85 / 100

ประวัติ จีน ยุคใหม่ เป็นบทความลำดับที่ 3 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก โดยจะกล่าวถึง ความนำ ประวัติ จีน ยุคราชวงศ์ชิง ก่อนจะถึงจีนยุคใหม่ ยุคสาธารณรัฐจีน ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน สรุป และถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369

เหมา เจอ ตุง ผู้นำในการปฏิวัติจีนให้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ (Wikipedia, Mao Zedong, 3rd November 2021)
เหมา เจอ ตุง ผู้นำในการปฏิวัติจีนให้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ (Wikipedia, Mao Zedong, 3rd November 2021)

1.ความนำ

            ในบทความที่แล้ว ประวัติ จี ก่อนจีนยุคใหม่ (2) ได้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์จีน ยุคโบราณ (2100-256 ปีก่อนคริสตกาล) และยุคสมัยราชวงศ์และจักรวรรดิ (221 ก่อนคริสตกาล 5 ถึงค.ศ.1912) โดยมีราชวงศ์ชิงเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน ก่อนประเทศจีนจะเปลี่ยนไปสู่ระบบสาธารณรัฐ

            ดังนั้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจรอยต่อประวัติศาสตร์จีนระหว่างยุคราชวงศ์และจักรวรรดิไปสู่จีนยุคใหม่หรือยุคสาธารณรัฐ จึงขอนำเรื่องราวของประวัติ จีน ยุคราชวงศ์ชิงมาเล่าเพิ่มเติม ก่อนที่จะเล่าเรื่องราว ประวัติ จีน ยุคใหม่ต่อไป

2.ประวัติ จีน ยุคราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1812) ระยะเวลารวม 168 ปี

          ก่อนจะถึงยุคของราชวงศ์ชิง เป็นยุคของราชวงศ์หมิง ซึ่งได้ครองอำนาจเหนือแผ่นดินจีนเป็นเวลา 276 ปี (ค.ศ.1368-1644)

          2.1 ความเป็นมาของการสถาปนาราชวงศ์ชิง

          ผู้สถาปนาราชวงศ์ชิงเป็นคนแมนจูเรีย เผ่านูรฮาซี ชื่อ หนูเอ่อร์ฮา(Nurhci) ได้ประกาศสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้น ตั้งตนเป็นปฐมกษัตริย์ มีพระนามว่า จักรพรรดิหวงไท่จี๋

            ราชวงศ์ชิง เป็นราชวงศ์ของชาวต่างชาติ ราชวงศ์ที่สองที่ครองแผ่นดินจีนทั้งหมด ราชวงศ์แรกคือราชวงศ์หยวนหรือมองโกล ซึ่งปกครองจีนเป็นเวลา 89 ปี (ค.ศ.1279-1386) โดยราชวงศ์ชิงมีดินแดนกว้างใหญ่เป็นเกือบสองเท่าของราชวงศ์หมิง ซึ่งได้ปกครองจีนมาก่อนหน้านี้

            ชนเผ่าแมนจู เป็นชนเผ่าอยู่ในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของราชวงศ์หมิง ประกอบด้วยชนเผ่าย่อย ๆ มากถึง 2,000-3,000 ชนเผ่า และอยู่นอกเขตกำแพงเมืองจีน ชนเผ่าแมนจูสามารถคุกคามจีนได้ภายหลังหนูเอ่อร์ฮา สามารถรวบรวมชนเผ่าแมนจูทุกเผ่าให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้สำเร็จเมื่อปีค.ศ.1636

            เมื่อปีค.ศ.1644 หลี่ จื้อเฉิง ได้เป็นหัวหน้ากบฏชาวนาเข้ายึดกรุงปักกิ่ง ทำให้สมเด็จพรจักรพรรดิฉงเจิน จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงตัดสินใจฆ่าพระองค์ตาย ต่อมาได้เกิดกบฏราชวงศ์ หมิง โดยพวกแมนจูได้จับมือกับนายพลอู๋ ซานกุ้ย แม่ทัพของ ราชวงศ์หมิง ยอมเปิดประตูเมืองให้พวกแมนจูเข้ายึดกรุงปักกิ่งได้โดยสะดวก และสามารถสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นปกครองแผ่นดินจีนสำเร็จได้อย่างง่ายดาย โดยมีกรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวง

