ประเทศ อินโดนีเซีย มีรูปแบบการปกครองอย่างไร เป็นบทความลำดับที่ 29 ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน หัวข้อประกอบด้วย ความนำ ข้อมูลเบื้องต้นของประเทศ อินโดนีเซียที่ควรทราบ รัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย รูปแบบของรัฐ สภาที่ปรึกษาของประชาชน อำนาจบริหาร สภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนภาค องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น วิเคราะห์ สรุป และถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว คือ ประวัติ อินโดนีเซียที่น่าสนใจ (28) ได้เล่าถึงประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียยุคต่าง ๆ นับตั้งแต่ยุควัฒนธรรมพุทธ-ฮินดู ยุครัฐอิสลาม ยุคอาณานิคม ยุคประธานาธิบดีซูการ์โน ยุคจัดระเบียบใหม่ และยุคปฏิรูป ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน
สำหรับบทความนี้ เป็นบทความต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว โดยมุ่งหมายจะนำเสนอเรื่องราวของรูปแบบการปกครองของประเทศ อินโดนีเซีย ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
2.ข้อมูลเบื้องต้นของประเทศ อินโดนีเซียที่ควรทราบ
2.1 ตำแหน่งที่ตั้ง
ประเทศอินโดนีเซีย เป็นประทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ จำนวนมากกว่า 17,000-18,000 เกาะ โดยมีเกาะหลักอยู่จำนวน 5 เกะ ได้แก่ เกาะสุมาตรา (Sumatra) เกาะชวา (Java) และเกาะซุลาเวซี (Sulawesi) รวมทั้งพื้นที่ของเกาะบอร์เนียว (Borneo)หรือเกาะลีมันตัน และเกาะนิวกินี (New Guinea)
ในจำนวนเกาะหลักทั้ง 5 เกาะ เกาะชวาเป็นเกาะเล็กที่สุด แต่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุด
ตำแหน่งที่ตั้งของอินโดนีเซีย
อินโดนีเซีย เป็นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศข้างเคียงดังนี้
ทิศเหนือ ทิศเหนือของเกาะบอร์เนียวหรือเกาะกาบลีมันตัน ติดต่อกับมาเลเซีย (รัฐซาราวัก และรัฐซาบาห์)
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะอิเรียนจายา ติดต่อกับน่านน้ำของประเทศฟิลิปปินส์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศปาปัวนิวกินี
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับน่านน้ำของประเทศมาเลเซีย โดยมีช่องแคบมะละกาเป็นพรมแดนระหว่างเกาะสุมาตรา และประเทศมาเลเซีย
2.2 พื้นที่
ตาม Worldometer อินโดนีเซีย เป็นประเทศมีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ของโลก กล่าวคือ มีพื้นที่ 1,904,569 ตร.กม. รองลงมาจากประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีพื้นที่ 1,964,375 ตร.กม. และเหนือประเทศซูดาน ซึ่งมีพื้นที่ 1,886,068 ตร.กม.
