“รัฐ สมาชิก สหภาพยุโรป มีประเทศอะไรบ้าง” เป็นบทความลำดับที่ 3 ของหมวด 15 เรื่องเล่า สหภาพยุโรปหรืออียู เนื้อหาประกอบด้วย ความนำ รัฐ สมาชิกรุ่นบุกเบิก หลักเกณฑ์ในการรับรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป แรงจูงใจในการสมัครเข้าเป็นภาคีของสหภาพยุโรป การขยายตัวครั้งที่หนึ่ง การขยายตัวครั้งที่สอง การขยายตัวครั้งที่สาม การขยายตัวครั้งที่สี่ การขยายตัวครั้งที่ห้า การขยายตัวครั้งที่หกประเทศที่รอโอกาสเข้าเป็นภาคีของอียู วิเคราะห์ความยากง่ายในการเข้าเป็นภาคีของอียู สรุป ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369
Table of Contents
1.ความนำ
แม้การรวมตัวของรัฐต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเข้าเป็นสหภาพยุโรป จะไม่ถึงขั้นทำให้เกิดรัฐรวมเหมือนอย่าง การรวมตัวของมลรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา แต่สหภาพยุโรปก็มีลักษณะผสมผสานระหว่างสหภาพเหนือชาติและความร่วมมือระหว่างรัฐบาล จึงทำให้สหภาพยุโรปมีเอกภาพในการขับเคลื่อนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะมีการจัดตั้ง สถาบันหลัก ของอียูขึ้นมาทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนดังกล่าว
สหภาพยุโรป มีจุดเริ่มต้นมาจากประชาคมยุโรป (European Community) ด้วยการรวมประชาคมจำนวน 3 ประชาคมที่มีอยู่เดิมเข้าด้วยกัน คือ ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป ประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป และประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ตามสนธิสัญญารวมประชาคม (Merger Treaty) เมื่อปีค.ศ.1965 แต่มีผลบังคับใช้เมื่อปีค.ศ.1967 โดยประชาคมยุโรปมีรัฐที่ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาครั้งแรกเพียง 6 ประเทศเท่านั้น
หลังจากนั้นได้มีการขยายตัวเปิดรับประเทศต่าง ๆ เข้ามาเป็นภาคีของประชาคมยุโรปอีกหลายครั้ง ก่อนที่จะมีการสถาปนาประชาคมยุโรปขึ้นเป็นสหภาพยุโรปเป็นทางการตามสนธิสัญญามาสทริชท์ เมื่อปีค.ศ.1993 จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเมื่อปีค.ศ. 2007 ทำให้มีจำนวนประเทศเข้าร่วมเป็นภาคี รวม 27 ประเทศในปัจจุบัน โดยมี สหราชอาณาจักรถอนตัวออกไปเพียงประเทศเดียวเมื่อปีค.ศ.2019
2.รัฐสมาชิก ผู้ก่อตั้ง
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า สหภาพยุโรปมีกำเนิดมาจากประชาคมยุโรป และประชาคมยุโรปเกิดจากการรวมตัวของประชาคม จำนวนที่มีอยู่ก่อนแล้วจำนวน 3 ประชาคม คือ ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป(ECSC) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1950 ประชาคมพลังงานยุโรป(European Economic Energy Community/Euratom) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1951 และประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1958 โดยมีการลงนามในสนธิสัญญารวมประชาคม (Merger Treaty) เมื่อปีค.ศ.1965 โดยมีผลใช้บังคับเมื่อปีค.ศ.1967 เรียกชื่อว่า ประชาคมยุโรป (European Community/EC)
ประชาคมยุโรปนี้คือจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งเป็นสหภาพยุโรปในเวลาต่อมา
นับตั้งแต่ปีค.ศ.1967 ประชาคมยุโรปได้เจริญก้าวหน้าขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993 ได้มีการลงนามของประมุขประเทศและหัวหน้ารัฐบาลของประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรป จำนวน 6 ประเทศ คือ เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมันตะวันตก อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ จนกระทั่งปีค.ศ.1993 ได้มีการลงนามในสนธิสัญญามาสทริชท์ ณ เมืองมาสทริชท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ สถาปนาประชาคมยุโรปขึ้นเป็นสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ โดยสนธิสัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1993