            2.2 เหตุการณ์สำคัญในยุคราชวงศ์ชิง

          ในยุคราชวงศ์ชิง มีเหตุการณ์สำคัญพอจะสรุปได้ดังนี้

                   2.2.1 ความรุ่งโรจน์ในยุคสมเด็จพระจักรพรรดิคังซี (Kangxi Emperor)

                   สมเด็จพระจักรพรรดิคังซี เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 3 ของราชวงศ์ชิง นับเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของจีน เสวยราชสมบัติยาวนานถึง 61 ปี (ค.ศ.1661-1722) พระองค์ได้สร้างผลงานที่สำคัญไว้ดังนี้

                        -สร้างพจนานุกรมคังซี (Kangxi Dictionary) เป็นพจนานุกรมที่สมบูรณ์ที่สุดของจีนเท่าที่เคยมีมา

                        – การปราบกบฏสามเจ้าศักดินา

                        -โจมตีอาณาจักรไต้หวัน

                        -ปราบกบฏมองโกล

                        -รบชนะรัสเซียที่เมืองอัลบาซิน (Albazin) ทำให้สามารถยับยั้งการขยายอาณาเขตของรัสเซียได้ และจบลงด้วยการทำสนธิสัญญาสงบศึกเนอร์ซินสค์ (  Treaty of Nerchinsk)

                    2.2.2 ความรุ่งโรจน์ยุคจักรพรรดิเฉียนหลง (Qianlong Emperor)

ตามประวัติ จีน ยุคจักรพรรดิเฉียนหลง เป็นยุคที่เจริญที่สุดของจีน (Wikipedia, History of China, 3rd November 2021)
ตามประวัติ จีน ยุคจักรพรรดิเฉียนหลง เป็นยุคที่เจริญที่สุดของจีน (Wikipedia, History of China, 3rd November 2021)

                   จักรพรรดิเฉียนหลง เป็นพระราชนัดดาของจักรพรรดคังซี นับเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 6 ของราชวงศ์ชิง เสวยราชสมบัติเป็นเวลา 60 ปี 124 วัน (ค.ศ.1735-1796) พระองค์ได้สร้างความเจริญให้แก่ประเทศจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้จัดทำสารานุกรม ซื่อคู่เฉวียนซู ระหว่างปีค.ศ.1773-1782 ถือเป็นมรดกโลกสำคัญชิ้นหนึ่ง

                        ในยุคจักรพรรดิเฉียนหลง ราชวงศ์ชิงได้เจริญถึงจุดสูงสุด โดยในปีค.ศ.1796 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในการเสด็จเสวยราชสมบัติของพระองค์ ราชวงศ์ชิงปกครองประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งโลก มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และนับเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

                        ในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงมีเรื่องราวที่เป็นเรื่องเล่าเป็นตำนานหลายเรื่อง เช่น เรื่องเล่าว่า จักรพรรดิเฉียนหลงชอบแปลงพระองค์เป็นสามัญชนเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ จนได้ฉายาว่า  ”จักรพรรดิเจ้าสำราญ”

3.ก่อนจะเป็นจีน ยุคใหม่

อย่างไรก็ตาม หลังพ้นรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ราชวงศ์ชิงได้อ่อนแอลงเรื่อย ๆ ไม่มีจักรพรรดิพระองค์ใดที่มีพระปรีชาสามารถ  โดยมีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ราชวงศ์ชิงอ่อนแอลง ดังนี้