2.3 จำนวนประชากร
ตาม Worldometer ประชากรของประเทศ อินโดนีเซีย เมื่อปี 2021 มีจำนวนประมาณ 273,523,615 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองลงมาจากสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวนประชากร 331,002,651 คน และอยู่เหนือปากีสถาน ซึ่งมีจำนวนประชากร 220,892,340 คน
อินโดนีเซีย มีอัตราการเกิดของประชากร ร้อยละ 2.3 มีอายุเฉลี่ย 30 ปี และเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองร้อยละ 56
2.4 ศาสนา
ประชากรอินโดนีเซีย นับถือศาสนาต่าง ๆ ดังนี้
ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 86.70
ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 10.72
ศาสนาฮินดู ร้อยละ 1.74
ศาสนาพุทธ ร้อยละ 0.77
อื่น ๆ ร้อยละ 0.4
2.5 ภาษา
ภาษาที่เป็นทางการและภาษาประจำชาติ คือ ภาษาอินโดนีเซีย
3.รัฐธรรมนูญอินโดนีเซียปี 1945 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
3.1 ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย
รัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย ปี 1945 ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 1945 ภายหลังที่ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ถูกยกเลิกใช้เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐปี 1949 (Federal Constitution of 1949) และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 1950 (Provision Constitution of 1950) แต่ได้มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งเมื่อปี 1959
รัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย ปี 1945 ยึดหลักปัญจศีล (Pancasila) ซึ่งเป็นหลักชาตินิยม 5 ประการที่ประธานาธิบดีซูการ์โนได้วางรากฐานไว้
ภายหลังการลาออกของประธานาธิบดีสุฮาร์โตเมื่อปี 1968 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จำนวน 4 ครั้ง คือ เมื่อปี 1999,2000,2001 และ 2002
3.2 เค้าโครงของรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย
รัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย เป็นรัฐธรรมนูญสั้น ๆ มีความยาวเพียง 37 มาตรา แยกออกเป็น 16 หมวด คือ
หมวด 1 รูปแบบของรัฐ และอำนาจอธิปไตย
หมวด 2 สภาที่ปรึกษาของประชาชน
หมวด 3 อำนาจของฝ่ายบริหาร
หมวด 4 รัฐมนตรีแห่งรัฐ
หมวด 5 การปกครองส่วนท้องถิ่น
หมวด 6 สภาผู้แทนราษฎร
หมวด 7 ก สภาผู้แทนภูมิภาค
หมวด 7 ข การเลือกตั้งทั่วไป
หมวด 8 การคลัง
หมวด 8 ก หน่วยงานตรวจสอบสูงสุด
หมวด 9 อำนาจตุลาการ
หมวด 9 ก ขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของชาติ
หมวด 10 พลเมืองและผู้อาศัย
หมวด 11 ศาสนา
หมวด 12 การป้องกันประเทศ
หมวด 13 การศึกษาและวัฒนธรรม
หมวด 14 เศรษฐกิจของชาติ และสวัสดิการสังคม
หมวด 15 ธง ภาษา เครื่องหมายประดับเสื้อ และเพลงชาติ
หมวด 16 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ผมจะขอนำหลักการสำคัญในแต่ละด้าน สรุปให้ท่านผู้อ่านทราบในหัวข้อตามลำดับต่อไป
4. รูปแบบของรัฐ
แม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศใหญ่ ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวนมากระหว่าง 17,000-18,000 เกาะ แต่ตามรัฐธรรมนูญ ฯ ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า อินโดนีเซีย เป็นรัฐเดี่ยวและเป็นสาธารณรัฐ (unitary state in the form of republic) หมายความว่า อินโดนีเซียมีรัฐบาลระดับเดียว ไม่ได้แบ่งออกเป็นมลรัฐแต่อย่างใด
แม้ในช่วงเวลาหนึ่งที่สั้น ๆ อินโดนีเซียจะได้ใช้รูปแบบสหพันธรัฐตามความประสงค์ของเนเธอแลนด์ ตามรัฐธรรมนูญปี 1949 แต่พอปี 1950 รัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป
5. สภาที่ปรึกษาของประชาชน (People’s Consultative Assembly)
ตามรัฐธรรมนูญฯ สภาที่ปรึกษาของประชาชน มีสมาชิกประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสมาผู้แทนภาค ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
สภาที่ปรึกษาของประชาชนมีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขและตรารัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ในการรับพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี รวมทั้งมีอำนาจในการถอดถอนประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
6.อำนาจบริหาร (Executive Power)

6.1 ประธานาธิบดี
ตามรัฐธรรมนูญ ฯ อำนาจบริหารเป็นของประธานาธิบดี โดยมีรองประธานาธิบดี เป็นผู้ช่วยประธานาธิบดี สามารถที่จะเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ และมีอำนาจในการออกกฎระเบียบข้อบังคับตามที่มีกฎหมายให้อำนาจ
ผู้ที่จะสมัครเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ต้องสมัครคู่กัน อยู่ในวาระได้ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันไม่เกินสองสมัย
ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร
ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งสามเหล่าทัพ
6.2 รัฐมนตรีแห่งรัฐ (Minister of State)
ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรี รัฐมนตรีแต่ละคนมีความรับผิดชอบเฉพาะงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้น
7.สภาผู้แทนราษฎร (People’s Representative Council)
สภาผู้แทนราษฎรได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย
8.สภาผู้แทนภาค (Council of Representative of the Regions)

สมาชิกสภาผู้แทนภาค ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนภาคของแต่ละภาคมีจำนวนเท่ากัน และต้องมีจำนวนไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สภาผู้แทนภาค มีอำนาจเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน และความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น
7.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Regional Authorities)
ตามรัฐธรรมนูญ ฯ ประเทศ อินโดนีเซียประกอบด้วยภาคต่าง ๆ และภาคประกอบด้วยจังหวัด และเมืองใหญ่ โดยภาค จังหวัด และเมืองใหญ่มีอำนาจในการปกครองตนเองตามอำนาจหน้าที่
ตามหนังสือระบบบริหารราชการของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ของสำนักงาน ก.พ.ตามโครงการสื่อสารการเรียนรู้ “อาเซียน กูรู” ได้กล่าวถึงการปกครองส่วนท้องถิ่นของอินโดนีเซีย สรุปได้ดังนี้
7.1 การบริหารภาค (Provinces or Propinsi-Daerah Otonom Tinket)
หน่วยการปกครองของอินโดนีเซียรองลงมาจากระดับประเทศ เรียกว่า ภาค ประกอบด้วยภาค จำนวน 32 ภาค โครงสร้างประกอบด้วย สภาภาค และผู้ว่าราชการภาค
สภาภาค ซึ่งมีสมาชิกได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เป็นผู้มีอำนาจเสนอแต่งตั้งและถอดถอนผู้ว่าราชการภาค (Governor/Gubernur) โดยผู้ว่าราชการภาคและ สภาภาค มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารภาคร่วมกัน
อนึ่ง การปกครองภาคในยุคประธานาธิบดีสุฮาร์โต มีลักษณะเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค เพราะผู้ว่าราชการภาค ส่วนกลางเป็นผู้แต่งตั้ง
7.2 จังหวัด (Regencies) และเมืองใหญ่ (Cities)
หน่วยการปกครองระดับรองลงมาจากภาคของประเทศ อินโดนีเซีย เรียกว่า จังหวัด และเมืองใหญ่ ทั้งจังหวัด และเมืองใหญ่มีฐานะเท่ากัน โดยเมืองใหญ่จะอยู่ในพื้นที่มีความเจริญ มีประชากรหนาแน่น และไม่มีภาคการเกษตร ส่วนจังหวัดเป็นพื้นที่ชนบทที่อยู่ล้อมรอบเมืองใหญ่
จังหวัด (Regencies/Kabupaten) ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor/Bupati) และสภาจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
การเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด
สภาจังหวัด เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดไว้ 2-3 คน แล้วรายงานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอไปยังประธานาธิบดีแต่งตั้งคนหนึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
เมืองใหญ่ ประกอบด้วย นายกเทศมนตรี (Mayor/Walikota) และสภาเมือง ต่างมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