สหภาพยุโรป ได้มีการขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มเติมนับตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นประชาคมยุโรปมาเป็นลำดับ จำนวน 6 ครั้ง จนกระทั่งในปัจจุบันนี้มีจำนวนประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป 27 ประเทศ
3.หลักเกณฑ์ในการรับรัฐสมาชิก

การที่ประเทศใดจะสมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปหรืออียู จำเป็นต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์โคเปนเฮเกน ซึ่งได้กำหนดไว้ในที่ประชุมยุโรป ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค เมื่อปีค.ศ.1993 คือ
3.1 ต้องเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพมั่นคง โดยเคารพสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม
3.2 มีระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด
3.3 ยอมรับพันธกรณีของสมาชิกภาพ รวมทั้งกฎหมายของสหภาพยุโรป
โดยที่ประชุมสุดยอดยุโรปหรือคณะมนตรียุโรป จะเป็นผู้ตัดสินใจว่า ประเทศใดผ่านเกณฑ์การพิจารณาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียูได้หรือไม่
4. แรงจูงใจการสมัครเข้าเป็นภาคีของอียู
การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสมัครเข้าเป็นภาคีของอียู ประเทศนั้นย่อมมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศของตนจะได้ผลประโยชน์คุ้มค่าจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอียู มากกว่าจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง แม้ว่าอาจจะต้องแลกด้วยผลประโยชน์ของประเทศบางประการก็ตาม อย่างน้อยที่สุดก็คือยอมเสียอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้อียู
สำหรับแรงจูงใจของประเทศในการสมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปหรืออียูนั้น คือ การได้รับผลประโยชน์ร่วมกันในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ทั้งด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ที่สำคัญ คือ การเป็นประเทศที่มีตลาดเดียวกัน การประกันการเคลื่อนย้ายบุคคล สินค้า บริการและทุนอย่างเสรีภายในตลาดเดียวกัน การตรากฎหมายด้านความยุติธรรมและกิจการภายในประเทศ การมีนโยบายร่วมกันในด้านการยกเลิกใช้หนังสือเดินทางภายในพื้นที่เชงเกน การตั้งสหภาพการเงินโดยมีการเงินสกุลเดียวกัน คือเงินยูโร
5. การขยายตัวครั้งที่หนึ่ง ค.ศ.1973
หลังจากได้มีการจัดตั้งประชาคมยุโรป เมื่อปีค.ศ.1967 ได้มีการเพิ่มจำนวนประเทศเข้าเป็นภาคีของประชาคมครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1973 จำนวน 3 ประเทศด้วยกัน คือ เดนมาร์ค ไอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร
ความจริงในการขยายตัวครั้งที่หนึ่งนี้ มีประเทศสมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป จำนวน 4 ประเทศ คือ สหราชอาณาจักร เดนมาร์ค ไอร์แลนด์ และนอรเวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน แต่นอรเวย์จำเป็นต้องขอถอนตัวออกไปก่อน เพราะประชามติในประเทศไม่ต้องการให้เข้าร่วม
กว่าทั้งสามประเทศจะสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียูได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มีปัญหาอุปสรรคโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหราชอาณาจักร เพราะ สหราชอาณาจักรมีผลประโยชน์ร่วมกับยุโรปน้อยกว่าการมีผลประโยชน์ร่วมกับสหรัฐอเมริกาและเครือจักรภพ