3.1 การคุกคามจากชาติมหาอำนาจตะวันตก

ในศตวรรษที่ 19 จักรวรรดิจีนมีปัญหาความไม่สงบภายในและมีปัญหาถูกคุกคามจากภายนอกคือชาติมหาอำนาจตะวันตก กล่าวคือ เมื่อปีค.ศ.1840 ได้เกิดสงครามฝิ่นครั้งแรก (First Opium War 1840) ผลปรากฏว่า จีนพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิอังกฤษ ทำให้ต้องมีการทำสนธิสัญญานานกิงเมื่อปี ค.ศ. 1842 (Treaty of Nanking 1842) อันเป็นผลทำให้ฮ่องกงต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และอังกฤษสามารถส่งฝิ่นเข้าไปขายในจีนได้ เพื่อทำให้สังคมจีนอ่อนแอและขาดเสถียรภาพ

นอกจากการพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นกับอังกฤษแล้ว การพ่ายแพ้ทางทหารและสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมของจีนกับชาติมหาอำนาจตะวันตกอื่น ๆ อีก ยังคงดำเนินต่อไปแม้จะเป็นภายหลังสิ้นสุดราชวงศ์ชิง

3.2 กบฏไต้ปิง (Taiping Rebellion)

ในส่วนปัญหาความไม่สงบภายใน ได้เกิดกบฏไต้ปิง (Taiping Rebellion) ช่วงปีค.ศ.1851-1864

กบฏไต้ปิง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สงครามกลางเมืองไต้ปิง (Taiping Civil War) หรือการปฏิวัติไต้ปิง (Taiping Revolution) เป็นการต่อสู้กันระหว่างราชวงศ์ชิง กับอาณาจักรแห่งสวรรค์ไต้ปิง (Taiping Heavenly Kingdom) ซึ่งเป็นชาวจีนแคระ เป็นระยะเวลายาวนานถึง  14 ปี  ฝ่ายกบฏนำโดย หง ซิ่วเฉวียนได้ก่อการกบฏโดยมีแรงบันดาลใจมาจากศาสนาคริสต์ และลัทธิชาตินิยม ต้องการโค่นล้มราชวงศ์ชิง

        กบฏไต้ปิงหรือสงครามกลางเมืองไต้ปิงได้ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตมากถึง 20-30 ล้านคน มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งมีจำนวนราว 10 ล้านคน

        แม้ราชวงศ์ชิงจะสามารถเอาชนะฝ่ายกบฏได้ในที่สุด เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือจากชาติมหาอำนาจตะวันตกที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ก็ทำให้ราชวงศ์ชิงอ่อนแอลงมาก

        3.3 สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 (First Sino-Japanese War 1894-1895)

          เมื่อปีค.ศ.1894-1895 ได้เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง เป็นสงครามเพื่อครอบครองคาบสมุทรเกาหลีปรากฏว่า จีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้  สงครามนี้เป็นสิ่งชี้บอกความอ่อนแอของราชวงศ์ชิง และการประสบความสำเร็จของญี่ปุ่นในการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยแบบ ตะวันตก ซึ่งได้เริ่มทำมาตั้งแต่ยุคจักรพรรดิเมจิ ส่งผลทำให้ราชวงศ์ชิงอ่อนแอลง

          3.4 การจลาจลนักมวย (Boxer Uprising) ปี 1900

          การจลาจลนักมวย เป็นการจลาจลทีเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านอิทธิพลของต่างชาติ และได้สังหารชาวคริสต์จีน และมิชชันนารีของต่างชาติ เมื่อนักมวยเข้ากรุงปักกิ่ง ราชวงศ์ชิงได้สั่งให้ชาวต่างชาติทั้งหมดออกไป แต่ชาวต่างชาติและชาวคริสต์จีนได้ถูกล้อมไว้ในสถานทูต  พันธมิตรแปดชาติได้แก่ ญี่ปุ่น รัสเซีย อังกฤษ อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส อเมริกา และออสเตรเลีย ได้ส่งกองทหารเข้าไปช่วย แต่กองกำลังของราชวงศ์ชิงและนักมวยสามารถบังคับให้กองทหารพันธมิตรแปดชาติให้ล่าถอยออกไปในการต่อสู้ที่ หลางฝาง  ( Battle of Langfang )