อินโดนีเซียมี 413 จังหวัด และ98 เมืองใหญ่
7.3 อำเภอ (Districts/Kecamatan)
อำเภอเป็นหน่วยการปกครองระดับรองลงมาจากจังหวัด ประกอบด้วยนายอำเภอ และสภาอำเภอ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
การเลือกนายอำเภอ
การเลือกนายอำเภอ มีกระบวนการในทำนองเดียวกันกับการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวคือ สภาอำเภอจะเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครเป็นนายอำเภอไว้ จำนวน 2-3 คน แล้วรายงานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคนหนึ่งเป็นนายอำเภอ
นายอำเภอจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด
7.4 ตำบล (Kerulahan)
หน่วยการปกครองรองลงมาจากอำเภอ คือตำบล มีกำนัน (Lurah) เป็นหัวหน้า โดยได้รับแต่งตั้งจากนายอำเภอหรือนายกเทศมนตรี
7.5 หมู่บ้าน (Desa)
หน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดของอินโดนีเซีย คือหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้าน (Kepala Desa) เป็นหัวหน้า โดยต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน (The Rural Representative Board) ซึ่งต่างก็มาจากการเลือกตั้ง
นอกจากเมืองใหญ่แล้ว ยังมีเทศบาลเมือง (Kota/Kotamadya) และเขตการปกครองพิเศษ (Special Regions) อีก 5 เขตพิเศษ และเขตนครหลวงพิเศษ (Special Capital City District/Daerah Khusus IbuKota) คือ กรุงจาร์กาตา
8.วิเคราะห์รูปแบบการปกครองของอินโดนีเซีย
ประเทศ อินโดนีเซีย เป็นประเทศหมู่เกาะ ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีจำนวนเกาะระหว่าง 17,000-18,000 เกาะ และเป็นประเทศที่มีพื้นที่และจำนวนประชากรมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก กล่าวคือ มีพื้นที่ 1,904,569 ตร.กม. มากเป็นอันดับ 15 และมีจำนวนประชากร 273,523,615 คน มากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก
8.1 การเป็นรัฐเดี่ยวและสาธารณรัฐ
เดิมประเทศ อินโดนีเซีย ไม่ได้รวมเป็นประเทศเดียวกันเหมือนอย่างทุกวันนี้ แต่แยกเป็นอาณาจักร เพิ่งมีการรวมเป็นประเทศเดียวกันในช่วงตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ระหว่างปีค.ศ.1602-1949 เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ต้องการสร้างความเป็นเอกภาพของอาณานิคม เพื่อความสะดวกในการปกครอง ดังนั้น เมื่อประกาศเอกราชเมื่อปีค.ศ.1945 อินโดนีเซีย จึงเลือกรูปแบบของรัฐ เป็นรัฐเดี่ยวและเป็นสาธารณรัฐ
8.2 ระบอบการปกครองของประเทศ
ระบอบการปกครองของประเทศ อินโดนีเซีย เป็นระบอบประชาธิปไตย ระบบประธานาธิบดีหรือระบบแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ
สภาที่ปรึกษาของประชาชน เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนภาค สมาชิกของทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
ประธานาธิบดี เป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน อยู่ในวาระ 5 ปี สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกินสองวาระ
8.3 การเป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค
เดิมการปกครองของอินโดนีเซีย มีการปกครองส่วนภูมิภาคด้วย แต่พอถึงยุคปฏิรูปภายหลังการลาออกของประธานาธิบดี สุฮาร์โตเมื่อปี 1998 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นทุกระดับ นับแต่ระดับภาค จังหวัด เมืองใหญ่ และอำเภอ
ส่วนฝ่ายบริหารให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยให้สภาท้องถิ่นแต่ละระดับเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครเป็นผู้ว่าราชการภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ จำนวน 2-3 คน เสนอไปยังผู้มีอำนาจเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ แล้วแต่กรณี จำนวนหนึ่งคน
แต่ทั้งนี้ไม่รวมตำแหน่งนายกเทศมนตรีที่ให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง
9.สรุป