นอกจากสหราชอาณาจักรมีผลประโยชน์ร่วมกับสหรัฐอเมริกาและเครือจักรภพมากกว่ายุโรปแล้ว ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรยังมีเรื่องขัดแย้งกันเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตคลอง สุเอช เมื่อค.ศ.1956 จึงทำให้ช่วงแรก ๆ ฝรั่งเศสคัดค้านการเข้าร่วมของสหราชอาณาจักร
แต่ในที่สุดฝรั่งเศสกับ สหราชอาณาจักรก็สามารถตกลงกันได้ โดยยินยอมให้ สหราชอาณาจักรเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรปพร้อมกับเดนมาร์ค และไอร์แลนด์ เมื่อปีค.ศ.1973 ทั้งนี้เพราะฝรั่งเศสต้องการให้ สหราชอาณาจักรเข้ามาถ่วงดุลกับเยอรมนีตะวันตกที่กำลังมีบทบาทในประชาคมยุโรปมากขึ้นเรื่อย ๆ โดย สหราชอาณาจักรยินยอมรับสิทธิพิเศษทางการค้าของประชาคมยุโรป และยอมรับที่จะให้งบประมาณสนับสนุนแก่ประชาคมยุโรปร้อยละ 19 ของงบประมาณประชาคมยุโรป
การขยายตัวครั้งที่หนึ่งของประชาคมยุโรปถือว่า มีความสำคัญมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ชาติมหาอำนาจของยุโรป 3 ประเทศ ได้รวมตัวเป็นฝ่ายเดียวกัน และสามารถร่วมมือกันได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้ สหราชอาณาจักร เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรป สามารถทำให้ประชาคมมีขนาดใหญ่ขึ้นทั้งในเรื่องของอำนาจและพื้นที่ของเครือข่าย เพราะ สหราชอาณาจักรมีเครือข่ายความสัมพันธ์กับประเทศนอกยุโรปอย่างกว้างขวาง ทำให้ประชาคมยุโรปสามารถขยายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งกับประเทศเครือจักรภพอังกฤษในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มประเทศอดีตอาณานิคมของชาติมหาอำนาจทั้งสามในแอฟริกา ทะเลแคริเบียนและมหาสมุทรแปซิฟิก
ยิ่งกว่านั้น ประชาคมยุโรปยังได้ขยายความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศลาติน อเมริกาด้วย
ด้วยผลของการขยายตัวครั้งที่หนึ่งนี้ ทำให้ประชาคมยุโรปประกอบด้วย 6 ประเทศ และแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศผู้ก่อกำเนิดประชาคมยุโรป จำนวน 6 ประเทศ เรียกว่า กลุ่มวงใน และกลุ่มประเทศที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมในภายหลังเรียกว่า กลุ่มวงนอก
6. การขยายตัวครั้งที่สอง ค.ศ.1981
หลังจากการขยายตัวของอียูครั้งแรกผ่านไป 8 ปี ประชาคมยุโรปจึงได้มีการขยายตัวเป็นครั้งที่สองเมื่อปีค.ศ.1981 ด้วยการรับประเทศกรีซเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรป
ในช่วงการปกครองระบบเผด็จการทหารของกรีซในช่วงปีค.ศ.1967-1974 กรีซถูกโดดเดี่ยวจากประเทศในประชาคมยุโรป แต่พอระบบเผด็จการทหารผ่านไป ได้เปลี่ยนรูปแบบปกครองประเทศเป็นระบบสาธารณรัฐและมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำให้กรีซอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรป แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะกรีซมีปัญหาเศรษฐกิจที่ล้าหลังกว่าประเทศในประชาคมยุโรป จำเป็นต้องยอมปรับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นก่อน
การเจรจาขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรปของกรีซ ได้เริ่มขึ้นเมื่อปีค.ศ.1976 และประสบความสำเร็จเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1981 โดยชาติมหาอำนาจในประชาคมยุโรปวางน้ำหนักในการให้กรีซมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงมากกว่าเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
กรีซ เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรป ลำดับที่ 10
7.การขยายขนาดครั้งที่สาม ค.ศ.1986
ได้มีการขยายตัวของประชาคมยุโรป เป็นครั้งที่สาม เมื่อปีค.ศ.1986 ด้วยการรับประเทศใหม่เข้ามาอีก 2 ประเทศ คือ โปรตุเกส และสเปน เป็นระยะเวลาห่างจากการขยายตัวครั้งที่สองเพียง 5 ปี