          หลังจากการโจมตีของพันธมิตรที่ป้อมต้ากู  (Dagu Forts) ราชวงศ์ชิงได้ประกาศสงครามกับพันธมิตร และยินยอมให้นักมวยเข้าร่วมรบกับกองทัพจักรพรรดิ หลังจากการรบอย่างหนักที่เทียนสิน พันธมิตรได้รวมตัวกันเป็นครั้งที่สอง เป็นกองทหารที่มีจำนวนมากกว่าครั้งแรก และในที่สุดก็บุกไปถึงกรุงปักกิ่ง จักรพรรดินี ทูสีไทเฮา สั่งให้ล่าถอยไปยังซีอาน ด้วยการเจรจาทางการทูตทำให้สงครามยุติ แต่จีนต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมหาศาล (tremendous indemnity)

          3.5 การสิ้นสุดราชวงศ์ชิง ในปี 1912

          หลังจากเหตุการณ์กบฏนักมวยเมื่อปีค.ศ.1900 ราชวงศ์ชิงได้กำหนดนโยบายใหม่ในการปฏิรูปกฎหมายและการบริหารประเทศ รวมทั้งยกเลิกระบบการตรวจสอบ แต่เจ้าหน้าที่หนุ่มสาว นายทหารและนักศึกษากลับโต้เถียงกันในเรื่องของการปฏิรูปว่า ควรจะให้ประเทศปกครองด้วยระบบกษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) หรือว่าจะโค่นล้มราชวงศ์ชิงแล้วสถาปนาเป็นประเทศ สารธารณรัฐ

            พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากปัญญาชนอย่างเช่น เหลียงฉีเฉา (Liang Qichao) และแนวคิดในด้านการปฏิวัติของ ดร.ซุน ยัตเซน (Sun Yat-sen) ได้มีการก่อจลาจลของกองทหารในท้องถิ่น เริ่มต้นที่เมืองอู่ชาง (Wuchang Uprisng)  ปัจจุบัน คือเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลหูเป่ย์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1911 หลังจากนั้น การก่อจลาจลได้กระจายออกไป จนในที่สุด ได้มีการประกาศสถาปนาระบบสาธารณรัฐขึ้นแทนที่การปกครองของราชวงศ์ชิง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1912 เป็นอันสิ้นสุดการปกครองของราชวงศ์ของประเทศจีนที่มีมาเป็นเวลายาวนานร่วม 4.000-5,000 ปี

4.ประวัติ จีน ยุคใหม่ (1912-ปัจจุบัน)

          หลังจากการก่อจลาจลได้เริ่มที่เมืองอู่ชาง เมื่อปีค.ศ.1911 จนกระทั่งได้ลุกลามไปทั่วประเทศ จนในที่สุดได้มีการโค่นล้มราชวงศ์ชิงลง และได้มีการสถาปนาระบบสาธารณรัฐ (republic) ขึ้นแทนเมื่อปีค.ศ.1912  อันเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติ จีน ยุคใหม่

            อย่างไรก็ดี จีนยุคใหม่ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ

            4.1 ช่วงแรก เป็นยุคสาธารณรัฐจีน (Republic of China) ปีค.ศ.1912-1949 เป็นช่วงของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบประเทศตะวันตก ภายใต้การนำของดร.ซุน ยัตเซน

            4.2 ช่วงที่สอง เป็นยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China) นับตั้งแต่ปีค.ศ.1949 ภายใต้การนำของเหมา เจอ ตุง อันเป็นการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งปัจจุบัน

5.ยุคสาธารณรัฐจีน (1912-1949) ระยะเวลา 37 ปี

ดร.ซุน ยัตเซน ผู้นำในการปฏิวัติจีนโค่นล้มราชวงศ์แมนจู สถาปนาสาธารณรัฐจีน (Wikipdia, History of China, 3rd November 2021)
ดร.ซุน ยัตเซน ผู้นำในการปฏิวัติจีนโค่นล้มราชวงศ์แมนจู สถาปนาสาธารณรัฐจีน (Wikipdia, History of China, 3rd November 2021)