รูปแบบในการปกครองประเทศ อินโดนีเซีย ในปัจจุบัน เป็นรัฐเดี่ยว สาธารณรัฐ มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ระบบประธานาธิบดี ภายใต้รัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย 1945 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในยุคของการปฏิรูปภายหลังการลาออกจากตำแหน่งของประธานาธิบดีสุฮาร์โต จำนวน 4 ฉบับ ปี 1999, 2000, 2001 และ 2002 โดยกำหนดให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง อยู่ในวาระ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ
ในปัจจุบัน ประเทศ อินโดนีเซีย เป็นรัฐเดียว ที่ไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค โดยภาค จังหวัด เมืองใหญ่ และอำเภอ เป็นหน่วยการปกครองระดับรองลงไป สมาชิกสภาของแต่ละระดับได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ส่วนผู้ว่าราชการภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม
ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในยุคปฏิรูปดังกล่าว ทำให้การเมืองการปกครองของอินโดนีเซีย มีเสถียรภาพเป็นอย่างดี
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
การถาม-ตอบ กับดร.ชา 369 มีจุดประสงค์จะอธิบายเนื้อหาของบทความในบางตอนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับการถาม-ตอบ ในบทความนี้ ได้รวมเอาเนื้อหาบางส่วนของบทความที่แล้ว คือ ประวัติ อินโดนีเซีย ที่น่าสนใจ มารวมไว้ด้วย
ถาม- อินโดนีเซีย เป็นประเทศหมู่เกาะ ตั้งอยู่ที่ใด มีจำนวนเกาะทั้งหมดเท่าใด
ตอบ- ประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศหมู่เกาะ มีจำนวนมากกว่า 17,000 เกาะ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ในตำแหน่งที่อยู่ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย
ถาม- เกาะใหญ่ ๆ ของอินโดนีเซีย ได้แก่เกาะอะไรบ้าง
ตอบ- เกาะใหญ่ ๆ ของอินโดนีเซีย มีจำนวน 5 เกาะ คือ เกาะสุมาตรา เกาะชวา เกาะซุลาเวซี และยังมีอีกสองเกาะ ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะเป็นพื้นที่ของอินโดนีเซีย คือ เกาะบอร์เนียว และเกาะนิวกินี
ถาม- เกาะใดของอินโดนีเซีย เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
ตอบ-เกาะสุมาตรา เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย
ถาม- บนเกาะบอร์เนียว นอกจากประเทศอินโดนีเซียแล้ว ยังมีประเทศอื่นใดตั้งอยู่ด้วยหรือไม่
ตอบ- เกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่อันดับสามของโลก มีพื้นที่ทั้งหมด 743,330 ตร.กม. นอกจากประเทศอินโดนีเซียแล้ว บนเกาะบอร์เนียวยังเป็นที่ตั้งรัฐซาราวัก และรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย และประเทศบรูไน
ในส่วนที่เป็นที่ตั้งของประเทศอินโดนีเซีย ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ กาลีมันตันตะวันตก กาลีมันตันกลาง กาลีมันตันใต้ กาลีมันตันตะวันออก และกาลีมันตันเหนือ
ถาม-บนเกาะนิวกินี นอกจากประเทศอินโดนีเซียแล้ว ยังมีประเทศอื่นใด ตั้งอยู่ด้วยหรือไม่

ตอบ- เกาะนิวกินี เป็นเกาะทีมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองโลก มีพื้นที่ทั้งหมด 785,753 ตร.กม. พื้นที่แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ ครึ่งหนึ่งทางด้านตะวันออกเป็นที่ตั้งของประเทศ ปาปัว นิวกินี (Papua New Guinea) ซึ่งเป็นประเทศเอกราชมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 (เดิมเคยอยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรเลีย)
ส่วนอีกครึ่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันตกของเกาะ เรียกชื่อว่า นิวกินีตะวันตก (Western New Guinea) หรือ ปาปัวตะวันตก (West Papua) เป็นที่ตั้งจังหวัดปาปัว และจังหวัดปาปัวตะวันตก ของประเทศอินโดนีเซีย
ถาม- เกาะใดของอินโดนีเซีย เป็นเกาะที่มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่มากที่สุด
ตอบ- เกาะชวา เป็นเกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนประชากรมากกว่า 200 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 270 ล้านคน แม้ว่า เกาะชวาจะเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาเกาะขนาดใหญ่ทั้งห้าเกาะดังกล่าวก็ตาม