ในการขยายตัวครั้งที่สาม ประชาคมยุโรปให้ความสำคัญแก่สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
กรณีประเทศสเปน
เดิมสเปนตกอยู่ใต้การปกครองของจอมเผด็จการ นายพล ฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) เป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งนายพล ฟรังโก ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อค.ศ.1975 สเปนจึงมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือ กษัตริย์ ฮวน คาร์ลอส (Juan Carlos) และได้สมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรปเมื่อ ค.ศ.1979
สเปนเป็นประเทศที่กองเรือประมงใหญ่ที่สุด หากสเปนได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรป จะมีสิทธิเข้าไปจับปลาในน่านน้ำของประเทศสมาชิกอื่นได้ จนกระทั่งปีค.ศ.1986 สเปนจึงได้รับความยินยอมให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรป
กรณีโปรตุเกส
เดิมโปรตุเกสตกอยู่ภายใต้ปกครองแบบเผด็จการมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 40 ปี จนกระทั่งปีค.ศ. 1974 ได้เกิดการปฏิวัติแล้วเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย หลังจากนั้น โปรตุเกสได้สมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรปเมื่อปีค.ศ.1977
การที่โปรตุเกสต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรป ก็เพื่อให้ได้รับการยอมรับว่า ตนเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และยังจะสามารถพัฒนาและสร้างความทันสมัยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ในประชาคมยุโรปได้ ในที่สุด โปรตุเกสก็ได้รับความยินยอมให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรปได้พร้อมกับสเปน เมื่อปีค.ศ.1986
การที่สเปนและโปรตุเกส ได้รับความยินยอมให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรปพร้อมกัน เพราะมีเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกันมาก
8.การขยายตัวครั้งที่สี่ ค.ศ.1995
เมื่อปีค.ศ.1993 ได้มีการสถาปนาประชาคมยุโรป ขึ้นเป็นสหภาพยุโรป หลังจากนั้น เมื่อปีค.ศ.1995 ได้มีการขยายตัวเป็นครั้งสี่ ด้วยการรับประเทศใหม่เข้ามาอีกจำนวน 3 ประเทศ คือ ออสเตรีย ฟินแลนด์ และสวีเดน
ประเทศทั้งสามล้วนมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยและอยู่ในเขตการค้าเสรียุโรป ปกติในอดีตทั้งสามประเทศจะวางตัวเป็นกลาง(neutrality) ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด(non-alignment)
การพิจารณาประเทศทั้งสามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียูหรือสหภาพยุโรปใช้เวลาไม่นานนัก กล่าวคือ ออสเตรียได้สมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรปเมื่อปีค.ศ.1991 ส่วนฟินแลนด์และสวีเดนได้สมัครเมื่อปีค.ศ.1992 ได้มีการเริ่มพิจารณาระหว่างปีค.ศ.1993-1994 และมีผลเมื่อปีค.ศ.1995
อนึ่ง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีอีกสองประเทศที่ได้สมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรปหรือสหภาพยุโรปในเวลาต่อมา แต่ประชามติของประชาชนในประเทศไม่ต้องการให้เข้าร่วม คือ นอรเวย์ และสวิตเซอร์แลนด์
9.การขยายตัวครั้งที่ห้า ค.ศ.2004
ภายหลังได้มีการสถาปนาประชาคมยุโรปขึ้นเป็นสหภาพยุโรปเมื่อปีค.ศ.1993 อียูหรือสหภาพยุโรปได้รับสมาชิกเพิ่มมากเป็นประวัติการณ์ในครั้งเดียวกันเมื่อปีค.ศ.2004 มากถึง 10 ประเทศ คือ ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ค เอสโทเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลเตา โปแลนด์ สโลวาเกีย และสโลวีเนีย
ในการพิจารณาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียูในครั้งนี้ ได้ยึดตามเกณฑ์โคเปนเฮเกน (Copenhagen Criterion) ซึ่งได้กำหนดขึ้นไว้เมื่อปีค.ศ.1993
ในบรรดาประเทศทั้ง 10 ประเทศดังกล่าว อาจแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง (Central and East European Countries) มีจำนวน 5 ประเทศ คือ สาธารณรัฐเช็ค ฮังการี โปแลนด์ สโลวาเกีย และสโลวีเนีย
กลุ่มประเทศอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต มีอยู่ 3 ประเทศ คือ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย และลัตเวีย
กลุ่มประเทศเมดิเตอร์เรเนียน มีอยู่ 2 ประเทศ คือ มอลตาและไซปรัส
ความจริงในการสมัครครั้งนี้ มีประเทศที่ได้สมัครพร้อมกัน 13 ประเทศ รวมทั้ง ตุรกี บัลกาเรีย และโรมาเนีย แต่ทั้งสามประเทศหลังยังไม่ผ่านการพิจารณาในรอบนี้
10.การขยายตัวครั้งที่หก ค.ศ.2007
เมื่อปีค.ศ.2007 ได้มีการรับประเทศเข้ามาเพิ่มอีก 2 ประเทศ คือ โรมาเนีย และบัลกาเรีย โดยทั้งสองประเทศได้สมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียู เมื่อปีค.ศ.1994 อุปสรรคในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียูของทั้งสองประเทศคือ การไม่สามารถปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเกณฑ์โคเปนเฮเกน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น การสร้างความมั่นคง การให้สิทธิเสรีภาพ และการต่อสู้กับองค์กรอาชญากรรมต่าง ๆ
จนกระทั่ง วันที่ 1 มกรคม ค.ศ.2007 อียูจึงยอมรับให้ทั้งสองประเทศเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียู ทำให้อียูมีจำนวนสมาชิกเพิ่มเป็น 28 ประเทศ แต่ต่อมาสหราชอาณาจักรได้ขอถอนตัวออกจากอียู จึงทำให้มีจำนวนสมาชิกเหลือ 27 ประเทศในปัจจุบัน
11.ประเทศที่รอโอกาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียู
นอกจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 27 ประเทศดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่รอโอกาสจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียู ได้แก่ ตุรกี โครเอเชีย มาชิโดเนีย มอนเตเนโกร และไอซ์แลนด์ โดยแต่ละประเทศได้มีการสมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียูไว้แล้ว
ตุรกี ได้สมัครไว้เมื่อปี ค.ศ.1987
โครเอเชีย ได้สมัครไว้เมื่อปี ค.ศ.2003
มาชิโดเนีย ได้สมัครไว้เมื่อปี ค.ศ.2004
มอนเตเนโกร ได้สมัครไว้เมื่อปี ค.ศ.2008
ไอซ์แลนด์ ได้สมัครไว้เมื่อปี ค.ศ.2009
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้แสดงความสนใจที่จะสมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียู เช่น แอลเบเนีย เซอร์เบีย และยูเครน เป็นต้น
12.วิเคราะห์ความยากง่ายในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียู
การสมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียู ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะประเทศที่จะสมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียู ต้องปฏิบัติบัตรตามหลักเกณฑ์โคเปนเฮเกน ซึ่งได้กำหนดไว้เมื่อปีค.ศ.1993 กล่าวคือ ต้องเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพมั่นคง โดยเคารพสิทธิมนุษยชน และหลัก นิติธรรม มีระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด และยอมรับพันธกรณีของสมาชิกภาพ รวมทั้งกฎหมายของสหภาพยุโรป โดยคณะมนตรียุโรปหรือที่ประชุมสุดยอดยุโรป จะเป็นผู้พิจารณาว่า ประเทศใดที่ผ่านเกณฑ์การประเมินหรือไม่
ก่อนที่ประเทศใดจะได้รับความยินยอมให้เป็นส่วนหนึ่งของอียู หรือประชาคมยุโรปก่อนปีค.ศ.1993 จะต้องได้รับความยินยอมให้เป็นประเทศที่มีคุณสมบัติในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสียก่อน หลังจากนั้นจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศจนเป็นที่ยอมรับของประชาคมยุโรปในช่วงค.ศ.1967-1993 หรือสหภาพยุโรปนับแต่ค.ศ.1993 เป็นต้นมา