          การโค่นล้มราชวงศ์ชิงเมื่อปีค.ศ.1912 ถือเป็นการปฏิวัติครั้งที่หนึ่งของจีน ด้วยการเปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย

            รัฐบาลชั่วคราวของสาธารณรัฐจีนได้จัดตั้งที่เมืองนานกิงเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1912 โดยดร. ซุน ยัตเซน ได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีน แต่อยู่ได้ไม่นานก็ต้องยอมถ่ายโอนอำนาจให้หยวน ซีไข่ (Yuan Shikhai) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารของกองทัพที่จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นประธานาธิบดี หลังจากนั้นภายในเวลาไม่กี่ปี หยวน ซีไข่ ได้สั่งให้ยกเลิกการสภาระดับชาติและระดับมณฑล(national and provincial assemblies) และได้ประกาศสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ เมื่อปลายปี 1915 แต่ความทะเยอทะยานในการเป็นจักรพรรดิของหยวน ซีไข่ ได้ถูกต่อต้านโดยผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา จึงมีโอกาสที่จะเผชิญการกบฏ ทำให้พระองค์ตัดสินใจสละราชสมบัติเมื่อเดือนมีนาคม 10 มีนาคม 1916 และได้ตายลงในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน

            การตายของหยวน ซีไข่เมื่อปี 1916 ทำให้เกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ รัฐบาลสาธารณรัฐแตกกระจัดกระจาย จึงเป็นการเปิดทางไปสู่ยุคสมัยขุนศึก (Warlord Era) เกิดการแข่งขันอำนาจระหว่างผู้นำทหารในส่วนภูมิภาคและรัฐบาลสาธารณรัฐจีน ในขณะเดียวกัน บรรดาปัญญาชนต่างไม่พอใจความล้มเหลวของสาธารณรัฐ จึงเกิดมีขบวนการวัฒนธรรมใหม่ (New Culture Movement)

          ในปีค.ศ.1919 ขบวนการที่สี่พฤษภาคม (May Fourth Movement) เริ่มต้นที่จะโต้แย้งข้อตกลงที่สนับสนุนญี่ปุ่นเกี่ยวกับจีนในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เกิดการประท้วงในวงกว้างไปทั่วประเทศ จีนปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ที่กำหนดให้ญี่ปุ่นได้ครอบครองมณฑลชานตงแทนเยอรมนี

          สงครามกลางเมืองจีน ค.ศ.1927-1949

          สงครามกลางเมืองจีน เป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ปกครองสาธารณรัฐจีน กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อแย่งชิงอำนาจในการปกครองประเทศจีน สงครามได้เริ่มต้นเมื่อปีค.ศ.1927 และไปสิ้นสุดเมื่อปีค.ศ.1950 ทำให้ประเทศจีนต้องแตกออกเป็น 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน และสาธารณรัฐประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่

          สงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 ค.ศ.1937-1945

          ในระหว่างการเกิดสงครามกลางเมืองจีน ได้เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ขึ้นมาสอดแทรก

          สงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 เป็นสงครามขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียในศตวรรษที่ 20 มูลเหตุเกิดจากการที่จักรวรรดิญี่ปุ่นมีนโยบายมาเป็นเวลาหลายทศวรรษในการขยายดินแดนเพื่อให้เข้าถึงแหล่งแร่ วัตถุดิบ และอาหาร โดยนักประวัติศาสตร์บางคนถือว่า จุดเริ่มต้นของสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 อย่างเต็มรูปแบบเมื่อปีค.ศ.1937 คือจุดเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2

            ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซุน ยัตเซน จับมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อสู้กับญี่ปุ่น แต่พอสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้ดำเนินต่อไป จนกระทั่งปีค.ศ.1949 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็น

