เรียบเรียงไว้ มาอ่านและศึกษาใช้เป็นครู ดังนั้น ถ้าถามว่าใครคือครูอาจารย์คนแรกที่สอนการปฏิบัติธรรม หรือพูดง่าย ๆ สอนการนั่งสมาธิ อาจารย์ก็ต้องตอบว่าพุทธทาสภิกขุ ถูกต้องไหม เพราะอาจารย์ไม่ได้คิดเอาเอง ” ผมเปรียบเทียบให้คุณอมรฤทธิ์ให้เห็นภาพอย่างชัดเจน
“ อ๋อ ถ้าเป็นอย่างอาจารย์ว่า ผมก็ยอมรับว่า ท่านพุทธทาสภิกขุ คือครูอาจารย์คนแรกของอาจารย์ที่ได้สอนหลักและวิธีการฝึกการนั่งสมาธิแบบอานาปานสติตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้
ฟังอาจารย์พูดแล้ว ผมชักสนใจจะหาหนังสืออานาปานสติของท่านพุทธทาสภิกขุมาอ่านแล้ว เผื่อจะได้เริ่มต้นฝึกการปฏิบัติธรรมหรือนั่งสมาธิกับเขาเสียที เพราะอายุของผมก็ชักจะมากขึ้นไปทุกที
ผมต้องขอขอบคุณอาจารย์เป็นอย่างมากที่กรุณาชี้แจงให้ผมเข้าใจ ” คุณอมรฤทธิ์ตอบแบบคนเริ่มรู้สึกสนใจการฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
“ดีมาก คุณอมรฤทธิ์ อาจารย์ขออนุโมทนาด้วย สำหรับหนังสืออานาปานสติ ของท่านพุทธทาส มีการจัดพิมพ์จำหน่ายอยู่เรื่อย ๆ หาไม่ยากและราคาก็ไม่แพงด้วย
พบกันใหม่คราวหน้านะ คุณอมรฤทธิ์ ” ผมแสดงความรู้สึกชื่นชมยินดีในความคิดที่จะสร้างบุญกุศลครั้งสำคัญของคุณอมรฤทธิ์
“ บุญกุศลใด ๆ ที่เกิดจากการเขียนบทความนี้เป็นธรรมทาน ข้าพเจ้าขอน้อมถวายแด่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พุทธทาสภิกขุ เทพพรหมทุกสวรรค์ชั้นฟ้า พระแม่คงคา พระแม่ธรณี พระแม่โพสพ พญามัจจุมาราช คนธรรพ์ นาคา ขออุทิศแด่คุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ญาติมิตรทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว พระภูมิเจ้าที่ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้ากรรมนายเวร ศัตรูหมู่มารทุกภพทุกชาติ สัตว์สองเท้า สัตว์สี่เท้า สัตว์เลื้อยคลาน “
ดร.ชา
16/08/20
การกำหนดลมหายใจ เป็นอย่างอื่นได้ไหมคะ นอกจากคำว่าพุท โธ
โค้ชสอน การนั่งสมาธิในยูทูป กำหนด เป็น 4 -8-8ค่ะ
โค้ชบางคน ใช้ดนตรีปรับคลื่นสมองค่ะ
คำบริกรรม มีได้หลายอย่าง แล้วแต่ว่า เราถูกจริตกับแบบไหน แต่ถ้าเป็นชาวพทธ มักจะนิยม คำว่า พุท-โธ มากกว่า คำอื่นๆ นอกจากพุท-โธ ก็อาจจะเป็น ยุบหนอ-พองหนอ สัมมา-อระหัง แต่ถ้าเป็นฝรั่งเขาจะชอบแบบนับตัวเลข อย่างที่พวกโค้ชเอามาสอนนั่นแหละ