ทั้งนี้การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะได้รับการยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรปหรือสหภาพยุโรปในเวลาต่อมา จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์เดียวกันกับประเทศที่เป็นสมาชิกอยู่ก่อนแล้ว ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง และเศรษฐกิจ
ดังจะเห็นได้จากการขยายตัวในบางครั้งมีระยะเวลาห่างกันค่อนข้างมาก กล่าวคือ
12.1 จุดเริ่มต้น
เมื่อปีค.ศ.1967 จัดตั้งประชาคมยุโรป (European community) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของอียู ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมันตะวันตก อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์
12.2 การขยายตัวครั้งที่หนึ่ง ปีค.ศ.1973
การขยายตัวครั้งที่หนึ่ง เป็นระยะเวลาห่างจากจุดเริ่มต้นเป็นเวลา 6 ปี ประชาคมยุโรปยอมรับให้ 3 ประเทศคือ เดนมาร์ค ไอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรป
12.3 การขยายตัวครั้งที่สอง ค.ศ.1981
การขยายตัวครั้งที่สอง มีระยะห่างจากการขยายตัวครั้งที่หนึ่ง เป็นเวลา 8 ปี โดยรับกรีซ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรป
12.4 การขยายตัวครั้งที่สาม ค.ศ.1986
การขยายตัวครั้งที่สาม มีระยะห่างจากการขยายตัวครั้งที่สอง เป็นเวลา 5 ปี โดยการรับสองประเทศ คือ โปรตุเกส และสเปน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรป
12.5 การขยายตัวครั้งที่สี่ ค.ศ.1995
ภายหลังจากได้มีการสถาปนาประชาคมยุโรปขึ้นเป็นสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union: EU) เมื่อค.ศ.1993 ได้มีการรับประเทศจำนวน 3 ประเทศ คือ ออสเตรีย ฟินแลนด์ และสวีเดน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียู ซึ่งเป็นระยะเวลาห่างจากการขยายตัวครั้งที่สาม เป็นเวลานานถึง 9 ปี
12.6 การขยายตัวครั้งที่ห้า ค.ศ.2004
การขยายตัวครั้งที่ห้า มีระยะเวลาห่างจากการขยายตัวครั้งที่สี่ เป็นเวลานานถึง 9 ปีเช่นเดียวกัน โดยรับประเทศเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียูพร้อมกันมากถึง 10 ประเทศ ได้แก่ ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ค เอสโทเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลตา โปแลนด์ สโลวีเนีย และสโลวาเกีย ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์และเป็นบริวารของสหภาพ โซเวียตมาก่อน
12.7 การขยายตัวครั้งที่หก ค.ศ.2007
การขยายตัวครั้งที่หกนี้ มีระยะเวลาห่างจากการขยายตัวครั้งที่ห้าเพียง 3 ปีเท่านั้น โดยรับประเทศ 2 ประเทศ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียู คือ โรมาเนีย และบัลกาเรีย ซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์และเป็นบริการของสหภาพโซเวียตมาก่อน
กล่าวโดยสรุปแล้ว การที่ประเทศใดจะได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรปหรือสหภาพยุโรปในเวลาต่อมา ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องมีการปรับสภาพการเมืองและเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับประชาคมยุโรปหรือสหภาพยุโรปในเวลาต่อมาให้ได้เสียก่อน โดยประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการชี้ขาดคือ ฝรั่งเศส และเยอรมนี
13.สรุป
สหภาพยุโรปหรืออียู มีกำเนิดมาจากประชาคมยุโรปเมื่อปีค.ศ.1967 โดยมีประเทศผู้ริเริ่มก่อการจำนวน 6 ประเทศ คือ เยอรมันตะวันตก ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ จนกระทั่งปีค.ศ.1993 จึงได้มีการสถาปนาประชาคมยุโรปขึ้นเป็นสหภาพยุโรปหรืออียู
ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีสมาชิกทั้งหมด จำนวน 27 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศในยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก และประเทศแถบทะเลเมติเตอร์เรเนียน
สำหรับความคิดเห็นและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369
1.ถาม- สำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรปหรืออียู ตั้งอยู่ที่ใด
สำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป ตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม
2.ถาม- ทำไมในระยะเริ่มแรก ฝรั่งเศสจึงคัดค้าน สหราชอาณาจักรในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรป
ฝรั่งเศสเห็นว่า สหราชอาณาจักรมีผลประโยชน์ร่วมกับสหรัฐอเมริกาและเครือจักรภพมากกว่ายุโรป นอกจากนั้น ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรยังมีความขัดแย้งกันในเรื่องคลองสุเอชเมื่อปีค.ศ.1956 จึงคัดค้านไม่ให้ สหราชอาณาจักรเข้าร่วมด้วย
3.ถาม- เพราะเหตุใด สหราชอาณาจักรจึงขอถอนตัวออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป และได้ถอนตัวออกเมื่อใด
การที่ สหราชอาณาจักรต้องถอนตัวออกจากอียู ก็เพราะได้มีการออกเสียงลงประชามติใน สหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016 ผลปรากฏว่า ร้อยละ 51.9 ออกเสียงสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรถอนตัว และมีผลภายในเวลา 2 ปี คือ มีผลเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2019 ซึ่งได้ขยายเวลาออกไปเป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2019
4.ถาม- เงินยูโร คืออะไร มีประเทศใดเป็นสมาชิกบ้าง

เงินยูโร คือเงินตราสกุลหนึ่งของสหภาพยุโรป เริ่มนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1999 มีประเทศสมาชิก จำนวน 11 ประเทศ คือ เยอรมนี เบลเยี่ยม อิตาลี สเปน ไอร์แลนด์ ฟินแลนด์ อิตาลี โปรตุเกส ออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส
ในช่วงระยะ 3 ปีแรก แต่ละประเทศยังคงสามารถใช้เงินยูโรร่วมกับเงินสกุลเดิมของตนได้ จนกระทั่งเมื่อปีค.ศ.2002 ประเทศดังกล่าวได้ยกเลิกเงินสกุลเดิมของตน คงใช้เฉพาะเงินยูโรอย่างเดียว
หลังจากนั้น ได้มีประเทศในสหภาพยุโรปอีก 7 ประเทศ คือ กรีซ สโลวีเนีย ไซปรัส มอลตา และสโลวาเกีย ได้เข้าร่วมด้วย
5.ถาม- นอกเหนือไปจาก 11 ประเทศซึ่งเป็นภาคีของสหภาพยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันนั้น มีประเทศอื่น ๆ ที่มิใช่ภาคีสหภาพยุโรป แต่ใช้เงินสกุลยูโรด้วยหรือไม่
นอกจากประเทศในสหภาพยุโรป 11 ประเทศดังกล่าวแล้ว ยังมีประเทศที่อยู่นอกสหภาพยุโรปบางประเทศเข้าร่วมใช้เงินยูโรด้วย เช่น โมนาโก อันดอร์รา โคโซโว
ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนเงินยูโรกับเงินบาทอยู่ที่ 35.72 บาท (หนึ่งดอลลาร์ เท่ากับ 32.84 บาท)
5.ถาม- เขตเชงเกนคืออะไร มีประเทศใดเป็นสมาชิกบ้าง

เขตเชงเกนหรือพื้นที่เชงเกน (Schengen Area) เป็นพื้นที่ที่ประกอบด้วย 27 รัฐในทวีปยุโรป ซึ่งได้ตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการเรียกว่า ข้อตกลงเชงเกน (Schengen Agreement) เพื่อยกเลิกการใช้หนังสือการเดินทางและการควบคุมบริเวณพรมแดนทุกประเภท โดยมีนโยบายการตรวจตรา ร่วมกันสำหรับการการเดินทางระหว่างรัฐภาคี โดยตั้งชื่อตามความตกลงเชงเกนเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 1985 ซึ่งได้ลงนาม ณ เมืองเชงเกน ประเทศลักเซมเบิร์ก แต่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 1995
คิดเป็นพื้นที่ในเขตเชงเกน เป็นจำนวน 4,368,693 ตร.กม.