ฝ่ายชนะสงครามกลางเมือง

หยวน ซีไข ผู้ร่วมกับซุน ยัดเซน โค่นล้มราชวงศ์แมนจู แต่แล้วสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิในเวลาต่อมา (Wikipedia, History of China, 3rd November 2021)
หยวน ซีไข ผู้ร่วมกับซุน ยัดเซน โค่นล้มราชวงศ์แมนจู แต่แล้วสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิในเวลาต่อมา (Wikipedia, History of China, 3rd November 2021)

            สาธารณรัฐจีนได้สิ้นสุดลงเมื่อปีค.ศ.1949 ภายหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายนิยมประชาธิปไตยภายใต้การนำของพรรคก๊กมินตั๋ง ที่มีเจียง ไคเช็ค เป็นผู้นำ และพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมา เจอ ตุง โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นฝ่ายชนะ

6.ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน (1949-ปัจจุบัน)

          สาธารณรัฐประชาชนจีนหรือจีนคอมมิวนิสต์ได้ถือกำเนิดภายหลังการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งที่ปกครองสาธารณรัฐจีน กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อแย่งชิงการควบคุมประเทศจีน ระหว่างปีค.ศ.1927-1949 รวมระยะเวลา 22 ปี

            สงครามนี้เป็นสงครามอุดมการณ์ระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งชาตินิยม และพรรคคอมมิวนิสต์จีน สงครามได้ดำเนินไประยะหนึ่งจนกระทั่งได้เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายจึงได้จับมือกันเป็นแนวร่วมต่อสู้กับญี่ปุ่นระหว่างปี ค.ศ.1937-1945 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง  โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม

            หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายก็ได้หันมาสู้รบกันเองต่อ จนในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นฝ่ายชนะเมื่อปีค.ศ.1949 และได้สถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ปกครองประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ส่วนพรรคก๊กมินตั๋งชาตินิยม ต้องถอยไปตั้งหลักอยู่ที่ไต้หวันจนกระทั่งทุกวันนี้

            อย่างไรก็ดี สงครามนี้ยังไม่ได้มีการลงนามสงบศึกจนกระทั่งทุกวันนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงอ้างสิทธิเหนือไต้หวันเป็นอาณาเขตส่วนหนึ่งของตน และฝ่ายสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) ก็อ้างสิทธิเหนือแผ่นดินใหญ่ โดยทั้งสองฝ่ายยังคงต่อสู้กันในเรื่องการรับรองทางการทูต

8.สรุป

            ประวัติ จีน ยุคใหม่ เป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์จีน ภายหลังการสิ้นสุดของราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน นับตั้งแต่ปีค.ศ.1912 จนกระทั่งปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ

            ช่วงแรก เป็นช่วงของการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชวงศ์ชิงไปสู่การเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย อยู่ในช่วงปีค.ศ. 1912-1949

          ช่วงที่สอง เป็นช่วงของการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศจากระบอบประชาธิปไตยไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ นับตั้งแต่ปีค.ศ.1949-ปัจจุบัน

            ส่วนข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369

ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369

          เป็นการถาม-ตอบ เพื่อขยายความในบางจุดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

          ถาม-จักรพรรดิราชวงศ์ชิงที่มีชื่อเสียงและผลงานโดดเด่นของราชวงศ์ชิง คือจักรพรรดิพระองค์ใด

          ตอบ- จักรพรรดิราชวงศ์ชิงที่มีชื่อเสียงและผลงานโดดเด่นมีอยู่ 2 พระองค์คือ

            จักรพรรดิคังซี เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 3 ของราชวงศ์ชิง ครองราชย์สมบัติ 61 ปี (ค.ศ.1661-1722) เป็นผู้สร้างพจนานุกรมคังซี ซึ่งเป็นพจนานุกรมจีนฉบับสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดทำมา

           จักรพรรดิเฉียงหลง เป็นจักรพรรดิองค์ที่  6 ของราชวงศ์ชิง ครองราชย์สมบัติ 60 ปี 124 วัน (ค.ศ.1735-179ุ6) เป็นผู้สร้างสารานุกรมซื่อคู่เฉวียนซู ซึ่งเป็นมรดกโลกช้ินสำคัญช้ินหนึ่ง