ถาม- ประวัติ อินโดนีเซีย อาจแบ่งกว้าง ๆ ได้กี่ยุค อะไรบ้าง
ตอบ- ประวัติ อินโดนีเซีย อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ยุคใหญ่ คือ ยุคแรก ยุคอาณานิคม ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคปัจจุบัน
ถาม-ประวัติ อินโดนีเซียยุคแรก เป็นอย่างไร
ตอบ- ในยุคเริ่มแรก ราวศตวรรษที่ 7 อินโดนีเซีย ยังไม่ได้รวมตัวเป็นรัฐเดี่ยวอย่างทุกวันนี้ แต่แยกเป็นอาณาจักร เช่น มะตะรัม ศรีวิชัย สิงหารี มัชฌปาหิต โดยได้รับอิทธิพลด้านศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธจากอินเดีย จนกระทั่งศตวรรษที่ 13 ศาสนาอิสลามจึงเข้ามาแทนที่
ถาม- ประวัติ อินโดนีเซีย ยุคอาณานิคม เป็นอย่างไร
ตอบ- ชาวยุโรปเริ่มสนใจอินโดนีเซียในช่วงศตวรรษที่ 15 เนื่องจากเป็นดินแดนแห่งเครื่องเทศ โดยชาวโปรตุเกสได้เข้ามาช่วงต้นศตวรรษที่ 16 ต่อมาชนชาติดัชท์และอังกฤษได้ตามเข้ามา
ถาม- ประวัติ อินโดนีเซียยุคหลังสงครามโลกครั้งที 2 เป็นอย่างไร
ตอบ- ภายหลังที่ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อินโดนีเซียซึ่งอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นในขณะนั้น ได้ประกาศเป็นเอกราชเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม1945
ถาม- ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย คือ ใคร ปกครองประเทศด้วยระบอบอะไร
ตอบ- ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย คือ ประธานาธิบดีซูการ์โน ซึ่งเป็นผู้นำในการเรียกร้องเอกราช ได้ปกครองประเทศด้วยระบอบอำนาจนิยม ที่เรียกชื่อว่า ประชาธิปไตยแบบนำวิถี (Guided Democracy) โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ ลัทธิชาตินิยม ศาสนา และลัทธิคอมมิวนิสต์ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 1945
ถาม- ยุคจัดระเบียบใหม่ คือ ยุคอะไร ภายใต้การนำของใคร
ตอบ- ยุคจัดระเบียบใหม่ คือยุคของประธานาธิบดีสุฮาร์โต ซึ่งได้ยึดอำนาจจากประธานธิบดีซูการ์โน ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา เขาได้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเป็นเวลายานานระหว่างปี 1965-1998 รวมระยะเวลา 33 ปี ในยุคนี้ รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งประธานาธิบดี
รัฐบาลสุฮาร์โตได้ใช้กำลังปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียอย่างรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 500,000-1,000,000 คน และทำให้พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในยุคนั้น หากไม่นับรวมพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตและพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถูกทำลายลง
ถาม- อินโดนีเซีย ยุคปัจจุบัน เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อใด
ตอบ- อินโดนีเซีย ยุคปัจจุบัน เรียกว่า ยุคปฏิรูป เริ่มตั้งแต่เมื่อประธานาธิบดีสุฮาร์โตถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 1998 จนกระทั่งปัจจุบัน เป็นยุคที่มีการปฏิรูปการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 1945 ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 4 ฉบับ เมื่อปี 1999,2000,2001 และ 2002
ถาม- การเมืองการปกครองของประเทศ อินโดนีเซีย ในปัจจุบันเป็นอย่างไร มีเสถียรภาพดีหรือไม่
ตอบ- การเมืองการปกครองของประเทศ อินโดนีเซียในยุคปัจจุบัน ถือได้ว่า มีเสถียรภาพดีมาก ดังจะเห็นได้จากการมีเปลี่ยนผ่านอำนาจในการเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ละครั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงอะไร
ดร.ชา 369
29/08/21
พรรคการเมืองของอินโดนีเซียมีกี่พรรค แล้วนโยบายส่วนใหญ่ของพรรคเน้นไปทางด้านไหนคะ
มัลดีฟ มีการปกครองในรูปไหนคะ เหมือนพัทยาบ้านเรา หรืออย่างไรคะ
นักการเมืองของปรอินโดนีเชียมีปัญหาการคอรัปชั่น ภายในประเทศเป็นอย่างไรบ้างคะ ขอบคุณค่ะ