รายชื่อประเทศภาคี 27 ประเทศได้แก่
เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก กรีซ โปรตุเกส สเปน เยอรมนี
ออสเตรีย ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน นอรเวย์ ไอซ์แลนด์ มอลตา สาธารณรัฐเช็ค
เอสโตเนีย ฮังการี โปแลนด์ สโลวาเกีย สโลวีเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอนาโก และโครเอเชีย
6.ถาม- ในบรรดาประเทศที่อยู่ในเขตเชงเกน 27 ประเทศนั้น มีประเทศที่มิใช่ภาคีของสหภาพยุโรปบ้างหรือไม่
มีอยู่ 3 ประเทศที่มิได้เป็นภาคีของสหภาพยุโรป คือ นอรเวย์ ไอซ์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์
7.ถาม- เพราะเหตุใด ตุรกีจึงยังไม่สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียูได้
การที่ตุรกียังไม่สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียูได้ ก็เพราะเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจในอียู ยังมีข้อห่วงใยบางประการ กล่าวคือ
เยอรมนี มีข้อห่วงใยว่า ตุรกีเป็นชาติที่มีจำนวนประชากรมากประมาณ 85 ล้าน หากได้เข้ามาจะผลกระทบหลายอย่างต่อสหภาพยุโรป เช่น การเป็นตัวแทนในสถาบันต่าง ๆ ของอียู สัดส่วนของการมีที่นั่งในรัฐสภายุโรปของตุรกีจะมากเป็นอันดับหนึ่ง มากกว่าเยอรมนี ซึ่งมีประชากรราว 83 ล้านคน
ฝรั่งเศส มีข้อห่วงใยว่า ตุรกี ไม่ถือว่าเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรป เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ 95 % อยู่ในทวีปเอเชีย และมีพื้นที่ส่วนที่เหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่อยู่ในทวีปยุโรป โดยก่อนหน้านี้อียูเคยปฏิเสธการสมัครเข้าเป็นภาคีของประเทศมอร็อกโคมาก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่า ประเทศมอร็อกโค ไม่ใช่ประเทศในยุโรป
ยิ่งกว่านั้น การที่ตุรกีเป็นประเทศมุสลิม ในขณะที่ประเทศภาคีของอียู 27 ประเทศ ล้วนเป็นประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์ อาจจะเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความขัดแย้งในภายหลังได้
ดร.ชา 369
2/02/2023
แหล่งอ้างอิง
สาธิน สุนทรพันธ์.(2562).การขยายสมาชิกของสหภาพยุโรป. ในวิมลวรรณ ภัทโรดม (บก.). บูรณาการสหภาพยุโรป. (หน้า 131-176).กรุงเทพฯ: ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ได้ความรู่ดีค่ะอาจารย์
ขอบคุณมาก คุณบุญญสรณ์