         ถาม-อะไรเป็นสาเหตุทำให้ราชวงศ์ชิงอ่อนแอลงจนล่มสลายในที่สุด

         ตอบ- สาเหตุที่ทำให้ราชวงศ์ชิงอ่อนแอลงจนล่มสลายในที่สุด มีอยู่ 4 ประการ คือ

            ข้อแรก การคุกคามจากชาติมหาอำนาจตะวันตก จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดสงคราฝิ่นระหว่างราชวงศ์ชิงกับอังกฤษ เมื่อปีค.ศ. 1840 ผลปรากฏว่าราชวงศ์ชิงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

            ข้อสอง การเกิดกบฏไต้ปิง ช่วงปีค.ศ.1851-1864 กลายเป็นสงครามกลางเมืองที่มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก

            ข้อสาม การเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 ปีค.ศ.1894-1895 เพื่อชิงความเป็นใหญ่เหนือคาบสมุทรเกาหลี จีนเป็นฝ่ายแพ้

            ข้อสี่ การเกิดการก่อความไม่สงบของนักมวยเมื่อปีค.ศ.1900 ทำให้เกิดการสู้รบกันระหว่างราชวงศ์ชิงร่วมกับนักมวยฝ่ายหนึ่ง กับอีกฝ่ายหนึ่งคือพันธมิตรของมหาอำนาจตะวันตก จีนเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้ต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมาก

            ถาม-สาธารณรัฐจีนเกิดขึ้นได้อย่างไร

          ตอบ-สาธารณรัฐจีนเกิดขึ้นจากพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของ ดร.ซุน ยัตเซน ได้ทำการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิง เมื่อปีค.ศ.1912 เพื่อเปลี่ยนการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่การเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย โดยได้ตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่เมืองนานกิงเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1912

            ถาม-สาธารณรัฐประชาชนจีน เกิดขึ้นได้อย่างไร        

           ตอบ- สาธารณรัฐประชาชนจีน เกิดขึ้นจากการทำสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งปกครองประเทศจีนอยู่ในขณะนั้น ภายใต้การนำของเจียง ไคเช็ค และพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมา เจอตุง โดยได้ต่อสู้กันเป็นระยะเวลายาวนานนับตั้งแต่ปีค.ศ.1827 จนกระทั่งปีค.ศ.1949  สงครามกลางเมืองได้สิ้นสุดโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นฝ่ายชนะ

            ถาม- ทำไมสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงอ้างสิทธิว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

          ตอบ- สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์ได้ยุติลงเมื่อปีค.ศ.1949 โดยชัยชนะเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ยังไม่ได้ทำสัญญาสงบศึก หรือสนธิสัญญาสันติภาพ ดังนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนหรือจีนแผ่นดินใหญ่ จึงไม่ยอมรับการที่ไต้หวันตั้งเป็นประเทศอิสระไม่ขึ้นกับจีนแผ่นดินใหญ่ และถือว่า ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ดร.ชา 369

3 พฤศจิกายน 2564

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***) 2

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 4

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11) 5

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

2 COMMENTS

  1. อาจารย์คะ สงครมฝิ่นมีความเป็นมาอย่างไรคะ

    1. เป็นสงครามระหว่างจักรวรรดิบริเตนกับราชวงศ์ชิง สงครามฝิ่นครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1840 จีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ต้องยอมทำสนธิสัญญานานกิงเมื่อปีค.ศ.1842 ยอมให้บริเตนได้ปกครองฮ่องกง และยอมให้บรเิตนส่งฝิ่นเข้าไปขายในจีนได้ เพื่อทำให้สังคมจีนอ่อนแอและขาดเสถียรภาพ
      ส่วนสงครามฝิ่นครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1856-1860 จักรวรรดิบริเตนเป็นฝ่ายชนะ นำไปสู่การทำสนธสัญญาเทียนสิน เกาลูนและดินแดนใหม่ตกเป็นของจักรวรรดิบริเตน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: